Categories
CULTURE TRAVEL

ทริปไหว้พระ 9 วัดดัง เชียงราย เสริมสิริมงคลครบในวันเดียว

แจกพิกัดไหว้พระ 9 วัดในเชียงราย สายมูห้ามพลาด! ทริปวันเดียวครบในตัวเมือง

เชียงรายในฤดูหนาวกำลังคึกคัก พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวสายบุญและสายมูที่ต้องการเสริมสิริมงคลให้ชีวิต วันนี้เราขอแนะนำทริปไหว้พระ 9 วัดในตัวเมืองเชียงราย วันเดียวไหว้ครบ แถมไม่ต้องเดินทางไกล พิกัดแน่น ๆ แบบ One Day Trip! เริ่มจากจุดสำคัญที่พลาดไม่ได้

เริ่มต้นทริปที่ อนุสาวรีย์พญามังราย

อนุสาวรีย์พญามังราย ตั้งอยู่ที่ห้าแยกพ่อขุน ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งเมืองเชียงราย สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติแก่พระปรีชาสามารถของพญามังราย กษัตริย์ล้านนาผู้ก่อตั้งเมืองเชียงราย พระบรมรูปหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ประดับด้วยเครื่องทรงล้านนาโบราณ ประทับยืนบนฐานสูงประมาณ 3 เมตร พระหัตถ์ซ้ายถือดาบยืนอย่างสง่างาม

หลังจากนั้นเราขอแนะนำเส้นทางไหว้พระ 9 วัด ที่สามารถเดินทางเชื่อมต่อได้ง่าย ๆ ในตัวเมืองเชียงราย ไหว้ครบจบในวันเดียว รับรองทั้งอิ่มใจและอิ่มบุญตามแบบฉบับสายมู ใครมาถึงเชียงรายแล้วห้ามพลาดทริปนี้!

1.วัดศรีบุญเรือง เชียงราย

วัดศรีบุญเรือง เชียงราย

แนะนำวัดศรีบุญเรือง เชียงราย สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา เริ่มต้นทริปไหว้พระเสริมบุญที่ “วัดศรีบุญเรือง” วัดเก่าแก่ใจกลางเมืองเชียงราย ตั้งอยู่ในตำบลเวียง อำเภอเมือง ซึ่งมีประวัติยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 1982 แม้จะเคยกลายเป็นวัดร้างและเสื่อมโทรมไปตามกาลเวลา แต่ต่อมาได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยคุ้มเจ้าหลวงและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2489 ภายในวัดมีทั้งพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอฉัน หอระฆัง และศาลาพักร้อน โดยทั้งหมดสร้างด้วยสถาปัตยกรรมล้านนาอันงดงามสะท้อนถึงวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของล้านนา

ด้านหลังวัดยังมีพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่เปิดให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ประวัติความเป็นมา เรียกได้ว่าเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญที่ไม่ควรพลาดสำหรับคนที่ต้องการซึมซับความเป็นล้านนาแท้ ๆ อีกทั้งใกล้ ๆ วัดยังมีร้านอาหารพื้นเมืองรสชาติเยี่ยมให้ได้ลองชิม บอกได้คำเดียวว่ามาเยือนเชียงรายทั้งที ต้องไม่พลาดแวะมาเที่ยววัดศรีบุญเรือง!

  • Location: หมู่ที่ 3 ถนนสิงหไคล ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
  • Google Map: https://maps.app.goo.gl/kA1zrHRt4sN145x5A
2.วัดเชตวัน(พระนอน) เชียงราย

วัดเชตวัน (พระนอน) เชียงราย วัดเก่าแก่ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

อีกหนึ่งวัดที่น่าสนใจในเชียงราย คือ “วัดเชตวัน (พระนอน)” วัดราษฎร์ฝ่ายมหานิกาย ที่หลายคนรู้จักกันในชื่อ “วัดพระนอน” วัดนี้ถูกเชื่อกันว่าสร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนเม็งรายมหาราช พร้อมกับการก่อตั้งเมืองเชียงราย โดยชื่อ “เชตวัน” นั้นอาจมีรากศัพท์มาจากคำว่า “ตะวัน” ซึ่งหมายถึงพระอาทิตย์ เพราะวัดนี้ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมือง

ความสำคัญของวัดเชตวันเพิ่มขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2423 เมื่อครูบาหงษ์หรือกาวิโลภิกขุ เดินทางธุดงค์มาจากเชียงใหม่และได้พบบริเวณที่มีเจดีย์ลูกนิมิตและต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งเป็นจุดที่มีความรกและมีน้ำท่วม เขาจึงตัดสินใจบูรณะพื้นที่นี้ให้เป็นวัด โดยตั้งชื่อว่า “วัดเชตวัน (ป่าแดด)” สื่อถึงฤดูแล้งที่ท้องฟ้าปราศจากเมฆหมอก เห็นแสงแดดเจิดจ้า

ภายในวัดมีพระพุทธไสยาสน์ หรือ “พระนอน” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2491 นับเป็นจุดศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านมักมาเคารพสักการะ นอกจากนี้ วัดเชตวันยังได้รับคัดเลือกให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ชุมชนแห่งแรกของเชียงราย และมีการตั้งชมรมตีกลองปู่จาเพื่ออนุรักษ์ประเพณีการตีกลองอีกด้วย นักท่องเที่ยวสามารถเข้าชมกลองปู่จาและสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดได้อย่างใกล้ชิด

  • Location: บ้านหนองบัว ตำบลเวียง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
  • Google Map: https://maps.app.goo.gl/xDQsQDWCqjdxfe978
3.วัดกลางเวียงเชียงราย

วัดกลางเวียง เชียงราย จุดศูนย์กลางแห่งความศรัทธาในเวียงเชียงราย

หากคุณเป็นสายมูที่เดินทางมาถึงเชียงรายแล้ว วัดกลางเวียง ถือเป็นอีกจุดที่ไม่ควรพลาด วัดนี้เคยถูกเรียกว่า “วัดจันทน์โลก” หรือ “จั๋นต๊ะโลก” ก่อนจะเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดกลางเวียง” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นศูนย์กลางของเมืองเชียงรายและมี “สะดือเวียง” หรือเสาหลักเมืองอันศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่ภายในวัดด้วย

สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1975 วัดนี้ได้รับการเคารพบูชาเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวบ้านในยุคแรกๆ ชื่อเดิมมาจากต้นจันทน์แดงใหญ่ที่เคยขึ้นอยู่ในบริเวณวัด ก่อนจะโค่นลงตามกาลเวลา เมื่อครั้งสร้างเมืองเชียงรายครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2417 ชาวเมืองได้รังวัดจากทั้ง 4 มุมเมือง และพบว่าวัดนี้อยู่กลางใจเมืองพอดี จึงได้ตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดกลางเวียง”

จุดเด่นของวัดนี้คือเสาหลักเมืองเชียงรายที่ตั้งอยู่ภายในมณฑปทรงฟักทองยอดแหลม ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 รอบพระชนมายุในปี พ.ศ. 2535 บริเวณรอบมณฑปมีรูปปั้นท้าวจตุโลกบาลทำหน้าที่ปกป้องสะดือเวียง สร้างความศักดิ์สิทธิ์และงดงามให้กับพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีเจดีย์และพระอุโบสถในศิลปะล้านนาประยุกต์ที่งดงามสะดุดตา ควรค่าแก่การเยี่ยมชม

4.วัดพระสิงห์ เชียงราย พระอารามหลวง

วัดพระสิงห์ เชียงราย พระอารามหลวง

วัดพระสิงห์ เชียงราย จุดศูนย์กลางแห่งความศรัทธาและศิลปะล้านนา

วัดพระสิงห์ เชียงราย หนึ่งในแลนด์มาร์กสำคัญของเมืองล้านนาและจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาดสำหรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ วัดพระสิงห์เป็นพระอารามหลวงที่มีประวัติยาวนานและความสำคัญทางศิลปะและวัฒนธรรมของจังหวัดเชียงราย

ประวัติความเป็นมา วัดพระสิงห์สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ โดยสันนิษฐานว่าก่อสร้างในราวปี พุทธศักราช 1928 ระหว่างปี พุทธศักราช 1888 ถึง 1943 คำว่า “พระสิงห์” หมายถึงวัดที่เคยเป็นที่ประดิษฐานพระสิงห์ หรือ พระพุทธสิหิงค์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ชาวไทยให้ความเคารพ

พระพุทธรูปสำคัญ ภายในพระอุโบสถของวัดพระสิงห์ มีพระพุทธสิหิงค์สององค์ ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์หรือพระสิงห์เชียงแสน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปชนิดสำริดปิดทอง ขนาดใหญ่ หน้าตักกว้าง 204 เซนติเมตร สูงทั้งฐาน 284 เซนติเมตร ถือเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงราย

สถาปัตยกรรมและการบูรณะ วัดพระสิงห์มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทยสมัยเชียงแสน โครงสร้างเดิมเป็นไม้เนื้อแข็ง และได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในปี พุทธศักราช 2504 และปี พุทธศักราช 2533 บานประตูหลวงที่ประดับด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างประณีต วิหารและพระเจดีย์ที่ตกแต่งด้วยทองแผ่นทองแดงเพิ่มความงดงามให้กับวัด

เรื่องเล่าและตำนาน ตามตำนาน เจ้ามหาพรหม พระอนุชาของพระเจ้ากือนา ได้อัญเชิญพระพุทธสิหิงค์มาจากเมืองกำแพงเพชรเพื่อหล่อจำลองและประดิษฐานไว้ที่วัดพระสิงห์ เชื่อกันว่าพระพุทธสิหิงค์องค์จริงถูกยืมไปประดิษฐานที่เชียงรายเพื่อเป็นแบบหล่อขึ้นใหม่

กิจกรรมและประเพณี วัดพระสิงห์เป็นที่จัดงานประเพณีและกิจกรรมทางศาสนาต่าง ๆ ตลอดทั้งปี รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมและการแข่งขันตีกลองปู่จา ซึ่งเป็นการสืบสานประเพณีโบราณของล้านนา

จุดน่าสนใจภายในวัด

  • พระพุทธสิหิงค์คู่เมือง: พระพุทธรูปปฏิมากรรมที่งดงามและมีขนาดใหญ่
  • บานประตูหลวง: ประดับด้วยไม้แกะสลักจิตกรรมอย่างละเอียดและวิจิตรบรรจง
  • พระเจดีย์เก่าแก่: สถาปัตยกรรมแบบล้านนาไทย มีพระพุทธรูปทองคำและเงินประดิษฐานอยู่ภายใน
  • รอยพระพุทธบาทจำลอง: สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าเม็งรายมหาราช

การเยี่ยมชมวัดพระสิงห์ วัดพระสิงห์เปิดให้เข้าชมทุกวัน เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเสริมสิริมงคลหรือสนใจศึกษาประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนา นักท่องเที่ยวสามารถเดินชมพระพุทธรูป ศาลาการเปรียญ และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ภายในวัดได้อย่างใกล้ชิด

แวะมาทำบุญและเสริมสิริมงคลที่วัดพระสิงห์ ไม่ว่าคุณจะมาเพื่อทำบุญหรือเพื่อศึกษาความงดงามของสถาปัตยกรรมล้านนา วัดพระสิงห์เชียงรายเป็นสถานที่ที่ตอบโจทย์ทุกความต้องการของนักท่องเที่ยว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้คุณได้สัมผัสกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งของเชียงราย

 

  • Location: ถนนท่าหลวง เมืองเชียงราย, เชียงราย
  • Google Map: https://g.co/kgs/HVuKmg3
5.วัดมิ่งเมืองเชียงราย

วัดมิ่งเมือง เชียงราย วัดเก่าแก่และศูนย์รวมความศรัทธาของชาวไทยใหญ่

เชียงราย – เข้าสู่ช่วงครึ่งทางของทริปไหว้พระ 9 วัด เชียงราย คราวนี้มาถึง “วัดมิ่งเมือง” หนึ่งในวัดสำคัญของเมืองเชียงราย ซึ่งตั้งอยู่บนถนนไตรรัตน์ เป็นวัดเก่าแก่ที่ชาวไทยใหญ่เรียกว่า “วัดเงี้ยว” หรือ “วัดช้างมูบ” และยังถือว่าเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมไทยใหญ่และล้านนาอย่างโดดเด่น

ประวัติความเป็นมา วัดมิ่งเมืองก่อตั้งขึ้นโดยเจ้านางตะละแม่ศรี พระมเหสีของพ่อขุนเม็งรายมหาราช ธิดาของกษัตริย์จากหงสาวดี จึงทำให้วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และเป็นจุดศูนย์รวมความศรัทธาของชุมชนชาวไทยใหญ่ ภายในวัดมีพระธาตุมิ่งเมือง เจดีย์ศิลปะล้านนาประดับฉัตรทองที่ได้รับการบูรณปฏิสังขรณ์อย่างงดงามและเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้มอบเป็นพระราชทานให้กับวัด

สถาปัตยกรรมและสถานที่สำคัญภายในวัด วัดมิ่งเมืองเป็นที่ตั้งของพระวิหารไม้ลายคำ ซึ่งสะท้อนศิลปะผสมผสานระหว่างไทยใหญ่และล้านนา ภายในพระวิหารประดิษฐานพระศรีมิ่งเมือง พระประธานปูนปั้นลงรักปิดทอง ศิลปะแบบเชียงแสนสิงห์ 1 อายุกว่า 400 ปี ด้านหน้าพระวิหารยังมีบ่อน้ำโบราณชื่อ “บ่อน้ำช้างมูบ” พร้อมซุ้มโขงช้างตกแต่งด้วยประติมากรรมที่หายาก

เสน่ห์ของวัดมิ่งเมือง วัดมิ่งเมืองยังคงมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ รวมถึง “ประตูขัวดำ” หรือประตูเมืองเก่า ซึ่งผู้คนเชื่อว่าบ่อน้ำที่นี่เป็นแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ผู้ที่ดื่มและล้างหน้ามีสิริมงคลก่อนไปท่องเที่ยวหรือเดินทางต่อ นอกจากนี้ หากต้องการเติมพลังแนะนำให้ลองชิม “ก๋วยจั๊บน้ำข้น” ร้านเด็ดหลังวัดที่ขึ้นชื่อในรสชาติ 

วัดมิ่งเมือง จุดแวะที่คุณไม่ควรพลาดในทริปเชียงราย ด้วยบรรยากาศของวัดที่เต็มไปด้วยศิลปะล้านนาและความศรัทธาโบราณ วัดมิ่งเมืองเชียงรายจะทำให้คุณรู้สึกสงบและเสริมสิริมงคลให้กับการเดินทาง

6. วัดพระแก้ว เชียงราย

วัดพระแก้ว เชียงราย จุดหมายสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาและประวัติศาสตร์

หลังเติมพลังเสร็จ เราขอพาเข้าสู่ครึ่งหลังของทริปไหว้พระ 9 วัดในเชียงราย โดยมีจุดหมายที่ “วัดพระแก้ว” วัดอารามหลวงชั้นตรีที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมล้านนา วัดนี้เป็นสถานที่ค้นพบพระแก้วมรกตอันศักดิ์สิทธิ์ ที่ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพฯ

ประวัติความเป็นมาและการค้นพบพระแก้วมรกต วัดพระแก้วแต่เดิมชื่อว่า “วัดป่าเยียะ” ภายในบริเวณวัดมีไม้เยียะขึ้นอยู่มากมาย แต่ในปี พ.ศ. 1977 ได้เกิดเหตุการณ์เจดีย์ของวัดถล่มลงมา เผยให้เห็นพระพุทธรูปปูนปั้นที่กะเทาะออกจนเห็นเนื้อมรกตภายใน ทำให้ผู้คนขนานนามวัดนี้ใหม่ว่า “วัดพระแก้ว” นับเป็นสถานที่ประดิษฐานพระแก้วมรกต ก่อนจะย้ายไปกรุงเทพฯ ในปัจจุบัน

สถานที่สำคัญภายในวัด

  • หอพระหยก: อาคารทรงล้านนาที่ประดิษฐาน “พระหยกเชียงราย” ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ครบ 90 พรรษา
  • พระอุโบสถทรงเชียงแสน: พระวิหารที่มีลักษณะหลังคาเตี้ยและลาดต่ำ เป็นที่ประดิษฐานของพระเจ้าล้านทอง พระพุทธรูปสำริดปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการยกย่องในความงดงามตามศิลปะแบบล้านนา
  • โฮงหลวงแสงแก้ว: พิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงพระพุทธรูปสำคัญของวัด รวมถึงจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

วัดพระแก้วเชียงรายแห่งนี้เป็นมากกว่าสถานที่ปฏิบัติธรรม เพราะเป็นทั้งจุดท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ล้านนา ใครที่มาเชียงรายไม่ควรพลาดแวะมาสักการะที่นี่สักครั้ง

มาทำบุญและเยี่ยมชมความงามแห่งล้านนาได้ที่วัดพระแก้ว เชียงราย

7.วัดดอยงำเมือง

วัดดอยงำเมือง เชียงราย จุดหมายสายมู สร้างมิตรภาพและโชคลาภ

วัดดอยงำเมือง หรือวัดงำเมือง เป็นอีกหนึ่งจุดหมายที่ผู้คนสายมูไม่ควรพลาด เพราะเชื่อกันว่าใครที่มาไหว้พระที่นี่จะได้เสริมมิตรภาพและโชคลาภอย่างไม่ขาดสาย วัดแห่งนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเชียงราย ตั้งอยู่บนดอยงามเมืองและเป็นสถานที่ประดิษฐานของกู่พญามังรายที่สร้างโดยพญาไชยสงคราม โอรสของพญามังรายมหาราช

วัดดอยงำเมืองมีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ที่งดงาม โดยเฉพาะพระวิหารที่มีราวบันไดเป็นรูปมกรคายนาคและประดับตกแต่งด้วยลายคำทองอย่างละเอียด อีกทั้งภายในยังมีพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปะล้านนา ซึ่งแสดงถึงความสง่างามและศรัทธาในพุทธศาสนา

วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ด้านหลังวัดพระแก้วเชียงราย โดยสามารถเดินทางผ่านถนนงำเมืองและเข้าไปได้ง่าย ผู้ที่เดินทางมาสามารถขับรถขึ้นเนินเล็กๆ ไปยังวัดได้สะดวก

หากคุณกำลังมองหาสถานที่เสริมสิริมงคลและบรรยากาศสงบเงียบในเชียงราย วัดดอยงำเมืองเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ควรแวะเยือน

  • Location: ถนนอาจอำนวย บ้านฮ่อมดอย (ชุมชนราชเดชดำรง) หมู่ที่1 ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย
  • Google Map: https://g.co/kgs/fErJ2Lh

8.วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง (หรือวัดพระธาตุดอยตอง ตามสำเนียงคนเชียงราย)

วัดพระธาตุดอยจอมทอง วัดเก่าแก่เชียงราย คู่ประวัติศาสตร์เมืองล้านนา

วัดพระธาตุดอยจอมทอง หรือวัดพระธาตุดอยทอง เป็นวัดสำคัญในเชียงรายที่สายมูและนักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ควรพลาด วัดนี้มีความเก่าแก่และเป็นที่นับถือในฐานะวัดที่คู่กับการสร้างเมืองเชียงราย ตามตำนานเล่าว่า วัดพระธาตุดอยจอมทองถูกสร้างขึ้นก่อนที่พ่อขุนเม็งรายจะทรงสร้างเมืองเชียงราย โดยภายในวัดมีพระธาตุจอมทองที่เป็นเจดีย์ตามศิลปะแบบล้านนา-พุกาม หุ้มด้วยทองคำอันงดงามและมีชื่อมงคล

ย้อนกลับไปในอดีต เมื่อพระพุทธศาสนามีอายุได้ประมาณ 936 ปี พระเถระเจ้ารูปหนึ่งนามว่าพระพุทะโฆษา ได้นำพระบรมสารีริกธาตุจำนวน 16 องค์มาถวายแก่พระเจ้าพังคราช เจ้าเมืองโยนกนาคพันธุ์ในขณะนั้น พระองค์ได้นำส่วนหนึ่งบรรจุลงในมหาสถูปบนดอยทองและตั้งชื่อว่าพระธาตุดอยจอมทอง ส่วนอีกส่วนนำไปประดิษฐานที่ดอยน้อยหรือวัดพระธาตุจอมกิตติในปัจจุบัน

นอกจากนี้ วัดพระธาตุดอยจอมทองยังมีเสาสะดือเมืองเชียงราย ที่สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งการรำลึกถึงพ่อขุนเม็งรายและในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเสานี้ถือเป็นศูนย์กลางจักรวาลตามคติความเชื่อของชาวล้านนา มีการแกะสลักจากหินโดยนายสิงห์คำ สมเครือ ช่างฝีมือชาวพะเยา ปัจจุบันเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งของเชียงรายที่นักท่องเที่ยวแวะมาเคารพสักการะ

หากมีโอกาสเยือนเชียงราย อย่าลืมแวะสักการะวัดพระธาตุดอยจอมทองและเสาสะดือเมืองเพื่อความเป็นสิริมงคลและเพื่อสัมผัสบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์ของเมืองล้านนา

  • Location: ถนนอาจอำนวย ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
  • Google Map: https://goo.gl/maps/1XaMew7HwEfRtd3H6

9.วัดเจ็ดยอด เชียงราย เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี

วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวงเชียงราย ความงดงามแห่งเมืองล้านนา

ปิดท้ายทริปไหว้พระในเชียงรายด้วยวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวงชั้นตรี ที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย วัดเจ็ดยอดเป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ล้านนา ถึงแม้จะไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างขึ้นเมื่อใด แต่มีการบูรณะวัดครั้งสำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ในปี พ.ศ. 2386 โดยพระครูบาคันธะคนฺธวํโส ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสคนแรกของวัด ท่านได้เชิญชวนชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธามาร่วมกันพัฒนาวัด จนพบซากวัดเก่าที่มีพระธาตุเจ็ดองค์ตั้งเรียงกันทั้งใหญ่และเล็ก จึงได้บูรณะใหม่ตามแบบวัดเจ็ดยอดในเมืองเชียงใหม่

พระพุทธรูปประธานในอุโบสถของวัดเจ็ดยอดเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยแบบล้านนา ก่ออิฐถือปูนและปิดทองทั้งองค์ ภายในอุโบสถเงียบสงบ เหมาะแก่การเจริญสติและสมาธิ ฝ้าเพดานด้านหน้าพระอุโบสถประดับด้วยภาพเขียนสีที่งดงามมาก

วัดเจ็ดยอดมีชื่อเสียงจากเหตุการณ์ฟ้าผ่าที่องค์พระธาตุเจ็ดยอดในวันที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2565 ซึ่งทำให้ผิวคอนกรีตด้านนอกแตกกะเทาะออกจนเห็นอิฐด้านใน แต่โครงสร้างหลักไม่ได้รับความเสียหาย และยังคงเป็นจุดสำคัญที่ผู้ศรัทธาแวะเวียนมาทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคลอยู่เสมอ

การเดินทางมาวัดเจ็ดยอด
จากแยกหอนาฬิกาเชียงราย ขับรถตามถนนเจ็ดยอดประมาณ 500 เมตร วัดเจ็ดยอดจะอยู่ทางขวามือ

วัดเจ็ดยอดเป็นหนึ่งในพระอารามหลวงที่แฝงด้วยประวัติศาสตร์และศิลปะล้านนาโบราณ ใครมาเชียงรายแล้วไม่ควรพลาดที่จะเยี่ยมชม

 

  • Location: ตำบลเวียง อำเภอเชียงราย จังหวัดเชียงราย
  • Google Map: https://g.co/kgs/PDdpdYA

ทริปไหว้พระ 9 วัดดังในเชียงราย ไหว้ครบได้ในวันเดียว!

และนี่คือทริปไหว้พระ 9 วัดดังในตัวเมืองเชียงรายที่เรานำมาฝากกันค่ะ รับรองว่าเดินทางสะดวก ไม่ว่าจะเป็นสายมูหรือสายบุญก็สามารถไหว้ครบทุกวัดได้ภายในวันเดียว ใครที่อยู่ต่างจังหวัดและอยากตามรอยทริปดี ๆ แบบนี้ ก็จัดกระเป๋าแล้วมุ่งหน้าเชียงรายกันได้เลย บอกเลยว่าทั้งอิ่มบุญและยังได้สัมผัสความงดงามของวัดเก่าแก่ที่มีตำนานยาวนานอีกด้วย!

คอลัมน์โดย : มนรัตน์ ก.บัวเกษร

เครดิตภาพ : กีรติ ชุติชัย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เชียงราย ประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่วัดพระแก้ว พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนกระทรวง ทั้ง 20 กระทรวง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวเชียงรายเข้าร่วมพิธี ซึ่งจัดพร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด

 

โดยในพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์มีพิธีการขั้นตอนดังนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อาราธนาศีล จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เชิญใบพลู 7 ใบ ถวายประธานสงฆ์เจิมใบพลู และถวายแด่พระสงฆ์เถราจารย์ มีพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาดับเทียนชัย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ประโคมฆ้องชัย ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จากนั้นประธานฝ่ายสงฆ์พรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ขันสาคร และมอบขันสาครให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แล้วกล่าวคาถาตักน้ำ
 
 
ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่เปิดห่อผ้าขันสาคร เปิดฝาขันสาคร เปิดฝาคนโท แล้วส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อตักน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากขันสาครใส่จนถึงคอคนโทตามกำหนด หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และข้าราชการประเคนภัตตาหาร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 10 รูป ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกรวดน้ำรับพรเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในช่วงเช้า และเวลา 12.00 น. เป็นพิธีบายศรีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บัณฑิตประจำจุดโต๊ะบายศรี และเบิกแว่นเวียนเทียน และส่งแว่นเทียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อวักแว่นเทียนเข้าหาตัว 3 ครั้ง แล้วใช้มือขวาโบกควันออกไปยังคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นส่งต่อให้คนที่อยู่ทางซ้ายมือ เวียนไปจนครบ 3 รอบ เมื่อครบแล้วคนสุดท้ายจึงส่งให้บัณฑิตผู้ทำหน้าที่เบิกแว่นเทียนแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อันเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ลงจากแท่นพิธีเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยผู้เข้าร่วมพิธีตั้งแถวรอส่งคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงราย จะได้เชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ไปเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย ต่อไป
 
 
สำหรับพิธีในส่วนกลางจะมีการจัดมหรสพสมโภช ในระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง ก่อนจะเชิญคนโทน้ำพุทธมนต์มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 จากนั้นจะมีการเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ จากวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในช่วงเช้าของวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

พิธีเวียนเทียนเนื่องในเทศกาล วันมาฆบูชา พุทธศักราช 2567

 

เมื่อวันเสาร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 18.00 น. ณ วัดพระแก้ว พระอารามหลวง ตำบลเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย พระครูสุธีสุตสุนทร ดร. เจ้าอาวาสวัดพระแก้ว พระอารามหลวง เป็นประธานในพิธีเวียนเทียน เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชา พุทธศักราช 2567

 

จัดโดย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ คณะสงฆ์วัดพระแก้ว พระอารามหลวง เพื่อส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้น้อมระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย การมีส่วนร่วมกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติศาสนา บำเพ็ญบุญกุศล เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปใช้ในชีวิตประจำวัน ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง สังคม และประเทศชาติ ซึ่งมีพระสงฆ์ สามเณร และพุทธศาสนิกชนเข้าร่วมกิจกรรม รวมจำนวน 800 รูป/คน                       

     

 

ในโอกาสมงคลนี้ นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางพรทิวา ขันธมาลา ผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์และเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม พร้อมข้าราชการและบุคลากรสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้ามาร่วมกิจกรรมฯ

 

 

ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง โอวาทปาติโมกข์แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่าง ๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า “ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์” ทั้งนี้ในวันมาฆบูชาได้เกิดเหตุอัศจรรย์ขึ้นพร้อม ๆ กันถึง 4 ประการ อันได้แก่

 

  1. วันนั้นตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งพระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์
  2. มีพระสงฆ์จำนวน 1,250 รูป มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ณ วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เพื่อสักการะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
  3. พระสงฆ์ที่มาประชุมทั้งหมดล้วนแต่เป็นพระอรหันต์ ผู้ได้อภิญญา 6
  4. พระสงฆ์ทั้งหมดได้รับการอุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธเจ้า หรือ “เอหิภิกขุอุปสัมปทา”

     ดังนัเน เพราะเกิดเหตุอัศจรรย์ 4 ประการข้างต้น ทำให้วันมาฆบูชา เรียกอีกชื่อหนึ่งได้ว่า “วันจาตุรงคสันนิบาต” หมายความว่า “การประชุมด้วยองค์ 4” นั่นเองทั้งนี้วันมาฆบูชาถือว่าเป็นวันพระธรรม ขณะที่วันวิสาขบูชาถือว่าเป็นวันพระพุทธ ส่วนวันอาสาฬหบูชา เป็นวันพระสงฆ์

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : 

พรทิวา ขันธมาลา, สุพจน์ ทนทาน : รายงาน 

สานุพงศ์ สันทราย : ภาพ

สุพจน์ ทนทาน อภิชาต กันธิยะเขียว : บรรณาธิการข่าว

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News