Categories
FEATURED NEWS

งานวิจัยท่องเที่ยว บพข. คว้ารางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2567, นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับมอบหมายจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)  ให้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล PMUC COUNTRY 1st AWARD ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ เพื่อมอบรางวัลให้กับนักวิจัย ผู้ประกอบการที่ได้ผลิตผลงานที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย สร้างพลังต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน ด้วยพลังสหวิทยาการ โดยมี รศ.ดร.ธงชัย สุวรรณสิชณน์ พร้อมด้วย คณะผู้บริหาร คณะนักวิจัย และผู้เข้าชมงาน เข้าร่วม โดย 1 ใน 13 โครงการจาก 1,600 โครงการ ที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” ภายใต้การบริหารงานของแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป หัวหน้าโครงการ ขึ้นรับรางวัล โดยพิธีมอบรางวัลนี้จัดขึ้น ณ เวทีย่อย โซน D Science For Exponential Growth ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

 

น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ กล่าวว่า “กระทรวง อว. มีพันธกิจสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนงานด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมสีเขียว และ อุตสาหกรรมความมั่นคงของประเทศ ตลอดจนการสร้างระบบนิเวศและโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ ให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด และพร้อมสำหรับการแข่งขันบนเวทีโลก อีกทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่งเสริมการลงทุน พัฒนา SME และ Startup ที่มีศักยภาพให้สามารถเติบโตและแข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยยึดหลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดยใช้องค์ความรู้และการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข. นับเป็นการเร่งสร้างให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการอย่างตรงจุด เสริมความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมไทย และเพิ่มขีดความสามารถในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

รางวัล PMUC Country 1st Award ครั้งแรกของไทย งานวิจัยเปลี่ยนประเทศ โดย หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ได้คัดเลือก 13 โครงการ จาก 1,600 โครงการ ซึ่งคัดเลือกจากผลงานวิจัยเสร็จสมบูรณ์ออกสู่ตลาด หรือเกิดการประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรมแล้ว หรือเป็นงานวิจัยเตรียมพร้อมสำหรับการต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ และที่สำคัญเป็นผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย และส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างสูง โดย 1 ใน 13 โครงการที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรติในครั้งนี้ คือ ผลการวิจัยเรื่อง “การวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ” โดยมี อาจารย์นวลสมร อุณหะประทีป อาจารย์คณะวิเทศศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต เป็นหัวหน้าโครงการ ร่วมกับคณะนักวิจัย ผศ.ดร. โชคชัย สุเวชวัฒนกูล จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ บริษัท ซีพาร์ทเนอร์ โซลูชั่น จำกัด และบริษัท บางแสนบีช รีสอร์ท จำกัด ภายใต้การสนับสนุนการวิจัยจาก แผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. โดยมี


ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานกลุ่มการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมด้วยสำนักประสานงานพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมกำกับดูแลและหนุนเสริมการทำงานของคณะนักวิจัยที่มุ่งขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมูลค่าสูง เน้นการออกแบบโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคุณภาพ และตอบโจทย์การยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศ

 

อาจารย์นวลสมร เผยว่า “การขอรับรองตรามาตรฐาน GBAC STAR ของไทย เป็นการร่วมมือผ่านงานวิจัยภายใต้โครงการการวิจัยและพัฒนาเพื่อยกระดับมาตรฐานสุขอนามัยระดับสากล GBAC Star ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ที่นักวิจัยและวิชาการจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) โดยงบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ทำงานร่วมกับแต่ละสถานที่เพื่อใช้ประโยชน์จากฐานเดิมที่สถานประกอบการหลายๆแห่งในไทยเคยพัฒนาระบบมาตรฐานสุขอนามัยผ่านระบบ SHA และ SHA+ ที่ดำเนินการโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. และกระทรวงสาธารณสุขมาก่อนในช่วงรับมือโรคระบาดโควิด 19 ซึ่งผลได้ที่เกิดจากกิจกรรมคือ นักวิจัยไทยจากโครงการนี้ ซึ่งมีทั้งนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ตและสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เป็นผู้มีความชำนาญในการออกแบบติดตามและประเมินมาตรฐานตามระบบของ สมาคม ISSA Worldwide Cleaning Industry Association USA และได้รับการรับรองให้เป็นบุคลากรเชี่ยวชาญในการประเมินอิสระให้ GBAC STAR ในระดับภูมิภาคด้วย”

 

โดย ผลสำเร็จจากโครงการนี้ มีองค์กรต้นแบบระบบนิเวศทางการท่องเที่ยวที่ได้รับใบรับรองมาตรฐาน  จำนวน 9 แห่ง ได้แก่ 1) ศูนย์ประชุมบางแสนเฮอริเทจ จ.ชลบุรี ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมแห่งแรกของ ASEAN 2) อาคารผู้โดยสารต่างประเทศขาเข้า ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทท่าอากาศยานแห่งแรก ที่อยู่นอกทวีปอเมริกา 3) สุโข เวลเนส แอนด์ สปา รีสอร์ท จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทสปา เป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 4) นิกรมารีน จ.ภูเก็ต ผ่านการรับรองประเภทธุรกิจการขนส่ง เป็นแห่งแรกนอกทวีปอเมริกา 5) เซ็นทารา แกรนด์ บางกอก คอนเวนชัน เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์  ผ่านการรับรองประเภทศูนย์ประชุมที่มีการบริหารงานแบบเครือข่ายแห่งแรกของ ASEAN 6) บ้านปาร์คนายเลิศ ผ่านการรับรองประเภทศูนย์วัฒนธรรมเป็นพื้นที่แรกนอกทวีปอเมริกา 7) ไทเกอร์มวยไทย การรับรองประเภทสถานออกกำลังกายเป็นแห่งแรกของประเทศไทย 8) ป่าตองเบย์วิว ผ่านการรับรองประเภทโรงแรมที่มีการบริหารงานแบบอิสระเป็นแห่งแรกของประเทศไทยและ และ 9) เกาะยาวใหญ่วิลเลจ

 

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดนิทรรศการ “เปิดโอกาสธุรกิจท่องเที่ยววิถีใหม่ ปลดล็อกศักยภาพผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวไทยด้วยทุนวิจัยด้านท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์จาก บพข.” โดยนำเสนอผลงานวิจัยภายใต้โครงการ “การพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของธุรกิจค่ายมวยด้วยเทคโนโลยีจักรวาลนฤมิต (Metaverse) เพื่อเพิ่มมูลค่างานสร้างสรรค์จากฐานภูมิปัญญาและวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับกีฬามวยไทยในตลาดดิจิทัล” โดย ผศ.ดร.สัจจา ไกรศรรัตน์ สังกัด มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง งบประมาณจาก กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ซึ่งโครงการเน้นการบูรณาศาสตร์ โดยการนำมวยไทยมาประยุกต์ เป็นการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ และการท่องเที่ยวกีฬา เช่น การนำท่าไหว้ครูมวยไทยมาใช้ในการออกกำลังกาย และการเสนอขายแพ็กเก็จการท่องเที่ยวร่วมกับค่ายมวย และโรงแรมต่างๆ เพื่อเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยดึงอัตลักษณ์ของมวยไทยมาขับเคลื่อนสู่การเป็น Soft Power

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

เร่งสอบย้อนหลังซื้อขายวุฒิ ม.เอกชน โทษสูงสุดยกเลิกใบจัดตั้งมหาวิทยาลัย

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2567 น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีข่าวการซื้อขายวุฒิปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งหนึ่ง ว่า ขณะนี้ กระทรวง อว. ได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยมี ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวง อว. เป็นประธาน รวมถึงมีหนังสือแจ้งไปยังกรรมการสภาสถาบันผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว ซึ่งเป็นกรรมการสภาที่กระทรวง อว. แต่งตั้งเป็นผู้แทน 3 ท่าน ให้ดำเนินการติดตามตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานทางกระทรวง อว. ให้ทราบโดยด่วน

น.ส.ศุภมาส กล่าวต่อว่า สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนดังกล่าว เคยถูกควบคุมโดยกระทรวง อว. เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ถึง 4 มิ.ย. 2567 เนื่องจากปัญหาการขอกำหนดตำแหน่งวิชาการไม่เป็นไปตามที่คณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กำหนด และเพิ่งจะมีการยกเลิกการควบคุม เมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาที่อยู่ในการควบคุม มั่นใจได้ว่าไม่มีการออกวุฒิปริญญาบัตรที่ไม่ถูกต้องแน่นอน เพราะกระทรวง อว. ควบคุมอย่างเข้มงวด นี่อาจจะเป็นสาเหตุ ที่ทำให้เกิดกรณีที่เป็นข่าวว่าเสียเงินซื้อ แต่ไม่ได้ปริญญาตามที่ตกลง

“จากนี้กระทรวง อว. จะทำการสอบข้อเท็จจริงย้อนหลังไปก่อนการควบคุม ว่าได้มีการดำเนินการซื้อขายวุฒิปริญญาบัตรตามที่เป็นข่าวหรือไม่ หากพบว่าผิดจริง จะใช้มาตรการเด็ดขาดตามกฎหมาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 ให้อำนาจกระทรวง อว. เข้าไปควบคุม ดำเนินคดี จนถึงการยกเลิกใบอนุญาตในการจัดตั้งมหาวิทยาลัยได้ และในอดีตที่ผ่านมา ก็เคยมีการยกเลิกใบอนุญาตสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ทำผิดกฎหมายในลักษณะเดียวกันมาแล้ว” น.ส.ศุภมาส กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ชื่นชมกระทรวง อว. ยกระดับ กระดาษปอสาเพิ่มรายได้กว่า 2 พันล้านบาท

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เป็นผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้านซึ่งเป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือนทางภาคเหนือของประเทศไทยมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยเฉพาะในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์กระดาษสาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างรายได้จากการส่งออกกระดาษสาและผลิตภัณฑ์มากกว่าปีละ 100 ล้านบาท และช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวรวมเป็นมูลค่ากว่า 2000 ล้านบาท นอกจากนี้ชุมชนที่ผลิตกระดาษสา ยังเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่มีนักท่องเที่ยวมาเรียนรู้และทำกิจกรรมการผลิตกระดาษแบบดั้งเดิมจำนวนมาก เป็นการสร้างรายได้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง  เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายรัฐบาล ในการสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนตลอดจนการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมและการประกอบอาชีพด้านการผลิตสินค้าหัตถกรรมเพื่อเป็นการกระจายรายได้แก่ประชาชนในท้องถิ่น

 

ตนขอชื่นชมกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ที่ประสบความสำเร็จด้วยการนำกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มาขับเคลื่อนการพัฒนาการผลิตกระดาษหัตถกรรมจากปอสา เพื่อพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมวัตถุดิบ การผลิตกระดาษสา การสร้างลวดลาย สีสัน และการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพตรงกับความต้องการของลูกค้าและนักท่องเที่ยวจากทั้งในและต่างประเทศ

 

ทั้งนี้ ตนได้มอบหมาย กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวง อว. ให้เร่งขยายพื้นที่การดำเนินงาน และสร้างความร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับหน่วยงาน อว.ระดับพื้นที่ รวมถึงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อปรโยชน์ประชาชนในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน

 

นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กล่าวว่า ปัจจุบันการผลิตกระดาษสาส่วนใหญ่เป็นการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในแถบยุโรปและเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งเป็นการผลิตตามความต้องการสั่งซื้อจากลูกค้าโดยตรง และยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการตามนโยบายของ รมว.อว. ด้วยการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ลงสู่พื้นที่ที่มีการผลิตกระดาษสาเพื่อการส่งออก ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง สุโขทัย และน่าน เพื่อยกระดับคุณภาพกระดาษสาสำหรับส่งออกในด้านต่าง ๆ เช่น สีสัน ลวดลาย การเพิ่มความเรียบ ความสม่ำเสมอ ความแข็งแรง การต้านลามไฟของเนื้อกระดาษ และลดความเป็นกรดด่าง ให้ตรงกับความต้องการของลูกค้าจากต่างประเทศ เป็นการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น

นอกจากนี้ ยังเร่งให้มีการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปช่วยในการปรับปรุงคุณภาพ เพิ่มเทคนิค และจัดสถานที่เพื่อให้เหมาะสมกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และน่าน ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมกระดาษสา โดยเริ่มจากการปรับปรุงกระบวนการผลิตกระดาษหัตถกรรมให้เหมาะกับการท่องเที่ยว การพัฒนาคุณภาพ รูปแบบ สีสัน ลวดลาย บนกระดาษสาด้วยเทคนิค Ebru Marbling ซึ่งเป็นการประยุกต์งานศิลปะดั้งเดิมของชาวตุรกี ที่สร้างลวดลายหินอ่อนบนผ้ามาสร้างลวดลายหินอ่อนบนผิวกระดาษสา เป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และสร้างกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำด้วยตัวเอง เพิ่มความน่าสนใจ ทำให้ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งให้คำปรึกษาและแนะนำชุมชนด้านสถานที่ รวมถึงข้อมูลให้กับบุคลากรในพื้นที่ สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้านผลิตภัณฑ์กระดาษหัตถกรรมอย่างยั่งยืน ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชุมชนกระดาษสาที่อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบนมากยิ่งขึ้น

 
ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. เป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านเยื่อและกระดาษแบบครบวงจรมากกว่า 50 ปี ทั้งด้านวิเคราะห์ทดสอบ สอบเทียบเครื่องทดสอบกระดาษ วิจัย พัฒนา และจัดทำมาตรฐาน (Standards) หรือข้อกำหนดคุณลักษณะ (Specifications) ตามหลักการในการจัดทำมาตรฐานสากล และ วศ. ได้นำองค์ความรู้ด้านกระบวนการผลิตกระดาษไปถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ผู้ประกอบการทุกระดับ ตั้งแต่ วิสาหกิจชุมชน (OTOP) วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้านเยื่อและกระดาษภายในประเทศ
 
นายแพทย์รุ่งเรืองฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมวิทยาศาสตร์บริการ กระทรวง อว. ได้ขยายความร่วมมือกับหน่วยงานในชุมชนและภาคมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อพัฒนากระดาษหัตถกรรมท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้สู่ชุมชน เพื่อสานต่อภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่น สืบทอดกันมานับหลายร้อยปี สร้างรายได้และยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนระดับชุมชนอย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

เชียงใหม่-เชียงราย ติดมหาลัย มีนักศึกษามากสุดในประเทศ ปี 66

 
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยข้อมูล สถิติจำนวนนักศึกษารวม ทุกชั้นปี ทุกระดับการศึกษา ที่มีสถานภาพกำลังศึกษาและรักษาสถานภาพ โดยสรุปจากข้อมูลรายบุคคลที่สถาบันอุดมศึกษาจัดส่ง มายังสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ข้อมูลปีการศึกษา 2566 ภาคการเรียนที่ 1 กำหนดการเก็บข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤษจิกายน 2566 จากการมีจำนวนสถาบัน ที่ส่งข้อมูลให้อว. แบ่งเป็น รัฐ 83 แห่ง จัดส่งแล้ว 54 แห่ง  ยังไม่จัดส่ง 29 แห่ง  เอกชน 71 แห่ง ส่งแล้ว 56 แห่ง นอกสังกัด 18 แห่ง ส่งแล้ว 9 แห่ง
 
โดยยังมีจำนวนสถาบัน ที่ส่งข้อมูลให้อว. แบ่งเป็น รัฐ 83 แห่ง จัดส่งแล้ว 54 แห่ง เอกชน 71 แห่ง ส่งแล้ว 56 แห่ง นอกสังกัด 18 แห่ง ส่งแล้ว 9 แห่งมีรายละเอียดดังนี้ สถาบันอุดมศึกษารัฐที่ยังไม่ได้ส่งข้อมูล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยขอนแก่น,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี,มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) รัตนโกสินทร์, มทร.อีสาน,มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์,มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย,มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) จันทรเกษม,มรภ.ชัยภูมิ,มรภ.เทพสตรี,มรภ.ธนบุรี,มรภ.นครราชสีมา,มรภ.นครศรีธรรมราช,มรภ.บุรีรัมย์,มรภ.พิบูลสงคราม,มรภ.มหาสารคาม,มรภ.ร้อยเอ็ด,มรภ.วไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์,มรภ.ศรีสะเกษ,มรภ.สงขลา,มรภ.สุราษฏร์ธานี,มรภ.สุรินทร์,มรภ.อุดรธานี,มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช,มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี,สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน,สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
 
10 อันดับจำนวนนักศึกษามากสุดในสถาบันอุดมศึกษารัฐ
  1. มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีนักศึกษารวม 336,761 คน
  2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีนักศึกษารวม 68,562 คน
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนักศึกษารวม  51,360 คน
  4. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  มีนักศึกษารวม  43,082 คน
  5. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนักศึกษารวม 42,595 คน
  6. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มีนักศึกษารวม 38,143 คน
  7. มหาวิทยาลัยมหิดล  มีนักศึกษารวม  29,674 คน
  8. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีนักศึกษารวม 29,410 คน
  9. มหาวิทยาลัยศิลปากร  มีนักศึกษารวม  29,402 คน
  10. มหาวิทยาลัยบูรพา มีนักศึกษารวม 27,479 คน
10 อันดับจำนวนนักศึกษามากสุดในมหาวิทยาลัยราชภัฏ
  1. มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มีนักศึกษารวม 51,360 คน
  2. มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี มีนักศึกษารวม 16,443 คน
  3. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ มีนักศึกษารวม 15,624 คน
  4. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม มีนักศึกษารวม 12,715 คน
  5. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มีนักศึกษารวม 10,675 คน
  6. มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร มีนักศึกษารวม 9,864 คน
  7. มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา มีนักศึกษารวม 9,684 คน
  8. มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มีนักศึกษารวม 9,639 คน
  9. มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มีนักศึกษารวม 8,678 คน
  10. มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี มีนักศึกษารวม 7,486 คน
10 อันดับจำนวนนึกศึกษามากสุดในมหาวิทยาลัยเอกชน
  1. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีนักศึกษารวม 44,133 คน
  2. มหาวิทยาลัยศรีปทุม มีนักศึกษารวม  34,530 คน
  3. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย มีนักศึกษารวม  17,169 คน
  4. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มีนักศึกษารวม 13,925 คน
  5. มหาวิทยาลัยสยาม มีนักศึกษารวม 9,565 คน
  6. มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ มีนักศึกษารวม 8,326 คน
  7. มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต มีนักศึกษารวม 7,995 คน
  8. มหาวิทยาลัยเกริก มีนักศึกษารวม 7,843 คน
  9. มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ มีนักศึกษารวม 7,120 คน
  10. มหาวิทยาลัยรัตนบัณฑิต มีนักศึกษารวม  6,145 คน

สามารถติดตามรายละเอียดที่ : https://info.mhesi.go.th/homestat_std.php

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News