Categories
TOP STORIES

บุหรี่ไฟฟ้ามีส่วนผสมน้ำยาดองศพ สูบเสี่ยงมะเร็ง-โรคทางเดินหายใจ

เตือนภัยบุหรี่ไฟฟ้า: พิษร้ายจากสารเคมีถึงชีวิต

เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2567 เพจ “สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth” ได้โพสต์ข้อความเตือนถึงภัยร้ายของบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอย่างรวดเร็ว โดยระบุว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบแนวโน้มการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะจากการหลงเชื่อคำโฆษณาที่ลวงให้เข้าใจผิดเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

อันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้าและสารเคมีพิษ

บุหรี่ไฟฟ้ามักมีการเติมสารปรุงแต่งกลิ่นและรสที่แฝงสารพิษและสารเสพติด เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) หรือที่รู้จักในชื่อ “น้ำยาดองศพ” ซึ่งสารนี้เป็น สารก่อมะเร็ง (Carcinogen) ที่ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ โดยการศึกษาจากมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกา ยืนยันว่าฟอร์มาลดีไฮด์ในบุหรี่ไฟฟ้าสามารถแทรกซึมเข้าสู่ปอด ก่อให้เกิดโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง มะเร็ง และระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนังได้

ผลกระทบต่อสุขภาพจากบุหรี่ไฟฟ้า

  1. ระบบประสาทส่วนกลาง: วิงเวียนศีรษะ ปวดหัว รบกวนการนอน
  2. ระบบหายใจ: เสี่ยงโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมหดเกร็ง
  3. ระบบหัวใจและหลอดเลือด: เสี่ยงหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดแข็ง
  4. ระบบทางเดินอาหาร: กรดไหลย้อน แผลในกระเพาะอาหาร
  5. ระบบกล้ามเนื้อ: กระดูกเสื่อม ปวดข้อ

กระทรวงสาธารณสุขห่วงใยเยาวชน

นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยในประเด็นนี้อย่างมาก โดยเน้นย้ำให้พ่อแม่ผู้ปกครองสร้างความเข้าใจแก่บุตรหลานเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า และขอให้หลีกเลี่ยงการตกเป็นเหยื่อโฆษณาชวนเชื่อที่กล่าวอ้างถึงความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

แนวทางป้องกันและเลิกบุหรี่ไฟฟ้า

  • สร้างความรู้และความเข้าใจแก่เยาวชนเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า
  • ขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ที่สถานพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข
  • ใช้บริการ สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600 เพื่อรับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ

กรมควบคุมโรคขอให้ประชาชนช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเยาวชน เพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยทุกคน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
NEWS UPDATE

กรมควบคุมโรค เผยตัวเลขผู้ป่วยโควิด มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์

 

เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ของโรคโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งปัจจุบันโรคโควิด-19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ แต่ยังไม่มีรายงานการระบาดรุนแรง แต่เพื่อให้เกิดความมั่นใจได้สั่งการทุกจังหวัดประเมินสถานการณ์และเตรียมความพร้อม กำชับทุกหน่วยงานดูแลประชาชนอย่างทั่วถึง

 

โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 14-20 เมษายน 2567) พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 1,004 ราย เฉลี่ย 143 รายต่อวัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามที่คาดการณ์ไว้ โดยพบผู้ป่วยมากขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดท่องเที่ยวหลายแห่ง และมีผู้ป่วยอาการรุนแรงปอดอักเสบ 292 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 101 ราย และเสียชีวิต 3 ราย โดยผู้เสียชีวิตทุกรายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุหรือมีโรคเรื้อรัง (608)

 

ทั้งนี้ คาดสาเหตุที่ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วย เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมีอาการเหมือนไข้หวัด ทำให้ไม่ระวัง ป้องกันตนเองส่งผลให้ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการติดตามเฝ้าระวังสายพันธุ์ที่กำลังระบาดในประเทศไทย ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่ายังคงเป็นสายพันธุ์รุ่นลูกของโอมิครอน โดยผู้ป่วยจะมีลักษณะอาการคล้ายหวัด เช่น ไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย ตามตัว ปวดศีรษะ มีน้ำมูก โดยยังไม่พบว่ามีระดับความรุนแรงของโรคเพิ่มขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอนเดิมในปีที่ผ่านมา

 

นายแพทย์ธงชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคโควิด-19 ขณะนี้มีลักษณะเหมือนโรคประจำถิ่น สามารถพบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี เพียงแต่จะมีจำนวนมากหรือน้อยแล้วแต่ช่วงเวลา ขณะนี้มีลักษณะคล้ายคลึงกับโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจทั่วไป อาทิ โรคไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ทั้งนี้โรงพยาบาลทุกแห่งมีความพร้อมทั้งด้านบุคลากร เตียงรองรับผู้ป่วยเวชภัณฑ์ ตลอดจนมีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยเป็นอย่างดี

 

อย่างไรก็ตาม ประชาชนทั่วไปควรเน้นสุขอนามัยส่วนบุคคล และส่งเสริมให้มีการสวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในสถานที่แออัดที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก เช่น ในการเดินทางสาธารณะ ที่โรงพยาบาล และสถานที่ดูแลผู้สูงอายุ และจำเป็นต้องล้างมือบ่อย ๆ หากมีอาการคล้ายหวัด ควรทำการตรวจ ATK ที่บ้าน และหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับกลุ่มเสี่ยง 608 หากผลตรวจเป็นบวก 2 ขีด ให้สวมหน้ากากเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อและพบแพทย์โดยเร็วเมื่อมีอาการหายใจลำบากหรืออื่น ๆ

 

สำหรับกลุ่ม 608 หากมีอาการคล้ายหวัด และผลตรวจ ATK เป็นบวก 2 ขีด ควรสวมหน้ากากและรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษา เพื่อลดโอกาสในการเกิดอาการรุนแรง หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อสายด่วนของกรมควบคุมโรคได้ที่ 1422

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

คกก.นโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เห็นชอบศึกษาขยายเวลาจำหน่าย

 
เมื่อวันที่19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ห้องประชุมชัยนาทนเรนทร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมี นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และกรรมการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
 
          นายแพทย์ชลน่านให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมว่า ในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ ได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการขยายเวลาจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสนับสนุนการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ โดยได้นำข้อเสนอจากที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 มาประกอบการพิจารณา และเห็นว่า 1) ปัจจุบันมีกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับร้านอาหารทั่วไป ได้แก่ ประกาศคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 253 และกฎกระทรวงที่ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติดังกล่าว ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดเวลาห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2558 ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551และต้องคำนึงถึง พระราชบัญญัติสถานบริการ 2509 ซึ่งถ้าจะมีการเปลี่ยนแปลงเวลาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องปรับแก้กฎหมายเหล่านี้และต้องคำนึงถึงเวลาเปิดปิด ตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการและการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว และ2) ข้อมูลในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ ยังไม่มีข้อมูลทางสถิติที่ชัดเจน สมควรศึกษาข้อมูลแล้วนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลของจังหวัดนำร่อง เพื่อนำมากำหนดเวลาที่จะขยาย เพื่อความละเอียดรอบคอบ
 

          “ที่ประชุมได้มีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อไปทำการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดกรอบระยะเวลาในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารทั่วไปอย่างรอบคอบรอบด้าน ทั้งนี้ไม่ได้กำหนดกรอบระยะเวลาในการศึกษาข้อมูล แต่เนื่องจากเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมก็จะเร่งรัดให้เร็วที่สุดโดยคำนึงถึงข้อมูลที่เพียงพอสำหรับประกอบการพิจารณา นอกจากนี้ที่ประชุมยังเห็นชอบให้มีการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย” นายแพทย์ชลน่านกล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

กรมควบคุมโรคแนะแม่ตั้งครรภ์ ระวังชื้อไวรัสซิกา ทารกเสี่ยงพัฒนาการช้า

 
วันที่ 19 สิงหาคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรณีสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิกาในประเทศไทย ในสัปดาห์ที่ 31 คือ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึง 9 สิงหาคม 2566 พบผู้ป่วยสะสมจำนวน 172 ราย อัตราป่วย 0.26 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยครบทุกภาค กระจายใน 21 จังหวัด โดยพบอัตราป่วยสูงสุดในภาคกลาง รองลงมา คือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกคำเตือนในช่วงนี้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝน ทำให้มีน้ำขังตามภาชนะต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ก่อให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ซึ่งโรคติดเชื้อไวรัสซิกานี้ สามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ เป็นโรคที่คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องเฝ้าระวังและป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด เพราะหากแม่ติดเชื้อไวรัสซิกาแล้ว อาจส่งผลให้เด็กที่คลอดออกมามีความผิดปกติ 

นางสาวรัชดา กล่าวถึงข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่า โรคติดเชื้อไวรัสซิกา มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่นเดียวกับโรคไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นแดงตามลำตัวและแขนขา มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ตาแดง และสามารถติดต่อจากมารดาสู่ทารกในครรภ์ และอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง คือ ทารกเกิดความพิการทางสมองและระบบประสาท ส่งผลให้ทารกที่เกิดมามีความผิดปกติ เช่น ศีรษะเล็ก การได้ยินผิดปกติ และพัฒนาการช้า เป็นต้น โดยกรมควบคุมโรคแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ควรป้องกันตนเองอย่าให้ถูกยุงกัด ไปฝากครรภ์ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์จนกว่าจะคลอด หากตรวจพบว่าติดเชื้อไวรัสซิกาต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดโดยสูตินรีแพทย์ 

“นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคย้ำขอให้ประชาชนทั่วไปช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในบริเวณบ้านและในชุมชน โดยใช้มาตรการ 3 เก็บป้องกัน 3 โรค คือ 1) เก็บบ้าน ให้สะอาดไม่ให้ยุงลายเข้ามาเกาะพัก 2) เก็บขยะ ภายในบริเวณบ้านและชุมชน ให้เรียบร้อยไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย 3) เก็บน้ำ เก็บภาชนะกักเก็บน้ำให้มิดชิดเพื่อป้องกันยุงลายลงไปวางไข่ รวมถึงการป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัดด้วยการทายากันยุง และนอนในมุ้งหรือห้องที่มีมุ้งลวดกันยุง เพื่อป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา ไข้เลือดออก และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และขอให้ประชาชนสังเกตอาการป่วยของคนในครอบครัว ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ได้แก่ แอสไพริน และไอบูโพรเฟนมารับประทาน และให้รีบพาผู้ป่วยไปพบแพทย์หรือสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน เพื่อได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็ว จะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตได้ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

นายกฯ ห่วงใยประชาชน หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2566 ซึ่งข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ในปี 2566 มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 3 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 พฤษภาคม 2566) เหตุจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค และในบางรายเคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำหลังถูกสุนัขกัด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากประชาชนที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือได้รับครั้งล่าสุดเกิน 1 ปี หรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด หรือสัตว์ที่เคยได้รับวัคซีนแต่มีอาการป่วย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที ก่อนรักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อและรีบไปพบแพทย์ รวมทั้งให้กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งซากสัตว์สงสัยที่เพิ่งตายตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

“รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ‘ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2568’ ตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า โดยมีแนวทางแก้ปัญหาโรคนี้ โดยมุ่งเน้นการควบคุมประชากรสุนัขและแมว และสัตว์ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสุนัขและแมวเป็นประจำทุกปี อีกทั้ง ส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าให้ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ และไม่ปล่อยทิ้งสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่าสามารถพบได้ตลอดทั้งปีหากในพื้นที่นั้น ๆ มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน หรือสัตว์ตัวอื่นต่อไป โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว และพบบ้างในโค กระบือ เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะพบอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน อาการระยะแรกจะมีไข้ อาจพบอาการคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด แสบ ร้อน แล้วลามไปส่วนอื่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมาอาจมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ไวต่อสิ่งกระตุ้น เสียการทรงตัว พูดจาเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก ชักเกร็ง อาจพบอาการกลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ ซึ่งเรียกว่า Furious form พบประมาณร้อยละ 80 ส่วนอาการที่พบในอีกรูปแบบหนึ่ง ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย คือ อาการอัมพาต (Paralytic form) โดยอาการอัมพาตกล้ามเนื้อจะเริ่มจากข้างที่ถูกกัด ก่อนที่จะลุกลามไปยังแขนขาทั้ง 4 และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

กรมควบคุมโรค ถ่ายทอดแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศ ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

กรมควบคุมโรค ถ่ายทอดแผนปฏิบัติการความร่วมมือระหว่างประเทศ ป้องกันควบคุมโรคและภัยสุขภาพ

Facebook
Twitter
Email
Print

 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2566 เวลา 18.00 น. นายอนุกูล ปีดแก้ว ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ปลัด พม.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีเด็กถูกกระทำความรุนแรงในสถานสงเคราะห์เด็ก ที่จังหวัดสระบุรี ว่า ขณะนี้ กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ได้สั่งการให้พี่เลี้ยงที่กระทำความรุนแรงกับเด็กหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที พร้อมทั้งแจ้งความดำเนินคดี ขณะเดียวกันได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมถึงรวบรวมข้อมูลจากเด็ก 169 คน ที่อยู่ในความดูแลของสถานสงเคราะห์ 

โดยเบื้องต้นได้รับรายงานว่า มีเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรงประมาณ 9 คน มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป และได้คัดแยกกลุ่มเด็กดังกล่าวออกจากพื้นที่มาอยู่ในความดูแลชั่วคราวของบ้านพักเด็กและครอบครัวในพื้นที่ใกล้เคียง เพื่อคลายความวิตกกังวล อีกทั้งได้ส่งนักสังคมสงเคราะห์และนักจิตวิทยาเข้าประเมินและฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ กระทรวง พม. ขอรับประกันความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อมูลเรื่องนี้ เพื่อจะได้ไม่มีความวิตกกังวล โดยได้เตรียมหน่วยงานในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงไว้รองรับการปฎิบัติงาน 

         นายอนุกูล กล่าวต่อไปว่า เย็นวานนี้ (29 พ.ค. 66) มีการประชุมด่วนเพื่อหารือกับผู้บริหารกระทรวง พม. ทุกกรม ในการจัดระบบสถานสงเคราะห์และสถานรองรับทั่วประเทศใหม่ เพื่อยกระดับมาตรฐานการดูแลผู้รับบริการทุกกลุ่มเป้าหมายทั้งเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ คนไร้ที่พึ่ง  และป้องกันไม่เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก  อีกทั้งจะให้มีการหมุนเวียนการปฏิบัติหน้าที่ของหัวหน้าหน่วยงานที่ทำงานมานานเกิน 3 ปี เนื่องจากอาจขาดความกระตือรือร้น ความเอาใจใส่ และจะให้มีการประเมินและพัฒนาทักษะพี่เลี้ยงเป็นระยะ สำหรับเย็นวันนี้ (30 พ.ค. 66) ได้ประชุมผู้บริหารกระทรวง พม. ร่วมกับหัวหน้าสถานสงเคราะห์และหน่วยงานสถานรองรับทั่วประเทศ เพื่อเน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานและมาตรการต่างๆ ที่ต้องปรับเปลี่ยนการดูแลผู้รับบริการให้ดีขึ้น 

       นายอนุกูล กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุครั้งนี้ เกิดขึ้นในสถานสงเคราะห์ของรัฐ  ซึ่งกระทรวง พม. ต้องยอมรับผิดและขอโทษสังคมอย่างยิ่ง เพราะคนในสังคมคาดหวังหน่วยงานรัฐในการช่วยเหลือดูแลเด็กอย่างดี ดังนั้น จึงต้องเร่งแก้ปัญหาทั้งระบบโครงสร้าง รวมถึงบุคลากร โดยจะนำวิกฤตเป็นโอกาสที่จะต้องจัดการทั้งระบบให้ชัดเจน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  กรมควบคุมโรค

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News