Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

“หมู่บ้านศีล 5” ที่วัดศรีบุญยืน อ.เชียงแสน แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567 พระเทพรัตนนายก ประธานคณะกรรมการประจำหนเหนือ พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนเหนือ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา “หมู่บ้านรักษาศีลห้า” ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ณ วัดศรีบุญยืน บ้านศรีบุญยืน หมู่ที่ 10 ตำบลศรีดอนมูล อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยมี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พระราชวชิรคณี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย พระราชสิริวชิโรดม เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ธ) ธรรมยุทธ และเจ้าอาวาสวัดศรีบุญยืน คณะสงฆ์ นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำ อปท.ตลอดจนพี่น้องประชาชน คณะศรัทธา เข้าร่วมพิธีจำนวนมาก


     จากนั้น พระเทพรัตนนายก ประธานคณะกรรมการประจำหนเหนือ พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้านรักษาศีล 5 ประจำหนเหนือ ได้เยี่ยมชมกิจกรรมต่างๆ ของทางหมู่บ้านและวัดที่ได้นำเสนอและจัดนิทรรศการมาแสดงจุดเด่นของหมู่บ้าน อาทิ รางวัลเกียรติคุณหมู่บ้าน โครงการชุมชนต้นแบบด้านการส่งเสริมคุณธรรมแห่งชาติ การบริหารกลุ่มออมทรัพย์ดีเด่น โครงการโคกหนองนาโมเดล ผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP ที่โดดเด่น เช่นเครื่องจักรสาน และอัตลักษณ์ วัฒนธรรม ประเพณี Soft Power ทางด้านอาหาร วัตามแบบฒนธรรมด้านอาหารของชุมชนบ้านศรีบุญยืน การแต่งกายผู้ชายส่วนใหญ่เสื้อแขนยาวสีเข้มๆ ที่เรียกว่า “ม่อฮ่อม” และผู้หญิง การแต่งกายส่วนใหญ่นิยมใส่ผ้าซิ้นทอลายขวาง ตามแบบพื้นบ้าน ภาษาที่ใช้ในชุมชนของบ้านศรีบุญยืน คือ “อู้กำเมือง” หรือภาษาเหนือ ส่วนที่เหลือ “อู้กำยอง” ที่เป็นส่วนน้อยเนื่องจากมีแต่ผู้ชาย เพาระเป็นคนเก่าแก่ที่มาจากลำพูน และอื่นๆ กิจกรรมอื่นๆ อีกมากมายที่นำมาจัดแสดงในครั้งนี้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

สทนช. ทำหนังสือด่วนประสานจีน ชะลอระบายน้ำเขื่อนลงแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 16.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบายน้ำอิงสู่น้ำโขง ณ สะพานบ้านเต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ติดตั้งเครื่องดันน้ำของโครงการชลประทานเชียงราย เพื่อดันน้ำจากแม่น้ำอิง ลงแม่น้ำโขง บริเวณปากอิง ต.ศรีดอนชัย ที่อยู่ห่างจากสะพานนี้ประมาณ 1 กม. โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย และนายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ และผู้นำชุมชน ต.ศรีดอนชัย และต.สถานให้การต้อนรับ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้น้ำเอ่อ แต่พยายามทำให้ลงแม่น้ำโขงเร็วที่สุดระยะทางจากพะเยากว่า 100 กม.เพื่อไม่ให้ประชาชนระหว่างทางเดือดร้อน ทั้งที่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำอิง ซึ่งได้รับความเสียหายกันมาก ผสมกับเราเจอน้ำป่า ร่องกดอากาศต่ำพาดผ่าน สังเกตว่าทำไมตกอยู่แต่ที่เชียงราย เป็นเวลาเดือนกว่า ยังไม่ผ่านไปเลย แต่ยังอยู่ที่เชียงรายอยู่

“วันนี้ฝนยังตกเรื่อย ๆ น้ำจากจังหวัดอื่นก็มาสะสม ไหลมารวมกันที่บ้าน พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ประสบกันทั่วหน้า ภาพรวมที่ติดริมน้ำอิง ตั้งแต่เทิง ลงมาพญาเม็งราย และขุนตาล เชียงของ เป็นปลายทางน้ำอิงลงน้ำโขง ที่สังเกตว่าเป็นลานีญา เห็นว่าตกสะสมจึงวันที่ 23 ส.ค. รวม 600 กว่ามิลลิเมตรแล้ว เทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2566 รวม 200 กว่ามิลลิเมตรเอง 3 เท่าของปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่ครบเดือน อยากเตือนพี่น้องประชาชน เป็นประเด็นปัญหาที่ป้องกันแก้ไขด้วย”ผวจ.เชียงราย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง 96 กม.ทำให้อนาคตยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีกหรือไม่ นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลดูแล ทราบว่ารัฐบกาลกำลังเจรจาอันนี้เป็นเรื่องเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้เร่งเจรจากำลังทำอยู่ ส่วนตนมีหน้าที่รักษาพื้นที่ภาย ทำอย่างไรให้เราเดือดร้อนน้อยที่สุด และเร่งน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด “เรื่องนี้ผมไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ระดับน้ำล่าสุดในแม่น้ำโขงวัดที่อำเภอเชียงของ พบว่าปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งโดยวัดล่าสุดในช่วง 18.00 น.อยู่ที่ 10.30 เมตร

เย็นวันเดียวกัน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สทนช. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษา วิเคราะห์ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์ วัน เวลา และปริมาณน้ำสูงสุด (Peak) และการสิ้นสุดของสถานการณ์ ณ สถานีต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของประเทศไทย

โดยให้รายงานผลการดำเนินงานและมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนวทางและมาตรการให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ทราบและช่วยกันดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังขอให้ MRCS ประสานงานกับ สปป.ลาว เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งให้ประสานงานกับจีน เพื่อแจ้งสถานการณ์ในปัจจุบันของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้จีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ตลอดจนติดตามสถานการณ์การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการแจ้งเตือนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด โดย สทนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำและประสานงานร่วมกับ MRCS อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE FEATURED NEWS

CEA หนุนศักยภาพเชียงราย ‘เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ’ ยูเนสโก

 

เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน)หรือ CEA ในฐานะหน่วยงานร่วมขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์ เชียงราย ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UNESCO Creative Cities Network: UCCN) ร่วมเปิดงาน “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” ซึ่งจัดเป็นครั้งที่ 3 ภายใต้แนวคิด “Chiang Rai Creature” หรือ “สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง” ระหว่างวันที่ 9 – 15 สิงหาคม 2567 ณ อาคาร OTOP ศาลากลางจังหวัดเชียงรายหลังแรก โดยมีนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดงาน ร่วมด้วย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมเปิดงานเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 มุ่งชูศักยภาพของเชียงรายในการเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ’ ที่โดดเด่นในฐานะหนึ่งในเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก (UCCN, Chiang Rai City of Design) พร้อมตอกย้ำการพัฒนาเชียงรายให้เป็นเมืองที่ใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ และ ‘การออกแบบ’ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมืองเชียงราย

นอกจากนี้ CEA ยังได้เป็นประธานเปิดงานกิจกรรม “สล่ากาแฟ” หรือ “Chiang Rai Specialty Coffee Showcase” และ “ธุลีกาศ” หรือ “SMOG” โดยมี ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวเปิดงาน ทั้ง 2 กิจกรรมมุ่งเน้นการส่งเสริมสินทรัพย์ในพื้นที่ของจังหวัด และทดสอบแนวคิดการใช้งานออกแบบเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในเชียงราย  โดยเป็นความร่วมมือระหว่าง CEA กับนักสร้างสรรค์ จาก 69 องศา ภาคีเครือข่ายธุรกิจกาแฟของเชียงราย และ FabCafe Bangkok  

ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่าสำหรับ CEA ซึ่งเป็นหน่วยงานกลางที่สนับสนุนและส่งเสริมเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกทุกเมืองในประเทศไทย การพัฒนา ‘เมืองสร้างสรรค์’ เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของ CEA โดย ‘เชียงราย’ ได้รับการประกาศเป็นสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกด้านการออกแบบในปี 2566 นับเป็นการเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ ๆ ให้กับเชียงรายในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม CEA จึงมุ่งมั่นที่จะใช้องค์ความรู้และเครือข่ายในการส่งเสริมเชียงรายให้เป็นต้นแบบเมืองสร้างสรรค์ระดับสากล และเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน

“CEA เล็งเห็นโอกาสและศักยภาพของเชียงรายในการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพด้านการออกแบบของเชียงราย โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบนิเวศทางความคิดสร้างสรรค์ที่เข้มแข็ง ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักออกแบบท้องถิ่น และประยุกต์ใช้การออกแบบเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ การร่วมผลักดันเมืองเชียงรายในฐานะเครือข่ายสมาชิกเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และยกระดับภาพลักษณ์ของเชียงรายให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล” 

CEA ร่วมจัดกิจกรรมภายใต้ “Chiang Rai Sustainable Design Week 2024”

“Chiang Rai Sustainable Design Week 2024” หรือ “เทศกาลเชียงรายเมืองออกแบบเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 2567” จะเป็นเวทีสำคัญในการแสดงศักยภาพของเชียงรายในฐานะเมืองสร้างสรรค์ รวมถึงมอบโอกาสให้นักสร้างสรรค์ ผู้ประกอบการ เครือข่ายชุมชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจากเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียง ได้พบปะ แลกเปลี่ยนไอเดีย มุมมอง และประสบการณ์ พร้อมส่งต่อแรงบันดาลใจให้แก่คนรุ่นใหม่ ด้วยการสร้างโอกาสในเรียนรู้และทดลองผ่านกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ เพื่อออกแบบและพัฒนาเมืองเชียงรายไปด้วยกัน

เทศกาลฯ เป็นความร่วมมือระหว่าง CEA ร่วมกับสำนักงานจังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง นักสร้างสรรค์ และหน่วยงานเครือข่ายภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ CEA ได้นำร่องจัด 3 กิจกรรมภายใต้เทศกาลฯ โดยร่วมกับพันธมิตรอย่าง FabCafe ฺBangkok, 69 องศา และ MAYDAY! จัดงานที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ มุ่งผลักดันเชียงรายใน 3 มิติ ให้เป็นทั้งเมืองน่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว ได้แก่

  1. เมืองน่าอยู่ –SMOG I ธุลีกาศ โดยร่วมกับ FabCafe Bangkok กิจกรรมเสวนา โชว์เคสและเวิร์กช็อปที่จะมานำเสนอแนวทางเปลี่ยนขยะที่เกิดจากกิจกรรมทางการเกษตร ให้กลายเป็นสินทรัพย์ ผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ให้กับนักสร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะสร้างมูลค่าแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นและไฟป่าซึ่งพบบ่อยในเชียงราย ทั้งยังส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
  2. เมืองน่าลงทุน –Chiang Rai Specialty Coffee Showcase I สล่ากาแฟ โดยร่วมกับ 69 องศา และเครือข่ายธุรกิจกาแฟ กิจกรรมเสวนาและเวิร์กช็อปที่เชิญชวน Coffee Lover มาเพิ่มทักษะด้าน “กาแฟ” สินทรัพย์ที่โดดเด่นของเชียงราย พร้อมส่งเสริมกาแฟให้เป็นสินค้าเกษตรมูลค่าสูง โดยเฉพาะกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) ของเชียงราย ให้ทั้งรสชาติดีและมีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กาแฟของไทย 
  3. เมืองน่าเที่ยว –Chiang Rai MOVE I วน “เวียง” เจียงฮาย โดยร่วมกับ MAYDAY!  และองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เทศบาลเมืองเชียงราย และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย EV Bus Chiang Rai และบัสซิ่ง ทรานสิท กับ Go Go Bus นำเสนอเส้นทางเดินรถทั้งหมด 2 สาย โดยใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ร่วมกันสร้างแนวคิดการออกแบบขนส่งสาธารณะ ที่ครอบคลุมพื้นที่และเชื่อมต่อกับระบบขนส่งสาธารณะที่มีอยู่เดิม เพื่อให้คนเจียงฮายเดินทางได้สะดวกสบายและสนุกยิ่งขึ้น ผู้ที่สนใจสามารถทดลองใช้งาน Go Go Bus ได้ฟรีตลอดเทศกาลฯ

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมหลากหลายที่สะท้อนถึงการมีส่วนร่วมของชุมชน และศักยภาพของคนในพื้นที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ได้แก่ การจัดแสดงนิทรรศการและโชว์เคสจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน สถานศึกษา และผู้ประกอบการ การสัมมนาทางวิชาการด้านการออกแบบสร้างสรรค์ รวมถึงตลาด Design Market ที่รวบรวมสินค้าดีไซน์และแบรนด์ที่สะท้อนศักยภาพพื้นถิ่นอย่างสร้างสรรค์ ตอบสนองการใช้ชีวิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เครื่องแต่งกาย ไลฟ์สไตล์ ของแต่งบ้าน อาหารสร้างสรรค์ Green Market & Local Spa และกิจกรรมเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ต่าง ๆ เช่น เวิร์กช็อป เสวนา ดนตรีและการแสดง และกิจกรรมเดินแบบแฟชั่นผ้าไทย ผ้าพื้นถิ่น ในแนวคิดเชียงรายสร้างสรรค์ ณ ลานธรรม ลานศิลป์ ถิ่นพญามังราย

CEA เชื่อมั่นว่าเทศกาลฯ จะจุดประกายไอเดียใหม่ ๆ เปิดโอกาสให้นักสร้างสรรค์ได้นำเสนอผลงานที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนให้ดียิ่งขึ้นผ่านการออกแบบ นับเป็นการส่งเสริมศักยภาพของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ สร้างเครือข่ายพันธมิตรด้านการออกแบบ รวมถึงสร้างสรรค์องค์ความรู้ สนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้คนและธุรกิจในย่าน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและการลงทุนใหม่ ในการส่งเสริมและผลักดันเชียงราย ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโก ด้านการออกแบบอย่างยั่งยืน และมาร่วมขับเคลื่อน ‘สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเมือง’ ผ่าน ‘การออกแบบ’ และ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ในเมืองที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์อย่างเชียงราย ให้เป็นเมืองสร้างสรรค์ที่น่าอยู่ น่าลงทุน น่าท่องเที่ยว และเติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งหมดนี้ยังเป็นการตอกย้ำบทบาทของ CEA ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยให้เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อไป” ดร. อรรชกา กล่าวทิ้งท้าย

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน): สศส. หรือ Creative Economy Agency (Public Organization): CEA จัดตั้งขึ้นเมื่อ 14 สิงหาคม 2561 โดยการยกระดับ TCDC ขึ้นเป็นองค์การมหาชนในกำกับดูแลของสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจที่สมดุลและยั่งยืนในระยะยาว หนึ่งในภารกิจที่สำคัญของ CEA คือการสร้างย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง โดยการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ที่เอื้อต่อบรรยากาศสร้างสรรค์และการเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะเชื่อมโยงสู่ชุมชนโดยรอบให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น CEA ยังทำหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ให้เติบโต จากการพัฒนาศักยภาพและเชื่อมโยงเครือข่าย เพื่อให้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือยกระดับธุรกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ Creative Economy Agency (Public Organization)

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook: Chiang Rai Sustainable Design Week 

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

กอ.รมน.เชียงราย เสริมความสัมพันธ์ สร้างเครือข่ายระดับผู้บริหารของจังหวัด

 

เมื่อวันที่ 3 ส.ค.67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในฐาณะ ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเชียงราย เป็นประธานเปิดการอบรมการพัฒนาความสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหาร กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย (พคบ.จังหวัด ช.ร.) รุ่นที่ 2 ประจำปี 2567 โดยมี พ.อ.จักรวีร์ เสนีย์วรยุทธ์ รอง ผอ.รมน.จังหวัดเชียงราย(ท.) นำผู้เข้ารับการอบรม ประกอบด้วยส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และแกนนำกลุ่มมวลชนระดับจังหวัดเข้าร่วม ที่โรงแรม เอ็มบูทีค รีสอร์ท เชียงราย

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า การอบรมหลักสูตรพัฒนาความสัมพันธ์เครือข่ายความมั่นคงระดับผู้บริหารของ จังหวัดเชียงราย รุ่นที่ 2 ในวันนี้ กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ได้รับมอบหมายจาก กอ.รมน. ให้ดำเนินการจัดอบรมตามแผนการเสริมสร้างความมั่นคง ของสถาบันหลักของชาติ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ประเด็นด้านความมั่นคงเพื่อให้การปฏิบัติงานตามแผนการขับเคลื่อนงานด้านมวลชน ของ กอ.รมน. โดยการเสริมสร้างมวลชน เพื่อความมั่นคง 
 
รวมทั้งเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี ของคนในชาติ การส่งเสริมการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และการสร้างมวลชนเพื่อเป็นกลไกการมีส่วนร่วมในการป้องกัน และแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการของทุกภาคส่วน ให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ต่อไป
 
พ.อ.จักรวีร์ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์อันเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปอย่างรวดเร็ว มีความซับซ้อนและกระทำได้หลากหลายรูปแบบ อาจเกิดขึ้นได้ทั้งภายนอก และภายในประเทศ ทั้งจากการกระทำของบุคคล หรือภัยจากธรรมชาติ อันเป็นสาธารณภัย
 
ประกอบกับยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาประเทศให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มีความสงบเรียบร้อย ในทุกระดับตั้งแต่ระดับชาติ สังคม ชุมชน ให้มีความพร้อม สามารถรับมือกับภัยคุกคาม และภัยพิบัติที่
อาจเกิดขึ้น ได้ทุกรูปแบบ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหา ในทุกมิติโดยใช้กลไก แก้ไขปัญหาแบบการมีส่วนร่วม และบูรณาการของทุกภาคส่วน ดังนั้น กอ.รมน. 
 
จึงได้กำหนดให้มีการอบรมหลักสูตรดังกล่าวขึ้น เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในสถาบันหลัก และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจให้รู้บทบาท และหน้าที่ของ กอ.รมน. และเพื่อบูรณาการ การปฏิบัติงานด้านความมั่นคงของทุกภาคส่วน ตลอดจนเพื่อพัฒนาความสัมพันธ์และสร้างเครือข่าย ในระดับผู้บริหารของหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคผู้นำมวลชนในระดับจังหวัด 
 
เพื่อสร้างกระบวนการที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความมั่นคงในระดับจังหวัด และเพื่อขับเคลื่อนระบบการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และมวลชนมีส่วนร่วมปฏิบัติงานและสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้องหรือตามที่ได้รับมอบหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ยอดผ้าป่า 55,767,756.51 บาท มอบให้โรงพยาบาลเชียงรายฯ

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีถวายผ้าป่ากองทุนจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล และอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลน เพื่อมอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมียอดผ้าป่ารวมทั้งสิ้น 55,767,756.51 บาท โดยมี พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวเชียงราย พร้อมใจใส่เสื้อเหลืองร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

ในพิธีถวายกองผ้าป่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธีสงฆ์อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ประธานในพิธีนำกล่าวคำถวายกองผ้าป่า และถวายเงินกองทุนแด่ประธานสงฆ์ โดยมี พระสิริวัฒโนดม วิ. เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ธรรมยุต) ประธานสงฆ์รับมอบเงินให้แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จากนั้น ประธานในพิธีและผู้มีเกียรติร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระสงฆ์ 10 รูป พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานในพิธี กรวดน้ำ รับพร และกราบลาพระรัตนตรัย กราบลาประธานสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี


ทั้งนี้ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อเครื่องเอกชเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล และอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นการเพิ่มโอกาสในการค้นพบโรค และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดความพิการและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯเชียงราย นำพุทธศาสนิกชน ถวายเทียนพรรษา เจริญพระพุทธมนต์

 

เมื่อวัน พุธที่ 17 กรกฎาคม 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีถวายเทียนพรรษา 10 วัด เจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเนื่องในสัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา ประจำปี 2567 โดยมีพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ ประชาชน พุทธศาสนิกชนชาวเชียงราย ร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงพร้อมกัน ณ พระอุโบสถ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย
.
ในพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานในพิธี จุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยถวายราชสักการะเบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานสงฆ์ให้ศีล พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ จากนั้นประธานในพิธี พร้อมหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมถวายเทียนพรรษา จำนวน 10 วัด เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 รวมทั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนให้เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา ได้มีโอกาสศึกษาเรียนรู้หลักธรรม  สามารถนำมาใช้เป็นหลักปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และเพื่อเป็นการส่งเสริมประชาชนได้ปฏิบัติภาวนาถวายเป็นพุทธบูชา ตลอดจนสืบทอดพระพุทธศาสนา ในสัปดาห์ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา ให้เด็ก เยาวชน ประชาชน ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชน ได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวันเข้าพรรษา ปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และสืบสานประเพณีวันเข้าพรรษาในจังหวัดเชียงรายให้คงอยู่ต่อไป
.
ด้วยวันที่ 21 กรกฎาคม 2567 เป็นวันเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในวันสำคัญของพุทธศาสนา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือน ตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักการจาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนาตามสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งในช่วงฤดูฝน จะมีความยากลำบาก และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการเดินเหยียบย่ำพืชผลของชาวบ้านที่ปลูกไว้ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ในช่วงระยะเวลาจำพรรษาตลอด 3 เดือน ยังถือเป็นโอกาสสำคัญในรอบปีที่พระสงฆ์จะได้มาจำพรรษาร่วมกัน ภายในอาวาสหรือสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยจากพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

อบจ.เชียงราย ส่งเสริมประเพณี จัดหล่อเทียนพรรษา วัดพระสิงห์

 

เมื่อวันพุธที่ 10 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย นำโดย นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย จัดโครงการส่งเสริมประเพณีวันเข้าพรรษา “กิจกรรมสืบสานประเพณีหล่อเทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” ณ วัดพระสิงห์ พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยได้รับเมตตาจาก พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และมี นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ร่วมพิธีหล่อเทียนพรรษาในครั้งนี้

 

องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ร่วมกับจังหวัดเชียงราย สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย และสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย ได้ตระหนักและให้ความสำคัญในการสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมพระพุทธศาสนา และในโอกาสอภิลักขิตการมหามงคลนี้ จึงได้ร่วมจัดกิจกรรมหล่อเทียนพรรษา จำนวน 73 เล่ม ในวันนี้ขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 เพื่ออนุรักษ์ ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวันเข้าพรรษาในจังหวัดเชียงรายให้คงอยู่ตลอดไป เพื่อให้เด็ก เยาวชนและประชาชน ซึ่งเป็นพุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ ส่งเสริมและสืบสานประเพณีวันเข้าพรรษาในจังหวัดเชียงราย เพื่อปลูกฝังขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น ซึ่งจะได้นำเทียนพรรษาทั้ง 73 เล่ม ไปถวายยังวัดในพื้นที่จังหวัดเชียงรายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

มอบเครื่องวัดความดันโลหิต ให้โรงพยาบาลเชียงรายฯ

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุม เสม พริ้งพวงแก้ว ชั้น 4 อาคารโภชนาการ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ “โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมีนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย  แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  หัวหน้าส่วนราชการ  สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเข้าร่วม

 

           นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมด้วย สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยทั่วประเทศ ดำเนินการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 133 รายการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ 

 

          นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวขอขอบคุณทางสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ที่ได้มอบอุปกรณ์เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล เห็นความสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการสาธารณสุข รวมถึงการช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากได้รับเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวกในการทำงาน ลดความแออัดจุดคัดกรองได้เป็นอย่างดี

 


ในการนี้ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ได้รับเครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล จำนวน 1 เครื่อง จึงได้มอบให้แก่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังประโยชน์ในการเพิ่มความสามารถด้านการช่วยเหลือประชาชนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชกรณียกิจ ด้านการสาธารณสุข และเป็นการช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตลอดจนเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างหาที่สุดมิได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เชียงราย ประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2567 เวลา 09.00 น. ที่วัดพระแก้ว พระอารามหลวง อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานประกอบพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย ทหาร ตำรวจ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนกระทรวง ทั้ง 20 กระทรวง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ และประชาชนชาวเชียงรายเข้าร่วมพิธี ซึ่งจัดพร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด

 

โดยในพิธีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์มีพิธีการขั้นตอนดังนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ประธานในพิธีจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ อาราธนาศีล จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เชิญใบพลู 7 ใบ ถวายประธานสงฆ์เจิมใบพลู และถวายแด่พระสงฆ์เถราจารย์ มีพระสงฆ์ 10 รูป เจริญพระพุทธมนต์คาถาดับเทียนชัย พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ประโคมฆ้องชัย ดุริยางค์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์ จากนั้นประธานฝ่ายสงฆ์พรมน้ำพระพุทธมนต์ที่ขันสาคร และมอบขันสาครให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย แล้วกล่าวคาถาตักน้ำ
 
 
ต่อจากนั้นเจ้าหน้าที่เปิดห่อผ้าขันสาคร เปิดฝาขันสาคร เปิดฝาคนโท แล้วส่งมอบให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อตักน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์จากขันสาครใส่จนถึงคอคนโทตามกำหนด หลังจากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และข้าราชการประเคนภัตตาหาร ถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระสงฆ์ 10 รูป ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายกรวดน้ำรับพรเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีในช่วงเช้า และเวลา 12.00 น. เป็นพิธีบายศรีเวียนเทียนสมโภชน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ บัณฑิตประจำจุดโต๊ะบายศรี และเบิกแว่นเวียนเทียน และส่งแว่นเทียนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อวักแว่นเทียนเข้าหาตัว 3 ครั้ง แล้วใช้มือขวาโบกควันออกไปยังคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ จากนั้นส่งต่อให้คนที่อยู่ทางซ้ายมือ เวียนไปจนครบ 3 รอบ เมื่อครบแล้วคนสุดท้ายจึงส่งให้บัณฑิตผู้ทำหน้าที่เบิกแว่นเทียนแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และรองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย อันเชิญน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ลงจากแท่นพิธีเพื่อนำไปเก็บรักษาไว้ที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย โดยผู้เข้าร่วมพิธีตั้งแถวรอส่งคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงราย จะได้เชิญคนโทน้ำพระพุทธมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ไปเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย ต่อไป
 
 
สำหรับพิธีในส่วนกลางจะมีการจัดมหรสพสมโภช ในระหว่างวันที่ 11-15 กรกฎาคม 2567 ณ ท้องสนามหลวง ก่อนจะเชิญคนโทน้ำพุทธมนต์มาเก็บรักษาที่กระทรวงมหาดไทย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีเสกน้ำพระพุทธมนต์ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2567 จากนั้นจะมีการเชิญน้ำพระพุทธมนต์ฯ จากวัดพระเชตุพนฯ ไปยังพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในช่วงเช้าของวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2567
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

น่าน – เชียงราย ขอ 5 ปี มุ่งการค้าสากล เด่นวัฒนธรรมล้านนาสินค้าเกษตรปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ให้การต้อนรับนายเทวา ปัญญาบุญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน ที่ลงพื้นจังหวัดเชียงราย เพื่อศึกษาดูงาน และรับฟังความคิดเห็นทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ฉบับทบทวน ประจำปี 2568 – 2570 ประกอบด้วย เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน เพื่อทราบความต้องการของประชาชนในกลุ่มจังหวัดฯ รวมถึงทราบจุดแข็ง จุดอ่อน ของแต่ละจังหวัด ในการเตรียมรับมือกับปัญหาในทุกๆ มิติ โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ภาคประชาคม หน่วยงานภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในจังหวัดเชียงราย เข้าร่วม

 

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้กำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาในระยะเวลา 5 ปี “เป็นประตูการค้าสากล โดดเด่นวัฒนธรรมล้านนาสินค้าเกษตรปลอดภัย ประชาชนร่วมใจอนุรักษ์ทรัพยากร” โดยมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนใน 4 ประเด็นการพัฒนา ดังนี้ 
 
1.พัฒนาสภาพแวดล้อมในการค้า การลงทุน และโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับต่างประเทศ เชื่อมโยงกับกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง AEC เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มรายได้จากการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการ 
2.สร้างความเข็มแข็งและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตภาคเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตรปลอดภัยที่มีศักยภาพมุ่งสู่ตลาดโลก 
3.พัฒนาและยกระดับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ศิลปวัฒนธรรม สุขภาพ และ MICE เพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชนและเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มการท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดอย่างยั่งยืน 
และ 4.ดำรงฐานทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและพลังงานโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนสู่การเป็นกลุ่มจังหวัดสีเขียว
 
 
โดยกล่าวสรุปจากการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ได้ว่า มีศักยภาพเชิงพื้นที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจการการค้าและธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว ส่วนด้านภาคเกษตรยังคงต้องส่งเสริมให้ปรับเข้าสู่รูปแบบการเกษตรมูลค่าสูง สำหรับด้านสังคมการรับมือสังคมผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญ จึงจำเป็นต้องพัฒนาในทุกมิติ และด้านสิ่งแวดล้อมปัญหาหมอกควันไฟป่ายังคงเป็นปัญหาหลักที่ต้องเร่งมือแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมจะได้ร่วมระดมความคิดเห็น ช่วยกันสำรวจความต้องการของประชาชนในพื้นที่ เพื่อที่จะได้ไม่ซ้ำซ้อนความต้องการของประชาชนในแต่ละจังหวัด ทั้งด้านการท่องเที่ยว การการเกษตร ด้านการค้าการลงทุน ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และด้านอื่นๆที่สำคัญ เพื่อที่จะได้รวบรวม และจัดส่งให้ทีมบูรณาการกลางพิจารณาต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News