Categories
NEWS UPDATE

‘อนุทิน’ เดินหน้านโยบายกัญชา พร้อมหนุนเอ็นเตอร์เทนเมนคอมเพล็กซ์

 

เมื่อวันที่วันที่ 9 กันยายน 2567 ที่กระทรวงมหาดไทย กรุงเทพฯ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่วันแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมด้วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย คือ นายทรงศักดิ์ ทองศรี, น.ส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ และ น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โดยเริ่มต้นวันด้วยการทำพิธีเคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำกระทรวงมหาดไทย เพื่อความเป็นสิริมงคล ก่อนที่จะเข้าสู่ห้องทำงานของตน

ระหว่างการเดินเข้าสู่ห้องทำงาน นายอนุทิน ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนถึงความคืบหน้าของนโยบายรัฐบาล โดยเฉพาะในเรื่องของ นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์ และ เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ซึ่งเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากประชาชนและสื่อมวลชนอย่างมาก

ความคืบหน้านโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์

นายอนุทิน ได้ระบุว่า นโยบายกัญชาเพื่อการแพทย์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก โดยเน้นว่าได้มีการเสนอให้ ท่านนายกรัฐมนตรี พิจารณาการตรากฎหมายพระราชบัญญัติกัญชาแล้ว ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะต้องรอการแถลงนโยบายจากนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ที่ได้หารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อนหน้านี้

การออกกฎหมายดังกล่าวจะต้องทำให้ชัดเจนขึ้นในเรื่องของการควบคุมและเนื้อหาของการใช้งานกัญชาในทางการแพทย์ โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้เพื่อการรักษาโรค และการควบคุมการใช้กัญชาในทางอื่นๆ เพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายและแนวทางที่กำหนดไว้ นายอนุทิน ย้ำว่าการใช้กัญชาเพื่อการแพทย์เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนหลายคนรอคอยและคาดหวัง

แนวทางเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์

สำหรับประเด็นเรื่อง เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ นายอนุทินกล่าวว่า นโยบายนี้ต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับแก้ในบางส่วนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์นี้ไม่ใช่แค่สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับบ่อนคาสิโนเท่านั้น แต่จะมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่สามารถสร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายอนุทินยังย้ำว่าความสำคัญที่สุดคือการให้คนไทยได้รับประโยชน์สูงสุดจากการดำเนินนโยบายนี้ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างงาน การกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือการใช้ผลิตภัณฑ์และบริการของไทยให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

ความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาล

นายอนุทินยังกล่าวถึงความร่วมมือกับพรรคร่วมรัฐบาลในประเด็นนี้ โดยกล่าวว่า พรรคร่วมรัฐบาล ให้การสนับสนุนแนวคิดเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์อย่างเต็มที่ แต่ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายและครรลองครองธรรม เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและสังคมในวงกว้าง นอกจากนี้ นายอนุทินยังย้ำว่า โครงการนี้ควรจะเป็นโครงการที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ และยังช่วยกระจายความเจริญสู่พื้นที่ที่ต้องการแรงผลักดันทางเศรษฐกิจ เช่น พื้นที่ที่มีการพัฒนาน้อยหรือชุมชนในเขตห่างไกล

เอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ ที่นายอนุทินกล่าวถึงนั้น มีแนวคิดที่จะรวมทั้ง ห้างสรรพสินค้า, ศูนย์อาหาร, สวนสนุก, การแสดงโชว์ และกิจกรรมที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้ให้กับคนในพื้นที่ โครงการนี้มีเป้าหมายหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจและสร้างงานให้กับคนไทย โดยเน้นที่ความโปร่งใสและการดำเนินการที่เป็นธรรม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ภูมิธรรม ควง อนุทิน ลุยน้ำท่วมเชียงราย ไม่เจอตัวผู้ว่าฯ ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจ

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.มหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการ ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เทิง จ.เชียงราย ทั้งนี้ นายภูมิธรรมและนายอนุทินพร้อมคณะได้รับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์ ณ ที่ว่าการอำเภอเทิง จากนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวรายุทธ ค่อมบุญ นายอำเภอเทิง เนื่องจากนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายไม่อยู่ในพื้นที่ จากนั้นคณะรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไปเยี่ยมให้กำลังใจและมอบถุงยังชีพให้แก่ประชาชนผู้ประสบภัยที่สถานีขนส่งอำเภอเทิง

นายภูมิธรรมกล่าวว่า การลงพื้นครั้งนี้ เนื่องจากทางรัฐบาลห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เพราะน้ำมาเร็วและแรง ซึ่งรับทราบว่าในพื้นที่มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 1 คน โดย น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ เองก็มีความห่วงใยประชาชน แต่ด้วยข้อกฎหมายที่ยังปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ได้สั่งการให้ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนให้ช่วยดูแลพี่น้องประชาชนที่ลำบากอยู่ให้เร็วที่สุด ซึ่งก็น่าดีใจที่ตอนนี้น้ำหลากลดลง ด้วยปกติเชียงรายน้ำจะไหลลงแม่น้ำโขง แต่ขณะนี้ระดับแม่น้ำโขงสูงจึงมีน้ำรอระบาย จึงให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันดูแลประชาชน กระทรวงคมนาคมดูแลในส่วนว่ามีจุดใดกีดขวางทางน้ำหรือไม่ แต่ในภาพรวมแล้วสถานการณ์เบาบางลง เพียงแต่การระบายต้องใช้เวลา ฝากกับทางรองผู้ว่าฯไปด้วยว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ควรสรุปเป็นบทเรียน จะได้เตรียมการรองรับต่อไปเนื่องจากขณะนี้ยังอยู่ในช่วงมรสุม

“ตอนนี้ทางจังหวัดต้องเตรียมการทำงาน คุยกับรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ท่านก็ได้สั่งการให้ทุกส่วนจัดตั้งศูนย์ดูแลเหตุการณ์อย่างเต็มที่ แต่ก็น่าเสียใจที่วันนี้มาแล้วไม่เจอตัวผู้ว่าฯ ไม่แน่ใจว่าติดภารกิจอะไร ภาวะแบบนี้ควรต้องลงมาดู มาอยู่กับประชาชนเพื่อจะได้เข้าใจปัญหา หาทางบรรเทาให้พี่น้องประชาชน แต่ถึงแม้ผู้ว่าฯไม่อยู่ ก็ขอให้หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ลงพื้นที่ดูแล ส่วนของเครื่องไม้เครื่องมือรัฐมนตรีมหาดไทยท่านก็สั่งการแล้ว ส่วนของอาหารก็มาจากหลายทาง มีโรงครัวพระราชทานเข้ามาหลายคัน เข้ามาดูแลเรื่องอาหารการกิน เอกชนก็เข้ามา หน่วยจิตอาสาเข้ามาช่วยกันแพคของ เป็นเวลาที่ได้พึ่งพระบารมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ท่านทรงช่วยราษฎร ทางกระทรวงพาณิชย์เองวันนี้ปลัดมาลงพื้นที่ด้วย จะได้ดูและประสานสิ่งที่ยังขาดเข้ามาช่วยเหลือต่อไป” นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวอีกว่า ในวันที่ 25 สิงหาคม จะเข้ามาติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อีก โดยได้สั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีเตรียมถุงยังชีพไว้แล้วอย่างน้อยน่าจะได้เข้ามา 5,000 ชุด และจะได้หารือการช่วยเหลือกับเพิ่มเติมกับทางคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป แต่ขอฝากพี่น้องประชาชนว่ารัฐบาลมีความห่วงเป็นใย และเรากังวลที่เห็นพี่น้องลำบากและพยายามทำงานเต็มที่เพื่อบรรเทาปัญหาของพี่น้องให้เร็วที่สุด

ด้านนายอนุทินกล่าวว่า การช่วยเหลือทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทยได้สนับสนุนเครื่องจักรสาธารณภัย เช่นรถแบ๊กโฮ ขุดตัก เกลี่ยดินที่ถล่มลงมาในพื้นถนน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถสัญจรได้ และขอฝากให้ผู้ว่าฯรีบกลับมาเชียงรายด้วย คนเชียงรายรออยู่

ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจใน จ.เชียงราย คณะของนายภูมิธรรมและนายอนุทิน ได้เดินทางไปจังหวัดน่านเพื่อลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัยใน อ.เมืองน่าน และ อ.ภูเพียง 

ด้าน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า นอกจากการลงพื้นที่ในจังหวัดภาคเหนือแล้ว นายอนุทินยังได้มอบหมายให้นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รมช.มหาดไทย ลงพื้นที่เพื่อติดตามเหตุการณ์อุทกภัยและดินสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต โดยนายชาดา พร้อมคณะได้ลงพื้นที่สำรวจจุดเกิดเหตุ ที่หมู่ 2 ต.กะรน อ.เมือง จ.ภูเก็ต รับฟังรายงานสถานการณ์ในภาพรวม พร้อมมอบถุงยังชีพให้แก่ผู้ประสบภัย จากนั้นร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ จิตอาสา ภาคประชาชนประมาณ 100 คน ดำเนินกิจกรรม Big Cleaning Day ปัดกวาด เคลียร์พื้นที่เกิดเหตุด้วย

“นายอนุทินให้ความสำคัญกับการติดตามเหตุการณ์ดินสไลด์ในพื้นที่ จ.ภูเก็ต มีการกำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องให้ดูแลความปลอดภัยประชาชนและนักท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นกับพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ วันนี้จึงได้มอบหมายให้นายชาดาลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์ล่าสุด พร้อมให้การสนับสนุนเพื่อบริหารจัดการพื้นที่ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” น.ส.ไตรศุลีกล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

‘อนุทิน’ ยินดี ‘อสม.’ นักรบชุดเทาได้ค่าป่วยการ 2 พันบาทต่อเดือน

 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาปฏิบัติราชการ และได้มีโอกาสพบปะกับอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ที่มาต้อนรับ โดยนายอนุทิน ได้กล่าวทักทาย ใจความตอนหนึ่งว่า 
 
 
ผมขอแสดงความยินดีที่ทุกท่านได้ค่าป่วยการเพิ่มเป็น 2 พันบาทต่อเดือน ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จ อยู่ที่นั่น แน่นอนว่า ทุกท่านทำงานไม่ได้หวังเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ท่าน พยายามอย่างยิ่งในการดูแลคนไทย ในช่วงโควิด 19 ระบาด ถ้าไมได้พวกท่าน กระทรวงสาธารณสุขไฟไหม้ไปแล้ว ท่านช่วยประคองระบบสาธารณสุขของไทย กระนั้น ถึงท่านจะทำด้วยใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่เรามองว่า เราต้องตอบแทนท่านบ้าง เป็นที่มาของค่าป่วยการที่เพิ่มขึ้น เลยมีการผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน จนมาสำเร็จในรัฐบาลนี้ วันนี้ ไม่มีโควิด 19 แต่งานของพวกท่าน ไม่ได้ลดไปเลย ท่านเป็นหมอคนแรก ท่านเป็นมดงาน ในระบบสุขภาพ ตอนนี้ ถ้าเทียบอัตราส่วน อสม.หนึ่งคนต้องดูแลคนไทย หลายสิบคน ค่าป่วยการ 2 พันบาท ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม”
 

โดยเงินค่าป่วยการรายเดือนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท ว่า นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้อนุมัติตั้งงบประมาณประจำปี 2567 ให้กับกระทรวงสาธารณสุข สำหรับจ่ายเป็นค่าป่วยการให้กับ อสม. 1.07 ล้านคน ทั่วประเทศ ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าป่วยการที่เพิ่มจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท มีผลตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2567 คือ เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคมนี้พี่น้อง อสม.จะได้รับเงินค่าป่วยการในอัตราใหม่ 2,000 บาท และตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – เมษายน 2567 อีก 7,000 บาท รวม 9,000 บาท จากนั้นจะได้รับค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาททุกเดือน

 

สำหรับค่าป่วยการ อสม. มีการปรับขึ้น 4 ครั้งในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มมีการให้ค่าป่วยการ อสม. ครั้งแรก จากเดิมที่เป็นการทำงานในลักษณะของจิตอาสา เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยรัฐบาลเวลานั้นเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการอสม. เดือนละ 600 บาท ปี 2562 เพิ่มค่าป่วยการอสม.เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็น เดือนละ 1,000 บาท ปี 2565 มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นกรณีพิเศษระยะเวลา 30 เดือน เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2565 รวม 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

MOU ปราบปรามการทุจริต การสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 67

 

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย คือ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายณรงวิทย์ สุวรรณสิทธิ์ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พลตำรวจตรี ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนาม

 

 

โอกาสนี้ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชน ร่วมงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2567 นี้ ซึ่งมีตำแหน่งว่างประมาณ 6,238 อัตรา โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 600,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ปรากฏข่าวว่ามีกระบวนการทุจริตการสอบแข่งขันหลายกลุ่ม 
 
 
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้จัดทำพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) โดยมีเจตนารมณ์ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน และจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานงานให้เกิดความร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขัน รวมทั้งรวมตัวกันในการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย
 
 
“เพื่อแสดงจุดยืนของกระทรวงมหาดไทยในการ จึงมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น คือ 
 
1. มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 
 
2. ผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สมัครสอบต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา อีกด้วย 
 
3. ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวมีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง 
 
4. บุคคลอื่นใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือสถาบันติวใด หากปรากฏหลักฐานว่ามีส่วนรู้เห็น หรือ ร่วมกระทำการทุจริต หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ด้วย” นายอนุทินฯ กล่าวเน้นย้ำ
 
 
สำหรับพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 ว่า จากกรณีที่ปรากฎข่าวว่ามี
การทุจริตการสอบแข่งขันขึ้น มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบในหลายจังหวัด ประชาชนถูกหลอกจำนวนมาก มีการฟ้องร้อง และเป็นคดีอยู่จำนวนมาก จากนโยบายที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ที่ต้องการให้การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความโปรงใส ไร้ทุจริต กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องดำเนินการให้มีมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในทุกช่องทาง รวมทั้งไม่ให้มีการเรียกรับเงิน เหมือนกับที่ปรากฎเป็นข่าวในอดีตที่ผ่านมา โดยการกำกับดูแลการจัดสอบแข่งขันให้เป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม และถูกต้อง ในทุกขั้นตอน 
 
 
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นไปโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้ขึ้น โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนการสอบแข่งขันท้องถิ่นให้ปราศจากการทุจริต ร่วมกันให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงการติดตามและประเมินผลในการดำเนินการสอบแข่งขันท้องถิ่น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองสารนิเทศ สป.มท.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงราย ขานรับนโยบายเข้มงวด เรื่องปัญหายาเสพติด อาวุธ

 

เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2567 ที่ห้องประชุม 302 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมและมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชจังหวัด บุคลากรในสังกัดกระทรวงมหาดไทยในจังหวัดที่อยู่ภายใต้การกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (Video Conference) เพื่อรับฟังประเด็นปัญหาสำคัญเร่งด่วน และข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาของจังหวัด / กลุ่มจังหวัด เขตตรวจราชการที่ 5 กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย เขตตรวจราชการที่ 13 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตอนล่าง 1 และเขตตรวจราชการที่ 16 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง ทั้งจังหวัดเชียงราย พะเยา แพร่ และจังหวัดน่าน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ เป็นผู้นำเสนอข้อมูล ประเด็นปัญหา และข้อเสนอแนะในภาพรวม จากห้องประชุมอูหลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมและรับมอบนโยบายฯ

 

โดยนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รายงานต่อที่ประชุมว่า กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย จังหวัดแพร่ จังหวัดพะเยา และจังหวัดน่าน มีศักยภาพที่โดดเด่นในเรื่องการท่องเที่ยว มีที่ตั้งติดกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งเชื่อมต่อไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน จังหวัดเชียงรายเป็นระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ และมีสถานีรถไฟสายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ที่จะสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2571 โดยในช่วงที่ผ่านมา กลุ่มจังหวัดฯ มีประเด็นปัญหาร่วมกันภายในกลุ่มจังหวัด ที่สำคัญ ดังนี้ 
 
1. ปัญหาการเกิดไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 เผชิญสถานการณ์ไฟป่า หมอกควัน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเมษายนของทุกปี สาเหตุหลักเกิดจากการเผาในที่โล่ง การเผาเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตร และการเผาในพื้นที่ป่า ประกอบกับการเกิดหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน นำมาซึ่งวิกฤติการณ์ด้านคุณภาพอากาศส่งผลกระทบด้านการท่องเที่ยว สุขภาพของประชาชน 
 
2. ปัญหาการจัดระเบียบสังคม ประสบปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติด โดยกลุ่มผู้เสพเป็นรายเดิมที่กลับมาเสพซ้ำเป็นส่วนใหญ่ มีผู้ค้ารายย่อย ผู้เสพ ที่อาศัยอยู่ในชุมชนลักลอบจำหน่าย หรือเสพยาเสพติดในพื้นที่ ซึ่งมีความประสงค์ค้ายาเสพติดกับกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ตำบลที่อาศัยอยู่ รวมถึงพื้นที่ข้างเคียง และปัญหาด้านความมั่นคงในจังหวัดชายแดน เช่น การค้ามนุษย์ การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เป็นต้น รวมไปถึงผู้ไม่มีสัญชาติไทยในพื้นที่จังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด 
 
3. ปัญหาหนี้นอกระบบ ของจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ข้อมูล ณ วันที่ 9 มกราคม 2567 มีผู้มาลงทะเบียนสะสมรวมจำนวน 3,415 ราย ยอดหนี้รวมทั้งสิ้น 215,978,440.29 บาท และ 4. ปัญหาการขาดแคลนน้ำ จังหวัดภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 มีการกักเก็บน้ำได้ปริมาณน้อย เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งปริมาณน้ำในแม่น้ำ อ่างเก็บน้ำ สระน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ และลำน้ำสายต่างๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตรและการอุปโภค บริโภค
 
 
ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ชี้แจงนโยบายของรัฐบาล และภารกิจสำคัญเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยเน้นย้ำให้ผู้ว่าราชการจังหวัด เข้มงวดกับปัญหาสังคม โดยเฉพาะโครงการ แก้หนี้นอกระบบ การแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดน รวมถึงปัญหาหมอกควัน ไฟป่า และฝุ่น PM2.5 เรื่องน้ำสะอาด (น้ำประปาดื่มได้) พลังงานสะอาด (เพิ่มพลังงานสีเขียว) และการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน และยังได้กล่าวว่า หน้าที่ของรัฐบาล คือการบำบัดทุกข์บำรุงสุข การรักษาความสงบเรียบร้อย รับฟังปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จึงได้มอบหมายให้ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการลงพื้นที่ เพื่อสำรวจปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ หากเกิดเหตุใดๆ ให้รีบหาทางแก้ไขทันที และเน้นย้ำต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนเท่านั้น รวมไปถึงปัญหายาเสพติด และปัญหาเยาวชนอายุไม่ถึง 20 ปี มั่วสุมตามสถานบันเทิง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละจังหวัด เข้าตรวจคุมเข้ม หากมีสถานบันเทิงแห่งใด ไม่มีใบขออนุญาตให้เปิดบริการตามกฎหมายดังกล่าวข้างต้น ให้เจ้าหน้าที่เข้าดำเนินการอย่างท่วงทันที “ทันโลก ทันสมัย ทันท่วงที”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

สธ. หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76

สธ. หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76

Facebook
Twitter
Email
Print

 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำคณะผู้แทนไทยหารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุข กับบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 เพื่อการพัฒนาทั้งด้านเครื่องมือ อุปกรณ์ บุคลากรทางการแพทย์ การศึกษา วิจัย และการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ

          เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ที่ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย นำคณะผู้บริหาร หารือทวิภาคีความร่วมมือด้านสาธารณสุขกับประเทศบังกลาเทศ มัลดีฟส์ และผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ระหว่างการประชุมสมัชชาอนามัยโลก สมัยที่ 76 โดยในการหารือกับ H.E. Mr. Zahid Maleque รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวบังกลาเทศ เกี่ยวกับความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิการครอบครัวบังกลาเทศ ทางบังกลาเทศมีความสนใจพัฒนาความร่วมมือด้านเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical devices) นอกจากนี้ ยังขอให้ไทยสนับสนุน Mrs. Saima Wazed Hossain ผู้สมัครชิงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แทน Dr. Poonam Khetrapal Singhที่จะหมดวาระในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งนายอนุทินได้กล่าวยืนยันให้การสนับสนุน Mrs. Hossain พร้อมขอให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านสาธารณสุขของไทย หากได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คนต่อไปด้วย


          จากนั้นได้หารือกับ H.E. Mr. Ahmed Naseen รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐมัลดีฟส์
ในการขยายความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับกระทรวงสาธารณสุขสาธารณรัฐมัลดีฟส์ โดยฝ่ายไทยยินดีพัฒนาความร่วมมือในประเด็นและสาขาที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านสาธารณสุขร่วมกัน เช่น การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข นักศึกษาแพทย์ ข้อมูลด้านสาธารณสุข การวิจัยร่วม และการศึกษาฝึกอบรมด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านงานอนามัยครอบครัว (Family health care) โดยจะได้หารือกันในรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมความร่วมมือต่อไป


          สำหรับการหารือกับ Dr. Tedros Adhanom Ghebreyesus ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขไทยกับองค์การอนามัยโลก ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์การอนามัยโลกที่ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการดำเนินงานภายใต้แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก (WHO Country Cooperation Strategy : CCS) ซึ่งมุ่งเน้นการดำเนินงานที่มีผลกระทบสูงต่อการแก้ไขปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประเทศ โดยระดมทุนทางสังคม ปัญญา


และงบประมาณจากองค์การอนามัยโลก กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจนทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายด้านสาธารณสุขระดับโลกและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ พร้อมทั้งได้เชิญผู้แทนระดับสูงจากองค์การอนามัยโลก เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2567 (Prince Mahidol Award Conference: PMAC 2024) ในฐานะที่องค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพร่วมในการประชุมดังกล่าว และการประชุมวิชาการนานาชาติเพื่อการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ (Global Health Professional Education Conference) ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม และองค์การอนามัยโลกเป็นเจ้าภาพร่วม


          นอกจากนี้ คณะฯ ได้เข้าร่วมกิจกรรมคู่ขนาน เรื่อง “สามารถเชื่อมโยงระหว่างนโยบายการค้าและสุขภาพได้หรือไม่? (Trade and Health Policy Coherence: Mission possible?) ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดขึ้น ณ สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาติและองค์กรระหว่างประเทศอื่นๆ นครเจนีวา โดยผู้เข้าร่วมได้อภิปรายเกี่ยวกับข้อมติและข้อตกลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจากที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก และกรอบความร่วมมืออาทิ องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อค้นหาความสอดคล้องกันระหว่างนโยบายด้านการค้าและด้านสุขภาพ ปัญหาและอุปสรรค ช่องว่างต่างๆ ข้อเสนอเพื่อการปรับปรุง ตลอดจนร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เรื่องราวความสำเร็จจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE