Categories
FEATURED NEWS

นายกฯ ห่วงใยประชาชน หลังพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า

 

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้า ปี 2566 ซึ่งข้อมูลกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุ ในปี 2566 มีประชาชนเสียชีวิตแล้ว 3 ราย (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 23 พฤษภาคม 2566) เหตุจากการไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหลังสัมผัสโรค และในบางรายเคยมีประวัติได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน แต่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนซ้ำหลังถูกสุนัขกัด

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากสถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าที่เกิดขึ้น พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยประชาชน จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังดูแลป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคพิษสุนัขบ้า และควรปฏิบัติตามข้อแนะนำของกรมควบคุมโรค โดยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และหากประชาชนที่ถูกสัตว์กัด/ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายของสัตว์เข้าทางบาดแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน โดยเฉพาะสัตว์ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าหรือได้รับครั้งล่าสุดเกิน 1 ปี หรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ลูกสัตว์ที่เกิดจากแม่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนหรือไม่ทราบประวัติวัคซีน ได้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด หรือสัตว์ที่เคยได้รับวัคซีนแต่มีอาการป่วย หรือมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ให้ล้างแผลด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 15 นาที ก่อนรักษาบาดแผลโดยการใส่ยาฆ่าเชื้อและรีบไปพบแพทย์ รวมทั้งให้กักขังสัตว์ที่กัด/เลีย เพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 10 วัน หากสุนัขหรือแมวเสียชีวิต ให้รีบแจ้งผู้นำชุมชนที่อยู่ใกล้ที่สุด และแจ้งปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อส่งซากสัตว์สงสัยที่เพิ่งตายตรวจหาเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าทางห้องปฏิบัติการ และไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับวัคซีนที่สถานพยาบาลหลังถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสน้ำลายสัตว์ดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันจะฉีดวัคซีนเพียง 4-5 ครั้งเท่านั้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

“รัฐบาลขอเชิญชวนประชาชนร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนสู่เป้าหมาย ‘ประเทศไทยปลอดโรคพิษสุนัขบ้าภายในปี 2568’ ตามโครงการสัตว์ปลอดโรคคนปลอดภัยจากพิษสุนัขบ้า โดยมีแนวทางแก้ปัญหาโรคนี้ โดยมุ่งเน้นการควบคุมประชากรสุนัขและแมว และสัตว์ต้องได้รับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนสุนัขและแมวเป็นประจำทุกปี อีกทั้ง ส่งเสริมความตระหนักรู้เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าให้ประชาชนและเจ้าของสัตว์เลี้ยง รวมถึงการเลี้ยงสัตว์อย่างรับผิดชอบ และไม่ปล่อยทิ้งสัตว์ในพื้นที่สาธารณะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว

สำหรับโรคพิษสุนัขบ้า ข้อมูลกรมควบคุมโรคระบุว่าสามารถพบได้ตลอดทั้งปีหากในพื้นที่นั้น ๆ มีสุนัขหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีเชื้อแล้วไปกัดคน หรือสัตว์ตัวอื่นต่อไป โรคนี้ติดต่อจากสัตว์สู่คนที่เกิดจากเชื้อไวรัสเรบีส์ (Rabies virus) พบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยเฉพาะสุนัขและแมว และพบบ้างในโค กระบือ เชื้อจะเข้าทางบาดแผลที่ถูกกัด ข่วน หรือสัมผัสกับน้ำลายของสัตว์ที่มีเชื้อเข้าทางแผล หรือเยื่อเมือกอ่อน ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้าจะพบอาการทางระบบประสาทแบบเฉียบพลัน อาการระยะแรกจะมีไข้ อาจพบอาการคันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัด แสบ ร้อน แล้วลามไปส่วนอื่น เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ ต่อมาอาจมีอาการกระสับกระส่าย กระวนกระวาย นอนไม่หลับ ประสาทหลอน ไวต่อสิ่งกระตุ้น เสียการทรงตัว พูดจาเพ้อเจ้อ กลืนลำบาก น้ำลายไหล กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก ชักเกร็ง อาจพบอาการกลัวแสง กลัวลม กลัวน้ำ ซึ่งเรียกว่า Furious form พบประมาณร้อยละ 80 ส่วนอาการที่พบในอีกรูปแบบหนึ่ง ประมาณร้อยละ 20 ของผู้ป่วย คือ อาการอัมพาต (Paralytic form) โดยอาการอัมพาตกล้ามเนื้อจะเริ่มจากข้างที่ถูกกัด ก่อนที่จะลุกลามไปยังแขนขาทั้ง 4 และผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมควบคุมโรค

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME