Categories
NEWS UPDATE

ไฟป่า 2 จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สร้างเสียหายแล้วกว่า 450,000 ไร่

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 รายงานข่าวจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีก 2 พื้นที่ ไฟป่า แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เสียหายแล้วกว่า 450,000 ไร่
 
 
จากสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีก 2 พื้นที่ที่พบว่ามีจุดความร้อนติดอันดับต้นๆ ของประเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 ของวันที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 10.48 น. แสดงพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ของอำเภอ แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบพื้นที่ความเสียหายทั้งสิ้น 251,037 ไร่ และ ในพื้นที่ของอำเภอ แม่แจ่ม จอมทอง ฮอด อมก๋อย ดอยเต่า ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความเสียหายทั้งสิ้น 203,573 ไร่ โดยรวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด 454,610 ไร่ สำหรับสาเหตุการเกิดไฟป่ายังคงมาจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
 
 
ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน
 
 
ดาวเทียม Landsat 8 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือ ระหว่างองค์การ NASA และ USGS (U.S. Geological Survey) มีการโคจรซ้ำตำแหน่งเดิมทุก ๆ 16 วัน ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 185 กิโลเมตร ประกอบด้วยระบบบันทึกภาพ 2 ชนิด คือ Operation land Image (OIL) และ The Thermal Infrared Sensor (TIRS) จำนวน 11 ช่วงคลื่น ให้รายละเอียดจุดภาพช่วงคลื่น visible, NIR, SWIR  30 เมตร ช่วงคลื่น thermal 100 เมตร และ panchromatic 15 เมตร

ประโยชน์ของภาพที่จะนำไปใช้ : 

  • การจัดทำแผนที่ scale ใหญ่
  • การจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่
  • การวิเคราะห์ดินและพืชพรรณ – Soil/vegetative analysis
  • การศึกษาด้านธรณีวิทยา อาทิ น้ำมัน ก๊าซ เหมืองแร่ เป็นต้น
  • การติดตามพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม
  • การวัดปริมาณน้ำ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่ง
  • การวิเคราะห์มลภาวะ และหมอกควัน 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“ศุภมาส” ลั่น! พร้อมส่ง “คน-เทคโนฯ-ทุน” ลงพื้นที่เชียงราย ขับเคลื่อนชุมชนป่าตึงริมกก

 
 เมื่อวันที่ 17 มี.ค. น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมด้วย น.ส.สุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ รมว.อว. ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว. น.ส.สุณีย์ เลิศเพียรธรรม หัวหน้าผู้ตรวจราชการ อว. และผู้บริหาร อว. ลงพื้นที่ปรึกษาติดตามการดำเนินงานของกระทรวง อว.ในพื้นที่ จ. เชียงราย-พะเยา ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน)
 
 
โดยจุดแรก น.ส.ศุภมาส ได้ติดตามการดำเนินงานโครงการพัฒนานครเชียงรายสู่เมืองแห่งความสุข 3 มิติ และการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต สำหรับคนทุกวัย สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนของ จ.เชียงราย ดำเนินการโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรภ.เชียงราย) ร่วมกับเทศบาลนครเชียงราย ที่บริเวณชุมชนป่าตึงริมกก โดยมีนายวันชัย จงสุทธานามณี นายกเทศมนตรีเมืองเชียงราย พร้อมชุมชนต้นแบบจำนวน 14 ชุมชนมาให้การต้อนรับ โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก โดย น.ส.ศุภมาส ได้เดินดูผลิตผลทางการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสู่การเป็นอาหารปลอดภัยจากชุมชนต้นแบบทั้ง 14 ชุมชน พร้อมพูดคุยกับชาวบ้านอย่างเป็นกันเอง ทั้งนี้ รมว.อว.กล่าวว่า กระทรวง อว. มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นตามความต้องการของชุมชน ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนและส่งเสริมให้ชุมชนเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
 
 
เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชนเขตเมืองที่สอดคล้องรับนโยบายของจังหวัดเชียงรายและเป็นเมืองแห่งสุขภาวะ (Wellness City) ทั้งนี้ เทศบาลนครเชียงรายร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย ได้มีการจัดแสดงผลงานนวัตกรรมจากชุมชนพื้นที่เทศบาลนครเชียงรายที่มีความโดดเด่นและน่าสนใจ ได้แก่
  • ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  • นวัตกรรมด้านการจัดการขยะในชุมชน
  • นวัตกรรมชุมชนต้นแบบอาหารปลอดภัย
  • นวัตกรรมผลลัพธ์หลักสูตรการเรียนรู้อาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพสำหรับ ผู้สูงอายุ
  • ผลผลิตตลาดเกษตรปลอดภัยนครเชียงราย
 
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานยัง Young Smart Farmer (YSF) ที่โอโซนฟาร์ม ซึ่งเป็นฟาร์มที่ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าการผลิตและควบคุมระบบการปลูกพืชออร์แกนิกซ์ปลอดสารพิษ ดำเนินการโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) โดย รมว.อว. ได้เยี่ยมชมการพัฒนาระบบ Smart Farm ระบบแยกผสมปุ๋ยและควบคุมอัตโนมัติสำหรับฟาร์มเมล่อน เพื่อให้ได้ผลผลิตเมล่อนคุณภาพสูง รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเมล่อนและผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย
 
 
 ต่อมา น.ส.ศุภมาส ได้เดินทางไปยัง บริษัท เฮล์ท เฮิร์บ เซ็นเตอร์ จำกัด เพื่อติดตามผลการดำเนินงานการสนับสนุนงานวิจัย เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ SMEs และวิสาหกิจชุมชน ที่ อ.แม่สาย โดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภาคเหนือ มฟล. ซึ่งผู้ประกอบการรายนี้เป็นผู้ผลิตเครื่องสำอางและยาสมุนไพรจากกวาวเครือขาว กวาวเครือแดงรายแรกๆ ของ จ.เชียงราย ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยการนำงานวิจัยของ มฟล.มาใช้ ปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ส่งออกสารสกัดและผลิตกวาวเครือขาว กวาวเครือแดงไปในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดย รมว.อว. ยังได้ร่วมประชุมกับผู้ประกอบการและผู้บริหารอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคอีกด้วย
 
 
จากนั้น น.ส.ศุภมาส ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวง อว. มีหน่วยงานต่างๆ ที่ให้การสนับสนุนชุมชนและผู้ประกอบการใน จ.เชียงราย ทั้ง มรภ.เชียงราย มฟล. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค รวมถึงหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยต่างๆ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ที่ อว. ประกอบภาพขึ้นมา เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาชุมชนและพื้นที่ให้สมกับการที่เชียงรายได้รับการประกาศให้เป็นเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบของยูเนสโก (UCCN) ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน และกระทรวง อว.จะทำในทุกจังหวัด คือการสนับสนุนคนเทคโนโลยีและทุน ทั้งทุนตั้งต้น ทุนตั้งตัว เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไปได้ไกลที่สุดจะได้เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เทศบาลนครเชียงราย 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News