Categories
FEATURED NEWS

วช.ปักธง Soft Power หนุนตั้งฮับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร

 

รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง ผู้บริหารจัดการศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร เปิดเผยว่า สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เปิดตัวโครงการ ศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร (Hub of Talent Gastronomy Tourism) ในงาน อว.แฟร์: SCI POWER FOR FUTURE THAILAND มหกรรมส่งเสริมการใช้ประโยชน์ อววน. มุ่งใช้ “อาหารเป็นตัวช่วยสร้างการท่องเที่ยวระดับท้องถิ่น”

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการลิ้มลองอาหารเท่านั้น แต่เป็นการเดินทางเพื่อสัมผัสประสบการณ์ทางด้านอาหารในแต่ละพื้นที่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ความบันเทิงและสันทนาการ ทั้งการรับประทานอาหาร เยี่ยมชมสถานที่ทำอาหาร เทศกาลอาหาร ตลาด งานแสดงและสาธิตการทำอาหาร หรือกิจกรรมการท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กับอาหาร ที่ครอบคลุมไปถึงการผลิต ซึ่งเชื่อมโยงไปสู่การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เยี่ยมชมแหล่งผลิตแบบพื้นถิ่น การเลือกสรรวัตถุดิบจากแปลงเกษตรต่าง ๆ การปรุงอาหาร ซึ่งนำเสนอผ่านรูปแบบของครัวเปิด หรือการให้นักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในกิจกรรมการปรุงอาหารไปจนถึงขั้นหลังการบริโภค ซึ่งต่อยอดไปสู่การผลิตสินค้าที่ระลึกเพิ่มมูลค่า ตลอดจนการจัดการเศษอาหารเหลือทิ้งด้วยวิธีการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

รูปแบบการจัดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารตลอดห่วงโซ่นี้ จะเป็นโอกาสอันดีให้นักท่องเที่ยวได้เติมเต็มประสบการณ์ เก็บเกี่ยว วัฒนธรรมท้องถิ่น และสัมผัสกิจกรรมท่องเที่ยวอันหลากหลายที่เกี่ยวเนื่องมาจากอาหาร ซึ่งสอดแทรกประโยชน์ให้เกิดกับสังคมเศรษฐกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่ละภูมิภาค โดยมี 4 เสาหลักเป็นองค์ประกอบ คือ การผลิตอาหารและการเกษตร เรื่องเล่าอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีความโดดเด่นและเอกลักษณ์ของอาหารไทยอันเกิดจากรากเหง้าของความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ผสมผสานการใช้เครื่องเทศ วัตถุดิบ กรรมวิธีการผลิต การประยุกต์อาหารจากหลายชาติให้เข้ากับวัตถุดิบในท้องถิ่นไทย ผนวกกับการคิดค้นกรรมวิธีการปรุง ความประณีตในการจัดตกแต่งอาหาร งานแกะสลักที่เริ่มมีลักษณะเฉพาะในราชสกุลของกลุ่มชนชั้นสูงตามวังของขุนนางต่าง ๆ ในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นและตอนกลาง จึงทำให้อาหารไทยในปัจจุบันมีความหลากหลาย รสชาติกลมกล่อม และมีรูปร่างหน้าตาอาหารที่ดูน่ารับประทาน ที่สามารถนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจภาคธุรกิจอาหารและการท่องเที่ยว ตามนโยบายของรัฐบาลในการใช้ “วัฒนธรรมอาหารไทย” เป็นกลไกให้เกิด Soft Power  บนพื้นฐานของทุนมนุษย์ที่เข้มแข็งยอมเป็นส่วนสำคัญต่อการแข่งขันกับตลาดโลก

“การจัดตั้งศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญในครั้งนี้จึงมีส่วนสำคัญในการนำองค์ความรู้เชิงวิชาการ ศักยภาพของนักวิทยาศาสตร์การอาหาร นักวิชาการการท่องเที่ยวและแขนงอื่น ๆ มาช่วยเพิ่มศักยภาพและเสริมความเข้มแข็งตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมศาสตร์ด้านอาหารและการท่องเที่ยวเพื่อการพัฒนาสังคมและประเทศอย่างยั่งยืน” รศ. ดร.พรรณีระบุ

ทั้งนี้ กิจกรรมหนึ่งที่สำคัญในงาน อว.แฟร์ คือ การฝึกอบรมและการทดสอบ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.จันทร์จนา ศิริพันธ์วัฒนา ผู้จัดการสวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มาให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับสุขาภิบาลอาหาร รวมถึงสำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย ที่ร่วมเปิดการทดสอบแก่ผู้สัมผัสอาหาร เพื่อขึ้นทะเบียนผ่านการอบรมหลักสูตรสำหรับผู้ประกอบกิจการตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร โดยผู้ผ่านเกณฑ์จะได้รับหนังสือรับรองผู้สัมผัสอาหารเป็นเครื่องยืนยันถึงความเชี่ยวชาญและมาตรฐานของบุคลากรในการให้บริการอาหาร ซึ่งเป็นอีกก้าวหนึ่งที่สำคัญในการยกระดับความเชี่ยวชาญของบุคลากรการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารสู่มาตรฐานสากล และส่งเสริมการสร้าง Soft Power ด้านอาหารไทยที่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘พิสันต์’ ถ่ายทอดฟื้นฟูเชียงราย งานมหกรรมดนตรีพื้นบ้าน

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงรายได้จัดงานมหกรรมดนตรีพื้นบ้านจังหวัดเชียงรายภายใต้โครงการบูรณาการการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัด โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 เวลา 11.00 – 20.00 น. ณ ลานกาสะลอง ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย กิจกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดและฟื้นฟูอัตลักษณ์ดนตรีท้องถิ่นภาคเหนือของจังหวัดเชียงรายตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งประกอบด้วยเชียงราย พะเยา แพร่ และน่าน

งานนี้ได้รับเกียรติจากนายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมมอบรางวัลให้แก่ทีมที่ชนะการประกวดตีกลองสะบัดชัย นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม กล่าวรายงานเกี่ยวกับความสำคัญของกิจกรรมนี้

ภายในงานมีการจัดกิจกรรมหลากหลาย เช่น การประกวดตีกลองสะบัดชัยสำหรับเด็กและเยาวชนอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งมีทีมที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาแข่งขันในรอบชิงชนะเลิศจำนวน 5 ทีม การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับดนตรีพื้นบ้านล้านนา ได้แก่ สะล้อ ซอ ซึง ปี่พาทย์ล้านนา และกลองสะบัดชัย การแสดงดนตรีและการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนา และกิจกรรมกาดหมั้วคัวเมือง

การฟื้นฟูอัตลักษณ์ดนตรีท้องถิ่น

การจัดงานมหกรรมดนตรีพื้นบ้านจังหวัดเชียงรายในครั้งนี้มีความสำคัญในการฟื้นฟูและรักษาอัตลักษณ์ดนตรีท้องถิ่นภาคเหนือ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมและอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่มีค่าของพื้นที่ งานนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจในดนตรีพื้นบ้านของเยาวชนและประชาชนทั่วไป แต่ยังเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น

การสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคต

การฟื้นฟูและรักษาอัตลักษณ์ดนตรีท้องถิ่นไม่เพียงแต่ช่วยรักษามรดกทางวัฒนธรรม แต่ยังสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอนาคตได้หลายทาง การสร้างความรู้ความเข้าใจและความชื่นชอบในดนตรีพื้นบ้านสามารถกระตุ้นการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ การเปิดโอกาสให้เยาวชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ยังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้สนใจเรียนรู้และพัฒนาทักษะด้านดนตรีพื้นบ้าน

การจัดนิทรรศการและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานยังเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและเครื่องดนตรีพื้นบ้านล้านนาให้ได้รับความนิยมและมีตลาดที่กว้างขวางมากขึ้น การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรมและเครื่องดนตรียังสามารถเป็นแหล่งรายได้ที่สำคัญให้กับชุมชนท้องถิ่น

การจัดกิจกรรมนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้ดนตรีพื้นบ้านเชียงรายยังคงอยู่และสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจท้องถิ่นในอนาคตได้อย่างยั่งยืน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
EDITORIAL

บทความ : ปลาหมอคางดำประเทศไทย ผลกระทบต่อระบบนิเวศ

 

เมื่อเร็วๆนี้ ปัญหาเรื่องการขยายพันธุ์ของปลาหมอคางดำในประเทศไทย เริ่มแพร่ขยายมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ในประเทศไทย อย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยงได้

เนื่องจากคุณสมบัติพิเศษของปลาหมอคางดำ ที่เหนือกว่าปลาสายพันธุ์อื่นๆ อาทิเช่น ความสามารถในอาศัยได้ ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด และ ความสามารถในการหากินได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยอาหารหลักของพวกมัน ได้แก่ สาหร่ายและเศษซากพืช รวมไปถึงหอยสองฝา และแพลงก์ตอนสัตว์ ซึ่งถือได้ว่าเป็นห่วงโซ่อาหารแรกๆ ที่สัตว์ประเภทอื่นต้องการในการดำรงชีพ

โดยปกติแล้ว ปลาหมอคางดำมักอยู่รวมกันเป็นฝูง จึงทำให้ยากต่อการที่ปลาสายพันธุ์อื่นๆ จะมาทำอันตราย และที่สำคัญ ปลาหมอคางดำ เป็นปลาที่สามารถผสมพันธุ์ได้ในทุกฤดูกาล ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ก็สามารถที่จะฟักไข่ได้ในปากของมัน ด้วยเหตุผลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ปลาหมอคางดำ จัดอยู่ในปลาสายพันธุ์อันตรายต่อระบบนิเวศน์ของไทย

อย่างไรก็ตาม วิธีการกำจัดปัญหา ปลาหมอคางดำ ในปัจจุบัน ก็มีได้อย่างหลากหลายรูปแบบ อาทิเช่น

1. การบริโภคทั่วไป (Traditional Consumption) :

ผู้บริโภค เช่น ชาวบ้านทั่วไป สามารถทำการจับ ปลาหมอคางดำ มาต้ม, ผัด, แกง, ทอด และรับประทานได้โดยตรง วิธีการนี้ ถือได้ว่าไม่ยุ่งยากและซับซ้อน แต่มีข้อควรระวังคือ ควรตรวจสอบแหล่งที่มาของปลา ควรจะอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำสะอาด ไม่ได้มาจากแหล่งน้ำเน่า ที่อาจมีโอกาสเสี่ยงจากสารพิษและเชื้อโรค ที่สามารถปะปนมากับตัวปลาได้

2. การแปรรูปอาหาร (Food Processing) :

ผู้ประกอบการอาหาร สามารถนำปลาหมอคางดำ มาผ่านกระบวนการแปรรูปอาหารต่างๆ อาทิเช่น การทำปลาป่น (สำหรับอาหารสัตว์), การทำปลากระป๋อง, การทำเนื้อปลาบด, การทำลูกชิ้นปลา, การทำน้ำปลาร้าบรรจุขวด หรือ การทำอาหารเสริม (แคลเซียม) ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้ จะช่วยยกระดับคุณภาพอาหารให้มีคุณภาพมากขึ้น ทั้งในเรื่องความสะอาดและอายุการเก็บรักษาของผลิตภัณฑ์

3. การใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (Cutting-Edge Technology) :

วิธีการนี้ถือได้ว่าเป็นวิธีการที่แปลกใหม่ และไม่ค่อยถูกพูดถึงกันในวงกว้างมากนัก เนื่องจากต้องอาศัยองค์ความรู้และนวัตกรรมขั้นสูง อาทิเช่น การใช้หลักการของพันธุวิศวกรรม (Genetic Engineering) ในการปรับแต่งสายพันธุ์ของปลา โดยลงลึกไปถึงระดับ DNA และ ยีนส์

โดยในต่างประเทศ ได้มีการนำเทคนิคเหล่านี้มาใช้จริงในเชิงอุตสาหกรรม อาทิเช่น ‘AquAdvantage Salmon’ คือ ปลาแซลมอนแอตแลนติก (Atlantic Salmon) ที่มีการตัดต่อพันธุกรรม เพื่อช่วยเพิ่มขนาดตัวปลาแซลมอน จากขนาดตัวปกติ ให้มีขนาดตัวที่ใหญ่มากขึ้น เทียบเท่ากับปลาแซลมอนสายพันธุ์แปซิฟิก (Pacific Chinook Salmon)

หรือแม้กระทั่ง นักวิทยาศาสตร์ในต่างประเทศ ได้มีการคิดค้นหาสายพันธุ์วัวต่างๆ ผ่านโพรเจกต์ที่ชื่อ ‘1000 Bull Genomes Project‘ โดยจะวิจัยและค้นหาข้อมูลทางพันธุกรรมของวัวแต่ละชนิด มาทำการปรับปรุงสายพันธุ์วัว เพื่อให้ได้สายพันธุ์ที่เหมาะสม เช่น การปรับปรุงสายพันธุ์วัว ให้ได้วัวที่มีรูปร่างสูงใหญ่, ให้ปริมาณเนื้อที่เยอะกว่าวัวสายพันธุ์อื่นๆ และ มีความทนทานต่อเชื้อโรคต่างๆ ได้อีกด้วย

หากประเทศไทย ได้นำหลักการต่างๆที่ว่านี้ มาประยุกต์ใช้เข้ากับ ปลาหมอคางดำ เช่น การเอายีนส์ที่ใช้ผลิต เนื้อปลาแซลมอน มาฝังใน DNA ของปลาหมอคางดำ เพื่อให้ปลาหมอคางดำ มีเนื้อสัมผัส, รสชาติ และ สารอาหารที่มีคุณประโยชน์ เทียบเท่ากับปลาแซลมอน แต่ยังคงความดุดันของปลาหมอคางดำไว้ ( แพร่พันธุ์ได้ไว, ทนทานได้ทั้งในน้ำจืดและน้ำเค็ม) ก็คงจะสามารถ ลดคำครหาให้กับปลาสายพันธุ์นี้ ได้อย่างไม่มากก็น้อย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.จักรพันธุ์ รัตนภูมิภิญโญ

ผู้เขียน : ดร.จักรพันธุ์ รัตนภูมิภิญโญ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

‘สุดาวรรณ’ เยือนชุมชนปกาเกอะญอ จัดพื้นที่คุ้มครองวีถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

 
เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่จังหวัดเชียงราย โดยได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานตามแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ณ ชุมชนปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย โดยเยี่ยมชมและร่วมหารือกับชุมชนถึงแนวคิดการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ของชุมชน เป็นต้นแบบให้กับชุมชน ชาติพันธุ์ในหลายพื้นที่
 
ในโอกาสนี้ นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวภายหลังเยี่ยมชมการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนว่า “รู้สึกยินดีมาก ที่ได้มาเห็นรูปธรรมความสำเร็จของชุมชนพี่น้องปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับการประกาศให้เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ เพราะได้เห็นถึงแนวทางการจัดการที่ดีของชุมชน แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนชาติพันธุ์ที่สามารถพึ่งตนเองได้บนฐานทุนทางวัฒนธรรม ที่สำคัญ คือ การกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางที่นอกจากจะทำให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นแล้ว ยังทำให้ลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ และเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาติพันธุ์ด้วยมิติวัฒนธรรม ทำให้ชุมชนมีความมั่นคงในชีวิต สามารถทำธุรกิจและสร้างรายได้ได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กับการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุล จึงเห็นว่านี่เป็นรูปธรรมของการใช้พลังทางวัฒนธรรม หรือ Soft Power เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์”
 
นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวด้วยว่า “รัฐบาลภายใต้การนำของท่านนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน มีนโยบายที่ชัดเจนที่จะดูแลพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ให้มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีงาน มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. ให้เป็นกฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมศักยภาพของพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทยอย่างเสมอภาคกัน ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว เชื่อว่าเมื่อกฎหมายนี้ประกาศใช้แล้วจะเป็นหลักประกันให้ชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์มีความมั่นคงในชีวิต สามารถประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ดำรงอยู่อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี มากไปกว่านั้น คือ เป็นประโยชน์กับประเทศที่เราจะได้โอบรับความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ไว้เป็นทุนทางวัฒนธรรมของชาติ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทุนทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และทุนวัฒนธรรมที่หลากหลาย”
 
“ประโยชน์กับพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศไทย และการที่ได้มีโอกาสมาเยี่ยมเยือนชุมชนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลานใน ในวันนี้ นอกจากได้เห็นและให้กำลังใจพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว ยังเป็นโอกาสที่จะได้มาบอกกล่าวกับพี่น้องให้ได้ร่วมยินดีที่ในอีกเร็ววันนี้ที่เราจะมีกฎหมายคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฉบับแรกของประเทศไทย” นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวปิดท้าย
 
บ้านห้วยหินลาดใน เป็นชุมชนปกาเกอะญอ ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ชาวบ้านห้วยหินลาดในอยู่ที่นี่มานานกว่า 150 ปี ได้รับการประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ นำร่อง 1 ใน 4 พื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง โดยชาวบ้านได้จัดทำข้อตกลงในการดูแลป่าชุมชนบนฐานวัฒนธรรมและข้อห้ามตามประเพณี ทำให้ชุนชนที่มีจำนวนชาวบ้านเพียงกว่าร้อยชีวิต สามารถรักษาผืนป่ากว่า 10,000 ไร่เอาไว้อย่างสมบูรณ์
 
นอกจากนี้ชุมชนยังประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนโดยเฉพาะกาแฟ ชา และน้ำผึ้ง สร้างรายได้ให้กับชุมชนจำนวนมาก การจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนของชุมชนบ้านห้วยหินลานในได้รับการยอมรับจากในประเทศและต่างประเทศ โดยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว เมื่อปี 2548 และได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบการจัดการทรัพยากรบนฐานวัฒนธรรมของชุมชนที่ประเทศมาเลเซียเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมาอีกด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

รมว.วัฒนธรรม เยี่ยมบ้านเมืองรวง ชุมชนโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมลงพื้นที่เยี่ยมชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง จังหวัดเชียงราย เพื่อติดตามผลการดำเนินโครงการกิจกรรมของกระทรวงวัฒนธรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2568 ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายสถาพร เที่ยงธรรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม นายวิเชียร สุขสร้อย เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นายธนรัช จงสุทธานามณี เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายบุญส่ง ตินารี นายอำเภอเมืองเชียงราย วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ผู้บริหาร ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม หัวหน้าและผู้แทนส่วนราชการ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และชาวชุมชนชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง เข้าร่วม

 
ในการนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้กราบนมัสการพระพระณัฐวัฒน์ กิตฺติโสภโณ เจ้าอาวาสวัดท่าไคร้ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมือง จังหวัดเชียงราย และร่วมรับฟังผลการดำเนินงานของชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง และเยี่ยมชมผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน
 
ทั้งนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ บ้านเมืองรวง อยู่ที่หมู่ 5 ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เป็นชุมชนชาวไทยวนและมีชาติพันธุ์อาข่าอพยพมาอยู่ในชุมชนร่วมกันอย่างเอื้ออาทรและสามัคคี ชุมชนก่อตั้งประมาณปี พ.ศ. 2397 ผู้ริเริ่มสร้างหมู่บ้านครั้งแรก เป็นชาวลวงซึ่งเดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ โดยให้ชื่อหมู่บ้านว่า บ้าน “เมืองลวง” ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2527 ได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านเป็นบ้าน “เมืองรวง”
 
ชุมชนแห่งนี้มีความโดดเด่นด้านเศรษฐกิจพอเพียง ได้รับคัดเลือกเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ อยู่เย็น เป็นสุขดีเด่น ระดับเขตและระดับภาค ชุมชนต้นแบบจัดการขยะ ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี และได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมเป็น 1 ใน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ต่อเนื่องกัน 2 ปี ได้แก่ ปี 2564 และ 2565 มีกิจกรรมท่องเที่ยววิถีชุมชน หมู่บ้านน่าอยู่ ผักปลอดสารพิษ ผลิตภัณฑ์และสินค้าชุมชน เช่น กาแฟ น้ำพริกตาแดงปลาช่อนป่น มะขามแก้ว ผลิตภัณฑ์จักสาน สบู่สมุนไพร และ “แหนมหมู”หรือ “จิ้นส้ม” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) ที่ขึ้นชื่อของชุมชนแห่งนี้ เพื่อจำหน่ายแก่นักท่องเที่ยวผ่านตลาดวัฒนธรรม“สุดสาย ยายกอง” และมีลานวัฒนธรรมสร้างสุข นำเสนอความเข้มแข็งของชุมชน ศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันงดงามของชุมชน เช่น การแสดงฟ้อนเล็บ การแสดงชาติพันธุ์อาข่า เป็นต้น แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เช่น วัดท่าไคร้ วัดพุทธมิ่งโมลี และเทศกาล ประเพณีท้องถิ่น เช่น พิธีสงเคราะห์ทำบุญสืบชะตาหมู่บ้านเนื่องในประเพณีปี๋ใหม่เมือง ประเพณีตานก๋วยสลาก เป็นต้น
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

อบจ.เชียงราย ยกระดับศักยภาพ สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ (YEC) Chiang Rai

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 สิงหาคม 2567 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ พร้อมด้วย นางทานตะวัน แสนพิช สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย อำเภอเมือง เขต 7 นายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัดองค์การบริหาร ส่วนจังหวัดเชียงราย

นายวิญญู ทองทัน เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย กลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้าจังหวัดเชียงราย (YEC) Chiang Rai ร่วมการเปิดโครงการ โดยมี นางศศิธร ดวงใจประเสริฐ ผู้อำนวยการกองคลัง เป็นผู้กล่าวรายงานในครั้งนี้
 
องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สมาคมนักศึกษาเก่ามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้าจังหวัดเชียงราย (YEC) Chiang Rai ดำเนินการจัดอบรมสัมมนาโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการสู่การค้าระหว่างประเทศ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการหน้าใหม่สร้างช่องทางการตลาดในระบบธรรมดาทั่วไป (ออฟไลน์) จนถึงการค้าผ่านระบบดิจิทัล (ออนไลน์) โดยเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างผู้ประกอบการ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพเพื่อรองรับการค้าระหว่างประเทศที่ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้าอย่างต่อเนื่อง 
 
การจัดโครงการในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงรายให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำการค้าในเศรษฐกิจยุคใหม่ สามารถประยุกต์การทำการตลาด และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าและบริการในทุกระดับ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการดำเนินธุรกิจให้ผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ทำให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น และช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อพัฒนาให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและเพิ่มความสามารถแข่งขันในการทำการค้าต่อยอดสู่การค้าระหว่างประเทศอันจะเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถตามแนวทาง Thailand 4.0 และสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อให้ประชาชนในจังหวัดเชียงราย มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้
 
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการได้รับความอนุเคราะห์วิทยากรการบรรยาย ประกอบด้วย คุณธีรยสถ์ จิตต์เสนา คุณศรุตนันท์ โสภณิก คุณรวิศ หาญอุตสาหะ โดยมีกลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้ประกอบการทุกระดับ ประชาชนทั่วไปที่สนใจประกอบธุรกิจ นักเรียน นักศึกษา สถาบันการศึกษา หน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับการค้าในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,000 คน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการบูรณาการการทำงานเพื่อประชาชนในท้องถิ่นร่วมกันต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

กอ.รมน.เชียงราย เสริมความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายระดับผู้บริหารของจังหวัด

 

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐาณะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการอบรมการพัฒนาความสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย (พคบ.จังหวัด ช.ร.) รุ่นที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมี พ.อ.จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รอง ผอ.รมน.จังหวัดเชียงราย(ท.) นำผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และแกนนำกลุ่มมวลชนระดับจังหวัดเข้าร่วม ที่โรงแรม เอ็มบูทีค รีสอร์ท เชียงราย

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรพัฒนาความสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหารของ จังหวัดเชียงราย รุ่นที่ 2 ในวันนี้ กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ได้รับมอบหมายจาก กอ.รมน. ให้ดำเนินการจัดอบรมตามแผนการเสริมสร้างความมั่นคง ของสถาบันหลักของชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นด้านความมั่นคงเพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนการขับเคลื่อนงานด้านมวลชน ของ กอ.รมน. โดยการเสริมสร้างมวลชน เพื่อความมั่นคง 
 
รวมทั้งเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ การส่งเสริมการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการสร้างมวลชนเพื่อเป็นกลไกการมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ต่อไป
 
พ.อ.จักรวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและกระทำได้หลากหลายรูปแบบ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอก และภายในประเทศ ทั้งจากการกระทำของบุคคล หรือภัยจากธรรมชาติ อันเป็นสาธารณภัย
 
ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีความสงบเรียบร้อย ในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน ให้มีความพร้อม สามารถรับมือกับภัยคุกคาม และภัยพิบัติที่
อาจเกิดขึ้น ได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ในทุกมิติโดยใช้กลไก แก้ไขปัญหาแบบการมีส่วนร่วม และบูรณาการของทุกภาคส่วน ดังนั้น กอ.รมน. 
 
จึงได้กำหนดให้มีการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสถาบันหลัก และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจให้รู้บทบาท และหน้าที่ของ กอ.รมน. และเพื่อบูรณาการ การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของทุกภาคส่วน ตลอดจนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และสร้างเครือข่าย ในระดับผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคผู้นำมวลชนในระดับจังหวัด 
 
เพื่อสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในระดับจังหวัด และเพื่อขับเคลื่อนระบบการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมวลชนมีส่วนร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้ ช่วยเหลือประชาชนให้รับความเป็นธรรม

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ที่โรงแรมเฮอริเทจ เชียงราย โฮเทล แอนด์คอนเวนชั่น อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนอธิบดีกรมบังคับคดี ร่วมกันทำพิธีเปิดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” 

โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหนี้ที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 10 หน่วยงาน และสถาบันการเงิน ตลอดจนลูกหนี้ เข้าร่วมพิธีเปิดจำนวนมาก ซึ่งจัดโดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย ร่วมกับเจ้าหนี้เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วยสถาบันการเงิน 6 สถาบัน ส่วนราชการ 2 แห่ง และบริษัทเอกชน 1 แห่ง คือ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บริษัทโตโยต้า ลิสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทบริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด สหกรณ์การเกษตรเวียงชัย จำกัด และเจ้าหนี้อื้นๆ มาร่วมให้ความรู้ความเข้าใจในด้านต่างๆ สำหรับการไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และหนี้ครัวเรือน 

โดยมีผู้ไกล่เกลี่ยของกรมบังคับคดีเป็นคนกลางช่วยไกล่เกลี่ย ให้ความช่วยเหลือคู่ความ ผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี เพื่อหาข้อยุติร่วมกัน โดยจะทำให้ลูกหนี้สามารถชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ได้รวดเร็วขึ้น เป็นที่พอใจกับทั้งสองฝ่าย ส่งผลให้ปริมาณคดีการยึดทรัพย์ขายทอดตลาด และการอายัดทรัพย์สินลดลง ก่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม และช่วยเหลือประชาชนให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้โดยง่าย และส่งผลให้สามารถยุติข้อพิพาทชั้นบังคับคดีด้วยความรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย อีกด้วย

นายกำธร นาคทิพย์ ผอ.สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สำหรับโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” ครั้งนี้ สืบเนื่องจากกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานที่มีภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการยึดทรัพย์สิน การอายัดทรัพย์สิน หลังศาลมีคำพิพากษา ได้เห็นความสำคัญของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นบังคับคดี สืบเนื่องจากลูกหนี้ตามคำพิพากษาหลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว หรือได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ อันเนื่องมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID 19) หรือมีเหตุอื่นทำให้ขาดสภาพคล่องทางการเงินจนไม่สามารถชำระหนี้ได้ 
 
เป็นเหตุให้ถูกฟ้องร้องบังคับคดี ถูกยึดทรัพย์ขายทอดตลาด หรือถูกอายัดทรัพย์ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว กรมบังคับคดี โดยสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงราย จึงได้เล็งเห็นความสำคัญของการจัดโครงการ “มหกรรมไกล่เกลี่ยช่วยเหลือหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อกี่ศึกษา และหนี้ครัวเรือน ประจำปี 2567” เป็นประโยชน์และช่วยเหลือประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

ปลัดมท.สั่งผู้ว่าฯทุกจังหวัดค้นหา ผู้เสพ-ผู้ค้ายาเสพติดในทุกพื้นที่

 

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 67 นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้ศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด (ศอ.ปส.จ.) ทุกจังหวัดบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ปฏิบัติการตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยดำเนินการให้ครอบคลุม ทั้งด้านการป้องกัน การปราบปราม การบังคับใช้กฎหมาย การบำบัดรักษายาเสพติด และการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) ในพื้นที่ตำบล/หมู่บ้านอย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยกรณีผู้ค้าและผู้ผลิตให้จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด สำหรับผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ให้นำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทันที

นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า รัฐบาลได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและระดับพื้นที่ โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการให้ใช้แนวทางในการขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดเชิงรุก ควบคู่กับนโยบายการจัดระเบียบสังคมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้บูรณาการร่วมกับทุกภาคีเครือข่าย ภาครัฐ อาทิ ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ป.ป.ส. หน่วยงานด้านสาธารณสุข และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคศาสนา ภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคสื่อสารมวลชน เข้าร่วมปฏิบัติการ Re X-ray สถานบริการและสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกับสถานบริการ พร้อมทั้งรับแจ้งเบาะแสการกระทำความผิดและการสกัดจับเครือข่ายผู้ค้ารายใหญ่ และรายย่อยที่ลักลอบขนย้ายยาเสพติดเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย โดยไม่มีการยกเว้น
 
“เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการบำบัด รักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคมผู้ติดยาเสพติดให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดจังหวัด ดำเนินการมาตรการเร่งรัดการดำเนินการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ผู้ค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด (Re X-ray) โดยขอความร่วมมืออำเภอทุกอำเภอดำเนินการค้นการค้นหาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ในพื้นที่รับผิดชอบ โดยดำเนินการขอความร่วมมือจากบุคคลในครอบครัว หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา หรือ หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เจ้าของสถานประกอบการ แจ้ง หรือ ให้ข้อมูลบุคคลในครอบครัว บุคคลในปกครองดูแล ลูกจ้างพนักงาน ที่เสพ หรือ ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา และขอความร่วมมือจากชุมชน ผู้นำชุมชน/หมู่บ้าน หัวหน้าสถานศึกษา ผู้นำศาสนา ผู้ประกอบการหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐและเอกชน และประชาชน ให้ข้อมูลผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เพื่อนำไปสู่กระบวนการบำบัดรักษา โดยใช้สายด่วน 1567” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าว
 
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวต่ออีกว่า “ขอให้ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด/อำเภอ รับแจ้งประสานการปฏิบัติ และเก็บรักษาข้อมูลผู้แจ้งผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด ไว้เป็นความลับ โดยมุ่งเน้นให้ได้ตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้ากระบวนการบำบัดรักษา และเยียวยาฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย รวมทั้งฝึกฝนทักษะอาชีพ เพื่อให้มีรายได้และสามารถกลับคืนสู่สังคมอย่างปกติสุข และคัดกรองผู้ติดยาเสพติด โดยนำตัวผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เข้าสู่ระบบการคัดกรองและประเมินความรุนแรงของการติดยาเสพติดโดยใช้ศูนย์คัดกรอง สถานพยาบาลยาเสพติด เพื่อส่งตัวเข้าสู่ระบบการบำบัดรักษาและฟื้นฟูยาเสพติดต่อไป
 
“นอกจากนี้ ขอให้ทุกจังหวัดถอดบทเรียนการบูรณาการฐานข้อมูลยาเสพติด ให้เป็นแบบ “Real time” ของจังหวัดสุรินทร์ ให้ทุกจังหวัดได้นำไปใช้เพื่อให้มีข้อมูลที่เป็นปัจจุบันตลอดเวลา อันจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ผู้ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด รวมทั้งให้กรมการปกครองเร่งรัดสร้างความเข้มแข็งของชุมชนให้ชุมชนดูแลกันเอง ด้วยการส่งเสริมให้เกิดระบบคุ้ม ตามแนวพระราชดำริหมู่บ้านยั่งยืน (Sustainable Village) ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา พร้อมทั้งให้กรมการพัฒนาชุมชนไปกระตุ้นให้เกิดการรวมกลุ่มนำแนวทางของกองทุนแม่ของแผ่นดิน ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ไปดำเนินการให้เกิดกองทุนแม่ของแผ่นดินจนครบทุกหมู่บ้าน ชุมชน เพื่อให้การดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน” นายสุทธิพงษ์ฯ กล่าวทิ้งท้าย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

รัฐบาลเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ 3 เดือน ลดรายจ่าย กระตุ้นเศรษฐกิจไทย

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหา เสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงพาณิชย์ เชื่อว่าในระหว่างที่รัฐบาลกำลังดำเนินการโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ในช่วงไตรมาส 4 โครงการนี้จะลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ เพิ่มช่องทางการซื้อขาย ซึ่งเป็นการบรรเทาค่าใช้จ่ายที่ประชาชนจับต้องได้ในช่วงเวลานี้ จัดทำ 3 โครงการร่วมมือภาครัฐและภาคเอกชน


     นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ได้จัดทำโครงการฯ ด้วยแนวความคิดตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการช่วยเหลือแบ่งเบา ผู้ประกอบการรายเล็ก เติมเงินในกระเป๋าให้กับประชาชน และลดภาระค่าครองชีพครั้งใหญ่ กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยจะขับเคลื่อนโครงการฯ กำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่ 20 สิงหาคม – 20 พฤศจิกายน 2567 แบ่งเป็น 3 โครงการ ดังนี้ 


 1. ลดต้นทุนผู้ประกอบการรายเล็ก จะร่วมกับภาครัฐทุกกระทรวง ทำการลดค่าเช่าร้านค้า ค่าเช่าแผงตลาด กว่า 30,000 แผง โดยมีตลาดที่อยู่ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตลาดในสังกัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) ที่สำคัญ รวมทั้งแพลตฟอร์มออนไลน์ เจรจากับกระทรวงมหาดไทยใช้ศาลากลางจังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นศูนย์ประสานงาน มีพาณิชย์จังหวัดขับเคลื่อน และใช้สถานที่ท่องเที่ยว ตลาดใหญ่ ต่างๆ ทั่วประเทศ กระทรวงกลาโหมมีพื้นที่ 3,000 กว่าแห่งที่สามารถเข้าไปใช้ได้ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวขายสินค้าเป็นกรณีพิเศษกระทรวงสาธารณสุขจะใช้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ลงพื้นที่ประสานงานท้องที่ และสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีรถธงฟ้า จะส่งเสริมให้ประชาชนขายผ่านรถพุ่มพวง โดยจะส่งสินค้า อาทิ หมู ไก่ น้ำตาล น้ำมัน สินค้าอุปโภคบริโภคที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน


 2. จัดตลาดนัดพาณิชย์ทั่วประเทศ กำหนดไว้ 4 รูปแบบ คือ 
1) ตลาดพาณิชย์ ให้ผู้ประกอบการรายเล็ก โดยสำนักงานพาณิชย์จังหวัด 76 จังหวัด จะร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนจัดหาพื้นที่จำหน่ายสินค้าให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวันในราคาถูก อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง ทั้ง 76 จังหวัด ระยะเวลา 3 เดือน 
2) ตลาดนัดพาณิชย์บวกการจำหน่ายสินค้าธงฟ้า เพื่อช่วยผู้ประกอบการรายเล็กได้ขายสินค้าและให้ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าราคาถูก กำหนดจัดในสถานที่ต่าง ๆ เช่น ศาลากลางจังหวัด สถานที่ท่องเที่ยว นิคมอุตสาหกรรม ปั๊มน้ำมัน มหาวิทยาลัย ลานหน้าห้างค้าส่ง-ปลีก ลานหน้าห้างท้องถิ่น หมู่บ้านจัดสรร 
3) ตลาดพาณิชย์ บวกธงฟ้า และหอการค้าแฟร์ จะเป็นงานใหญ่ ลดทั้งจังหวัด 
4) ตลาดพาณิชย์เคลื่อนที่ บวกรถโมบายธงฟ้า จะส่งเข้าถึงพื้นที่ชุมชนห่างไกลทั่วประเทศ


    3. ร่วมมือผู้ผลิตและผู้ค้าส่งรายใหญ่ จัดมหกรรมลดราคาสินค้าครั้งใหญ่ ภายใต้ Campaign “ลดกระหน่ำทั้งประเทศ” และในช่วงเทศกาล โดยมีผู้ประกอบการเอกชนพร้อมที่จะเข้าร่วมโครงการส่วนนี้กับรัฐบาล 
ประเมินลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชนได้ 7,000 ล้านบาท


    หลังจากวันที่ 20 สิงหาคม 2567 จะเปิดพร้อมกันทั่วประเทศ ทุกจังหวัด เป็นความร่วมมือกันของภาครัฐ กระทรวงต่างๆ ภาคเอกชนและสมาคมต่างๆ สภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้าไทย กลุ่มบริษัทผู้ผลิตสินค้า ยูนิลิเวอร์ ไทยเบฟเวอเรจ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยให้ไม่กระทบกับร้านค้ารายย่อย และจะดึงร้านค้ารายย่อยให้มีส่วนร่วมในโครงการฯ “ประเมินขั้นต้นว่าสามารถลดค่าใช้จ่ายให้พี่น้องประชาชนได้ประมาณ 7,000 ล้านบาท จะเป็นพื้นฐานก่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตออก ให้ประชาชนสามารถเพิ่มการลงทุน ค้าขายได้ทั่วประเทศ ถือเป็นมติให้ดำเนินการและกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานทั้งหมด” นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News