Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

จ.สกลนคร ส่งต่อเจ้าภาพเชียงรายกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศ ครั้งที่ 29

 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือและพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย และจังหวัดเจ้าภาพคือจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 28 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดสกลนคร มาแล้วและได้ส่งต่อเจ้าภาพให้กับจังหวัดเชียงราย ต่อไป

โดยก่อวาระการประชุมได้มีการแนะนำตัวคณะสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทยต่อที่ประชุม คือ นายวิวัฒน์ วิกราตโนรส นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นางสาวจันทร พิมพ์สกุล ที่ปรึกษาสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นายเพิ่มศักดิ์ สุริยจันทร์ นายกสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ซึ่งเป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑสูงอายุแห่งเอเชียและสหพันธ์ฯโลก มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมกรีฑาสูงอายุ เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปและอดีตนักกีฬาทีมชาติที่พ้นจากระบบกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ได้เข้าถึงกิจกรรมกีฬาโดยต่อเนื่องตามอุดมการณ์การส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเล่นกีฬาต่อเนื่องตลอดชีวิต
 
 
สำหรับที่ประชุม ได้มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ด้วยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย สำนักงานการกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย และได้รับเกียรติจากสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ จังหวัดเชียงราย โดยได้กำหนดจัดการแข่งขันฯ ในระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันฯ ต่อไป
 
 
สำหรับการจัดการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2539  ครั้งที่ผ่านมาเป็นการจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 28 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทัศนคติด้านบวก ในการรักการออกกำลังกาย  ส่งเสริมผู้สูงอายุ ที่มีความสามารถด้านกรีฑา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน และได้พัฒนาตนเองเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ และยังเป็นการคัดเลือกนักกรีฑาผู้สูงอายุ เป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์เอเชีย ต่อไป   โดยมีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น  1,281 คน   ประกอบด้วย  นักกีฬาไทย 896  คน นักกีฬาเพื่อสุขภาพ 300  คน และนักกีฬาจากต่างประเทศ อีก 85  คน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เปิดรายชื่อ “เลือกสว.67” เชียงราย ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ เช็คทั้งหมดได้ที่นี่

 

เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67  ข้อมูลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 หรือ สว. 2567 ในการเลือกระดับอำเภอ ในวันที่ 9 มิ.ย. มีจำนวนผู้มารายงานตัวรอบแรก จำนวน 43,818 คน โดยเป็นชาย 25,459 คน และเป็นหญิง 18,359 คน

จำนวนผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ รอบแรก จำนวน 32,190 คน เป็นชาย 19,754 ราย และ เป็นหญิง 12,436 คน จากนั้นการเลือกในรอบที่ 2 ระดับอำเภอ หรือการจับฉลากแบ่งสายเลือกไขว้ ได้จำนวนผู้ได้รับเลือก เข้าไปสู่การเลือกในระดับจังหวัด จำนวน 23,645 คน โดยเป็นชาย 15,077 คน และเป็นหญิง 8,568 คน

ทั้งนี้ จากจำนวนผู้สมัครรับเลือกเป็น สว.ที่มีคุณสมบัติ ตามกฎหมายและประกาศเป็นบัญชีผู้สมัคร สว. 46,206 คน เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา โดยผู้มีสิทธิ์เลือกหลังการเพิ่มชื่อและถอนชื่อแล้วมีจำนวน 45,753 คน ซึ่งเป็นชาย 26,436 คน และเป็นหญิง 19,317 คน

ซึ่งหลังจากนี้สำนักงาน กกต.รันหมายเลขผู้สมัคร สว.ในรอบการเลือกระดับจังหวัดวันนี้ (10 มิ.ย.67) ส่วนในวันถัดไปจะประกาศลงในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต.และแอปพลิเคชัน “สมาร์ทโหวต” เพื่อให้ประชาชนได้ติดตามตรวจสอบต่อไป

สำหรับผู้ที่ได้รับเลือกระดับอำเภอไประดับจังหวัดรายกลุ่ม 20 กลุ่มสาขาอาชีพ โดยกลุ่มผู้สูงอายุมีผู้ผ่านเข้ารอบระดับจังหวัดมากที่สุด ซึ่งผู้สมัครที่เข้ารอบในแต่ละกลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 กลุ่มบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง 1,332 คน

กลุ่ม2 กลุ่มกฏหมายและกระบวนการยุติธรรม 1,171 คน

กลุ่ม 3 กลุ่มการศึกษา 1,975 คน

กลุ่ม4 กลุ่ม สาธารณสุข 1,024 คน

กลุ่ม 5 กลุ่ม กลุ่มอาชีพทำนาปลูกพืชล้มลุก 1,460 คน

กลุ่ม 6 กลุ่มอาชีพทำสวนป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 1,565 คน

กลุ่ม7 กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคลซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ใช้แรงงาน 1,261 คน

กลุ่ม 8 กลุ่มประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภคทรัพยากรธรรมชาติพลังงานพลังงาน 756 คน

กลุ่ม 9 กลุ่ม ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฏหมายว่าด้วยการนั้น 1,057 คน

กลุ่ม 10 กลุ่ม ผู้ประกอบกิจการอื่นนอกเหนือจากกิจการตามกลุ่ม 9 จำนวน 808 คน

กลุ่ม 11 กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว 707 คน

กลุ่ม 12 กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม 443 คน

กลุ่ม 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารการพัฒนานวัตกรรม 671 คน

กลุ่ม 14 กลุ่มสตรี 1,800 คน

กลุ่ม 15 กลุ่มผู้สูงอายุคนพิการฯ 1,984 คน

กลุ่ม 16 กลุ่ม ศิลปะวัฒนธรรมดนตรีการแสดงและบันเทิง นักกีฬา 1,103 คน

กลุ่ม 17 กลุ่ม ประชาสังคมฯ 1,163 คน

กลุ่ม 18 กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 616 คน

กลุ่ม 19 กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพอาชีพอิสระ 1,465 คน

กลุ่ม 20 อื่นๆ 1,275 คน

โดยส่งให้ผู้อำนวยการการ เลือกระดับจังหวัด ปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (ซึ่งจะเผยแพร่ในแอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) และทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง) ก่อนวันเลือกระดับจังหวัดไม่น้อยกว่า 3 วัน ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอหรือผู้ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอมอบหมาย จัดทำเอกสารหรือข้อมูลแนะนำตัวของแต่ละกลุ่มที่อยู่ภายในเขตอำเภอของตน จากระบบบริหารจัดการการเลือก พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอมารับเอกสาร เพื่อให้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอนำมาในวันเลือกระดับจังหวัด

 

ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายได้มีการเตรียมความพร้อมของแต่ละอำเภอ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริปลัดจังหวัดเชียงราย ร่วมเข้าสังเกตการณ์ที่ว่าการอำเภอแม่จัน มีผู้สมัคร 20 คน ส่วนที่ว่าการอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย มีผู้สมัคร 28 คน ในโอกาสเดียวกันมีนายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย มาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย และผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพ เกษตรกร ค้าขาย ข้าราชการ และรับจ้าง
 
 
สำหรับผู้สังเกตการณ์ ต้องเป็นผู้ที่ได้แจ้งรายชื่อไว้กับทาง กกต. มาก่อนแล้ว จึงจะสามารถเข้ามาสังเกตการณ์ในอาคารโดมได้ ส่วนผู้สังเกตการณ์อื่น ที่ไม่ได้แจ้งชื่อมาก่อน จะให้สังเกตการณ์ นอกอาคาร ซึ่งจะมีพื้นที่และเก้าอี้ไว้สำหรับผู้มาสังเกตการณ์
 
 
โดยในเวลา 08.00 น. ผู้สมัครต้องรายงานตัวต่อกรรมการประจำสถานที่เลือกของกลุ่มที่ตนลงสมัคร ส่งมอบโทรศัพท์มือถือและเครื่องมือสื่อสาร และแสดงหลักฐานเป็น บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขประจำตัวประชาชน จากนั้นเวลา 09.00 น. ผอ.การเลือกระดับอำเภอประชุมชี้แจงผู้สมัคร และเริ่มลงคะแนนรอบแรกเป็นการ “เลือกกันเอง” ในกลุ่มอาชีพ โดยผู้สมัครแต่ละคนโหวตได้ไม่เกิน 2 คะแนน จะลงคะแนนให้ตนเองก็ได้ แต่จะลงคะแนนให้บุคคลใดเกิน 1 คะแนนมิได้ ซึ่งในการลงคะแนนต้องเขียนเลขอารบิกลงไปในบัตร ถ้ากลุ่มใดมีผู้สมัครหรือผู้มารายงานตัวไม่เกิน 5 คน ให้ถือว่าทุกคนในกลุ่มนั้นเป็น ผู้ได้รับเลือกขั้นต้น ผ่านเข้าสู่รอบ “เลือกไขว้” ไปโดยปริยาย
 
 
ส่วนการนับคะแนนรอบแรก จะเกิดขึ้น ณ สถานที่เลือกภายหลังการปิดลงคะแนนแล้ว โดยผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 5 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม รวมถึงกลุ่มที่มีผู้สมัครหรือผู้มารายงานตัวไม่เกิน 5 คน ให้เป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น ๆ กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน จนมีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 5 คน ให้ผู้ได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันเองเพื่อหาผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่ม แต่ถ้ากลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 5 คน ให้เฉพาะผู้ได้คะแนนเป็นผู้สมัครที่ได้รับเลือกขั้นต้นในกลุ่มนั้น จากนั้นผู้สมัครต้องจับสลากเพื่อแบ่งสายให้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนไปจับสลากแบ่งสาย จำนวนไม่เกิน 4 สาย สายละ 3-5 กลุ่ม
 
 
หลังจากนั้นจะเริ่มลงคะแนนรอบสองเป็นการ “เลือกไขว้” กลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน โดยผู้สมัครแต่ละคนต้องลงคะแนนให้ผู้สมัครที่มาจากกลุ่มอื่นที่อยู่สายเดียวกันกลุ่มละ 1 คน โดยจะเลือกตนเองหรือผู้สมัครกลุ่มเดียวกับตนเองมิได้
การนับคะแนนรอบสองจะเกิดขึ้น ณ สถานที่เลือกภายหลังการปิดลงคะแนนแล้ว โดยให้ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม เป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้น กรณีกลุ่มใดมีผู้ได้รับคะแนนเท่ากัน จนมีผู้ได้คะแนนสูงสุดเกิน 3 คน ให้ผู้ที่ได้คะแนนเท่ากันจับสลากกันเองเพื่อให้ได้ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอในกลุ่มนั้น ถ้ากลุ่มใดมีผู้ได้คะแนนไม่ถึง 3 คน ให้เฉพาะผู้ได้คะแนนเป็นผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ จากนั้นจะประกาศผลนับคะแนนเบื้องต้นหลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมด ผอ.การเลือกระดับอำเภอจะประกาศบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ พร้อมจัดส่งให้ ผอ.การเลือกระดับจังหวัดปิดประกาศ ณ ที่ว่าการอำเภอ และเผยแพร่ในระบบอิเล็กทรอนิกส์ต่อไป
 
 
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบัญชีรายชื่อผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอ ได้ทางเว็บไซต์สำนักงาน คณะกรรมการการเลือกตั้ง https://senator.ect.go.th/ หรือ แอปพลิเคชันสมาร์ทโหวต (Smart Vote) และ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกจังหวัด หรือสายด่วน 1444
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

นิตยสารชื่อดังให้ไทยติดอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024

 
เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2567 นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ขอบคุณทุกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนไทยทุกคนที่เป็นเจ้าภาพที่ดีจนไทยได้รับการจัดให้เป็นอันดับ 1 ประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดในปี 2024 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime, 2024) รวมทั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงทุกปัจจัยที่ส่งเสริมศักยภาพด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย

 

ขณะเดียวกัน การจัดอันดับในครั้งนี้ดำเนินการโดยนิตยสาร CEOWORLD ซึ่งเป็นนิตยสารด้านธุรกิจชื่อดัง โดยใช้วิธีจัดอันดับโดยการเก็บข้อมูลความคิดเห็นจากผู้อ่านมากกว่า 295,000 ราย ที่มีต่อ 67 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจ และประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุด เป็นอันดับ 1 (World’s Best Countries To Visit In Your Lifetime) ในปีนี้ ด้วยคะแนนร้อยละ 72.15

 

โดยทางนิตยสาร CEOWORLD ระบุว่า การท่องเที่ยวในประเทศไทย ทำให้ได้รับประสบการณ์ท่องเที่ยวหลากหลาย เช่น สีสันยามค่ำคืน อาหารอร่อย ศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา แหล่งช็อปปิ้งที่ขึ้นชื่อ แม่น้ำลำคลองที่คดเคี้ยวอย่างสวยงาม วัดของศาสนาพุทธ ตลาดกลางคืน ตลาดน้ำ และสวนสาธารณะสุดพิเศษ

 

สำหรับผลการจัดอันดับประเทศที่น่าเยี่ยมชมที่สุดประจำปี 2024 โดยนิตยสาร CEOWORLD ที่น่าสนใจ 10 อันดับแรก มีดังนี้

  1. ประเทศไทย ได้คะแนนร้อยละ 15
  2. กรีซ ร้อยละ 22
  3. อินโดนีเซีย ร้อยละ 15
  4. โปรตุเกส ร้อยละ 32
  5. ศรีลังกา ร้อยละ 53
  6. แอฟริกาใต้ ร้อยละ 76
  7. เปรู ร้อยละ 76
  8. อิตาลี ร้อยละ 77
  9. อินเดีย ร้อยละ 65
  10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ร้อยละ 38

 

ด้าน นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางการท่องเที่ยวของภูมิภาค หรือ Tourism Hub ซึ่งการเป็น Tourism Hub นั้น ถือเป็นหนึ่งในวิสัยทัศน์ประเทศไทยที่รัฐบาลมุ่งนำพาประเทศไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองในทุกมิติ โดยในปีนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.5 ล้านล้านบาท และจะทวีเพิ่มมากขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ด้วย 5 กลยุทธ์สำคัญ คือ

 

การยกระดับประสบการณ์ โปรโมตการท่องเที่ยวไทยในทุกมิติ ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวไทยก่อนการเดินทาง ให้ข้อมูลสำคัญกับนักท่องเที่ยวตั้งแต่บนเครื่องบิน เพิ่มความรวดเร็วในการให้บริการในสนามบิน สร้างความประทับใจด้วยมัคคุเทศก์ และผู้นำเที่ยวที่มีมาตรฐาน สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง

 

อีกทั้งยังมีการชูเอกลักษณ์ไทย หรือ เสน่ห์ไทย นำเสนอเรื่องราว และเพิ่มมูลค่าด้วยการนำจุดแข็งทางธรรมชาติ และวัฒนธรรมมาเป็นจุดขาย ได้แก่ Must Beat มวยไทย, Must Eat อาหารไทย, Must Seek วัฒนธรรมไทย, Must Buy ผ้าไทย และ Must See โชว์ไทย นอกจากนี้ เมืองหลัก และเมืองน่าเที่ยว เชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจากเมืองหลักสู่เมืองใกล้เคียง อาทิ เส้นทาง Lanna Culture เชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง เส้นทาง UNESCO Heritage Trail มรดกไทย มรดกโลก ผ่านเส้นทางสุโขทัย-กำแพงเพชร และนครราชสีมา เส้นทาง NAGA Legacy นครพนม สกลนคร บึงกาฬ ตามรอยตำนานศรัทธาพญานาคเส้นทาง Paradise Islands ตรัง-สตูล หมู่เกาะแห่งอันดามันใต้ สวรรค์แห่งท้องทะเล เส้นทาง The Wonder of Deep South ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส ใต้สุดแห่งสยาม มนต์เสน่ห์แห่งพหุวัฒน

 

ขณะเดียวกันยังมุ่งเน้น Hub of ASEAN เปิดประตูการท่องเที่ยวสู่อาเซียนให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางกับประเทศเพื่อนบ้าน เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานให้การเดินทางท่องเที่ยว ไร้รอยต่อ

 

ตลอดจน World Class Event Hub ให้ไทยเป็นศูนย์รวม World Class Experience จากการนำ Event ระดับโลกเข้ามาจัดแสดงในประเทศ ทั้งด้านดนตรี กีฬา อาหาร ไลฟ์สไตล์ ศิลปและวัฒนธรรม อาทิ จัดงานวิสาขบูชาโลก ประจำปี 2567 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพSummer Sonic Bangkok 2024, KAWS Arts, Moto GP, Volleyball World Championship เป็นต้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้และชื่อเสียงให้กับประเทศ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS UPDATE

‘นิด้าโพล’ เผย 34.35 % ไม่ค่อยพอใจ 9 เดือนรัฐบาลนายกฯ ‘เศรษฐา’

 

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2567 ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้เปิดเผยผลการสำรวจของประชาชน เรื่อง “ขอถามบ้าง … 9 เดือน รัฐบาลนายกฯ เศรษฐา” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 4-5 มิถุนายน 2567 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,310 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่างโดยใช้ความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” สุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่น ร้อยละ 97.0

 

                จากการสำรวจเมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อการทำงานของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในรอบ 9 เดือน พบว่า ตัวอย่าง

  • ร้อยละ 34.35 ระบุว่า ไม่ค่อยพอใจ เพราะ การบริหารจัดการในเรื่องต่าง ๆ มีความล่าช้า และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างไปจากเดิม 
  • ร้อยละ 31.69 ระบุว่า ไม่พอใจเลย เพราะ ไม่มีความก้าวหน้าในการทำงานและไม่สามารถทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ 
  • ร้อยละ 25.19 ระบุว่า ค่อนข้างพอใจ เพราะ มีความพยายามผลักดันนโยบายต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น และเห็นผลงานที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา 
  • ร้อยละ 7.40 ระบุว่า พอใจมาก เพราะ มีความตั้งใจในการทำงาน ช่วยเหลือประชาชน ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น และร้อยละ 1.37 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

               

ด้านความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 35.95 ระบุว่า ไม่เชื่อมั่นเลย เพราะ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น ผลงานยังไม่ชัดเจน แก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ รองลงมา ร้อยละ 35.04 ระบุว่า ไม่ค่อยเชื่อมั่น เพราะ การทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ แก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ร้อยละ 22.14 ระบุว่า ค่อนข้างเชื่อมั่น เพราะ มีประสบการณ์ในการทำงาน มีทักษะด้านการบริหาร สามารถทำให้ประเทศพัฒนาขึ้นได้ ร้อยละ 5.42 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก เพราะรัฐบาลมีความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา มีการบริหารที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาของประเทศได้ และร้อยละ 1.45 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

                ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นกับรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ภายในระยะเวลา 2 เดือน พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 43.44 ระบุว่า นายกฯ เศรษฐา ยังคงอยู่ในตำแหน่งเหมือนเดิม รองลงมา ร้อยละ 15.65 ระบุว่า พรรคร่วมรัฐบาลยังคงเหมือนเดิม ร้อยละ 15.50 ระบุว่า จะมีการปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 10.92 ระบุว่า จะมีการยุบสภาเพื่อจัดการเลือกตั้งใหม่ ร้อยละ 10.46 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี แต่ยังคงมาจากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 6.56 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคฝ่ายค้าน ร้อยละ 6.11 ระบุว่า จะมีการสลับขั้วทางการเมือง เปลี่ยนรัฐบาล ร้อยละ 4.58 ระบุว่า จะมีการเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี โดยนายกฯ คนใหม่จะมาจากพรรคร่วมรัฐบาลปัจจุบัน ร้อยละ 3.21 ระบุว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.05 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะลดลง ร้อยละ 2.60 ระบุว่า จำนวนพรรคร่วมรัฐบาลจะเพิ่มขึ้น และ สส. ฝ่ายรัฐบาลจะมีจำนวนลดลง ในสัดส่วนที่เท่ากัน และร้อยละ 12.67 ระบุว่า ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

 

                เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 8.55 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 18.63 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคกลาง ร้อยละ 17.86 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.35 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร้อยละ 13.82 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ และร้อยละ 7.79 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออก ตัวอย่าง ร้อยละ 48.09 เป็นเพศชาย และร้อยละ 51.91 เป็นเพศหญิง

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 12.37 อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 17.94 อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 18.24 อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 26.64 อายุ 46-59 ปี และร้อยละ 24.81 อายุ 60 ปีขึ้นไป ตัวอย่าง ร้อยละ 96.26 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 3.28 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 0.46 นับถือศาสนาคริสต์ และศาสนาอื่น ๆ

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 35.65 สถานภาพโสด ร้อยละ 61.60 สมรส และร้อยละ 2.75 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ ตัวอย่าง ร้อยละ 20.61 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 35.50 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 9.39 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 28.40 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 6.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 9.08 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 16.18 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 21.15 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 11.76 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.65 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 20.38 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน และร้อยละ 5.80 เป็นนักเรียน/นักศึกษา

 

                ตัวอย่าง ร้อยละ 21.45 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 18.63 รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 33.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.76 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001-30,000 บาท ร้อยละ 4.05 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001-40,000 บาท ร้อยละ 4.20 รายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 7.86 ไม่ระบุรายได้

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

แล้วใครทำ! หลังชาว ‘ปกาเกอะญอ’ อ.เวียงป่าเป้า ถูกทำลายไร่หมุนเวียน

 

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 67 นายจรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ,นายศรุต ศรีจันทร์ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.),นายนิราภร จะพอ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดใน และ นายถนัด จะสุ ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดนอก ซึ่งเป็นตัวแทนจากชุมชนห้วยหินลาดใน ห้วยหินลาดนอก และบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ประมาณ 20 คน เดินทางมารวมตัวที่บริเวณสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อขอให้ตรวจสอบกรณีมีชายแต่งชุดดำพร้อมอาวุธปืนเข้าไปบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย เมื่อ 4 มิ.ย.67 ที่ผ่านมา โดยมี นายธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า มาพบตัวแทนและรับหนังสือ

 

นายธนชัย ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้ชี้แจงว่า กรณีได้มีเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจตราในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นคำสั่งจากอธิบดีกรมป่าไม้ให้ตรวจสอบข้อมูลการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าตามโครงการจัดทำข้อมูลสภาพพื้นที่ป่าปี 2566 ทางสำนักจัดการที่ดินป่าไม้ สังกัดกรมป่าไม้ จึงได้ทำความร่วมมือกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจากดาวเทียม หากเดิมเป็นพื้นที่ป่า ดาวเทียมจะจับจุดสัญญาณได้เป็นสีเขียว หากมีการแผ้วถาง จุดสัญญาณจะเป็นสีขาว ซึ่งข้อมูลดาวเทียมจังหวัดเชียงราย พบจุดพิกัดสีขาวถึง 1,800 จุด จึงมีคำสั่งให้ตรวจสอบในระดับพื้นที่ ซึ่งในการเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นไปตามการอนุญาตภายใต้มาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรณีชุมชนห้วยหินลาดใน ทางหน่วยงานมีความเช้าใจในวิถีเกษตรแบบไร่หมุนเวียนของชุมชนเป็นอย่างดี ที่ผ่านมาก็ไม่เคยมีข้อขัดแย้งในการทำงานแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม กรณีที่มีเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัดเข้าไปกระทำพฤติกรรมดังกล่าวในชุมชน ทางส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่าได้รับรายงานข้อมูลมาจากเจ้าหน้าที่ในสังกัดเช่นเดียวกัน แต่จากการซักถามเบื้องต้น ทางเจ้าหน้าที่ได้ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำ จึงเห็นว่าทางชุมชนอาจต้องไปแจ้งความเพื่อให้เกิดการสอบสวนจนได้ข้อยุติว่าใครคือผู้กระทำผิดจริง

 

โดยทาง ตัวแทนชุมชนห้วยหินลาดในและใกล้เคียง ต้องการเรียกร้องต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เนื่องจากการที่เจ้าหน้าที่เข้ามาในพื้นที่โดยไม่แจ้งทางผู้ใหญ่บ้านและชุมชน ทำลายข้าวของในพื้นที่ทำกินของชุมชน และต้องการให้มีการตรวจสอบหาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วน ซึ่งต้องเป็นการตรวจสอบที่มีสัดส่วนชองชุมชน ท้องที่ท้องถิ่น และหน่วยงานอย่างเท่า ๆ กัน ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบกันเองภายในหน่วยงาน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นมาเป็นระยะเวลานานแล้ว เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นในพื้นที่ทำกินเช่นนี้ และยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริงว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จึงอาจทำให้ชาวบ้านสงสัยและกังวลใจว่า หลังจากนี้หากชาวบ้านจะเข้าไปในไร่หรือพื้นที่ทำกินได้เช่นเดิมหรือไม่ ถ้ายังทำกินอยู่จะเกิดการบุกรุกและคุกคามเช่นนี้หรือไม่ จึงอยากให้ทางหน่วยงานชี้แจงและยืนยันว่าจะยังคงสามารถทำกินในพื้นที่ได้ดังเดิมที่ผ่านมาชาวบ้านในชุมชนต่างยินดีให้ความร่วมมือกับทางหน่วยงาน เมื่อทางหน่วยงานต้องการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ ทางชุมชนก็อำนวยความสะดวกโดยตลอด แต่กลับพบการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ต้องไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้กับชุมชนอื่น ๆ อีก เพื่อให้ได้ผลการตรวจสอบและให้เกิดมาตรการป้องกันเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต และให้แต่งตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน โดยให้มีสัดส่วนของชุมชนห้วยหินลาดในและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ในสัดส่วนที่เท่ากัน และต้องหามาตรการเยียวยาผลกระทบของชาวบ้านในพื้นที่ไร่หมุนเวียนที่ถูกทำลายทรัพย์สิน รวมถึงเยียวยาผลกระทบต่อความมั่นคงทางจิตใจของชาวบ้าน และยืนยันว่าชาวบ้านจะยังสามารถทำกินอยู่ในพื้นที่ไร่หมุนเวียนทุกแปลงได้โดยเร่งด่วน

 

 

ซึ่งชาวบ้านตั้งข้อเกตว่า หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโดยปกติจะมีการแจ้งทางผู้ใหญ่บ้านให้ทราบวัตถุประสงค์ในการเข้ามาในพื้นที่ เจ้าของแปลงทำกินก็จะสามารถพาไปลงพื้นที่แปลงทำกินของตนเพื่อยืนยันลักษณะการทำกินได้ แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการแจ้งให้ทราบแต่อย่างใด ทางชุมชนจึงไม่ทราบว่าเพราะเหตุใดจึงมีการกระทำเช่นนี้ในพื้นที่

 

 

ทางทีมข่าวนครเชียงนิวส์ ได้ทำการสัมภาษณ์และค้นหาข้อมูลจากเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยทางแหล่งข่าวได้แจ้งกับทีมข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่จำนวน 3 คน ที่แจ้งเตือนว่ามีการเปลี่ยนแปลงสภาพป่าที่ป่า จึงเข้าไปตรวจสอบว่าพื้นที่ตรงนี้มีการเปลี่ยนแปลงจากที่ดินทํากินเดิม หรือเป็นที่บุกเบิกใหม่ เพื่อจะมาปิดในระบบ และเพื่อเช็คว่ามีการบุกรุกจริงหรือไม่

 

ช่วงประมาณ 14.00 น. มีเจ้าหน้าที่ได้ไปถึงในพื้นที่ และมีการตรวจสอบถ่ายภาพตามจุดพิกัด โดยได้มีไปเจอชาวบ้าน และได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านว่าทํากินในพื้นที่นี้นานหรือยัง พอใช้เวลาตรวจสอบสักพัก หลังจากนั้นก็มีการถอนกําลัง ระหว่างนั้นได้เกิดฝนตกเจ้าหน้าที่จึงได้มีการไปแวะพักที่ศาลาที่มีแทงค์น้ำตั้งอยู่ และ ระหว่างรอฝนหยุดตก ขากลับยางล้อรถของเจ้าหน้าที่รั่วจึงค่อยๆ ขับรถกลับกันมาจนถึงชุมชนในหมู่บ้าน และในเวลาประมาณเกือบ 17.00 น. ชาวบ้านจึงขอให้เจ้าหน้าที่เปิดเผยใบหน้าเนื่องจากตอนที่เจ้าหน้าที่ไปลงพื้นที่ได้ขี่รถมอเตอร์ไซค์ไป จึงมีการปิดบังใบหน้าบางส่วนด้วยหน้ากากไว้เพื่อกันแดดและฝนตามปกติ หลังจากนั้นทางเจ้าหน้าที่ได้ใช้เวลาปะยางรถประมาณ 30 นาที ช่วงระยะเวลานั้นชาวบ้านก็เข้ามาสอบถามว่ามาทําอะไร ทางเจ้าหน้าที่จึงได้มีการชี้แจงว่ามาตรวจสอบพื้นที่และปรึกษาเรื่องการขออนุญาตไฟฟ้า จากนั้นหลังเวลา 17.40 น. ได้ขี่รถออกมาจากหมู่บ้าน

 

และในวันที่ 5 มิถุนายน 2567 ปรากฏว่ามีกระแสข่าวในโลกโซเชียลออกมาต่อว่ามีชายชุดดำบุกทำลายไร่หมุนเวียน ซึ่งก็มีแต่เจ้าหน้าที่ ที่เข้าไปก็เลยอาจจะเข้าใจได้ว่า เป็นคนเข้าไปทําลายสิ่งของ และเข้าไปหารื้อถอนทรัพย์สินต่างๆ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็ได้มีการสอบถามเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ แล้วทุกคน ซึ่งยืนยันว่าไม่ได้มีการเข้าไปทำลายทรัพย์สินอะไรทั้งสิ้น อย่างเช่น รอยฟันถังน้ำที่เกิดขึ้นเจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าตอนนที่ขึ้นไปมีแค่ปืนกระบอกเดียวที่เป็นอาวุธประจํากายที่ใช้ไปออกลาดตระเวน และเข้าไปทํางานตามปกติไม่ได้มีการไปข่มขู่หรือทําลายข้าวของ ส่วนจุดพิกัดที่ถูกถ่ายภาพมาว่ามีการไปทำลายทรัพย์สิน ทางเจ้าหน้าที่แจ้งว่าไม่ทราบว่าอยู่จุดนี้คือจุดไหน แต่รู้จุดเดียวคือที่มีการขับผ่านศาลาที่มีกรวยห้อยตามศาลา แต่ไม่ได้มีการเข้าไปในพื้นที่ของชุมชนแต่อย่างใด

 

และจากการสอบถามทางผู้นําชุมชน เพื่อขอหลักฐานภาพถ่าย หรือพยานบุคคลเพื่อยืนยันว่ามีใครเห็นเจ้าหน้าที่ไปทำลายข้าวของหรือไม่ ซึ่งเพราะถ้ามีการกระทำดังนั้นจริง จะต้องมีเรื่องวินัยเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่ทางผู้นําชุมชนก็บอกว่าเห็นเจ้าหน้าป่าไม้เข้ามา และพอเจ้าหน้าที่ออกไปก็เห็นข้าวของเสียหาย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็แจ้งมาว่า ถ้ามีใครไปแอบอ้างทั้งๆ ที่เจ้าหน้าที่ไม่ทํา จะพิสูจน์ได้อย่างไร ในเมื่อไม่มีใครเห็นเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำ ตามปกติแล้วเจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายอยู่แล้ว ตลอดเส้นทางที่เข้าไปก็มีการสอบถามทางกับทางชุมชน โดยได้เจอพระรูปหนึ่งจึงได้เข้าไปคุยว่าเจ้าหน้าที่เข้ามาตรวจสอบพื้นที่นะ ตอนเจอคนในชุมชนก็มีการแจ้งชื่อ ตอนเข้าไปในชุมชนก็มีชาวบ้านประมาณ 10 กว่าคนมาถามชื่อ ชาวบ้านบางคนก็ยังมาช่วยปะยางรถด้วย ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ก็บอกว่าเป็นการเข้ามาตรวจสอบพื้นที่ทำกินเดิม และหน่วยงานก็มั่นใจว่าเจ้าหน้าที่ไม่น่าจะมีการดำเนินการอะไรทึ่ไม่สมควรอย่างที่กล่าวอ้าง

 

แต่ยอมรับว่าไม่มีการแจ้งเป็นหนังสือเข้าไป เพราะเป็นการเข้าไปในพื้นที่เดิม ตรวจสอบและไปปิดในระบบ ซึ่งเป็นการเข้าไปลาดตระเวน เผื่อเจอคนบุกรุก แต่ด้วยความที่เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้จึงคิดว่า พื้นที่เป็นพื้นที่เดิมและไม่น่าจะมีปัญหาในการเข้าไปตรวจสอบ และได้ยืนยันแล้วว่าไม่ได้มีพฤติกรรมดังกล่าว แต่หากชาวบ้านท่านใดมีข้อมูล พยาน หรือหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่เข้าไปทําลายทรัพย์สินสามารถส่งหลักฐานมาให้ทางหน่วยงานตรวจสอบได้เลย

 

สำหรับเหตุการณ์ชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ค.67 ที่ผ่านมา มีชายแต่งชุดดำคล้ายเจ้าหน้าที่จำนวน 3 นาย มีผ้าปิดคลุมใบหน้า พร้อมอาวุธปืนยาว 1 กระบอก ได้ขี่รถจักรยานยนต์ผ่านเข้ามาในบริเวณชุมชน ซึ่งทางชุมชนเข้าใจว่าเป็นการเข้ามาลาดตระเวนที่ต้องใช้เส้นทางดังกล่าวเข้าออกเป็นปกติ จนกระทั่งชาวบ้านได้เข้าไปยังบริเวณไร่หมุนเวียนแปลงดังกล่าวแล้วพบว่า ทรัพย์สินในกระท่อมในไร่หมุนเวียนถูกรื้อทำลาย รวมทั้งถังเก็บน้ำสำรองที่ใช้ดับไฟป่าก็ถูกกรีดและถูกปล่อยน้ำออกจนหมด รวมไปถึงอุปกรณ์พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในไร่หมุนเวียนตามความเชื่อของชุมชนกะเหรี่ยง “จื่อ ลอ มวา ข่อ” ที่ใช้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติที่จะขอให้ฟ้าฝนช่วยให้การเพาะปลูกราบรื่นนั้นถูกรื้อทำลายกระจัดกระจาย

 

 

ทั้งนี้หมู่บ้านห้วยหินลาดในถือเป็นหมู่บ้านที่มีการอนุรักษ์ป่าไม้และวิถีชีวิตวัฒนธรรมปกาเกอะญออย่างเข้มแข็ง และหน่วยงานราชการหลายหน่วยได้มีการเข้ามาดูผลงานในหมู่บ้านดังกล่าว และชุมชน ผู้นำชุมชนหลายคนก็เคยได้รับรางวัลหลากหลายรางวัลที่การันตีถึงความยั่งยืนในพื้นที่ อาทิ

 

1.รางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 1 ปี 2542 ประเภทชุมชน

2.“รางวัล 5 ปีแห่งความยั่งยืน” (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นรางวัล “สิปปนนท์ เกตุทัต รางวัลแห่งความยั่งยืน”) ในปี 2548

3.กลุ่มเยาวชนบ้านห้วยหินลาดใน ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 7 ในปี 2548

4.พะตีปรีชา ศิริ (อายุ 59 ปี) ได้รับรางวัล “วีรบุรุษ รักษาป่า” Forest Hero จากการประชุมของ องค์การสหประชาชาติ เรื่องป่าไม้ ที่กรุงอิสตันบูล ในปี 2556

5.ได้รับรางวัลชุมชนต้นแบบ และศึกษาแลกเปลี่ยนชุมชนต้นแบบที่ประเทศมาเลเซีย ในปี 2566

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

นายกฯ การันตี ราคา ‘ลำไย’ เกรด AA ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 32 บาท

 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่แปลงใหญ่ลําไย ต.ริมปิง อ.เมืองลําพูน จ.ลําพูน นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ เดินทางมาพบปะเกษตรกรชาวสวนลําไย ณ แปลงใหญ่ลําไย ต.ริมปิง อ.เมืองลําพูน จ.ลําพูน เพื่อให้ความมั่นใจถึงราคาผลผลิตในรอบปี ซึ่งการมาครั้งนี้ นายวุฒิไกร ลีวีระพันธ์ุ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางร่วมคณะด้วย

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ลำไยเป็นพืชรอง แต่บังเอิญว่าลำไยเป็นพืชหลักของภาคเหนือ ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกครึ่งหนึ่งของ จ.ลำพูน เป็นลำไยทั้งหมด และในฤดูลำไยที่จะมาถึงรัฐบาลจำเป็นต้องดูแลเรื่องของราคาให้ดี ซึ่งได้พูดคุยกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ว่า การดูแลพืชรอง เช่น ลำไย ต้องเตรียมตัวให้พร้อมกับการเปิดตลาดใหม่ๆ และการดูดซัพพลายออกไปก่อนเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้นอีก และจะทำให้ราคาสูงกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนเรื่องของคุณภาพลำไยนั้นไม่ห่วง แต่ห่วงเรื่องต้องมีตลาดใหม่ๆ  เพื่อทำให้รายได้ของประชาชนดีขึ้น

 

“สำหรับเรื่องของต้นทุนไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ย หรือการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งขณะนี้ก็มีการแปรรูปทำเป็นกาแฟลำไย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี พร้อมย้ำว่า การลงพื้นที่ไม่ใช่การสร้างภาพ แต่ให้ความสำคัญกับประชาชน วันนี้ต้องการันตีว่าราคาลำไยจะดีขึ้น และมีมาตรการดูแลเกษตรกร” นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

ขณะที่ปลัดกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า ลำไยปีนี้การันตีว่าราคาสูงกว่าปีที่แล้วแน่นอน โดยลำไย เกรด AA จะได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 32 บาทแน่นอน ส่วนเกรด A ไม่ต่ำกว่า 27 บาท สำหรับลำไยร่วง เกรด AA ไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 23 บาท หวังว่าชาวสวนจะพอใจและราคานี้นายกรัฐมนตรีได้สั่งมาแล้วปีนี้ได้ราคานี้แน่นอนทำให้ชาวสวนลำไยปรบมือส่งเสียงเฮลั่น จากนั้นนายกรัฐมนตรีได้เดินชมสวนลำไยที่กำลังออกผลิต ซึ่งจะตัดจำหน่ายได้ในช่วงเดือนมิถุนายน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เคาะ 5 มาตรการต้าน ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ เน้นย้ำให้คงนโยบาย ‘ห้ามขาย – นำเข้า

 

เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ที่ประชุม คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 3/2567 เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.2567 ซึ่งมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน มีมติเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น การปกป้องเด็กและเยาวชนจาก ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ประกอบด้วย 5 มาตรการสำคัญ ได้แก่

 

  1. พัฒนาและจัดการองค์ความรู้
  2. สร้างการรับรู้ภยันตราย และการเสพติดของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และสาธารณชน
  3. เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  4. พัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายเพื่อสนับสนุนมาตรการป้องกัน ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
  5. ยืนยันนโยบาย และมาตรการป้องกัน และปราบปรามการแพร่ระบาดบุหรี่ไฟฟ้า

ทั้งนี้ ที่ประชุม คสช. ยังได้เห็นชอบให้คงไว้ซึ่งนโยบาย ‘ห้ามนำเข้า และห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า’ ตลอดจนบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจัง และได้มอบหมายให้ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) นำมติสมัชชา ดังกล่าว เสนอเข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อประกาศใช้เป็นกรอบนโยบายหลักของประเทศในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามภาระหน้าที่ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คสช. เปิดเผยว่า ปัญหาของบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญโดยที่ผ่านมาได้มีการกำชับสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ร่วมกันป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด จริงจัง เนื่องจากมีความเป็นห่วงเด็กและเยาวชนที่จะตกเป็นเหยื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าและกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่จะได้รับอันตรายต่อสุขภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

 

นายสุริยะ กล่าวว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้เดินหน้าปราบปรามบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้นจนนำไปสู่การจับกุมและตรวจยึดของกลางได้ในหลายกรณีซึ่งมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นฯ ที่ คสช.ได้เห็นชอบในวันนี้จะเป็นกรอบนโยบายสำคัญให้หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งกระทรวง กรม กอง สำนักงาน คณะกรรมการชุดต่างๆ นำไปขับเคลื่อนซึ่งส่วนตัวต้องการเห็นรูปธรรม จึงได้สั่งการให้ สช.เกาะติดการขับเคลื่อนอย่างใกล้ชิด และรายงานผลการดำเนินการต่อ คสช. ให้รับทราบความก้าวหน้าไปจนกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงตามข้อมติ

 

“ต้องขอชมเชยคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ ที่ทำข้อเสนอลงรายละเอียดให้เราได้เห็นถึงเป้าหมายที่ต้องการได้อย่างชัดเจน อย่างหนึ่งที่ผมเห็นว่า มีความสำคัญ คือ การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายความรู้และความน่ากลัวจากผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าไปถึงเด็กและเยาวชนให้มากขึ้น

 

นอกจากนี้ในเรื่องของตัวเลขสถิติที่เรามีการสำรวจกัน 5 ปีครั้ง ซึ่งมตินี้เสนอให้สำรวจบ่อยขึ้นเป็นทุก 2 ปี ผมมองว่า การสำรวจไม่ได้ใช้เวลาเยอะ โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่จำนวนผู้สูบเพิ่มมากขึ้น ขณะที่เรากำลังมีมาตรการต่างๆ ออกมา จึงมองว่าควรจะมีการสำรวจสัก 6 เดือนครั้ง เพื่อประเมินได้ว่าหากมาตรการได้ผลจริงจำนวนตัวเลขเหล่านี้ก็จะต้องลดลง” นายสุริยะ กล่าว

 

สำหรับมติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น “การปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า” ผ่านความเห็นชอบจากผู้เข้าร่วม 264 หน่วยงาน/คน โดยทั้งหมดได้ให้ความเห็นชอบต่อกรอบทิศทางนโยบาย (Policy Statement) อย่างเป็นฉันทมติ พร้อมกันนี้ยังได้วางบทบาทหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้มีนโยบายรณรงค์ เฝ้าระวัง และให้ความรู้ถึงภยันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้กำหนดมาตรการมิให้นำเสนอประเด็นบุหรี่ไฟฟ้าที่บิดเบือนผ่านสื่อ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) กรมศุลกากร ให้บังคับใช้กฎหมายที่มีในปัจจุบันอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด เป็นต้น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

อพท. ประสานภาคีร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (Thailand Creative Cities Network : TCCN 2024) โดยมี นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฯ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล จากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาคม ร่วมกันสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และกระบวนการยกระดับเมือง ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่งผลถึงการเป็นต้นแบบของ “นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ น่าน อ่างทอง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม
 

              นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างการรับรู้ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ TCCN 2024 ในครั้งนี้ อพท. หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แก่เมืองเป้าหมายในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. และในภาพรวมของประเทศไทย ให้ครอบคลุมกลไกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมุ่งเป้าในการสร้างโอกาสและยกระดับการพัฒนาเมืองในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีการประชุม การเสวนาจากภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาคีในการประสานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกไปพร้อมกัน  โดยในปี ๒๕๖๗ อพท. ได้จัดกิจกรรม TCCN 2024 ขึ้นถึง ๒ ครั้ง ในเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network) เมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ซึ่งกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้น ณ จังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านดนตรี ในประเด็นสำคัญ “การพัฒนานวัตกรรมเมืองอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตอย่างเท่าเทียม” ซึ่งการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นประเด็นของการขับเคลื่อนธุรกิจภายในประเทศ เท่านั้น แต่ยังเป็นเทรนด์ในโลกของการลงทุน เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
 

         ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งที่ ๒ ในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๗) ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ อพท. ยังเดินหน้าสนับสนุนตามเป้าหมายในการสร้างเวทีขยายการรับรู้ประโยชน์ของความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเมือง ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมออกแบบเพื่อ “การขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตสำหรับผู้คนในทศวรรษหน้า” ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาร่วมเวทีเสวนา แสดงความคิดเห็น “การสร้างสรรค์นวัตกรรมเมืองภายใต้บริบทของการส่งเสริมโอกาสของคนในพื้นที่” ซึ่งมีผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยเข้าร่วมถึง ๗ เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ตลอดจนหน่วยงานจากเมืองต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มาร่วมแลกเปลี่ยน รับรู้ถึงประโยชน์และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐานระดับสากล สะท้อนบทบาทหน้าที่ในการเป็น“นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมศรีจอมทอง ชั้น 2 โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 

 

โดยมีนายธนะสิทธิ์ ศรีคำภา หัวหน้าสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นำส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พะเยา แพร่ น่าน และเจ้าหน้าที่จากพะเยา แพร่ น่าน เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับใช้เป็นข้อเสนอในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2568 – 2570 และแผนปฏิบัติราชการประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 “ท่องเที่ยวบนพื้นฐาน วัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง”

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว รักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน เทคโนโลยี และการเงิน โดยมีแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งของภูมิภาค ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ (Logstics) 

 

ที่สามารถเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ GMS ได้สะดวก รวดเร็ว เช่น การสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงรายและศูนย์รับซ่อมอากาศยานครบวงจร ของท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับ กลุ่มจังหวัด ฯ มีภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่สำคัญในภาคเหนือและของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น กลุ่มจังหวัด จึงควรเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด ๆ ภายใต้ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาสัมฤทธิ์ผลผ่านแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดได้ก้าวต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ผู้เข้าร่วมฯ จะได้ร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ไข ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ส่วนราชการ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน  รวมถึงมีการบรรยายที่สำคัญ ได้แก่ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง “

 

การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากวิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) “ศักยภาพระบบโลจิสติกส์ทางอากาศสู่การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ” จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ”การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ภายใต้ศูนย์เปลี่ยนถ่าย รูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย” จากขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

สร้า้งภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” โดยมีคณะกรรมการและคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” คณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดปัญหาละเมิดข้อร้องเรียน ข้อพิพาทและข้อเสียหายจากการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” เข้าร่วมประชุม

 

     โดยในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการได้ขอต่ออายุหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. ใบชาหยดน้ำค้าง 2. บริษัท วังพุดตาล จำกัด 3. บริษัท ชา 101 จำกัด ในที่ประชุมได้ยกมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย 

 

โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน (GI) “ชาเชียงราย” และนำผลการพิจารณาดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย เห็นชอบและรับรองการต่ออายุหนังสือผู้ขอยื่นใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ชาเชียงราย” ให้ทั้ง 3 ราย ได้แก่ 


      1. ใบชาหยดน้ำค้าง 126 หมู่ 13 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้าจำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชาเขียว สายพันธุ์ชาอัสสัม 
      2. บริษัท วังพุดตาน จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลงก้านอ่อน สายพันธุ์ชาจีน และชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน 
      และ 3. บริษัท ชา 101 จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลง เบอร์ 17 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลงสี่ฤดู สายพันธุ์ชาจีน และชาเขียว สายพันธุ์ชาจีน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News