Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นายอำเภอ เปิดพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้ สร้างสรรค์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 27 มิถุนายน 2567 ตั้งแต่เวลา 08.30 น. เป็นต้นไป ณ วัดเวียงเชียงรุ่ง อำเภอเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย พิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง และงานเสวนาแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง จังหวัดเชียงราย โดยนายพิสันต์ จันทรศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นายอภิชาต กันธิยะเขียว นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ และ นางสาวสุทธิดา ตราชื่นต้อง นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ เข้าร่วมเป็นเกียรติในพิธีเปิดและเข้าร่วมกิจกรรมฯ

 

ซึ่งมรนางสาวมินทิรา ภดาประสงค์ นายอำเภอเวียงเชียงรุ้ง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิด โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุทัศน์ คล้ายสุวรรณ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวรายงาน และพระครูไพโรจน์คีรีรักษ์ ดร. เจ้าอาวาสวัดเวียงเชียงรุ้ง กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย หัวหน้าส่วนราชการและประชาชน เข้าร่วมพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง และงานเสวนาแหล่งเรียนรู้สร้างสรรค์เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง

 

สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแผนการดำเนินโครงการยกระดับคุณภาพชีวิตและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก กิจกรรมการพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้สร้างสรรค์ “เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้ง” เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์แหล่งเรียนรู้เมืองโบราณเวียงเชียงรุ้งให้กับชุมชนท้องถิ่น

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.เชียงราย ลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์ใหม่ “TCDC Chiangrai”

 
เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ Creative Space ชั้น 5 TCDC สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อาคารไปรษณีย์กลาง ถนนเจริญกรุง กรุงเทพฯ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้แทนผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย ร่วมลงนาม MOU จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (NEW TCDC) เพื่อร่วมกันพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น รวมทั้งการต่อยอดคุณค่าทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนได้อย่างยั่งยืน พร้อมเยี่ยมชมการจัดแสดงนิทรรศการภายใน TCDC แห่งใหม่ 
 
 
โดยมีนายฐิติวัชร ไลศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย ร่วมให้เกียรติในการลงนามฯ ครั้งนี้ด้วย โดยภายในงานฯ ดร.อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและกล่าววัตถุประสงค์ของการจัดงาน และนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ประธานคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กล่าวเปิดงาน “นโยบายการสร้างความร่วมมือกับภูมิภาคเพื่อพัฒนาทุนวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์สู่ Soft Power”
 
 
การจัดทำบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการจัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบส่วนภูมิภาค ในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบที่มีส่วนประกอบทางด้านพื้นที่ให้บริการทรัพยากรสารสนเทศการจัดกิจกรรมในด้านต่างๆเพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้และการพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่และนักสร้างสรรค์ให้สามารถต่อยอดทางความคิดสร้างสรรค์ในการทําธุรกิจต่อไปได้เพื่อเป็นการสำรวจศักยภาพสินทรัพย์ทางวัฒนธรรมต่อยอดสินค้าและบริการเพื่อสนับสนุนการสร้าง Soft Power ให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาสินค้าและบริการในอนาคต 
 
 
เพื่อบ่มเพาะผู้ประกอบการท้องถิ่นลดต้นทุนในการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงกับความต้องการของตลาดและผู้บริโภค เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมบนรากฐานการใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) โดยให้หน่วยงานหรืองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนแนวนโยบายพื้นฐานของรัฐบาลและเป็นการสนับสนุนภารกิจหลักของสํานักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) อีกทางหนึ่ง เพิ่มพื้นที่การเรียนรู้ และแหล่งข้อมูลด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับประชาชน เยาวชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น เพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขันทางธุรกิจในระดับประเทศ พัฒนาการเรียนการสอนด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้แก่สถาบันการศึกษาในพื้นที่ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนในจังหวัดเชียงราย กระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ
 
 
ทั้งนี้ จังหวัดเชียงราย อบจ.เชียงราย และภาคีเครือข่าย ตั้งเป้า New TCDC @Chiang Rai แห่งนี้จะเป็นพื้นที่ต่อยอดนวัตกรรมจากความรู้ท้องถิ่น สานสร้างผู้ประกอบการธุรกิจสร้างสรรค์ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเชียงรายเป็นขุมพลังขับเคลื่อนเชียงรายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของ UNESCO ที่จังหวัดเชียงรายได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายสมาชิก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 พร้อมรองรับการจัดกิจกรรมด้านการออกแบบในอนาคตต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

สถาบัน MY DANCE ACADEMY เข้าพบนายกเทศมนตรีนครเชียงราย

 
เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2567 สถาบันMY DANCE ACADEMY คณะผู้บริหาร ทีมครู และตัวแทนนักเรียน ได้เข้าพบนายกเทศมนตรีนครเชียงราย “ดร.วันชัย จงสุทธานามณี” เนื่องในโอกาสก่อนเดินทางไปแข่ง Hiphop ระดับโลกที่ประเทศอังกฤษ เดือนสิงหาคมนี้ ทีมสถาบันMY DANCE ACADEMY เป็นตัวแทนนักเต้นเชียงรายในตำแหน่งแชมป์ประเทศไทย งาน Udo Thailand Championship 2023 Over 18 Team Performance  เพื่อรับฟังโอวาท รับขวัญกำลังใจ ก่อนเดินทางไปแข่งขันเวที Street Dance ระดับโลก งาน Udo World Street Dance Championships 2024 ประเทศอังกฤษ 🇬🇧และแสดงความยินดีกับทีมนักเรียนสถาบัน MY Dance Academy เชียงราย ที่ได้รับรางวัลและสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดเชียงรายด้วย

 

สำหรับการชนะเลิศ การแข่งขัน แชมป์ประเทศไทย ชนะเลิศอันดับ1 Udo Thailand Championship 2023 Over 18 Team Performance  ประเภทTeam MYDA CREW OVER 18 ได้รับสิทธิ์แข่งขันต่อระดับโลกที่ประเทศ อังกฤษ สิงหาคม 2024 นี้ สำหรับ UDO : THE UNITED DANCE ORGANISATION คือองค์กรการเต้นสตรีทแดนซ์จากประเทศอังกฤษ ที่จัดการแข่งขันเต้น Street Dance UDO WORLD CHAMPIONSHIP และได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 มีสมาชิกจาก 30 ประเทศ และได้จัดแข่งขันอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 16 ปี

 

และอีกหนึ่งรายการยังได้เป็นตัวแทนนักกีฬาภาคเหนือ ประเภท Hiphop Double  รุ่นอายุ 16 ปีขึ้นไป และตัวแทนนักกีฬาภาคเหนือ ภาค5] ได้รับสิทธิ์แข่งขันกีฬาแห่งชาติ ครั้งที่ 49 (อังกฤษ: 49th Thailand National Games) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อ จันท์เกมส์ เป็นการแข่งขันกีฬาหลากหลายชนิดระดับประเทศ ควบคุมโดยการกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดจันทบุรี ระหว่างวันที่ 9-19 ธันวาคม พ.ศ. 2567 ในครั้งนี้กีฬาที่แข่งขันทั้งหมด 41 ชนิดกีฬา แบ่งเป็นกีฬาบังคับ 2 ชนิด คือ กรีฑาและว่ายน้ำ ส่วนกีฬาสากล มี 38 ชนิด และกีฬาอนุรักษ์ 1 ชนิด โดย Cheer Association of Thailand – CAT ฝ่ายกีฬาเชียร์ สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย มีโค้ชผู้ฝึกสอนและออกแบบท่าเต้น สายเมฆ  พึ่งอุดม , ภัทรศยา มาลา ทีมบริหารสถาบัน MY DANCE ACADEMY

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

นักวิ่งทีมชาติไทย คว้ารองแชมป์ มาราธอนครั้งที่ 4 สามเหลี่ยมทองคำ

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิ่งชาวไทยจำนวนมากได้เดินทางเข้าร่วมการแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันต้านยาเสพติดสากล ครบรอบ 37 ปี ที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ บริเวณเกาะดอนซาว เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว และถือว่าเป็นรายการวิ่งต่างประเทศที่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งนักวิ่งยังรวมถึง “เบล ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม” นักวิ่งทีมชาติไทย ก็เข้าร่วมการแข่งขันด้วย 

 

พิธีเปิดการแข่งขันมี พลตรี คำกิ่ง ผุยหล้ามะนีวง รองรัฐมนตรีกระทรวงป้องกันความสงบ สปป.ลาว ปริญญาเอก ทองจัน มะนีไช เจ้าแขวง แขวงบ่อแก้ว นำคณะผู้บริหารทุกฝ่าย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จาก 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ร่วมกันปล่อยตัวนักกีฬาวิ่งวิ่งมาราธอนครั้งที่ 4 เนื่องในโอกาสเฉลิมฉลองวันต้านยาเสพติดสากลครบรอบ 37 ปี

 

โดยการแข่งขันในครั้งนี้แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.0975 กิโลเมตร และวิ่งระยะสั้น 6.26 กิโลเมตร โดยเริ่มวิ่งจากเกาะดอนซาว ไปตามถนนภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ และกลับมาเข้าเส้นชัยจุดเดิมที่ออกสตาร์ท

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันในครั้งนี้มีนักวิ่งเข้าร่วมจากหลากหลายประเทศ โดยมาจากประเทศในกลุ่มเอเชีย โดยมีนักวิ่งเข้าร่วมกว่า 1,500 คน โดยเฉพาะนักวิ่งจากประเทศไทยได้เข้าร่วมวิ่งในครั้งนี้จำนวนมาก และลงวิ่งแข่งขันครบทุกรุ่นทั้งชายและหญิง 

 

การแข่งขันวิ่งประเภท ฮาล์ฟมาราธอน 21.0975 กิโลเมตร รองแชมป์ Overall ชาย เป็นของ “เบล ณัฐวัฒน์ อินนุ่ม” นักวิ่งทีมชาติไทย ได้รับเงินรางวัล 150 ล้านกีบ (ประมาณ 250,000 บาท) ส่วนอันดับ 1 และ 3 เป็นของนักวิ่งชาวจีน 

 

ขณะที่ รุ่นชายระยะทาง 6.26 กิโลเมตร นักกีฬาจากประเทศไทย ได้ที่ 1-3 Overall ทั้งรับเงินรางวัลรวมกันมากกว่า 63 ล้านกีบ (ประมาณ 100,000 บาท) โดย นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน จ.เชียงราย ได้เข้าร่วมแสดงความยินดีและกล่าวชื่นชมกับนักกีฬาจากประเทศไทยทั้ง 3 คน.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย ประกาศต่อต้านยาเสพติด วันต่อต้านยาเสพติดโลก 26 มิ.ย. 67

 
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 ณ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดกิจกรรม รวมพลังไทย สร้างครอบครัว ชุมชนอุ่นใจ พ้นภัยยาเสพติด เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ประจำปี 2567 เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ให้ยาเสพติดหมดไปจากหมู่บ้านและชุมชน โดยมี หัวหน้าส่วนราชการ ทหาร ตำรวจ ผู้นำชุมชน ภาคีเครือข่าย นักเรียน นักศึกษา และประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้

 

กิจกรรมภายในงานประกอบไปด้วย การประกาศเจตนารมณ์ต่อต้านยาเสพติดเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 การมอบโล่ยกย่องเชิดชูเกียรติแก่หน่วยงานและบุคลากรที่มีผลการดำเนินงานด้านยาเสพติดดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2567 การให้ความรู้ในการใช้ชีวิตให้ปลอดภัย ห่างไกลจากยาเสพติด และการแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานของหน่วยงานราชการ และภาคเอกชน

 

ทั้งนี้ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ มีมติกำหนดให้วันที่ 26 มิถุนายนของทุกปี เป็นวันต่อต้านยาเสพติดโลก เนื่องจากภัยยาเสพติด เป็นปัญหาที่นานาประเทศยอมรับว่าต้องมีการแก้ปัญหาร่วมกันทั่วโลก และประเทศไทยในฐานะประเทศสมาชิก ได้ร่วมกับประชาคมโลกในการต่อต้านยาเสพติด และจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2531จนถึงปัจจุบัน เพราะปัญหายาเสพติด ถือเป็นปัญหาของทุกคน ทั้งส่งผลกระทบแก่ผู้เสพ และยังส่งผลกระทบต่อบุคคลรอบข้าง ครอบครัว และชุมชนอีกด้วย

 


จังหวัดเชียงราย ได้ตระหนักและเล็งเห็นความสำคัญในการร่วมมือกันจากทุกภาคส่วน เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชน ซึ่งสถาบันครอบครัวและชุมชนถือว่ามีส่วนสำคัญ ในการทำหน้าที่ช่วยสอดส่องดูแล เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของยาเสพติด อีกทั้งการให้โอกาสผู้เคยหลงผิดที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติด โดยส่งเสริมให้เข้าสู่กระบวนการบำบัดและสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข

 

ด้านนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายาเสพติดจะประสบความสำเร็จได้นั้น เกิดจากพี่น้องชาวจังหวัดเชียงราย และเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่ได้ร่วมกันบูรณาการในการทำงานอย่างทุ่มเท เสียสละ เพื่อแก้ไขปัญหายาเสพติดให้หมดไปจากหมู่บ้านและชุมชน ซึ่งพี่น้องประชาชนทุกคนถือเป็นกำลังสำคัญในการมีส่วนร่วมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด และสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหายาเสพติดได้ โดยหากพบเบาะแสยาเสพติด สามารถแจ้งหน่วยงานของรัฐเข้าไปดำเนินการ โดยแจ้งได้ที่สายด่วน ป.ป.ส. โทร. 1386 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ฝึกปฏิบัติการช่วยชีวิตขั้นนักเรียน 6 สถานศึกษาที่จังหวัดเชียงราย

 
เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 67 ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีเปิดการอบรม “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ตามโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 (ปีที่ 24) ณ ห้องดอยตุง 2 โรงแรมเดอะริเวอร์รี บายกะตะธานี อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมีคณะผู้บริหารบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์จำกัด รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ผู้แทนนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ผู้แทนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และคณะครูอาจารย์จาก 6 สถานศึกษาในจังหวัดเชียงราย ส่งน้องๆ นักเรียน เข้าร่วมโครงการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๗ ส่งเสริมให้เยาวชนมีคุณธรรมและรู้จักการเป็น “ผู้ให้” มีจิตอาสา โดยเริ่มจากการเป็นผู้บริจาคโลหิต สนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทเป็นผู้นำในการประชาสัมพันธ์เผยแพร่การบริจาคโลหิต ส่งเสริมให้สถานศึกษาเป็นจุดศูนย์กลางในการบริจาคโลหิต เพื่อให้ได้รับปริมาณโลหิตบริจาคเต็มตามจำนวนที่คาดหวัง และเพื่อให้การจัดหาโลหิตของประเทศไทยประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ต่อไป
 

         นายภาคภูมิ จักกะพาก ผู้ช่วยผู้อำนวยการธุรกิจสุกรภาคเหนือตอนบน บริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การอบรม “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ตามโครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 (ปีที่ 24) เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความเจริญเติบโตในการดำเนินธุรกิจ   ครบ 100 ปี โดยมีปฎิธานมุ่งมั่น สร้างความเจริญให้ประเทศไทย ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนและบริหารงานธุรกิจด้วยหลักคุณธรรมมาอย่างต่อเนื่องสำหรับความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น เครือเจริญโภค-ภัณฑ์ได้ให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะงานบริการโลหิต ซึ่งมีความสำคัญต่อการรักษา พยาบาลให้ประชาชนหายจากการเจ็บป่วย ปลูกฝังเยาวชนที่เป็นต้นกล้าที่แข็งแรงให้มีความรู้ ความเข้าใจในงานบริการโลหิต เพื่อเป็นผู้บริจาคโลหิตต่อไปในอนาคต จึงได้จัดทำโครงการ เครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ด้วยแนวคิด “ทำดี ทำง่าย ให้เลือด” ดำเนิน การมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2543 จนถึงปัจจุบัน กว่า 24 ปี นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากสถานศึกษาในระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษาและพณิชยการ ให้การสนับสนุนกิจกรรมต่างๆ อย่างเต็มที่ ซึ่งการอบรมครั้งนี้ โครงการเครือเจริญโภคภัณฑ์สนับสนุนเยาวชนไทยให้โลหิต ประจำปีการศึกษา 2567 จังหวัดเชียงราย ในวันนี้ เป็นจังหวัดลำดับที่ 5 ต่อจาก จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ ขอนแก่น  และหนองคาย มีคุณครูและนักเรียนเข้ารับการอบรม จำนวน 155 คน จากสถานศึกษา จำนวน 6 แห่ง โดยได้รับการสนับสนุนอย่างดียิ่งจาก เหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ภาคบริการโลหิตแห่งชาติที่ 10 จังหวัดเชียงใหม่ และสถานศึกษาทุกแห่ง
 

       สำหรับช่วงการอบรม ได้จัดให้มีการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริจาคเลือด คุณสมบัติ/การเตรียมตัวก่อน – หลังการบริจาคโลหิต กรุ๊ปเลือดจะต่างกัน แต่เลือดเราปลอดภัยนะ ระบบหมู่โลหิต การตรวจหมู่โลหิต และการตรวจคัดกรองโลหิต เลือด 1 ถุง เอาไปทำอะไรต่อ ส่วนประกอบของโลหิตและผลิตภัณฑ์โลหิต ให้เลือดแล้วภูมิใจสุดๆ ประโยชน์ของเลือดที่มีต่อผู้ป่วย และความภาคภูมิใจที่ได้รับจากการบริจาคโลหิต ชมวิดิทัศน์/บรรยาย/สาธิตการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องช็อคหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ฝึกปฎิบัติการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน (CPR) การใช้เครื่องช็อคหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ม.ราชภัฏเชียงราย ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม 4 องค์กรชาติพันธุ์

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ณ หอประชุมกาสะลองคำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มร.ชร) อ.เมือง จ.เชียงราย มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ร่วมกับ สำนักศิลปะและวัฒนธรรมมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จัดเวทีพลเมืองตื่นรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางกายในชุมชนชาติพันธุ์  โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นประธาน และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการผู้ก่อตั้ง พชภ.  นางจุฑามาศ  ราชประสิทธิ์ ผู้จัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาวะทางกายฯ พชภ.  ดร.อติเทพ วงศ์ทอง ผ.อ.สำนักศิลปะวัฒนธรรมร่วมเปิดงาน โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนผู้ร่วมโครงการ และชุมชนชาวชาติพันธุ์ เข้าร่วมกว่า 400 คน 

ทั้งนี้สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มร.ชร.  พชภ. สมาคมลาหู่ในประเทศไทย  สมาคมไตลื้อจังหวัดเชียงราย และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพวิถีชนเผ่าต้นน้ำแม่ยาว ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการทำงานแบบเบญจภาคีว่าด้วยการจัดกิจกรรม อนุรักษ์ ส่งเสริม สืบสาน และเผยแพร่ ศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และกิจกรรมทางด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและด้านวิชาการ พร้อมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และการประสานสัมพันธ์ที่ดีระหว่าง 5 องค์กร

ดร.อติเทพ วงศ์ทอง ผอ. สำนักศิลปะและวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมศิลปะวัฒนะธรรมท้องถิ่น เนื่องจาก มร.ชร. เป็นมหาวิทยาลัยที่บริการวิชาการชุมชน ที่รับผิดชอบในเชียงราย สำนักศิลปะและวัฒนธรรมได้ร่วมกันสนับสนุนภูมิปัญญาท้องถิ่น สุขภาวะทางกาย และวัฒนธรรม จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ทำให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งด้านการแสดงออกทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อกายและใจ ด้านอาหารกลุ่มชาติพันธุ์ การสร้างเครือข่าย สนับสนุนวิชาการที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้ทุกชาติพันธุ์ในเชียงราย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ยิ่งศักดิ์ เพชรนิล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงรายนับว่ามีทรัพยากร นิเวศน์วิถีชีวิตที่หลากหลาย เป็นการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล มีการปลูกพืชผักหลากหลาย มีเอกลักษณ์เฉพาะ ตัวทำให้มีการส่งเสริมกิจกรรมกาดกายดี นับเป็นนิมิตหมายที่ดีได้แสดงออกทางวัฒนธรรม มีผลต่อสุขภาวะทางกายด้วย ทั้งเพื่อพัฒนาองค์ความรู้สุขภาวะชุมชนชาติพันธุ์ ได้ใช้ประโยชน์ในการส่งเสริมสุขภาพผ่านวัฒนธรรมและกิจกรรม การทำงานกันเป็นทีม เป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อน ทั้งบุคลกร การศึกษา และสังคม 

นางเตือนใจ  ดีเทศน์  กล่าวว่า จากที่ได้ชมการแสดงจะเห็นว่ามีออกกำลังกายทุกส่วน และต้องมีการซ้อมการทำงานเป็นหมู่คณะ ยังช่วยทำให้เด็กและเยาวชนไม่ซึมเศร้า สร้างความรักความสามัคคี  ทั้งเป็นการรวมกลุ่มสังคมครอบครัววัฒนธรรมหลายกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์ทำกิจกรรมร่วมกัน มีส่วนที่เชื่อมโยงกับธรรมชาติอยู่ เช่น การทำดาบจากไม้ไผ่ ชุดชาติพันธุ์ที่ทำจากผ้าฝ้าย ขนสัตว์ ลูกเดือยที่นำมาทำเป็นเครื่องประดับ  ทำให้รู้คุณค่าการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ ทำให้ตระหนักในธรรมชาติในความอุดมสมบูรณ์  

ทั้งนี้ภายในงานมีการจัดเสวนาหัวข้อพลเมืองตื่นรู้ในการส่งเสริมสุขภาวะทางกายในชุมชนชาติพันธุ์ และแนวทางหรือข้อคิดเห็นในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในชุมชนชาติพันธุ์ โดยนายวิชัย  ภินะบรรณ์ หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานทั่วไป โรงพยาบาลแม่ฟ้าหลวง ต.เทอดไทย กล่าวว่า การจะขยับเรื่องสุขภาพเป็นบทบาทที่เราจะต้องทำร่วมกัน ภาครัฐที่มีองค์ความรู้ ซึ่งตัวชุมชนมีศักยภาพอยู่แล้ว รัฐต้องออกนโยบายมาให้เหมาะกับชุมชนนั้น ถ้าสิ่งแวดล้อมดี  ก็จะทำให้สุขภาพกายและจิตดี ในบ้าน โรงเรียน สภาพอากาศ เด็กจะออกกำลังกายได้ มีการซ้อมแผนการได้รับบาดเจ็บ ในสังคมที่บ้าน พ่อแม่ให้ความเชื่อมมั่นเอาใจใส่ สุดท้ายเด็กจะได้เป็นผู้ใหญ่สมบูรณ์ 

นายวุฒิพงษ์ สวรรคโชติ ประธานสมาคมลาหู่ในประเทศไทย กล่าวว่า ประชาชนมักทำงานหาเงินจนลืมสุขภาพ แต่สุดท้ายยอมสูญเสียทุกอย่างเพื่อให้ได้สุขภาพดีคืนมา คนชนบทบนดอยเมื่อก่อนไม่มีโรคประจำตัว เพราะปกติพวกทำไร่ ทำนา ทำสวน พอพลวัตทางสังคม เทคโนโลยี เข้ามาทำให้ทำงานน้อยลง ปัจจุบันมีคนไปรับยา ความดันเบาหวาน ไขมันพอกตับ เรากำลังให้ความสนใจ จากเดิมที่ปลูกผักส่งขาย ปัจจุบันปรากฎว่าเราชาวดอยรอรถเข้ามาขายในหมู่บ้าน ไม่ค่อยมีผักสวยครัวกันแล้ว เป็นสิ่งที่เราควรกลับมาพิจารณาปลูกผักกินเองเพื่อความปลอดภัยและได้สุขภาพกายที่ดีด้วย

นายตฤณธวัช  ธุระวร ผู้ประสานงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มอาชีพวิถีชนเผ่าต้นน้ำแม่ยาว กล่าวว่า กายดี สุขภาพดี มีองค์ประกอบ วงแรก คือ อาหาร อากาศ ยารักษาโรค อยู่ในชีวิตเราทุกวัน ทุกวันนี้เราเจอปัญหาสุขภาพ การกินเป็นลำดับแรก อากาศที่เราหายใจ ปัจจุบันอากาศเสียมาก การใช้ยารักษาโรค การในนำธรรมชาติมาใช้รักษาโรค ถ้าเราใช้เป็น มีผลกระทบน้อยกว่าแผนปัจุบัน ส่วนวงที่สอง คือ ดิน น้ำ ป่า ปัจจุบันจะเห็นว่าดินอาบด้วยยาพิษ ส่งต่อไปที่อาหาร น้ำ เดิมบนดอยน้ำดื่มตักที่ไหนก็กินได้ ปัจจุบันต้นน้ำมีแต่สารเคมี มีผลกระทบต่ออาหาร อากาศ ป่าเป็นแหล่ง อาหาร น้ำ ยาสมุนไพร  ปัจจุบันเราตัดต้นไม้ มีเคมีมหาศาล ส่งผลต่ออาหาร อากาศ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

คาดไม่เกิน 10 ปี ละอ่อนเชียงรายดื่มเหล้าสถิติพุ่งขึ้นอันดับ 1 ของประเทศ

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 กลุ่มเยาวชน YSDN (Youth Strong & Development Network) ได้จัดเสวนาคืนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ของเด็ก เยาวชนในจังหวัดเชียงราย และอีก 6 จังหวัด พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ ต่อนายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และนายธีระ วัชรปราณี รองประธานฯ คนที่ 5 ที่วัดหัวฝาย ต.สันกลาง อ.พาน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา 

 

นายณัฐพงษ์ ไชยพงษ์ เจ้าหน้าที่โครงการ YSDN จังหวัดน่าน กล่าวว่า จากการสำรวจข้อมูลในกลุ่มอายุ 12-15 ปี จำนวน 10,078 ในอำเภอพาน อำเภอเทิง อำเภอเวียงชัย อำเภอแม่จัน อำเภอเชียงแสน อำเภอโนนสัง อำเภอวังทอง อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอบัวเชด และอำเภอกระนวน พบว่า เด็กไทยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพชีวิตเปราะบาง โดยพบว่า 62.75 % มีเพื่อนดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งคนที่มีผลต่อการดื่มครั้งแรกคือ เพื่อนและรุ่นพี่ รุ่นน้อง 56.53% สมาชิกในครอบครัว 31.43 %

 

ส่วนสถานที่ดื่มพบในงานบุญประเพณี 46.25 % งานวันเกิด 45.90% ดื่มช่วงรับประทานอาหารกับครอบครัว 19.10 % โดย 48.62 เคยซื้อจากร้านค้าต่างๆ ได้  ทั้งๆ ที่กฎหมายห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดังนั้น ผลสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการยังขาดความรับผิดชอบที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย และชี้ให้เห็นว่ายังไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างจริงจังโดยเฉพาะในระดับชุมชนได้

 

ด้าน นส.โสภี ดงปาลี กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินโครงการใน 5 อำเภอ ของจังหวัดเชียงรายสะท้อนว่า หากไม่มีมาตราการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ในอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจจะทำให้สถิติการดื่มของจังหวัดเชียงรายสูงเป็นอันดับหนึ่งของประเทศได้ เพราะสามารถหาซื้อได้ง่ายและราคาถูก สุราชุมชนก็มีการส่งเสริมให้ผลิตได้อย่างเสรี ซึ่งเจ้าหน้าที่สรรพสามิตจังหวัดเชียงรายที่ร่วมเสวนารับปากว่ากวดขันให้เป็นไปตามกฎหมาย และพร้อมให้คำปรึกษากลุ่มเยาวชน หรือแจ้งเหตุใหมีการตรวจสอบการกระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะการขายให้เด็กเยาวชน รวมถึงการเข้มงวดการจัดงานดนตรี ประเพณีต่างๆ โดยการสนับสนุนจากธุรกิจรายใหญ่ มีศิลปินดารามาแสดง แต่ไม่มีการควบคุมไม่ให้เด็ก เยาวชนเข้าไปดื่มแอลกอฮอล์

ด้าน นายวิสาร เตชะธีรวัฒน์ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมาย ทั้ง 42 คน มีความเห็นตรงกันในการปกป้องเด็กเยาวชน แต่ขณะนี้มีร่างกฎหมายถึง 5 ฉบับ ที่เสนอโดยรัฐบาล พรรคการเมือง และฝ่ายประชาชนที่เป็นผู้ประกอบการ และฝ่ายรณรงค์ ทำให้ต้องพยายามหาจุดร่วมกันจากทั้ง 5 ร่าง ซึ่งไม่ง่าย แต่ก็มีความก้าวหน้าไปมากแล้ว และคาดว่าอีก 2 เดือนน่าจะเสร็จ รวมทั้งตั้งคณะอนุกรรมาธิการศึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาการบังคับใช้กฎหมายด้วย  

 

สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ประกอบด้วย

1. งดขาย งดดื่มแอลกอฮอล์ให้งานประเพณี งานกาชาด งานของดีประจำพื้นที่ งานที่มีมหรสพรื่นเริง ดนตรีการแสดง ซึ่งส่วนใหญ่จัดในสถานที่ราชการ สวนสาธารณะ สถานศึกษา วัด หรือพื้นที่สาธารณะ

2.ส่งเสริมค่านิยมในครอบครัว “ไม่ชวนให้เด็กดื่ม ไม่ดื่มให้เด็กเห็น”

3.ควบคุมการโฆษณาแฝงด้วยน้ำดื่ม โซดา มีกิจกรรมดนตรี Music หรือ Sexy Marketing ใช้ศิลปิน ดาราที่มีชื่อเสียงรวมทั้ง ควบคุมการโฆษณาในสื่อออนไลน์

4. ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชนให้ทั่วถึงทุกคน นอกจากในโรงเรียน เพื่อให้มีทักษะชีวิตในโลกยุคใหม่ได้ทันสมัย

5.ภาครัฐในระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล ต้องให้ความสำคัญในการสร้างเมืองที่เป็นมิตรและสร้างสรรค์สำหรับเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

เปิดรับสมัครแล้ว! อบรมเชิงปฏิบัติการ “ผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์” รุ่น 8 พัฒนาคนรุ่นใหม่สู่เส้นทางสื่อมืออาชีพ

 

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) จัดอบรม โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ ปีที่ 8 (Young Digital News Providers 2024) สำหรับนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 16-18 สิงหาคม 2567 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี

สำหรับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนหลักจาก บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) , บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค)
และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โครงการเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ รุ่นที่ 8 เป็นโครงการอบรมสำหรับนิสิตนักศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าจากทั่วประเทศ รวมถึงเยาวชนหรือกลุ่มบุคคลที่มีอายุไม่เกิน 23 ปี เพื่อสร้างผู้ผลิตข่าวดิจิทัลยุคใหม่ เรียนรู้ พัฒนาทักษะในทุกมิติของการผลิตข่าวบนโลกออนไลน์ พร้อมเข้าสู่การทำงานอย่างมืออาชีพ

พร้อมพบกับวิทยากรแถวหน้าระดับประเทศ ประกอบด้วย คุณวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ผู้ผลิตรายการสารคดีและผู้ก่อตั้ง เถื่อนChannel , คุณอรรถพล ไข่ทอง หรือ เบลล์ ขอบสนาม ผู้ก่อตั้งเพจขอบสนาม , คุณชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส, อ. ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ
อาจารย์พิเศษด้านกฎหมายเทคโนโลยี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคุณอัยยา ตันติเสรีรัตน์ Head of Partnership & Co-Managing Director บริษัท เทลสกอร์ จำกัด และทีมงานจาก Tiktok และ Youtube รวมถึงเรียนรู้จริยธรรมสื่อ

สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับโอกาสในการคัดเลือกเข้าฝึกงานกับสำนักข่าวที่เป็นสมาชิกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) รวมกว่า 48 องค์กร รวมถึงโอกาสในการส่งผลงานข่าวเข้าประกวดชิงรางวัลในเวทีประกวดรางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม 2024 หมวดหมู่ผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ และผลงานที่ได้รับรางวัลจะได้รับการเผยแพร่โดยสำนักข่าวชั้นนำอีกด้วย

ผู้สนใจเข้าร่วมอบรมโครงการ สามารถสมัครเป็นทีม ทีมละ 4 คน พร้อมเขียนโครงงานผลิตสกู๊ปข่าวในประเด็นใดก็ได้ที่สนใจ ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Photo Story, วีดิโอ (ความยาว 1.30 – 5 นาที) สำหรับการเผยแพร่ในแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ สามารถส่งใบสมัคร หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) โทรศัพท์ 081 700 2601 อีเมล์ SonpAssociation@gmail.com เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม 2567

ประกาศผลผู้มีสิทธิเข้าร่วมอบรม ในวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 บนเว็บไซต์ www.sonp.or.th และ https://www.facebook.com/SONPThai/

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย จัดโครงการพัฒนาศักยภาพ ผู้นำคลื่นลูกใหม่ในจังหวัด (YPC) รุ่น 2

 
เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2567 ที่โรงแรมแม่โขงเดลต้า อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในจังหวัด Young Public and Private Collaboration (YPC) รุ่น 2 ประจำปี 2567 โดยมีนายภาคภูมิ ผลพิสิษฐ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงราย คณะกรรมการหอการค้าจังหวัด

เชียงราย คณะวิทยากรจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วม

ด้วยหอการค้าจังหวัดเชียงราย ร่วมกับจังหวัดเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (YEC) เชียงราย ได้จัดโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในจังหวัด (Young Public and Private Collaboration: YPC) รุ่นที่2 ประจำปี พ.ศ. 2567 ขึ้น ระหว่างวันที่ 25 – 26 มิถุนายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความพร้อมของผู้นำรุ่นใหม่ในภาคราชการไทยและเอกชน สู่การเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงในการพัฒนาระบบราชการและเศรษฐกิจตามสภาวการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

 และเพื่อพัฒนาขีดความสามารถ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ด้วยการพัฒนาแผนพัฒนาจังหวัดให้บรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาภาค อีกทั้งเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และประสบการณ์จากการลงพื้นที่จังหวัดระหว่างผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

 ซึางการดำเนินการโครงการครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมจากข้าราชการสังกัดราชการส่วนภูมิภาค หรือราชการส่วนท้องถิ่นที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย และภาคเอกชน ผู้ประกอบการ พนักงานเอกชนที่มีสถานประกอบการอยู่ในจังหวัดเชียงราย และข้าราชการ หรือ พนักงานมหาวิทยาลัย ของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ที่มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย จำนวนทั้งสิ้น 60 คน

         นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำคลื่นลูกใหม่ในจังหวัด หรือ YPC เป็นการแสดงถึงความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และภาคเอกชน รวมทั้ง สถาบันการศึกษาและภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาความรู้ ความเข้าใจและทัศนคติ ที่มีต่อการพัฒนาภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรมล้วนประกอบด้วย ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่ประสบความสำเร็จบุคลากรภาครัฐที่มีศักยภาพ รวมถึงผู้ที่มีบทบาทสำคัญ ในการขับเคลื่อน ของภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะเป็นบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน และกำหนดทิศทางการพัฒนาจังหวัดในอนาคต รวมทั้งเป็นการสร้างโอกาสประสานสัมพันธ์ของคนรุ่นใหม่ ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้มีความคุ้นเคยเข้าใจในบทบาทของแต่ละภาคส่วน เพื่อการประสานงาน อย่างเป็นเอกภาพ โดยใช้เวทีการอบรมในการเรียนรู้ ร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบ เป็นพื้นฐานสำคัญในการผลักดันการพัฒนา ของจังหวัดเชียงราย ให้เกิดประโยซน์ ต่อประชาชนในพื้นที่ อย่างกว้างขวางต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News