Categories
SOCIETY & POLITICS

‘วงปล่อยแก่’ สู้ศึกมหกรรมขับร้อง ประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงาน ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ตัวเลขกลุ่มผู้สูงอายุในปัจจุบันขณะนี้มีมากกว่า 13.64 ล้านคน และในอีก 16 ปีข้างหน้าคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว กลุ่มคนเหล่านี้จะกลายเป็นคนไม่มีงานทำ ไม่มีรายได้ มีแต่รายจ่าย และสุดท้ายคือไม่มีคนสนใจเหลียวแล หากมีอายุยืนจากการดูแลสุขภาพดีกินดีมีโรงพยาบาลดีหมอดีการดูแลรักษาร่างกายดี คนแก่เหล่านี้จะมีอายุยืนยาวไปถึง 90 ปี จึงเกิดคำถามที่ว่าคนแก่ 20 ล้านคนนี้จะไปทำอะไร หรือจะกลายเป็นทรัพยากรที่ศูนย์เปล่าของสังคมไทย

 

รองศาสตราจารย์ ดร.สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข และผู้อำนวยการวงปล่อยแก่ เปิดเผยว่า ด้วยเห็นถึงความสำคัญของกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ จึงร่วมกันผลักดันกิจกรรมที่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้การสนับสนุนทุนในโครงการดนตรีพลังบวกปล่อยแก่ ซึ่งเป็นวงขับร้องประสานเสียง และเริ่มต้นจากวงปล่อยแก่บ้านคา จ.ราชบุรี ภายในหลังมีการขยายโครงการโดยการสนับสนุนทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ในการวิจัยโครงการ “วงปล่อยแก่ ภาคส่งเสริมต่อยอดสู่วัยเกษียณอย่างมีพลัง” ซึ่งเน้นการทำงานวิจัย การประเมินเรื่องความมีชีวิตชีวาของผู้สูงอายุและการทำ Soft power กิจกรรมนอกห้องเรียนและการรวมตัวกันทำนวัตกรรมเกี่ยวกับเพลง เนื่องจากเล็งเห็นว่าการเรียนดนตรีในห้องเรียนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีกิจกรรมนอกห้องเรียน และมีเวทีแสดงผลงานอย่างเป็นทางการ ทำให้โครงการปล่อยแก่ได้ขยับขยายพื้นที่ขึ้นเรื่อย ๆ จวบจนปัจจุบัน พ.ศ.2567 มีทั้งหมดถึง 13 วง 12 จังหวัด จากวงปล่อยแก่บ้านคา เกาะลอย เดินหน้าไปที่ จ.ยะลา จ.ลำปาง จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.อุดรธานี จ.บุรีรัมย์ จ.นครสวรรค์ จ.ภูเก็ต จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครราชสีมา รวมถึงตัวแทนวงปล่อยแก่กรุงเทพมหานคร จากชมรมสายใจ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ซึ่งมีสมาชิกกว่า 25 คน นับเป็นต้นแบบของการทำวงปล่อยแก่ในรูปแบบองค์กร และเป็นการเตรียมความพร้อมของผู้ที่จะเกษียณอายุและนำผู้ที่เกษียณอายุไปแล้วกลับเข้าสู่องค์กรในบทบาทใหม่อีกครั้ง

ต้องยอมรับว่าไม่คาดคิดว่าวงปล่อยแก่จะมาได้ไกลถึงขนาดนี้ มาจากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งหมด เพราะแต่ละหน่วยงงานเป็นฟันเฟืองที่จะทำให้การขับเคลื่อนโครงการประสบผลสำเร็จและเป็นรูปธรรมมากขึ้น เนื่องจากการทำงานกับวงปล่อยแก่ทั้ง 13 จังหวัด ต้องใช้ทุนสนับสนุนเยอะ รวมกับการใช้องค์ความรู้ด้านดนตรี  เนื่องจากเป็นองค์ประกอบทุกส่วนคือส่วนสำคัญที่จำเป็น อาทิเช่น การที่คุณครูไปสอนในแต่ละพื้นที่ทุกสัปดาห์ การเดินทาง อาหาร การติดตามผล การกระตุ้นให้กิจกรรมดำเนินไปถึงเป้าหมาย ฯลฯ เพื่อให้โครงการสัมฤทธิ์ผล และเมื่อการดำเนินโครงการมาถึงวันนี้ต้องยอมรับว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ที่เคยถูกมองว่าไร้ค่าในสังคม เมื่อได้มาเข้าร่วมในวงปล่อยแก่ กลับพบว่า “วงปล่อยแก่” 

มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น มีความสุข มีพลังในการดำเนินชีวิต เห็นคุณค่าของตนเองมากขึ้น และทำให้เกิดผลกระทบ (Impact) ต่อสังคมไทยอย่างมาก สามารถขึ้นขับร้องเพลงประสานเสียงบนเวทีต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และมีแนวโน้มที่วงปล่อยแก่จะขยายพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ มากขึ้น ซึ่งแท้ที่จริงแล้วภารกิจเหล่านี้ควรเป็นภารกิจของหน่วยงานหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กลุ่มผู้ดูแล กรุงเทพมหานคร ผู้ดูแลเทศบาล อบจ. อบต. จริง ๆ เป็นหน้าที่ของพวกเขาโดยตรง แต่เราในนามของมูลนิธิฯ และภาคีเครือข่าย เราเป็นอาสาสมัครที่เข้ามาทำตรงนี้และทำสำเร็จด้วยพลังของพวกเราเอง

ในส่วนการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ยังเป็นผู้สนับสนุนการส่ง “วงปล่อยแก่” เข้าร่วมแข่งขันชิงชัยในครั้งนี้ด้วย โดยเป้าหมายของสมาชิกในวงคือการที่จะได้ขึ้นไปยืนบนเวทีของศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นเวทีอันทรงเกียรติและหากคว้ารางวัลมาได้ก็จะเป็นสิ่งที่จะจดจำไปตลอดชีวิตของพวกเขาครับ

ด้าน นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล กรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ดำเนินโครงการหลาย ๆ โครงการ เพื่อให้เกิดผลกระทบ (Impact) ในเชิงบวกกับสังคม ซึ่งหนึ่งในโครงการที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 4 ปี คือ โครงการดนตรีพลังบวก ที่ได้ดำเนินการร่วมกับมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ด้วยการสร้างวงดนตรีประสานเสียงสำหรับผู้สูงวัย ชื่อ “วงปล่อยแก่” เพื่อที่จะนำเสียงเพลงและดนตรีมาใช้เป็นสื่อในการสร้างความสุขทั้งกายและใจ รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้สูงอายุ อันส่งผลต่อการสร้างกำลังใจในการดูแลตนเองของผู้สูงอายุ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นในครอบครัวและในชุมชน นับเป็นการสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้น ทั้งต่อผู้สูงอายุ ตลอดจนสังคมและชุมชนโดยรวม การที่ผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนจากวงประสานเสียง “วงปล่อยแก่” จากทั่วประเทศ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมในการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทยในครั้งนี้ จึงนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ เป็นการแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุของไทยมีคุณภาพ มีความสามารถ มีสุขภาวะที่ดี มีพลังที่จะสร้างสรรค์สังคมที่มีคุณภาพ และยังมีส่วนในการสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนภารกิจโดยมีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิตเพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย มุ่งหวังที่จะสร้างสังคมที่เข้มแข็งจากฐานราก อันจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ซึ่งหนึ่งในเรื่องที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยเน้นการส่งเสริมคุณค่าของผู้สูงอายุเพื่อลดการพึ่งพิงให้สามารถดำรงชีวิตได้ โดยมีสุขภาพกายและใจที่ดี

ด้าน ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้ความสำคัญกับการศึกษาและวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามสภาวะประชากรสูงอายุ (Aging Population) โครงการ “วงปล่อยแก่” นับเป็นการนำองค์ความรู้ทางด้านจิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology) และดนตรีบำบัด (Music Therapy) มาประยุกต์ใช้ในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง และเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคม ผลการวิจัยเบื้องต้นพบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการมีระดับความสุขและความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าการมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคมและการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ในอนาคต วช. มีแผนที่จะขยายผลโครงการ “วงปล่อยแก่” ไปยังกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายมากขึ้น เช่น ผู้สูงอายุในชนบท ผู้สูงอายุที่มีความบกพร่องทางร่างกาย และผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียว นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมสำหรับผู้ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้จากโครงการไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัวและชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลการวิจัยจากโครงการนี้จะถูกนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยต่อไป และอาจต่อยอดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข รวมถึงหน่วยงานพื้นที่ที่ดูแลผู้สูงอายุในระดับพื้นที่ต่อไป 

อย่างไรก็ตามขอเชิญชวนกลุ่มผู้สูงอายุในประเทศไทยให้เข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น การร้องเพลงประสานเสียงในโครงการ “วงปล่อยแก่” เป็นกลยุทธ์สำคัญในการส่งเสริมสุขภาวะของผู้สูงอายุตามแนวคิดของการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขัน (Active Aging) ซึ่งสอดคล้องกับหลักฐานทางวิชาการที่ชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวมีส่วนช่วยในการรักษาสุขภาพจิตที่ดีและป้องกันโรคเรื้อรังในผู้สูงอายุ จึงขอเชิญชวนผู้สูงอายุทุกท่านมาร่วมสร้างเสียงเพลงแห่งความสุขไปด้วยกัน หรือผู้ที่สนใจสามารถมารับชมการขับร้องจากกลุ่มโมเดลทั้ง 13 จังหวัด ซึ่งกิจกรรมนี้ไม่เพียงแต่จะเป็นการดูแลสุขภาพที่ดี แต่ยังเป็นการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุอีกด้วย

ด้าน “พี่จิตร” นางวิจิตร ชมหมู่ จากวงปล่อยแก่เกาะลอย จ.ราชบุรี กล่าวรอยยิ้มว่า พี่เป็นชาวบ้านธรรมดาหน้าตาดำ ๆ เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หาเงินเลี้ยงลูกมาตลอดชีวิต ทำงานตั้งแต่ตี 4 เลิกเที่ยง หลังจากนั้นก็รับจ้างทั่วไป  ชีวิตในทุกวันคือการหมกมุ่นอยู่กับการหาเงินเลี้ยงลูก จนไม่รู้ว่าความสุขของเราอยู่ตรงไหน เมื่อลูกเรียนจบ ดูแลตัวเองได้เราก็เริ่มมีเวลาให้ตัวเอง และหลังจากได้เข้าร่วมโครงการปล่อยแก่ มันเหมือนตอบโจทย์คำว่าความสุขของเรา เราได้ออกมาพบปะเพื่อนฝูง ได้ร่วมกับขับร้องเพลง ทุกสัปดาห์จะมีคุณครูเข้าแนะนำ มาสอนเทคนิควิธีการร้องที่ถูกต้อง รู้สึกเพลิดเพลินและมีความสุขอย่างแท้จริง มันเหมือนยกภูเขาออกจากอก และใส่แม่น้ำใสไหลเย็นลงไปอยู่ในหัวใจ ทำให้หัวใจเราเบิกบาน จากคนที่ไม่เคยแต่งหน้าแต่งตัว เราก็เปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พอ เรามีความสุข ในการร้องเพลงจิตใจเรามันก็สบายขึ้น เราทำแล้วเราได้ความสุข และส่งต่อความสุขตรงนี้มาบอกกับทุกคนค่ะ

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้เข้ามาสนับสนุนโครงการวิจัย โดยช่วยให้สามารถพัฒนาเครื่องมือวัดผลกระทบของโครงการที่ครอบคลุมทั้งด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิต และสังคม โดยใช้แบบสอบถามและการสัมภาษณ์เชิงลึก ผลการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ พบว่า โครงการ “วงปล่อยแก่” มีส่วนช่วยลดระดับความเครียดและภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดการสร้างเครือข่ายทางสังคมที่เข้มแข็งขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการดูแลตนเองและการอยู่ร่วมกันในสังคมของผู้สูงอายุ

ด้านนางวารุณี สกุลรีอานธาราง จากวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต กล่าวว่า วงปล่อยแก่ของจังหวัดภูเก็ตเราอยู่ร่วมกันแบบพี่น้องที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เป็นการรวมตัวกันในนามวงปล่อยแก่ จ.ภูเก็ต และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในระดับจังหวัด หากมีงานของส่วนราชการ องค์กรเอกชน วงปล่อยแก่ภูเก็ตจะได้ไปขับร้องประสานเสียงได้เป็นส่วนหนึ่งของการแสดงในงานระดับจังหวัดเสมอ ถือเป็นการยกระดับการร้องเพลงของเราให้มีคุณภาพขึ้นค่ะ สมาชิกทุกคนมีทักษะการร้องเพลงที่ถูกต้อง อ่านโน้ตเป็น รู้จักการควบคุมลมหายใจ การใช้เสียงสูงเสียงต่ำ และที่สำคัญการเข้ามาอยู่ในวงปล่อยแก่ทำให้คนวัย 60 ปีอย่างพวกเรารู้สึกมีความสุข ได้มีเพื่อนมากขึ้น วันนี้ดีใจที่ผ่านการคัดเลือก (Audition)  และได้มาเข้าค่ายนี้ เพื่อที่จะปฏิบัติภารกิจการแข่งขันระดับนานาชาติ พวกเราจะทำให้เต็มที่และดีที่สุดค่ะ

ด้าน “พี่หน่า” หรือ นางบรรจง ศรีทองแท้ อดีตข้าราชการ เปิดเผยว่า กว่า ปีที่เกษียณอายุราชการ ในทุกวันที่ใช้ชีวิตตามปกติจะอยู่บ้านทำงานบ้านเล็กๆ น้อยๆ ให้ค่ำมืดไปวันๆ ไม่ได้มีแพชชั่นอะไร พอทราบว่ามีวงปล่อยแก่และเราสามารถเข้าร่วมได้ ก็ใจฟูเลย ใจจดใจจ่อที่จะมาฝึกซ้อมร้องเพลงกับคุณครู ไม่เคยขาดเลยสักครั้ง ทุกครั้งที่มาคือความสุข อิ่มใจ รู้สึกชอบมากๆ ได้มาเจอเพื่อนที่ชอบกิจกรรมเหมือนกัน พูดคุยภาษาเดียวกัน และยังได้รู้เทคนิคการขับร้องที่ถูกต้อง  รู้จักการอ่านโน้ต จริงๆ แค่นี้ก็พอแล้วค่ะสำหรับคนแก่ ได้ร้องเพลงได้มีความรู้สึกว่าดีใจที่มีโครงการสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ มันเหมือนเป็นการเติมเต็มความรู้สึกของคนแก่ที่อยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยก็ทำให้หัวใจที่กำลังแห้งเหี่ยว กลับมาใจฟูได้อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จากความร่วมแรงร่วมใจ ผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันระหว่างสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ครูผู้ฝึกสอน ผู้ประสานงานทุกจังหวัด และการควบคุมวงโดย “ครูโอม” นายเกื้อกูล เดชมี ผู้ควบคุมวงปล่อยแก่ประเทศไทย Let’s be young ทำให้ได้รับ “เหรียญเงิน” จากการประกวดมหกรรมขับร้องประสานเสียงนานาชาติแห่งประเทศไทย 2024 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 3-6 กันยายน 2567 ณ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย มาครองได้สำเร็จ ขอบคุณทุกพลังความร่วมมือที่ทำให้งานนี้ประสบความสำเร็จด้วยดีครับ รศ.ดร.สุกรี กล่าวตอนท้าย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมพันธมิตรเสริมภูมิคุ้มกันชีวิตตั้งแต่ปฐมวัย

 
เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2567 ที่หอประชุมใหญ่มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร ส่งเสริมการพัฒนาทักษะสมอง เสริมภูมิคุ้มกัน เตรียมความพร้อมเด็กปฐมวัย เพื่อการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีจัดการชีวิต โดยได้รับความร่วมมือจากจังหวัดเชียงราย ในการให้ความรู้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุขและร่วมกันพัฒนาศักยภาพครูปฐมวัยอย่างต่อเนื่องจนเข้าสู่ปีที่ 5 พร้อมที่จะสร้างเชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ โดยกว่า 50 องค์กรในจังหวัดเชียงราย ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนและสร้างความยั่งยืน โดยมีคณะกรรมการระดับจังหวัดช่วยดำเนินการสานต่อการขับเคลื่อนงาน

 

นายรองรักษ์ พนาปวุฒิกุล รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานกฎหมาย และดูแลฝ่ายบริหารกิจกรรมเพื่อสังคม
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมการและเหรัญญิก มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่ามูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ดำเนิน “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน” ที่จังหวัดเชียงราย                 มาตั้งแต่ปี 2563 และทำต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้ ซึ่งนับเป็นปีที่ 5 โดยนำแนวคิดการพัฒนาทักษะสมอง (Executive Functions: EF) มาถ่ายทอดให้แก่บุคลากรเครือข่ายสาธารณสุข ครูปฐมวัย และผู้ปกครอง โดยได้ทยอยทำมาอย่างต่อเนื่องจนครบทุกอำเภอของจังหวัดเชียงราย โดยมีอำเภอพญาเม็งรายเป็นต้นแบบของความสำเร็จ

 

“จากการติดตามผลการดำเนินโครงการฯ พบว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงแนวทางในการดูแลเลี้ยงดูเด็ก ส่งผลให้เด็กปฐมวัยกว่าร้อยละ 70 มีระดับทักษะสมอง EF ในระดับดีถึงดีมาก โดยมีตัวอย่างความสำเร็จที่แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมของทั้งผู้ดูแลเด็ก และเด็กมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น เช่น เด็กเลิกติดโทรศัพท์มือถือ มีการเปลี่ยนพฤติกรรมจากเดิมที่ค่อนข้างก้าวร้าว ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ มาเป็นเด็กที่สนใจหนังสือนิทาน เล่นกับเพื่อนได้ และเข้าสังคมได้เป็นปกติ หลังจากที่คุณแม่ได้เข้าร่วมโครงการฯ นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างของเด็กนักเรียนที่สามารถปรับตัวให้รู้จักการรอคอย มีความอดทนอดกลั้น รู้จักยับยั้งชั่งใจ มีการแบ่งปัน เอื้อเฟื้อ หลังจากที่คุณครูได้เข้าร่วมโครงการฯ และเปลี่ยนแนวทางการดูแลเด็กนักเรียนตามแนวทาง EF โดยเชื่อมั่นว่า เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตขึ้นก็จะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและเป็นที่ต้องการของสังคม รวมทั้งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป”

 

“มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อมั่นว่าจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐไปถึงผู้ปฏิบัติงานที่มุ่งมั่นและแข็งขันในทุกภาคส่วน เชียงรายจะเป็นจังหวัดต้นแบบในการสร้างเด็กไทยที่มีคุณภาพ และองค์ความรู้ดังกล่าวจะเป็นต้นแบบอันทรงคุณค่า ทำให้จังหวัดเชียงรายเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งก่อให้เกิดการต่อยอดขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ในวงกว้างทั้งประเทศ อันจะช่วยให้เกิดผลกระทบเชิงบวกอย่างยั่งยืนได้”

 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่า จังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ติดต่อกับพรมแดนที่มีความเสี่ยงด้านยาเสพติด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจทำให้พ่อ-แม่ต้องจากบ้านไปทำงาน ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการที่ล่าช้า และมีความเสี่ยงต่อการถูกชักจูงไปในทางที่ผิด แต่หลังจากที่มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เข้ามาขยายผล “โครงการพัฒนาทักษะสมองเพื่อสุขภาวะเด็กและเยาวชน”  โดยใช้ต้นแบบ EF จากอำเภอพญาเม็งรายที่ได้

 

 

 

ขับเคลื่อน EF ในพื้นที่ จนส่งผลให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการดีขึ้น โดยมีค่า EF  สูงกว่าค่ามาตรฐานของประเทศ (norm) ถึง 20%  มาบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัยทั้งจังหวัดเชียงราย ทั้งหน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานการศึกษาปฐมวัย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และส่วนราชการในแต่ละอำเภอ ส่งผลให้เชียงรายเป็นจังหวัดต้นแบบด้านการพัฒนาทักษะสมองจังหวัดแรกของประเทศ

 

เด็กปฐมวัยของจังหวัดเชียงรายที่มีอายุระหว่าง 0-6 ปี มีจำนวน 57,853 คน คิดเป็นร้อย 46.3 ของเด็กและเยาวชน ทั้งหมดของจังหวัดเชียงราย ปัจจุบัน มีเด็กปฐมวัย ที่เข้าร่วมโครงการแล้วจำนวนกว่า 35,377 คน และมีบุคลากรด้านสาธารณสุข ครูปฐมวัย ผู้ปกครองและผู้นำชุมชนเข้าร่วมโครงการ 39,177 ราย และมีกลุ่มบุคลากรที่มีความรู้เรื่อง EF หรือ  EF Facilitator กว่า 270 คน ร่วมกันเผยแพร่ส่งต่อองค์ความรู้ดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่กว้างขึ้น นอกจากนี้ จังหวัดได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมทักษะสมอง Executive Functions (EF) จังหวัดเชียงราย เพื่อให้เกิดการสนับสนุนการดำเนินงานเชิงลึกและเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสร้างรากฐานที่เข้มแข็งและต่อเนื่อง

 

นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เปิดเผยว่า การพัฒนาทักษะสมอง EF เริ่มตั้งแต่ขวบปีแรก จนถึงประมาณ 25 ปี แต่ช่วงอายุ 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาที่ทักษะสมอง EF มีการพัฒนาเติบโตได้ดีที่สุด ปฐมวัยจึงเป็นการวางเสาเข็มของชีวิต เด็กที่ได้รับการพัฒนาทักษะสมอง หรือ Executive Functions: EF อย่างต่อเนื่อง จะสามารถสร้างภูมิคุ้มกันชีวิตที่ดี มีวินัยและความรับผิดชอบ พร้อมผลักดันพากเพียรพาตนเองไปสู่เป้าหมายของชีวิต มีงานวิจัยมากมายที่ยืนยันว่า หากเด็กตั้งแต่ปฐมวัยขาดทักษะ EF จะทำให้ไม่สามารถยับยั้งตนเอง หรืออดกลั้นต่อสิ่งเร้ารอบตัวเมื่อเข้าสู่วัยรุ่นได้ นำไปสู่การ “ติด” ต่างๆ ในอนาคต เช่น ติดเกม ติดเพื่อน ติดสุรา ติดบุหรี่และยาเสพติด หรือการตกอยู่ในภาวะจิตใจบกพร่อง เช่น ซึมเศร้า จิตเภท กำกับพฤติกรรมตนเองไม่ได้ ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย แต่หากเด็กมีทักษะ EF เขาจะมีความสามารถในการกำกับความคิด ความรู้สึกและพฤติกรรมของตนได้ดี นอกจากนี้ ทักษะสมอง EF เป็นฐานรากของการพัฒนาต่อยอดกระบวนการคิดและบุคลิกภาพที่ซับซ้อนขึ้น หรือที่เรียกว่าเป็น “การคิดขั้นสูง” อันจะนำไปสู่การมี “ทักษะศตวรรษที่ 21” ที่จำเป็นยิ่งต่อการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่

 

“ปัญหาเยาวชนไม่ว่า การกราดยิง ความก้าวร้าวรุนแรง ยาเสพติด แม่วัยใส โรคซึมเศร้า ฯลฯ ล้วนมีรากมาจากการเลี้ยงดูพัฒนาในช่วงปฐมวัยที่ไม่เหมาะสม ซึ่งสะสมมาจนปรากฏเป็นความเสียหายในช่วงวัยรุ่น ส่งผลต่ออนาคตที่ง่อนแง่นคลอนแคลน แต่หากเด็กได้รับการพัฒนาให้เห็นคุณค่าในตนเอง สามารถกำกับตนเองได้ คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และอยู่กับคนอื่นเป็นตั้งแต่ปฐมวัย โดยผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวในระบบนิเวศร่วมมือกันดูแลและให้โอกาสฝึกฝนอย่างจริงจัง ดังเช่นที่เกิดขึ้นแล้วในพื้นที่ส่งเสริม EF ต้นแบบจังหวัดเชียงราย โครงสร้างสมองของเด็กก็จะก่อรูป ฝังเป็นคุณลักษณะนิสัยที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโต เป็นคนคุณภาพของประเทศต่อไปในโลกที่แปรปรวน”

 

ในโอกาสที่จังหวัดเชียงรายได้พัฒนาจนเป็นจังหวัดต้นแบบของการพัฒนาทักษะสมอง EF ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด จึงได้เป็นประธานในการร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ของหน่วยงานด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเชียงราย กว่า 50 องค์กร เพื่อยืนยันการร่วมมือกัน ขับเคลื่อนเชียงราย จังหวัดต้นแบบบูรณาการส่งเสริม EF และผลักดันแผนปฏิบัติภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะสมอง EF เด็กปฐมวัยจังหวัดเชียงรายอย่างเป็นรูปธรรม

 

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนของประเทศ ต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต ของกลุ่มคนที่เป็นรากฐานของสังคม โดยมีแนวทางในการทำงานร่วมกับภาคีทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและภาคประชาสังคม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับคนไทย

 

ผู้สนใจติดตามรายละเอียดโครงการได้ที่ www.setfoundation.or.th

 

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ยึดมั่นใน “พลังความร่วมมือ เพื่อสังคมที่ดีกว่า (Partner for Better Society)”

 

SET…Make it Work for Everyone”

 

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลได้ที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร อรสิริ บุญแต้ม 0 2009 9487 / ณัฐยา เมืองแมน 0 2009 9488 / กนกวรรณ เข็มมาลัย 0 2009 9478

มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

นับตั้งแต่ปี 2549 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เริ่มก่อตั้งมูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจนปัจจุบัน มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้มุ่งมั่นขับเคลื่อนภารกิจที่มีเป้าหมายในการยกระดับและพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งสร้างความอยู่ดีมีสุขให้กับชีวิตคนไทย โดยทำงานร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนเพื่อสร้าง “นวัตกรรมทางสังคม” เพื่อให้พลังร่วมเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก และวางรากฐานสำคัญเพื่อการเดินหน้าไปสู่สังคมที่ดีขึ้น

 

สถาบัน RLG

สถาบันอาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) เป็นหน่วยงานวิชาการภายใต้กลุ่มบริษัทรักลูก (ก่อตั้งปี พ.ศ. 2525)  โดยมุ่งเป้าหมายร่วมพัฒนาสังคม ด้วยการสร้างและสื่อสารเผยแพร่องค์ความรู้ด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัวไปทั่วประเทศ

โดยตั้งแต่ปี 2557 สถาบันฯ ร่วมกับนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กปฐมวัย และภาคี Thailand EF Partnership จัดการความรู้และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับทักษะสมอง EF เพื่อรณรงค์สร้างภูมิคุ้มกันชีวิตและพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนตั้งแต่ปฐมวัย

 

ปี 2559 สถาบันฯ ได้เชื่อมประสานกับโรงพยาบาลพญาเม็งรายในการนำความรู้ EF พัฒนาอำเภอพญาเม็งรายให้เป็นพื้นที่บูรณาการ ที่ทุกฝ่ายทั้งสาธารณสุข การศึกษา ผู้นำชุมชน และพ่อแม่ผู้ปกครองร่วมมือกันดูและพัฒนาเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะสม  จนเกิดเป็นระบบนิเวศการพัฒนาที่มีเด็กเป็นศูนย์กลางแบบ “พญาเม็งรายโมเดล” และสามารถขยายผลต่อ ครอบคลุมครบ 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งขยาย “พญาเม็งรายโมเดล” ไปยังอำเภอต่างๆ ในหลายจังหวัด ทั่วทุกภาค นอกจากนี้  ยังได้ร่วมพัฒนาหลักสูตร “สมองและการเรียนรู้” กับคณาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง และสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ปัจจุบันมีนักศึกษาครูปฐมวัยจบการศึกษาและออกปฏิบัติงานในสถานพัฒนาเด็กปฐมวัยทั่วประเทศแล้ว

 

ปัจจุบันองค์ความรู้ EF เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งในวงการสาธารณสุข การศึกษาปฐมวัย และพ่อแม่ผู้ปกครองที่มีความตื่นตัวและต้องการพัฒนาคุณภาพของเด็กปฐมวัย

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News