Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ขยะน้ำท่วม ‘เชียงราย-แม่สาย’ ตกค้าง 5.5 หมื่นตัน ขอเอกชนฝังกลบ

 

เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 นายสุรินทร์ วรกิจธำรง รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และรองโฆษก คพ. เปิดเผยว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สั่งการ คพ. ติดตามสำรวจขยะมูลฝอย ประสานหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งภาคเอกชน ให้ความช่วยเหลือเร่งการจัดเก็บขนขยะมูลฝอยหลังน้ำลดให้แก่ประชาชนในจังหวัดเชียงรายเร่งด่วน..

นายสุรินทร์กล่าวว่า คพ.ได้ประสานขอความร่วมมือ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด (SCG ลำปาง) และสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า พร้อมลงพื้นที่เพื่อสรุปการทำงานร่วมกันในการการคัดแยกขยะในพื้นที่ประสบอุทกภัยไปใช้ประโยชน์ โดย SCG ลำปาง ยินดีรับขยะไปเผาเป็นพลังงาน ซึ่งต้องมีการรื้อร่อนขยะเอาดินออก ขยะที่สามารถนำไปใช้ได้ ได้แก่ พลาสติก และไม้บางส่วน คาดว่าจะมีประมาณ ร้อยละ 40 ของปริมาณขยะทั้งหมด และจะเป็นผู้จัดหารถเพื่อขนขยะที่รื้อร่อนแล้วส่งไปยังโรงงาน SCG ลำปาง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้ ในส่วนสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่ายินดีให้การสนับสนุนเครื่องจักรในการรื้อร่อน และอยู่ระหว่างประสานกับเทศบาลนครเชียงรายเพื่อหาจุดที่ตั้งที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเป็น ณ บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งใกล้บ่อฝังกลบ ส่วนดินโคลนที่เหลือจากการรื้อร่อน สมาคมจะช่วยหาแนวทางในการนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป

นายสุรินทร์กล่าวต่อว่า รายงานการกำจัดขยะมูลฝอยพื้นที่น้ำท่วม ณ วันที่ 25 กันยายน 2567 เทศบาลตำบลแม่สาย มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 18,000 ตัน ปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 3,721 ตัน นำไปฝังกลบ ณ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเทศบาลตำบลแม่สาย พื้นที่ตำบลเวียงพางคำ คงเหลือขยะตกค้าง 14,279 ตัน เทศบาลนครเชียงราย มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้น 50,000 ตัน ปริมาณขยะที่เก็บขนได้ 9,000 ตัน นำไป ณ จุดพักขยะชั่วคราว ดอยสะเก็น และหลังเดอะมูน คงเหลือขยะตกค้าง 41,000 ตัน ปัญหาอุปสรรค ทั้งสองพื้นที่มีจุดพักขยะไม่เพียงพอทำให้มีกองขยะสูงเริ่มส่งกลิ่นเหม็น เครื่องจักรและแรงงานไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องจัดหาจุดพักขยะ เครื่องจักร และแรงงานเพิ่มเติม พร้อมจัดระเบียบการขนย้ายระหว่างจุดพักขยะและบ่อฝังกลบให้สมดุลกัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมควบคุมมลพิษ (คพ.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

เตือนไทย! เตรียมรับมือเข้าสู่ ‘ฤดูฝุ่น’ กรมควบคุมมลพิษ หนักสุดในช่วง ก.พ. 67

 

เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2567 ร้อยเอก รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนางสาวปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ร่วมกันประกาศไทยเข้าสู่ฤดูฝุ่น ขอให้ทุกหน่วยงานคุมเข้ม ควบคุมต้นตอแหล่งกำเนิดฝุ่น

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่นในวันนี้จะเริ่มรุนแรง ช่วงวันที่ 5 – 12 มกราคมนี้ ซึ่งมีผลมาจากความกดอากาศสูง อัตราการระบายฝุ่นต่ำ ลมสงบ ทำให้เกิดการสะสมของฝุ่นในปริมาณมาก ขณะที่แหล่งกำเนิดฝุ่นหลักในกทม.นอกจากการจราจรแล้ว การเผาพื้นที่การเกษตรในพื้นที่โล่ง นาข้าว จากภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดปราจีนบุรีและฉะเชิงเทรา ลอยตามทิศทางลมมายังกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จึงต้องเฝ้าระวัง ขอให้ทุกหน่วยงาน ควบคุมแหล่งกำเนิดฝุ่นในพื้นที่ตนเอง เพราะก่อนปีใหม่พบจุดความร้อนประมาณ 200 จุด แต่หลังปีใหม่พบจุดความร้อนมากกว่า 1,200 จุด

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ บอกด้วยว่า โดยปกติฤดูฝุ่น PM2.5 จะเริ่มขึ้นตั้งแต่พฤศจิกายน – มีนาคม แต่คาดว่า ฝุ่นจะหนักสุดในช่วงเดือนกุมภาพันธ์  

ส่วน น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่าในปัจจุบันอยู่ที่ 1,200 จุด ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ทางการเกษตรและนาข้าว โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ประกาศงดการเผา และควบคุมการเผา รวมทั้งมีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดให้ควบคุมการเผาผ่านมาตรการต่าง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่ท้ายลม อีกทั้งได้ซักซ้อมกับ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานควบคุมฝุ่นพิษ

คำแนะนำการดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM 2.5

1. ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง

2. ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน

3. หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หรือใส่หน้ากากกรองฝุ่น

4. หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนัก เมื่ออยู่นอกบ้าน

5. ดื่มน้ำมากๆ และไม่สูบบุหรี่ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก

6. ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง

7. ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก, ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป

8. ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง.

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News