Categories
SOCIETY & POLITICS

สธ. จัดระบบดูแลพี่น้องชาวไทยมุสลิม7,781 คน ก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์

 
เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพมหานคร นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ปี 2567 โดยมี นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค Mr. Mohammed Alkhudhayri ผู้แทนเอกอัครราชทูตซาอุดีอาระเบียประจำประเทศไทย และผู้เดินทางแสวงบุญร่วมพิธี
          
 
นายแพทย์ชลน่านกล่าวว่า ประเทศไทยและราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย มีความสัมพันธ์กันมายาวนานซึ่งไทยให้ความสำคัญในการยกระดับความร่วมมือทั้งระดับทวิภาคีและพหุภาคี ส่งเสริมการขยายความร่วมมือทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน การท่องเที่ยว วัฒนธรรม และด้านการสาธารณสุขโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ให้การดูแลสุขภาพของพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปแสวงบุญอย่างต่อเนื่อง โดยจัดโครงการป้องกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งแต่ละปีจะมีคนไทยมุสลิมได้รับโควตาเข้าร่วมการประกอบพิธีฮัจย์ประมาณ 13,000 คน สำหรับปีนี้ ดำเนินการภายใต้กรอบแนวคิด HEALTH FOR HAJJ เป็นการจัดระบบดูแลเตรียมความพร้อมด้านสุขภาพตั้งแต่ก่อนการเดินทาง ด้วยการตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคตามที่ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียกำหนดให้กับผู้แสวงบุญทุกคน พร้อมออกหนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 จัดส่งทีมแพทย์พยาบาลไปดูแลระหว่างการประกอบพิธี และติดตามเฝ้าระวังสุขภาพหลังเดินทางกลับอีก 14 วัน
 

          ด้านนายแพทย์โอภาส กล่าวว่า การประกอบพิธีฮัจย์ ณ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย ประจำปี 2567 หรือฮิจเราะห์ศักราช (ฮ.ศ.) 1445 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 – 19 มิถุนายน 2567 ในปีนี้มีชาวไทยมุสลิมที่ลงทะเบียนพร้อมเดินทางไปประกอบพิธี จำนวน 7,781 คน ซึ่งผู้แสวงบุญทุกคนต้องได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ก่อนการเดินทางอย่างน้อย 14 วัน โดยวันนี้มีผู้มารับบริการฉีดวัคซีนที่ ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ จำนวน 1,494 คน สำหรับพี่น้องชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ และอยู่ในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ สามารถเข้ารับบริการตรวจสุขภาพก่อนการเดินทาง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้กาฬหลังแอ่น และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ได้ที่สถานบริการของกระทรวงสาธารณสุขในพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ – 31 พฤษภาคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :  กระทรวงสาธารณสุข 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

ภาคเอกชนยักษ์ใหญ่ของซาอุดีฯพร้อมขยายการค้าและการลงทุนกับไทย

 

วันนี้ (21 ต.ค. 2566) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงริยาด ซึ่งช้ากว่าไทย 4 ชั่วโมง) ณ โรงแรม Ritz Carlton กรุงริยาด ซาอุดีอาระเบีย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พบปะกับภาคเอกชนซาอุดีอาระเบีย ได้แก่

1) นายยาเซอร์ บิน อุสมาน อัล-รูมัยยาน (Yasir bin Othman Al-Rumayyan) ประธานกรรมการกองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะ (Governor of the Public Investment Fund: PIF)

2) นายอามิน ฮัซซาน อาลี นัซเซอร์ (Amin Hassan Ali Nasser) ประธานกรรมการและ CEO รัฐวิสาหกิจ Saudi Arabian Oil Company (Saudi ARAMCO) ของซาอุดีอาระเบีย

3) นายอับดุลราห์มัน อัล-ฟากีห์ (Abdulrahman Al-Fageeh)
ประธานบริหารและสมาชิกคณะกรรมการบริหาร Saudi Arabia Basic Industries Corporation (SABIC)

โดยนายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีและภาคเอกชนซาอุดีฯ ทั้ง 3 บริษัท เห็นพ้องถึงการให้ความสำคัญต่อการกระชับความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนของไทยและซาอุดีฯ โดยทั้งสองประเทศต่างมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ และยินดีขยายส่งเสริมการค้าและการลงทุนซึ่งกันและกัน รวมถึงยินดีอำนวยความสะดวกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างกันให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพและสนใจร่วมกัน เช่น การบริการและการท่องเที่ยว พลังงานสะอาด อาหารและการเกษตร ปิโตรเลียม และปุ๋ย

สำหรับบริษัท SABIC ประสงค์เพิ่มพูนความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับไทย ในด้านปิโตรเคมี ซึ่งบริษัทมีความเชี่ยวชาญ

ด้าน ARAMCO ยินดีที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของไทย กับบริษัท ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมหวังว่าจะสามารถยกระดับความร่วมมือด้านพลังงานได้มากยิ่งขึ้นในอนาคต

ภาคเอกชนซาอุดีฯ ยังพร้อมส่งเสริมความร่วมมือด้านการลงทุนในสาขาอื่นๆ เพิ่มเติม ทั้งการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการเสริมสร้างการเจริญเติบโตเศรษฐกิจควบคู่กับการให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งภาคเอกชนของซาอุดีฯ หวังว่า ไทยและซาอุดีฯ จะส่งเสริมและมีความร่วมมือด้านการลงทุนมากขึ้นในอนาคต

นายกรัฐมนตรีกล่าวแสดงความพร้อมของรัฐบาลในการขับเคลื่อนการลงทุนพลังงาน พร้อมเน้นย้ำศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทย และสามารถเป็นจุดเชื่อมโยงในภูมิภาคให้กับซาอุดีฯ ได้ พร้อมเชิญชวนภาคเอกชนซาอุดีฯ เยือนไทยเพื่อศึกษาและหารือ เกี่ยวกับศักยภาพและความเป็นไปได้ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในด้านต่างๆให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น 

ในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอโครงการ Landbridge ของไทย โดย PIF เห็นว่าเป็นโครงการที่ดีมีศักยภาพ และแสดงความสนใจในโครงการฯ ด้วย

 

ทั้งนี้ กองทุนเพื่อการลงทุนสาธารณะนับเป็นหนึ่งในกองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลซาอุดีฯ เพื่อลงทุนในโครงการที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์กับเศรษฐกิจของประเทศ และปฏิบัติภารกิจตามนโยบายวิสัยทัศน์ซาอุดีอาระเบีย ค.ศ. 2030 ที่มีวัตถุประสงค์ในการกระจายการลงทุน และทำให้กองทุนฯ สามารถลงทุนในบริษัทต่างประเทศได้

สำหรับ Saudi ARAMCO เป็นบริษัทพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่มีรัฐบาลซาอุดีฯ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นแหล่งสำรองน้ำมันดิบที่ใหญ่ และผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของในโลก โดยในปี 2566 มีมูลค่าตลาดมากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมา ปตท. และ Saudi ARAMCO ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกัน เพื่อเพิ่มพูนความร่วมมือด้านพลังงานทั้งระบบ รวมถึงความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า

ด้าน SABIC เป็นบริษัทผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ของซาอุดีฯ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2519 เพื่อนำผลพลอยได้จากน้ำมันดิบมาผลิตสินค้าปิโตรเคมี โพลีเมอร์ ปุ๋ย ฯลฯ ปัจจุบัน SABIC เป็นหนึ่งในบริษัทปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดของโลก มีบริษัท Aramco เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ โดยทำธุรกิจในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

ไทย-ซาอุดีฯ ผลักดันความร่วมมือทวิภาคี ลงทุนอยู่ที่ 3.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 38%

 

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผลักดันความร่วมมือทวิภาคีกับซาอุดีอาระเบียให้อย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ครอบคลุมทั้งด้านการทูต แรงงาน เศรษฐกิจ พลังงาน และการท่องเที่ยว 

 

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า นับตั้งแต่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างไทยและซาอุดีอาระเบีย ความสัมพันธ์ระว่างทั้งสองประเทศมีพลวัตอย่างต่อเนื่อง โดยมูลค่าการลงทุนระหว่างกันเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.64 มาอยู่ที่ 3.23 แสนล้านบาท สำหรับด้านการท่องเที่ยว ในปี 2565 นักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯ มาไทย จำนวน 96,389 คน สร้างรายได้ 8 พันล้านบาท คาดการณ์ว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวชาวซาอุดีฯ เพิ่มขึ้น 150,000 คน สร้างรายได้ 12,000 ล้านบาทรวมถึงมีการเพิ่มเที่ยวบินจาก 9 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เป็น 42 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ผลความสำเร็จดังกล่าว สืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลผลักดันความร่วมมือทวิภาคีในด้านต่าง  ผ่านมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือต่าง  จากคณะรัฐมนตรีแล้ว ดังนี้ 

 

1) ด้านการทูตและการต่างประเทศ มติ ครม. 8 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบการจัดทำแผนการขับเคลื่อนเพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีปี 2565 – 2567 รวมทั้งจัดตั้งสภาความร่วมมือไทยซาอุดีฯ ซึ่งจะประสานความร่วมมือทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมวัฒนธรรม นอกจากนี้ มติ ครม. 15 พฤศจิกายน 2565 ยังได้เห็นชอบการยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูต และหนังสือเดินทางราชการ รวมไม่เกิน 90 วัน เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน

 

2) ด้านแรงงาน มติ ครม. 1 มีนาคม 2565 เห็นชอบข้อตกลงด้านแรงงาน เพื่อจัดหาแรงงานไปทำงานในซาอุดีฯ อย่างถูกกฎหมาย และปกป้องสิทธิของนายจ้างและแรงงาน รวมถึงการบังคับใช้กฎระเบียบสัญญาจ้างระหว่างกัน

 

3) ด้านการค้าและการลงทุน มติ ครม. 8 พฤศจิกายน 2565 ได้เห็นชอบการส่งเสริมการลงทุนโดยตรงระหว่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติเกี่ยวกับการลงทุนโดยตรงและโอกาสทางธุรกิจ กฎหมายและกฎระเบียบเกี่ยวกับโอกาสในการลงทุนโดยตรง และการเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนของทั้งสองประเทศจาก

 

4) ด้านพลังงาน มติ ครม. 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบความร่วมมือทวิภาคีด้านพลังงาน อาทิ ปิโตรเลียม ก๊าซไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียน และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน และเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

5) ด้านการท่องเที่ยว มติ ครม. 15 พฤศจิกายน 2565 เห็นชอบบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในด้านการท่องเที่ยวไทยซาอุดีฯ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลสถิติการท่องเที่ยว จัดโปรแกรมการศึกษาและการวิจัย การประชุม สัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

 

นอกจากนี้ ระหว่างวันที่ 6 – 10 มิถุนายน 2566 นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มีกำหนดการเดินทางเยือนซาอุดีฯ ตามคำเชิญของนายคอลิด บิน อับดุลอะซีซ อัลฟาลิห์ (Khalid bin Abdulaziz Al-Falih) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการลงทุนซาอุดีฯ โดยนำคณะผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนร่วมเดินทางด้วย เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือทวิภาคี และส่งเสริมการเจรจาการค้าและการลงทุนระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ โดยภาคเอกชนชั้นนำของไทยยังได้พบหารือภาคเอกชนซาอุดีฯ เพื่อสร้างเครือข่ายและจับคู่ธุรกิจที่มีศักยภาพร่วมกัน

 

นายกรัฐมนตรียังคงผลักดันความร่วมมือทวิภาคีไทยและซาอุดีฯ อย่างต่อเนื่อง ผ่านมติเห็นชอบกรอบความร่วมมือต่าง  จากคณะรัฐมนตรี และการเดินทางเยือนซาอุดีฯ ของหน่วยงานรัฐบาล เพื่อติดตามความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์ พร้อมทั้งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยให้กำกับและติดตามการดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือ เพื่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกัน ให้ครอบคลุมทั้งด้านการทูต แรงงาน เศรษฐกิจ พลังงาน และการท่องเที่ยว” นายอนุชาฯ กล่าว

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS NEWS UPDATE

สธ. ส่งทีมแพทย์ ดูแลชาวไทยมุสลิม พิธีฮัจย์ ซาอุดีอาระเบีย

สธ. ส่งทีมแพทย์ ดูแลชาวไทยมุสลิม พิธีฮัจย์ ซาอุดีอาระเบีย

Facebook
Twitter
Email
Print

   กระทรวงสาธารณสุข จัดทีมแพทย์พร้อมบุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 3 ทีม รวม 42 คน ผลัดเปลี่ยนดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ ประจำปี 2566 ณ นครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย โดยทีมแพทย์ชุดแรก 15 คน ออกเดินทางแล้ววันนี้

          วันนี้ (20 พฤษภาคม 2566) ที่ท่าอากาศยานสนามบินสุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ นายแพทย์สุภโชค เวชภัณฑ์เภสัช ผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับมอบหมายจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข มาให้กำลังใจกับบุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย ที่จะเดินทางไปดูแลสุขภาพชาวไทยมุสลิมที่ไปประกอบพิธีฮัจย์ ณ นครมักกะห์ ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบียประจำปี 2566 (ฮศ.1444) โดยปีนี้มีชาวไทยมุสลิมเดินทางไปร่วมประกอบพิธีประมาณ 1.2 หมื่นคน​  เริ่มออกเดินทางไปตั้งแต่วันที่ 21 พฤษภาคม – 23 มิถุนายน 2566 และจะทยอยเดินทางกลับประเทศไทยช่วงวันที่ 3 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2566 โดยช่วงก่อนเดินทางไปประกอบพิธี กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมให้กับผู้เดินทาง โดยมีการคัดกรองความเสี่ยง ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ รวมถึงฉีดวัคซีนป้องกัน 3 โรค ได้แก่ โควิด 19 ไข้หวัดใหญ่ และไข้กาฬหลังแอ่น พร้อมออกเอกสารรับรองการได้รับวัคซีน และยังจัดอบรมอาสาสมัครสาธารณสุขฮัจย์ (อสม.ฮัจย์) เพื่อประสานงานและดูแลสุขภาพเบื้องต้น​ รวมทั้งมีส่วนร่วมในการบริการภาคสนามกับทีมแพทย์ด้วย

          นายแพทย์สุภโชคกล่าวต่อว่า ช่วงระหว่างวันที่ 21 พฤษภาคม – 2 สิงหาคม 2566 ที่พี่น้องชาวไทยมุสลิมพำนักในราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย เพื่อประกอบพิธีฮัจย์ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย แพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข รวม 42 คน โดยมี นายแพทย์ซุลกิฟลี ยูโซะผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม้แก่น จังหวัดปัตตานี และรองผู้อำนวยการศูนย์บริหารการพัฒนาสุขภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปฎิบัติหน้าที่หัวหน้าสำนักงานแพทย์เพื่อกิจการฮัจย์แห่งประเทศไทย และแบ่งชุดการเดินทางเป็น 3 ชุด ซึ่งในวันนี้ทีมแพทย์ชุดแรก จำนวน 15 คน จะออกเดินทางปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2566 ส่วนทีมที่ 2 จะเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ระหว่างวันที่ 2 มิถุนายน – 21 กรกฎาคม 2566 และทีมที่ 3 ระหว่างวันที่ 15 มิถุนายน – 3 สิงหาคม 2566 ทั้งนี้ หลังจากผู้แสวงบุญเดินทางกลับถึงประเทศไทย จะมีการติดตามเฝ้าระวังสุขภาพต่อเนื่องอีก 14 วันด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงสาธารณสุข

 
Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
NEWS UPDATE