Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

หอการค้าฯ ชี้น้ำท่วม เสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท “เชียงราย” หนักสุด

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย พะเยา สุโขทัย หนองคาย นครพนม พิจิตร สกลนคร พิษณุโลก และอุดรธานี เป็นต้น จากมวลน้ำที่ไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลางประกอบกับแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มต่อเนื่องอีกระลอก ทำให้หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม

โดยเฉพาะปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนต.ค.ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไปอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ GDP (ข้อมูล ณ 28 ก.ย. 67) ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ดี สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท สุโขทัย 3,042 ล้านบาท

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท

ดังนั้น หอการค้าฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) รวมถึงข้อเสนอเชิงสนับสนุน เช่น ศึกษา ปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม

การจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภค บริโภค และการใช้เชิงพาณิชย์ อย่างยั่งยืน

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายสมาคมการค้า กล่าวว่า  ได้ระดมความช่วยเหลือ ทั้งเงินสนับสนุน สิ่งของอุปโภค-บริโภค ยา-เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวมกว่า 5.7 ล้านบาท เพื่อนำความช่วยเหลือไปยังจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
EDITORIAL

ข้อคิดคำนึงเรื่องแจกเงิน 10,000 บาท โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย

 

ข้อคิดคำนึงเรื่องแจกเงิน 10,000 บาท ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567” กำลังเริ่มจ่ายโอนเงิน 10,000 บาท เพื่อเข้าบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. จำนวน 14.4 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.44 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลไม่มีข้อจำกัดด้านการใช้จ่าย

ในด้านอุปสงค์ของระบบเศรษฐกิจ ผู้รับเงิน คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เคยมีข่าวกรณีที่ สตง. ลองสุ่มตรวจผู้เสียชีวิตจำนวน 100 กว่าคน แล้วพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังใช้สิทธิ์บัตรประชารัฐประมาณ 22 คน เมื่อช่วงปี 2564 (‘ก้าวไกล’ พบพิรุธ ‘กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ’ หากินกับคนตาย บนความทุกข์คนเป็น  ‘วรรณวิภา’  เผย ผลสุ่มตรวจ สตง. เจอชื่อคนตายยังได้รับเงินเกือบ 1 ใน 5 https://voicetv.co.th/read/X756rNYip)

ในด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า ปีล่าสุด 2566 บริษัทค้าปลีก CPALL มีรายได้ 9.2 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท, เซ็นทรัลรีเทล (CRC) มีรายได้ 2.5 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 8 พันล้านบาท, และ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มีรายได้ 1.7 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 4.7 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้ธุรกิจค้าปลีกของ 3 ตระกูล คือ 1.3 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลประมาณการ GDP ปี 2566 (สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์) โดยสภาพัฒน์ อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน ร้าน 7-Eleven มีสาขาทั่วประเทศ 14,545 แห่ง มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน ประมาณ 8 หมื่นบาท มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ยเกือบ 1 พันคน ซึ่ง CPALL มีกำไรธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% ในปี 2566 ซึ่งเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่หลังโควิด อีกทั้งคิดเป็นกำไรมากกว่า  80% ของ CPALL มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจร้าน 7-Eleven มีมูลค่า 3.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

คำถามพื้นฐาน คือ เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะได้ผลจริงจังมีเงินจะหมุนเวียนตามทฤษฎี `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) มากน้อยเพียงใด? แต่อย่างน้อยก็จะพอช่วยต่อชีวิตคนจนจริงที่ได้รับสิทธิ์ไปได้บ้าง และ อาจจะพอทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีกำลังซื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นตามกำลัง

ทั้งนี้ ในฐานะคนไทยผู้รักชาติ ผู้เขียนก็ยังคงหวังที่จะเห็นรัฐบาลสร้างความหวังให้มีอนาคตสำหรับประชาชนได้เหมือนนโยบายสมัยก่อนที่มีกองทุนหมู่บ้าน การจัดตั้งธนาคารประชาชน เป็นยุคที่ OTOP SMEs รุ่งเรือง และ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทำให้ธุรกิจคึกคัก เพียงแต่ในสมัยยุคปัญญาประดิษฐ์ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ จะทำอย่างไรให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ทันก่อนแก่ หากสามารถนำแนวทางที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 26 ก.พ. 2544 คือ จะต้องมี “การลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนและให้กับรัฐในที่สุด” เพื่อมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ก็น่าจะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง และ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

อ่านเพิ่มเติม เศรษฐศาสตร์เรื่องการแจกเงินดิจิทัล… https://www.isranews.org/article/isranews-article/126307-digital-5.html

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

‘วงปล่อยแก่’ สู้ศึกมหกรรมขับร้อง ประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันขณะนี้มีมากกว่า 13.64 ล้านคน และในอีก 16 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย และสุดท้ายคือไม่มีคนสนใจเหลียวแล หากมีอายุยืนจากการดูแลสุขภาพดีกินดีมีโรงพยาบาลดีหมอดีการดูแลรักษาร่างกายดี คนแก่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปี จึงเกิดคำถามที่ว่าคนแก่ 20 ล้านคนนี้จะไปทำอะไร หรือจะกลายเป็นทรัพยากรที่ศูนย์เปล่าของสังคมไทย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ เปิดเผยว่า ด้วยเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงร่วมกันผลักดันกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนทุนในโครงการดนตรีพลังบวกปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียง และเริ่มต้นจากวงปล่อยแก่บ้านคา จ.ราชบุรี ภายในหลังมีการขยายโครงการโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการวิจัยโครงการ “วงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง” ซึ่งเน้นการทำงานวิจัย การประเมินเรื่องความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุและการทำ Soft power กิจกรรมนอกห้องเรียนและการรวมตัวกันทำนวัตกรรมเกี่ยวกับเพลง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียนดนตรีในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกห้องเรียน และมีเวทีแสดงผลงานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงการปล่อยแก่ได้ขยับขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2567 มีทั้งหมดถึง 13 วง 12 จังหวัด จากวงปล่อยแก่บ้านคา เกาะลอย เดินหน้าไปที่ จ.ยะลา จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.อุดรธานี จ.บุรีรัมย์ จ.นครสวรรค์ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครราชสีมา รวมถึงตัวแทนวงปล่อยแก่กรุงเทพมหานคร จากชมรมสายใจ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 25 คน นับเป็นต้นแบบของการทำวงปล่อยแก่ในรูปแบบองค์กร และเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะเกษียณอายุและนำผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วกลับเข้าสู่องค์กรในบทบาทใหม่อีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าวงปล่อยแก่จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพราะแต่ละหน่วยงงานเป็นฟันเฟืองที่จะทำให้การขับเคลื่อนโครงการประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากการทำงานกับวงปล่อยแก่ทั้ง 13 จังหวัด ต้องใช้ทุนสนับสนุนเยอะ รวมกับการใช้องค์ความรู้ด้านดนตรี  เนื่องจากเป็นองค์ประกอบทุกส่วนคือส่วนสำคัญที่จำเป็น อาทิเช่น การที่คุณครูไปสอนในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์ การเดินทาง อาหาร การติดตามผล การกระตุ้นให้กิจกรรมดำเนินไปถึงเป้าหมาย ฯลฯ เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล และเมื่อการดำเนินโครงการมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่าในสังคม เมื่อได้มาเข้าร่วมในวงปล่อยแก่ กลับพบว่า “วงปล่อยแก่” 

มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีพลังในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมไทยอย่างมาก สามารถขึ้นขับร้องเพลงประสานเสียงบนเวทีต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และมีแนวโน้มที่วงปล่อยแก่จะขยายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภารกิจเหล่านี้ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มผู้ดูแล กรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลเทศบาล อบจ. อบต. จริง ๆ เป็นหน้าที่ของพวกเขาโดยตรง แต่เราในนามของมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย เราเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาทำตรงนี้และทำสำเร็จด้วยพลังของพวกเราเอง

ในส่วนการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเป็นผู้สนับสนุนการส่ง “วงปล่อยแก่” เข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในครั้งนี้ด้วย โดยเป้าหมายของสมาชิกในวงคือการที่จะได้ขึ้นไปยืนบนเวทีของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและหากคว้ารางวัลมาได้ก็จะเป็นสิ่งที่จะจดจำไปตลอดชีวิตของพวกเขาครับ

ด้าน นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ในเชิงบวกกับสังคม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 ปี คือ โครงการดนตรีพลังบวก ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ด้วยการสร้างวงดนตรีประสานเสียงสำหรับผู้สูงวัย ชื่อ “วงปล่อยแก่” เพื่อที่จะนำเสียงเพลงและดนตรีมาใช้เป็นสื่อในการสร้างความสุขทั้งกายและใจ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ อันส่งผลต่อการสร้างกำลังใจในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัวและในชุมชน นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนสังคมและชุมชนโดยรวม การที่ผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนจากวงประสานเสียง “วงปล่อยแก่” จากทั่วประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยมีคุณภาพ มีความสามารถ มีสุขภาวะที่ดี มีพลังที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพ และยังมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย มุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก อันจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุเพื่อลดการพึ่งพิงให้สามารถดำรงชีวิตได้ โดยมีสุขภาพกายและใจที่ดี

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาวะประชากรสูงอายุ (Aging Population) โครงการ “วงปล่อยแก่” นับเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ในอนาคต วช. มีแผนที่จะขยายผลโครงการ “วงปล่อยแก่” ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุในชนบท ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยจากโครงการนี้จะถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป และอาจต่อยอดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข รวมถึงหน่วยงานพื้นที่ที่ดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ต่อไป 

อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การร้องเพลงประสานเสียงในโครงการ “วงปล่อยแก่” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุตามแนวคิดของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active Aging) ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุทุกท่านมาร่วมสร้างเสียงเพลงแห่งความสุขไปด้วยกัน หรือผู้ที่สนใจสามารถมารับชมการขับร้องจากกลุ่มโมเดลทั้ง 13 จังหวัด ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุอีกด้วย

ด้าน “พี่จิตร” นางวิจิตร ชมหมู่ จากวงปล่อยแก่เกาะลอย จ.ราชบุรี กล่าวรอยยิ้มว่า พี่เป็นชาวบ้านธรรมดาหน้าตาดำ ๆ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเงินเลี้ยงลูกมาตลอดชีวิต ทำงานตั้งแต่ตี 4 เลิกเที่ยง หลังจากนั้นก็รับจ้างทั่วไป  ชีวิตในทุกวันคือการหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินเลี้ยงลูก จนไม่รู้ว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหน เมื่อลูกเรียนจบ ดูแลตัวเองได้เราก็เริ่มมีเวลาให้ตัวเอง และหลังจากได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ มันเหมือนตอบโจทย์คำว่าความสุขของเรา เราได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูง ได้ร่วมกับขับร้องเพลง ทุกสัปดาห์จะมีคุณครูเข้าแนะนำ มาสอนเทคนิควิธีการร้องที่ถูกต้อง รู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขอย่างแท้จริง มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก และใส่แม่น้ำใสไหลเย็นลงไปอยู่ในหัวใจ ทำให้หัวใจเราเบิกบาน จากคนที่ไม่เคยแต่งหน้าแต่งตัว เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พอ เรามีความสุข ในการร้องเพลงจิตใจเรามันก็สบายขึ้น เราทำแล้วเราได้ความสุข และส่งต่อความสุขตรงนี้มาบอกกับทุกคนค่ะ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ด้านนางวารุณี สกุลรีอานธาราง จากวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า วงปล่อยแก่ของจังหวัดภูเก็ตเราอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นการรวมตัวกันในนามวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับจังหวัด หากมีงานของส่วนราชการ องค์กรเอกชน วงปล่อยแก่ภูเก็ตจะได้ไปขับร้องประสานเสียงได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในงานระดับจังหวัดเสมอ ถือเป็นการยกระดับการร้องเพลงของเราให้มีคุณภาพขึ้นค่ะ สมาชิกทุกคนมีทักษะการร้องเพลงที่ถูกต้อง อ่านโน้ตเป็น รู้จักการควบคุมลมหายใจ การใช้เสียงสูงเสียงต่ำ และที่สำคัญการเข้ามาอยู่ในวงปล่อยแก่ทำให้คนวัย 60 ปีอย่างพวกเรารู้สึกมีความสุข ได้มีเพื่อนมากขึ้น วันนี้ดีใจที่ผ่านการคัดเลือก (Audition)  และได้มาเข้าค่ายนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจการแข่งขันระดับนานาชาติ พวกเราจะทำให้เต็มที่และดีที่สุดค่ะ

ด้าน “พี่หน่า” หรือ นางบรรจง ศรีทองแท้ อดีตข้าราชการ เปิดเผยว่า กว่า ปีที่เกษียณอายุราชการ ในทุกวันที่ใช้ชีวิตตามปกติจะอยู่บ้านทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ค่ำมืดไปวันๆ ไม่ได้มีแพชชั่นอะไร พอทราบว่ามีวงปล่อยแก่และเราสามารถเข้าร่วมได้ ก็ใจฟูเลย ใจจดใจจ่อที่จะมาฝึกซ้อมร้องเพลงกับคุณครู ไม่เคยขาดเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่มาคือความสุข อิ่มใจ รู้สึกชอบมากๆ ได้มาเจอเพื่อนที่ชอบกิจกรรมเหมือนกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน และยังได้รู้เทคนิคการขับร้องที่ถูกต้อง  รู้จักการอ่านโน้ต จริงๆ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะสำหรับคนแก่ ได้ร้องเพลงได้มีความรู้สึกว่าดีใจที่มีโครงการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มันเหมือนเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของคนแก่ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้หัวใจที่กำลังแห้งเหี่ยว กลับมาใจฟูได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ครูผู้ฝึกสอน ผู้ประสานงานทุกจังหวัด และการควบคุมวงโดย “ครูโอม” นายเกื้อกูล เดชมี ผู้ควบคุมวงปล่อยแก่ประเทศไทย Let’s be young ทำให้ได้รับ “เหรียญเงิน” จากการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มาครองได้สำเร็จ ขอบคุณทุกพลังความร่วมมือที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวตอนท้าย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ทอท. ชม สนามบินเชียงรายต้าน 72 ชั่วโมง ทีมเจ้าหน้าที่รับมือวิกฤตน้ำท่วมเชียงราย

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวนครเชียงรายนิวส์ได้สัมภาษณ์ นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย เกี่ยวกับการบริหารจัดการสนามบินในช่วงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ทั่วจังหวัดเชียงรายเมื่อวันที่ 12 กันยายนที่ผ่านมา โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจากฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ รวมถึงพื้นที่รอบสนามบินแม่ฟ้าหลวงที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการคมนาคมทางอากาศของจังหวัดและการเดินทางของนักท่องเที่ยวและประชาชนทั่วไป

นาวาอากาศตรี สมชนก เปิดเผยว่า เมื่อเกิดสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทีมงานของท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงได้ดำเนินการตามแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาฉุกเฉินที่วางไว้ โดยได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อให้แน่ใจว่าสนามบินจะยังคงให้บริการได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ การจัดการน้ำรอบสนามบินได้มีการติดตั้งระบบระบายน้ำทั้งในเขตการบิน ทางวิ่ง และคลองระบายน้ำรอบท่าอากาศยาน เพื่อป้องกันน้ำท่วมที่อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของอากาศยาน

และวันที่ 12 กันยายน ซึ่งเป็นวันที่สถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่สุด ระดับน้ำโดยรอบสนามบินเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทีมงานต้องเร่งประสานงานกับหน่วยงานภายนอกเพื่อจัดหารถบริการขนส่งผู้โดยสารที่ไม่สามารถเดินทางเข้าออกสนามบินได้ รวมถึงจัดทีมช่วยเหลือผู้โดยสารที่ยังคงติดค้างอยู่ในสนามบิน โดยจัดหาอาหาร น้ำดื่ม และพื้นที่พักพิงชั่วคราวให้กับผู้โดยสาร พร้อมกันนี้ยังมีการประสานงานกับสายการบินต่าง ๆ เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์และตารางบินที่ถูกปรับเปลี่ยนได้อย่างทันท่วงที

แม้ระดับน้ำจะท่วมถึงเขตการบินและบริเวณทางวิ่งของสนามบินในบางช่วง แต่ทีมงานสามารถควบคุมและลดความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงการวางแผนรับมือสถานการณ์ล่วงหน้าที่ครอบคลุมทั้งการดูแลบ้านพักเจ้าหน้าที่ที่อยู่ติดกับแม่น้ำกก ซึ่งถือเป็นจุดเสี่ยงสำคัญ ทีมงานทุกคนต้องทำงานติดต่อกัน 72 ชั่วโมงโดยไม่มีการพักเบรกเพื่อควบคุมสถานการณ์ไม่ให้น้ำเข้าท่วมถึงอาคารผู้โดยสาร และสามารถทำให้สนามบินกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างรวดเร็วหลังจากน้ำลด นาวาอากาศตรี สมชนก กล่าว

และนอกจากการจัดการในสนามบินแล้ว ทางท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงยังได้ส่งทีมจิตอาสาออกช่วยเหลือประชาชนในชุมชนรอบสนามบินและพื้นที่ประสบภัยในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ทีมจิตอาสาได้ลงพื้นที่แจกจ่ายถุงยังชีพ อาหาร น้ำดื่ม และอุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงการประสานงานเพื่อขนย้ายผู้ป่วยติดเตียงไปยังที่ปลอดภัย

นาวาอากาศตรี สมชนก กล่าวเพิ่มเติมว่า การรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงได้เรียนรู้ถึงวิธีการจัดการวิกฤตอย่างรอบด้าน แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในระดับความรุนแรงเช่นนี้ แต่ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งเจ้าหน้าที่ท่าอากาศยาน เจ้าหน้าที่บำรุงรักษา และหน่วยงานภายนอก ทำให้สามารถผ่านพ้นวิกฤตมาได้อย่างปลอดภัย เขายังเน้นย้ำว่าทีมงานทุกคนทำงานด้วยความทุ่มเทและเสียสละ เพื่อให้สนามบินกลับมาเปิดให้บริการได้อย่างเร็วที่สุดโดยไม่กระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและอากาศยาน หลังจากสถานการณ์คลี่คลายจะมีการประชุมวางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมการรับมือกับปัญหาน้ำท่วมในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอย โดยจะมีการเสริมระบบระบายน้ำรอบสนามบิน รวมถึงการวางแผนเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในเขตการบิน เพื่อให้สนามบินสามารถเผชิญหน้ากับทุกสถานการณ์ได้อย่างมั่นใจ

ทั้งนี้ นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ยังได้ฝากถึงนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการสนามบินแม่ฟ้าหลวงว่า สนามบินแม่ฟ้าหลวงยังคงพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบและมีความปลอดภัย ด้วยมาตรการป้องกันและแผนเผชิญเหตุที่ได้เตรียมไว้อย่างรอบคอบ และยืนยันว่าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงพร้อมต้อนรับผู้โดยสารทุกคนในช่วงฤดูท่องเที่ยวที่กำลังจะมาถึง โดยจะดูแลทุกท่านด้วยมาตรฐานความปลอดภัยระดับสูงสุดเพื่อให้การเดินทางของทุกคนเป็นไปอย่างราบรื่นและปลอดภัย

 

นาวาอากาศตรี สมชนก กล่าวปิดท้ายว่า “แม้เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ แต่เราพร้อมปรับตัวและเรียนรู้เพื่อให้การบริหารจัดการสนามบินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างความมั่นใจให้กับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวทุกคน ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงจะยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการเดินทางที่ปลอดภัยและพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์ในอนาคตอย่างแน่นอน”

 

โดยพลตำรวจเอก วิสนุ ปราสาททองโอสถ ประธานกรรมการ ทอท.  หรือบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (บหาชน) หมายเลขที่ ทอท. 15942 /2567 ออกหนังสือเมื่อวันที่ 17 กันายน 2567 ขอชมเชย นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงรายและพนักงานในสังกัดทุกท่าน

จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงในพื้นที่จังหวัดเชียงราย รวมถึงเขตท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเซียงราย ในระดับวิกฤติ และปรากฎข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (พชร.) ได้มี การบริหารจัดการแก้ปัญหาสถานการณ์วิกฤติดังกล่าวตามขั้นตอน เพื่อลดระดับและบรรเทาความเสียหายลง และเมื่อสามารถรักษาระดับสถานการณ์ไว้ได้ ยังมีการจัดทีมจิตอาสา ออกให้ความช่วยเหลือประชาชน ที่ประสบอุทกภัยจนสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะ เด็ก คนขรา ผู้ป่วยติดเตียง รวมถึงผู้พิการ ในบริเวณชุมชนรอบท่าอากาศยาน รวมถึงพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมในจังหวัด จนปรากฏภาพ เผยแพร่ทางสื่อมวลชนและสังคมออนไลน์โดยทั่วไป

การดำเนินการดังกล่าว นับว่าเป็นการบริหารสถานการณ์วิกฤติอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังสร้างภาพลักษณ์และความสัมพันธ์อันดีแต่แก่ประชาชน ชุมชน รวมถึงสาธรณชนทั่วไปจนเป็นที่ประจักษ์ อันจะ นำมาซึ่งความร่วมมือจากประชาชน หน่วยงาน องค์กรต่างๆ ในระดับพื้นที่และภูมิภาคเป็นอย่างยิ่งนั้น ในนามคณะผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) ขอแสดงความชื่นชม นาวาอากาศตรี สมชนก เทียมเทียบรัตน์ ผู้อำนวยการทำอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และพนักงานในสังกัดทุกท่าน ที่ได้ร่วมแก้ไขสถานการณ์ และเสียสละตนเองเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อนจนสถานการณ์คลี่คลาย เป็นที่ประทับใจและได้รับการชื่นชมจากสาธารณชนและสังคมทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง พร้อมถือโอกาสนี้ ส่งกำลังใจ และพร้อมสนับสนุนให้ทำนสามารถก้าวผ่านสถานการณ์วิกฤติครั้งนี้ให้ผ่านพันไปด้วยความเรียบร้อย

ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก อีกทั้งเดชะพระบารมี อันแผ่ไพศาลแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ได้โปรด ดลบันดาลคุ้มครองให้ท่านและพนักงาน ลูกจ้างทุกคน ปฏิบัติงานด้วยความปลอดภัย มีพลังกาย พลังใจ พร้อมจะปฏิบัติหน้าที่ให้บังเกิดสัมฤทธิ์ผลในสิ่งสิ่งอันพึงปรารถนาทุกประการ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

น้ำป่าท่วมเวียงป่าเป้า เชียงราย ชาวบ้านอพยพ-โรงเรียนเสียหายหนัก

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 ทางเพจขององค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้เผยแพร่ภาพความเสียหายที่เกิดขึ้นจากอุทกภัยครั้งใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะหมู่บ้านห้วยหินลาดใน หมู่ 7 ตำบลบ้านโป่ง และหมู่บ้านห้วยทรายขาว หมู่ 7 ตำบลบ้านโป่ง ที่ประสบภัยน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรงตั้งแต่วันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา เหตุการณ์นี้ทำให้บ้านเรือนในหลายจุดได้รับความเสียหายหนักจนไม่สามารถอยู่อาศัยได้ ประชาชนหลายครอบครัวต้องอพยพออกจากพื้นที่ไปพักอาศัยในศูนย์อพยพชั่วคราวของ อบต.บ้านโป่ง เพื่อความปลอดภัย

จากรายงานพบว่า บ้านเรือนของประชาชนในหมู่บ้านห้วยทรายขาวได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากน้ำป่าที่ไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้โครงสร้างบ้านเรือนพังทลาย บางหลังถูกกระแสน้ำพัดจนไม่เหลือร่องรอย เจ้าหน้าที่และอาสาสมัครได้เร่งเข้าช่วยเหลืออพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวที่จัดตั้งขึ้น ณ อบต.บ้านโป่ง ซึ่งมีการดูแลและจัดหาน้ำดื่ม อาหาร รวมถึงที่นอนให้ผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน

ไม่เพียงแค่บ้านเรือนของชาวบ้านที่ได้รับความเสียหาย แต่ยังมีโรงเรียนห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นสถานศึกษาแห่งเดียวในชุมชนได้รับความเสียหายอย่างหนัก อาคารเรียนถูกน้ำป่าพัดพังไปเกือบทั้งหมด ทำให้นักเรียนกว่า 30 คนที่ต้องย้ายสถานที่เรียนชั่วคราว และยังต้องรอความช่วยเหลือในการฟื้นฟูโรงเรียน ซึ่งเป็นแหล่งการศึกษาและศูนย์รวมจิตใจของชุมชน การสูญเสียครั้งนี้ไม่เพียงแต่กระทบต่อการเรียนการสอนของเด็ก ๆ แต่ยังสร้างความสูญเสียทางจิตใจให้กับครอบครัวและชุมชนที่มีโรงเรียนเป็นจุดศูนย์กลางของการพัฒนาอีกด้วย

สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอเวียงป่าเป้า ยังส่งผลกระทบในวงกว้าง ครอบคลุมพื้นที่ใน 4 ตำบลหลัก ได้แก่ ตำบลป่างิ้ว ตำบลเวียงกาหลง ตำบลบ้านโป่ง และตำบลเวียง โดยเฉพาะตำบลบ้านโป่งและตำบลเวียงที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด เนื่องจากมีการรับน้ำมาจากแม่น้ำลาว ซึ่งเป็นแม่น้ำสายสำคัญที่ไหลผ่านพื้นที่ ส่งผลให้พื้นที่ลุ่มต่ำในหลายจุดมีน้ำท่วมขัง และบางจุดระดับน้ำยังคงสูง ทำให้การสัญจรในหลายเส้นทางถูกตัดขาด ประชาชนในหลายหมู่บ้านไม่สามารถออกมานอกพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่จึงต้องเร่งเข้าให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

สำหรับการฟื้นฟูพื้นที่หลังจากน้ำลด ทางองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้วางแผนดำเนินการอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มจากการสำรวจความเสียหายในพื้นที่ที่น้ำเริ่มลดลง เพื่อวางแผนซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและสะพานที่ถูกน้ำพัดขาด รวมถึงบ้านเรือนประชาชนที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ ทางหน่วยงานยังได้จัดเครื่องสูบน้ำเข้ามาช่วยเร่งระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำ และติดตั้งเครื่องฉีดล้างทำความสะอาดถนนและบ้านเรือนที่ถูกโคลนและเศษดินจากน้ำป่าท่วมสูง

จากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ทำให้หลายครอบครัวในอำเภอเวียงป่าเป้าต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งด้านการอยู่อาศัยและความปลอดภัยในชีวิต เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานท้องถิ่นและอาสาสมัครได้ร่วมกันทำงานเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน นายสมเกียรติได้ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนที่มีจิตศรัทธาให้เข้ามาสนับสนุนการฟื้นฟูในครั้งนี้ เพื่อช่วยกันฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ ทางอบต.บ้านโป่ง ได้จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือและรับบริจาคสิ่งของที่จำเป็น เช่น เครื่องนอน ยารักษาโรค และเสื้อผ้า เพื่อช่วยเหลือประชาชนในศูนย์อพยพ หากท่านใดต้องการให้การสนับสนุนสามารถติดต่อได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 053-781989 หรือผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก “อบต.บ้านโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า” โดยตรง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านโป่ง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ ลงพื้นที่แม่สายติดตามน้ำท่วม พร้อมเร่งฟื้นฟูพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในเขตพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน และคณะเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมลงพื้นที่ในครั้งนี้ด้วย โดยได้เดินทางไปยังโรงเรียนชุมชนไม้ลุงขนมิตรภาพที่ 169 ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ประสบภัย เพื่อมอบถุงยังชีพแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม พร้อมให้กำลังใจและสร้างความเชื่อมั่นให้กับชาวบ้านว่ารัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และจะเร่งฟื้นฟูพื้นที่ให้กลับมาเป็นปกติในเร็ววัน

สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายในช่วงที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “ยางิ” ที่ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน ทำให้ระดับน้ำในลำน้ำหลายสายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จนล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนของประชาชนในหลายอำเภอ รวมถึงพื้นที่อำเภอแม่สายที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสถานการณ์น้ำได้คลี่คลายลงแล้ว ระดับน้ำในลำน้ำต่าง ๆ ลดลงอยู่ในเกณฑ์ปกติ และเจ้าหน้าที่กำลังเร่งดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

ในระหว่างการลงพื้นที่ นายอัครา พรหมเผ่า ได้ติดตามความคืบหน้าการฟื้นฟูพื้นที่หลังน้ำลด และได้สั่งการให้กรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย เพื่อวางแผนฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกันกับหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและเร่งแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด โดยได้เน้นย้ำให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่สำคัญในระยะสั้นก่อน เช่น การระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำที่ยังมีน้ำท่วมขัง การฟื้นฟูถนนเส้นทางคมนาคมที่ถูกน้ำท่วม รวมถึงการจัดหาน้ำสะอาดให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ระบบน้ำประปาได้รับความเสียหาย

ด้านกรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 2 และสำนักเครื่องจักรกล ได้จัดส่งเครื่องจักรกลหนัก เช่น รถแบคโฮ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำ และเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ลงพื้นที่ทันทีหลังน้ำลด เพื่อเร่งดำเนินการขุดลอกลำคลอง และบ่อดักตะกอนที่ถูกตะกอนดินทรายอุดตันจากกระแสน้ำหลาก พร้อมกันนี้ยังได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เกษตรกรรมที่ยังไม่สามารถระบายน้ำออกได้เต็มที่ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ได้ทำการฉีดล้างทำความสะอาดถนนเส้นทางหลักและถนนในชุมชนที่ถูกโคลนและเศษดินจากน้ำท่วมพัดมากองทับถม เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อย่างปลอดภัยและเร็วที่สุด

นอกจากนี้ นายอัครา พรหมเผ่า ได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งดำเนินการขุดลอกคลองสาย RMC1 (เหมืองแดง) และบ่อดักตะกอนในพื้นที่แม่สายที่มีการสะสมของตะกอนสูง เพื่อคืนประสิทธิภาพการระบายน้ำของคลองสายนี้ให้สามารถรองรับน้ำได้มากขึ้นและลดความเสี่ยงของน้ำท่วมในอนาคต ทั้งนี้ได้เน้นย้ำให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยประสานงานร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

จากการลงพื้นที่ครั้งนี้ นายอัคราได้กล่าวกับประชาชนผู้ประสบภัยว่า รัฐบาลตระหนักถึงความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการฟื้นฟูทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยในระยะสั้นจะเร่งฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานและช่วยเหลือประชาชนให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ ในขณะที่ในระยะยาว จะมีการวางแผนป้องกันปัญหาน้ำท่วมซ้ำซ้อน เช่น การขุดลอกคลองและการสร้างระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีความมั่นคงและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้เสริมว่า กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการตามคำสั่งการของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเฉพาะการขุดลอกคลองและการบำรุงรักษาระบบระบายน้ำในพื้นที่ลุ่มต่าง ๆ ให้พร้อมใช้งานในทุกสถานการณ์ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำในพื้นที่เสี่ยง และจะดำเนินการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายให้เกษตรกรสามารถกลับมาปลูกพืชผลได้โดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งจะติดตามและรายงานความคืบหน้าให้กับผู้บริหารและประชาชนทราบอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ การดำเนินการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมในจังหวัดเชียงรายจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีการติดตามประเมินผลทุกระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ยังเน้นย้ำว่า การทำงานในครั้งนี้จะต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง และพร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงานเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้กลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติในเร็ววัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมชลประทาน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIAL & LIFESTYLE

นายกฯ ตรวจพื้นที่น้ำท่วมแม่สาย จ.เชียงราย พร้อมทีมแพทย์ช่วยประชาชน”

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2567 เวลา 07.00 – 12.00 น. ณ โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช จังหวัดเชียงราย พ.อ. กิติพันธ์ เฮงสนั่นกูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราช ร่วมกับหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา (มทบ.37) และหน่วยงานในพื้นที่ต่าง ๆ ได้ให้การต้อนรับ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางมาตรวจเยี่ยมการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบจากฝนตกหนักในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายหมู่บ้านและพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะผู้บริหารระดับสูงและทีมงาน ได้เดินทางเข้าตรวจสอบสถานการณ์ในพื้นที่โดยละเอียด เพื่อประเมินความเสียหายและวางแผนการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันในการให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินเพื่อความปลอดภัยของประชาชนเป็นอันดับแรก โดยเน้นการอพยพผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่เสี่ยง และจัดหาสถานที่พักพิงชั่วคราวที่มีความปลอดภัย นอกจากนี้ยังได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างละเอียด ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถนน สะพาน ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่การเกษตร เพื่อให้การฟื้นฟูดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุมในทุกด้าน

ในระหว่างการตรวจเยี่ยม น.ส. แพทองธาร ยังได้พบปะพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือการฟื้นฟู พร้อมทั้งสอบถามถึงความต้องการเร่งด่วนและปัญหาต่าง ๆ ที่พบระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อจัดลำดับความสำคัญในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด นอกจากนี้ โรงพยาบาลค่ายเม็งรายมหาราชยังได้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ออกให้บริการตรวจสุขภาพและให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่ประชาชนในพื้นที่ประสบภัย รวมทั้งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครผู้ปฏิบัติงานช่วยเหลือการฟื้นฟู เพื่อดูแลสุขภาพและป้องกันการเจ็บป่วยที่อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีสภาพอากาศแปรปรวนและภาวะน้ำท่วมขัง

โดยทีมแพทย์ได้เน้นการตรวจสุขภาพเบื้องต้น เช่น การตรวจความดันโลหิต การตรวจหาโรคทางเดินหายใจ และโรคผิวหนัง รวมถึงการแจกจ่ายยาสามัญประจำบ้านและอุปกรณ์ทางการแพทย์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย และเจลล้างมือ เพื่อป้องกันโรคระบาดที่อาจเกิดขึ้นหลังน้ำท่วม เช่น โรคฉี่หนู โรคตาแดง และโรคน้ำกัดเท้า นอกจากนี้ยังได้ให้ความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในช่วงหลังน้ำลด เพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัวได้อย่างถูกวิธี

น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ได้กล่าวว่า รัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการฟื้นฟูความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้อย่างเต็มที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติในเร็ววัน โดยได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดทำแผนการฟื้นฟูระยะยาว เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมในอนาคต โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น อ.แม่สาย และพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ในจังหวัดเชียงราย และใกล้เคียง

นายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่น ในการฟื้นฟูและป้องกันการเกิดอุทกภัยในระยะยาว โดยการจัดทำระบบการเตือนภัยล่วงหน้า การจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่ม และการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในการรับมือกับภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อให้สามารถปรับตัวและฟื้นฟูได้อย่างยั่งยืน

สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ขณะนี้ยังคงมีบางพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังและต้องการความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบและให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมทันที เพื่อให้การฟื้นฟูดำเนินไปอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ในขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้มีการร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือผ่านการบริจาคสิ่งของและเงินสนับสนุน เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนในช่วงเวลาวิกฤตนี้

การลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมครั้งนี้ของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ไม่เพียงแต่แสดงถึงความห่วงใยของรัฐบาลที่มีต่อประชาชน แต่ยังเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานทุกคนที่ทุ่มเทและเสียสละในการช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัย นายกรัฐมนตรีได้กล่าวย้ำว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และพร้อมจะให้ความช่วยเหลือประชาชนในทุกพื้นที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ข้อมูลน้ำท่วมเชียงราย 9-28 ก.ย.67 เสียชีวิต 13 เจ็บ 3 สูญหาย 1 ราย

 
เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2567 สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย รายงานข้อมูลสะสมระหว่างวันที่ 9 -28 ก.ย. 2567 ทั้งสิ้น 13 อำเภอ 63 ตำบล 577 หมู่บ้าน 1 เทศบาลนคร (52 ชุมชน) โดยตลาดชุมชนเศรษฐกิจ ได้รับผลกระทบ 2 แห่ง ร้านค้า/สถานประกอบการ 92 แห่งราษฎรได้รับผลกระทบเบื้องต้น56,469 ครัวเรือน เสียชีวิต 13 ราย บาดเจ็บ 3 ราย สูญหาย 1 รายบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบ 33 หลัง พื้นที่เกษตรได้รับผลกระทบ 18,587 ไร่ปศุสัตว์ได้รับผลกระทบ 48,844 ตัว(ได้แก่ โค 1,110 ตัว กระบือ 166 ตัว สุกร66 ตัว แพะ/แกะ 25 ตัว สัตว์ปีก 47,477 ตัว) สัตว์เลี้ยง 299 ตัว(ได้แก่ สุนัข 145 ตัว และแมว 154 ตัว)ด้านสิ่งสาธารณประโยชน์ได้รับผลกระทบ ได้แก่ โรงเรียน37แห่ง ถนน10จุด คอสะพาน5จุด และรพ.สต. 1 แห่ง
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าไปช่วยเหลือ ซึ่งได้เตรียมการมาเป็นอย่างดีทั้งเครื่องมือ อุปกรณ์เครื่องจักรกล ยุทโธปกรณ์ พร้อมกำลังพลในการเข้าไปช่วยเหลือ อย่างเร่งด่วน แต่เนื่องจากเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง หลายวัน ทำให้วันนี้ (28 กันยายน 2567) ได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่ ได้แก่ อ.เมืองเชียงราย, อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.แม่จัน, อ.แม่ฟ้าหลวง, อ.แม่สาย, อ.ดอยหลวง, อ.เทิง อ.เวียงแก่น อ.เวียงป่าเป้า อ.แม่สรวย อ.เวียงชัย และอ.แม่ลาว เกิดน้ำท่วมหนักในรอบหลายปี อย่างไรก็ตาม นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจ และเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน หากประชาชนต้องการขอความช่วยเหลือ หรือแจ้งเหตุ แจ้งได้ตลอด 24 ช่วยโมง ที่สายด่วน 1784
 
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย รายงานสถานที่เกิดเหตุ/ความเสียหาย/การให้ความช่วยเหลือ (เหตุต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 ก.ย. 67 และสถานการณ์ในวันนี้ (28 ก.ย. 67) ดังนี้
การให้ความช่วยเหลือ
 
จังหวัดเชียงราย ได้จัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2567 เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และจัดหาปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีพ ผ่านทางธนาคาร กรุงไทย สาขาเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-23-732-5 ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ปี พ.ศ. 2567 โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ 1 เท่ายอดเงินบริจาคณ วันที่ 28 ก.ย. 67 เวลา 16.30 น. จำนวน 8,860,424.14บาท
 
การดำเนินการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัย อ.เวียงป่าเป้า ตำบลบ้านโป่ง อบต.บ้านโป่ง อพยพประชาชนบ้านห้วยหินลาดใน และหย่อมบ้านห้วยทรายขาว (บ้านบริวาร) หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย มายังศูนย์พักพิง อบต.บ้านโป่ง จำนวน 39 คน
 
เหตุดินสไลด์ปิดเส้นทางเข้าออกบ้านห้วยหินลาดใน หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อบต.บ้านโป่ง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อุทยานแห่งชาติขุนแจ และหน่วยงานสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
 
นำเครื่องจักรกลปรับเกลี่ยกองดินเปิดเส้นใช้ทางแล้ว รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ พร้อมทั้งได้ร่วมกันทำความสะอาดและฟื้นฟูบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับผลกระทบ
 
ตำบลเวียง รพ.เวียงป่าเป้าพร้อมด้วยสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเวียงป่าเป้า เข้าตรวจรักษาผู้ป่วยและประเมินสุขภาพจิตราษฎรหมู่บ้านบ้านดงหล่ายหน้า (หย่อมบ้านห้วยไม้เดื่อ) หมู่ที่ 7 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย
 
อบต.เวียง นำรถแบคโฮเปิดเส้นทางจราจร เส้นทางเข้าบ้านห้วยไม้เดื่อ (หย่อมบ้านดงหล่ายหน้า) สามารถสัญจรผ่านได้แล้ว
เหตุน้ำกัดเซาะคอสะพานบ้านแม่ปูนล่าง หมู่ที่ 9 ต.เวียง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย อบต.เวียงและฝ่ายปกครองอยู่ระหว่างเข้าสำรวจความเสียหายและดำเนินการซ่อมแซม
 
ที่ทำการปกครองอำเภอเวียงป่าเป้าร่วมกับ ตชด. 327 ลำเลียงถุงยังชีพ 60 ชุด น้ำดื่ม 850 แพ็ค นม 20 แพ็ค มาม่า 20 แพ็ค แจกจ่ายให้แก่ราษฎรในพื้นที่บ้านแม่ปูนหลวงและหย่อมบ้านสามกุลา หมู่ที่ 8 ต.เวียง
 
อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย สำหรับเหตุดินถล่มปิดทับเส้นทางบ้านแม่ปูนหลวง แขวงทางหลวงชนบทเชียงรายร่วมกับอบต.เวียง และราษฎรในพื้นที่ ตัดต้นไม้และกำจัดกองดิน สามารถเปิดใช้เส้นทางได้แล้ว
 
หมวดทางหลวงแม่สรวยพร้อมด้วยจิตอาสา และภาคประชาชน นำรถขุดหน้าตักหลังและรถแบคโฮขุดตักกองดินที่สไลด์ลงมาปิดทางขวางเส้นทางจราจรบนทางหลวงชนบทหมายเลข 1150 สายอำเภอพร้าว – อำเภอเวียงป่าเป้า ดำเนินการได้ 70% คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 29 ก.ย. 67
 
มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย วันที่ 28 ก.ย. 67รถประกอบอาหารเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สายขยายระยะเวลาดำเนินการถึงวันที่ 5 ต.ค 2567 (เริ่มดำเนินการวันที่ 19 ก.ย. 67)
การสนับสนุนเครื่องจักรกลสาธารณภัยด้านปฏิบัติการ (อุทกภัย) และกำลังพล ของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตประจำวันที่ 28 ก.ย. 67ดังนี้
 
ศูนย์ ปภ. เขต 8 กำแพงเพชร นำรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ขนาด 12000 ลิตร ไปฉีดล้างทำความสะอาดถนนในพื้นที่ชุมชนเกาะลอย ต.เวียง อ.เมืองชร. จ.เชียงราย
 
ศูนย์ ปภ. เขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 8 กำแพงเพชร เขต 9 พิษณุโลก เขต 10 ลำปาง เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต15 เชียงราย เร่งทำการฟื้นฟูพื้นที่ภายหลังน้ำลด โดยนำรถขุดตักไฮดรอลิคยกสูง รถตักล้อยางเอนกประสงค์
 
รถขุดล้อยางกู้ภัยปรับฐานล้อ รถตีนตะขาบ รถบรรทุกเทท้าย รถขุดตักไฮดรอลิค แขนยาว ทำการขุดตักขนย้ายดินโคลน เศษวัสดุ สิ่งปรักหักพัง พร้อมทั้งปรับเกลี่ยถนน เส้นทางสัญจรในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลแม่สาย อ.แม่สาย จ.เชียงราย
 
ศูนย์ ปภ. เขต 15 เชียงราย นำรถบรรทุกน้ำช่วยดับเพลิง 10,000 ลิตร ฉีดล้างทำความสะอาดลานจอดรถ ถนน และบริเวณภายในพื้นที่ของศาลากลางจังหวัดเชียงราย อ.เมืองชร. จ.เชียงราย/ นำรถบรรทุกน้ำอเนกประสงค์ขนาด 12,000 ลิตร ฉีดล้าทำความสะอาดมัสยิดนูรูลอิสลาม (ชุมชนกกโท้ง) และบริเวณโดยรอบ ในเขตพื้นที่ ต.เวียง อ.เมืองชร. จ.เชียงราย
ศูนย์พักพิงที่ยังเปิดศูนย์ฯ ให้บริการที่พักพิงชั่วคราวอยู่ ณ วันที่ 28 ก.ย. 67 รวมทั้งสิ้น7แห่ง
 
แบ่งตามขอบเขตการปกครอง ได้แก่ อ.เมืองเชียงราย 3 แห่ง/ อ.แม่สาย3แห่ง/ อ.เวียงป่าเป้า 1 แห่ง
ศูนย์พักพิงฯ ที่มีทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการด้านการแพทย์ เยียวยาจิตใจ แจกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ จำนวน 4แห่ง
รายละเอียดดังนี้
 
อำเภอเมืองเชียงรายที่ยังเปิดศูนย์ฯ ให้บริการที่พักพิงชั่วคราวจำนวน 3แห่ง
ในเขตเทศบาลนครเชียงราย ทน.เชียงราย จัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ยังเปิดศูนย์ฯ ให้บริการที่พักพิงชั่วคราวอยู่ ณ ปัจจุบันจำนวน1 แห่ง ได้แก่
 
จุดวัดสันป่าก่อไทยใหญ่* ต.รอบเวียง คงค้างจำนวน 5 ราย
หมายเหตุ: ศูนย์พักพิงในเขตเทศบาลนครเชียงรายทุกจุดมีทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการด้านการแพทย์ เยียวยาจิตใจ แจกจ่ายยาและเวชภัณฑ์ ประจำศูนย์ในระยะวิกฤติ / ในระยะฟื้นฟูปรับมาใช้ระบบตรวจเยี่ยมและให้บริการตามวงรอบ
 
ตำบลแม่ยาว ณ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลแม่ยาว กำกับดูแลโดย ทต.แม่ยาว/ วันที่ 20 ส.ค. 67 ย้ายศูนย์พักพิงไปที่สำนักงานเทศบาลตำบลแม่ยาวคงค้างจำนวน 15 คน ประชาชนเริ่มกลับเข้าบ้าน
 
ตำบลดอยฮาง วันที่ 16 ก.ย. 67 เวลา 17.00 น. จัดตั้งศูนย์พักพิง ณ บ้านโป่งนาคำ* มีผู้พักพิงประมาณ 50 คน มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำเต็นท์นอนพระราชทาน ขนาด 2 คน จำนวน 50 หลัง มอบให้แก่ราษฎรผู้ประสบอุทกภัยฯ/ วันที่ 28 ก.ย. 67 ปรับสภาพเป็นศูนย์พักคอยและศูนย์รับบริจาค
 
อำเภอแม่สายที่ยังเปิดศูนย์ฯ ให้บริการที่พักพิงชั่วคราวอยู่ ณ ปัจจุบัน 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 237คน(โดยเป็นศูนย์พักพิงฯ ที่มีทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการ ทั้ง3แห่ง) ศูนย์พักพิงเทศบาลตำบลแม่สาย*คงค้างจำนวน 41 ราย(ทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการด้านการแพทย์ในการดูแลได้แก่ รพ.สต.ฮ่องแฮ่/ รพ.สต.บ้านด้าย) ศูนย์พักพิงวัดเหมืองแดง*คงค้างจำนวน 82 ราย ศูนย์พักพิงวัดถ้ำผาจม*คงค้างจำนวน 114 ราย(ทีมแพทย์และสาธารณสุขให้บริการด้านการแพทย์ในการดูแล ได้แก่ รพ.แม่จัน)
 
อำเภอเวียงป่าเป้า จัดตั้งศูนย์พักพิง 2 แห่ง* ได้แก่ ศูนย์พักพิง ทต.ป่างิ้ว(ศูนย์พักคอย)/วันที่ 25 ก.ย. 67 จัดตั้งศูนย์พักพิง อบต.บ้านโป่ง ขึ้นอีก 1 แห่ง คงค้างจำนวน 39 ราย
 
อำเภอแม่สรวยจัดตั้งศูนย์พักพิง*2 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พักพิง อบต.ท่าก๊อ(คงค้างจำนวน 3 คน) /วันที่ 26 ก.ย. 67 จัดตั้งศูนย์พักพิง ศูนย์ดูแลผู้ป่วย รพ.แม่สรวย ขึ้นอีก 1 แห่ง/ วันที่ 28 ก.ย. 67 ปิดศูนย์พักพิงทุกศูนย์ฯ
 
มูลนิธิสมาคมกู้ชีพกู้ภัย อาสาสมัคร จิตอาสาภาคประชาชน ร้านค้า/ผู้ประกอบการ สนับสนุนปฏิบัติการเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย ให้ที่พักพิงชั่วคราว มอบอาหารปรุงสำเร็จ และถุงยังชีพ
 
วิทยาลัยอาชีวศึกษาและโรงเรียนในเครือ ดำเนินโครงการศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน FixItCenter ตั้งจุดบริการและจัดชุดเคลื่อนที่ช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยจะช่วยซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ รวมถึงยานพาหนะที่เสียหาย เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. เป็นต้นมา /วันที่ 17 ก.ย. 67 รมว.ศึกษาธิการ เน้นย้ำให้ดูแลโรงเรียนก่อนเป็นลำดับแรก
 
จุดบริการ FixItCenterประจำวันที่ 28 ก.ย. 67 จำนวน 4 แห่ง ดำเนินการโดยสถานศึกษา สอศ. จากทั่วประเทศ รายละเอียดจุดบริการฯ ดังนี้ จุดบริการ โรงเรียนบ้านใหม่ ดำเนินการโดย วท.เทิง จุดบริการ โรงเรียนเทิงวิทยา ดำเนินการโดย วท.เทิง จุดบริการ โรงเรียนขุนตาลวิทยาคม ดำเนินการโดย วท.เทิง จุดบริการ ชุมชนฮ่องลี่ – ป่างิ้ว ดำเนินการโดย วก.เนินขาม
วันที่ 17 ก.ย. 67 ทภ.3 จัดตั้ง ศบภ.ทภ.3 ส่วนหน้า ณ ที่ว่าการอำเภอแม่สาย เพื่ออำนวยการประสานงานการให้ความช่วยเหลือประชาชนของหน่วยทหารทุกหน่วย ในพื้นที่ อ.แม่สาย จนถึงปัจจุบัน
 
กองบัญชาการกองทัพไทย จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ณ โรงเรียนแม่สายประสิทธิ์ศาสตร์ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย
 
อบจ.เชียงราย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม ด้านดำรงชีพ ดังนี้ ค่าใช้จ่ายด้านดำรงชีพ ได้แก่ ค่าเครื่องนุ่งห่ม รายละไม่เกิน 1,100 บาท ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพ เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 11,400 บาท ค่าเครื่องครัวและอุปกรณ์ในการประกอบอาหาร เท่าที่จ่ายจริง ครอบครัวละไม่เกิน 3,500 บาท ค่าเครื่องนอน รายละไม่เกิน 1,000 บาท หลักฐานที่ต้องเตรียม ได้แก่ สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประชาชนของเจ้าของบ้านที่ประสบภัย รูปภาพความเสียหายการขอรับความช่วยเหลือ ผ่าน อบต. หรือ ทต. ที่ประสบภัย ในวันและเวลาราชการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย อบจ.เชียงราย ฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย โทร. 053175329 หรือ 053175333 ต่อ 1402 ในวันและเวลาราชการ ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 17 – 30 ก.ย. 2567
 
เทศบาลนครเชียงราย ให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วมเบื้องต้น ครอบครัวละ 2,500 บาท/ มอบแล้ว 6,183 ครัวเรือน ข้อมูล ณ วันที่ 27 ก.ย. 67 (วันที่ 9 ในการดำเนินการ) หลักฐานที่ต้องเตรียม ได้แก่
 
เจ้าบ้านนำบัตรประชาชน พร้อมทะเบียนบ้าน หากท่านใดมีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนำมาแสดงด้วย สำหรับผู้ที่ไม่มีบัตรประชาชนสามารถติดต่อขอคัดสำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านได้ที่สำนักทะเบียนราษฎร เทศบาลนครเชียงราย
ชุมชนที่ประสบอุทกภัยทั้ง 52 ชุมชนสามารถติดตามข้อมูลได้ที่ประธานชุมชน หรือ สมาชิกสภาเทศบาลนครเชียงรายในเขตพื้นที่ประสบภัยที่ตนเองพำนักอยู่ จุดจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น : รอกำหนดการ
 
ปฏิบัติการดูดโคลนเลนที่อุดตันบริเวณท่อระบายน้ำ ตามตรอก ถนน และจุดต่าง ๆ ที่กีดขวางทางระบายน้ำพื้นที่ประสบอุทกภัยในเขตพื้นที่ในเขตพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายโดยรถดูดโคลนของกรุงเทพมหานครเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 67 เป็นต้นไป
 
วันที่ 28 ก.ย. 67ดำเนินการดูดโคลนเลนจากท่อระบายน้ำชุมชนบ้านป่าแดง ท่อขนาด 0.60 เมตร และท่อขนาด 0.80 เมตร ดำเนินการได้ความยาว120 เมตร ดูดเลนได้จำนวน266 ลูกบาศก์เมตร/ รถดูดโคลนของจังหวัดนนทบุรี ปฏิบัติงานในชุมชนแควหวาย ดูดโคลนตามรางยู ดำเนินการได้ความยาว60 เมตร ดูดเลนได้จำนวน80 ลูกบาศก์เมตร
 
บริษัท วอชแอนด์โก CodeCleanให้บริการ ซัก อบ ผ้า น้ำยา ฟรี แก่ผู้ได้รับผลกระทบน้ำท่วมตลอด24 ชั่วโมง และเปิดให้บริการจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติจำนวน 3 จุด ได้แก่ ณ ลานธรรมลานศิลป์ถิ่นพญามังรายหรือลานรัชกาลที่ 5 (ศาลากลางจังหวัดหลังแรก) ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย. 67 เป็นต้นไป ณ สถานีดับเพลิงเทศบาลนครเชียงราย หน้าวัดดงหนองเป็ด ตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย. 67 เป็นต้นไป หน้ามูลนิธิสยามเชียงราย สำนักงานใหญ่ จุด 5 แยก พ่อขุนฯ ตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย. 67 เป็นต้นไป
 
งานบริการถ่ายบัตรประชาชน กรมการปกครอง สนับสนุนหน่วยบริการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนเคลื่อนที่ (Mobile Unit) ให้บริการตั้งแต่วันที่ 20 – 27 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 21.00 น. ณ วัดเวียงหอม (สามารถถ่ายได้เพียงบัตรประชาชนเท่านั้น) ยกเว้นค่าธรรมเนียม 100 บาท
 
สำนักทะเบียนอำเภอแม่สาย ให้บริการงานถ่ายบัตรประชาชนทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่วันที่ 19 – 30 กันยายน 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 – 17.00 น. ณ ห้องทะเบียนที่ว่าการอำเภอแม่สาย
 
กองบัญชาการกองอาสารักษาดินแดน ได้ส่งกำลังพล สมาชิก อส. จากส่วนกลาง และร้อย อส.จ. จาก 36 จังหวัดจำนวนไม่น้อยกว่า 1,500 นาย เพื่อร่วมปฏิบัติภารกิจฟื้นฟูบูรณะพื้นที่ประสบอุทกภัยจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะสิ้นสุดภารกิจ
 
การอำนวยการ/สั่งการ
วันที่ 28 ก.ย. 2567 เวลา 13.00 น. ณ ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 เชียงรายนายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย สั่งการในคราวประชุมติดตามสถานการณ์และเตรียมการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า ดังนี้
 
มอบหมาย สนง.ประชาสัมพันธ์จังหวัด ประสานสถานีวิทยุทุกแห่ง (ทั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุชุมชน) เผยแพร่ช่องทางการขอรับความช่วยเหลือให้เป็นไปอย่างแพร่หลาย เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด เพื่อให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือโดยเร็วที่สุด ผ่านช่องทางสายด่วน 1567 ศูนย์ดำรงธรรม (โทรฟรี) และศูนย์บัญชาการอุทกภัยฯ จ.เชียงราย ทางหมายเลขโทรศัพท์ 093-1311784
 
มอบหมายนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ (รอง ผวจ. 2) รับผิดชอบบริหารจัดการเครื่องจักรกล และกำลังพล จากหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาในพื้นที่ กำชับให้แบ่งมอบภารกิจให้ชัดเจน
 
มอบ สนง.ทสจ.ชร. ร่วมกับอ.เมืองชร. เทศบาลนครเชียงราย และอ.แม่สาย จัดพื้นที่รองรับขยะมูลฝอยชั่วคราว (จุดพักขยะมูลฝอย) และบ่อขยะ เพื่อรองรับขยะครัวเรือนหลังน้ำลดที่มีเป็นจำนวนมาก โดยให้ระมัดระวัง
 
เรื่องความเสี่ยงต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน และผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม
ให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ทั้งแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1,2 แขวงทางหลวงชนบท และสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย เร่งรัดการสำรวจความเสียหายและจัดทำเอกสารขอรับการสนับสนุนงบประมาณโดยเร็ว เพื่อให้ซ่อมแซมถนนปรับปรุงเส้นทางหลังน้ำท่วม รวมทั้งตลิ่งและคันกั้นน้ำที่ได้รับความเสียหาย ให้กลับคืนสู่สภาพเดิมโดยเร็วที่สุด
 
ให้ สสจ.เชียงราย ดำเนินการตามมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุข หลังเกิดน้ำท่วม ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทั้งการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ การเยียวยาจิตใจผู้ประสบภัย สนับสนุนการปรับปรุงสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม โดยให้เน้นหนัก “ด้านการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเปราะบาง กลุ่มติดบ้านติดเตียง” เป็นพิเศษ
 
ระบบท่อระบายน้ำต่าง ๆ ให้วางแผนแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำอุดตันในระยะถัดไป รวมทั้งแผนกำจัดเศษขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และดินโคลนต่างๆ ออกจากท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายและป้องกันปัญหาการท่วมขังซ้ำ
 
มอบหมายนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ (รอง ผวจ. 2) ,ปลัดจังหวัดเชียงราย, ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเขต 7 (เชียงใหม่), สนจ.ชร. และสนง.ปภ.จ.ชร. สถาปนาศูนย์ราชการให้มีความพร้อมในการจัดตั้ง War Room โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบสื่อสาร (ทั้งระบบสื่อสารหลัก สื่อสารรอง และระบบสื่อสารสำรอง) เพื่อเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพสูงสุด
 
ให้กรม ปภ. ดูแลการให้ความช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ ให้เร่งดำเนินการสำรวจความเสียหาย และจัดประชุม ก.ช.ภ.อ. และ ก.ช.ภ.จ. โดยเร็ว รวมถึงช่วยสนับสนุนดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ และหนังสือที่สั่งการโดยเคร่งครัด ระมัดระวังมิให้เกิดความซ้ำซ้อน
 
ให้สำนักงานคลังจังหวัดตรวจสอบการใช้จ่ายเงินทดรองราชการของสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กระทรวงการคลังกำหนด
 
สำหรับหน่วยงานที่เข้ามาสนับสนุนปฏิบัติการฟื้นฟู ให้จังหวัดเชียงรายดูแลความเป็นอยู่ การส่งกำลังบำรุง การสุขาภิบาลและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อม
 
กรณีบ้านเรือนราษฎรที่ได้รับความเสียหาย ให้จังหวัดเชียงรายติดตามผลการให้ความช่วยเหลือ ซ่อมแซมได้หรือไม่ได้อย่างไร ค่าวัสดุซ่อมแซมที่อยู่อาศัยประจำ ซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติเป็นเจ้าของที่ได้รับความเสียหาย เท่าที่จ่ายจริงหลังละไม่เกิน 49,500 บาท ภายใต้หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2563 เพียงพอต่อการซ่อมแซมเพื่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานหรือไม่ ถ้าไม่เพียงพอมีแผนดำเนินการอย่างไรต่อไป กรณีบ้านเสียหายทั้งหลังและที่ดินถูกน้ำพัดหายไป ให้อปท. ร่วมกับชมรมช่างท้องถิ่น ประเมินความเสียหาย มอบหมายนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ (รอง ผวจ. 2) ร่วมกับ สนง.ทสจ.ชร. สจป.ที่ 2 ชร. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จัดหาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ เบื้องต้นหากจะจัดสรรพื้นที่ คทช. ให้ดำเนินการภายใต้ระเบียบกฎหมาย และเป็นไปด้วยความเท่าเทียม
 
การปรับปรุง ซ่อมแซมสิ่งสาธารณประโยชน์ทุกประเภทที่ได้รับความเสียหาย (เช่น วัด โรงเรียน อาคารส่วนราชการ ถนน คอสะพาน รางระบายน้ำ เป็นต้น) เพื่อให้สามารถใช้งานได้ตามปกติดังเดิม ให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งสำรวจและเสนอของบประมาณในคราวเดียว
 
วันที่ 30 ก.ย. 67 มท.4 และ รมช.กลาโหม จะลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงาน และปัญหา อุปสรรค ให้ที่ทำการปกครองจังหวัดและสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด จัดทำเอกสารสรุปผลการปฏิบัติและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องนำเสนอ และให้รายงานต่อเนื่องจนกว่าจะกลับคืนสู่สภาพเดิม
 
แนวโน้มสถานการณ์ ฝนฟ้าคะนองปานกลาง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ระดับน้ำสาย ทรงตัว(ไม่เกินระดับวิกฤติ)/ ระดับน้ำกก น้ำลาว แนวโน้มลดลง/น้ำโขงทรงตัว(ปกติ)
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

Chiang Rai Sport City Fight 2024 ดันเชียงรายเป็นเมืองกีฬาอย่างเต็มตัว

 

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2567 การกีฬาแห่งประเทศไทยจัดกิจกรรม “Chiang Rai Sport City Fight 2024” ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในการผลักดันมวยไทยให้เป็น Soft Power โดยมี นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในการเปิดกิจกรรม และกล่าวแสดงความยินดีที่ได้เห็นความพร้อมเพรียงของชาวเชียงรายที่เข้าร่วมส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมกีฬาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงราย

นางอุบลรัตน์ กล่าวว่า การจัดกิจกรรมแข่งขันมวยไทยในครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันมวยไทยให้เป็นหนึ่งใน Soft Power ที่สามารถสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในระดับสากล รวมถึงเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมไทยผ่านกีฬามวยไทย และเปิดโอกาสให้เยาวชนและประชาชนได้มีทัศนคติที่ดีต่อกีฬามวยไทย พร้อมทั้งสร้างสังคมมวยไทยที่เข้มแข็ง

นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังช่วยฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดเชียงราย โดยการจัดการแข่งขัน “Chiang Rai Sport City Fight 2024” เป็นความร่วมมือของสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทยจังหวัดเชียงราย, สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย, จังหวัดเชียงราย และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย

สำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ มีนักมวยจากสังเวียนดังทั้ง 8 จังหวัดภาคเหนือเข้าร่วมชิงชัยใน 14 คู่ อาทิ

  • น้ำหวาน ส.คงกระพันธ์ (เชียงราย) พบกับ บ่าวบาย บัญชาเมฆ (เชียงใหม่)
  • เพชรโพธิ์ทอง โบว์เมืองบาน (เชียงราย) พบกับ ฉายตะวัน บุญลานามวยไทย (เชียงใหม่)
  • ยอดธง ยอดทัพเชียงราย (พะเยา) พบกับ ไผ่เงิน เกียรติ สปป (ลำปาง)

การแข่งขันในครั้งนี้ยังมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬามวยไทยให้มีคุณภาพสูงสุด เพื่อยกระดับการแข่งขันสู่ระดับนานาชาติ รวมถึงสร้างความตระหนักรู้ในกีฬามวยไทย และส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อกีฬามวยไทยในชุมชน โดยหวังว่าการแข่งขันครั้งนี้จะทำให้เชียงรายกลายเป็นเมืองกีฬา (Sport City) ตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมผลักดันเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวเชิงกีฬาแบบยั่งยืน

จุดประสงค์ของการจัดการแข่งขัน:
  • สร้างทัศนคติที่ดีต่อกีฬามวยไทยในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
  • ผลักดันมวยไทยให้เป็น Soft Power เพื่อสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ
  • ฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย และกระตุ้นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน
  • พัฒนาศักยภาพของนักกีฬามวยไทยให้ก้าวสู่การแข่งขันระดับสากล

การแข่งขันชกมวยไทยรายการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการยกระดับเชียงรายสู่การเป็นเมืองกีฬาที่มีศักยภาพสูง และยังคงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในวงการกีฬาระดับประเทศ

นางอุบลรัตน์ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า การแข่งขันนี้จะไม่เพียงแค่เป็นการสร้างความบันเทิงและสนับสนุนความนิยมในกีฬามวยไทย แต่ยังแสดงถึงศักยภาพของชาวเชียงรายในการส่งเสริมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์แบบ

การแข่งขันจะมีขึ้นตลอดช่วงเทศกาลท่องเที่ยวของเชียงราย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจองห้องพัก การใช้จ่าย และการเดินทางมาท่องเที่ยวในจังหวัดมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกด้วย

การแข่งขันชกมวยไทยครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้มาตรการความปลอดภัย:
  • มีการคัดกรองนักกีฬาและผู้เข้าชมตามมาตรฐานการจัดงานระดับสากล
  • เน้นการสร้างความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งด้านสุขภาพและการรักษาความปลอดภัยในสถานที่จัดการแข่งขัน

ทั้งนี้ ผู้จัดหวังว่า การจัดงานในครั้งนี้จะทำให้ประชาชนในจังหวัดเชียงรายและนักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ที่ดี พร้อมเปิดโอกาสให้มวยไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับกิจกรรม:
  • จัดขึ้น ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน 2567
  • เปิดให้เข้าชมฟรีเพื่อกระตุ้นการเข้าร่วมกิจกรรมจากชาวเชียงรายและนักท่องเที่ยว

กิจกรรมนี้จะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเชียงรายให้ก้าวสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านกีฬาอย่างแท้จริง

หวังว่าการแข่งขันนี้จะช่วยส่งเสริมให้เชียงรายกลายเป็นหนึ่งใน Sport City ของประเทศไทยอย่างเต็มรูปแบบในอนาคตอันใกล้นี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงราย จัดการปัญหาหลังน้ำลด เร่งแผนฟื้นฟูครบทุกด้าน

 

วันที่ 28 กันยายน 2567 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 (ส่วนหน้า) จังหวัดเชียงราย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และวางแผนฟื้นฟู พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ และนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมพร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับผิดชอบการบริหารจัดการเครื่องจักรกลและกำลังพลในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมประสานงานหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ โดยให้แบ่งพื้นที่และมอบภารกิจให้ชัดเจน เพื่อให้การฟื้นฟูและช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนงานและมาตรการสำคัญที่ได้รับมอบหมาย:

  1. ด้านการประชาสัมพันธ์
    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดได้รับมอบหมายให้สื่อสารผ่านทุกช่องทาง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อท้องถิ่น เพื่อให้ข้อมูลถึงประชาชนในทุกกลุ่มทุกพื้นที่ และประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว โดยประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 (โทรฟรี) และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ที่หมายเลข 093-1311784 เพื่อขอรับความช่วยเหลือและข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

  2. ด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
    สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับอำเภอเมืองเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย และอำเภอแม่สาย จัดหาพื้นที่รองรับขยะมูลฝอยชั่วคราว เพื่อรองรับปริมาณขยะหลังน้ำลด โดยต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมควบคุมการจัดการขยะอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในชุมชน

  3. ด้านการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
    กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1, 2 และแขวงทางหลวงชนบท รวมถึงสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ตลิ่งและคันกั้นน้ำ เพื่อจัดทำเอกสารขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

  4. ด้านการสาธารณสุข
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้รับมอบหมายให้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นการดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเป็นพิเศษ พร้อมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เยียวยาจิตใจและสนับสนุนการปรับปรุงสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่

  5. ด้านการระบายน้ำและการจัดการท่อระบายน้ำ
    เน้นการวางแผนแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน รวมถึงการกำจัดเศษขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และดินโคลนในท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซ้อนในอนาคต โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่ทุกจุดเพื่อเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน

  6. ความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก
    ศูนย์บัญชาการฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก อาทิ กรุงเทพมหานคร ส่งรถดูดโคลน จำนวน 4 คัน และบริษัท บีเอ็มเจ็ตเซอร์วิส จ.ระยอง เข้าร่วมดำเนินการในชุมชนป่าแดงและชุมชนเกาะทอง โดยการดำเนินงานจะเน้นการดูดตะกอนและสิ่งสกปรกในท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตัน และเสริมสร้างสุขอนามัยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

การประสานงานและการให้ความช่วยเหลือ
นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ย้ำถึงความสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการประสานเครื่องจักรกลและเครื่องมือจากหน่วยงานในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาร่วมช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน ไม่เพียงแค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมถึงสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

มาตรการเร่งด่วนจากศูนย์บัญชาการฯ
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงรายได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การฟื้นฟูและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด รวมถึงการจัดทำแผนระยะยาวในการเตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคต เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำซ้อน

สรุปเนื้อหา:
การประชุมติดตามสถานการณ์และฟื้นฟูหลังน้ำลดในจังหวัดเชียงราย โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านประชาสัมพันธ์ การจัดการขยะ การคมนาคม การสาธารณสุข และการระบายน้ำ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News