Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงราย จัดการปัญหาหลังน้ำลด เร่งแผนฟื้นฟูครบทุกด้าน

 

วันที่ 28 กันยายน 2567 ที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม 2567 (ส่วนหน้า) จังหวัดเชียงราย นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมติดตามสถานการณ์และวางแผนฟื้นฟู พร้อมมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ โดยมีนายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ และนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมพร้อมด้วยหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน

นายโชตินรินทร์ เกิดสม รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รับผิดชอบการบริหารจัดการเครื่องจักรกลและกำลังพลในศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ พร้อมประสานงานหน่วยงานอื่นๆ ที่เข้ามาปฏิบัติการในพื้นที่ โดยให้แบ่งพื้นที่และมอบภารกิจให้ชัดเจน เพื่อให้การฟื้นฟูและช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

แผนงานและมาตรการสำคัญที่ได้รับมอบหมาย:

  1. ด้านการประชาสัมพันธ์
    สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดได้รับมอบหมายให้สื่อสารผ่านทุกช่องทาง ทั้งโทรทัศน์ วิทยุ สื่อออนไลน์ และสื่อท้องถิ่น เพื่อให้ข้อมูลถึงประชาชนในทุกกลุ่มทุกพื้นที่ และประชาชนสามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว โดยประชาสัมพันธ์ช่องทางการติดต่อสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม 1567 (โทรฟรี) และศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ ที่หมายเลข 093-1311784 เพื่อขอรับความช่วยเหลือและข้อมูลเพิ่มเติมได้ตลอด 24 ชั่วโมง

  2. ด้านการจัดการขยะและสิ่งแวดล้อม
    สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับอำเภอเมืองเชียงราย เทศบาลนครเชียงราย และอำเภอแม่สาย จัดหาพื้นที่รองรับขยะมูลฝอยชั่วคราว เพื่อรองรับปริมาณขยะหลังน้ำลด โดยต้องคำนึงถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมควบคุมการจัดการขยะอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรคในชุมชน

  3. ด้านการคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐาน
    กระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้แขวงทางหลวงเชียงรายที่ 1, 2 และแขวงทางหลวงชนบท รวมถึงสำนักงานเจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขาเชียงราย เร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง ตลิ่งและคันกั้นน้ำ เพื่อจัดทำเอกสารขอรับการสนับสนุนงบประมาณ และดำเนินการซ่อมแซมเส้นทางที่ได้รับผลกระทบให้กลับมาใช้งานได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด

  4. ด้านการสาธารณสุข
    สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงรายได้รับมอบหมายให้ดูแลประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยเน้นการดูแลกลุ่มเปราะบางและกลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเป็นพิเศษ พร้อมออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เยียวยาจิตใจและสนับสนุนการปรับปรุงสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมภายในพื้นที่

  5. ด้านการระบายน้ำและการจัดการท่อระบายน้ำ
    เน้นการวางแผนแก้ไขปัญหาท่อระบายน้ำอุดตัน รวมถึงการกำจัดเศษขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และดินโคลนในท่อระบายน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ และป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังซ้ำซ้อนในอนาคต โดยจัดตั้งทีมปฏิบัติการพิเศษลงพื้นที่ทุกจุดเพื่อเร่งดำเนินการอย่างเร่งด่วน

  6. ความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก
    ศูนย์บัญชาการฯ ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก อาทิ กรุงเทพมหานคร ส่งรถดูดโคลน จำนวน 4 คัน และบริษัท บีเอ็มเจ็ตเซอร์วิส จ.ระยอง เข้าร่วมดำเนินการในชุมชนป่าแดงและชุมชนเกาะทอง โดยการดำเนินงานจะเน้นการดูดตะกอนและสิ่งสกปรกในท่อระบายน้ำ เพื่อป้องกันการอุดตัน และเสริมสร้างสุขอนามัยในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ

การประสานงานและการให้ความช่วยเหลือ
นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ย้ำถึงความสำคัญในการประสานงานกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงการจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการประสานเครื่องจักรกลและเครื่องมือจากหน่วยงานในพื้นที่และนอกพื้นที่เข้ามาร่วมช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนในทุกด้าน ไม่เพียงแค่โครงสร้างพื้นฐาน แต่รวมถึงสุขภาพและสภาพจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบ

มาตรการเร่งด่วนจากศูนย์บัญชาการฯ
ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดเชียงรายได้กำหนดมาตรการเร่งด่วนตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การฟื้นฟูและการช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้เร็วที่สุด รวมถึงการจัดทำแผนระยะยาวในการเตรียมรับมือภัยพิบัติในอนาคต เพื่อป้องกันการเกิดเหตุซ้ำซ้อน

สรุปเนื้อหา:
การประชุมติดตามสถานการณ์และฟื้นฟูหลังน้ำลดในจังหวัดเชียงราย โดยมีรองปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในด้านประชาสัมพันธ์ การจัดการขยะ การคมนาคม การสาธารณสุข และการระบายน้ำ เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย ลงตรวจมาตรฐานขนาดลำไย สร้างความเป็นธรรมทางการค้า

 

เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2567 เวลา 14.00 น. นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานเครื่องคัดขนาดลำไยสดตัดขั้ว (รูดร่วง) จังหวัดเชียงราย ร่วมกันตรวจสอบเครื่องคัดขนาดลำไยแบบตะแกรงร่อน เพื่อกำกับดูแลให้ได้ตามมาตรฐานในการคัดขนาดลำไย สร้างความเป็นธรรมทางการค้า ดูแลเกษตรกรผู้ปลูกลำไย ไม่ให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ และลดข้อขัดแย้งระหว่าง ผู้ซื้อและผู้ขาย ณ บริษัท ไท้หยวนจินซาน จำกัด ที่ตั้งเลขที่ 194 หมู่ 9 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

โดยคณะทำงานตรวจสอบมาตรฐานเครื่องคัดขนาดลำไยสดตัดขั้ว (รูดร่วง) จังหวัดเชียงราย กำหนดแผนออกตรวจสอบเครื่องคัดขนาดลำไยแบบตะแกรงร่อน ที่อยู่ระหว่างการใช้งาน สำหรับรับซื้อลำไยสดรูดร่วง ในเดือน สิงหาคม 2567 ซึ่งเป็นช่วงที่ลำไยจังหวัดเชียงรายออกสู่ตลาดมาก

ทั้งนี้ เครื่องคัดขนาดลำไยแบบตะแกรงร่อน ปัจจุบันใช้เป็นตัวกลางในการกำหนดราคาซื้อขายลำไยสดรูดร่วง ซึ่งจะต้องผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองจากพนักงานเจ้าหน้าที่ชั่งตวงวัด กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์ (ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดลักษณะเครื่องวัดสำหรับคัดขนาดลำไยแบบตะแกรงร่อน รายละเอียดของวัสดุที่ผลิต อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาดและอายุคำรับรอง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 และเครื่องคัดฯ ที่มีมาก่อนประกาศฯ บังคับใช้ ให้นำมาตรวจสอบให้คำรับรองก่อนวันที่ 22 ธันวาคม 2567) โดยเจ้าหน้าที่จะดำเนินการตรวจสอบความเที่ยงตรงของรูตะแกรง โดยแต่ละขนาดต้องตรงตามที่มาตรฐานกำหนด และอยู่ในเกณฑ์อัตราเผื่อเหลือเผื่อขาด ทั้งฝ่ายมากและฝ่ายน้อย ไม่เกิน 0.5 มม. และกำหนดให้มีอายุคำรับรอง 2 ปี ซึ่งปัจจุบันเครื่องคัดขนาดลำไยแบบตะแกรงร่อน ในจังหวัดเชียงรายผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองแล้ว 684 เครื่อง

สำหรับจุดสังเกตุ เครื่องคัดฯ ที่ได้มาตรฐาน ผ่านการตรวจสอบให้คำรับรองแล้ว เกษตรกร ชาวสวนลำไยและประชาชนทั่วไป ให้สังเกตสติกเกอร์ตราครุฑ “ตรวจสอบแล้ว” จากสำนักงานกลางชั่งตวงวัด กรมการค้าภายใน ซึ่งจะติดอยู่ด้านทางออก (AA,A,B,C)

หากผู้ประกอบการท่านใด มีเจตนากระทำความผิด แก้ไขดัดแปลงเครื่องคัดขนาดลำไยฯ หรือเครื่องชั่ง เพื่อเอาเปรียบประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทางกฎหมายสูงสุด มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกินสองแสนแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากผู้ครอบครองนำเครื่องที่ยังไม่ได้รับการตรวจสอบให้คำรับรอง ไปใช้ในการรับซื้อ จะมีโทษตาม พ.ร.บ. มาตราชั่งตวงวัด พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน   ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบในการซื้อขาย สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง”ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”

 

เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2567 ที่ห้องเชียงรุ้ง โรงแรมเวียงอินทร์ เชียงราย อำเภอเมือง นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมคณะกรรมการอำนวยการและคณะทำงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง เรื่อง “การติดตามผลการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานแบบบูรณาการ ประจำปี 2567” โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงกลุ่ม 2 เชียงราย ลุ่มน้ำโขงเหนือ โดยมีนายอดิเรก อินต๊ะฟอง ผู้อำนวยการสำนักพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง นำหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนราชการ ภาคเอกชน องค์การบริการส่วนท้องถิ่น ผู้แทน จำนวนทั้งสิ้น 126 คน จาก 55 หน่วยงาน เข้าร่วม 

ซึ่งก่อนการเปิดประชุมนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการพัฒนาพื้นที่สูงอย่างยั่งยืนแบบโครงการหลวง ระหว่างองค์การบริหารส่วนตำบลในพื้นที่ดำเนินงาน 3 แห่ง อุทยานแห่งชาติดอยหลวง สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 เชียงราย และสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง เพื่อบูรณาการแผนปฏิบัติงานร่วมกัน พัฒนาประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีการประกอบอาชีพ ที่สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตามแนวทางของโครงการหลวง เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งสามารถพึ่งพาตนเองได้ เป็นชุมชนอยู่ดีมีสุข ประกอบอาชีพควบคู่ไปกับการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า โครงการหลวงได้ดำเนินงานตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ที่โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชดำริ และพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้ดำเนินงานพัฒนาการเกษตรบนพื้นที่สูง ลดการปลูกพืชเสพติด และการฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร โดยมุ่งช่วยเหลือประชาชนบนพื้นที่สูงให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (“ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก”) พระบาทสมเด็จฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด งานโครงการหลวง และให้ขยายผลงานออกไป เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่อยู่นอกพื้นที่โครงการหลวง พร้อมกล่าวต่อไปว่า จึงขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนราชการให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่น มุ่งเน้นถึงผลสัมฤทธิ์ของงานเป็นหลัก และทางจังหวัดเชียงรายพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร โดยเฉพาะปัญหาที่จำเป็นต้องร่วมกันแก้ไข เช่น การพัฒนาแหล่ง น้ำ และการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตรและอุปโภค-บริโภค รวมถึงการพัฒนาอาชีพของเกษตรกรบนพื้นที่สูงให้มีรายได้ที่เพียงพอ โดยควบคู่ไปกับการดูแลป่าต้นน้ำการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ให้เกิดความยั่งยืน

โดยการจัดประชุมในครั้งนี้ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตลอดจนปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงกำหนดแนวทางและเป้าหมายของการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูงจังหวัดเชียงราย ให้เป็นคู่มือการปฏิบัติงานในพื้นที่กับบุคลากรของหน่วยงานต่างๆ เพื่อจะได้นำปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ ในการดำเนินงาน มาร่วมพูดคุยและร่วมกันกำหนดเป็นแผนงานในปีต่อ ๆ ไปได้อย่างเหมาะสม ให้มีความสอดคล้องกับศักยภาพ และความต้องการของชุมชนต่อไป

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง 26-28 ก.ค. 67 หาดนครเชียงราย

 

เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานในพิธีเปิดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขง โดยมี นายเสริฐ ไชยยานันตา ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเชียงราย นายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย นางรัตนา จงสุทธานามณี ที่ปรึกษาของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยไชย) พร้อมหัวหน้าส่วนราชการและคณะผู้แทนจากประเทศอนุภาคภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ได้แก่ ประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมียนมาร์ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศร่วมในพิธีเปิดอย่างคึกคัก

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้บูรณาการร่วมกับภาคการท่องเที่ยวและภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงราย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการค้ากับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศไทยร่วมงานนี้ จังหวัดเชียงรายเป็นประตูสู่การค้า การลงทุน การท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่งของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นที่ตั้งที่สำคัญในการเชื่อมโยงทั้ง 4 ประเทศ

งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 กรกฎาคม 2567 ณ สวนสาธารณะหาดนครเชียงราย ภายใต้ธีม “ดอกไม้ในสายฝน” ซึ่งเป็นงานเชียงรายดอกไม้งามที่ท่ามกลางดอกไม้นับล้านดอกที่บานสะพรั่ง ตลอดระยะเวลาการจัดงานจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมจากทั้ง 4 ประเทศ ได้แก่ การแสดงจากประเทศไทย สปป.ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน และเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแสดงดนตรีและการเต้นรำที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์และความงดงามของแต่ละประเทศ

นอกจากนี้ ทุกคืนยังมีมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังอย่าง ไก่ พรรณนิภา และ เต๋า ภูศิลป์ ที่จะมาสร้างความบันเทิงและความสนุกสนานให้กับผู้เข้าร่วมงาน นอกจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังมีการจัดแสดงสินค้าและอาหารพื้นเมืองผู้เข้าร่วมงานสามารถเดินชมและลิ้มลองอาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลายและอร่อย

การจัดงานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงในครั้งนี้ไม่เพียงแต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งจะนำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือที่ดีในอนาคต การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคโดยรวม

งานนี้ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถเข้าร่วมงานได้ฟรี และร่วมสัมผัสกับบรรยากาศแห่งความสนุกสนานและความอบอุ่นจากการแสดงศิลปวัฒนธรรมของทั้ง 4 ประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านอย่างใกล้ชิด ทางจังหวัดเชียงรายขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมงานและเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

การจัดงานครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต ทางจังหวัดเชียงรายหวังว่า งานวัฒนธรรมสัมพันธ์ลุ่มน้ำโขงจะเป็นงานที่สร้างความประทับใจและความทรงจำที่ดีให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI WORLD PULSE

จับมือเมียนมา พัฒนาการค้ายั่งยืน ร่วมมือแก้ไขมลภาวะทางอากาศ

 

เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ณ ห้องประชุมธรรมลังกา ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย นายณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ และคณะผู้บริหารจากส่วนกลาง ประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนไทย ด้านการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และเตรียมความพร้อมก่อนเข้าหารือกับฝ่ายเมียนมา ในภาคบ่ายของวันเดียวกัน โดยมีนางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และนำหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก อาทิ พาณิชย์จังหวัดเชียงราย ผู้แทนด่านศุลกากรแม่สาย ผู้แทนกรมควบคุมมลพิษ ผู้แทนกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมปศุสัตว์ ผู้แทนคณะกรรมการชายแดนส่วนท้องถิ่น และหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือ และรายงานความคืบหน้าสถานการณ์ในเมียนมา สถานการณ์การค้าชายแดนไทย-เมียนมา สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 จังหวัดเชียงราย กรอบแนวทางการหารือกับฝ่ายเมียนมา แนวทางความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือฝ่ายเมียนมา ตลอดจนแนวทางเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดน

 

จากนั้นในเวลา 13.30 น. ณ โรงแรม 1G1 Hotel ท่าขี้เหล็ก สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะจากฝ่ายไทย เข้าร่วมประชุมหารือกับผู้แทนสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา นำโดยนายอู คุน เทียน หม่อง รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์รัฐฉาน พลจัตวา จ่อว์ เท็ด ผบ.ภาคสามเหลี่ยม นายอู ไซ เลต รัฐมนตรีด้านทรัพยากรธรรมชาติของคณะผู้บริหารรัฐฉาน และคณะ โดยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ กล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายภูมิธรรม เวชยชัย ให้มาติดตามสถานการณ์การค้าเพื่อส่งเสริมการค้าชายแดนระหว่างไทย – เมียนมา โดยเริ่มต้นที่รัฐฉานซึ่งเป็นแหล่งวัตถุดิบสินค้าที่สำคัญเข้าสู่ไทย โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และได้หารือถึงแนวทางความร่วมมือระหว่างกันในประเด็นการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะประเด็นความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5 ข้ามพรมแดน  และส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการค้าชายแดนระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งรัฐบาลไทย โดยกระทรวงพาณิชย์ ยินดีที่จะร่วมมือกับเมียนมา ช่วยกันแก้ไขหรือลดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

ในการหารือครั้งนี้ ทั้งไทยและเมียนมา ต่างได้แสดงออกถึงความจริงใจและความตั้งใจที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหา ซึ่งไทยได้เสนอแนวทางการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานรัฐ โดยมีกรมการค้าต่างประเทศ  สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงย่างกุ้ง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมมลพิษ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ที่พร้อมจะทำงานร่วมกัน และพร้อมอำนวยความสะดวกในการประสานงานแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว  และจะสนับสนุนข้อมูลให้ความร่วมมือทางนวัตกรรม และองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการปลูกข้าวโพด 75 วัน ซึ่งสามารถเก็บทั้งต้นและสามารถปรับเป็นอาหารสัตว์ ตลอดจนการนำไปทำปุ๋ย ผลิตสินค้าที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจากการหารือในวันนี้ ทั้งสองประเทศเห็นพ้องกัน และรัฐฉานให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยทางไทยจะได้มีการติดตามผลในอีก 3 เดือนข้างหน้า

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ยังได้กล่าวขอบคุณฝ่ายเมียนมา ที่มีความจริงใจและมีความตั้งใจในการร่วมกันแก้ไขปัญหาทางการค้า ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต จากประเด็นการสร้างผลผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม Carbon Footprint และอื่น ๆ  ซึ่งการประชุมวันนี้ ถือว่าประสบความสำเร็จได้รับความร่วมมือและร่วมแก้ปัญหาไปได้ในระยะยาว
โดยพื้นที่ทำการเกษตรของเมียนมา มีทั้งหมดประมาณ 80 ล้านไร่ อยู่ในรัฐฉาน ประมาณ 7.6 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 9 ของพื้นที่ทำการเกษตรของเมียนมา ทั้งนี้เป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 ล้านไร่ หรือคิดเป็น ร้อยละ 40 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมดของรัฐฉาน สำหรับสถานการณ์การค้าชายแดนไทย- เมียนมา นั้น ในปี 2567 (ม.ค. – พ.ค.) ไทยนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ รวมปริมาณ 1.09 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 (นำเข้า 0.77 ล้านตัน) โดยนำเข้าจากเมียนมา เป็นอันดับหนึ่ง ปริมาณ 0.91 ล้านตัน (ร้อยละ 82.80) รองลงมาได้แก่ สปป. ลาว 0.18 ล้านตัน (ร้อยละ 16.84) และกัมพูชา 0.004 ล้านตัน (ร้อยละ 0.37) ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่จะส่งออกทางบกผ่านด่านเมียวดี-แม่สอด จังหวัดตาก

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

เตรียมเคาะ 2 SME เชียงราย ให้เงินทุนพัฒนาสนับสนุนสินค้า

 

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมนารายณ์ ชั้น 2 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 ครั้งที่ 2/2567 ซึ่งมีคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ ประจำจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิจารณาความคืบหน้าของผู้ประกอบการที่ผ่านการพิจารณา กลั่นกรอง และคัดเลือกเอสเอ็มอีที่มีคุณสมบัติและเข้าข่ายได้รับการสนับสนุน ด้านสินเชื่อกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ โครงการสินเชื่อ ลดโลกร้อน Decarbonize Loan (ปี 2566) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยมีผู้ขอกู้รายใหม่จำนวน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ไท้ หยวน จินซาน จำกัด ประกอบกิจการ โรงอบลำไย ที่อยู่ 194 หมู่ 9 ตำบลห้วยสัก อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย และบริษัท เวียงป่าเป้า วิศวกรรม (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการ ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือทางการเกษตร (เครื่องสีกาแฟ , เครื่องคั่วกาแฟ และอื่นๆ ที่อยู่ 68 หมู่ 3 ตำบลสันสลี อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย และผู้กู้รายเก่าพิจารณาเพิ่มเติม จำนวน 1 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด นงเยาว์ ฟู้ดส์ โปรดักส์ ประกอบกิจการ แปรรูปสับปะรด ที่อยู่ 238 หมู่ 14 ตำบลนางแล อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย

 

ทั้งนี้คณะอนุกรรมการฯ ลงมติเห็นชอบ และส่งมอบให้ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (สาขาแม่สาย) (SME D BANK) เป็นผู้ดำเนินการวิเคราะห์การอนุมัติสินเชื่อต่อไป
 
 
กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม มุ่งมั่นสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทย สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงศักยภาพและขีดความสามารถของผู้ประกอบการเป็นหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถพัฒนาธุรกิจได้อย่างยั่งยืนและเติบโตได้อย่างมั่นคงและเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป
 
 
ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่สนใจสามารถสมัครสินเชื่อได้ผ่านเว็บไซต์ของกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ www.thaismefund.com หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

จ.สกลนคร ส่งต่อเจ้าภาพเชียงรายกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศ ครั้งที่ 29

 

เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 67 นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ ห้องประชุมพญาพิภักดิ์ ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยมี นางชญาณ์นันท์ เชื้อศิริถาวร ผู้อำนวยการสำนักงานการกีฬาแห่งประเทศไทย จังหวัดเชียงราย และคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือและพิจารณาถึงบทบาทหน้าที่รับผิดชอบของสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย และจังหวัดเจ้าภาพคือจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มีการจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 28 ประจำปี 2567 ณ จังหวัดสกลนคร มาแล้วและได้ส่งต่อเจ้าภาพให้กับจังหวัดเชียงราย ต่อไป

โดยก่อวาระการประชุมได้มีการแนะนำตัวคณะสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทยต่อที่ประชุม คือ นายวิวัฒน์ วิกราตโนรส นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นางสาวจันทร พิมพ์สกุล ที่ปรึกษาสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย นายเพิ่มศักดิ์ สุริยจันทร์ นายกสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ซึ่งเป็นองค์กรกีฬาระดับชาติ ได้รับอนุญาตจัดตั้งตามพระราชบัญญัติการกีฬาแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 เป็นสมาชิกของสหพันธ์กรีฑสูงอายุแห่งเอเชียและสหพันธ์ฯโลก มีวัตถุประสงค์หลักในการดำเนินกิจกรรมกรีฑาสูงอายุ เพื่อสร้างพื้นที่และโอกาสให้แก่ประชาชนโดยทั่วไปและอดีตนักกีฬาทีมชาติที่พ้นจากระบบกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ ได้เข้าถึงกิจกรรมกีฬาโดยต่อเนื่องตามอุดมการณ์การส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสเล่นกีฬาต่อเนื่องตลอดชีวิต
 
 
สำหรับที่ประชุม ได้มีการชี้แจงรายละเอียดโครงการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ด้วยจังหวัดเชียงราย ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สมาคมกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย สำนักงานการกีฬาแห่งจังหวัดเชียงราย และได้รับเกียรติจากสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย ครั้งที่ 29 ประจำปี 2568 ณ จังหวัดเชียงราย โดยได้กำหนดจัดการแข่งขันฯ ในระหว่างวันที่ 13-16 กุมภาพันธ์ 2568 ณ สนามกีฬากลางจังหวัดเชียงราย โดยจะมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568 โดยจะมีการประชุมคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมการจัดการแข่งขันฯ ต่อไป
 
 
สำหรับการจัดการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงชนะเลิศประเทศไทย เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรก ในปี พ.ศ. 2539  ครั้งที่ผ่านมาเป็นการจัดการแข่งขัน ครั้งที่ 28 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีทัศนคติด้านบวก ในการรักการออกกำลังกาย  ส่งเสริมผู้สูงอายุ ที่มีความสามารถด้านกรีฑา ได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขัน และได้พัฒนาตนเองเป็นตัวแทนระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับชาติ และยังเป็นการคัดเลือกนักกรีฑาผู้สูงอายุ เป็นตัวแทนทีมชาติไทยเข้าร่วมการแข่งขันกรีฑาผู้สูงอายุชิงแชมป์เอเชีย ต่อไป   โดยมีนักกีฬาสมัครเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น  1,281 คน   ประกอบด้วย  นักกีฬาไทย 896  คน นักกีฬาเพื่อสุขภาพ 300  คน และนักกีฬาจากต่างประเทศ อีก 85  คน
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

อพท. ประสานภาคีร่วมขับเคลื่อน เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย

 
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ณ โรงแรม เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมสร้างการรับรู้ ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (Thailand Creative Cities Network : TCCN 2024) โดยมี นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. เป็นประธานพิธีเปิดกิจกรรมฯ เพื่อระดมความคิดและประสบการณ์การดำเนินงานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ตามหลักเกณฑ์มาตรฐานสากล จากหน่วยงานภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาคม ร่วมกันสร้างการรับรู้ถึงประโยชน์ต่อการเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และกระบวนการยกระดับเมือง ตลอดจนขั้นตอนการพัฒนาเมืองในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. ให้เห็นเป็นรูปธรรม ส่งผลถึงการเป็นต้นแบบของ “นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ในโอกาสนี้ รองผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ น่าน อ่างทอง ตลอดจนหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานจากจังหวัดต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกิจกรรม
 

              นาวาอากาศเอก อธิคุณ คงมี ผู้อำนวยการ อพท. เปิดเผยว่า กิจกรรมสร้างการรับรู้ภายใต้แนวทางการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก หรือ TCCN 2024 ในครั้งนี้ อพท. หวังสร้างความตระหนักรู้ถึงประโยชน์ของการร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก แก่เมืองเป้าหมายในพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. และในภาพรวมของประเทศไทย ให้ครอบคลุมกลไกของการพัฒนาอย่างยั่งยืน และยังมุ่งเป้าในการสร้างโอกาสและยกระดับการพัฒนาเมืองในพื้นที่ จากการระดมความคิดเห็น การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเวทีการประชุม การเสวนาจากภาคีเครือข่ายและความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานภาคีในการประสานการขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ในประเทศไทย สู่การเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกไปพร้อมกัน  โดยในปี ๒๕๖๗ อพท. ได้จัดกิจกรรม TCCN 2024 ขึ้นถึง ๒ ครั้ง ในเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในพื้นที่พิเศษของ อพท. ที่ได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ (UNESCO Creative Cities Network) เมื่อปลายปี ๒๕๖๖ ซึ่งกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้น ณ จังหวัดสุพรรณบุรี เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกด้านดนตรี ในประเด็นสำคัญ “การพัฒนานวัตกรรมเมืองอย่างยั่งยืนและการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์เพื่ออนาคตอย่างเท่าเทียม” ซึ่งการพัฒนาเมืองให้ยั่งยืน ไม่ใช่เพียงเป็นประเด็นของการขับเคลื่อนธุรกิจภายในประเทศ เท่านั้น แต่ยังเป็นเทรนด์ในโลกของการลงทุน เสริมสร้างเศรษฐกิจในพื้นที่อีกด้วย
 

         ผู้อำนวยการ อพท. ยังกล่าวอีกว่า กิจกรรมครั้งที่ ๒ ในวันนี้ (๗ มิถุนายน ๒๕๖๗) ณ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้านการออกแบบ อพท. ยังเดินหน้าสนับสนุนตามเป้าหมายในการสร้างเวทีขยายการรับรู้ประโยชน์ของความยั่งยืนในการขับเคลื่อนเมือง ให้เยาวชนคนรุ่นใหม่มาร่วมออกแบบเพื่อ “การขับเคลื่อนเมืองให้มีชีวิตสำหรับผู้คนในทศวรรษหน้า” ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ในพื้นที่มาร่วมเวทีเสวนา แสดงความคิดเห็น “การสร้างสรรค์นวัตกรรมเมืองภายใต้บริบทของการส่งเสริมโอกาสของคนในพื้นที่” ซึ่งมีผู้แทนเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโกในประเทศไทยเข้าร่วมถึง ๗ เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี สุพรรณบุรี และเชียงราย ตลอดจนหน่วยงานจากเมืองต่างๆ ที่สนใจขับเคลื่อนเมืองเพื่อเข้าร่วมเป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก มาร่วมแลกเปลี่ยน รับรู้ถึงประโยชน์และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์การพัฒนาพื้นที่ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างมีมาตรฐานระดับสากล สะท้อนบทบาทหน้าที่ในการเป็น“นักพัฒนาเมือง พัฒนาพื้นที่” ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

พัฒนาเศรษฐกิจภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมศรีจอมทอง ชั้น 2 โรงแรมไชยนารายณ์ ริเวอร์ไซด์ ตำบลริมกก อำเภอเมืองเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ระหว่างวันที่ 5-7 มิถุนายน 2567 

 

โดยมีนายธนะสิทธิ์ ศรีคำภา หัวหน้าสำนักงานบริหารยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 นำส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับ รองผู้ว่าราชการจังหวัด พะเยา แพร่ น่าน และเจ้าหน้าที่จากพะเยา แพร่ น่าน เพื่อเตรียมความพร้อม และระดมความคิดเห็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ภายใต้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน สำหรับใช้เป็นข้อเสนอในการจัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (พ.ศ. 2566 – 2570) ฉบับทบทวน พ.ศ. 2568 – 2570 และแผนปฏิบัติราชการประจำปึงบประมาณ พ.ศ. 2569 ให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 “ท่องเที่ยวบนพื้นฐาน วัฒนธรรมร่วมสมัย ยกระดับสินค้าเกษตร สิ่งแวดล้อมยั่งยืน สู่เศรษฐกิจมั่นคง”

 

นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ปัจจุบันนายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน ได้ประกาศวิสัยทัศน์ “IGNITE THAILAND” มุ่งเป้าพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเมืองแห่งอุตสาหกรรมระดับโลก ครอบคลุมทั้งการท่องเที่ยว รักษาพยาบาลและสุขภาพ อาหาร การบิน เทคโนโลยี และการเงิน โดยมีแผนพัฒนาการเป็นศูนย์กลางการบิน การขนส่งของภูมิภาค ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค นอกจากนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน2 มีโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ (Logstics) 

 

ที่สามารถเชื่อมโยงสู่กลุ่มประเทศ GMS ได้สะดวก รวดเร็ว เช่น การสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ ศูนย์เปลี่ยนถ่ายรูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของจังหวัดเชียงรายและศูนย์รับซ่อมอากาศยานครบวงจร ของท่าอากาศยานนานาชาติแม่ฟ้าหลวงเชียงราย ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบกับ กลุ่มจังหวัด ฯ มีภูมิศาสตร์ที่เป็นประตูการค้า การลงทุน และการค้าชายแดน ที่สำคัญในภาคเหนือและของประเทศ มีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบ ดังนั้น กลุ่มจังหวัด จึงควรเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการระดมความคิดเห็น เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนากลุ่มจังหวัด ๆ ภายใต้ภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และภาครัฐ เพื่อให้เป้าหมายการพัฒนาสัมฤทธิ์ผลผ่านแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ระยะ 5 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกลุ่มจังหวัดได้ก้าวต่อไปในอนาคต

 

ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 วัน ผู้เข้าร่วมฯ จะได้ร่วมระดมความคิดเห็น เพื่อแก้ไข ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้บริหารจังหวัดภายในกลุ่มจังหวัด ส่วนราชการ และคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน  รวมถึงมีการบรรยายที่สำคัญ ได้แก่ “ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง “

 

การเตรียมความพร้อมรองรับการพัฒนาโครงข่ายระบบโลจิสติกส์ภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 เชื่อมโยงกลุ่มประเทศอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” จากวิศวกรโครงการ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) “ศักยภาพระบบโลจิสติกส์ทางอากาศสู่การพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ” จากท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย และ”การพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ภายใต้ศูนย์เปลี่ยนถ่าย รูปแบบการขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย” จากขนส่งสินค้าเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

สร้า้งภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย”

 

เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2567 ที่ห้องประชุมสำนักงานพาณิชย์จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” โดยมีคณะกรรมการและคณะทำงานทั้ง 3 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” คณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” และคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีเกิดปัญหาละเมิดข้อร้องเรียน ข้อพิพาทและข้อเสียหายจากการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” เข้าร่วมประชุม

 

     โดยในครั้งนี้ มีผู้ประกอบการได้ขอต่ออายุหนังสืออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จำนวน 3 ราย ได้แก่ 1. ใบชาหยดน้ำค้าง 2. บริษัท วังพุดตาล จำกัด 3. บริษัท ชา 101 จำกัด ในที่ประชุมได้ยกมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย 

 

โดยคณะทำงานเพื่อพิจารณาคำขอตรวจสอบควบคุมคุณภาพ และแหล่งที่มาของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบคุณภาพมาตรฐาน (GI) “ชาเชียงราย” และนำผลการพิจารณาดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย” ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งคณะกรรมการกำกับดูแลและอนุญาตการใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ “ชาเชียงราย เห็นชอบและรับรองการต่ออายุหนังสือผู้ขอยื่นใช้ตราสัญลักษณ์สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) “ชาเชียงราย” ให้ทั้ง 3 ราย ได้แก่ 


      1. ใบชาหยดน้ำค้าง 126 หมู่ 13 ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้าจำนวน 1 รายการ ได้แก่ ชาเขียว สายพันธุ์ชาอัสสัม 
      2. บริษัท วังพุดตาน จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 2 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลงก้านอ่อน สายพันธุ์ชาจีน และชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน 
      และ 3. บริษัท ชา 101 จำกัด 7/1 หมู่ 12 ตำบลแม่สลองนอก อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ได้ยื่นต่ออายุสินค้า จำนวน 4 รายการ ได้แก่ ชาอู่หลง เบอร์ 17 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลง เบอร์ 12 สายพันธุ์ชาจีน ชาอู่หลงสี่ฤดู สายพันธุ์ชาจีน และชาเขียว สายพันธุ์ชาจีน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News