Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

กรมทรัพยากรธรณี รำลึกเหตุแผ่นดินแม่ลาวไหวครบรอบ 1 ทศวรรษ

 
เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2567 นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นประธานพิธีเปิดการจัดงานครบรอบ “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” ที่ หอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย จังหวัดเชียงราย เพื่อสร้างความตระหนักและถอดบทเรียนจากแผ่นดินไหวสู่องค์ความรู้ในการป้องกันและเตรียมความพร้อมรับมือในอนาคต ตลอดจนพัฒนาขีดความสามารถของทุกภาคส่วน ไปสู่การขับเคลื่อน การจัดการธรณี พิบัติภัยอย่างเป็นรูปประธรรม โดยมี ดร.สมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม นำหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถาบันการศึกษา ชุมชน เครือข่ายเฝ้าระวังแจ้งเตือนภัยธรณีพิบัติภัย และประชาชนในจังหวัดเชียงราย กว่า 300 คน เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมรูปแบบการประชุม และการเสวนาถอดบทเรียน ในหัวข้อ “ถอดบทเรียน 10 ปี แผ่นดินไหวเชียงราย สู่ความร่วมมือของทุกภาคส่วนในการป้องกันและลดผลกระทบจากพิบัติภัยทางธรรมชาติ” โดยผู้เชี่ยวชาญและผู้มีประสบการณ์ด้านแผ่นดินไหว มาร่วมบรรยายพิเศษ “บทบาทของสถาบันการศึกษาและภาคีเครือข่าย เยาวชน ในการร่วมขับเคลื่อนการบริหารจัดการภัย พิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และ การอภิปลายบทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน โดยภายในงานจัดให้มีนิทาศการองค์ความรู้ด้านธรณีพิบัติภัย อีกด้วย
 

         นายพิชิต สมบัติมาก อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ พลตำรวจเอก พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีข้อสั่งการมอบหมายให้กรมทรัพยากรธรณี เร่งสร้างความรู้ความเข้าใจและความเชื่อมั่นแก่ประชาชน โดยนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการแจ้งเตือนภัย เร่งติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหว จัดทำแผนที่แสดงจุดปลอดภัยและซักซ้อนแผนอพยพร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกรมทรัพยากรธรณี ได้นำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านธรณีพิบัติภัยมาใช้ เพื่อลดความสูญเสียและลดผลกระทบต่อชุมชนบนหลักการ “อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยเสี่ยงธรณีพิบัติภัย อยู่อย่างไรให้ปลอดภัยอย่างยั่งยืน” โดยมีการถ่ายทอดความรู้สู่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้อาศัยอยู่อย่างมั่นใจและปลอดภัย เสริมสร้างศักยภาพของภาคีเครือข่ายและชุมชนให้พร้อมรับมือธรณีพิบัติภัย และสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วเมื่อประสบภัย รวมถึงประชาชนทั้งที่อยู่ในเขตเมืองที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวและประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่สูงที่เสี่ยงต่อการดินถล่ม จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนแนวทางประสบการณ์การดำเนินชีวิตได้รับรู้วิธีการอยู่อาศัยในที่เสี่ยงธรณีพิบัติภัย สามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตประจำวัน และมีศักยภาพเพื่อเตรียมความพร้อมในการเผชิญภัยได้อย่างมีสติ 
 

        ดร.สมศักดิ์  วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวอีกว่า ถ้าหากย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 เวลา 18.08 นาฬิกา เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดในประเทศไทย ขนาด 6.3 ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย ด้วยเหตุการณ์ครั้งนั้นสร้างความเสียหายให้แก่ประชาชน บ้านเรือนประชาชนกว่า 10,000 หลังคาเรือน ศาสนสถานต่างๆ โรงเรียน ถนนเกิดรอยแยกเป็นทางยาวหลายพื้นที่ในจังหวัดเชียงราย และอาคารสูงในกรุงเทพฯสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนครั้งนี้ด้วย จะเห็นได้ว่าการเกิดธรณีพิบัติภัยในแต่ละครั้งส่วนมากจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า สร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ และที่สำคัญมักจะก่อให้เกิดความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ ดังนั้นกรมทรัพยากรธรณี จึงได้จัดประชุมสัมมนา เรื่อง “๑ ทศวรรษแผ่นดินไหวแม่ลาว : บทเรียนสำคัญสู่ความร่วมมือการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างยั่งยืน” ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นการถอดบทเรียนจากการเกิดเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยที่สำคัญ นำมาสู่การเรียนรู้เกี่ยวกับธรณีพิบัติภัยและเพื่อจัดทำแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในการจัดการธรณีพิบัติภัยอย่างบูรณาการ เพื่อบรรเทาลดผลกระทบและความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช.-ภาคีเครือข่าย ร่วมแถลง “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว”

 

เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ที่ผ่านมาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ(วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และมูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดแถลงข่าวกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” พร้อมประกาศเจตนารมณ์ “ภาคี เครือข่าย ร่วมมือ ร่วมใจ สู้ภัย แผ่นดินไหว ด้วยวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์

โดยมี ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการวช. เป็นประธาน ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย, นายฐิติพันธ์ จูจันทร์โชติ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี น.ส.ชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, นายนัฐวุฒิ แดนดี ผู้อำนวยการกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา

นายนพดล น้อยไพโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 2 กรมชลประทาน, นายชานนท์ โตเบญจพร ผู้แทน กรมโยธาธิการและผังเมือง, ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ และรศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ประธานมูลนิธิมดชนะภัย ร่วมแถลงข่าวจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่ จ. เชียงราย

ดร.วิภารัตน์กล่าวว่า วช. ได้สนับสนุนแผนงานการพัฒนาศูนย์กลางกำลังคนระดับสูง (Hub of Talents) และศูนย์กลางการเรียนรู้(Hub of Knowledge) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการทำงานร่วมกันของผู้เชี่ยวชาญแบบสหวิทยาการที่มีความหลากหลาย เสริมสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติของสถาบันวิจัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน โดยวช. ได้สนับสนุนและร่วมขับเคลื่อนศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH) ร่วมมือกับ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานภาคีเครือที่เกี่ยวข้อง ทั้งจ.เชียงราย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรธรณี กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่จ.เชียงราย

ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ในระหว่างวันที่ 5 – 7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย เพื่อรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว และสร้างความเข้าใจ ความตระหนักรู้ และเตรียมความพร้อมรับมือในการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงถอดบทเรียนจากอดีตถึงปัจจุบัน และเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว พร้อมทั้งลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ไปสู่การขับเคลื่อนสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมแผนในการรับมือต่อไปในอนาคต

นายประเสริฐ กล่าวว่า จ.เชียงราย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่คนเชียงรายไม่มีวันลืม สำนักงานจ.เชียงราย ในฐานะหน่วยงานบริการภาครัฐเพื่อประชาชนจ.เชียงราย ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เป็นการรำลึกเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ครบรอบ 10 ปี และสร้างความตระหนักรู้ ถอดบทเรียนจากประสบการณ์ตรง ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนนำไปสู่การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ศ.ดร.เป็นหนึ่งกล่าวว่า ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (Earthquake Research Center of Thailand : EARTH) วช. เป็นศูนย์รวมบุคลากรวิจัยที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากสหสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว ภายใต้การพัฒนาศูนย์รวมผู้เชี่ยวชาญ (Hub of Talents) ที่ได้รับการสนับสนุนจาก วช. ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” จัดแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านวิศวกรรมแผ่นดินไหว และการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหว รวมทั้งแสดงต้นแบบการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย ร่วมกับหน่วยงานภาคีวิจัย ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์กล่าวว่า มูลนิธิมดชนะภัย ตั้งอยู่ที่บ้านสิงหไคล จ.เชียงราย เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อร่วมส่งเสริมด้านสังคมและศิลปวัฒนธรรมให้จ.เชียงรายเป็นเมืองที่น่าอยู่ และเป็นเมืองศิลปะ รวมทั้งมุ่งเน้นการใช้วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์เข้ามามีส่วนช่วยเหลือประชาชนให้ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ โดยทางมูลนิธิมดชนะภัยได้ร่วมจัดกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหว” เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านภัยพิบัติแผ่นดินไหว ผ่านสื่อศิลปะและวิทยาศาสตร์ ให้กับผู้ที่สนใจตลอดเดือนพ.ค.นี้ และเป็นจุดเชื่อมต่อไปสู่เรื่องราวเหตุการณ์แผ่นดินไหวแม่ลาว ระหว่างภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคเอกชน เพื่อเป็นการสะท้อนให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของการจัดการ ภัยพิบัติที่ดีร่วมกัน “แผ่นดินไหว เราไหวอยู่”

ถัดมาเป็นกิจกรรมการเสวนาวิชาการในหัวข้อ“การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน” โดย ศ.ดร.เป็นหนึ่งเป็นผู้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว

วช. ขอประชาสัมพันธ์และเชิญเข้าร่วมกิจกรรม “1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว” ระหว่างวันที่ 5-7 พ.ค. ที่จ.เชียงราย ดังนี้

  • วันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค. ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย พบกับการบรรยายพิเศษ “รู้ทันแผ่นดินไหว” และการเสวนา “สิบปีผ่านไป แผ่นดินไหว เราไหวอยู่” โดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขาวิชา และหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมชมนิทรรศการพิเศษเกี่ยวกับภัยพิบัติแผ่นดินไหวและการรับมือในทุกมิติ อาทิ รถจำลองแผ่นดินไหว, แผนที่เสี่ยงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับกิจกรรม “จำได้ไหม?-จำได้ไหว”, การพยาบาลในสถานะการณ์แผ่นดินไหว เป็นต้น (เฉพาะวันอาทิตย์ที่ 5 พ.ค.นี้ เท่านั้น) และรับชมนิทรรศการฟรีตลอดเดือนพ.ค. อาทิ นิทรรศการภาพเล่าเรื่อง, นิทรรศการเชิงศิลปะสะท้อนภาพเหตุการณ์, นิทรรศการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่บ้านสิงหไคล มูลนิธิมดชนะภัย จ.เชียงราย
  • วันจันทร์ที่ 6 พ.ค. ที่โรงแรม The Heritage Chiang Rai พบกับการประชุมวิชาการเผยแพร่ผลงานวิจัยและวิชาการด้านแผ่นดินไหวในประเด็นต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) วช. อาทิ การเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหวจากอดีตถึงปัจจุบัน, การออกแบบก่อสร้างอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว, ธรรมชาติแผ่นดินไหว : ความเสี่ยง, การเสริมกำลังอาคารที่มีอยู่, การเตรียมพร้อมเผชิญเหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหว (highlight), การตรวจติดตามสุขภาพโครงสร้างอาคารสูงในจ.เชียงใหม่และเชียงราย และการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมกรณีตัวอย่างเขื่อนแม่สรวยและชุมชนชนบท
  • วันอังคารที่ 7 พ.ค. พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย ขอเชิญลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเพื่อเตรียมความพร้อมและรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา จุดเริ่มเต้นจาก โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ > โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ > วัดดงมะเฟือง > เขื่อนแม่สรวย และสิ้นสุดที่ โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา (รับจำนวนจำกัด 50 ท่าน)

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

กรมชลประทาน ยืนยันแผ่นดินไหว เชียงใหม่ล่าสุด ไม่กระทบเขื่อนเชียงใหม่-เชียงราย

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่า ตามที่ได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว บริเวณตำบลเวียง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อเวลา 05.31 น. ของวันนี้ (1 เมษายน 2567) มีขนาด 3.0 ที่ความลึก 6 กิโลเมตร นั้น
 
 
กรมชลประทาน โดยส่วนวิศวกรรมธรณี และส่วนความปลอดภัยเขื่อน ได้ร่วมกันเข้าตรวจสอบค่าความเร่งสูงสุดจากสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวของสำนักสำรวจด้านวิศวกรรมและธรณีวิทยา ในพื้นที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000532g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก (ค่าที่ใช้ในการออกแบบจะไม่น้อยกว่า 0.2g) ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงแต่อย่างใด
 
 
ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ออกแบบเขื่อนทุกแห่ง ให้สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ได้ดำเนินการตรวจสอบ และติดตามข้อมูลทางสถิติของค่าความเร่งสูงสุดที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวตลอดเวลา เพื่อนำมาประเมินสถานการณ์ รวมทั้งแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อเขื่อน เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ท้ายเขื่อน มีความมั่นใจ และเชื่อมั่นในความปลอดภัยแข็งแรงของเขื่อน
 
 
ซึ่งเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นเขื่อนดินเก็บกักน้ำ ปิดกั้นลำน้ำแม่กวง ตำบลลวงเหนือ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ เขื่อนหลัก เขื่อนฝั่งขวา และเขื่อนฝั่งซ้าย ระดับสันเขื่อนสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 390 เมตร มีพื้นที่อ่างเก็บน้ำที่ระดับกักเก็บ 15 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง 204 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตร 148,400 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด อำเภอสันทราย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ อำเภอบ้านธิ และอำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
 
 
สร้างขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2519 โดยกรมชลประทาน เริ่มสำรวจออกแบบ และก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2520 พร้อมทั้งขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่นในการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเพื่อขอใช้เงินกู้จากต่างประเทศ โดยขอกู้เงินจากญี่ปุ่น ในระหวาง พ.ศ. 2525 ถึงปี พ.ศ. 2530 รวมเป็นเงิน 7,000.5 ล้านเยน 
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538 ในปี พ.ศ. 2558 กรมชลประทาน ได้เริ่มต้นดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนแม่กวงอุดมธารา โดยการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 เมตร ด้วยงบประมาณกว่า 15,000 ล้านบาท เพื่อผันน้ำจากลำน้ำแม่แตง และเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล มายังเขื่อนแม่กวงอุดมธารา
 
ส่วนแผ่นดินไหวที่เชียงรายใหม่ทีมข่าวได้มีการตรวจสอบย้อนหลังไปตั้งแต่ช่วงเช้ามือดพบว่ามีแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ติดเนื่องในวันที่ 1 เม.ย. 2567
 
เวลา 03:25 น.แผ่นดินไหว ต.ป่าไผ่ อ.สันทรา จ.เชียงใหม่(18.92°N,99.07°E) ขนาด 2.8 ลึก 4 กม. 
 
เวลา 05:31 น. แผ่นดินไหว ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.37°N,99.23°E) ขนาด 3.0 ลึก 6 กม. 

เวลา 05:40 น.แผ่นดินไหว ต.เวียง อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.38°N,99.19°E) ขนาด 1.7 ลึก 5 กม. 
 
เวลา 06:01 น. แผ่นดินไหว ต. ป่าตุ้ม อ.พร้าว จ.เชียงใหม่(19.36°N,99.29°E) ขนาด 1.5 ลึก 3 กม. วันที่ 1 เม.ย. 2567  

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข้าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

นักวิจัย ชี้เมียนมาแผ่นดินไหว สะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม.

 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 นักวิจัยศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติชี้ธรณีพิโรธเมียนมาสะเทือนถึงไทย ภาคเหนือจรดกทม. ต้องวางแผนรับมือระยะยาวหาแนวทางรับมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่า พร้อมติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนเพิ่มเติมในรพ.สังกัดกทม. เพื่อศึกษาผลกระทบ ประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคาร และเป็นต้นแบบให้อาคารอื่น

 

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 6.4 ลึก 9 กม. ใกล้เมืองเชียงตุง ประเทศเมียนมา ห่างจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือของ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ประมาณ 100 กม. เมื่อเวลาประมาณ 8.37 น. ของวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ศ. ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย หัวหน้าศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่า ทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์วัดการสั่นสะเทือนบนภาคพื้นดินหลายตำแหน่งและในอาคารโรงพยาบาล 2 แห่งทางภาคเหนือ ขณะนี้ทีมวิจัยกำลังคำนวณแรงและข้อมูลการสั่นสะเทือนของพื้นดินและอาคาร โดยทำงานใกล้ชิดกับกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าจะมีข้อมูลมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยคาดว่าผลการวัดการสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้อาจจะแรงที่สุดนับตั้งแต่เริ่มติดตั้งอุปกรณ์มาเมื่อตุลาคม 2565

 

ขณะที่ รศ. ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เผยว่า บริเวณใกล้เชียงตุงเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาดกลาง (มากกว่า 5.0) บ่อยครั้ง เช่น ขนาด 6.8 ในปี 2554 หรือแผ่นดินไหวเชียงตุงขนาด 5.9 เมื่อปี 2565 เนื่องจากมีรอยเลื่อนมีพลังเป็นจำนวนมากอยู่ในบริเวณดังกล่าว ส่วนงานวิจัยแผ่นดินในประเทศไทยนั้นได้ดำเนินการในเชิงพื้นที่เพื่อเตรียมพร้อมให้ประเทศไทยสามารถนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนที่โรงพยาบาลในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย พร้อมระบบส่งสัญญาณแจ้งเตือนกับบุคลากรประจำอาคาร เช่น วิศวกร เจ้าหน้าที่เทคนิค เพื่อประเมินสภาพความปลอดภัยของอาคารได้อย่างทันท่วงที และหวังว่าจะเป็นอาคารต้นแบบเพื่อให้อาคารอื่นนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป ซึ่งเครื่องมือดังกล่าวสามารถตรวจวัดการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเหตุการณ์ล่าสุดตรวจวัดได้พร้อมกันทั้งสองโรงพยาบาล และมีความรุนแรงที่สุดที่เคยตรวจสอบมาแต่ยังมีค่าต่ำกว่าค่าในการออกแบบของอาคาร โดยระบบสามารถสื่อสารกับวิศวกรประจำอาคารและช่างเทคนิคได้อย่างทันท่วงที ช่วยลดความสับสนในการจัดการด้านการสื่อสารภายหลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวได้

 

ด้าน ศ. ดร.นคร ภู่วโรดม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าแผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้คนที่อยู่อาคารสูงในกรุงเทพฯ รับรู้ได้ถึงแรงสั่นไหว ซึ่งทีมวิจัยได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดการสั่นสะเทือนของอาคารเนื่องจากแผ่นดินไหว โดยได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) มาจนถึงสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน  โดยในกรุงเทพฯ ได้ติดตั้งอุปกรณ์ไว้อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ซึ่งมีความสูง 37 ชั้น เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ทำให้การเก็บข้อมูลทราบถึงผลกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ เพราะการเกิดเหตุแต่ละครั้งจะเกิดการสั่นไหว สร้างความกังวลต่อความมั่นคงของอาคาร ประชาชนตื่นตระหนกวิ่งหนีและไม่กล้ากลับไปใช้อาคารเพราะไม่มั่นใจถึงความปลอดภัย

 

“แผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ หลายร้อยกม. แต่ก็สั่งผลให้เกิดการสั่นไหวในหลายอาคารสูง โดยพบว่าอาคารโยกด้วยความรุนแรงประมาณ 2.3 มิลลิ-จี (ค่าความเร่งโน้มถ่วงของโลก) ซึ่งปกติระดับที่คนรู้สึกจะอยู่ที่ 1.5 มิลลิ-จี ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่คนในอาคารสูงจะรับทราบถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ และแม้แผ่นดินไหวจะเกิดในระยะไกลแต่ผลการวิจัยบ่งชี้ว่าเป็นเพราะกรุงเทพฯ เป็นแอ่งดินตะกอนขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพจะขยายความรุนแรงได้ 3 เท่าในระดับแผ่นดินไหวที่โครงสร้างอาคารสามารถต้านทานได้ หรือมากกว่า 5 เท่าในระดับต่ำก็จะขยายได้รุนแรงกว่า ดินอ่อนมีลักษณะเฉพาะในภาคกลางและลุ่มแม่น้ำ ทีมวิจัยจึงพัฒนาการออกแบบก่อสร้างให้ได้มาตรฐานการออกแบบที่รองรับแผ่นดินไหวได้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์กับอาคารสูงที่ก่อสร้างใหม่ ส่วนอาคารเก่ายังมีกำลังสำรองต้านทานแผ่นดินไหวระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นปัญหาในระยะยาวที่นักวิจัยและหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมและหาแนวทางเสริมกำลังหรือมาตรการอื่น ๆ ต่อไป ทั้งนี้ คณะผู้บริหารกรุงเทพมหานครนำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กำลังวางแผนติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดที่โรงพยาบาลในสังกัด เช่น โรงพยาบาลกลาง” ศ. ดร.นครกล่าว

 

เช่นเดียวกับ ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย ที่กล่าวถึงจุดเกิดแผ่นดินไหวว่ามีแนวรอยเลื่อนเชียงตุงพาดผ่าน จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดปานกลางในระดับตื้นจึงส่งผลกระทบต่อพื้นที่จังหวัดภาคเหนือโดยตรง เนื่องจากอยู่ใกล้กับจุดที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ปัจจุบันประเทศไทยมีกฎกระทรวงกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคารต้านแผ่นดินไหว ปี 2564 ซึ่งกำหนดให้อาคารต้องออกแบบต้านแรงแผ่นดินไหวได้ โดยครอบคลุมจังหวัดในภาคเหนือและพื้นที่กรุงเทพฯ รวมทั้งสิ้น 43 จังหวัดทั่วประเทศ ทั้งนี้ ควรเตรียมความพร้อมรับมือสำหรับแผ่นดินไหวในอนาคตที่อาจจะมีขนาดใหญ่กว่านี้หรือเกิดขึ้นใกล้กว่านี้ มาตรการรับมือแผ่นดินไหวที่ดีที่สุด คือ การทำให้โครงสร้างอาคารแข็งแรง เพราะแผ่นดินไหวยังไม่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ โดยการออกแบบและก่อสร้างอาคารใหม่ให้ต้านแผ่นดินไหว และเสริมกำลังอาคารเก่าให้รองรับแผ่นดินไหวในอนาคตได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์แผ่นดินไหวแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News