Categories
NEWS NEWS UPDATE

ซูเปอร์โพลเผยประชาชน กว่า 67% อยากให้เร่งกระตุ้นแจกเงินดิจิทัล

 

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้ก่อตั้งสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เสนอผลสำรวจเรื่อง ความต้องการของประชาชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ รวมจำนวน 1,382 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25-30 มีนาคมที่ผ่านมา

 

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความต้องการของประชาชน พบ 5 อันดับแรก ได้แก่ ประชาชนต้องการให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินดิจิทัล แก้ไขปัญหาปากท้อง เสริมสภาพคล่องธุรกิจ ร้อยละ 67.4 ประชาชนต้องการให้เร่งแก้ไขปัญหา แก๊งคอลเซนเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ โจรไซเบอร์ ร้อยละ 63.9 แก้ไขปัญหาหนี้ ทั้งในและนอกระบบ ร้อยละ 61.8 แก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนทุกมิติ เช่น ยาเสพติด ยกพวกตีกัน ค้าประเวณี ละเลยคุณธรรมจริยธรรม ร้อยละ 60.7 และแก้ไขปัญหายาเสพติด ร้อยละ 60.5

 

ที่น่าสนใจคือ เมื่อสอบถามถึงการสนับสนุนของประชาชนต่อกลุ่มการเมืองฝ่ายการเมือง พบว่า ร้อยละ 30.8 สนับสนุน กลุ่มการเมืองขั้วรัฐบาล อนุรักษ์นิยม ในขณะที่ ร้อยละ 23.0 สนับสนุน กลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มเสรีนิยม ที่น่าพิจารณาคือ มากที่สุดหรือร้อยละ 46.2 ระบุว่า กลาง ๆ ไม่ยึดติด ใครทำดีมีประโยชน์ ไม่ฝืนความรู้สึก สนับสนุนฝ่ายนั้น

 

เมื่อแบ่งออกตาม เพศ พบความแตกต่าง คือ ในกลุ่มผู้สนับสนุน กลุ่มการเมืองขั้วรัฐบาล อนุรักษ์นิยม ชายมีอยู่ร้อยละ 33.2 หญิงร้อยละ 28.7 ในกลุ่มผู้สนับสนุน กลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มเสรีนิยม ชายมีอยู่ร้อยละ 26.0 หญิง ร้อยละ 20.6 ที่น่าพิจารณาคือ ในกลุ่มกลาง ๆ ไม่ยึดติด ใครทำดีมีประโยชน์ ไม่ฝืนความรู้สึก สนับสนุนฝ่ายนั้น ชายมีอยู่ร้อยละ 40.8 ซึ่งน้อยกว่าหญิงที่มีอยู่ร้อยละ 50.7

 

เมื่อแบ่งออกตามช่วงอายุ พบความแตกต่างที่น่าพิจารณาเช่นกัน คือ ในกลุ่มผู้สนับสนุน กลุ่มการเมืองฝ่ายค้าน กลุ่มเสรีนิยม คนอายุต่ำกว่า 20 ปี มีอยู่ร้อยละ 44.4 ซึ่งมากกว่าทุกกลุ่มช่วงอายุ แต่ในกลุ่มสนับสนุน กลุ่มการเมืองขั้วรัฐบาล อนุรักษ์นิยม พบว่ากระจายกันออกไปในหลายกลุ่มช่วงอายุ เช่น ต่ำกว่า 20 ปีมีอยู่ร้อยละ 36.1 อายุระหว่าง 20-29 ปีมีอยู่ร้อยละ 32.1 อายุระหว่าง 30 – 39 ปี มีอยู่ร้อยละ 35.6 อายุระหว่าง 40 – 49 ปี มีอยู่ร้อยละ 25.7 อายุระหว่าง 50 – 59 ปีมีอยู่ร้อยละ 27.4 และอายุ 60 ปีขึ้นไปมีอยู่ร้อยละ 35.3 ที่น่าสนใจคือ

 

ประชาชนหมู่มากในหลายช่วงอายุยังอยู่ในกลุ่ม กลาง ๆ ไม่ยึดติด ใครทำดีมีประโยชน์ ไม่ฝืนความรู้สึก สนับสนุนฝ่ายนั้น ที่พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 40 – 49 ปี คือ ร้อยละ 54.1 และกลุ่มอายุ 50 – 59 ปี มีอยู่ร้อยละ 53.6

 

ผศ.ดร.นพดล กล่าวว่า ผลโพลชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่า ความต้องการของประชาชนยังเหมือนเดิมคือต้องการให้เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ แจกเงินดิจิทัล แก้ไขปัญหาปากท้อง เสริมสภาพคล่องธุรกิจ และที่มาใหม่แตกต่างไปจากนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคือ แก้ไขปัญหา แก๊งคอลเซนเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ โจรไซเบอร์ ดูดเงินของประชาชน

 

เพราะที่ผ่านมาประชาชนรับรู้ว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหาในสามเรื่องได้แก่ ยาเสพติด กับ หนี้นอกระบบ และการแจกเงินดิจิทัล แต่เรื่องสำคัญที่เป็นความต้องการของประชาชนอันดับสองในการสำรวจครั้งนี้คือ แก๊งคอลเซนเตอร์ มิจฉาชีพออนไลน์ โจรไซเบอร์ ดูดเงินของประชาชน เกลื่อนเมืองประชาชนเดือดร้อนไปทั่ว และหนี้ในระบบก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐน่าจะนำมาพิจารณาปรับปรุงยกระดับความต้องการของประชาชนที่ต้องเร่งตอบสนองให้ตรงจุด

 

ผู้ก่อตั้งซูเปอร์โพล กล่าวต่อว่า เรื่องความไม่ปลอดภัยทางไซเบอร์ต่อประชาชนแต่ละคนและต่อธุรกิจออนไลน์ รวมถึงความมั่นคงของชาติยังอยู่ในขั้นวิกฤตที่ต้องเร่งแก้ไขโดยเสนอให้ มีการกำหนดกรอบเวลาเมื่อเกิดเหตุร้ายทางออนไลน์ขึ้น รวดเร็วฉับไวต่อการแก้ไขปัญหาแบบเรียลไทม์ กระจายครอบคลุมถึงตัวเจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบในแต่ละหน้างาน มีกรอบเวลาชัดเจน มีช่องทางสื่อสารอัพเดตให้ประชาชนทราบถึงขั้นตอนในการแก้ไขปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ โจรไซเบอร์ โดยเสนอให้มีการประยุกต์ใช้การยกระดับข้อตกลงบริการดูแลประชาชนร่วมกันระหว่างหน่วยงานของรัฐ (Service Level Agreement, SLA)

 

ให้ประชาชนเกิดความอบอุ่นใจ ความรู้สึกปลอดภัยและรู้ได้แบบเรียลไทม์ว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่เกิดขึ้นกำลังอยู่ในขั้นตอนใด ถ้าหากทำได้เช่นนี้ ฐานการสนับสนุนของประชาชนน่าจะเพิ่มขึ้นในการสนับสนุนรัฐบาลและการทำงานของนายกรัฐมนตรีและการแบ่งขั้วแบ่งข้างน่าจะลดลงเหลือเพียงขั้วเดียวคือ ความต้องการของประชาชน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักวิจัย ซูเปอร์โพล 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS SOCIETY & POLITICS

‘อนุทิน’ ยินดี ‘อสม.’ นักรบชุดเทาได้ค่าป่วยการ 2 พันบาทต่อเดือน

 
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่จังหวัดนครราชสีมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมาปฏิบัติราชการ และได้มีโอกาสพบปะกับอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสม. ที่มาต้อนรับ โดยนายอนุทิน ได้กล่าวทักทาย ใจความตอนหนึ่งว่า 
 
 
ผมขอแสดงความยินดีที่ทุกท่านได้ค่าป่วยการเพิ่มเป็น 2 พันบาทต่อเดือน ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จ อยู่ที่นั่น แน่นอนว่า ทุกท่านทำงานไม่ได้หวังเรื่องเงินเรื่องทอง แต่ท่าน พยายามอย่างยิ่งในการดูแลคนไทย ในช่วงโควิด 19 ระบาด ถ้าไมได้พวกท่าน กระทรวงสาธารณสุขไฟไหม้ไปแล้ว ท่านช่วยประคองระบบสาธารณสุขของไทย กระนั้น ถึงท่านจะทำด้วยใจ ไม่หวังสิ่งตอบแทน แต่เรามองว่า เราต้องตอบแทนท่านบ้าง เป็นที่มาของค่าป่วยการที่เพิ่มขึ้น เลยมีการผลักดันมาตั้งแต่รัฐบาลก่อน จนมาสำเร็จในรัฐบาลนี้ วันนี้ ไม่มีโควิด 19 แต่งานของพวกท่าน ไม่ได้ลดไปเลย ท่านเป็นหมอคนแรก ท่านเป็นมดงาน ในระบบสุขภาพ ตอนนี้ ถ้าเทียบอัตราส่วน อสม.หนึ่งคนต้องดูแลคนไทย หลายสิบคน ค่าป่วยการ 2 พันบาท ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม”
 

โดยเงินค่าป่วยการรายเดือนให้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. จากเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท ว่า นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้อนุมัติตั้งงบประมาณประจำปี 2567 ให้กับกระทรวงสาธารณสุข สำหรับจ่ายเป็นค่าป่วยการให้กับ อสม. 1.07 ล้านคน ทั่วประเทศ ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราค่าป่วยการที่เพิ่มจากเดิมเดือนละ 1,000 บาท เป็นเดือนละ 2,000 บาท มีผลตั้งแต่เริ่มปีงบประมาณ 2567 คือ เดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคมนี้พี่น้อง อสม.จะได้รับเงินค่าป่วยการในอัตราใหม่ 2,000 บาท และตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่เดือนตุลาคม 2566 – เมษายน 2567 อีก 7,000 บาท รวม 9,000 บาท จากนั้นจะได้รับค่าป่วยการเดือนละ 2,000 บาททุกเดือน

 

สำหรับค่าป่วยการ อสม. มีการปรับขึ้น 4 ครั้งในรอบ 15 ปี ตั้งแต่ปี 2552 ที่เริ่มมีการให้ค่าป่วยการ อสม. ครั้งแรก จากเดิมที่เป็นการทำงานในลักษณะของจิตอาสา เพราะเป็นช่วงที่มีการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 โดยรัฐบาลเวลานั้นเห็นชอบให้มีการจ่ายค่าป่วยการอสม. เดือนละ 600 บาท ปี 2562 เพิ่มค่าป่วยการอสม.เพื่อสร้างขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เป็น เดือนละ 1,000 บาท ปี 2565 มีการระบาดของโรคโควิด 19 มีการเพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นกรณีพิเศษระยะเวลา 30 เดือน เดือนละ 500 บาท ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 – กันยายน 2565 รวม 1,500 บาทต่อคนต่อเดือน และล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 เพิ่มค่าป่วยการ อสม. เป็นเดือนละ 2,000 บาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

การค้นพบวัตถุริมแม่น้ำโขง ของลาว อาจเป็นพื้นที่ของล้านนา-ล้านช้าง

 
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ข้อความว่าจากการค้นพบโบราณวัตถุที่ริมแม่น้ำโขง ดอนเผิ่งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาวฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รวมทั้งยังพบซากอาคารที่เป็นเสาก่ออิฐจมดินอยู่ด้วย ประชาชนทั้งชาวลาวและชาวไทยให้ความสนใจกันอย่างมากในโลกโซเชียลต่อเนื่องกันมาหลายวัน
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่ารูปแบบศิลปกรรมที่พบประกอบด้วยพระพุทธรูปและชิ้นส่วนอาคารวิหาร โดยพระพุทธรูปอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
 
1.กลุ่มศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีรูปแบบพระพักตร์อวบอ้วน เม็ดพระศกใหญ่ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวปางมารวิชัย
2.คือกลุ่มพระพุทธรูปล้านนาสกุลช่างเชียงราย-เทิง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ดังเช่นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งมีเทคนิคพิเศษในการหล่อโลหะต่างสีมาประกอบเข้าด้วยกัน และมีพุทธลักษณะบางประการร่วมกับพระพุทธรูปศิลปะลาวล้านช้างเช่นการทำส่วนฐานยกสูงฉลุลาย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็กมีไรพระศก
3.พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างขนาดเล็กอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบเป็นพื้นถิ่นเช่นส่วนฐานเป็นบัวงอน รัศมีสูงเป็นแฉก
 
 
เสาอาคารเป็นเสากลมของวิหารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบล้านนาคือลายกรอบวงโค้งหยักและดอกโบตั๋นที่เป็นอิทธิพลจากศิลปะจีน กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ข้อมูลในภาพยังมีพระพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเป็นศิลปะล้านนา
 
 
พื้นที่ที่พบมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตซึ่งยังมิได้แบ่งเป็นประเทศไทย-ลาว เหมือนปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจจากสองอาณาจักรคือล้านนาที่เชียงใหม่กับล้านช้างที่หลวงพระบาง-เวียงจัน น่าสนใจที่มีการผสมผสานรูปแบบกันระหว่างสองศิลปะนั้นด้วยเพราะเป็นพื้นที่ชายขอบของล้านนา-ล้านช้าง
 
 
ส่วนตำแหน่งของพื้นที่ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงแสนหรือไม่นั้น อาจต้องใช้การวิเคราะห์ทางด้านธรณีวิทยาความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำโขงจากนักวิทยาศาสตร์มาประกอบด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เปิดการแข่งขันกีฬาสามัคคี 329 ต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 28 (เทอดไทยเกมส์)

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการจัดการแข่งขันกีฬาสามัคคี 329 ต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 28 (เทอดไทยเกมส์) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วย นายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ณ บ้านเทอดไทย หมู่ที่ 1 ตำบลเทอดไทย อำเภอแม่ฟ้าหลวง โดยมี นายหิรัญกฤษฏ์ นุ่มประไพ ปลัดอาวุโส อำเภอแม่ฟ้าหลวง นายเชิดชาย ลาชี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเทอดไทย นายภานุวัฒน์ โรจนิติวรโชติ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ร่วมให้เกียรติต้อนรับ และร่วมพิธีเปิดโครงการในครั้งนี้

 
โครงการจัดการแข่งขันกีฬาสามัคคี 329 ต้านภัยยาเสพติด ครั้งที่ 28 (เทอดไทยเกมส์) ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้ากรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม – 2 เมษายน 2567 โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 
 
 
อีกทั้งเป็นการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนได้มีการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการกีฬาในระดับตำบลให้มีการพัฒนาสู่สากล สร้างความสามัคคีในหมู่คณะ ของพี่น้องประชาชนไทยเชื้อสายจีนยูนนาน และประชาชนในพื้นที่ได้ออกกำลังกาย และใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในตำบลต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

แก้ปัญหาถนนหมู่บ้านอาโย๊ะใหม่ หลังเส้นทางชำรุดเดือดร้อนยาวนาน

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่สำรวจเส้นทางสัญจรที่ชำรุดเสียหาย พร้อมด้วย นางอัญญลักษณ์ กายาไชย เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย และนายทวีศักดิ์ สะโง้ ณ หมู่บ้านอาโย๊ะใหม่ ตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย

สำหรับเส้นทางดังกล่าว เป็นเส้นทางสัญจรของพี่น้องประชาชนที่เชื่อมโยงไปยัง 4 หมู่บ้าน เป็นเส้นทางที่สามารถยลระยะเวลาในการเดินทางเข้าตัวเมือง อำเภอแม่จัน ได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยถนนเกิดการชำรุดเสียหาย ทำให้พี่น้องประชาชนได้รับความเดือดร้อนมาอย่างยาวนาน
 
 
ต่อมา นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมหารือและรับฟังปัญหาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาดังกล่าวต่อไป
 
 
ซึ่งหมู่บ้านอาโย๊ะใหม่ อยู่ในตำบลแม่สลองใน อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย มี 3 ฤดู เหมือนกับฤดูปกติของภาคเหนือ ในประเทศไทย มีลักษณะภูมิอากาศจัดอยู่ในเขตโซนร้อน แบบฝนเมืองร้อนเฉพาะฤดูกาลภูมิอากาศ ของภาคเหนือส่วนใหญ่เป็นแบบสะวันนา (Aw) คือ อากาศร้อนชื้นสลับกับฤดูแล้ง อุณหภูมิเฉลี่ยประจำปีอยู่ระหว่าง 24–29 องศาเซลเซียส หมู่บ้านที่มีอุณหภูมิต่ำสุด คือ ห้วยหก คือ 2 องศาเซลเซียส หมู่บ้านที่มีอุณหภูมิสูงสุดคือ อาแหละ คือ 33.5 องศาเซลเซียส หมู่บ้านที่มีสถิติฝนตกหนัก คือ ห้วยโย ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,230 มิลลิเมตร/ปี และมีสถิติฝนตกน้อยที่สุด คือ ห้วยกระ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 960 มิลลิเมตร/ปี โดยมีวันที่ฝนตกปีละประมาณ 110 วัน ลักษณะภูมิอากาศโดยภาพรวม ดังนี้
  • ฤดูฝน พฤษภาคม–กันยายน อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 23–29 องศาเซลเซียส
  • ฤดูหนาว ตุลาคม–กุมภาพันธ์ อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 6–21 องศาเซลเซียส
  • ฤดูร้อน มีนาคม–พฤษภาคม อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25–35 องศาเซลเซียส
 
4 ลักษณะของดิน ลักษณะของดินในพื้นที่มีความหลากหลายเนื่องจากเป็นเทือกเขาสูงชัน บางพื้นที่เป็นดินแดง ดินร่วนปนทราย และดินเหนียว ที่มีสารอาหารสำหรับพืชอยู่มาก บนที่ราบสูงน้ำท่วมไม่ถึงเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชไร่ เช่น ข้าวไร่ (ข้าวพันธุ์ท้องถิ่น) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กาแฟอาราบิก้า ดอกเก๊กฮวย ชาอัสสัม (ชาพันธุ์ท้องถิ่น) และชาอู่หลง เป็นต้น
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ในหลวง-พระราชินี ทรงตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว 

 

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567 เวลา 15.33 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงตัดหวายลูกนิมิตอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย

 

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึงท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย  นายประเสริฐ  จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  

 

ต่อจากนั้น ประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ณ ที่นั่น ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ  จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะข้าราชการ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  จากนั้น ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังที่ประดิษฐานสมเด็จพระคันธาระองค์ปฐม วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว  

 

ครั้นเสด็จพระราชดำเนินถึง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการท้ายที่นั่งบูชาสมเด็จพระคันธาระองค์ปฐม ทรงกราบ  แล้วประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา 

 

เมื่อเสด็จพระราชดำเนินถึง นายพุฒิพงศ์  ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ คณะข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ  จากนั้น เสด็จเข้าอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการทองทิศบูชาพระพุทธเมตตามหาจักรพรรดิรัตนปุรีศรีเชียงแสน พระประธานประจำอุโบสถ ทรงกราบ ทรงศีล ประธานสงฆ์ถวายศีล  

 

เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กราบบังคมทูลเบิกนายปราเสริฐ  ปราสาททองโอสถ ประธานจัดสร้างอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กราบบังคมทูลรายงานประวัติความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดสร้างอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา

 

ต่อจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังมณฑลพิธีตัดหวายลูกนิมิต ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม ทรงปิดทองลูกนิมิต และทรงตัดสาแหรกลูกนิมิตอุโบสถ และทรงโปรยเหรียญลงในหลุมลูกนิมิต พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา ชาวพนักงานลั่นฆ้องชัย ประโคมสังข์ แตร ดุริยางค์  แล้วทรงประเคนจตุปัจจัยไทยธรรมถวายพระสงฆ์ ทรงหลั่งทักษิโณทก พระสงฆ์ถวายอนุโมทนา ถวายอดิเรก  

 

จากนั้น พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ นายอินทพร  จั่นเอี่ยม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กราบบังคมทูลเบิกผู้มีอุปการคุณในการจัดสร้างอุโบสถ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานของที่ระลึก ตามลำดับ  เสร็จแล้ว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ คณะบุคคลต่าง ๆเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย และของที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี 

 

จากนั้น ทรงลงพระปรมาภิไธย และทรงลงพระนามาภิไธยในแผ่นศิลา  แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงกราบที่หน้าเครื่องนมัสการ ทรงลาพระสงฆ์   ในโอกาสนี้ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว เฝ้า ถวายของที่ระลึกแด่ พระบาทสมเด็พระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย 

 

จากนั้น เสด็จออกจากอุโบสถ ไปทรงปลูกต้นรวงผึ้งไว้เป็นที่ระลึก  สมควรแก่เวลาจึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็พระราชดำเนินไปยังสนามเฮลิคอปเตอร์ชั่วคราว วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว แล้วประทับเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร    

  

ในโอกาสนี้ มีราษฎรจำนวนมากมาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ซึ่งเดินทางมาจากพื้นที่อำเภอต่าง ๆ ในจังหวัดเชียงราย อาทิ อำเภอแม่สาย  อำเภอแม่ฟ้าหลวง รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ต่างพร้อมใจสวมเสื้อสีเหลือง และเครื่องแต่งกายประจำชาติพันธุ์ต่าง ๆ อาทิ  ลัวะ ไทลื้อ  คะฉิ่น  จีนยูนนาน กับทั้งศิษยานุศิษย์ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ ที่เดินทางมาจากจังหวัดท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งแต่งกายด้วยชุดประจำชาติพันธุ์ไทใหญ่ ต่างมาร่วมเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยความจงรักภักดี  และเปล่งเสียง “ทรงพระเจริญ” อย่างกึกก้อง 

 

การนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงแย้มพระสรวล และโบกพระหัตถ์ให้กับราษฎรที่มาเฝ้าทูละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ยังความปลี้มปีติแก่ราษฎรที่ได้ชมพระบารมี   

 

ในการนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กองแพทย์หลวง สำนักพระราชวัง ร่วมกับโรงพยาบาลและหน่วยสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ออกให้บริการด้านสาธารณสุข มอบพิมเสนน้ำและผ้าเย็นพระราชทาน กับทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดตั้งโรงครัวพระราชทาน ประกอบอาหารปรุงสุกใหม่ จัดทำเป็นอาหารกล่อง พระราชทานแก่ราษฎรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ ยังความปลื้มปีติแก่ราษฎรอย่างหาที่สุดมิได้ 

 

ทั้งนี้ วัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นวัดราษฎร์ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย ก่อสร้างขึ้นโดยดำริของพระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา 

 

เมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยดำเนินการก่อสร้างอุโบสถบุญชุ่มรัตนปุรี ศรีธรรมราชา ขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๕ เป็นศิลปะตามแบบล้านนาบริสุทธิ์ ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อใช้เป็นสถานที่ประชุมทำสังฆกรรมของพระภิกษุสงฆ์ จัดกิจกรรมและกิจต่าง ๆ ในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา 

 

ภายในวัดแสดงภาพประติมากรรมฝาผนัง พุทธประวัติ ทศชาติ และชีวประวัติ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ เป็นสถานที่ศึกษาหาความรู้ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนน้อมนำไปเป็นแบบอย่างในการประพฤติปฏิบัติตน เป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธเมตตามหาจักรพรรดิรัตนปุรีศรีเชียงแสน พระประธานประจำอุโบสถ และสมเด็จพระคันธาระองค์ปฐม พระพุทธรูปองค์สำคัญของวัดพระธาตุดอยเวียงแก้ว ถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และอาจาริยบูชาแด่ พระครูบาบุญชุ่ม ญาณสังวโร อรัญวาสีภิกขุ เพื่อสืบสานและเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้มีความเจริญมั่นคงสืบไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS NEWS UPDATE

ม.พะเยา แชมป์ 2 ปีติด ใช้หนี้คืน กยศ. ม.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย อันดับ 7

 
เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567  รองศาสตราจารย์ ดร.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา มอบหมายให้ ดร.วุฒิชัย ไชยรินคำ รองอธิการบดีฝ่ายคุณภาพนิสิต เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยพะเยา เข้ารับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอัตราชำระหนี้ กยศ. ดีที่สุดอันดับ 1 ของประเทศต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 โดยกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษา 25 แห่งและระดับอาชีวศึกษา 25 แห่ง ที่มีอัตราชำระหนี้ดีที่สุดของประเทศ เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินงานของสถานศึกษา โดยมีนายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง และประธานกรรมการ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาเป็นผู้มอบรางวัล ณ ห้องประชุมวายุภักษ์ 4 ชั้น 4 กระทรวงการคลัง
 

นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา เปิดเผยว่า “จากการที่กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาได้จัดอันดับข้อมูลสถิติการชำระหนี้ของสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาทั่วประเทศที่มีผู้กู้ยืมที่อยู่ระหว่างการชำระเงินคืนกองทุน จึงได้จัดพิธีมอบประกาศเกียรติคุณแก่สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาและระดับอาชีวศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุด 25 อันดับแรกของประเทศ ประจำปี 2566 รวมจำนวนทั้งสิ้น 50 แห่ง เพื่อเป็นการยกย่องเชิดซูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินงานของสถานศึกษาที่เข้าร่วมการดำเนินงานกองทุน โดยสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดอันดับที่ 1 ได้แก่

มหาวิทยาลัยพะเยา และได้เรียงลำดับรายชื่อสถานศึกษา 25 อันดับ ดังนี้

1.มหาวิทยาลัยพะเยา

2. มหาวิทยาลัยศิลปากร

3.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร

4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา

5.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

6. มหาวิทยาลัยนเรศวร

7.มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง 8. มหาวิทยาลัยมหิดล

9.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 10. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

11.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 12. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี

13.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 14.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ

15.มหาวิทยาลัยบูรพา 16. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

17.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 18. สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์

19.สถบันเทคโนโลยีพระจอมกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง 20. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก

21.มหาวิทยาลัยขอนแก่น 22. มหาวิทยาลัยทักษิณ

23.มหาวิทยาลัยแม่โจ้ 24. มหาวิทยาลัยเทคนโลยีราชมงคลอีสาน

25.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

สำหรับ สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา ที่มีอัตราการชำระหนี้ดีที่สุดอันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคลำปาง และได้เรียงลำดับรายชื่อสถานศึกษา 25 อันดับ ดังนี้

1. วิทยาลัยเทคนิคลำปาง   

2. วิทยาลัยเทคนิคสว่างแดนดิน  

3. วิทยาลัยเทคนิคอุตรดิตถ์   

4. วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม 

5. วิทยาลัยเทคนิคเชียงราย         

6. วิทยาลัยเทคนิคกันทรลักษ์

7. วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง  

8. วิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงราย

9. วิทยาลัยเทคนิคสกลนคร   

10. วิทยาลัยเทคนิคชุมแพ

11. วิทยาลัยเทคนิคนางรอง    

12. วิทยาลัยเทคนิคน่าน   

13. วิทยาลัยเทคนิคสุโขทัย    

14. วิทยาลัยเทคนิคแพร่

15. วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุตรดิตถ์     

16. วิทยาลัยเทคนิคเลย 

17. วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี 

18. วิทยาลัยการอาชีพนวมินทราชินีมุกดาหาร 

19. วิทยาลัยเทคนิคเพชรบูรณ์   

20. วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุโขทัย               

21. วิทยาลัยเทคนิคพิจิตร   

22. วิทยาลัยเทคนิคระยอง 

23. วิทยาลัยเทคนิคกำแพงเพชร  

24. วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ 

25. วิทยาลัยเทคนิคพะเยา 

 

ทั้งนี้ มีสถานศึกษาที่เข้าร่วมดำเนินงานกับกองทุนทั่วประเทศกว่า 4,000 แห่ง ซึ่งสถานศึกษาทุกแห่งล้วนเป็นกำลังสำคัญในการสร้างคนให้มีความรู้ ความสามารถ อีกทั้ง ยังช่วยปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้แก่นักศึกษา ผู้กู้ยืมมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบในการชำระเงินคืนกองทุน เพื่อส่งต่อโอกาสทางการศึกษาให้ผู้กู้ยืมรุ่นต่อไป โดยกองทุนคาดหวังให้สถานศึกษาทุกแห่งได้มีการรณรงค์ส่งเสริมในเรื่องดังกล่าวอย่างต่อเนื่องอันจะส่งผลให้กองทุนเป็นทุนหมุนเวียนที่ให้โอกาสทางการศึกษา เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์และสร้างอนาคตให้คนไทย ซึ่งเป็นกำลังสำคัญให้กับประเทศชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS NEWS

ประชุมบอร์ด SONP เดือนมีนาคม 67 “Agency” อัปเดตเทรนด์เม็ดเงินโฆษณา

 

เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2567 มีการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) สมัยที่ 13 ครั้งที่ 3/2567 ณ ห้องประชุม WR PRIDE ไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย อาคารเอ็มไพร์ ทาวเวอร์ 2 ชั้น 28

โดยมี ดร. สร เกียรติคณารัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร อินิชิเอทีฟ ประเทศไทย (Initiative Thailand) และ ดร.ธราภุช จารุวัฒนะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไอพีจี มีเดียแบรนด์ส ประเทศไทย ให้การต้อนรับ และบรรยายอัพเดทเม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อ และแนะนำการวางแผนปรับตัวเทรนด์ ปี 2024

 

 

จากนั้น นายนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เป็นประธานการประชุมประจำเดือนมีนาคม โดยมีวาระที่สำคัญ ได้แก่ รับรองรายงานการประชุมคณะกรรมการบริหารสมาคม สมัยที่ 13 ครั้งที่ 2/2567 รายงานสถานะการเงิน เรื่องสืบเนื่องความคืบหน้าด้านการพัฒนาธุรกิจ ภายใต้โครงการ Premium Publisher Network- PPN

 

 

ส่วนด้านกิจกรรม ได้แก่ แนวทางการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆ ของสมาคมฯ โครงการเรียนรู้กับกูรูออนไลน์ (One Day Training) ปีที่ 8 ครั้งที่ 4 หัวข้อ Cyber Security โดย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย ร่วมกับ SRAN

 

นอกจากนี้มีการรายงานความคืบหน้า กิจกรรมประจำปี 2567 อาทิโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวรุ่นเยาว์ รุ่นที่ 8 และโครงการประกวด “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2567 ซึ่งมีการรับฟังความคิดเห็นของสมาชิกเพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

 

ในครั้งนี้นางมนรัตน์ ก.บัวเกษร และ นายกันณพงศ์ ก.บัวเกษร ในฐานะผู้ก่อตั้ง สำนักข่าวนครเชียงรายนิวส์ เป็นตัวแทนสื่อภูมิภาคเข้าร่วม รวมถึงเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมครั้งนี้อีกด้วย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

‘คลองแม่สุก’ โอตารุ แห่งพะเยา เตรียมพร้อมเช็คอินให้ได้ฟิลญี่ปุ่น

 

เมื่อวันที่  28 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวนครเชียงรายนิวส์รายงาน บ้านแม่สุก อ.แม่ใจ จ.พะเยา  นายรัฐพล  นราดิศร ผู้ว่าราชการ จ.พะเยา นายพิรัช จันธิมา นายอำเภอแม่ใจและนายจาตุรงค์ สุวรรณะ นายก อบต.แม่สุก ลงเยี่ยมชมให้กำลังใจในการสร้างสรรค์งานศิลปะ คลองแม่สุข

หลังมีอาสาสมัครศิลปินจิตอาสา กลุ่มสายน้ำกว๊าน  เข้าเขียนและวาดภาพ ให้กับสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของ จ.พะเยา ในชุมชนบ้านแม่สุก ซึ่งทางเพจ พะเยาน่าอยู่ ได้บอกถึงตำแหน่งการเดินทางคือ เริ่มจากแยกแม่สุก ถ.ซุปเปอร์ไฮเวย์ หรือจากไปรษณีย์แม่ใจ (แม่ใจสายใน) เลี้ยวไปทางทิศตะวันตก ผ่านบ้านทุ่งโป่ง แล้วถึงบ้านแม่สุก ไปสุดหมู่บ้าน เลี้ยวขวาเข้าซอยข้างโรงเรียนแม่สุก ไปอีกหน่อยก็จะเจอคลองแม่สุข (รวมระยะทางราว 4 ก.ม.)

คาดว่าโครงการแลนด์มาร์คท่องเที่ยวแห่งใหม่”คลองแม่สุก” ของอำเภอแม่ใจ แหล่งท่องเที่ยวในอนาคตที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวและรายได้เศรษฐกิจของ อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ในอนาคต 

ความเป็นมาของชื่อชุมชน เนื่องบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านมีต้นไม้ชนิดหนึ่ง ขึ้นอยู่ตามลำห้วยของหมู่บ้าน และออกดอกส่งกลิ่นหอมตลบอบอวนไปทั่วทั้งหมู่บ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับกลิ่นหอมจากดอกไม้ชนิดนี้มาตลอด คนในหมู่บ้านจึงเรียกต้นไม้ชนิดนี้ว่า “ต้นสีสุก” (ต้นอโศกอินเดียสีทอง) และใช้ชื่อนี้ในการตั้งหมู่บ้าน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เพจฮักแม่ใจ ,เพจพะเยาน่าอยู่

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ห้ามกิน ‘ว่านจักจั่น’ เด็ดขาด หลังพบชาวลำพูน ดับ 1 ป่วย 3

 

เมื่อวันที่  28 มี.ค. 67 ผู้สื่อข่าวรายงาน รพ.บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน พบว่ามีชาวบ้านขุดว่านจักจั่นนำมาทำอาหารรับประทานจากนั้นมีอาการซึมลง เกิดอาการเกร็ง อ่อนแรง เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนอาเจียน ตากลอกไปมา ปวดเมื่อยทั้งตัว ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ เนื่องจากกล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ขณะนี้ป่วยแล้ว 3 รายในเวลาเดียว โดยรับประทานแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น

ทั้งนี้ ว่านจักจั่น ไม่ใช่พืชที่กินได้ แต่คือจักจั่นที่ตายจากเชื้อรางอกในตัวจักจั่น อาการที่เกิดขึ้นมาจากพิษของเชื้อรานี้ ไม่มียาแก้พิษโดยตรง ต้องรักษาตามอาการแบบประคับประคอง

จึงแจ้งเตือนและช่วยกันรณรงค์ให้ความรู้แก่ชาวบ้าน ที่เข้าใจผิดคิดว่า เชื้อราที่ติดงอกจักจั่น คือของดีมีประโยชน์ แต่มันคือเชื้อราที่อันตรายกินเข้าไปเกิดอาการแพ้อย่างรุนแรงถึงตายได้ ฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดซ้ำขึ้นอีก

สำหรับ ว่านจักจั่น คือ ซากตัวอ่อนของแมลงที่ชาวล้านนาเรียกว่า “แมงอิจ้า” ที่เสียชีวิตขณะฟักตัวอ่อนอยู่ในดิน แล้วติดเชื้อรา มันไม่ใช่พืชที่อยู่ด้านบนหรือด้านล่างของดินแต่อย่างใด ส่วนตัวที่ไม่ตายจะออกจากดินในช่วงกลางคืนไต่ขึ้นมาลอกคราบกลายเป็นจักจั่น หรือ แมงอิจ้า ช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. ที่ชาวบ้านออกจับมาบริโภค หรือ จับมาขายสร้างรายได้ในราคาตัวละ 1 บาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News