Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงราย พบสัตว์ป่าคุ้มครองระดับโลก “เต่าปูลู” หลังพบเจอตัวที่ 2 ในรอบ 3 ปี นับเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

 

เชียงราย พบสัตว์ป่าคุ้มครองระดับโลก “เต่าปูลู” หลังพบเจอตัวที่ 2 ในรอบ 3 ปี นับเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า

 
ปัจจุบัน “เต่าปูลู” จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 IUCN (2011) โดยมีสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN – Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)

เมื่อวันที่ 1 ตุลาตม 2566 ที่ผ่านมา  สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับทางอาจารย์ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาวิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ลงพื้นที่ศึกษาแหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู หลังจากได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนบ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ว่ามีคนในชุมชนพบเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดงเมือง บริเวณน้ำตกถ้ำบึ่ง ห่างจากชุมชนไปประมาณ 800 เมตร ชาวบ้านเจอตัวเต่าปูลูในลำห้วยแดนเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาดอยยาว มีลักษณะเป็นน้ำตก โขดหิน เป็นการพบตัวของเต่าปูลูในรอบ 10 ปีของชุมชนบ้านงามเมือง

 
 
 
นายท่องเที่ยว กองฟู ผู้ใหญ่บ้านงามเมือง หมู่11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เต่าปูลูเจอโดยบังเอิญ พอดีลูกบ้านผมได้ขึ้นไปหาหอย ส่องหอยเหล็กจานตอนกลางคืน และที่ตรงน้ำตกถ้ำบึ่ง ส่องเจออยู่บนก้อนหินกำลังจะไต่ลงน้ำ พอลูกบ้านเจอก็โทรศัพท์มาหาผม ผมดีใจมากที่เจอเต่าปูลูที่ไม่เจอนานในรอบ 10 ปีแล้ว นี่คือตัวแรก ภัยคกคามเต่าปูลูส่วนมากจะเป็นคนนอกพื้นที่เข้ามาล่า คนในหมู่บ้านเรามีการห้ามและเชื่อฟังกัน คนต่างบ้านไม่รู้บ้านไหนบ้าง เมื่อ2-3เดือนก่อนชุดชรบ.หมู่บ้านก็ได้ขึ้นมาไล่ จับได้มา5-6 คน ตอนนั้นเรายังไม่ได้ติดป้ายประกาศตัวนี้ก็ได้อะลุ่มอะหล่วย ปล่อยเขาไปเสีย อีกครั้งก็แอบมาหาใกล้กับจุดที่เราเจอเต่าพอดีแต่จับไม่ได้ ลำห้วยนี้เราใช้ร่วมกันระหว่างบ้านแดนเมืองกับบ้านงามเมือง ที่จริงทั้ง2ชุมชนได้อนุรักษ์มานานมากแล้วเป็นป่าชุมชน ผมก็พึ่งมาสานต่อมาเป็นพ่อหลวงบ้านได้2ปีที่ผ่านมาเอง ป่าเรามีเต่าผึ้งด้วย แต่เต่าปูลูเจอในรอบ 10 ปี
 
 
“เต่าปูลู” Platysternon megacephalum หรือเต่าปากนกแก้ว(Big-headed Turtle) เป็นสัตว์น้ำจืด วงศ์ Platysternidae มีลักษณะพิเศษคือมีหัวขนาดใหญ่ กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย 
 
เต่าปูลูเมื่อยังเล็ก กระดองจะมีลายสีเหลืองและสีน้ำตาล ส่วนตัวเต็มวัยสีเปลี่ยนไปเป็นสีน้ำตาลเขียวมะกอก ผสมพันธุ์ในน้ำ วางไข่คราวละ 3–5 ฟอง ไข่เปลือกแข็งสีขาว รูปทรงกระบอกหัวท้ายรี ยาวประมาณ 4 เซนติเมตร วางไข่ตามพงหญ้าริมฝั่งล้ำห้วยในช่วงฤดูแล้งประมาณเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ไข่ฟักตัวออกลูกประมาณเดือนสิงหาคม
 
 
เต่าปูลูมีหัวขนาดใหญ่ ไม่สามารถหัวหดเข้ากระดองได้ เคลื่อนไหวได้รวดเร็ว สามารถปีนต้นไม้และก้อนหินได้ ขาและเท้ามีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลมคม ขาหน้ามี 5 นิ้ว ขาหลังมี 4 นิ้ว มีเยื่อพังผืดเล็กน้อยยึดระหว่างนิ้วเกือบถึงโคนเล็บ หางมีขนาดใหญ่ บริเวณโคนหางและโคนขาหลังมีเดือยหนังแหลมยื่นออกมาจำนวนมาก
ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ทำการศึกษาแนวทางการอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยเต่าปูลู
 
 
โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนลุ่มนิอิงตอนปลาย ช่วงปีพ.ศ. 2564-2565 ในพื้นที่ 6 ชุมชนในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำอิงตอนปลาย พบปัญหาภัยคุกคามคือการลักลอบจับเพื่อส่งออกไปยังประเทศเพื่อบ้าน และทางชุมชนได้มีแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยใช้มติประชาคมหมู่บ้าน ประกาศเขตพื้นที่ห้ามล่าเต่าปูลู ในชุมชนนำร่อง 3 ชุมชนได้แก่ ชุมชนบ้านร้องหัวฝาย หมู่ 12 บ้านพัฒนารุ่งเรือง หมู่ 18 ตำบลห้วยซ้อ อำเภอเชียงของและชุมชนบ้านงามเมือง หมูที่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย
 
 
ด้านนายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่ภาคสนาม สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่า การเจอตัวเต่าปูลูที่บ้านงามเมือง เป็นการเจอตัวเต่าปูลูเป็นตัวที่ 2 ในช่วงเวลา 3ปี ตัวแรกเราเจอที่ลำห้วยป่าแดง ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ใช้เวลา 14 เดือนกว่าจะเจอตัวเต่าปูลูอีกครั้ง ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ร่วมกับชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์โดยการสร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชนแก้ปัญหาภัยคุกคามเรื่องการล่าเพื่อส่งออก รวมถึงการศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นรวมถึงการศึกษาร่วมกับนักวิชาการ ทั้งการศึกษาระบบนิเวศน์แหล่งที่อยู่อาศัย การติดตามเต่าจากการเก็บตัวอย่างน้ำหาสารพันธุ์กรรมจากธรรมชาติ eDNA จากการตรวจหา eDNA ก็มีการตรวจพบการมีอยู่ของเต่าปูลู แต่การเจอตัวเต่าในครั้งนี้เป็นการยืนยันว่าในป่าต้นน้ำลุ่มน้ำอิงตอนปลายยังมีเต่าปูลูอยู่
 
 
ดร.ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ อาจารย์ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ผมได้รับการติดต่อจากสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเข้ามาศึกษาชีววิทยา habitat ของมันอยู่อย่างไร พื้นที่อาศัยเป็นแบบไหน วันนี้ก็โชคดีที่ชาวบ้านแจ้งมาว่าเจอเต่า ก็มาเก็บข้อมูลว่าพื้นที่ที่เจอเต่ามันเป็นอย่างไร เต่าปูลูมีความพิเศษคือมันเป็นเต่าน้ำ มีลักษณะพิเศษที่ต่างจากเต่าน้ำที่ทุกคนรู้จักคือกระดองค่อนข้างจะแบน ไม่เหมือนเต่าอื่นกระดองมันจะโค้งๆ ความแบนของมันเพื่อให้มันสามารถซ่อนตัวอยู่ใต้ซอกหินตามน้ำตกตามลำห้วย ลักษณะพิเศษอีกอย่างคือหัวใหญ่มากไม่สามารถหดหัวเข้ากระดอกได้ ปกติเราจะคุ้นชิ้นกับเต่าหดหัว หดขาเข้ากระดอง 
 
แต่เต่าปูลูทำไม่ได้สักอย่าง หัวใหญ่ขาใหญ่ หางยาว ดูน่ารัก หางที่ยาวมันช่วยในการปีนน้ำตกโดยเอาหางช่วยค้ำไว้ปีนน้ำตก เต่าปูลูกินสัตว์อื่นเป็นอาหารทั้งการล่าเองและกินซากตามลำห้วย เป็นดัชนีชี้วัด เป็นผู้รักษาสภาพลำน้ำไม่ให้เน่าเสียเพราะมันกินซากสัตว์ที่มันตายในน้ำ มีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างหนึ่ง แต่ตอนนี้สถานการณ์เต่าปูลูน่าเป็นห่วงสถานที่อยู่ของมันถูกทำลายไปเยอะลำห้วยต่างๆ มีมลพิษ การกั้นลำห้วยลำน้ำนิ่งๆ เต่าปูลูมันชอบน้ำไหล เป็นแอ่ง เป็นวังที่น้ำไหล การไปเปลี่ยนสภาพลำห้วยทำให้พื้นที่อาศัยมันเปลี่ยนไป อีกอย่างคือการล่า เป็นปัญหาสำคัญมาก การล่าที่เอาเต่าออกไปจากพื้นที่ 
 

จริงๆแล้วประชากรในธรรมชาติก็มีไม่เยอะ การเอาตัวเต็มวัยที่สามารถแพร่พันธุ์ได้ออกจากพื้นที่ ล่าออกไปสุดท้ายก็ไม่เหลือตัวที่จะสืบพันธุ์ต่อ สถานภาพของมันในปัจจุบันก็เลยกลายเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของประเทศไทย ห้ามล่า ห้ามจับ ห้ามซื้อ ห้ามขาย ส่วนสถานภาพระดับโลก เป็นEN-endangered เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ทำให้เต่าปูลูมีความสำคัญในระดับประเทศและระดับโลกด้วย โดยส่วนตัวผมว่ามันน่ารักดี เลยชอบที่จะศึกษามัน

 
สำหรับ บ้านงามเมือง หมู่ 11 ตำบลยางฮอม อำเภอขุนตาล จังหวัดเชียงราย ได้ทำการประชาคมหมู่บ้าน กำหนดลำห้วยแดนเมืองทั้งสายเป็นเขตอนุรักษ์เต่าปูลู มีคณะกรรมการหมู่บ้านและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้านเป็นคณะทำงานในการสอดส่องดูแลตามลำห้วย หากมีการจับเต่าปูลูในลำห้วยจะมีการปรับ 20,000 บาท และส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย เป็นหมู่บ้านนำร่องประกาศเขตอนุรักษ์เต่าปูลู 1 ใน 3 ชุมชนลุ่มน้ำอิงตอนปลาย และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตมีแนวทางการสร้างความร่วมมือขยายแนวทางการสร้างเขตอนุรักษ์เต่าปูลูไปยังชุมชนอื่นๆให้ครอบคลุมชุมชนในเขตป่าต้นน้ำที่สนใจในระยะต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

‘นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา’ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ‘คนใหม่’

 

  เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2566 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้จัดงานประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2565-2566 ณ โรงแรม เดอะ รอยัล ริเวอร์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวน 38 คน จาก 38 องค์กรเพื่อรายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ในรอบปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2565-กันยายน 2566)
โดยมีรายละเอียดโครงการประกอบด้วย


1. โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์ รุ่นที่ 6 ประจำปี 2565
2. งานประกาศผล “รางวัลข่าวดิจิทัลยอดเยี่ยม ประจำปี 2565” (Digital News Excellene Awards 2022)
3. โครงการ หยุดข้อมูลลวง…Stop Fake, Spread Facts “ร่วมปลุกสังคม รู้เท่าทันข้อมูลลวง”
4. กิจกรรม SONP Outing และกิจกรรมระดมสมอง Gallery Walk with SONP วันที่26-29 กุมภาพันธ์ 2566 ณ โรงแรม ณ ทรีธารา
5. โครงการ Regional Seminar 2023
6. การจัดประชุม “ทิศทางการพัฒนาสื่อออนไลน์ของลาว” ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งชาติลาว นครเวียงจันทน์ สปป.ลาว
7. “โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการผู้ผลิตข่าวดิจิทัลรุ่นเยาว์” หรือ “Young Digital News Providers” รุ่นที่ 7 ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 22-24 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี
8. ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) จัดกิจกรรมเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลสำหรับสื่อมวลชน ร่วมกับผู้ทรงวุฒิด้านกฎหมาย PDPA และกิจการสื่อ

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้ มีมติเอกฉันท์เลือก นันทสิทธิ์ นิตย์เมธา Senior Manager ฝ่ายนิวมีเดีย สถานีโทรทัศน์โมโน 29 นั่งนายกสมาคมฯ คนใหม่ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคม ฯ ชุดใหม่ รวม 20 คน จากผู้แทนองค์กรสมาชิก

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก :สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES VIDEO

(มีคลิป) รวบไตเติ้ล นักถ่ายใต้กระโปรง ทำมาแล้ว 7 ปี พบเหยื่อกว่า 430 ราย

 

“ไตเติ้ล แอบถ่ายใต้กระโปรง” ภัยสำหรับสาวชอบนุ่งกระโปรง แฝงตัวตามห้างสรรพสินค้า สะพานลอย ในพื้นที่กรุงเทพฯ คัดเหยื่อหญิงสาวหุ่นดีและนุ่งกระโปรง ก่อนเดินประกบแล้วแอบใช้โทรศัพท์ถ่ายภาพใต้กระโปรง พร้อมใบหน้า ล่าสุดถูกชุด “สืบนครบาล” และ “PCT5” จับกุมตัวได้ในบ้านพักและขยายผลในโทรศัพท์ทำให้ชุดจับกุมถึงกับอึ้ง พบคลิปแอบถ่ายใต้กระโปรงพร้อมใบหน้าเหยื่อกว่า 430 ราย!!! ตลอดระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา เจ้าตัวยอมจำนนต่อหลักฐานสารภาพกับ “ผู้การจ๋อ” ทำไปเพราะชอบความตื่นเต้น เมื่อทำสำเร็จรู้สึกได้ปลดปล่อย ยิ่งกว่าการมีเซ็กส์ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. สั่งเร่งขยายผลกู้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. สั่งการให้ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. , พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.วรพจน์ รุ่งกระจ่าง รอง ผบก.สส.บช.น., พ.ต.อ.จักราวุธ คล้ายนิล ผกก.วิเคราะห์ข่าวฯ บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.พัชรดนัย การินทร์ ผกก.กลุ่มงานสอบสวน บก.สส.บช.น. , พ.ต.อ.ธนากร อ่อนทองคำ ผกก.สส.4 บก.สส.บช.น. , พ.ต.ท.ปรีชากรณ์ เหมาอำพมาตร์ รอง ผกก.สส.สน.ปทุมวัน , พ.ต.ท.มาโนชย์ ทองแก้ว , พ.ต.ท.ปกป้อง ฟองเลา , พ.ต.ต.ธัญพีรสิษฐ์ จุลพิภพ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ สืบนครบาล และชุด PCT5 ร่วมกันสืบสวนติดตามจับกุมตัว

นายทรรศน์ เสมอภาค หรือ ไตเติ้ล อายุ 29 ปี ผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญากรุงเทพใต้ที่ จ.902/2566 ลงวันที่ 15 ก.ย.2566

ในข้อหา “กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะไม่สามารถขัดขืนได้ โดยได้บันทึกภาพหรือเสียงการกระทำอนาจารนั้นไว้เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่นและกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการรังแก หรือข่มเหงผู้อื่น หรือกระทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย หรือเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณสถาน”

ตรวจยึดของกลาง 2 รายการ
1.โทรศัพท์มือถือ 1 เครื่อง (กู้ข้อมูลพบคลิปแอบถ่ายใต้กระโปรงกว่า 873 ภาพ ใบหน้าเหยื่อ 430 ราย)
2.คอมพิวเตอร์ 1 เครื่อง (พบข้อมูลการฝึกแอบถ่ายใต้กระโปรง-รอกู้ข้อมูล)

พฤติการณ์ กล่าวคือ “ไตเติ้ล นักแอบถ่ายใต้กระโปรง” ภัยเมืองกรุงของเหล่าเด็กสาว เมื่อได้เกิดกลุ่มลับที่พวกชายสายหื่นที่ชื่นชอบเสพสื่อลามกประเภทของการ “แอบถ่ายใต้กระโปรง“ แล้วนำคลิปมาแชร์มาเสพกันในกลุ่ม โดยแผนประทุษกรรมจะหาเหยื่อตามห้างดัง และสะพานลอย ในพื้นที่ จ.กรุงเทพฯ จากนั้นจะคัดเลือกเหยื่อที่เป็นเด็กหญิงที่ ”สวมกระโปรง” จากนั้นจะเดินสะกดรอยติดตามเยี่ยงคนโรคจิต จากนั้นเมื่อสบโอกาสก็จะใช้โทรศัพท์ถ่ายคลิปวีดิโอใต้กระโปรงเหยื่อ โดยเหยื่อเกือบทุกรายจะ ”ไม่รู้ตัว“ หรือบางรายรู้ตัว คนร้ายก็จะเดินหลบหนีไป ล่าสุดโคตรนักมุดรายนี้ได้ลงมือก่อเหตุในห้างดังย่านสามย่าน โดยก่อเหตุอย่างอุกอาจชนิดที่ไม่เกรงกลัวกล้องวงจรปิด เพราะมั่นใจว่าเหยื่อไม่รู้ตัว แต่แล้วได้มีพลเมืองดีแจ้งให้กับเหยื่อทราบว่าถูกแอบถ่าย จึงพากันเข้าแจ้งความดำเนินคดี ชุดสืบสวนของ สืบนครบาลตรวจสอบแผนประทุษกรรมพบพยานหลักฐานว่าคนร้ายรายนี้ก่อเหตุมาอย่างโชกโชน ซึ่งต่อมาได้สืบทราบว่าคนร้ายรายนี้คือ นายทรรศน์ฯ หรือ ไตเติ้ล อายุ 29 ปี ซึ่งได้ถูกออกหมายจับในเวลาต่อมา เรื่องนี้ถึงหู พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. , พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น. , พล.ต.ต.นพศิลป์ พูลสวัสดิ์ รอง ผบช.น. ได้สั่งการ พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. ให้ส่งชุดสืบสวนนครบาลมือดีสืบสวนติดตามจับกุมตัว ซึ่งต่อมาได้ติดตามจับกุมตัวได้ที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ย่านงามวงศ์วาน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 66 ซึ่งจากการขยายผลในบ้านพักดังกล่าวพบหลักฐาน โทรศัพท์ และ คอมพิวเตอร์ ของคนร้ายซึ่งมีคลิปที่แอบถ่ายใต้กระโปรงลักษณะนี้อีกกว่า 873 ภาพ!! พร้อมภาพใบหน้าเหยื่อกว่า 430 ราย ทำเอาทั้งชุดสืบสวนถึงกับอึ้ง ซึ่งเจ้าตัวยอมจำนนต่อหลักฐานและรับสารภาพกับเจ้าหน้าที่อย่างหมดเปลือก
ในชั้นจับกุม นายทรรศน์ฯ ให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การว่า “ตนเองเป็นคนที่มีฐานะทางครอบครัวดี จบชั้นปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยชื่อดังย่านดินแดง โดยจบมาแล้วก็เริ่มก่อเหตุ โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากที่ตนเองมีรสนิยมในการเสพหนังโป๊แนวพิสดาร เช่น แนวมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสูงวัย หรือแนวที่มีเพศสัมพันธ์พิเศษ และในช่วงที่ตนเองว่างงานรู้สึกเบื่อจึงอยากหาความท้าทาย จึงเริ่มเรียนรู้โดยศึกษาการแอบถ่ายใต้กระโปรงหญิงสาว หรือการแอบถ่ายหญิงสาวเข้าห้องน้ำจากทางอินเตอร์เน็ท จนเริ่มลงมือก่อเหตุจริง โดยตนเองทำมาต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 7 ปี โดยจะทำเป็นช่วงๆ พักเป็นช่วงๆ ทำมาเรื่อยๆเป็นร้อยๆราย โดยตนจะชอบหาเหยื่อในพื้นที่ห้างดังต่างๆ และตามสะพานลอยในเส้นทางที่ตนเองเดินทาง โดยจะคัดเหยื่อที่เป็นหญิงสาวที่สวมกระโปรงและหุ่นดี และการก่อเหตุจะดูสถานการแวดล้อมในจุดที่คนน้อยเช่น ร้านเครื่องเขียน ร้านค้าในห้าง และที่ถนัดที่สุดคือบริเวณบันไดเลื่อนจะสามารถก่อเหตุได้ง่ายที่สุด ซึ่งตนเองไม่กลัวกล้องวงจรปิด เพราะมั่นใจว่าฝีมือเก่งก่อเหตุได้แบบเหยื่อไม่รู้ตัวแน่นอน โดยเข้าใจว่าทำแค่ร้อยราย แต่พอมาดูผลงานจริงๆพบว่า 430 ราย ตกใจเหมือนกัน ขอโทษเหยื่อที่เคยก่อเหตุมา ต่อจากนี้จะให้เกียรติและเป็นลูกผู้ชายมากขึ้น” หลังจับกุมตัว ได้นำตัวพร้อมของกลางที่ตรวจยึดส่งพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.ธีรเดช ธรรมสุธีร์ ผบก.สส.บช.น. (ผู้การจ๋อ) กล่าวว่า “เรายังไม่ปักใจเชื่อในคำให้การของผู้ต้องหา เพราะเราพบพยานหลักฐานที่ได้จากการกู้ข้อมูล พบคลิปการแอบถ่ายลักษณะนี้กว่า 873 คลิป ซึ่งปรากฏผู้เสียหายกว่า 430 ราย ซึ่งเป็นเด็กนักเรียนกว่า 160 คน และเชื่อว่ายังมีอีกไม่น้อย ซึ่ง พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้กู้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์โดยเร็วที่สุด เพราะว่าหากภาพเหล่านี้หลุดออกไปจะทำลายชีวิตของหญิงสาวหลายร้อยชีวิตให้ตายทั้งเป็น จึงขอประชาสัมพันธ์ถึงพ่อแม่ผู้ปกครองให้ระมัดระวังบุตรหลานของท่าน มิจฉาชีพเหล่านี้แฝงตัวตามห้างสรรพสินค้าและเลือกก่อเหตุในจุดที่ง่ายต่อการแอบถ่าย และผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อคนร้ายรายนี้ ให้แจ้งมาที่เฟสบุ๊คเพจ สืบสวนนครบาล IDMB เรามีเจ้าหน้าที่ประสานงานตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเป็นคดีสร้างความเสียหายกับผู้หญิงเป็นอย่างมากตามนโยบายของ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สืบนครบาล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

“วันนอร์-ทวี” ลงพื้นที่ปัตตานี ร่วมรำลึก “โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา” อายุครบ 104 ปี

 

ในวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566 พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง พร้อมด้วย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เดินทางไปที่โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา อำเภอเมือง จ.ปัตตานี เพื่อร่วมงานรำลึก 104 ปี มอาหดิลอูลูม และงานเปิดอาคารเรียน 100 ปี มอาหดิลอูลูม โดยมี นางพาตีเมาะ สะดียามู ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายกูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รศ.ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา อธิการบดีมหาวิทยาลัยฟาฏอนี ดร.แวดือราแม มะมิงจิ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษา ตลอดจนข้าราชการ ส.ส.ในพื้นที่ และคณะผู้บริหารพรรคประชาชาติ ดร.มูฮำมัด หะยีแวฮามะ ผู้รับใบอนุญาตโรงเรียน และนักเรียนปัจจุบัน รวมถึงศิษย์เก่าของโรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก 

โอกาสนี้ พ.ต.อ.ทวี ได้เปิดกิจกรรมยิงธนู และร่วมยิงธนู ก่อนเยี่ยมชมนิทรรศการวิชาการ ขณะเดียวกันยังมี 10 องค์กรร่วม ทั้งชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน กลุ่มปันจักสีลัต ชมรมอิหม่าม และสื่อมวลชนในพื้นที่ร่วมแสดงความยินดีในโอกาสที่ พันตำรวจเอก ทวี ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรี 

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่หลากหลาย รวมไปถึงการดูแลรับผิดชอบเด็ก ผู้ใหญ่ และทุกคน รวมถึงผู้ต้องขังในเรือนจำก็ต้องให้ความยุติธรรม ถ้าให้ความยุติธรรมไม่ได้ บ้านเมืองก็ไม่สงบ เราต้องน้อมรับเพื่อประโยชน์ของประเทศและเพื่อประชาชน และเราจะทำงานเพื่อประชาชน เพื่อสร้างความสงบสุขให้เกิดขึ้นให้ได้ 

ด้าน พันตำรวจเอก ทวี ได้ขึ้นกล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า กระทรวงยุติธรรมมีหน้าที่ปกป้องคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความยุติธรรม ไม่ให้ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ให้ถูกโจมตีจากการกระทำที่ไม่ดี รวมถึงต้องพัฒนาและทำให้พื้นที่ปลอดจากยาเสพติด คนที่ทำหน้าที่ต้องมีความซื่อสัตย์ ไม่รับเงิน เจ้าหน้าที่ในกระทรวงยุติธรรมต้องได้รับความเป็นธรรม ต้องไม่ใช้ระบบอุปถัมภ์ ไม่ใช้ระบบพวกพ้อง ยึดหลักนิติธรรมและหลักสิทธิมนุษยชน ขอทุกคนร่วมมือทำให้พื้นที่ปลอดยาเสพติดเพื่อลูกหลาน 

พันตำรวจเอก ทวี ยังกล่าวถึงเลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) คนใหม่ คือ พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ ซึ่งโอนย้ายไปจากกระทรวงยุติธรรมว่า ถึงแม้ไม่ได้เป็นคนพื้นที่ แต่มีความจริงใจเพื่อมาทำงานให้พี่น้องประชาชน 

“ศอ.บต.คือน้ำเย็นที่สะอาดบริสุทธิ์ เป็นน้ำที่กินได้ สมัยผมดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต. ผมก็ไม่ใช่คนพื้นที่ แต่ก็ได้พัฒนาและแก้ไขปัญหาหลายอย่าง เช่น แก้ปัญหาเครื่องแต่งกายให้ผู้ต้องขังชาย-หญิงในเรือนจำให้ถูกหลักศาสนา การเปิดปอเนาะอิสลามบูรพา หรือปอเนาะสะปอม” 

สำหรับแนวนโยบายที่จะดำเนินการในส่วนของกระทรวงยุติธรรม พันตำรวจเอก ทวี กล่าวว่า ต้องไม่ให้มีการย้ายผู้ต้องขังไปอยู่พื้นที่ห่างไกล เพราะเราพรากเขาไปอยู่ในเรือนจำก็พอ อย่าไปพรากเขาจากสายสัมพันธ์ครอบครัว 

พันตำรวจเอก ทวี ยังได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนร่วมหาแนวทางและร่วมทำพื้นที่ให้ปลอดยาเสพติด โดยพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลทุกพรรคจะร่วมทำงานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลที่มีความจริงจังในการแก้ปัญหาที่จะทำให้ประชาชนมีความสุข

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : โรงเรียนเตรียมศึกษาวิทยา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

‘ธรรมนัส’ ลุย 3 จังหวัด ‘ลำปาง แพร่ สุโขทัย’

 
   ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่รับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาสถานการณ์น้ำ พร้อมทั้งแจกถุงยังชีพแก่พี่น้องประชาชนที่เดือดร้อนจากอุทกภัย ณ เทศบาลตำบลแม่ปุ อ.แม่พริก และบ้านต้นธง อ.เมือง จ.ลำปาง

        สำหรับจังหวัดลำปาง มีพื้นที่ 7,833,726 ไร่ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม 1,036,512 ไร่ หรือร้อยละ 13.23 พืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง สับปะรด ส้มเกลี้ยง และยางพารา ซึ่งในช่วง 27 – 30 ก.ย. 66 ที่ผ่านมา เกิดในตกหนัก น้ำล้นตลิ่งไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนและพื้นที่เกษตร จำนวน 8 อำเภอ 35 ตำบล 144 หมู่บ้าน ปัจจุบันมีการประการเขตภัยพิบัติ จำนวน 5 อำเภอ

        “สิ่งสำคัญที่ต้องกลับมาคิดคือการแปรรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ที่ต้องเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหา ทั้งในเรื่องภัยแล้งและน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในครั้งนี้ ได้มอบหมายกรมชลประทานจัดเตรียมเครื่องจักร-เครื่องมือ พร้อมเจ้าหน้าที่คอยให้ความช่วยเหลือราษฎรแต่ละพื้นที่ และบูรณาร่วมกับส่วนท้องถิ่น และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน พร้อมสั่งให้จัดทำแผนการดำเนินงานในแต่ละพื้นที่ และในภาพรวมของจังหวัด ตรงไหนที่สามารถเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำได้ให้ดำเนินการทันที” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

         ทั้งนี้ ในปี 2567 กรมชลประทานมีแผนดำเนินการในการสร้างอ่างเก็บน้ำ จำนวน 2 แห่ง และแก้มลิ้ง 2 แห่ง เพื่อเก็บกักน้ำในพื้นที่ต้นน้ำและลุ่มน้ำสาขา อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือทางด้านการเกษตรและบรรเทาอุทกภัย
        นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนและแจกถุงยังชีพ ณ อ่างเก็บน้ำแม่แย้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.แพร่ และประตูระบายน้ำ หาดสะพานจันทร์ จ.สุโขทัย ด้วย
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
BREAKING NEWS

ข่าวเด่นน่าติดตามวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566

คลิกที่ภาพ

 

ข่าวเด่นน่าติดตามวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566

1.”บิว” ภูริพล บุญสอน ตัดสินใจทิ้งแข่งวิ่ง 200 เมตร เพื่อลุ้นการแข่งขัน 4×100 เมตร ศึกเอเชียนเกมส์ 2022

2. ‘อดิศร’ มั่นใจเกินร้อย ‘อุ๊งอิ๊ง’ เป็นหัวหน้าเพื่อไทยแน่นอน

3.ลูกค้าธ.ก.ส. ลงทะเบียนพักหนี้วันแรก กว่า 9.4 พันคน

4. ‘นายกฯ’ ห่วง ‘สุโขทัย’ รับมวลน้ำ สั่งเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

5. “ชาดา” เช็กชื่อแล้ว ผู้มีอิทธิพล 600-700 คน คิวต่อไป “จนท.รัฐ”

6.ทบ. โต้ข่าวลือ ไม่มีคำสั่งย้าย “เจ้ากรมสรรพาวุธ” ปมน้ำมันหาย 2 แสนลิตร

7.ปารีณา ไม่เห็นใจ ‘หมอพรทิพย์’ เป็นสิทธิร้านอาหารไม่ต้อนรับ ชี้ดันทุรังอยู่ต่อเอง ต้องรับสภาพ

8. เกิดเหตุระเบิดใกล้อาคารรัฐบาล กลางเมืองหลวงตุรกี

9.ชาวจีนแน่น ‘สถานีรถไฟ’ นครเซี่ยงไฮ้ แห่เดินทางช่วงหยุดยาว 8 วัน เทศกาลไหว้พระจันทร์-วันชาติจีน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา อ.เชียงแสน เป็นประธานพิธีถวายสลากภัต (ตานก๋วยสลาก)

 

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ดังนี้ พระเดชพระคุณพระพุทธิญาณมุนี (ประเสริฐ ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีถวายสลากภัต (ตานก๋วยสลาก) ในวันอาทิตย์ที่ 1 ตุลาคม 2566 ณ วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย (ส่วนแยกบ้านน้ำลัด) มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

    จัดโดย วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย งานถวายสลากภัต (ตานก๋วยสลาก) เป็นประเพณีที่จะเริ่มในเดือน 12 เหนือ หลังเข้าพรรษาได้ 2 เดือน ซึ่งเป็นโอกาสทำบุญอุทิศให้ผู้ล่วงลับ โดยการถวายสลากภัตนั้นเป็นการถวายที่ไม่ได้เฉพาะเจาะจงรูปใดรูปหนึ่งเป็นการเฉพาะ ซึ่งจะเป็นการถวายที่มีอานิสงส์มาก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและเป็นการส่งเสริมให้นิสิตตระหนักในการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมซึ่งสอดคล้องตามคุณลักษณะของบัณฑิตที่พึงประสงค์ คือ มีความรู้ คู่คุณธรรม นำสันติสุข โดยมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. ขบวนแห่สลากที่วัดน้ำลัด แห่เข้ามาที่วิทยาลัยสงฆ์เชียงราย
  2. การแสดงชุดพิเศษ “ฟ้อนเจิงสาวไหม – ตบมะผาบ” โดย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรม ฟ้อนเจิงสาวไหม

โดย คุณพิสันต์ จันทร์ศิลป์ นิสิตระดับมหาบัณฑิต พัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย (มจร.เชียงราย)

ประกอบ “เพลงมวย”

บรรเลงโดย วงปี่พาทย์พื้นเมืองเชียงราย

วัดท่าไคร้ บ้านเมืองรวง ต.แม่กรณ์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย

  1. การแสดงศิลปวัฒนธรรมฟ้อนต่าง ๆ ของนิสิต และพุทธศาสนิกชน
  2. ดนตรีปี่พาทย์พื้นเมืองเชียงราย คณะวัดท่าไคร้ ชุมชนคุณธรรมต้นแบบ 10 สุดยอดเที่ยวชุมชนยลวิถี บ้านเมืองรวง ตำบลแม่กรณ์ อำเภอเมืองเชียงราย
  3. การถวายภัตตาหารเพล
  4. พิธีถวายทานสลากภัต (ตานก๋วยสลากภัต)
  5. การนำกัณฑ์สลากภัตที่เหลือบำรุงมหาวิทยาลัยเข้ามาถวาย
  6. การออกโรงทานเพื่อบริการอาหารและเครื่องดื่มให้แก่พุทธศาสนิกชน

   ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นางสาวสุพิชชา ชุ่มมะโน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นิสิต ป.โท พัฒนาสังคมรุ่นที่ 4 นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ ผู้ประสานงานวัฒนธรรม อ.เมืองเชียงราย และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมงาน อำนวยความสะดวกให้แด่พระสงฆ์และพุทธศาสนิกชนที่เข้ามาร่วมง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อ.แม่สาย จัดงานเมาลิดนบี (ซ.ล) ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 นายณรงค์พล คิดอ่าน นายอำเภอแม่สาย เป็นประธานในพิธีเปิดงานเมาลิดนบีมูฮัมหมัด ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เวลา 13.00 – 15.30 น. ณ อาคารเอนกประสงค์มัสยิดอันนูร แม่สาย ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมี นายราชัน รุจิพรรณ ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวรายงานการจัดงาน นายสมจิต มุณีกร ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย กล่าวต้อนรับ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กล่าวอวยพร และนายชัยยนต์ ศรีสมุทร นายกเทศมนตรีตำบลแม่สาย กล่าวพบปะพี่น้องมุสลิมที่มาร่วมงาน และให้เกียรติมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน

      ความสำคัญของานเมาลิดดิลนบี หมายถึง วันคล้ายวันประสูติของท่านนบีมูฮัมหมัด (ซล.) ศาสดาของศาสนาอิสลาม ซึ่งตรงกับวันที่ 12 เดือนรอบีอุลเอาวัล ในห้วงเดือนดังกล่าว มุสลิมทั่วโลกจะมีการจัดงานเพื่อรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด (ซล.) โดยการนำชีวประวัติของท่านศาสดาตั้งแต่วันประสูติจนถึงวันที่ท่านวากาฟ (ถึงแก่กรรม) มาเสนอหลากหลายรูปแบบ อาทิ การนำบทกวี (บัรซัญญี) การบรรยายธรรม เล่าชีวประวัติของท่านศาสดา เพื่อเป็นแนวทางของการดำเนินชีวิต การยกย่องวันเกิดของท่านศาสดามูฮัมหมัดทำได้โดยดำเนินการปฏิบัติในวันเกิดของท่าน คือ การถือศีลอดในวันจันทร์ การกล่าวซอลาวาตเป็นส่วนหนึ่งของการให้เกียรติยกย่อง รวมถึงปฏิบัติตามคำสั่ง ละเว้นการปฎิบัติตามคำสั่งห้ามของท่าน และดำเนินตามแบบอย่างของท่านศาสดามูฮัมหมัด การจัดงานเมาลิด เป็นประเพณีหนึ่งที่สามารถสร้างพลังขับเคลื่อนให้เกิดสันติสุขสู่พื้นที่ ถือเป็นการนำทุนทางศาสนา และวัฒนธรรม ตลอดจนทุนวิถีชีวิตของคนในชุมชนมุสลิมมาเป็นสื่อกลางในการสร้างจิตสำนึก และรำลึกถึงท่านศาสดามูฮัมหมัด รวมทั้งสร้างความกลมเกลียวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อทำสิ่งดีงามให้แกชุมชน สังคม และประเทศชาติสืบไป

     ดำเนินการจัดโดย คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิดอันนูร แม่สาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติศาสดานบีมูฮัมหมัด (ซ.ล) รำลึกถึงความดีงาม เผยแพร่จริยวัตรทางด้านศาสนาอิสลาม ให้ชาวมุสลิมนำไปปฏิบัติตามในชีวิตประจำวัน เป็นกิจกรรมวัฒนธรรมที่ทำให้ชาวมุสลิมในจังหวัดเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียงได้มาพบปะกัน และสร้างความสามัคคีเป็นหมู่คณะ และสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กระทรวงวัฒนธรรม ได้เข้าร่วมงานเป็นประจำทุกปี ซึ่งการจัดงานดังกล่าวมีกิจกรรมสำคัญ ดังนี้

  1. พิธีเปิดงานและร่วมอวยพร
  2. พิธีมอบประกาศนียบัตรให้แก่นักเรียนผู้ผ่านการสอบอัลกุรอานขั้นพื้นฐาน จำนวน 5 คน
  3. พิธีมอบทุนให้แก่เด็กและเยาวชนมุสลิมในพื้นที่อำเภอแม่สาย จำนวน 50 ทุน
  4. งานเลี้ยงสังสรรค์รับประทานอาหารร่วมกัน
  5. การพบปะ พูดคุย ปรึกษาหารือระหว่างผู้นำมุสลิม ภาครัฐ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
  6. การบันทึกภาพร่วมกันเป็นที่ระลึก
  7. ตลาดฮาลาล จำหน่ายผลิตภัณฑ์วิถีชีวิตมุสลิม ถ่ายทอดผ่านวัฒนธรรมด้านอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ เสื้อผ้า และประเพณีท้องถิ่นโดยบูรณาการเกี่ยวกับการยกระดับอำนาจละมุน (Soft Power) ตามนโยบาย 5F (Food, Fashion, Film, Festival and Fighting)

    ในโอกาสนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายสุพจน์ ทนทาน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ นายวิชชากรณ์ กาศโอสถ นักวิชาการวัฒนธรรมปฏิบัติการ (ผู้ประสานงานอำเภอแม่สาย) และนายพร้อมพงษ์ ทาสิทธิ์ ข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมเป็นเกียรติในงานฯ อวยพร แสดงความยินดี และมอบดอกไม้ประดับอันเป็นมงคลให้แก่ผู้นำศาสนาอิสลาม

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ยกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว

วันที่ 30 กันยายน 2566 ดังนี้ เวลา 09.30 น. นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดโครงการประชุมสัมมนายกระดับสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ณ ศูนย์แสดงสินค้าผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน โอทอป ฝึกและพัฒนาอาชีพเพื่อการส่งออกภูมิภาคอาเซียนและเขตเศรษฐกิจพิเศษ หมู่ที่ 1 ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี นายประเสริฐ  แก้วขาว  ปลัดอาวุโส อำเภอเชียงแสน กล่าวต้อนรับ และมีนายธนญชัย  สมจิตต์ เกษตรอำเภอเชียงแสน เป็นผู้กล่าวรายงานโครงการฯ

 

       การดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สำนักงานเกษตรอำเภอเชียงแสน สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเชียงแสน ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนเชียงราย เทศบาลตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน  เพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความสามารถในการแข่งขัน มีแนวทางในการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยวและสามารถนำอัตลักษณ์เชิงพื้นที่มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนเพื่อการท่องเที่ยว ภายในงานมีเวทีการเสวนาให้ความรู้ทางวิชาการ

 

ซึ่งในช่วงเช้า เป็นหัวข้อ กลยุทธ์การสื่อสารการตลาดกับการสร้างภาพลักษณ์ทางการท่องเที่ยว เพื่อยกระดับการสร้างสรรค์สินค้าและบริการท่องเที่ยวให้มีคุณค่าและมูลค่าสูงตามเอกลักษณ์ของพื้นที่ ในช่วงบ่าย เป็นหัวข้อ การยกระดับและเพิ่มมูลค่าสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนท้องถิ่นเพื่อการท่องเที่ยว มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ จำนวน 250 คน ประกอบด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนอำเภอเชียงแสน และพื้นที่ใกล้เคียง หน่วยงานองค์กรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ในพื้นที่  อีกทั้งยังมีเครือข่ายร่วมออกบูธจัดแสดงและจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 36 บูธ ประกอบด้วย เครือข่ายจากสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย จำนวน 25 บูธ จากเครือข่ายพัฒนาชุมชน จำนวน 5 บูธ และฐานการเรียนรู้จากศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนเชียงราย จำนวน 6 ฐานการเรียนรู้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News