Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อ.แม่สาย จัดงานเมาลิดนบี (ซ.ล) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมาลิดนบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 – 15.30 น. ณ อาคารเอนกประสงค์มัสยิดอันนูร แม่สาย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายราชัน รุจิพรรณ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงานการจัดงาน นายสมจิต มุณีกร ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย กล่าวต้อนรับ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวอวยพร และนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวพบปะพี่น้องมุสลิมที่มาร่วมงาน และให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน

      ความสำคัญของานเมาลิดดิลนบี หมายถึง วันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาของศาสนาอิสลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในห้วงเดือนดังกล่าว มุสลิมทั่วโลกจะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) โดยการนำชีวประวัติของท่านศาสดาตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันที่ท่านวากาฟ (ถึงแก่กรรม) มาเสนอหลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำบทกวี (บัรซัญญี) การบรรยายธรรม เล่าชีวประวัติของท่านศาสดา เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต การยกย่องวันเกิดของท่านศาสดามูฮัมหมัดทำได้โดยดำเนินการปฏิบัติในวันเกิดของท่าน คือ การถือศีลอดในวันจันทร์ การกล่าวซอลาวาตเป็นส่วนหนึ่งของการให้เกียรติยกย่อง รวมถึงปฏิบัติตามคำสั่ง ละเว้นการปฎิบัติตามคำสั่งห้ามของท่าน และดำเนินตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด การจัดงานเมาลิด เป็นประเพณีหนึ่งที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดสันติสุขสู่พื้นที่ ถือเป็นการนำทุนทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนทุนวิถีชีวิตของคนในชุมชนมุสลิมมาเป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึก และรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด รวมทั้งสร้างความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อทำสิ่งดีงามให้แกชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบไป

     ดำเนินการจัดโดย คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติศาสดานบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) รำลึกถึงความดีงาม เผยแพร่จริยวัตรทางด้านศาสนาอิสลาม ให้ชาวมุสลิมนำไปปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้มาพบปะกัน และสร้างความสามัคคีเป็นหมู่คณะ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดงานดังกล่าวมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. พิธีเปิดงานและร่วมอวยพร
  2. พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน
  3. พิธีมอบทุนให้แก่เด็กและเยาวชนมุสลิมในพื้นที่อำเภอแม่สาย จำนวน 50 ทุน
  4. งานเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน
  5. การพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือระหว่างผู้นำมุสลิม ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  6. การบันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
  7. ตลาดฮาลาล จำหน่ายผลิตภัณฑ์วิถีชีวิตมุสลิม ถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมด้านอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เสื้อผ้า และประเพณีท้องถิ่นโดยบูรณาการเกี่ยวกับการยกระดับอำนาจละมุน (Soft Power) ตามนโยบาย 5F (Food, Fashion, Film, Festival and Fighting)

    ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ (ผู้ประสานงานอำเภอแม่สาย) และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานฯ อวยพร แสดงความยินดี และมอบดอกไม้ประดับอันเป็นมงคลให้แก่ผู้นำศาสนาอิสลาม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เชิญเครื่องสังฆทาน ผ้าไตร และเครื่องไทยธรรมพระราชทานแด่พระสงฆ์ พระครูบาบุญชุ่ม

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทานไปถวายแด่เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง(5) เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทาน และเครื่องเขียนพระราชทาน ไปถวายแด่ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร ในวันศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 10.30 น. ณ วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

   พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์ และเมตตากล่าวสัมโมทนียกถา

   นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน พร้อมด้วย นางมัทนา เนื่องหล้า ภริยา หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องถิ่น ศิษยานุศิษย์ เข้าร่วมพิธีฯ ในครั้งนี้

   ในโอกาสมงคลนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นายสานุพงศ์ สันทราย นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กลุ่มพิธีการศพที่ได้รับพระราชทาน สำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธี อำนวยความสะดวกแด่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมพิธีฯ ทั้งนี้ การดำเนินงานพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ

     ประวัติ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสํวโร เกิดเมื่อวันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2508 เวลา 09.00 น. ที่หมู่บ้านแม่คำหนองบัว ตำบลป่าสัก อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นบุตรคนโตของนายคำหล้าและนางแสงหล้า ทาแกง แม้ครอบครัวจะยากจนใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก แต่โยมมารดาก็ปลูกฝังท่านให้ทำบุญ สวดมนต์ ทำสมาธิอยู่เสมอ ทำให้ท่านสนใจออกบวช หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จึงบรรพชาเป็นสามเณรเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2519 ขณะอายุได้ 11 ปี ศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรีในปี พ.ศ. 2526 ต่อมาได้เข้าอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2529 เวลา 919 น. ณ อุโบสถวัดพระเจ้าเก้าตื้อ (ปัจจุบันรวมกับวัดสวนดอก (จังหวัดเชียงใหม่) โดยมีพระราชพรหมาจารย์ (ดวงคำ ธมฺมทินฺโน) เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเวฬุวันพิทักษ์เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และพระครูศรีปริยัตินุรักษ์เป็นพระกรรมวาจาจารย์ นับแต่ออกบวช ครูบาบุญชุ่มมุ่งเน้นเรียนกรรมฐานจากครูบาอาจารย์หลายองค์ ได้จาริกไปหลายท้องที่ทั้งภาคเหนือของไทย พม่า เนปาล อินเดีย ภูฏาน ฯลฯ เมื่อพบเห็นวัดใดทรุดโทรมก็เป็นผู้นำในการบูรณะ และได้สร้างพระธาตุเจดีย์ วิหาร พระพุทธรูป ไว้หลายแห่งในภาคเหนือ รัฐชาน สิบสองปันนา และประเทศลาว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เชิญเครื่องสังฆทาน ผ้าไตร และเครื่องไทยธรรมพระราชทานแด่พระสงฆ์ สำนักศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา

 

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทานไปถวายแด่เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

 

   พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง (5) เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทาน และเครื่องเขียนพระราชทาน ไปถวายแด่ พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ ประธานสำนักศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา ในวันศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 13.30 น ณ สำนักศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

   พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ ประธานสำนักศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา เป็นประธานในพิธีสงฆ์ โดยมี พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง (5) เป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส

 

   นายบุญธรรมทองพิจิตร นายอำเภอเมืองเชียงราย พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีฯ อย่างพร้อมเพรียง

 

   ในโอกาสมงคลนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสานุพงศ์ สันทราย นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธี อำนวยความสะดวกแด่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ทั้งนี้ การดำเนินงานพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ

 

     ประวัติ พระทวีวัฒน์ จารุวณฺโณ (จารุวณฺโณ ภิกขุ) หรือเรียกกันในกลุ่มลูกศิษย์ว่า พระอาตารย์ต้น อดีตได้รับการอุปสทบทเมื่ออายุ 24 ปี ณ พระอุโบสถวัดสุมังคลาราม ตำบลสามแยก อำเภอเลิงนกทา จังหวัดยโสธร ได้รับฉายาว่า จารุวณฺโณ ปี 2543 ได้ถวายตัวเป็นลูกศิษย์หลวงปู่คำสุข ญาณสุโข วัดซับคำกอง อำเภอหนองไผ่ จังหวัดเพชรบูรณ์ (หลวงปู่คำสุข เป็นลูกศิษย์หลวงปู่ขาว วัดถ้ำกลองเพล) ระยะเวลาอุปสมบทถึงปีปัจจุบัน 2566 จำนวน 23 พรรษา ในปัจจุบันพระคุณเจ้าเป็นประธานสงฆ์ 4 สำนัก ประกอบด้วย พุทธอุทยานดอยเวียงเกี๋ยงวนา อำเภอเชียงของ สถานศึกษาธรรมดอยธรรมนาวา อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย ที่พักสงฆ์ป่านาโสกฮัง และที่พักสงฆ์ป่านาหนองพี่ อำเภอเสนางคนิคม จังหวัดอำนาจเจริญ ได้รับรางวัล ปี 2564 “คุณสัมปันโน” มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) และมีผลงานการจัดตั้งกลุ่มพุทธยุวชนและกลุ่มพุทธรัตตัญญชน นอกจากนี้ยังมีผลงานการเขียนหนังสือราชการ ได้แก่ อริยสัจภาวนา, ธรรมนาวา, ชีวิต จิต มนุษย์ ภาวนา, รู้อัตตาเพื่อละอัตตา, อริยสัจ 4 ในชีวิตจริง, เข้าใจอริยสัจ 4 เพื่อความหลุดพ้น, การพิจารณากายเพื่อความรู้แจ้ง,        ปฏิจจสมุปบาท, ทาน ศีล ภาวนา, อุปาทานในอุปาทานขันธ์, แก้ที่จิต, เอ่ยถ้อย วลีธรรม, อยู่อย่างไม่ประมาท, สร้างปัญญาเพื่อดับทุกข์ และความสำคัญของวิสาขปูรณมี เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ในหลวง โปรดเกล้าฯ ให้ผู้แทนพระองค์เชิญเครื่องสังฆทาน ผ้าไตร และเครื่องไทยธรรมพระราชทานแด่พระสงฆ์ เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทานไปถวายแด่เจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พล.อ.ต.สุพิชัย สุนทรบุระ รองเลขาธิการพระราชวัง (5) เชิญผ้าไตรพร้อมเครื่องสังฆทานพระราชทาน และเครื่องเขียนพระราชทาน ไปถวายแด่ พระไพศาลประชาทร วิ. (พบโชค ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง ในวันศุกร์ ที่ 29 กันยายน 2566 เวลา 14.30 น. ณ วัดห้วยปลากั้ง ตำบลแม่ยาว อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

พระไพศาลประชาทร วิ. (พบโชค ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง เป็นประธานในพิธีสงฆ์ และเมตตากล่าวสัมโมทนียกถานายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายบุญธรรม ทองพิจิตร นายอำเภอเมืองเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ และพุทธศาสนิกชน เข้าร่วมพิธีฯ อย่างพร้อมเพรียง

 

ในโอกาสมงคลนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายพิพัฒน์ สุ่มมาตย์ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายยุทธนา สุทธิสม นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายนิติกร ปันแก้ว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ นายสานุพงศ์ สันทราย นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และ นายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธี อำนวยความสะดวกแด่คณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชน ทั้งนี้ การดำเนินงานพิธีฯ เป็นไปด้วยความเรียบร้อยและบรรลุผลสำเร็จทุกประการ

 

 

ประวัติ พระไพศาลประชาทร วิ. มีนามเดิมว่า พบโชค มาไพศาลกิจ เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2502 บ้านตลาดสำรอง ตำบลพังตรุ อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี พระคุณท่านได้สมณศักดิ์ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2562 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญยก ฝ่ายวิปัสสนาธุระ สำหรับการจัดตั้งวัดได้เริ่มก่อตั้งสำนักสงฆ์ห้วยปลากั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2544 และจนกระทั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2548 พระคุณท่านได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมและเริ่มมีการก่อตั้งศาสนวัตถุ เริ่มแต่กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอฉัน เจดีย์และเมื่อ วันที่ 24 กรกฎาคม 2552 ทางสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ได้มีประกาศแต่งตั้งให้เป็นวัดโดยชื่อว่า วัดห้วยปลากั้ง ปัจจุบันวัดห้วยปลากั้งเป็นวัดที่มีศรัทธา จากต่างจังหวัด ต่างประเทศ เข้ามากราบไหว้นมัสการ และปฏิบัติธรรมเป็นจำนวนมาก ถือเป็นจุดกำเนิดพุทธศาสนาในเชียงรายแห่งหนึ่งที่สำคัญ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดเชียงราย และพระคุณท่านได้จัดสร้างโรงพยาบาลห้วยปลากั้ง ขึ้นเพื่อเป็นโรงพยาบาลเพื่อประชาชน และนอกจากนี้ยังบำเพ็ญประโชยน์ต่อชุมชนด้านสังคมสงเคราะห์อีกด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

ชุดการแสดง “ดนตรีเทพเจ้า”

จุดเริ่มต้นของ “พิณ เปี๊ยะ” เครื่องดนตรีพื้นเมืองล้านนา อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้ยินเสียง  “พิณ เปี๊ยะ”  ที่โรงละครโอเปรา ประเทศเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ.2513 เป็นครั้งแรกของการได้ยิน ได้ฟังดนตรีชิ้นนี้ เป็นความประทับใจ หลังจากได้กลับมาที่ประเทศไทยอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ได้ตามหาคนที่เล่น “พิณ เปี๊ยะ” ในครั้งนั้น แต่ทราบมาว่าท่านนั้นได้เสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาได้พยายามค้นหาจึงพบว่ามีอีกท่านที่เล่นได้ดีมากๆ คือ พ่ออุ๊ย เปียโนจัง หรือ อุ๊ยคำแปง เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2444 ซึ่งอาศัยอยู่ที่เวียงเชียงราย และเลิกเล่น “พิณ เปี๊ยะ” กว่า 70 ปีแล้ว โดยหัว “พิณ เปี๊ยะ” ก็เอาไปเก็บไว้ใต้เตียง ส่วนตัวของ “พิณ เปี๊ยะ” ตัวลูกเองก็เอาไปทำเป็นด้ามมีด

               อาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ยื่นข้อเสนอจะตอบแทนค่าเสียเวลาให้ พร้อมจะดูแล อุ๊ยคำแปง ถ้ากลับมาเล่น “พิณ เปี๊ยะ”

ให้เสียงกลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากพ่ออุ๊ย เปียโนจัง หรือ อุ๊ยคำแปง กลับมาสืบสาน กระทรวงวัฒนธรรมได้ให้ความสำคัญยกย่องพ่ออุ๊ย เปียโนจัง เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้าน “พิณ เปี๊ยะ”  

               ไม่แปลกที่เราจะเห็นเครื่องดนตรี “พิณ เปี๊ยะ”  ในพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ถือเป็นของรักของหวงของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ถือเป็นงานศิลปะที่ทรงคุณค่า โดยหัว “พิณ เปี๊ยะ”  นิยมทำมาจาก งาช้าง เขาสัตว์ หรือโลหะเป็นรูปหัวสัตว์ พิณเปี๊ยะมีคันทวนยาวประมาณ 1 เมตรเศษ ตอนปลายคันทวนทำด้วยเหล็กทองเหลืองเรียกว่าหัวพิณเปี๊ยะ สำหรับใช้เป็นที่พาดสาย ใช้สายทองเหลืองเป็นพื้น สายทองเหลืองนี้จะพาดผ่านสลักตรงกะลาแล้วต่อไปผูกกับสลักตรงด้านซ้าย สายของพิณเปี๊ยะมีทั้ง 2 สายและ 4 สาย กะโหลกของพิณเปี๊ยะทำด้วยเปลือกน้ำเต้าตัดครึ่งหรือกะลามะพร้าว ก็ได้เวลาดีด

ซึ่งชุดการแสดงนี้ทาง ผศ.ดร.ณัฐวุฒิ ดอนลาว ผู้มากความสามารถด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นเมืองเหนือ ทั้งดนตรีพื้นเมือง ลีลาชั้นเชิง “เจิง” และอักขระภาษาล้านนา ได้นำเสนอผลงานบรรเลงพิณเปี๊ยะ พร้อมประกอบด้วยการแสดงจากศิลปินกลุ่มเดอะไทยส์ และได้รับเกียรติจากพิชญ์ บุษเนียร ศิลปินการแสดง จ.เชียงราย ควบคุมการแสดง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

ชุดการแสดง “ป้าดก๊อง ฟ้อน ฮ่ำ วันทาครู”

 

ชุดการแสดง “ป้าดก๊อง ฟ้อน ฮ่ำ วันทาครู” แสดงในงานวันถวัลย์ไม่ใช่เพื่อถวัลย์ แต่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงสะเทือนเฟือนไหวให้วงการศิลปะ ในวันที่ 27 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น “วันถวัลย์ ดัชนี” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นศูนย์รวมของผู้ที่รักในศิลปะและอาจารย์ถวัลย์ ได้มาร่วมกันประกอบกิจกรรม เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ และ สืบสานปณิธาน และอุดมการณ์ของท่านสืบต่อไป 

อ่านต่อ : https://nakornchiangrainews.com/thawan-duchanee-27-sept-baan-dam-museum/

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์บ้านดำ 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE VIDEO

วันถวัลย์ไม่ใช่เพื่อถวัลย์ 27 ก.ย. พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

 

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน พิพิธภัณฑ์บ้านดำ ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นวันคล้ายวันเกิดของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินผู้ได้สมญานาม “จักรพรรดิบนผืนผ้าใบ“ ศิลปินคนสำคัญด้านจิตรกรรมร่วมสมัยของไทย  ผู้มุ่งมั่นสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีจิตวิญญาณตะวันออก แต่ถ่ายทอดในแบบตะวันตก จนเป็นที่ยอมรับ และยกย่องในระดับสากล  การดำเนินงานโครงการศิลปินรำลึก เนื่องในวันถวัลย์ ดัชนี ประจำปีเพื่อเป็นการส่งเสริมยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ ท่านอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี

ได้จัดงานวันถวัลย์ไม่ใช่เพื่อถวัลย์ แต่จัดขึ้นเพื่อสร้างแรงสะเทือนเฟือนไหวให้วงการศิลปะไทยให้เกิดเป็นแรงกระฉอกระรอกกระเพื่อมให้เรือใบไม้ที่เอาไว้พริ้วคลื่นในโมงยามของอาจารย์ถวัลย์ที่ได้สร้างทิ้งไว้ให้โลกใบนี้ได้ถึงฝั่งฝัน เป็นพาหนะนำทางจิตวิญญาณจากรุ่นสู่รุ่นไปยังประตูวิหารแห่งศิลปะ

ซึ่งภายในงานมีการมอบรางวัล Thawan  Duchanee Arts and Culture Prize รางวัลที่จัดสร้างขึ้น เพื่อสนับสนุน ส่งเสริม และให้กำลังใจแก่ศิลปิน ตลอดจนบุคลากรทางด้านศิลปวัฒนธรรม ผู้มีส่วนขับเคลื่อน และสร้างคุณูปการต่อแผ่นดิน เป็นรางวัลที่นำเอาลวดลายผลงานของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี “กนกเปลวนาคราช” มาใช้ในการออกแบบ และถูกรังสรรค์ขึ้นจากช่างยอดฝีมือของพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ผู้ได้รับการคัดเลือกจากอาจารย์ถวัลย์ ผู้ฝึกฝนเคี่ยวกรำนานกว่า 30 ปี จนเป็นยอดสล่าแห่งบ้านดำ เป็นผู้จำหลักลายบนบานประตูมหาวิหาร แกะสลักรางวัลอย่างวิจิตรบรรจงลงบนไม้สักทองเพียงท่อนเดียว ใช้เวลาสร้างนับปี เพื่อให้เหมาะสมควรค่าแก่ผู้รับรางวัลอันทรงเกียรติทุกท่าน

ในพิธีมอบรางวัล Thawan Arts and Culture Prize โดยท่านเสริมศักดิ์  พงษ์พาณิช รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม มอบหมาย  ดร.ยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร  ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลฯ พร้อมด้วย นายโกวิท ผกามาศ  อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม นายประสพ เรียงเงิน ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม แม่ครูบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ ศิลปินแห่งชาติ นางสลักจฤฎดิ์  ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นางสาวมนุพร เหลืองอร่าม นายอังกฤษ อัจฉริยะโสภณ ภัณฑรักษ์ พร้อมข้าราชการในสังกัดและคณะกรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม ประกอบด้วย  นางสาวปรานิสา เตียวพิพิธพร ผู้เชี่ยวชาญด้านเครือข่ายและชุมชน  นายอนุกูล ใบไกล ผู้อำนวยการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม  นางพรนิภา บัวพิมพ์ ผู้อำนวยการกลุ่มสวัสดิการฯ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นางสาวธิคำพร อดทน ผู้อำนวยการกลุ่มยกย่องเชิดชูเกียรติฯ กองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม นางสลักจิตร ศรีชัย ผู้อำนวยการกลุ่มสืบสานวัฒนธรรม นางมณฑิรา สวัสดิรักษา หัวหน้ากลุ่มคลังข้อมูลกองทุนฯ  นางสาวกิ่งทอง มหาพรไพศาล นายช่างภาพชำนาญงาน นางลักขณา คุณาวิชยานนท์ กรรมการกองทุนส่งเสริมงานวัฒนธรรม  เข้าร่วมพิธีดังกล่าว

โดยครั้งนี้ ดร.ดอยธิเบศร์ ดัชนี ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บ้านดำ ได้แจ้งให้ผู้รับรางวัล Thawan Duchanee Arts and Culture Prize สาขา Culture Prize ครบรอบปีที่ 9  ทั้งหมด 5 รางวัลได้แก่

  1. พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์ พบโชค ติสฺสวํโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง จังหวัด เชียงราย
  2. พระครูโสภณศิลปาคม เจ้าอาวาสวัดมิ่งเมือง เจ้าคณะตำบลเวียง เขต ๑ จังหวัด เชียงราย
  3. ท่านโกวิท ผกามาศ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม
  4. คุณบุญชัย คิวสุวรรณ ผู้ก่อตั้งร้านไม้มุงเงิน ผู้ส่งเสริมภูมิปัญญาสล่าแกะไม้แห่งล้านนา
  5. สล่าคำจันทร์ ยาโน สล่าเก๊าผู้สลักเสลาชีวิตลงบนน้ำบวย ผู้สืบสานตำนาน พ่ออุ๊ยแสง ลือสุวรรณ แห่งบ้านถ้ำผาตอง

ในการมอบรางวัล ครบรอบปีที่ 9 ในครั้งนี้ ทางพิพิธภัณฑ์บ้านดำ และคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาร่วมกัน และมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ทุกท่านที่ได้รับรางวัลมิใช่เป็นเพียงทรัพยากรบุคอันทรงคุณค่าที่สร้างคุณูปการต่อส่วนรวมจนเป็นที่ยอมรับเท่านั้น แต่ทุกท่านคือผู้เสียสละ ทุ่มเททำงานอย่างหนัก เพื่อวงการศิลปวัฒนธรรม จนประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ท่านยังเป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นผู้ชี้แนะแนวทางต่างๆ พร้อมช่วยเหลือสนับสนุนวงการศิลปวัฒนธรรม ให้เดินหน้าต่อไปอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

แม้ในวันนี้ ร่างกายท่านอาจจะไม่คงอยู่แล้ว แต่จิตวิญญาณและลมหายใจของท่านจะยังคงอยู่ในผลงานศิลปะของท่านตลอดไป และเป็นที่เห็นพ้องต้องกันว่าในวันที่  27 กันยายน ของทุกปี ถือเป็น “วันถวัลย์ ดัชนี” เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นและเป็นศูนย์รวมของผู้ที่รักในศิลปะและอาจารย์ถวัลย์ ได้มาร่วมกันประกอบกิจกรรม เพื่อส่งเสริม สร้างสรรค์ และ สืบสานปณิธาน และอุดมการณ์ของท่านสืบต่อไป

          และนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมาย นางพัชรนันท์ แก้วจินดา ผอ.กลุ่มส่งเสริมศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม นางพรทิวา ขันธะมาลา ผอ.กลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม นางสาวกฤษยา จันแดง ผอ.กลุ่มกิจการพิเศษ พร้อมด้วยข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย สนับสนุนและร่วมพิธีทางศาสนา ทำบุญตักบาตรและพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทาน กิจกรรมแสดงทางศิลปวัฒนธรรม นิทรรศการศิลปกรรม และการออกร้านตลาดนัดศิลปะ “กาดหมั้วคัวศิลป์”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : พิพิธภัณฑ์บ้านดำ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

งานข่วงวัฒนธรรม ครั้งที่ 10 “ชุมชนสามประสาน” วัดหนองข่วง

 
พระครูวิบูลนวการ (บุญเลิศ จนฺทสีโล) เจ้าคณะตำบลศรีดอนไชย เจ้าอาวาสวัดดอนแท่น เป็นประธานในพิธีฝ่ายสงฆ์เปิดงานข่วงวัฒนธรรมชุมชนสามประสานวัดหนองข่วง “ของกิ๋นบ้านเฮา” ประจำปี 2566 โดยมี ดร.เทอดชาติ ชัยพงษ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏรเชียงราย เขต 5 เป็นประธานในพิธีฝ่ายฆราวาส นายธนาวุฒิ กาไชย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลอย เป็นผู้กล่าวรายงาน และ พระครูวรธรรมพิทักษ์ (วีรชน ปญฺญาวโร) เจ้าคณะตำบลป่าแดด เจ้าอาวาสวัดท่าน้ำ ประธานคณะกรรมการดำเนินงานศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์จังหวัดเชียงรายให้ความเมตตากล่าวต้อนรับและกล่าวสัมโมทนียกฐา 
 
ในวันอาทิตย์ที่ 24กันยายน 2566 ณ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดหนองข่วง ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำสถานศึกษาในพื้นที่ ผู้นำท้องที่ ผู้นำชุมชน เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมอย่างพร้อมเพรียงกัน

จัดโดย ชุมชนคุณธรรมวัดหนองข่วง ร่วมกับ ศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดหนองข่วง และองค์การบริหารส่วนตำบลแม่ลอย จัดงานข่วงวัฒนธรรม “ชุมชนสามประสาน” วัดหนองข่วง ครั้งที่ 10 “ของกิ๋นบ้านเฮา” ประจำปี 2566 ในระหว่างวันที่ 23-24 กันยายน 2566 ณ ศาลาการเปรียญวัดหนองข่วง (ศพอ.วัดหนองข่วง) ตำบลแม่ลอย อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม สืบสานวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น และการดำเนินชีวิตตามวิถีแห่งความพอเพียง รวมทั้งจัดแสดงนิทรรศการข่วงวัฒนธรรม การสาธิตภูมิปัญญาพื้นบ้าน การแสดงทางวัฒนธรรม และการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้
 
1. การอบรมคุณธรรมค่ายพุทธบุตรให้แก่เด็กและเยาวชนของ ศพอ.วัดหนองข่วง โดยทีมพระธรรมวิทยากรกลุ่มธรรมะทูเดย์ บัณฑิตอาสาวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
2. การแสดงศิลปวัฒนธรรม และฉายหนังกลางแปลงย้อนยุค
3. การแสดงนิทรรศการข่วงวัฒนธรรม
โซน 1 พิธีกรรม (กิ๋นอ้อผญ๋า ผีมะกวัก เฮียกขวัญผีย่าหม้อนึ่ง สู่ขวัญข้าว สู่ขวัญควาย)
โซน 2 ของกิ๋นบ้านเฮา ขนม-อาหารพื้นเมือง
โซน 3 ของหม่าเก่า เฮือนไทย ดนตรีพื้นเมือง การตี๋กล๋องปู่จา นิทรรศการสินค้าชุมชน (เครื่องจักสาน เครื่องถักทอ สินค้าทางการเกษตร)
4. พิธีบายศรีสู่ขวัญและผูกข้อมือ
 

ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายเอกณัฏฐ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ (ผู้ประสานงานอำเภอเทิง) และ นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ข้าราชการสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมกิจกรรมฯ ดังกล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

งดงาม “เชียงราย เลอค่า” สืบสาน พัฒนา ต่อยอด มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

 
วันเสาร์ที่ 23 กันยายน 2566 เวลา 18.00 น. ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย “เชียงราย เลอค่า” โดยได้รับเกียรติจาก นางสาววราพรรณ ชัยชนะศิริ รองอธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดงาน นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงาน ผศ.ดร.สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวต้อนรับ
 
ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ผศ.ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเชียงราย นางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย นางสาวภาณี จันทร์ตัน พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย นายสุวิทย์ ใจป้อม นายกสมาคมขัวศิลปะเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ภาคเอกชน สภาวัฒนธรรม 18 อำเภอ ผู้ประกอบการอาหารและผ้า และประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงรายกว่า 500 คน ร่วมงานดังกลาว
 
 
โดยมีการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย
1. บูธจัดแสดงและสาธิตมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และ 1 อำเภอ 1 เมนูเชิดชูอาหารถิ่น โดยเครือข่ายสภาวัฒนธรรมอำเภอ 18 อำเภอ บูธเครือข่ายวัฒนธรรมระดับจังหวัด บูธนิทรรศการเชิดชูผลงานคนดีศรีเชียงราย ประจำปี พ.ศ. 2566
 
2. เวทีเสวนา หัวข้อ “อาหารอัตลักษณ์เชียงราย เลอค่าสู่การสร้างสรรค์เศรษฐกิจ” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายวรพงศ์ ผูกภู่ ผู้ทรงคุณวุฒิจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม รศ.มาลี หมวกกุล ประธานสาขาวิชาคหกรรมศาสตร์ประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นางสาวยุวินิตย์ ทิศสกุล ผู้จัดการร้านสบันงาขันโตก เชียงราย และดำเนินรายการโดย ผศ.ดร.รณิดา ปิงเมือง ที่ปรึกษาอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
 
3. พิธีเปิดงาน “เชียงราย เลอค่า”
 
4. พิธีมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติ “คนดีศรีเชียงราย” ประจำปี 2566 โดยได้รับเกียรติจาก นางภัทราวดี สุทธิธนกูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นผู้มอบโล่ให้แก่คนดีศรีเชียงราย จำนวน 6 ท่าน 6 สาขามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ดังนี้
(1) สาขาวรรณกรรมพื้นบ้านและภาษา ได้แก่ นายถาวร อุ่นเจริญ
(2) สาขาศิลปะการแสดง ได้แก่ นางบัวลอย โชติสิริพัชญ์
(3) สาขาแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรม ประเพณี และเทศกาล ได้แก่ นายภัทรพงศ์ วงศ์เชียงปล้อง
(4) สาขาความรู้และการปฏิบัติเกี่ยวกับธรรมชาติและจักรวาล ได้แก่ นายธวัช เลียลา
(5) สาขาการเล่นพื้นบ้าน กีฬาพื้นบ้าน และศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว ได้แก่ นายณัฐวุฒิ ดอนลาว
(6) สาขางานช่างฝีมือดั้งเดิม ได้แก่ นายรัตน์ เผ่าปินตา
 
5. การเดินแบบ “อัตลักษณ์อาภรณ์นครเชียงราย” โดยเครือข่ายทางวัฒนธรรม
 
6. การยกระดับอาหารอัตลักษณ์นครเชียงราย “Local สู่เลอค่า” ในรูปแบบ Fine dining และ
 
7. การแสดงทางวัฒนธรรมในรูปแบบต่างๆ ตลอดการจัดกิจกรรม
 
จังหวัดเชียงราย มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ มีวัฒนธรรมและมีองค์ความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีการสั่งสมมาและสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน และยังคงปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน โดยเฉพาะภูมิปัญญาด้านอาหารและอาภรณ์ที่มีอัตลักษณ์และโดดเด่นเป็นเสน่ห์ทางวัฒนธรรมที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นทุนทางวัฒนธรรมที่สำคัญของจังหวัด นำไปสู่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และสังคมได้ต่อไป
 
 
สภาวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย และเครือข่ายวัฒนธรรมในพื้นที่ระดับตำบล อำเภอ และจังหวัด จัดงาน “เชียงราย เลอค่า” ขึ้น ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยมีเป้าหมายที่จะเป็นพื้นที่ในการนำเสนออัตลักษณ์อาหารถิ่นของชาวเชียงราย ๑๘ อำเภอ และอาภรณ์อันงดงามวิจิตรด้วยกลิ่นอายความหลากหลายชาติพันธุ์ของชาวเชียงราย จาก Local สู่เลอค่า ให้ได้ปรากฏสู่สายตาของชาวเชียงราย และชาวไทยผ่านการจัดกิจกรรมในงานฯ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดออนไลน์ผ่านช่องทาง Face Book อีกช่องทางหนึ่ง https://fb.watch/nehW20xwQU/?mibextid=5MEvZV
 
 
วัตถุประสงค์ในการจัดการงาน เพื่อส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา ต่อยอด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคสถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมในจังหวัดเชียงราย 
 
ให้เป็นไปตามนโยบายของกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ในด้านการสนับสนุนและพัฒนาการดำเนินงานของเครือข่ายทางวัฒนธรรมในประเทศและต่างประเทศ ตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 และกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยดำเนินจัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ สืบสาน พัฒนา ต่อยอด และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณค่าทางสังคม ผ่านวัฒนธรรมเชิงสัญลักษณ์ 5F (Food/ Fashion/ Fighting/ Film/Festival) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสร้างสรรค์สินค้าและบริการ (Creative Culture) เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการทางวัฒนธรรม และทำให้เกิดความยั่งยืน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนและท้องถิ่นต่อไป
 
ในการนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสาวกฤษยา จันแดง ผู้อำนวยการกลุ่มกิจการพิเศษ นักวิชาการวัฒธรรมผู้ประสานงานอำเภอ บุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมจังหวัด คณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอ และบุคลากรของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมปฏิบัติงาน500
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ขับเคลื่อน 10 สุดยอดเที่ยวชุมชน ยลวิถี ปี 3 วัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน

 

วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 กระทรวงวัฒนธรรม คัดเลือกชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี 2566 เพื่อประกาศยกย่อง เชิดชูเกียรติ สร้างขวัญกำลังใจแก่ชุมชนและผู้ให้การสนับสนุนการขับเคลื่อน พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอดและขยายผลความสำเร็จไปยังชุมชนที่ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปปฏิบัติใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้อยู่ดีมีสุข ดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมที่ดีงาม ปลุกกระแสการท่องเที่ยววิถีชุมชน สร้างโอกาส สร้างรายได้ เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืน

 
ในวันนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้นางสาวกฤษยา จันแดง นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ พร้อมด้วยนางกัลยา แก้วประสงค์ และนางสุพรรณี เตชะตน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ลงพื้นที่ปรึกษาหารือแนวทางการพัฒนาต่อยอด สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

กฤษยา จันแดง, กัลยา แก้วประสงค์ : รายงาน

สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย : ภาพ

อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News