Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ป.ป.ช. ประเมินความโปร่งใส ปี 67 จ.เชียงราย ได้เฉลี่ย 91.62 คะแนน

 

เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 สำนักงาน ป.ป.ช. โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส จัดงานประกาศผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (Integrity and Transparency Assessment : ITA) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินได้รับทราบและนำผลการประเมินดังกล่าวไปพัฒนา ปรับปรุง และยกระดับให้หน่วยงานภาครัฐของประเทศไทยมีความโปร่งใส และมีการปฏิบัติงานตามหลักธรรมาภิบาล ตลอดจนสื่อมวลชน และสาธารณชนทั่วไป จะได้มีส่วนร่วมในการสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพในการเปิดเผยข้อมูล และบริการของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเป็นประชาชนเกิดความเชื่อมั่นในระบบราชการ และเสริมสร้างให้เกิดกระแสการไม่ทนต่อการทุจริตต่อไป

 

โดยมี พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นผู้ประกาศผลการประเมินคุณธรรมฯ และเป็นผู้มอบรางวัล ITA AWARDS 2024 พร้อมทั้ง นายนิวัติชัย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์พิเศษ ในหัวข้อ “สถานการณ์การทุจริตของประเทศไทยในปัจจุบัน : ปัญหาและทางออก” และนายทวิชาติ นิลกาญจน์ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ร่วมให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินในหัวข้อ “การควบคุมคุณภาพการประเมิน ITA และการส่งเสริมธรรมาภิบาลในหน่วยงานภาครัฐ” ด้วย

 

พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวว่า การประเมิน ITA ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 นี้ มีหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศที่เข้าร่วมการประเมิน ทั้งสิ้น 8,325 หน่วยงาน โดยเริ่มเข้าสู่กระบวนการประเมินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 และสิ้นสุดการประเมินในวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ภายใต้การกำกับดูแลมาตรฐานการประเมินและความถูกต้องน่าเชื่อถือทางวิชาการ โดยผู้แทนหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งผลการดำเนินการที่ผ่านมา ได้รับความร่วมมือหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินทุกหน่วยงานและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำกับดูแลและขับเคลื่อนการประเมิน ITA เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายใน (แบบวัด IIT) ของบุคลากรภาครัฐ และการตอบแบบวัดการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายนอก (แบบวัด EIT) ของประชาชนที่มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,369,235 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 362,989 คน ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 461,440 คน และประชาชนผู้มาติดต่อหรือรับบริการหน่วยงานภาครัฐ จำนวน 907,795 คน ซึ่งถือว่ามีผู้เข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินเป็นจำนวนมาก ในสัดส่วนที่สามารถสะท้อนผลการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐด้านคุณธรรมและความโปร่งใสได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความน่าเชื่อถือทางวิชาการเช่นเดียวกันกับการดำเนินการในปีที่ผ่านมา อันจะเป็นข้อมูลสำคัญที่หน่วยงานภาครัฐจะได้นำไปปรับปรุงและพัฒนาหน่วยงานของตนเองได้อย่างเป็นมาตรฐานเดียวกัน

 

โดยผลคะแนนการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในภาพรวมระดับประเทศ พบว่า มีค่าคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 คะแนน ซึ่งมีทิศทางแนวโน้นที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา 2.86 คะแนน และเมื่อพิจารณาสัดส่วนของหน่วยงานภาครัฐที่เข้ารับการประเมินที่มีคะแนนผลการประเมินในระดับ 85 คะแนนหรือระดับผ่านขึ้นไป พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 7,696 หน่วยงาน คิดเป็นสัดส่วน 92.44 % ของหน่วยงานทั้งหมด 8,325 หน่วยงาน โดยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาถึง 11.50 % และค่าเป้าหมายแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็น (21) การต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่ได้กำหนดให้คะแนนเฉลี่ยการประเมินคุณธรรมฯ ทุกหน่วยงานในประเทศต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 89 คะแนน ซึ่งปรากฎว่าผลการประเมินเฉลี่ยอยู่ที่ 93.05 นั้น ผ่านตามค่าเป้าหมายตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ ที่กำหนดไว้

 

สำหรับผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่มีคะแนนผลการประเมินสูงสุดในแต่ละกลุ่มหน่วยงาน มีดังต่อไปนี้

  • กลุ่มหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานในรัฐสภา ได้แก่ สำนักงานศาลปกครอง ได้คะแนน 97.62 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มส่วนราชการระดับกรม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้คะแนน 99.31 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้แก่ ธนาคารออมสิน ได้คะแนน 98.96 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มองค์การมหาชน สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ได้คะแนน 97.02 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
    และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้คะแนน 97.27 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มกองทุน ได้แก่ กองทุนยุติธรรมได้คะแนน 94.54 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่าน”
  • กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ได้คะแนน 98.70 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดี”
  • กลุ่มราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด) ได้แก่ จังหวัดแพร่ ได้คะแนน 100 คะแนน อยู่ในระดับ
    “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้คะแนน 99.73 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลนคร ได้แก่ เทศบาลนครเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ได้คะแนน 99.47 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลเมือง ได้แก่ เทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ได้คะแนน 99.67 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • กลุ่มเทศบาลตำบล ได้แก่ เทศบาลตำบลโคกสูงสัมพันธ์ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
    เทศบาลตำบลสามขา อำเภอโพนทราย จังหวัดร้อยเอ็ด และเทศบาลตำบลเมืองไพร อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”
  • องค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไข่นก อำเภอม่วงสามสิบ จังหวัดอุบลราชธานี และองค์การบริหารส่วนตำบลเอราวัณ อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งได้คะแนนเท่ากันที่ 100 คะแนน อยู่ในระดับ “ผ่านดีเยี่ยม”

 

รางวัลที่สอง ประเภทรางวัลจังหวัดที่ขับเคลื่อน ITA บรรลุเป้าหมาย ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติฯ สูงสุด 10 จังหวัด ประจำปีงบประมาณ 2567

  • จังหวัดแรก ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส ได้คะแนน 98.79 คะแนน
  • จังหวัดที่ 2 ได้แก่ จังหวัดปราจีนบุรี ได้คะแนน 97.93 คะแนน
  • จังหวัดที่ 3 ได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ได้คะแนน 97.67 คะแนน
  • จังหวัดที่ 4 ได้แก่ จังหวัดแพร่ ได้คะแนน 97.63 คะแนน
  • จังหวัดที่ 5 ได้แก่ จังหวัดสกลนคร ได้คะแนน 97.32 คะแนน
  • จังหวัดที่ 6 ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี ได้คะแนน 97.12 คะแนน
  • จังหวัดที่ 7 ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร ได้คะแนน 97.11 คะแนน
  • จังหวัดที่ 8 ได้แก่ จังหวัดบึงกาฬ ได้คะแนน 96.90 คะแนน
  • จังหวัดที่ 9 ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ ได้คะแนน 96.87 คะแนน
  • จังหวัดที่ 10 ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้คะแนน 96.87 คะแนน

 

รางวัลที่สามจะเป็นประเภทรางวัลหน่วยงานที่มีพัฒนาการสูงสุด ในแต่ละประเภท มีทั้งสิ้น
12 รางวัล
 

  • ลำดับที่ 1 กลุ่มรัฐวิสาหกิจ ได้แก่

    บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด 92.37 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 9.28 คะแนน

  • ลำดับที่ 2 กลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ได้แก่

    มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 90.75 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 34.25 คะแนน

  • ลำดับที่ 3 กลุ่มส่วนราชการระดับกรม ได้แก่

    สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ 99.31 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 34.2 คะแนน

  • ลำดับที่ 4 กลุ่มหน่วยงานของศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ และหน่วยงานรัฐสภา ได้แก่

    สถาบันพระปกเกล้า 95.19 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 4.28 คะแนน

  • ลำดับที่ 5 กลุ่มหน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่

    สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 95.92 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 3.31 คะแนน

  • ลำดับที่ 6 กลุ่มองค์การมหาชน ได้แก่

    สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) 87.99 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 35.63 คะแนน

  • ลำดับที่ 7 กลุ่มราชการส่วนภูมิภาค (จังหวัด) ได้แก่

    จังหวัดชลบุรี 96.43 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 10.04 คะแนน

  • ลำดับที่ 8 กลุ่มเทศบาลตำบล ได้แก่

    เทศบาลตำบลบ้านโป่ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 96.34 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 50.52 คะแนน

  • ลำดับที่ 9 กลุ่มเทศบาลนคร ได้แก่

    เทศบาลนครรังสิต อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 98.25 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 15.58 คะแนน

  • ลำดับที่ 10 กลุ่มเทศบาลเมือง ได้แก่

    เทศบาลเมืองเพชรบุรี อำเภอเมืองเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี 98.29 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 36.21 คะแนน

  • ลำดับที่ 11 กลุ่มองค์การบริหารส่วนจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี 99.65 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 7.58 คะแนน
  • ลำดับที่ 12 กลุ่มองค์การบริหารส่วนตำบล ได้แก่

    องค์การบริหารส่วนตำบลหนองจอก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี 95.16 คะแนน มีคะแนนเพิ่มขึ้น 49.61 คะแนน

 

รางวัลสุดท้าย ประเภทรางวัลหน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม” จำนวนทั้งสิ้น 9 หน่วยงาน

  • ลำดับที่ 1 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ได้คะแนน 99.31 คะแนน
  • ลำดับที่ 2 ได้แก่ กองทัพเรือ ได้คะแนน 99.21 คะแนน
  • ลำดับที่ 3 ได้แก่ ธนาคารออมสิน ได้คะแนน 98.96 คะแนน
  • ลำดับที่ 4 ได้แก่ การประปานครหลวง ได้คะแนน 98.84 คะแนน
  • ลำดับที่ 5 ได้แก่ องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้คะแนน 98.46 คะแนน
  • ลำดับที่ 6 ได้แก่ กรมการศาสนา ได้คะแนน 98.30
  • ลำดับที่ 7 ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ได้คะแนน 97.94 คะแนน
  • ลำดับที่ 8 ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ ได้คะแนน  97.27 คะแนน
  • ลำดับที่ 9 ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย ได้คะแนน 97.22 คะแนน

 

นอกจากการประกาศผลการประเมินแล้ว ภายในงานได้มีการมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ให้กับหน่วยงานภาครัฐที่เข้าร่วมการประเมินคุณธรรมฯ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจแก่หน่วยงานภาครัฐที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ และมีผลการประเมินตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้แล้ว โดยรางวัล ITA AWARDS 2024 มีรางวัลจำนวน 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 รางวัลหน่วยงานที่มีผลการประเมินสูงสุด ประเภทที่ 2 รางวัลจังหวัดที่ขับเคลื่อน ITA บรรลุเป้าหมาย ประเภทที่ 3 รางวัลหน่วยงานที่มีพัฒนาการสูงสุด และประเภทที่ 4 รางวัลหน่วยงานส่วนกลางที่มีผลการประเมิน “ผ่านดีเยี่ยม”

 

สำหรับประชาชนและผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดเอกสารและเข้าดูรายละเอียดผลการประเมิน ITA ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 และการประกาศผลการประเมินคุณธรรมฯ และการมอบรางวัล ITA AWARDS 2024 ได้ที่เว็บไซต์ https://itas.nacc.go.th สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส สำนักงาน ป.ป.ช. ทาง Line Official Account : @ITAS ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS TOP STORIES

พบทั่วโลกติดสินบน 2 ล้านล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2567 ที่โรงแรมสวิสโซเทล สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต ร่วมกับหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย พร้อมจัดเสวนาหัวข้อ “การต่อต้านการทุจริตในภาคเอกชนและบทบาทของภาคเอกชนไทย” 

นายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ รองเลขาธิการ ป.ป ช. กล่าวตอนหนึ่งว่า การคอร์รัปชัน ติดสินบนพนักงานของรัฐเป็นสิ่งที่เลวร้ายสำหรับการทำธุรกิจ ธนาคารโลกประมาณการว่าในแต่ละปีมีค่าใช้จ่ายสำหรับติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วน world economic forum ประมาณการตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากการทุจริตอยู่ที่ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5% ของจีดีพีโลก

 

สำหรับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ป.ป.ช. ได้ประสานการทำงานร่วมกับบริษัทต่างชาติ และทำงานร่วมกับองค์กรระหว่างประเทศในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ขณะเดียวกัน เมื่อเข้ามาแล้วต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องออกมาตรการส่งเสริมและป้องกันการทุจริต ส่งเสริมคุณธรรม โดยเฉพาะวัฒนธรรมองค์กรไม่ยอมรับการทุจริต ป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงความรับผิดทางอาญากรณีการทุจริตทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าหน้าที่องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงนิติบุคคลที่มีส่วนร่วมในการทุจริต และให้สัญญาเป็นโมฆะ ทั้งนี้ ป.ป.ช. พยายามแก้ไขกฎหมายให้สามารถเอาผิดซ้ำใน 2 ประเทศอีกด้วย ขณะนี้ไทยมุ่งหวังจะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการติดสินบน ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 44 ประเทศ

 

ด้าน นางวีเบกเกอ เลอเซนด์ เลอแวก (Mrs.Vibeke Lyssand Leivag ) ประธานหอการค้าต่างประเทศในประเทศไทย กล่าวว่า หอการค้าต่างประเทศฯ ทำงานในประเทศไทยมา 48 ปีแล้ว มีสมาชิก 36 บริษัท มีเครือข่าย 8,000 – 9,000 บริษัท เพื่อส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย มีเศรษฐกิจเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการที่เติบโตและยังมีโอกาสในการลงทุนมากมาย ประเทศไทยยังอยู่ในพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ที่สามารถนำไปสู่ตลาดอาเซียนได้ มีมาตรการจูงใจการลงทุนจำนวนมาก แต่โอกาสมาพร้อมกับความท้าทาย ทั้งการแข่งขันในภาคธุรกิจ และระบบราชการไทยที่ซับซ้อน เรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่งที่ผ่านมาจะมีการประท้วง มีการรัฐประหาร ที่จริงรัฐบาลปัจจุบันให้การส่งเสริมการลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่สิ่งที่ต้องทำเพิ่มคือการปรับปรุงระบบการศึกษา เพิ่มทักษะการทำงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆ นวัตกรรมใหม่ๆ รวมไปถึงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน โลจิสติกส์และสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการทำธุรกิจ

 

เหตุผลที่กล่าวมาเหล่านี้ มีผลต่อการตัดสินใจลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย รวมถึงการทุจริตคอร์รัปชันซึ่งมีความเสี่ยงต่อชื่อเสียงไม่น้อย จะเห็นว่าดัชนีการทุจริตไม่ได้มีการพัฒนาขึ้น จากปี 2018 ตกลงจากอันดับที่ 99 มาอยู่ที่ลำดับ 108 จะเห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำให้เกิดปัญหาในการประกอบธุรกิจ เกิดความไม่ยุติธรรมหากไม่มีการจ่ายค่าน้ำชา เราอยากมีส่วนร่วมในการก่อให้เกิดความยุติธรรม เป็นธรรมในการประกอบธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ภาครัฐ เอกชน และภาควิชาการจะต้องทำงานร่วมกัน

 

นางกุลภัทรา สิโรดม ประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า ถ้าบริษัทมีกรรมการที่ดี เราสามารถลดการติดสินบนและการทุจริตลงได้ทั้งในบริษัทและนอกบริษัท รวมถึงทั้งในประเทศและนอกประเทศด้วย ซึ่งสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย ก่อตั้งเมื่อปี 2010 เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันโดยสมัครใจ มีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาเพื่อต่อต้านการทุจริต อิงตามมาตรฐานนานาชาติ ทำการอบรมการวิเคราะห์และควบคุมลดปัญหาการทุจริตภายในองค์กรของตัวเอง และยังมีโปรแกรมผู้นำจริยธรรมที่พยายามจะช่วยผู้บริหารให้ตัดสินใจเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ ได้

 

ขณะที่นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ กรรมการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เห็นว่า การสร้างคุณธรรมและค่านิยมต่อเยาวชนไทยในการต่อต้านการทุจริตถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะลดโอกาสการทุจริตในประเทศไทยลงได้ รวมถึงร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมการเปิดเผยการทุจริตทุกประเภท โดยเฉพาะการจัดจัดซื้อจัดจ้างในภาครัฐ การสนับสนุนการผลักดันการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะทำให้เกิดความโปร่งใสมากขึ้น.

  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

 NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAMกองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News

MOST POPULAR
FOLLOW ME


Facebook


Times


Instagram


Youtube


Line

NEWS UPDATE
BREAKING NEWS


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 16 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันจันทร์ที่ 4 ธันวาคม 2566



ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566


ข่าวเด่นน่าติดตามวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2566

xemeaino

Categories
NEWS UPDATE

MOU ปราบปรามการทุจริต การสอบแข่งขันบรรจุพนักงานส่วนท้องถิ่น ปี 67

 

เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 67 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมราชสีห์ กระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 โดยมี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายขจร ศรีชวโนทัย อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น พร้อมด้วยภาคีเครือข่าย คือ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. นายณรงวิทย์ สุวรรณสิทธิ์ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ท. พลตำรวจตรี ประสงค์ เฉลิมพันธ์ ผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และนายคำรณ โกมลศุภกิจ ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนาม

 

 

โอกาสนี้ นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายพรพจน์ เพ็ญพาส รองปลัดกระทรวงมหาดไทยรักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมที่ดิน นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายอุทิศ บัวศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะผู้บริหารระดับสูง และสื่อมวลชน ร่วมงาน นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้กล่าวว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จะมีการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2567 นี้ ซึ่งมีตำแหน่งว่างประมาณ 6,238 อัตรา โดยคาดว่าจะมีผู้สมัครสอบมากกว่า 600,000 คน กระจายไปตามภูมิภาคของศูนย์สอบ และสนามสอบต่าง ๆ ทั่วประเทศ ได้ปรากฏข่าวว่ามีกระบวนการทุจริตการสอบแข่งขันหลายกลุ่ม 
 
 
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็นไปด้วยด้วยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ จึงได้จัดทำพิธีลงนามทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ระหว่าง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) โดยมีเจตนารมณ์ในการร่วมเป็นภาคีเครือข่ายป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตทุกรูปแบบเกี่ยวกับการสอบแข่งขัน และจะร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน เผยแพร่ และประสานงานให้เกิดความร่วมมือกันในการป้องกันการทุจริตการสอบแข่งขัน รวมทั้งรวมตัวกันในการจัดกิจกรรมต่อต้านการทุจริตการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นด้วย
 
 
“เพื่อแสดงจุดยืนของกระทรวงมหาดไทยในการ จึงมอบนโยบายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น คือ 
 
1. มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นหน่วยงานในการจัดสอบแข่งขัน ต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและรัดกุม เพื่อป้องกันมิให้ข้อสอบและคำตอบรั่วไหลในทุกขั้นตอน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการทุจริตที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดสอบ มหาวิทยาลัยต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางวินัย 
 
2. ผู้สมัครสอบแข่งขัน ต้องให้ความร่วมมือ และปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการสมัครเข้าสอบแข่งขัน หากปรากฏหลักฐานว่ามีการสมยอมให้มีการเรียกรับเงิน เพื่อแลกกับการช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ผู้สมัครสอบต้องถูกปรับให้ตก และถูกตัดสิทธิ์ไม่ให้สมัครสอบแข่งขันเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่น ไปตลอดชีวิต รวมทั้งต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา อีกด้วย 
 
3. ข้าราชการ ทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น ห้ามมิให้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในทางใดๆ อันจะส่งผลให้การสอบแข่งขันดังกล่าวมีการทุจริต หรือมีการเรียกรับเงินเกิดขึ้น หากปรากฏหลักฐานว่ามีการกระทำดังกล่าวต้องถูกลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรง 
 
4. บุคคลอื่นใด หรือกลุ่มบุคคลใด หรือสถาบันติวใด หากปรากฏหลักฐานว่ามีส่วนรู้เห็น หรือ ร่วมกระทำการทุจริต หรือเรียกรับผลประโยชน์เพื่อช่วยเหลือให้เป็นผู้สอบแข่งขันได้ ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ด้วย” นายอนุทินฯ กล่าวเน้นย้ำ
 
 
สำหรับพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 ว่า จากกรณีที่ปรากฎข่าวว่ามี
การทุจริตการสอบแข่งขันขึ้น มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบในหลายจังหวัด ประชาชนถูกหลอกจำนวนมาก มีการฟ้องร้อง และเป็นคดีอยู่จำนวนมาก จากนโยบายที่ท่านรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ที่ต้องการให้การจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความโปรงใส ไร้ทุจริต กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น จึงต้องดำเนินการให้มีมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตในทุกช่องทาง รวมทั้งไม่ให้มีการเรียกรับเงิน เหมือนกับที่ปรากฎเป็นข่าวในอดีตที่ผ่านมา โดยการกำกับดูแลการจัดสอบแข่งขันให้เป็นไปด้วยความสุจริต ยุติธรรม และถูกต้อง ในทุกขั้นตอน 
 
 
ดังนั้น เพื่อให้การสอบแข่งขันบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เป็นไปโดยความบริสุทธิ์ ยุติธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ จึงได้จัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ฉบับนี้ขึ้น โดยมีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) และคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ภาคีเครือข่ายการป้องกัน ต่อต้าน และปราบปรามการทุจริตการสอบแข่งขันท้องถิ่นเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น ประจำปี 2567 เพื่อขับเคลื่อนการสอบแข่งขันท้องถิ่นให้ปราศจากการทุจริต ร่วมกันให้คำปรึกษา เสนอแนะแนวทาง รวมถึงการติดตามและประเมินผลในการดำเนินการสอบแข่งขันท้องถิ่น
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองสารนิเทศ สป.มท.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

ป.ป.ช.ชงฟ้องยึดทรัพย์ ส.อบจ. ดำรงตำแหน่ง 7 ปี รวยผิดปกติ 4.6 ล้าน

 

5 กันยายน 2566 สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 และสำนักงานป.ป.ช.ประจำจังหวัดพื้นที่ภาค 5 ร่วมแถลงข่าวการดำเนินงานประจำเดือนกันยายน 2566 โดย นายเนติพล ชุมยวง ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดเชียงราย เปิดเผยสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหานายจิรายุ เผ่ากา สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ว่า มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติไม่สัมพันธ์กับรายได้ หรือร่ำรวยผิดปกติ และปัจจุบันนายจิรายุ เผ่ากา ยังคงดำรงตำแหน่งสมาชิสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย

จากการไต่สวนข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายจิรายุ เข้ารับตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2555 พ้นจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 นายจิรายุ และคู่สมรส มีรายได้ตามแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตั้งแต่ปี 2555-2562 (7 ปี) เป็นจำนวนเงินประมาณ 1,584,309 บาท และไม่ปรากฏว่า นายจิรายุ ประกอบอาชีพเสริมอื่นใด มีรายได้เพียงค่าตอบแทนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายเท่านั้น

ส่วนคู่สมรสก็ไม่ได้ประกอบอาชีพ โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติเกินกว่าฐานะและรายได้ เป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาเชียงราย ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชีนายจิรายุ เผ่ากา เปิดบัญชีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2551 ทางการไต่สวนพบว่า มีรายการเคลื่อนไหวเป็นจำนวนมากเกินกว่าฐานะและรายได้ ซึ่งเป็นลักษณะฝากเงินเข้าบัญชีนอกเหนือจากเงินรายได้ที่ได้รับในตำเหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2555 จนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561 รวม 63 รายการ เป็นเงินจำนวน 6,466,870 บาท

คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 87/2566 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 พิจารณาแล้วเห็นว่า ทรัพย์สินที่เป็นเงินฝากและเงินที่โอนเข้ามาในบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา ตามที่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหา จำนวน 63 รายการ เป็นจำนวนเงิน 6,466,870 บาท นั้น มีทรัพย์สินที่มีแหล่งที่มา ซึ่งมิใช่เป็นการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือร่ำรวยผิดปกติ จำนวน 20 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 1,793,140 บาท กรณีดังกล่าวเห็นว่าข้อกล่าวหาไม่มีมูล เห็นควรให้ข้อกล่าวหาเป็นอันตกไป

แต่กรณีแหล่งที่มาของทรัพย์สินที่เป็นเงินนำฝากและเงินโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ถูกกล่าวหา อีกจำนวน 43 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 4,673,730 บาท เป็นกรณีมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ อันมีลักษณะเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของผู้ถูกกล่าวหาในกรณีนี้ ฟังไม่ขึ้น ให้ส่งรายงาน สำนวนการไต่สวน เอกสาร พยานหลักฐาน และความเห็นไปยังอัยการสูงสุด เพื่อยื่นคำร้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีเขตอำนาจ พิจารณาพิพากษาคดี

ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 43 รายการ รวมเป็นเงินจำนวน 4,673,730 บาท ตกเป็นของแผ่นดิน ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ หากไม่สามารถบังคับเอาแก่ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติดังกล่าวได้ทั้งหมดหรือบางส่วน ก็ขอให้บังคับเอาแก่ทรัพย์สินของผู้ถูกกล่าวหาด้วย ตามมาตรา 125 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 และแจ้งคำวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริงโดยสรุป ไปยังผู้มีอำนาจสั่งให้พ้นจากตำแหน่ง โดยให้ถือว่ากระทำการทุจริตต่อหน้าทีตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561

 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงาน ป.ป.ช. ภาค 5 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News