Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

แล้วใครทำ! หลังชาว ‘ปกาเกอะญอ’ อ.เวียงป่าเป้า ถูกทำลายไร่หมุนเวียน

 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 นายจรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ,นายศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.),นายนิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และ นายถนัด จะสุ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประมาณ 20 คน เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีชายแต่งชุดดำพร้อมอาวุธปืนเข้าไปบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 4 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า มาพบตัวแทนและรับหนังสือ

 

นายธนชัย ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ชี้แจงว่า กรณีได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2566 ทางสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ จึงได้ทำความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากดาวเทียม หากเดิมเป็นพื้นที่ป่า ดาวเทียมจะจับจุดสัญญาณได้เป็นสีเขียว หากมีการแผ้วถาง จุดสัญญาณจะเป็นสีขาว ซึ่งข้อมูลดาวเทียมจังหวัดเชียงราย พบจุดพิกัดสีขาวถึง 1,800 จุด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ซึ่งในการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นไปตามการอนุญาตภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน ทางหน่วยงานมีความเช้าใจในวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้าไปกระทำพฤติกรรมดังกล่าวในชุมชน ทางส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าได้รับรายงานข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการซักถามเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ จึงเห็นว่าทางชุมชนอาจต้องไปแจ้งความเพื่อให้เกิดการสอบสวนจนได้ข้อยุติว่าใครคือผู้กระทำผิดจริง

 

โดยทาง ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในและใกล้เคียง ต้องการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านและชุมชน ทำลายข้าวของในพื้นที่ทำกินของชุมชน และต้องการให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องเป็นการตรวจสอบที่มีสัดส่วนชองชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอย่างเท่า ๆ กัน ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ทำกินเช่นนี้ และยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงอาจทำให้ชาวบ้านสงสัยและกังวลใจว่า หลังจากนี้หากชาวบ้านจะเข้าไปในไร่หรือพื้นที่ทำกินได้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังทำกินอยู่จะเกิดการบุกรุกและคุกคามเช่นนี้หรือไม่ จึงอยากให้ทางหน่วยงานชี้แจงและยืนยันว่าจะยังคงสามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิมที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนต่างยินดีให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงาน เมื่อทางหน่วยงานต้องการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทางชุมชนก็อำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่กลับพบการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชุมชนอื่น ๆ อีก เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน และต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สิน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน

 

 

ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อเกตว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยปกติจะมีการแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในพื้นที่ เจ้าของแปลงทำกินก็จะสามารถพาไปลงพื้นที่แปลงทำกินของตนเพื่อยืนยันลักษณะการทำกินได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทางชุมชนจึงไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการกระทำเช่นนี้ในพื้นที่

 

 

ทางทีมข่าวนครเชียงนิวส์ ได้ทำการสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางแหล่งข่าวได้แจ้งกับทีมข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่จำนวน 3 คน ที่แจ้งเตือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ป่า จึงเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินทํากินเดิม หรือเป็นที่บุกเบิกใหม่ เพื่อจะมาปิดในระบบ และเพื่อเช็คว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่

 

ช่วงประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้ไปถึงในพื้นที่ และมีการตรวจสอบถ่ายภาพตามจุดพิกัด โดยได้มีไปเจอชาวบ้าน และได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทํากินในพื้นที่นี้นานหรือยัง พอใช้เวลาตรวจสอบสักพัก หลังจากนั้นก็มีการถอนกําลัง ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกเจ้าหน้าที่จึงได้มีการไปแวะพักที่ศาลาที่มีแทงค์น้ำตั้งอยู่ และ ระหว่างรอฝนหยุดตก ขากลับยางล้อรถของเจ้าหน้าที่รั่วจึงค่อยๆ ขับรถกลับกันมาจนถึงชุมชนในหมู่บ้าน และในเวลาประมาณเกือบ 17.00 น. ชาวบ้านจึงขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยใบหน้าเนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไป จึงมีการปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากไว้เพื่อกันแดดและฝนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาปะยางรถประมาณ 30 นาที ช่วงระยะเวลานั้นชาวบ้านก็เข้ามาสอบถามว่ามาทําอะไร ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบพื้นที่และปรึกษาเรื่องการขออนุญาตไฟฟ้า จากนั้นหลังเวลา 17.40 น. ได้ขี่รถออกมาจากหมู่บ้าน

 

และในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวในโลกโซเชียลออกมาต่อว่ามีชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน ซึ่งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปก็เลยอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นคนเข้าไปทําลายสิ่งของ และเข้าไปหารื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วทุกคน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการเข้าไปทำลายทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น รอยฟันถังน้ำที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าตอนนที่ขึ้นไปมีแค่ปืนกระบอกเดียวที่เป็นอาวุธประจํากายที่ใช้ไปออกลาดตระเวน และเข้าไปทํางานตามปกติไม่ได้มีการไปข่มขู่หรือทําลายข้าวของ ส่วนจุดพิกัดที่ถูกถ่ายภาพมาว่ามีการไปทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ทราบว่าอยู่จุดนี้คือจุดไหน แต่รู้จุดเดียวคือที่มีการขับผ่านศาลาที่มีกรวยห้อยตามศาลา แต่ไม่ได้มีการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนแต่อย่างใด

 

และจากการสอบถามทางผู้นําชุมชน เพื่อขอหลักฐานภาพถ่าย หรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่ามีใครเห็นเจ้าหน้าที่ไปทำลายข้าวของหรือไม่ ซึ่งเพราะถ้ามีการกระทำดังนั้นจริง จะต้องมีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางผู้นําชุมชนก็บอกว่าเห็นเจ้าหน้าป่าไม้เข้ามา และพอเจ้าหน้าที่ออกไปก็เห็นข้าวของเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่า ถ้ามีใครไปแอบอ้างทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทํา จะพิสูจน์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ตลอดเส้นทางที่เข้าไปก็มีการสอบถามทางกับทางชุมชน โดยได้เจอพระรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปคุยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นะ ตอนเจอคนในชุมชนก็มีการแจ้งชื่อ ตอนเข้าไปในชุมชนก็มีชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมาถามชื่อ ชาวบ้านบางคนก็ยังมาช่วยปะยางรถด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินเดิม และหน่วยงานก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีการดำเนินการอะไรทึ่ไม่สมควรอย่างที่กล่าวอ้าง

 

แต่ยอมรับว่าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือเข้าไป เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่เดิม ตรวจสอบและไปปิดในระบบ ซึ่งเป็นการเข้าไปลาดตระเวน เผื่อเจอคนบุกรุก แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงคิดว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เดิมและไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากชาวบ้านท่านใดมีข้อมูล พยาน หรือหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทําลายทรัพย์สินสามารถส่งหลักฐานมาให้ทางหน่วยงานตรวจสอบได้เลย

 

สำหรับเหตุการณ์ชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มีชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย มีผ้าปิดคลุมใบหน้า พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกเป็นปกติ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนแปลงดังกล่าวแล้วพบว่า ทรัพย์สินในกระท่อมในไร่หมุนเวียนถูกรื้อทำลาย รวมทั้งถังเก็บน้ำสำรองที่ใช้ดับไฟป่าก็ถูกกรีดและถูกปล่อยน้ำออกจนหมด รวมไปถึงอุปกรณ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของชุมชนกะเหรี่ยง “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ที่ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่จะขอให้ฟ้าฝนช่วยให้การเพาะปลูกราบรื่นนั้นถูกรื้อทำลายกระจัดกระจาย

 

 

ทั้งนี้หมู่บ้านห้วยหินลาดในถือเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์ป่าไม้และวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญออย่างเข้มแข็ง และหน่วยงานราชการหลายหน่วยได้มีการเข้ามาดูผลงานในหมู่บ้านดังกล่าว และชุมชน ผู้นำชุมชนหลายคนก็เคยได้รับรางวัลหลากหลายรางวัลที่การันตีถึงความยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ

 

1.รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ปี 2542 ประเภทชุมชน

2.“รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”) ในปี 2548

3.กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 7 ในปี 2548

4.พะตีปรีชา ศิริ (อายุ 59 ปี) ได้รับรางวัล “วีรบุรุษ รักษาป่า” Forest Hero จากการประชุมของ องค์การสหประชาชาติ เรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ในปี 2556

5.ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ และศึกษาแลกเปลี่ยนชุมชนต้นแบบที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2566

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เซ็นทรัลพัฒนา จับมือกรมป่าไม้ปลูกต้นไม้ป่าสงวนแห่งชาติ อ.เชียงของ

 
เมื่อวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา เซ็นทรัลพัฒนา ร่วมกับ กรมป่าไม้ จัดกิจกรรมปลูกป่า “One million trees movement” เพื่อเพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอน ลงพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยหลวง ป่าน้ำยาว และป่าน้ำซ้อ ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ปลูกต้นไม้ จำนวน 200 ไร่ 40,000 ต้น พร้อมมอบหลอดไฟ ฟลูออเรสเซนต์ จำนวน 50 หลอด ให้กับโรงเรียนบ้านเวียงหมอก ณ บริเวณพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าดอยหลวง ป่าน้ำยาว และป่าน้ำซ้อ ต.ห้วยซ้อ อ.เชียงของ จ.เชียงราย  มอบพื้นที่สีเขียวให้กระจายทั่วประเทศ
 

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย นำโดยคุณสายัณห์ นักบุญ พร้อมด้วยคณะทำงาน CSR สำนักงานใหญ่, สาขา และกลุ่มจิตอาสา ประจำศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย ร่วมจัดกิจกรรมสานต่อโครงการปลูกป่า “One million tress movement” ปลูกป่าซับคาร์บอนตามโครงการ The Journey to NetZero เพิ่มพื้นที่ดูดซับคาร์บอนตามเป้าหมายสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ และมอบพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศ  สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ Imagining better futures for all โดยได้รับเกียรติจากคุณจีระ ทรงพุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) กล่าวเปิดงาน พร้อมด้วยคุณธิดานันท์ สรินา ปลัดอำเภอเชียงราย กล่าวต้อนรับ,คุณสุรินทร์ วงค์อิ่นแก้ว  นายกเทศมนตรีตำบลห้วยซ้อ, คุณไสว ปัญญาสุข รองนายเทศมนตรีตำบลห้วยซ้อ, คุณเฉลิม เงินสม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเวียงหมอก และคุณวราวุฒิ ไชยวงค์ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมงาน

 

เซ็นทรัลพัฒนา เชื่อมั่นว่าการขับเคลื่อนโครงการ ‘One Million Trees Movement – ปลูกป่าซับคาร์บอน นั้นจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีของสิ่งแวดล้อมในอนาคต เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งพันธมิตร ชุมชน และคนในองค์กรได้มีส่วนร่วมในการฟื้นฟูป่าไปด้วยกัน สร้างสมดุลระหว่าง People และ Planet ด้วยการเป็น  Center of Life เพื่อเป้าหมาย Sustainable Ecosystem และ NET ZERO  ภายในปี 2050

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

กรมป่าไม้ส่งชุดพยัคฆ์ไพร ลุยพิจิตร พบพิรุธโรงงานแปรรูป

 
“กรมป่าไม้ส่งชุดพยัคฆ์ไพรลงพื้นที่ขยายผลตรวจสอบกรณีได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาซุกซ่อนและทำการแปรรูปภายในบริเวณสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมไม้แห่งหนึ่งในอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร เบื้องต้นตรวจพบไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขที่ระบุไว้ท้ายในอนุญาต จึงได้แจ้งความกล่าวโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484”
 
นายทรงศักดิ์ กิตติธากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สั่งการให้นายชาญชัย กิจศักดาภาพ ผู้อำนวยการส่วนปฏิบัติการพิเศษ หัวหน้าหน่วยเฉพาะกิจปราบปรามพิเศษ (พยัคฆ์ไพร) นำกำลังเจ้าหน้าที่ชุดพยัคฆ์ไพร ร่วมกับชุดปฏิบัติการพิเศษป่าไม้ สจป.4 สาขานครสวรรค์ เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมไม้แห่งหนึ่งในอำเภอโพทะเล จังหวัดพิจิตร ตามที่ได้รับแจ้งเบาะแสว่ามีไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเข้ามาซุกซ่อนและทำการแปรรูปภายในบริเวณสถานประกอบการแห่งนี้
 
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบปรากฏว่า สถานประกอบกิจการอุตสาหกรรมไม้แห่งนี้ ได้รับใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรเพื่อการค้า โดยมีผู้แทนบริษัทได้นำเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ และมอบสำเนาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ขณะเดียวกันจากการตรวจสอบไม่พบว่ามีการจัดทำบัญชีไม้ ให้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงในแต่ละวัน และไม่เก็บรักษาบัญชีไม้และหลักฐานกำกับไม้ที่นำเข้าและจำหน่ายออกไว้ ณ สถานที่รับใบอนุญาต 
 
ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด ฉบับที่ 18 (พ.ศ.2532) ออกตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 ว่าด้วยการควบคุมการแปรรูปไม้ ข้อ 8 และ ข้อ10 มีความผิด ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 ฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือข้อกำหนดที่รัฐมนตรีกำหนดให้ปฏิบัติเพิ่มเติม ตามมาตรา 58 ประกอบตามมาตรา 73 ทวิ และจากการตรวจสอบพบคนงาน 11 คน ไม่มีใบคู่มือคนงานหรือผู้รับจ้าง แสดงต่อเจ้าหน้าที่ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ 2484 มาตรา 57 ประกอบมาตรา 71
 
นอกจากนี้ตรวจพบไม้สักท่อน 1 ท่อน ปริมาตร 1.43 ลูกบาศก์เมตร ไม้สักแปรรูป 21 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 2 ลูกบาศก์เมตร และไม้พฤกษ์แปรรูป 27 แผ่น/เหลี่ยม ปริมาตร 3.62 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งยังไม่สามารถแสดงเอกสารการได้มาของไม้ได้อย่างครบถ้วน ซึ่งผู้แทนบริษัทแจ้งว่าเป็นไม้ที่รับจ้างแปรรูป จึงขอโอกาสนำเอกสารการได้มาของไม้แสดงต่อเจ้าหน้าที่ภายใน 7 วัน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องต่อไป
 
เบื้องต้นเจ้าหน้าที่บันทึกเรื่องราว นำไปแจ้งความกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรโพทะเล ให้ดำเนินคดีตามกฎหมาย พร้อมจะได้แจ้งประสานไปยังศูนย์ป่าไม้พิจิตร เพื่อประสานไปยังสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจิตร ให้พิจารณาดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายด้านการอนุญาต และประสานสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 สาขานครสวรรค์ เพื่อพิจารณามอบหมายเจ้าหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการได้มาของไม้ตามระเบียบและกฎหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เซ็นทรัลเชียงราย ร่วมกับ กรมป่าไม้ แจกต้นกล้าฟรี !

 

ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย ร่วมกับ กรมป่าไม้ แจกต้นกล้าฟรี ! พันธุ์กล้าไม้ที่แจก อาทิ เหลืองเชียงราย, มะขามป้อม, มะขาม, และต้นลูกหว้า เริ่มแจกวันอังคาร ที่ 20 มิถุนายน 2566 (จนกว่าของจะหมด) บริเวณ ชั้น 1 หน้าเคาน์เตอร์ประชาสัมพันธ์ ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เชียงราย
เนื่องในโอกาส ครบรอบ 43 ปีเซ็นทรัลพัฒนา และเดือนสิ่งแวดล้อมโลก โดยร่วมกับ กรมป่าไม้ แจกต้นกล้าทั่วประเทศกว่า 43,000 กล้า เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ร่วมสร้างพื้นที่สีเขียวในบ้านคุณ และเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS NEWS

บสย. – ชาญอิสสระ จัดโครงการ CSR แจกกล้าไม้ ชวนคนเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว

บสย. – ชาญอิสสระ จัดโครงการ CSR แจกกล้าไม้ ชวนคนเมืองเพิ่มพื้นที่สีเขียว

Facebook
Twitter
Email
Print
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และคณะผู้บริหาร พร้อมด้วย นางอรพรรณ อรุณรังสิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ร่วมอิสสระ จำกัด จัดโครงการ CSR ร่วมแจกกล้าไม้มงคล จำนวน 300 กล้า เนื่องในโอกาสวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 3 มิถุนายน และวันสิ่งแวดล้อมโลก ปี 2566 ตรงกับวันที่ 5 มิถุนายนของทุกปี เพื่อให้ประชาชนนำไปปลูกช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อน และเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้สิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2566 ณ ลานพลาซ่า ชั้น 1 อาคารชาญอิสสระทาวเวอร์ 2

สำหรับในปีนี้ บสย. ได้รับการสนับสนุน “ต้นยอ” จากกรมป่าไม้ จำนวน 300 กล้า สรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้ ช่วยเสริมสิริมงคลแก่เจ้าบ้าน และสมาชิกในบ้านตามความเชื่อ โดย บสย. นำมาแจกจ่ายให้กับประชาชนทั่วไปและชุมชนใกล้เคียง เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย ESG ที่ บสย. มุ่งมั่นดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นองค์กรผู้นำด้าน ESG ของประเทศตามเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ Sustainable Development Goals (SDGs) การสร้างมาตรฐานชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนขององค์การสหประชาชาติ (UN)

ทั้งนี้ บสย. ยังสนับสนุน SMEs สู่ธุรกิจ ESG และ BCG ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ “บสย. SMEs เข้มแข็ง” (PGS 10) กับผลิตภัณฑ์ Smart Green วงเงินค้ำประกันต่อรายไม่เกิน 40 ล้านบาท รวมทุกสถาบันการเงิน ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 4 ปีแรก และค้ำประกันสูงสุด 10 ปี สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บสย. Call Center 0-2890-9999 และสำนักงานเขตทั้ง 11 แห่ง ทั่วประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News