Categories
WORLD PULSE

มกอช.เจรจาญี่ปุ่นขอยกเลิก การจำกัดสาย พันธุ์ส้มโอ-มะม่วงไทย

 

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.67 นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เป็นประธานฝ่ายไทย ในการเจรจาด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชและความปลอดภัยอาหาร ร่วมกับคณะผู้แทนไทย ประกอบด้วย กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมประมง กรมการข้าว และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนระดับสูงของญี่ปุ่นจากกระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง (MAFF) กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ (MHLW) สำนักงานกิจการผู้บริโภค (CAA) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ประจำประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น ประจำประเทศไทย ในการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจ ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ครั้งที่ 14

 

นายพิศาล กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการเจรจาขอให้ญี่ปุ่นยกเลิกการจำกัดสายพันธุ์ส้มโอของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายได้มีการหารือร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แจ้งยอมรับข้อมูลทางวิชาการและผลงานวิจัยของกรมวิชาการเกษตร และได้แจ้งยืนยันกรอบเวลาการดำเนินงานเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน ซึ่งฝ่ายญี่ปุ่นตกลงที่จะเร่งจัดทำเงื่อนไขการนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำเพื่อเสนอให้กรมวิชาการเกษตรพิจารณา พร้อมแจ้งว่าจะเร่งกระบวนการในลำดับถัดไปในการหาข้อสรุปร่วมกันต่อเงื่อนไขการส่งออกและเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายของฝ่ายญี่ปุ่นให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การประกาศอนุญาตนำเข้าส้มโอทุกสายพันธุ์จากประเทศไทยต่อไป
 
 
ในโอกาสนี้ ฝ่ายไทยยังใช้แนวทางเดียวกันในการเจรจาเพื่อขอส่งออกมะม่วงไปยังญี่ปุ่นโดยไม่จำกัดสายพันธุ์ จากเงื่อนไขเดิมที่ส่งออกได้เพียง 7 สายพันธุ์ ได้แก่ เขียวเสวย โชคอนันต์ หนังกลางวัน น้ำดอกไม้ พิมเสนแดง แรด และมหาชนการ โดยฝ่ายญี่ปุ่นยืนยันว่าจะเริ่มพิจารณาข้อมูลมะม่วงของไทยทันทีหลังจากที่พิจารณาเงื่อนไขของส้มโอเสร็จสิ้น นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือหารือกฎระเบียบการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของทั้งสองประเทศ และผลักดันการเปิดตลาดร่วมกัน อาทิ มะม่วงของไทย ส้มของญี่ปุ่น โดยฝ่ายญี่ปุ่นได้แสดงความขอบคุณฝ่ายไทยเช่นเดียวกันที่จะเร่งพิจารณาเงื่อนไขอนุญาตนำเข้าส้มสายพันธุ์ยูสุและคัมควอทของญี่ปุ่นเพิ่มเติมไปพร้อมกัน
 
 
ทั้งนี้ การประชุมคณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ยังครอบคลุมการหารือโครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกัน ซึ่งครั้งนี้ MAFF และ MHLW ได้ตกลงที่จะดำเนินความร่วมมือและประสานงานกับฝ่ายไทยต่อไปในทั้ง 5 โครงการที่ฝ่ายไทยเสนอ ได้แก่ มาตรการควบคุมการนำเข้าและการเรียกคืนสินค้าเกษตรและอาหาร การแปรรูปและเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์นม การวิจัยและควบคุมคุณภาพวัคซีนสำหรับสัตว์ และการควบคุมกำกับเทคโนโลยีชีวภาพอาหาร โดยจะนำไปสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของไทยและและผูกความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
 
 
ผลสัมฤทธิ์ของการเจรจาครั้งนี้ ถือเป็นการลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า ที่จะนำไปสู่การขยายการส่งออกส้มโอไทยไปสู่ญี่ปุ่น และสร้างโอกาสทางการค้าของผลไม้ไทยในตลาดต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนส้มโอของไทย โดย มกอช. และกรมวิชาการเกษตรพร้อมจะผนึกกำลัง ผลักดันและดำเนินงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับญี่ปุ่นในเรื่องนี้ ให้ประเทศไทยสามารถส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ไปยังญี่ปุ่นได้โดยเร็วที่สุด
“มกอช. มีความพร้อมที่จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานของไทยทุกภาคส่วน เพื่อเป็นทีมไทยในการเจรจาผลักดันให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยสามารถขยายการส่งออก มีความสามารถในการแข่งขัน และได้รับการยอมรับในคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล” เลขาธิการ มกอช. กล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
ECONOMY

ผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศ ​ รัฐบาลผลักดันความร่วมมือไทย – ญี่ปุ่น

 

วันนี้ 13  สิงหาคม  2566  นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลส่งเสริมการส่งออกผลไม้ไทยสู่ตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยได้หารือร่วมกับหน่วยงานญี่ปุ่นเพื่อผลักดันการส่งออกส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ พร้อมบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการ พัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ผ่านระบบการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร (Functional Foods) เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ความคืบหน้าดังกล่าวเป็นผลจากการประชุม คณะอนุกรรมการพิเศษร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยอาหาร ภายใต้กรอบ JTEPA ครั้งที่ 13 เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของญี่ปุ่น ได้แก่ กระทรวงเกษตร ป่าไม้ และประมง กระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ สำนักงานกิจการผู้บริโภค และกระทรวงการต่างประเทศ โดยฝ่ายไทยจะเปิดตลาดการส่งออกส้มโอพันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และส้มโอพันธุ์ทับทิมสยาม ขณะที่ฝ่ายญี่ปุ่นได้เตรียมอนุญาตนำเข้าส้มโอไทยทุกสายพันธุ์ จากเดิมที่อนุญาตให้นำเข้าเฉพาะส้มโอพันธุ์ทองดีจากไทย เมื่อปี 2555 โดยจะพิจารณายกเลิกมาตรการจำกัดสายพันธุ์ในการนำเข้าส้มโอของไทย และจะเร่งรัดจัดทำเงื่อนไขการส่งออกส้มโอทุกสายพันธุ์ของไทยไปยังญี่ปุ่นด้วยวิธีการอบไอน้ำ โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2567 

นอกจากนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นยังมีความเชื่อมั่นต่อระบบการกำกับดูแลการผลิตและบริหารจัดการการส่งออกส้มโอของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย โดย มกอช. จะร่วมมือกับองค์กรวิจัยด้านการเกษตรและอาหารแห่งประเทศญี่ปุ่น (National Agriculture and Food Research Organization: NARO) ซึ่งเป็นหน่วยงานวิจัยหลักด้านการเกษตรของญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบมาตรฐานการแสดงฉลากสารสำคัญที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพบนสินค้าเกษตร สำหรับสินค้าเกษตรสดและสินค้าเกษตรแปรรูปขั้นต้นของไทย พร้อมกับแลกเปลี่ยนการศึกษาวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีเกษตรและอาหาร สร้างเครือข่ายความร่วมมือกับทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการผลิต โดยไทยจะศึกษาต้นแบบจากญี่ปุ่นเพื่อขยายโอกาสการส่งออกให้กับสินค้าเกษตรเฉพาะถิ่น (Local ingredients) ด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันส้มโอไทยสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ไทยได้ส่งออกส้มโอชิปเมนท์แรก ไปจำหน่ายยังกรุงวอชิงตัน ดีซี สหรัฐอเมริกา โดยเป็นส้มโอฉายรังสี 4 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ทองดี พันธุ์ขาวใหญ่ พันธุ์ขาวน้ำผึ้ง และพันธุ์ขาวแตงกวา ขณะที่ตลาดญี่ปุ่นยังสามารถเพิ่มช่องทางการส่งออกได้อีกมาก เนื่องจากผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีกำลังซื้อสูงและมีประชากรกลุ่มผู้ดูแลรักษาสุขภาพและกลุ่มผู้สูงวัยจำนวนมาก โดยการแสดงฉลาก Functional Foods ที่แสดงถึงคุณค่าทางโภชนาการ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จะช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรไทย และสร้างความเชื่อมั่นต่อความปลอดภัยและคุณภาพให้กับกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายมากยิ่งขึ้น

“ความคืบหน้าดังกล่าวสะท้อนความมุ่งมั่นดำเนินการของรัฐบาลที่ส่งเสริมผลไม้ไทยที่มีศักยภาพสู่ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ ควบคุมคุณภาพการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการส่งออก โดยใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี และผ่านการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปิดโอกาสให้กับเกษตรกรและผู้ประกอบการของไทยได้มีช่องทางการค้าเพิ่มขึ้น เสริมสร้างให้เศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างมั่นคง” นางสาวรัชดาฯ กล่าว

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News