Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อ.แม่สรวย จัดพิธีจำลองแห่ พระเจ้าทองทิพย์ขึ้นแม่น้ำลาว ปี 67

 
เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.ยงยุทธ สาระสมบัติ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับ ผู้นำชุมชน ท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ตำบลศรีถ้อย รวมถึงตำบลข้างเคียง อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ร่วมกันจัดงานจำลองการเสด็จทางชลมารคของพระเจ้าไชยเชษฐา โดยมีการจำลองการเสด็จทางแม่น้ำลาวไปครองเมืองเชียงใหม่ และอัญเชิญพระเจ้าทองทิพย์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของเมืองล้านนาขึ้นมาจากแม่น้ำลาว เพื่อให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวได้มากราบไหว้ขอพร ณ ลานหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์  ริมแม่น้ำลาว เนื่องในวันวิสาขบูชา ประจำปี 2567 บรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก
 

 จากประวัติเหตุการณ์พระเจ้าไชยเชษฐา เสด็จทางชลมารคแม่น้ำลาวไปครองเมืองเชียงใหม่ และได้อัญเชิญพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ไปด้วย ครั้นเสด็จมาถึงตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่สรวย บริเวณหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน เรือพระที่นั่งไม่สามารถเคลื่อนต่อได้ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูป ดังกล่าว ประทับ ณ ศาลาชั่วคราว ต่อมาได้มีการสร้างเป็นวัดพระเจ้าทองทิพย์ เดิมอยู่เมืองหลวงพระบางประเทศลาว มีอายุประมาณพันปีเศษ มีความศักดิ์สิทธิ์มาก เมื่อ พ.ศ. 2063 พระเจ้าโพธิสารขึ้นครองนครเชียงทอง (หลวงพระบาง) 
 
 
ได้ไปขอราชธิดากษัตริย์เชียงใหม่มาเป็นมเหสี และได้ครองราชสมบัติร่วมกันเป็นเวลาหลายปีแด่ก็ไม่มีพระโอรส ดังนั้นในวันวิสาขบูชา พระเจ้าโพธิสารพร้อมด้วยมเหสี จึงได้ไปบนบานศาลกล่าวต่อพระเจ้าทองทิพย์เพื่อขอให้มีพระโอรส ซึ่งต่อมาไม่นานมเหสีก็ตั้งครรภ์ และประสูติเป็นพระโอรสนามว่า “ไชยเชษฐากุมาร” เมื่อพระไชยเชษฐาอายุ 14 พรรษาพระอัยกา (สมเด็จตา) ผู้ครองนครเชียงใหม่สวรรคต และไม่มีพระโอรสเหล่าอำมาตย์ของนครเชียงใหม่พร้อมกันมาทูลขอพระเจ้าไชยเชษฐา ไปครองนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารทรงอนุญาต 
 
 
โดยก่อนที่จะไปนครเชียงใหม่ พระเจ้าโพธิสารให้นำพระเจ้าทองทิพย์ไปด้วยเพราะเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ ดังเมื่อตอนไปขอให้มเหสีมีพระโอรสก็ได้ดังประสงค์ พระเจ้าไชยเชษฐา จึงได้นำพระเจ้าทองทิพย์ลงเรือไปด้วย โดยเดินทางจากนครเชียงทอง (หลวงพระบาง) ผ่านแม่น้ำโขง แม่น้ำกก สู่แม่น้ำลาว เพื่อจะไปยังนครเชียงใหม่ ครั้นเรือล่องมาถึงหน้าวัดพระเจ้าทองทิพย์ในปัจจุบัน เรือพระที่นั่งไม่สามารถเคลื่อนต่อได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง พระเจ้าไชยเชษฐา ทรงเห็นว่าพระเจ้าทองทิพย์ คงประสงค์จะประดิษฐาน ณ ที่แห่งนี้ จึงให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่วัดพระเจ้าทองทิพย์ปัจจุบัน
 

 ต่อมาในปี พ.ศ. 2397 เจ้าหลวงผู้ครองเมืองเชียงราย และพระยาไชยวงศ์ ผู้รักษาเมืองหนองขวาง (อำเภอแม่สรวยปัจจุบัน) ได้เป็นประธานบูรณะวิหารซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าทองทิพย์ และเมื่อปี พ.ศ.2461 พระนางเจ้าดารารัศมี และเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้เสด็จมาทำการสักการบูชาพระเจ้าทองทิพย์ และพักแรมอยู่ที่สถานที่นี้หลายคืน  พระเจ้าทองทิพย์องค์จริงดั้งเดิมยังคงประดิษฐานอยู่ที่วัดพระเจ้าทองทิพย์ จวบจนถึงปัจจุบัน ถือเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่ของเมืองล้านนา ที่ผู้คนมักจะมาบนบานขอให้มีบุตรตามความเชื่อที่มีมาตั้งแต่โบราณกาล
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

แม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์ หลังพบเต่าปูลูตัวแรกในรอบ 2 ปี ที่พะเยา

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้รับการแจ้งจากชุมชนว่ามีชาวบ้านพบตัวเต่าปูลูในแม่น้ำลาว บ้านคะแนง ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา ทางทีมงานจึงได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจเก็บข้อมูลถิ่นที่อยู่อาศัยเฉพาะของเต่าปูลู และทำการบันทึกข้อมูลสัญฐานเต่า ก่อนให้ชุมชนนำไปปล่อยไว้ตามที่อยู่เดิมในชุมชน

 

จากการสำรวจ เป็นเต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว เพศเมีย น้ำหนัก 0.290 กิโลกรัม กระดองมีความยาว 120.4 มิลลิเมตร กระดองส่วนกลางกว้าง 95.5 มิลลิเมตร มีชาวบ้านได้ไปหาปลาตอนหัวค่ำเจอตัวเต่าปูลูกำลังว่ายเข้าหลบในซอกหิน
นายวีระวัฒน์ พากเพียร ชาวบ้านคะแนง อายุ 23 ปี ได้กล่าวว่า
 
 
“ตอนเย็นผมไปเดินเล่นหาปลา ดำจับปลาในน้ำเจอเต่าปูลูกำลังว่ายผ่านหน้าเข้าหลบในซอกหิน บริเวณต้นน้ำแม่ลาว ห่างจากชุมชนประมาณ 2 กิโลเมตร เจอตัวในเย็นวันที่ 2 เมษายน เวลาประมาณ หกโมงกว่าเกือบหนึ่งทุ่มครับในหมู่บ้านมีคนพบเต่าปูลูบ่อย แต่ผมพึ่งเจอเป็นครั้งแรก”
 
 
เป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำลาว เป็นระบบนิเวศน์ลำธาร ที่ตั้งชุมชนบ้านคะแนงตั้งอยู่ในหุบเขา ลักษณะเป็นที่ราบเชิงเขา มีลำห้วยสาขาล้อมรอบ มีแม่น้ำลาวเป็นแม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่านหมู่บ้าน มีแม่น้ำสาขาที่สำคัญในชุมชนจำนวน 10 ลำห้วย ได้แก่ ห้วยคะแนง ห้วยผาลาด ห้วยตาดเก๊าซาง ห้วยปูลู ห้วยผีหลอก ห้วยสวนหมาน ห้วยหินแดง ห้วยขุนลาว ห้วยน้ำลาวฝั่งซ้าย และห้วยน้ำตกขุนลาว ชาวบ้านยังมีการพบเจอตัวเต่าปูลูอยู่เป็นระยะๆ และมีชุกชุมในชุมชน
น้ำแม่ลาวมีต้นกำเนินในเทือกเขาภูลังกา ในเขตอำเภอเชียงคำ ไหลผ่านอำเภอเชียงคำ และไปบรรจบแม่น้ำอิงที่อำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย รวมความยาวประมาณ 40 กิโลเมตร
 
 
เต่าปูลูหรือเต่าปากนกแก้ว มีสถานภาพการอนุรักษ์ อยู่ในระดับใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง(Critically Endangered-CR มีลักษณะจำเพาะกระดองหลังมีสีน้ำตาลดำ กระดองท้องสีเหลืองอมส้ม หัวใหญ่ จงอยปากแหลมคล้ายปากนกแก้ว หดหัวเข้ากระดองได้ไม่เต็มที่ ขาใหญ่และหดเข้ากระดองไม่ได้ เท้ามีเล็บ หางยาวกว่าความยาวของกระดอง มีเดือยแหลมขนาดเล็กบริเวณขา รอบ ๆ รูทวารและที่โคนหาง กินเนื้อ กินปลา กุ้ง หอย สัตว์น้ำอื่นๆ รวมถึงผลไม้ป่าเป็นอาหาร กินเหยื่อโดยการฉกงับ เต่าปูลูมีเล็บแหลมคมมีความสามารถปีนป่ายขอนไม้ หรือโขดหินได้เก่ง หากินในเวลาตอนเย็นหรือกลางคืน ส่วนกลางวันจะหลบซ่อนตามซอกหิน ในฤดูหนาวจะจำศีลซ่อนตัวอยู่ตามหลืบหินหรือโพรงน้ำในลำห้วย
 
 
นายสายัณห์ ข้ามหนึ่ง ผู้อำนวยการสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ได้กล่าวถึงการเก็บข้อมูลครั้งนี้ว่า “วันนี้ทางสมาคมได้ทำการตีแปลงวิทยาศาสตร์และวัดข้อมูลตัวเต่า ศึกษาจุดระบบนิเวศน์ที่เจอตัวเต่าเต่าปูลู การพบเต่าปูลูครั้งนี้เป็นการพบเต่าตัวแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมาจากการลงมาศึกษาเต่าปูลูร่วมกับชุมชนบ้านคะแนง และแนวทางต่อไปจะปรึกษาชุมชนหาแนวทางการอนุรักษ์เต่าปูลูโดยการมีส่วนร่วมชุมชนต่อไป เต่าปูลูเป็นตัวชี้วัดสำคัญของระบบนิเวศน์ การพบตัวเต่าปูลูแสดงว่าต้นแม่น้ำลาวยังคงความอุดมสมบูรณ์”
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News