Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

นายกเทศมนตรี-เลขานุการคลัง เยี่ยมอาสาช่วยน้ำท่วมเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2567 นายกเทศมนตรีนครเชียงรายและเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครมูลนิธิสยามเชียงรายสำนักงานใหญ่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย

จากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย หลายภาคส่วนร่วมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอย่างต่อเนื่อง พร้อมเร่งดำเนินการช่วยฟื้นฟูหลังน้ำลดลง นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย ร.ต.อ.ดร.ธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีกระทรวงการคลัง มอบเงินสดผ่านมูลนิธิสยามเชียงราย สำนักงานใหญ่ ห้าแยกพ่อขุนเม็งราย พร้อมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเชียงราย
 
ด้านในเขตเทศบาลนครเชียงราย นายพัศพงศ์ ใจคล่องแคล่ว ผู้บัญชาการเรือนจำกลางเชียงราย นำผู้ต้องขังจากเรือนจำกลางเชียงรายมาช่วยบรรจุกระสอบทราย ซึ่งผู้ต้องขังมีโอกาสทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม อีกทั้งเจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เทศบาลนครเชียงราย ขุดลอกระบายน้ำในชุมชนสันตาลเหลือง และนำธงแดงไปติดตั้งจุดสวนสาธารณะหาดนครเชียงราย สะพานพญาเม็งราย ชุมชนป่าแดง เพื่อเตือนระวังอันตรายจากระดับน้ำกก
 
ทางด้าน พ.จ.อ.ภูมิรพี ทวีกสิกรรม รองปลัดเทศบาลนครเชียงราย และกองการแพทย์เทศบาลนครเชียงราย นำถุงยังชีพช่วยเหลือครอบครัวอสม.นครเชียงรายที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำรอการระบาย เนื่องจากปริมาณน้ำฝนตกอย่างต่อเนื่อง
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ เชียงใหม่-เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์จัดพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิต” พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย โดยในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1927 (บางส่วน) ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี และวันที่ 4 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชร. 1154 (บางส่วน) ตำบลเวียงพาคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี โดยที่ผ่านมากรมธนารักษ์จัดให้เช่าที่ราชพัสดุไปแล้วกว่า 134,728 ราย ทั่วประเทศ

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลที่ราชพัสดุ และสนับสนุนที่ราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการตามภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด และตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้น
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยพิจารณาที่ราชพัสดุจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในราชการและปล่อยให้มีการบุกรุก มาสนับสนุนโครงการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน และจัดให้ประชาชนที่ถือครองที่ราชพัสดุอยู่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2546 เช่าที่ราชพัสดุในอัตราผ่อนปรน ผ่านกลไกการจัดให้เช่าของกรมธนารักษ์ ทำให้ประชาชนที่ยินยอมเช่าที่ราชพัสดุสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของทางราชการ อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

สำหรับการมอบสัญญาเช่าให้แก่ราษฎรที่ถือครองที่ราชพัสดุในพื้นที่ครั้งนี้ มีผู้ได้รับสัญญาเช่าที่ราชพัสดุรวม 600 ราย ประกอบด้วย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 100 ราย เนื้อที่ 281 – 1 – 77 ไร่ และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 500 ราย เนื้อที่ 273 – 0 -76.90 ไร่ โดยในปี พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุมาอย่างต่อเนื่อง 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครพนม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 1,750 ราย รวมเนื้อที่ 5,418 – 2 – 97.90 ไร่ แบ่งเป็นเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่ประมาณ 824-1-56.90 ไร่ และเพื่อการเกษตร เนื้อที่ประมาณ 4,553 – 1 – 93 ไร่ และจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอีก 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และราชบุรี ซึ่งจะมีผู้ได้รับสิทธิเพิ่มเติมประมาณ 829 ราย

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวโดยสรุปว่า ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” โดยตั้งเป้าหมายในการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

แจกสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุเชียงราย 273 ไร่ – เชียงใหม่ 281 ไร่

 

เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2567  นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง กล่าวว่า กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ ได้เร่งดำเนินโครงการ “ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ มอบสัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” ซึ่งเป็นโครงการที่ต้องการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน เพื่อบริหารที่ดินราชพัสดุให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยในปีนี้มีแผนจัดสรรที่ราชพัสดุให้ประชาชนในพื้นที่ 9 จังหวัด กว่า 1,900 ราย พื้นที่กว่า 7,389 ไร่ ภายใน 6 เดือน ประกอบด้วยจังหวัดนครราชสีมา 248 ไร่, เชียงราย 273 ไร่, เชียงใหม่ 281 ไร่, นครสวรรค์ 1,120 ไร่, นครพนม 661 ไร่, กาฬสินธุ์ 1,174 ไร่, ปัตตานี 29 ไร่, ราชบุรี 1,500 ไร่ และสุราษฎร์ธานี 2,100 ไร่ พร้อมทั้งได้ตั้งเป้าหมายให้กรมธนารักษ์ ต้องจัดสรรที่ดินราชพัสดุให้ประชาชนรายย่อยไม่น้อยกว่า 2 พันรายต่อ1 ปี

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจของกรมธนารักษ์ในปี 2561 พบว่า มีที่ราชพัสดุที่ถูกบุกรุกกว่า 6 แสนไร่ โดยในปีที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้จัดสรรทึ่ดินให้ประชาชน ผ่านโครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ ไปแล้วกว่า 1.34 แสนราย เนื้อที่ 3.38 แสนไร่

 

สำหรับโครงการดังกล่าว จะคิดค่าเช่าในอัตราที่ผ่อนปรน โดยที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย หากไม่เกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.25 บาท/ตารางวา/เดือน หากเกิน 100 ตารางวา อัตราเช่า 0.50 บาท/ตารางวา/เดือน และหากเป็นที่ดินเพื่อประกอบการเกษตร เนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 20 บาท/ไร่/ปี และหากเกิน 50 ไร่ อัตราเช่า 30 บาท/ไร่/ปี เป็นสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าของกรมที่ดินให้กับประชาชน แต่สามารถขอเป็นสัญญาเช่า 30 ปีได้ หากผู้เช่าประสงค์จะนำไปเป็นหลักประกันขอสินเชือกับสถาบันการเงิน

เป็นสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปี เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการเช่าของกรมที่ดินให้กับประชาชน แต่สามารถขอเป็นสัญญาเช่า 30 ปีได้ หากผู้เช่าประสงค์จะนำไปเป็นหลักประกันขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน

นอกจากนี้ ในส่วนของเป้าหมายการหารายได้ของกรมธนารักษ์ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีรายได้กว่า 1 หมื่นล้านบาท และตั้งเป้าหมายเพิ่มรายได้อีกปีละ 5% นั้น ส่วนใหญ่รายได้มาจากการให้เช่าที่ดินเชิงพาณิชย์กว่า 97%

โดยมอบนโยบายให้พิจารณาเรื่องการคิดค่าเช่าที่เชิงพาณิชย์ตามศักยภาพของที่ดิน โดยคิดอัตราค่าตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ไม่น้อยกว่า 3% และยังเปิดให้เช่า 30 ปี หรือทบทวนได้หากมีการต่อสัญญาใหม่

 

ส่วนกรณีที่ราชพัสดุหมอชิต ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมธนารักษ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ (รฟม.) และสำนักนโยบายและแผนขนส่งจราจร (สนข.) ทบทวนศักยภาพที่ดิน องค์ประกอบต่าง ๆ ว่ามีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เพื่อหาข้อสรุปบนกรอบกฎหมายและต้องถูกต้องตามสัญญา คาดว่าจะมีการประชุมในต้นเดือนหน้า ส่วนเรื่องการขอคืนที่ราชพัสดุคืนจากส่วนราชการ ทางกรมธนารักษ์ ได้ทำหนังสือถึงส่วนราชการว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินตามที่ได้เสนอขอหรือไม่ และมีผู้บุกรุกที่ดินดังกล่าวหรือไม่ เพื่อนำไปสู่การทำข้อตกลงเพื่อขอที่ดินคืนจากส่วนราชการต่าง ๆ เพื่อนำกลับมาใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

พัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)  ระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 มอบหมายให้ตนเป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซียโดย IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงของ 3 ประเทศ โดยได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) แผนงาน PCPs เป็นแผนงานที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.10 ล้านล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาโครงการของไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง
2. โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้ลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้
3. ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

อนึ่ง ในวันที่ 28 กันยายน 2566 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) และการสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้นี้ โดย ADB ได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวและจะให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3613

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

 

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง เสนอให้สามารถนำเอทานอลไปผลิตอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ นอกเหนือการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา สอดรับหลักการ BCG Model ด้านกรมสรรพสามิตขานรับนโยบายหนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) รองรับการขยายตัวตามเทรนด์โลกในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) สร้างมาตรฐานสากล  เดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 รับทราบแนวทางส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นนอกเหนือจากการเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพและการผลิตสุรา ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG อันจะเป็นการสร้างระบบนิเวศน์เพื่อกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสำหรับผู้ผลิตเอทานอลในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเป้าหมายการเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608 กระทรวงการคลังจึงกำหนดแนวทางการส่งเสริม   การนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตเม็ดพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในชั้นบรรยากาศ รวมถึงลดการใช้ปิโตรเคมีจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตเม็ดพลาสติก

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตและกรมศุลกากร พร้อมดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงการคลัง โดยจะสนับสนุนให้นำเอทานอลไปผลิตพลาสติกชีวภาพได้ โดยกำหนดให้ผู้ใช้เอทานอลจะต้องใช้เอทานอลที่ผลิตในประเทศก่อนเป็นลำดับแรก

สำหรับแนวทางในการนำเอทานอลไปใช้ในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ สามารถสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. จัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลภายในประเทศ ซึ่งมีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำมาตรฐานการผลิตเอทานอลร่วมกับผู้เชี่ยวชาญภายในประเทศ ผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอล รวมถึงสนับสนุนการพัฒนามาตรฐานทางเทคนิคและการพัฒนาบุคลากรให้สามารถเป็นผู้ตรวจประเมินตามมาตรฐานที่กำหนด


2. กระทรวงการคลังจะแต่งตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาปริมาณการผลิตเอทานอลที่เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับร่วมกันระหว่างผู้ผลิตเอทานอลและผู้ใช้เอทานอลจากผู้ผลิตในประเทศล่วงหน้าในแต่ละปี ในกรณีที่ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถผลิตเอทานอลได้ตรงตามมาตรฐานและไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้ใช้เอทานอล จะกำหนดปริมาณการนำเข้าเอทานอลที่จะได้รับสิทธิอากรขาเข้าในอัตราพิเศษเพื่อนำมาใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ


3. ภาครัฐให้การสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในประเทศให้สามารถจำหน่าย เอทานอลในราคาที่สามารถแข่งขันกับเอทานอลนำเข้าได้อย่างยั่งยืน


4. กระทรวงการคลังโดยกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรจะพิจารณาดำเนินการออกมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนการนำเอทานอลไปใช้ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ

โดยคาดว่าในเบื้องต้นจะมีความต้องการใช้เอทานอลประมาณ 450 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งแนวทางการส่งเสริมเอทานอลชีวภาพในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับเกษตรกรและผู้ผลิตเอทานอลในการลงทุนเพื่อพัฒนาคุณภาพของเอทานอลในประเทศไทย รวมถึงเป็นการเพิ่มตลาดใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการใช้เอทานอลในภาคการขนส่งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า” นายเอกนิติกล่าว  

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการผลิตพลาสติกจากวัตถุดิบปิโตรเลียม ประมาณ 5 ล้านตันต่อปี เพื่อใช้ในประเทศและส่งออก ซึ่งหากเปลี่ยนวัตถุดิบเป็นเอทานอลที่มาจากพืช เช่น อ้อย หรือมันสำปะหลัง ซึ่งเป็นวัตถุดิบชีวภาพ (Bio-based) จะสามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้จำนวนมาก โดยกระบวนการปลูกพืช  เพื่อนำมาผลิตเอทานอลและนำไปใช้ในการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพเป็นกระบวนการผลิตที่มี Carbon Footprint ต่ำ สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 15 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ ในการผลิตพลาสติกชีวภาพ ผู้ประกอบอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเครื่องจักร จึงเป็นการช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยบนเวทีโลก และหากประเทศไทยสามารถปรับกระบวนการผลิตเป็นพลาสติกชีวภาพได้ทั้งหมด 5 ล้านตัน จะช่วยสนับสนุนความต้องการเอทานอลมากกว่า 10,000 ล้านลิตรต่อปี ทำให้เกษตรกรและผู้ผลิตมีความมั่นใจในการลงทุนพัฒนาคุณภาพเอทานอลในประเทศให้มีมาตรฐานระดับสากล ส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลดีในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจากโอกาสดังกล่าว ที่สำคัญยังเป็นการตอบสนองต่อฉันทามติสากลในการลดการปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ และส่งเสริมโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างแท้จริง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม กรมสรรพสามิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News