Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย จัดกิจกรรม”ค่ายเยาวชน TO BE NUMBER ONE IDOL รุ่นที่ 8

 
เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ที่ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีปิดกิจกรรมค่ายเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL ประจำปี 2567 โดยมีหัวหน้า สนง.เลขานุการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงราย (ศอ.ปส.จ.ชร.) คณะทำงานโครงการTO BE NUMBER ONE จังหวัดเชียงราย คณะครู คณะวิทยากร และผู้เข้ารับการฝึกอบรม เข้าร่วมพิธี

 

โครงการ TO BE NUMBER ONE จังหวัดเชียงราย โดยศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ดำเนินการจัดกิจกรรม”ค่ายเยาวชนต้นแบบเก่งและดี TO BE NUMBER ONE IDOL (Pre – IDOL) ประจำปี 2567″ อย่างต่อเนื่องซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการมาเป็น รุ่นที่ 8 โดยกิจกรรมครั้งนี้เป็นการสร้างความเป็นผู้นำให้กับ

แกนนำเยาวชน ตลอดเป็นการยกระดับความสามารถด้านทักษะความสามารถพิเศษเช่น การร้องเพลง การเต้น การเข้าสังคม การพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ การสร้างและพัฒนาศักยภาพเยาวชนให้เก่งและดี การเป็นแบบอย่างที่ดีของเยาวชนแกนนำ สามารถเผชิญกับสิ่งแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในปัจจุบัน ตามคำขวัญสโลแกนของโครงการที่ว่า “เป็นหนึ่ง โดยไม่พึ่งยาเสพติด ” 

 

สำหรับกิจกรรมจัดขึ้นระหว่างวันเสาร์ที่ 25 ถึง วันจันทร์ที่ 27 พฤษภาคม 2567 โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจำนวน 100 คน จาก 20 โรงเรียน 

 

นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการรณรงค์ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด (TO BE NUMBER ONE) ของจังหวัดเชียงราย สามารถผลักดันเยาวชนให้ผ่านการคัดเลือกเข้าสู่รอบระดับประเทศได้ถึง 2 คน เป็นการสร้างและพัฒนาศักยภาพเยาวชนผ่านรูปแบบกิจกรรม TO BE NUMBER ONE IDOL นับว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นการส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้แก่เยาวชน และเป็นรูปแบบกิจกรรมที่เยาวชนให้ความสนใจ ถือว่าเป็น “การใช้สื่อบุคคล” ในการทำหน้าที่เป็นแกนนำเยาวชนในการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด ของโรงเรียน ครอบครัว และชุมชนต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เชียงรายเชื่อม SME เหนือ สู่ตลาด รัฐ-เอกชน THAI SME-GP Road Show

 
เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุม อาคารคชสาร องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน THAI SME-GP Road Show จ.เชียงราย มุ่งขยายโอกาส SME พื้นที่ภาคเหนือตอนบนเข้าสู่ตลาดภาครัฐ โดยมี ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ( สสว.) กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ SMEs เข้าร่วมงาน

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่า จังหวัดเชียงรายรวมถึงกลุ่ม จังหวัดภาคเหนือตอนบน ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน น่าน พะเยา และ แพร่ เป็นพื้นที่ที่มี SME เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ โดยเพาะเชียงรายเป็นหนึ่งใน จังหวัดศูนย์กลางทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของภูมิภาค โดยมี SME จำนวน 65,128 กิจการ เกิดการ จ้างงาน 173,686 คน ที่สำคัญมีส่วนในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในกิจการที่เป็นนิติบุคคล คิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 59,941 ล้านบาท

 

ในส่วนของตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ จังหวัดเชียงราย ยังเป็นศูนย์รวมของผู้ซื้อภาครัฐ ที่มีทั้งส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงพยาบาล สถาบันการศึกษา ฯลฯ จำนวน 1,062 หน่วย ซึ่งในปี 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานต่างๆ มีการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรวมมูลค่าถึง 10,757 ล้านบาท ซึ่งร้อยละ 48.5 เป็นการจัดซื้อจัดจ้างจาก SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP ของ สสว.

 

สำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เป็นผู้ซื้อ ได้พบกับ SME ที่เป็นผู้ขายสินค้าและบริการ จึงเป็นโอกาสสำคัญที่จะช่วยให้ SME สามารถขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐได้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่หน่วยงานได้มีโอกาสเพิ่มพูนความรู้ เพื่อช่วยให้การทำงานด้านการจัดซื้อจัดจ้าง ถูกต้อง และเกิดประสิทธิภาพในการร่วมส่งเสริม สนับสนุน SME ให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับพื้นที่ต่อไป

 

ด้าน ดร.อภิรดี ขาวเธียร รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ตามที่ สสว. ได้ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ดำเนินมาตรการสนับสนุนให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ภายใต้กฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับ ที่ 2) พ.ศ.2563 ซึ่งเริ่มดำเนินการนับตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมา เพื่อสร้างโอกาสให้ SME เข้าสู่ตลาดภาครัฐที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.2-1.5 ล้านล้านบาทต่อปี โดยมาตรการ THAI SME-GP เป็นการให้สิทธิประโยชน์กับ SME ในรูปแบบของแต้มต่อในการแข่งขัน ซึ่ง SME ที่ขึ้นทะเบียน THAI SME-GP กับ สสว. โดยจะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 10 และหากผู้ประกอบการ THAI SME-GP ขายสินค้าที่ได้รับการรับรอง Made in Thailand จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จะได้รับแต้มต่อไม่เกินร้อยละ 15 นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างที่มีวงเงินไม่เกิน 500,000 บาท ให้หน่วยงานของรัฐพิจารณาจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการ SME เป็นลำดับแรกก่อน

 

สำหรับพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ตัวเลข ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2567 มี SME ที่ขึ้นทะเบียนในระบบ THAI SME-GP จำนวน 2,997 ราย ในปี 2566 SME ที่ขึ้นทะเบียน ได้เป็นคู่ค้าภาครัฐจำนวน 1,548 ราย รวมมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้าง 7,453 ล้านบาท โดยเป็นการซื้อจัดจ้างจากหน่วยงานของรัฐใน พื้นที่เชียงราย คิดเป็นร้อยละ 41.04 และจากพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ คิดเป็นร้อยละ 59.96

 

ดังนั้น เพื่อช่วยขยายโอกาส SME ให้เข้าสู่ตลาดภาครัฐเพิ่มขึ้น ในปี 2567 สสว. ดำเนินการเสริมสร้างความพร้อมให้ SME เข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในพื้นที่ทั่วประเทศ สำหรับพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพ SME ด้วยการอบรมความรู้ ให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึก และจัดงานส่งเสริม เชื่อมโยงตลาดภาครัฐ หรืองาน THAI SME-GP Roadshow เพื่อเปิดโอกาสให้ SME ซึ่งเป็นผู้ขาย ได้พบกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่เป็นผู้ซื้อ ซึ่งภาคเหนือ กำหนดจัดงาน 2 ครั้ง จังหวัดเชียงรายเป็นครั้งแรก และจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 จังหวัดพิษณุโลก ใน วันที่ 28 พฤษภาคม 2567 ที่จะถึงนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME ที่ได้รับการพัฒนาศักยภาพ มีโอกาสนำเสนอสินค้าและบริการให้หน่วยงานภาครัฐ- ภาคเอกชน สำหรับ SME ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าในครั้งนี้มีจำนวนกว่า 30 กิจการ มีสินค้าและบริการ อาทิ ด้านเทคโนโลยีและดิจิทัล เครื่องใช้อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เฟอร์นิเจอร์ การบริการติดตั้งระบบไฟฟ้า เป็นต้น

 

ภายในงานยังมีกิจกรรมเชื่อมโยงแหล่งเงินทุนกับสถาบันการเงิน อาทิ ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D Bank ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หน่วยงานพันธมิตร อาทิ สำนักงานพาณิชย์ ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีการบรรยายพิเศษ และเสวนาให้ความรู้ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยวิทยากรจากสำนักงานคลังจังหวัดเชียงราย สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ภูมิภาคที่ 8 สำนักงาน ป.ป.ช. จังหวัดเชียงราย และ สรรพากรพื้นที่ มาร่วมถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME ให้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสเข้าสู่ตลาดภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญของเศรษฐกิจในระดับพื้นที่และระดับประเทศต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงรายเตรียมจัดกิจกรรมเดินวิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์เฉลิมพระเกียรติ

 
เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2567  ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ผู้แทนนายอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อรับทราบการจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 พร้อมแจ้งคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการในการจัดกิจกรรม อีกทั้งเพื่อพิจารณาการเตรียมความพร้อมการจัดกิจกรรม การกำหนดเส้นทาง รูปแบบ พิธีการเปิดกิจกรรม รูปแบบขบวน รูปแบบธงตราสัญลักษณ์ รวมถึงการมอบหมายภารกิจหน้าที่ความรับผิดชอบในการจัดกิจกรรมเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและสมพระเกียรติ

 

           ด้วยกระทรวงมหาดไทยได้จัดโครงการเดิน วิ่ง ปั่น ธงตราสัญลักษณ์งานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณ รวมทั้งเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยให้ทุกจังหวัดจัดกิจกรรมในห้วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม 2567 โดยจังหวัดเชียงรายกำหนดจัดกิจกรรมขึ้นในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน ถึงวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 โดยในวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 พิธีเปิด ณ ด่านพรมแดนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย และเริ่มออกเดิน วิ่ง ปั่น จากด่านพรมแดนอำเภอแม่สาย ไปยังพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางหลังแรก) อำเภอเมืองเชียงราย และในวันอาทิตย์ที่ 2 มิถุนายน 2567 จัดให้มีนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมเฉลิมฉลองธงตราสัญลักษณ์ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางหลังแรก) และในวันจันทร์ที่ 3 มิถุนายน 2567 เริ่มออกเดิน วิ่ง ปั่น จากศาลากลางหลังแรก ไปยังจุดส่งมอบธงตราสัญลักษณ์หน้า อบต.แม่เย็น อำเภอพาน เพื่อส่งต่อให้จังหวัดพะเยาเป็นจังหวัดถัดไป

 

ทั้งนี้จังหวัดเชียงรายขอเชิญชวนส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนทุกหมู่เหล่า ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาที่คุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยความสมัครสมานสามัคคีอันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

จังหวัดเชียงราย ส่งแม่ดีเด่น 2 ราย เป็นตัวแทนสู่ระดับประเทศ ประจำปี 2567

 

เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 67 ที่ห้องประชุมอูหลง ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 โดยมีคณะกรรมการฯเข้าร่วม เพื่อร่วมพิจารณาในการคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดเชียงราย โดยมีแม่ดีเด่นที่เข้ารับการคัดเลือกทั้งหมดจำนวน 13 ราย และคณะกรรมการฯ จะคัดเลือกในครั้งนี้เพียง 2 ราย เพื่อสู่การคัดเลือกในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อยกย่อง และเผยแพร่เกียรติคุณผู้ที่ได้รับการคัดเลือกเป็นแม่แห่งชาติให้ปรากฏแก่สาธารณชน

 

สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชปถัมภ์ ได้กำหนดจัดงานวันแม่แห่งชาติ ประจำปี 2567 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2567 เพื่อเทิดทูนและเผยแพร่พระเกียรติคุณ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงเป็นแม่แห่งชาติ เพื่อเผยแพร่พระคุณและบทบาทของแม่ ที่มีต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติ เพื่อยกย่องแม่ดีเด่น และลูกที่มีความกตัญญูกตเวทีอย่างสูงต่อแม่
 
 
สำหรับหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของแม่ดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2567 แบ่งออกเป็น 6 ประเภท ดังนี้ 
 
1) แม่ผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม คัดเลือกจากแม่ที่บำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นและสังคม ด้วยความเสียสละ มีความสัมพันธ์ในครอบครัวที่เป็นแบบอย่างได้ เป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและจริยธรรม เป็นที่ยอมรับของสังคม ให้การดูแลบุพการีและทำหน้าที่ของภรรยาที่ดีโดยไม่บกพร่อง รวมทั้งทำหน้าที่ของแม่ที่ดี ให้การอบรมเลี้ยงดูลูกให้มีการศึกษา มีความประพฤติดี และมีอาชีพสุจริต 
 
2) แม่ผู้มีความมานะอดทนขยันหมั่นเพียร คัดเลือกจากแม่ที่มีความยากลำบาก ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพ เป็นผู้มีความประพฤติดี มีคุณธรรมและจริยธรรม และบำเพ็ญตนเป็นประโยชน์ต่อสังคม อบรมเลี้ยงดูลูกด้วยความรัก ความเอาใจใส่ เสียสละ และด้วยความมานะอดทน ทำให้ลูกได้รับการศึกษา มีอาชีพสุจริต มีความประพฤติดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม 
 
3) แม่ของลูกผู้ทำประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติ คัดเลือกจากแม่ที่มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ลูก มีลูกซึ่งอุทิศตน เพื่อประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติในด้านการศึกษา พัฒนาสังคม เศรษฐกิจ การสาธารณสุข สังคมสงเคราะห์ ฯลฯ มีความประพฤติดี มีอาชีพสุจริต เป็นที่ยอมรับของสังคม และเป็นผู้ที่นิยมและรักษาเอกลักษณ์ของไทย สมควรเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป 
 
4) แม่ผู้เป็นเกษตรกร คัดเลือกจากแม่ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีความขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพเกษตรกรรมจนเป็นที่ยอมรับ มีความซื่อสัตย์สุจริต อบรมเลี้ยงดูลูกด้วยความรักความเอาใจใส่ด้วยความมานะอดทน ทำให้ลูกได้รับการศึกษา มีอาชีพสุจริต มีความประพฤติดี เป็นสมาชิกที่ดีของสังคม 
 
5) แม่ของผู้เสียสละ คัดเลือกจากแม่ที่มีลูกเป็นทหาร ตำรวจ ซึ่งได้เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อความมั่นคงของชาติ การรักษาความสงบเรียบร้อย โดยได้ประกอบวีรกรรมที่ควรแก่การยกย่อง หรือทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างเด่นชัด และ
 
6) แม่ผู้เป็นอาสาสมัครและแม่ของลูกที่เป็นอาสาสมัคร คัดเลือกจากแม่ผู้เป็นอาสาสมัครและแม่ขอลูกที่เป็นอาสาสมัคร ซึ่งได้เสียสละในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อการบรรเทาสาธารณภัยการช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาความทุกข์ยากเดือนร้อน โดยได้ทำคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติอย่างเด่นชัด สมควรเป็นแบบอย่างแก่คนทั่วไป
 
 
นอกจากนี้คุณสมบัติของแม่ดีเด่นแห่งชาติ จะต้องมีสัญชาติไทย มีความประพฤติดี มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง มีความเป็นแม่ที่ดี มีอายุไม่ต่ำกว่า 50 ปี ยกเว้นแม่ของผู้เสียสละ มีครอบครัวเป็นที่ยอมรับ และเป็นแบบอย่างของสังคม เป็นผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นและสังคม เป็นผู้นิยมและรักษาเอกลักษณ์ของไทย มีความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และเสื่อมใสในการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งผู้ที่เสนอชื่อเข้ารับการคัดเลือกแม่ดีเด่นแห่งชาติในส่วนกลาง จะต้องไม่เป็นผู้ที่ไม่ผ่านการคัดเลือกฯ ในส่วนภูมิภาค (ระดับจังหวัด ในปีเดียวกัน)
 
 
ทั้งนี้แม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 ที่เข้ารับการสัมภาษณ์พิจารณาจากคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้จะได้รับเกียรติบัตรทุกราย เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ มอบโดยผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ส่วนผู้ได้รับการเสนอชื่อคัดเลือกเป็นตัวแทนแม่ดีเด่นแห่งชาติ จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 จะได้เข้าพิจารณาในส่วนของระดับประเทศต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เห็นชอบมอบทุนเด็ก กองทุนพัฒนาเด็กชนบทรายละ 1,500 บาท

 
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 ที่ห้องประชุมพวงแสด ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาเด็กชนบท ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 โดยมีคณะกรรมการกองทุนพัฒนาเด็กชนบทฯ เข้าร่วม เพื่อรับทราบผลการดำเนินงาน สถานะการเงิน และพิจารณาเรื่องการให้ความช่วยเหลือ และสนับสนุนการพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ปี ที่มีฐานะยากจน ด้อยโอกาส และรายได้ครัวเรือนตกเกณฑ์
 
 

โดยที่ประชุมนางอำไพ บัวระดก พัฒนาการจังหวัดเชียงราย ในฐานะเลขานุการ ได้แจ้งผลการดำเนินงานกิจกรรมทอดผ้าป่าสมทบกองทุนพัฒนาเด็ก ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดเชียงราย ที่ดำเนินการเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ที่วัดพระแก้ว (พระอารามหลวง) ถนนไตรรัตน์ ต.เวียง อ.เมืองเชียงราย โดยมียอดเงินบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งจากส่วนราชการ องค์กรต่างๆ และภาคเอกชน รวมทั้งสิ้น 403,198 บาท ซึ่งจำนวนเงินในส่วนนี้จะนำไปมอบให้กับเด็กที่อยู่ในครัวเรือนยากจน ตามข้อมูล THAI QM หรือ TP MAP อปท. ละ 1 คน ที่อยู่ในช่วงอายุแรกเกิด จนถึง 6 ปี ในพื้นที่ 15 อำเภอ จำนวน 142 ราย รายละ 1,500 บาท รวมถึงร่วมกันพิจาณาอนุมัติวงเงิน มอบให้เด็กที่อยู่ในครัวเรือนที่ตกเกณฑ์รายได้ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ในปี 2567 (รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่ำกว่า 40,000 บาท ต่อคนต่อปี ) ในพื้นที่ 12 อำเภอ จำนวน 158 ราย รายละ 1,500 บาท

 

ทั้งนี้ในที่ประชุมมติเห็นชอบ และจะมอบทุนส่งให้นายอำเภอแต่ละอำเภอ เป็นผู้แทนมารับมอบในวันประชุมกรมการจังหวัดเชียงราย ประจำเดือนมิถุนายน 2567 โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้มอบ และส่งต่อให้นายอำเภอเป็นผู้มอบทุนให้กับเด็กต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อบจ.เชียงราย ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี โฮงฮอมผญ๋าล้านนา ประจำปี 2567

 
เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2567 เวลา 13.00 น. นางทรงศรี คมขำ รองนายก อบจ.เชียงราย เป็นตัวแทน อบจ.เชียงราย ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าสามัคคี โฮงฮอมผญ๋าล้านนา ประจำปี 2567 โดยมี รองเจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย เจ้าอาวาสวัดฝั่งหมิ่น พระครูขันติพลาธร เป็นประธานสงฆ์ในพิธีถวายองค์ผ้าป่า และ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส ณ โฮงฮอมผญ๋า โฮงยาหมอเมืองล้านนา ต.นางแล จ.เชียงราย
 
ในการนี้ คณะผู้บริหาร และบุคลากร อบจ.เชียงราย ได้ร่วมอนุโมทนาบุญ ถวายปัจจัยในการจัดงานทอดผ้าป่าดังกล่าว เพื่อสมทบทุนซ่อมแซมอาคาร ศาลาศูนย์การเรียนรู้หมอพื้นบ้าน และพระคิลานุปัฏฐาก จ.เชียงราย ทั้งยังช่วยเหลือกองทุนเพื่อกิจกรรมพิเศษด้านการดูแลสุขภาพพระสงฆ์ สามเณร และชุมชน อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงผู้ก่อตั้งโฮงฮอมผญ๋า อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

จ.เชียงราย จับมือ สปป.ลาวและเมียนมา แลกเปลี่ยนแนวคิดการค้าการลงทุน

 
เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงรายโฮเทล แอนด์ คอนเวนชั่น จังหวัดเชียงราย สำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ได้จัดงานประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชน ภาคเหนือของประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (สปป.ลาว-เมียนมา) ตามโครงการ “การขับเคลื่อนเศรษฐกิจชายแดนภาคเหนือ Northern Border Economy Acceleration 2024” โดยมี นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์  นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิด มีผู้เข้าประชุมสัมมนาจากสำนักงานพาณิชย์จังหวัดภาคเหนือ 17 จังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชน จำวน 70 ราย หัวหน้าสำนักงานพาณิชย์และภาคเอกชน 6 แขวงภาคเหนือของสปป.ลาว 22 ท่านและนักธุรกิจเมียนมา 8 ท่าน

           นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่าการประชุมสัมมนา ว่ารัฐบาลให้ความสําคัญ ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดนและสร้างความหลากหลายด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในทุกภูมิภาค  กระทรวงพาณิชย์จึงได้กําหนดนโยบายในการพัฒนาการค้าชายแดนหลายประการอันจะได้ประโยชน์ร่วมกันกับประเทศเพื่อนบ้าน (ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา)  โดยได้มีการกําหนดยุทธศาสตร์การส่งเสริมการค้า การลงทุน การค้าชายแดนและผ่านแดน ปี 2567 – 2570 ประกอบด้วย

  1. พัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยเพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า
    2. ยกระดับศักยภาพและการอํานวยความสะดวกของด่านชายแดน
    3. ส่งเสริมและใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงและกรอบความร่วมมือต่าง ๆ
    4. ส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ชายแดนและประเทศเพื่อนบ้าน

ซึ่งการสัมมนาร่วมภาครัฐและเอกชนภาคเหนือของประเทศไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสอันดีที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ การค้า และใช้ประโยชน์จากความตกลงทางการค้าในภูมิภาค ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและนักธุรกิจใช้โอกาสจากเขตเศรษฐกิจพิเศษและการเชื่อมโยงกับอนุภูมิภาค GMS, BIMSTEC และ AEC ขยายฐานเศรษฐกิจของภาคเหนือ รวมถึงเป็นการขยายช่องทางและโอกาสทางการตลาดของสินค้าและบริการ มุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนของภาคเหนือ

 

ด้านนางณัฐพร มหาไพบูลย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย กล่าวถึงรายละเอียของโครงการว่าได้จัดทำขึ้นทั้งหมด 5 โครงการดังนี้

  1. การอบรมสัมมนาผู้ประกอบการ Boost Up Trader to Overseas ซึ่งได้จัดไปเมื่อวันที่ 21-22 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ จ.เชียงราย ผู้ประกอบการเข้าร่วม 84 ราย
  2. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน สปป.ลาว (เส้นทางท่าลี่ จังหวัดเลย-จังหวัดหนองคาย) ระหว่างวันที่ 5-7 เมษายน 2567 มีผู้ประกอบการเข้าร่วมดูงาน 40 ราย
  3. การศึกษาดูงานการค้าชายแดน เมียนมา อ าเภอแม่สอด จังหวัดตาก ระหว่างวันที่ 24-27 เมษายน 2567 ผู้ประกอบการดูงานจำนวน 40 ราย
  4. การประชุม/ สัมมนาร่วมภาครัฐ และเอกชนกลุ่มภาคเหนือของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ระหว่างวันที่ 1-2 พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น เชียงราย
  5. กิจกรรมเสวนากลุ่มย่อย (Focus Group) ธุรกิจการค้า การบริการ การท่องเที่ยว และ โลจิสติกส์เพื่อสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการไทย-เมียนมา-สปป.ลาว เพื่อสร้างมูลค่าทางการค้าในวันที่ 3พฤษภาคม 2567 ณ โรงแรมเดอะเฮอริเทจ แกรนด์คอนเวนชั่น

ทางด้านนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย เป็นหนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone : SEZ) ในปี พ.ศ. 2558 โดยมีพื้นที่เป้าหมาย
 3 อำเภอ ประกอบด้วย

(1) อำเภอแม่สาย : ศูนย์การค้าและการเงิน (Trading City)

(2) อำเภอเชียงแสน : ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและท่าเรือเทียบนานาชาติ (Port City)

และ (3) อำเภอเชียงของ : ศูนย์โลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเชิงนิเวศและการแปรรูปสินค้าเกษตร (Logistic City) โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 3 แห่งมาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประตูการค้าและศูนย์กลางโลจิสติกส์เชื่อมโยง สู่อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดดเด่นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ ประชาชน อยู่ดีมีสุข”

ปี 2566 จังหวัดเชียงรายมีมูลค่าการค้าชายแดนกับเมียนมา และสปป.ลาว และการค้าผ่านแดนไปจีน มีมูลค่าการค้ารวม 100,951.88 ล้านบาท เป็นการส่งออก 79,517.60 ล้านบาท และการนำเข้า 21,434.28 ล้านบาท มูลค่าการค้าสูงขึ้นจากปี 2565 คิดเป็นร้อยละ 3.11  จากสถิติการค้าที่ผ่านมาพบว่ามูลค่าการค้ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการค้าผ่านแดนไปจีนมีมูลค่าสูงสุด

               ซึ่งทางนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวย้ำว่ายินดีที่ได้เห็นรูปแบบการเตรียมความพร้อมในการนำความรู้ทางวิชาการด้านการตลาด การค้าขายแดน มาผสานในการจัดงานที่หลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการจัดทำFocus Group ที่ทุกท่านจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กันในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และ Wellness ซึ่งเป็นนโยบายท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์) ที่จะขับเคลื่อนเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ (Chiang Rai Wellness City)3 ด้าน คือ Wellness Food การพัฒนาสู่ เมืองแห่งอาหารสุขภาพ Wellness Health Careเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางกายภาพ เพื่อความเป็นเลิศในการบริการสุขภาพการพัฒนาบริการทางการแพทย์ และ Wellness Tourism ส่งเสริมธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การส่งเสริมการตลาดและการประชาสัมพันธ์

 

รัฐบาลให้ความสำคัญต่อ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ถือเป็นจังหวัดสำคัญในแผน ยุทธศาสตร์ทั้ง 4 ด้านของรัฐบาล เนื่องจากมีชัยภูมิที่เหมาะสมในการเป็นจุดเชื่อมโยงการค้า ชายแดน มีข้อได้เปรียบจากศักยภาพต้านพื้นที่ เป็นประตูสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และโลจิสติกส์ (Logistics) โดยมีเส้นทางเชื่อมโยงการค้าชายแดนกับสาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว และสาธารณัฐประชาชนจีน (เส้นทาง R3A) และมีเส้นทางเชื่อมโยงกับสาธารณรัฐ แห่งสหภาพเมียนมา (เส้นทาง R3B) ซึ่งเป็นช่องทางการค้าขายแดน การค้าผ่านแดนที่สำคัญ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน

 
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 67 ที่ภายในวัดเจ็ดยอด (พระอารามหลวง) อำเภอเมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ตลอดจนสร้างขวัญกำลังใจ และเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย
 
 
โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าคณะอำเภอเมืองเชียงราย พระภิกษุสงฆ จำนวน 10 รูป นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าฝ่ายฯ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมในพิธี ซึ่งได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน เนื่องจากเป็นวันที่กระทรวงวัฒนธรรมได้เริ่มปฏิบัติภารกิจพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานเต็มรูปแบบทั่วประเทศ โดยประกอบพิธีพร้อมกันทั่วประเทศ
 
 
ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพแก่ข้าราชการ บุคคลผู้ทำคุณประโยชน์และประชาชนผู้มีสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ของสำนักพระราชวังที่กำหนด โดยให้รัฐบาลดำเนินการโดยกระทรวงวัฒนธรรมสนองงานตามพระบรมราโชบายเกี่ยวกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตามหลักเกณฑ์สำนักพระราชวัง
 
 
โดยขยายการดำเนินงานสู่พสกนิกรทั่วประเทศ ให้ผู้วายชนม์และวงศ์ตระกูลได้รับเกียรติยศอันสูงสุดอย่างเท่าเทียม ทั่วถึง ซึ่งนับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่มีต่อพสกนิกรชาวไทยทุกหมู่เหล่า โดยปฏิบัติงานพิธีการศพที่ได้รับพระราชทานทุกจังหวัดทั่วประเทศให้เป็นไปอย่างถูกต้องตามโบราณราชประเพณี สมเกียรติยศตามฐานันดรศักดิ์ชั้นยศของผู้วายชนม์ที่ได้รับ อีกด้วย
 
 
สำหรับพิธีการจัดให้มีพิธีจุดเทียนเครื่องบวงสรวง อ่านโองการบวงสรวง ปักธูปหางเครื่องบวงสรวง โปรยข้างตอกดอกไม้ ประธานในพิธีนำผู้เข้าร่วมพิธีทักษิณานุปทานทำบุญถวายเจ้าพ่อโรงโกศอารักษ์เครื่องสูง และวิญญาณผู้วายชนม์ อันเกี่ยวเนื่องกับพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน ตลอดจนพิธีการทางศาสนาศาสนพิธีอาราธนาศีล พระสงฆ์ให้ศีล อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์จำนวน 10 รูป สวดพุทธมนต์ พิธีทอดผ้าบังสุกุล และร่วมกันถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์อนโมทนา ประธานในพิธีกรวดน้ำเป็นอันเสร็จพิธีตามลำดับ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ไชยา รมช. เกษตร มอบสัญญายืมโคให้เกษตรกร จ.เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 67  ที่ทำการคณะกรรมการพัฒนาสตรีอำเภอแม่จัน เลขที่ 81 หมู่ 7 บ้านดง ต.สันทราย อ.แม่จัน จ.เชียงราย นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ โดยมีว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ  จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ และนายสัตวแพทย์โสภัชย์ ชวาลกุล รองอธิบดีกรมปศุสัตว์นำหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรชาวเชียงรายเข้าร่วมอย่างคับคั่ง

.
          ทั้งนี้กรมปศุสัตว์ได้ส่งมอบโคจากการไถ่ชีวิตโค-กระบือ ของผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมกันบริจาคเงิน เพื่อไถ่ชีวิตโค-กระบือเข้าร่วมโครงการธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ให้กับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดเชียงราย นำมาช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสร้างความรัก ความสามัคคีในชุมชน ให้กับวิสาหกิจ ชุมชน กลุ่มเกษตรกร ในพื้นที่ เพื่อแก้ไขปัญหาตามนโยบายของรัฐ ให้เกษตรกรที่มีความ สนใจด้านอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และสมัครเข้าร่วมโครงการ ภายใต้เงื่อนไขโครงการธนาคาร โค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ ซึ่งเกษตรกรจะต้องคืนลูกตัวแรกเมื่ออายุครบ 18 เดือน ให้กับโครงการ และเมื่อครบสัญญา 5 ปี โครงการฯจะมอบกรรมสิทธิ์แม่โค พร้อมลูกตัวที่ 2 , 3 , 4 ให้กับเกษตรกรต่อไป 

.
          สำหรับในวันนี้ จังหวัดเชียงราย ได้รับสนับสนุนโค จากโครงการธนาคาร โค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริจำนวน 55 ตัว รวมเกษตรกรที่ได้รับสัตว์ทั้งสิ้น จำนวน 55 ราย ซึ่งเป็นเกษตรกรที่มีคุณสมบัติถูกต้อง ตามระเบียบของโครงการฯ สมควรได้รับการช่วยเหลือจากโครงการฯ ต่อไป

 

          โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกร ตามพระราชดำริ เป็นโครงการหนึ่งของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยกรม ปศุสัตว์เป็นผู้ดำเนินการ และเป็นศูนย์รวมในการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ยากจน ที่มีอาชีพ ในการทำนา ทำไร่ได้อย่างแท้จริง วัตถุประสงค์ที่สำคัญของธนาคารโค-กระบือเพื่อเกษตรกร ตาพระราชดำริเพื่อช่วยให้เกษตรกรที่ยากจนทั่วประเทศได้มีโค-กระบือไว้ใช้แรงงาน และเพิ่มผลผลิต ทางการเกษตร เป็นการช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น 

.
           ภายในงานมีหน่วยงานสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำการบริการแก้ไขปัญหาทางการเกษตรหลายหน่วยงานมาให้บริการ เช่น คลินิกดิน พืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน สหกรณ์ บัญชี พืชสวน ยางพารา สาธารณสุข มาให้บริการให้คำแนะนำแก่เกษตรกรในพื้นที่อีกด้วย

 

หลังจากนั้น นาย ไชยา เป็นประธานเปิดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตรในพื้นที่เดียวกัน พร้อมเปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ มีหน้าที่ดูแลเกษตรกรในทุกมิติ ทั้งด้านพืช ปศุสัตว์ ประมง ชลประทาน การทำบัญชี การทำงานของสหกรณ์ การผลิตสินค้า รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเกษตร เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรกรรมให้เกิดรายได้ และมีความเป็นอยู่ที่ดียิ่งขึ้น จึงขอเชิญชวนพี่น้องเกษตรกรร่วมชมคูหานิทรรศการของกระทรวงเกษตรฯ อาทิ นิทรรศการจากกรมหม่อนไหม ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในพื้นที่ 3 ไร่ หากเก็บเกี่ยว 1 ครั้ง สามารถขายได้ราคา 9,000 บาท

 

ซึ่งสามารถเก็บเกี่ยวได้ 12 ครั้ง ต่อปี และมีนิทรรศการจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรฯ ที่จะมาช่วยผลักดันเกษตรกรให้สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าภายในระยะเวลา 4 ปี ตามนโยบายรัฐบาล ภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อีกด้วย

 

สำหรับช่วงบ่าย นาย ไชยาเดินทางไปเป็นประธานพิธีมอบโค-กระบือ ให้เกษตรกรยืมเลี้ยงเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ณ ศาลาแดงหนองซง บ้านหนองแรดใต้ อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย โดยมอบสัญญายืมโค จำนวน 30 ตัว ให้กับเกษตรกร จำนวน 30 ราย คิดเป็นมูลค่า 840,000 บาท

 

นายไชยา กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้รับเกียรติจากพี่น้องเกษตรกรมามอบหนังสือสัญญายืมโคเพื่อการผลิต ภายใต้โครงการธนาคารโค-กระบือ เพื่อเกษตรกรตามพระราชดำริ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงปศุสัตว์เป็นอาชีพหลัก ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์จะคอยสนับสนุนข้อมูลการเลี้ยงดูต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ปศุสัตว์ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อีก 26 วัน ผู้ว่าเชียงราย สั่งคุมเข้ม ตั้งเป้าให้เกิดจุดฮอตสปอต น้อยที่สุด

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 9/2567 โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีนายอำเภอ เจ้าหน้าที่จาก 18 อำเภอ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์


ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์หมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในห้วงที่ผ่านมา และการรายงานการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินงานของทั้ง 18 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอที่เกิดจุดความร้อนสูง และอำเภอที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ทบทวนถึงปัจจัยการเกิดจุดความร้อน จุดความร้อนที่เกิดซ้ำซาก วางแผนการดำเนินการจัดการจุดความร้อนที่ยากต่อการควบคุม วางแผนการทำงานรับมือสถานการณ์ ห้วงเดือนเมษายนนี้
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอำเภอให้ประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟป่า เพิ่มการลาดตระเวน เน้นมาตรการกดดันในพื้นที่เสี่ยง และเฝ้าระวังในเขตรอยต่อ เพื่อป้องกันไฟป่าข้ามแดน เพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติในห้วงเวลาที่เหลือจนถึง 30 เมษายนนี้ พร้อมทั้งจัดกำลังเสริมเข้าไปปฏิบัติงานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง หากได้รับความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้อำเภอรวบรวมข้อมูลรายงานมายังจังหวัด 
 
 
โดยด่วน และเน้นย้ำการติดตามประเมินสุขภาพของอาสาดับไฟป่า ให้ผู้ที่มีสภาพร่างกายที่พร้อมเท่านั้น ที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ อุปกรณ์ป้องกันผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าชองเจ้าหน้าที่ก็ต้องพร้อมเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย นอกจากยังเน้นย้ำให้ทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนได้ทราบถึงช่องทางการรักษาหากได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5
 
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้ให้แนวทางการปฏิบัติ โดยให้นำสถิติของปีที่ผ่านมา มาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนช่วยรักษาสถิติของจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำได้ดีในห้วงที่ผ่านมา เน้นให้เกิดจุดฮอตสปอตน้อยที่สุด และให้ลดลงมากกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดเชียงรายมีจุดฮอตสปอต ลดลงกว่า 70% โดยขอความร่วมมือประชาชนชาวเชียงราย และทุกภาคส่วน ช่วยกันรักษาและภาคภูมิใจถึงความสมัครสมานสามัคคีในการป้องกันไฟป่าฯ นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงราย ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News