Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

“1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์” ยกระดับวัฒนธรรมท้องถิ่น อ.เวียงชัย

 

เมื่อวันอังคารที่ 6 สิงหาคม 2567 ณ ชุมชนวัดพนาลัยเกษม อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายได้ร่วมกับที่ว่าการอำเภอเวียงชัย เทศบาลตำบลเวียงเหนือ และชุมชนวัดพนาลัยเกษม จัดโครงการส่งเสริมกิจกรรม “1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย Soft Power และ 1 Family 1 Soft Power ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการนำวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์มาใช้ในการยกระดับคุณค่าศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น

การเปิดงานได้รับเกียรติจากนายบดินทร์ เทียมภักดี นายอำเภอเวียงชัยเป็นประธานในการกล่าวเปิดโครงการ พร้อมด้วยพระครูพิธานพิพัฒนคุณ รักษาการเจ้าคณะอำเภอเวียงชัย เจ้าอาวาสวัดพนาลัยเกษม, พระครูวิมลศิลปกิจ รองเจ้าคณะอำเภอเวียงชัย, และพระครูโบราณบุรานุรักษ์ เจ้าคณะตำบลเวียงเหนือ ที่มาร่วมพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ โดยนายบุญส่ง ศรีสายัณห์ ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลเวียงเหนือได้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์และความสำคัญของกิจกรรม

กิจกรรมภายในงานประกอบด้วย:

  • การแสดงทางศิลปวัฒนธรรม: ฟ้อนข้าวตอก, ฟ้อนก๋ายลาย, ฟ้อนสาวเจียงฮาย และการแสดงอื่นๆ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • การสาธิตภูมิปัญญาท้องถิ่น: การทำขนมจ็อก (ขนมเทียน), การจักสานเครื่องสูง, การทำบายศรีและงานใบตอง
  • การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมไทย (CPOT): ผ้าทอชาติพันธุ์ร่วมสมัย, ผ้าทอล้านนา และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่สะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น
  • อาหารและสินค้าชุมชน: ข้าวจี่, น้ำสมุนไพร และสินค้าท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีความหลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน

งานนี้มีการเข้าร่วมจากกลุ่มคนหลากหลายทั้งจากภาครัฐและชุมชน เช่น ดร.สันติ์ ศรียา นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเหนือ, นายธวัชชัย สิทธิยศ กำนันตำบลเวียงเหนือ, คณะครูและนักเรียนจากโรงเรียนเทศบาลตำบลเวียงเหนือ (ค่ายเจริญ), โรงเรียนเวียงชัยพิทยา และวิทยาลัยผู้สูงอายุตำบลเวียงเหนือ รวมถึงประชาชนทั่วไป ประมาณ 200 คน

โครงการ “1 อำเภอ 1 ลานสร้างสรรค์” มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นให้แก่เด็ก เยาวชน ประชาชน และนักท่องเที่ยว โดยการเปิดพื้นที่สร้างสรรค์นี้จะช่วยสร้างความภาคภูมิใจและตระหนักในคุณค่าของศิลปวัฒนธรรม มรดกภูมิปัญญาท้องถิ่น และยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนผ่านกิจกรรมที่สร้างสรรค์และมีความหมาย

การจัดงานนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการส่งเสริมวัฒนธรรมและสร้างสรรค์ให้เกิดผลกระทบที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย แก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำ กรมชลฯ ดันก่อสร้างอ่างเก็บน้ำแม่คำ

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ที่ห้องประชุมชลประทานเชียงราย ต.รอบเวียง อ.เมืองเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมปัจฉิมทเทศ งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการอ่างเก็บน้ำแม่น้ำ จังหวัดเชียงราย โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย เป็นผู้กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์โครงการ พร้อมด้วยนายพิเชษฐ์ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบและสถาปัตยกรรม นายพรมงคล ชิดชอบ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 นายธนพล สงวนตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดกลางที่ 2 พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่เข้าร่วมประชุม จำนวน 140 คน

เนื่องจากลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน ในฤดูแล้งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ ส่วนในฤดูฝนประสบปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรและที่อยู่อาศัย สร้างความเดือนร้อนให้แก่ประชาชนการพัฒนาแหล่งน้ำ ซึ่งก่อนหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการก่อสร้างโครงการชลประทานขนาดเล็กกระจายอยู่พื้นที่รอบๆ ไม่ประสบความสำเร็จ และแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมชลประทาน จึงดำเนินการศึกษาการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่คำและลุ่มน้ำแม่จัน โดยวางแผนพัฒนาโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางในการบรรเทาและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและการขาดแคลนน้ำในภาพรวมของลุ่มน้ำ 

ด้านอ่างเก็บน้ำแม่คำ มีที่ตั้งหัวงานอยู่ในเขต ม.13 บ.สามัคคีใหม่ ต.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ลักษณะเป็นเขื่อนหินทิ้งแกนดินเหนียว มีความยาวสันเขื่อน 352 เมตร กว้าง 10 เมตร สูง 64 เมตร สามารถกักเก็บน้ำได้ 51.73 ล้าน ลบ.ม. โดยคาดว่าเมื่อพัฒนาแล้วเสร็จตามแผนงาน จะสามารถทำการเพาะปลูกได้ประมาณ 67,000 ไร่ เป็นแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค ช่วยบรรเทาอุทกภัย เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำของท้องถิ่น แหล่งท่องเที่ยวของชุมชน ช่วยรักษาสมดุลนิเวศรอบอ่าง/ตลอดลำน้ำ รวมทั้งสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำด้านอื่นๆ ของประชาชนในพื้นที่ อ.แม่ฟ้าหลวง อ.แม่จัน อ.แม่สาย และ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย

สำหรับการประชุมในครั้งนี้เป็นเพียงการสรุปผลการดำเนินงานของโครงการให้กับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับทราบ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ อันจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานสร้างความเข้าใจให้กับผู้ที่อาศัยในบริเวณโดยรอบพื้นที่ก่อสร้าง ซึ่งขณะนี้โครงการดังกล่าวฯ อยู่ในช่วงการสำรวจพัฒนาโครงการ โดยกรมชลประทานมอบหมายให้บริษัท วิศวชลกร จำกัด และ บริษัท ศุภฤกษ์ แพลนนิ่ง แอนด์ ดีไซน์ จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการอ่างเก็บน้ำแม่คำ ซึ่งมีแผนจะแล้วเสร็จในช่วงต้นเดือนกันยายน 2567 และคาดว่าจะทำการก่อสร้างประมาณปี 2570 ใช้ระยะเวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปีครึ่ง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย เสริมพลังต้านยาเสพติด สร้างโอกาสผู้ถูกคุมประพฤติ คืนสู่สังคม

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม  2567 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ “สานสัมพันธ์ น้อง- พี่ เสริมพลังต้านยาเสพติด  รุ่นที่ 4 ” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีนายเกียรติภูมิ จารุเสน ผู้อำนวยการสำนักงานคุมประพฤติจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ อาสาสมัครคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม คณะวิทยากร และเจ้าหน้าที่ เข้าร่วม ณ รังสินี รีสอร์ท ตำบลบ้านดู่ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย 
.
          ด้วยกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม ได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับระบบการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำผิด โดยมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาและให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดให้มีโอกาสกลับตัวเป็นคนดี และกลับมาสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคม ตามแนวคิดการเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง จึงได้น้อมนำโครงการกำลังใจ ในพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา มาปรับประยุกต์ใช้เพื่อสร้างกำลังใจให้กับผู้ถูกคุมความประพฤติในคดียาเสพติด เป็นการให้โอกาส  และช่วยให้ผู้เข้าอบรมสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ได้โดยนำกรอบแนวคิดจากโครงการนำร่อง “ศูนย์การเรียนรู้ดอยฮาง” หรือ “ดอยฮาง Model” ที่มุ่งสร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับสังคม ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน คือการปรับทุกข์-ผูกมิตร เป็นขั้นตอนการสร้างความสัมพันธ์ในกลุ่ม เพื่อเรียนรู้ผู้อื่นและสะท้อนตัวเอง การถอดรื้อ-สร้างใหม่ เป็นขั้นตอนการสะท้อนเหตุ ที่นำไปสู่การใช้ยาเสพติดและเสริมสร้างกำลังใจสู่ชีวิตใหม่ และการดูแลต่อเนื่อง โดยภาคีเครือข่าย รวมทั้งบุคคลแวดล้อม  เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติมีความเข้มแข็งทางใจ ในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เสริมสร้างแรงจูงใจให้เลิกสารเสพติดได้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงได้รับโอกาส  ในการกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข เป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนรวม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยอมรับจากครอบครัวและชุมชน  เป็นการป้องกันการกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก และนำไปสู่การสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง
 
              สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย ผู้ถูกคุมความประพฤติที่ศาลมีคำสั่งให้คุมความประพฤติ ตามมาตรา 56 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และตามมาตรา 166 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด กลุ่มความเสี่ยงปานกลาง จำนวน 40 คน 
 
          ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ทุกคนในที่นี้ล้วนผ่านประสบการณ์อันเลวร้ายมาแล้ว แต่ได้รับโอกาสจากศาลให้รอการลงโทษจำคุกและให้คุมความประพฤติ ซึ่งทุกคนมีโอกาสแก้ไขปรับปรุงตัว เลิกเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ  ถือเป็นก้าวแรกในการเอาชนะใจตัวเอง ให้ก้าวผ่านปัญหายาเสพติด ขอให้ทบทวน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ เสริมสร้างพลังและกลับไปดำเนินชีวิต โดยการลด ละ เลิก ยาเสพติดอย่างยั่งยืน เพื่อชีวิตและครอบครัวต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มอบแท็บเล็ตให้สมาพันธ์ครูเชียงราย ระยะเวลา 12 เดือน 480 เครื่อง

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ณ โรงแรม โพธิ์วดล รีสอรท์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ดร.อนวัช อุ่นกอง ประธานสหพนธ์ครูเชียงราย เปิดเผยว่า ในฐานะที่สหพันธ์ครูเชียงราย ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อเสนอแนะจากพี่น้องครูทั้งในจังหวัดเชียงรายและครูทั่วประเทศผ่านเครือข่ายออนไลน์ และได้สรุปประเด็นปัญหาต่างๆ ของพี่น้องครูโดยผ่านองค์กรครู เพื่อเสนอต่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหานั้นๆ เพื่อการพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพครู ดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของครู การพัฒนาสถานศึกษา ที่ผ่านมาสหพันธ์ครูเชียงราย ได้มีข้อเสนอต่างๆ ไปยังรัฐบาลเพื่อให้ช่วยแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับครูและสถานศึกษาทั่วประเทศ ได้แก่ การยกเลิกการอยู่เวรยามรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของครู การจัดสรรตำแหน่งนักการภารโรงให้กับสถานศึกษา 

ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี มีมติยกเลิกการอยู่เวรรักษาความปลอดภัยในสถานศึกษาของครูไปแล้ว และมีมติจากคณะรัฐมนตรีในการจัดสรรตำแหน่งนักการการโรงคืนให้ทุกโรงเรียน มีผลต่อการลดภาระงานครูได้ในระดับหนึ่ง ครูมีกำลังใจที่จะทุ่มเทกำลังกายกำลังใจในการจัดการเรียนการสอนได้ดีขึ้นตามลำดับ ซึ่งเป็นนโยบายที่สำคัญของท่านรัฐมนตรีว่าการกระพรางศึกษาธิการและรัฐบาลชุดปัจจุบัน

      ดร.อนวัช อุ่นกอง ประธานสหพนธ์ครูเชียงราย กล่าวอีกว่า ในนามตัวแทนของสหพันธ์ครูเซียงราย ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการผลักดันเรื่องนี้จนสำเร็จ แต่เพื่อน พี่ น้อง ครู และสถานศึกษา ยังมีข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขอีกหลายข้อหลายประเด็นที่ยังเป็นสิ่งที่บั่นทอนจิตใจต่อภาระงานสอน และความก้าวหน้าในวิชาชีพครู รวมถึงบุคลากรที่ส่งเสริมสนับสนุนงานการสอนของสถานศึกษา ดังนี้


      1. จัดสรรตำแหน่งข้าราชการครู ให้พนักงานราชการครูอัตราจ้าง ที่ปฏิบัติหน้าที่ทำการสอน 10 ปีขึ้นไป เป็นข้าราชการครูเป็นกรณีพิเศษ โดยการประเมินจากผลการปฏิบัติงาน
      2. จัดสรรตำแหน่งพนักงานราชการให้ครูธุรการ นักการภารโรง ครูพี่เลี้ยง เป็นพนักงานราชการ
      3. ยกเลิกคำสั่ง คสช. และสนับสนุนร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องครูและสถานศึกษา เพื่อคืนผู้แทนครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อถ่วงดุลอำนาจในคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพ (กมว.) คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ซึ่งคำสั่งเหล่านี้ สหพันธ์ครูเชียงรายเห็นว่าเป็นคำสั่งที่มิได้ให้ตัวแทนของครู ผู้บริหารสถานศึกษา ตัวแทนองค์กรวิชาชีพครู เข้าไปมีส่วนร่วมเป็นคณะกรรมการในการบริหารองค์กรของครู จนเกิดประเด็นปัญหาจากการแต่งตั้งพรรคพวกมาเป็นกรรมการฯ สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงต่อองค์กรครู ยึดผลประโยชน์ของพวกพ้องเป็นหลัก โดยไม่มีการคานอำนาจจากผู้แทนครู


      3.1 พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 เรื่อง การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา และคณะกรรมการบริหารองค์การค้าสำนักงานสวัสดิการ  และสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา ลว.16 เม.ย. 2558 คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2560 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติม คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 ลว.21 มีค.2560


     3.2 พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 11/2561 เรื่อง การแก้ไของค์ประกอบของ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพตามกฏหมายว่าด้วยสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา ลว. 25 ก.ค. 2561


     3.3 พ.ร.บ. ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2560 เรื่อง การบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษา ลว.20 มี.ค. 2560


นอกจากนี้ในที่ประชุมยังมีการทำบันทึกข้อตกลงระหว่างสหพันธ์ครูเชียงราย ร่วมกับ กลุ่มธุรกิจเครือข่ายสากลเชียงราย เรื่องความร่วมมือด้านการให้สิทธิพิเศษในการให้บริการ เพื่อเป็นสวัสดิการให้กับสมาชิกสหพันธ์ครูเชียงราย โดยมีการมอบแท็บเล็ตจากผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงราย และเครือข่ายในต่างประเทศ ให้สมาพันธ์ครูเชียงราย ส่งต่อให้ครูเชียงรายนำไปมอบให้กับทางโรงเรียนต่างๆ ในเขต 1,2,3,4 จังหวัดเชียงรายต่อไป


     ทั้งนี้ทางกลุ่มธุรกิจเครือข่ายสากลเชียงรายจะได้นำแท็บเล็ตมามอบให้กับทางสมาพันธ์ครูเชียงราย เดือนละ 40 เครื่อง เป็นระยะเวลา 12 เดือน รวม ทั้งหมด 480 เครื่อง เพื่อจะได้ให้ทางสหพันธ์ครูเชียงรายนำไปมอบให้กับทางโรงเรียนต่างๆ ในเขต 1,2,3,4 จังหวัดเชียงรายต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE TRAVEL

‘บ้านดอยดินแดง’ ศักยภาพเชียงราย สู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงศิลปะ

 

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชมบ้านอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ (บ้านดอยดินแดง) ในการติดตามผลการดำเนินโครงการกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นางสาวพลอย ธนิกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายโกวิท ผกามาศ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรม วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงราย หัวหน้าและส่วนราชการ ผู้บริหาร ข้าราชการ เจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าร่วม

ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้ติดตามโครงการเปิดบ้านศิลปินภายหลังการจัดงาน Thailand Biennale Chiang Rai 2023 และการเตรียมความพร้อมพัฒนาศักยภาพจังหวัดเชียงรายให้กลายเป็นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงศิลปะ และเป็นหมุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก
 
ทั้งนี้ อาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานปั้นเซรามิกและภาพจิตรกรรมอันเกิดจากดินและสีผสม นำเสนอผลงานศิลปะอันเป็นนามธรรม โดยได้รับอิทธิพลทางความคิดและการทำงานจากศาสนาพุทธนิกายเซน (Zen) มีประสบการณ์ทำงานให้กับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ โดยร่วมงานกับพระนิกายเซน ทำหน้าที่สอนศิลปะให้กับผู้ลี้ภัยสงครามสัญชาติลาวและเขมรที่ค่ายอพยพลี้ภัยในเมืองไทย ต่อมาได้ไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อศึกษาศิลปะการทำเครื่องปั้นดินเผา
 
อาจารย์สมลักษณ์เป็นศิลปินที่ได้รับรางวัลมากมาย เช่น ในปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2543 ได้รับรางวัลที่สองจาก Asian ART & Crafts Exhibition และในปี พ.ศ.2541 ได้รับรางวัล Award of Merit ประเทศนิวซีแลนด์ หลังจากนั้นสมลักษณ์ เดินทางกลับประเทศไทยและก่อตั้งโรงปั้นดินเผา “ดอยดินแดง” ที่จังหวัดเชียงราย สร้างเครือข่ายศิลปินเชียงรายเพื่อทำกิจกรรมทางศิลปะ ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนแรกของขัวศิลปะเชียงราย (Art Bridge Chiang Rai) และได้สร้างสรรค์ผลงานศาลาสวนประติมากรรม (Sculpture Garden Pavilion) หนึ่งในผลงานอันโดดเด่นของงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ เชียงใหม่-เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์จัดพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิต” พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย โดยในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1927 (บางส่วน) ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี และวันที่ 4 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชร. 1154 (บางส่วน) ตำบลเวียงพาคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี โดยที่ผ่านมากรมธนารักษ์จัดให้เช่าที่ราชพัสดุไปแล้วกว่า 134,728 ราย ทั่วประเทศ

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลที่ราชพัสดุ และสนับสนุนที่ราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการตามภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด และตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้น
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยพิจารณาที่ราชพัสดุจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในราชการและปล่อยให้มีการบุกรุก มาสนับสนุนโครงการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน และจัดให้ประชาชนที่ถือครองที่ราชพัสดุอยู่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2546 เช่าที่ราชพัสดุในอัตราผ่อนปรน ผ่านกลไกการจัดให้เช่าของกรมธนารักษ์ ทำให้ประชาชนที่ยินยอมเช่าที่ราชพัสดุสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของทางราชการ อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

สำหรับการมอบสัญญาเช่าให้แก่ราษฎรที่ถือครองที่ราชพัสดุในพื้นที่ครั้งนี้ มีผู้ได้รับสัญญาเช่าที่ราชพัสดุรวม 600 ราย ประกอบด้วย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 100 ราย เนื้อที่ 281 – 1 – 77 ไร่ และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 500 ราย เนื้อที่ 273 – 0 -76.90 ไร่ โดยในปี พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุมาอย่างต่อเนื่อง 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครพนม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 1,750 ราย รวมเนื้อที่ 5,418 – 2 – 97.90 ไร่ แบ่งเป็นเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่ประมาณ 824-1-56.90 ไร่ และเพื่อการเกษตร เนื้อที่ประมาณ 4,553 – 1 – 93 ไร่ และจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอีก 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และราชบุรี ซึ่งจะมีผู้ได้รับสิทธิเพิ่มเติมประมาณ 829 ราย

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวโดยสรุปว่า ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” โดยตั้งเป้าหมายในการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

น่าท่องเที่ยว 9 – 15 สิงหาคม 2567 ห้ามพลาด! เมืองสร้างสรรค์เชียงราย

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เชียงราย ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ร่วมจัดงาน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Chiang Rai Creature” หรือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง” ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย และพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วเมือง 

โดย CEA ได้ร่วมมือกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ พร้อมทั้งผลักดัน “เชียงราย” ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ในสาขาการออกแบบ (Chiang Rai City of Design) โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง FabCafe, 69 องศา และ MAYDAY! จัด 3 กิจกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ มุ่งผลักดันเชียงรายใน 3 มิติ ให้เป็นทั้งเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว  ได้แก่

1.เมืองน่าอยู่ – SMOG I ธุลีกาศ โดย CEA ร่วมกับ FabCafe กิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปที่ชวนผู้สนใจมาทดสอบแนวคิดการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตจังหวัดเชียงราย ที่เล็งเห็นความสำคัญในการจัดการกับปัญหาไฟป่า ต้นเหตุฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดเชียงราย ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ ด้วยแนวคิดการใช้วัสดุเหลือจากการเกษตร (Agriculture Waste) มาออกแบบใหม่พร้อมด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เป็นอีกหนึ่งแนวทางการลดวัสดุที่ทำให้เกิดไฟป่า และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ที่ตอบโจทย์ตลาด ช่วยสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ เช่น การนำเศษวัสดุมาปรับเป็นเฟอร์นิเจอร์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เป็นต้น รวมทั้งสร้างการรับรู้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน ด้วยงานสร้างสรรค์ร่วมกับผู้ประกอบการในพื้นที่ผ่านอาหาร

2.เมืองน่าลงทุน – Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ โดย CEA ร่วมกับ 69 องศา และเครือข่ายธุรกิจกาแฟ ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นและโอกาสในการลงทุนของสินทรัพย์วัฒนธรรมกาแฟของเชียงราย นำเสนอโชว์เคส “กาแฟพิเศษ” ที่ผ่านกระบวนการผลิตคุณภาพสูง ตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและรสชาติ นำไปสู่การส่งเสริมนวัตกรรมสินค้าเกษตรมูลค่าสูง 

โดยยังคงรักษาไว้ซึ่งวัฒนธรรมล้านนาและสมดุลธรรมชาติ ส่งเสริมความเป็นอยู่ของชาวเชียงราย และพิเศษสุด! พบกับเสวนาหัวข้อ “กาแฟไทย ก้าวอย่างไรให้ยั่งยืน” ในวันที่ 9 สิงหาคม เวลา 13.00 – 15.30 น. และ “ออกแบบอนาคตกาแฟเชียงราย” ในวันที่ 12 สิงหาคม 13.00 – 15.30 น. โดยกลุ่มคนรักกาแฟเชียงราย นอกจากนี้ยังมีเวิร์กช็อปกาแฟฟรี ทั้งการเลือกเมล็ด การชิม และการชง พร้อมสนุกไปกับดนตรีจากโบ๊ทแฮนด์แพน มิวสิคเจอร์นี่ โดย จุ๋ย จุ๋ยส์ และอะคูสติกแจ๊ส ที่จะมาร่วมสร้างความบันเทิง เพิ่มอรรถรสให้ Coffe Lover ได้ฟินกับโลกของกาแฟมากยิ่งขึ้น 

3. เมืองน่าเที่ยว – Chiang Rai MOVE I วน “เวียง” เจียงฮาย โดย CEA ร่วมกับ MAYDAY! องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่ร่วมคิดค้นระบบขนส่งสาธารณะที่ช่วยลดมลพิษ เพื่อการท่องเที่ยวและพัฒนาเมือง ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทางและกระตุ้นการเข้าถึงธุรกิจรายย่อยในย่าน ซึ่งจะช่วยสร้างแรงกระเพื่อมด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ โดยเป็นการจัดแสดงผลงานต่าง ๆ จากกิจกรรมทดสอบแนวคิดระบบการเดินทางสาธารณะของนักสร้างสรรค์รุ่นใหม่ (Academic Program) ดันเชียงรายให้เป็นเมืองที่ผู้คนและนักท่องเที่ยวสามารถ MOVE ไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น นิทรรศการผลงานออกแบบ (Showcase & Exhibition) ตลาดสินค้าสร้างสรรค์ (Design Market) ที่รวมงานสินค้าดีไซน์ท้องถิ่นสอดคล้องชีวิตยั่งยืน ในรูปแบบ Green Market – พืชและสวน และ Local Spa – นวดเพื่อสุขภาพ รวมถึงการแสดงดนตรี การเสวนาและเวิร์กช็อปที่จะสร้างแรงบันดาลใจตลอดงาน

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งออกแบบเมืองเชียงรายให้เป็นเมืองที่น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ผ่านการนำเสนอผลงานจาก CEA ใน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ในวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 เวลา 13.00 – 21.00 น. ณ ศาลากลางหลังแรก จังหวัดเชียงราย 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Chiang Rai Sustainable Design Week

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

จารึกชื่อ ณิรวัฒน์ รอง ผอ.สกสว. ในหอเกียรติยศ พสวท. ปี 67

 

 

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567, ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์
วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้รับคัดเลือกให้จารึกชื่อในหอเกียรติยศ พสวท. และได้รับมอบเสื้อ DPST Hall of Fame จาก นายสุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในโอกาสที่ได้รับคัดเลือกจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ให้จารึกชื่อไว้ในหอเกียรติยศ พสวท. “DPST Hall of Fame“ ประจำปี 2567 เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติ ผู้สำเร็จการศึกษาทุน พสวท. ที่สร้างสรรค์ผลงานวิจัยดีเด่น หรือเป็นผู้นำในการบริหารและพัฒนางานวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ในงานครบรอบ 40 ปี ทุนพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ทุน พสวท.) ภายใต้แนวคิด “การสร้างกำลังคน พสวท. เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศไทยอย่างยั่งยืน” ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ

ดร.ณิรวัฒน์ เผยว่า “รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับคัดเลือกให้จารึกชื่อในหอเกียรติยศ พสวท. ในปีนี้ และรับมอบเสื้อ DPST Hall of Fame จากท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการร่วมกับพี่ๆ พสวท. ที่ได้รับคัดเลือกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ ท่านเป็นนักวิจัยที่มีชื่อเสียง หรือไม่ก็เป็นผู้บริหารระดับสูงในสถาบันการศึกษาและหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ”

“ทั้งนี้ ต้องขอขอบคุณโครงการ พสวท. ที่ได้ให้โอกาส ตั้งแต่ทุนการศึกษาในโครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่ระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โอกาสที่ได้รับการดูแลและสั่งสมประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งจากครูบาอาจารย์ เจ้าหน้าที่โครงการใน สสวท. พี่ๆ และเพื่อนๆ ในโครงการ อันนำมาซึ่งแรงบันดาลใจและโอกาสอื่นๆ ที่ตามมาจนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด” ณิรวัฒน์ กล่าวทิ้งท้าย

ปัจจุบัน ดร.ณิรวัฒน์ ดำรงตำแหน่ง ผู้บริหารระดับสูงที่ สกสว.โดยทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายและจัดสรรงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนากำลังคนด้าน ววน. โดยจะขอทำหน้าที่ตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้าต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

บทความ : เกษตรกรไทยและผลกระทบ ของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อุณหภูมิที่สูงขึ้นสร้างความเสียหายต่อมูลค่าการผลิตทางการเกษตรของครัวเรือนแล้ว โดยเฉพาะครัวเรือนที่ไม่มีระบบชลประทานหรือมีพื้นที่การเกษตรขนาดใหญ่ แต่การทำกิจกรรมการเกษตรหลากหลายประเภท เช่น ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ และประมง หรือการปลูกพืชผสมผสานหลายชนิด จะช่วยบรรเทาผลกระทบได้ ทั้งนี้ ถึงแม้มนุษยชาติจะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกได้ มูลค่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยจะยังคงมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องไป ดังนั้น เราควรเร่งสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงระบบชลประทาน ส่งเสริมการทำเกษตรผสมผสาน และพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องมีการปรับตัวและการสนับสนุนจากภาคเอกชนและภาครัฐอย่างเร่งด่วน

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ปริมาณฝนตกในประเทศไทยมีความผิดปกติ ปี พ.ศ. 2567 มีปริมาณน้ำฝนสะสมต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์ และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยรายปีเพิ่มสูงทำลายสถิติทุกปี โดยข้อมูลแสดงแนวโน้มสภาวะอากาศร้อนจัดอุณหภูมิสูงสุดเกิน 43 องศาเซลเซียสเกิดขึ้นเพียงไม่กี่จังหวัดตั้งแต่ปี 2562 แต่เมื่อเดือนเมษายน 2567 มีรายงานอุณหภูมิสูงเกิน 43 องศาเซลเซียส ถึง 16 จังหวัด

 

ปรากฏการณ์ลานีญา (La Niña) และ เอลนีโญ (El Niño) จะยังคงมีบทบาทสำคัญต่อไปสำหรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพภูมิอากาศในประเทศ และสร้างผลกระทบเกิดขึ้นทั่วโลกในรูปแบบต่างกัน ปรากฏการณ์เอลนีโญในปี 2567 เป็นปัจจัยทำให้อุณหภูมิในประเทศไทยและทั่วโลกเพิ่มสูงสุดและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะภัยแล้ง ขณะที่ปรากฏการณ์ลานีญากลับมาช่วยให้ฝนชุ่มฉ่ำในช่วงกลางปี 2567 แต่ก็นำไปสู่น้ำท่วมฉับพลันและรุนแรงในหลายจังหวัด

 

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้การจัดสรรน้ำสำหรับชลประทานในภาคการเกษตรมีความเสี่ยงและการแข่งขันมากขึ้น ภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งและรุนแรงเพิ่มมากขึ้น จึงเน้นย้ำถึงความจำเป็นของกลยุทธ์การปรับตัวสำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรกรที่มีอนาคตเปราะบางต่อความยากจน

 

งานวิจัย Impacts of Climate Change and Agricultural Diversification on Agricultural Production Value of Thai Farm Households ได้รับทุนวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการ Climatic Change และ ได้รับการอ้างอิงในบทความ Telegraph โดยงานวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลสำรวจครัวเรือนเกษตรกรในช่วงปี ค.ศ. 2006-2020 (พ.ศ. 2550-2563) และใช้การวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติและสถิติแสดงว่า “อุณหภูมิที่สูงขึ้นได้สร้างความเสียหายต่อมูลค่าผลผลิตทางการเกษตรแล้ว และ การกระจายความเสี่ยงด้านการเกษตร เช่น การทำเกษตรหลายประเภทหรือปลูกพืชผสมผสาน ช่วยบรรเทาผลกระทบได้”

 

ดังนั้น ข้อพิจารณาเชิงนโยบายสำหรับอนาคตของครัวเรือนเกษตรกรไทยที่ไม่ค่อยจะสดใส ก็คือ ควรได้รับความใส่ใจจากรัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อพัฒนาวิธีการเกษตรที่ยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

การพิจารณาแนวทางนโยบายโดยเร่งด่วน คือ ช่วยเหลือการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ผลาญแต่งบประชาสัมพันธ์ที่เกษตรกรได้รับประโยชน์แค่หลักหมื่นราย จากเกือบ 8 ล้านครัวเรือนเกษตรกร  หรือ การใช้งบประมาณในกระทรวงเกรดเอที่มีข่าวความขัดแย้งและการทุจริตเกิดขึ้นเสมอมา

 

ในขณะเดียวกัน นโยบายที่ระดับท้องถิ่นช่วยสนับสนุนได้ คือ การปรับตัวได้อย่างยั่งยืน โดยจูงใจและสนับสนุนให้กระจายความเสี่ยง โดยควรกำหนดเป้าหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น การลดความยากจน การพัฒนาอย่างยั่งยืน และความยืดหยุ่นต่อสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็น “ผลงานรัฐบาล” ทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในมิติที่กว้างขึ้น ตามแนวทาง Sustainable Development Goals (SDGs)

 

ทั้งนี้ Goal 13: Climate action ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ระบุไว้และสามารถแปลใจความเป็นไทยว่า:

“ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบ ทุกคนในทุกประเทศของทุกทวีปจะได้รับผลกระทบในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะภัยพิบัติรุนแรง หรือ cataclysm ทางสภาพภูมิอากาศกำลังคืบคลานเข้ามา และเรายังไม่พร้อมรับมือ” (Take urgent action to combat climate change and its impacts. Every person, in every country in every continent will be impacted in some shape or form by climate change. There is a climate cataclysm looming, and we are underprepared for what this could mean.)

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเหตุ: สรุปจากบทความต้นฉบับ “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการกระจายความเสี่ยงต่อมูลค่าผลผลิตของครัวเรือนเกษตรกรไทย” เผยแพร่บนเว็บไซต์ “เศรษฐสาร” คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เด็กเชียงราย! สร้างชื่อหลังคว้าทอง การแข่งขันฮับกิโดชิงแชมป์โลก

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567  อธิบดีกรมพลศึกษา เปิดการแข่งขันฮับกิโด รายการ World I.H.F. Hapkido Championship 2024 มีนักกีฬาจาก 12 ประเทศเข้าร่วมณ โรงยิมเนเซียม 4,000 ที่นั่ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี

ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ได้รับเกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขัน ฮับกิโด รายการ World I.H.F. Hapkido Championship 2024 ชิงถ้วยพระราชทาน สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม โดยมี Mr. Myung Sung Kwang ประธานสหพันธ์ ฮับกิโดนานาชาติ (I.H.F) ดร.พัฒพงษ์ พงศ์สกุล ผอ.สำนักการกีฬา กรมพลศึกษา และนายปกาศิต เอี่ยมบุตร เลขานุการกรม กรมพลศึกษาและกรรมการบริหารสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดนนทบุรี อ.นักรบ ทองแดง ประธานเทคนิคสมาคมกีฬาปันจักสีลัตแห่งประเทศไทย และสัมฤทธิ์ พวงษ์วิรัตน์ เลขาธิการสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดชลบุรี ร่วมเป็นเกียรติ

สำหรับการแข่งขันครั้งนี้มีนักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกร่วมประลองฝีมือกว่า 1,000 คน จาก 12 ประเทศ ซึ่งจะทำการแข่งขันกันในประเภท โฮซิลชุล ,ท่ารำมือเปล่า ,ท่ารำอาวุธ ,กระโดดไกล ,กระโดดสูง ,Speed Festival และการต่อสู้ รุ่นอายุ Senior

จังหวัดเชียงราย มีส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันในรายการนี้ โดย MTKD-โรงเรียนเมฆเทควันโดเชียงราย  ซึ่งสามารถสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดของการแข่งขันรายการWORLD I.H.F. HAPKIDO CHAMPIONSHIPS 2024 การแข่งขันฮับกิโดชิงแชมป์โลก ณ โรงยิมเนเซียม องค์การบริหารส่วนจังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 3-4 สิงหาคม 2567 โดย

1.น.ส.ศุภิสรา ไร่ลือคำ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
เหรียญทอง ท่ารำมือเปล่า
เหรียญทอง ต่อสู้

2.น.ส.พิศน์ณิชา เดชถิระพิพัฒน์ นักเรียนโรงเรียนเทศบาล6 นครเชียงราย
เหรียญทองแดง ท่ารำมือเปล่า
เหรียญทองแดง ท่ารำอาวุธ

3.ภูมิระพี โรจนวานิชกุล นักเรียนโรงเรียนบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย
เหรียญทองแดง ต่อสู้
เหรียญทองแดง ประเภท ท่ารำมือเปล่า

4.สุรพิชญ์ ไร่ลือคำ นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
เหรียญทองแดง ประเภทต่อสู้
เหรียญทองแดง ประเภทท่ารำมือเปล่า

5.ด.ช.ปรวัตร คีรีแก้ว นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
เหรียญทองแดง ต่อสู้
เหรียญทองแดง speed kick

6.เด็กหญิงลายอักษรา วีรยุทธกําจร นักเรียนโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม
เหรียญเงิน SPEED BATTLE
เหรียญเงิน ต่อสู้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : MTKD-โรงเรียนเมฆเทควันโดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News