Categories
SOCIETY & POLITICS

ช่วยกลับไทย 500 คน สั่งขยายผลดำเนินคดีขบวนการค้ามนุษย์เล่าก์ก่ายเมียนมาหลัง

 
เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 66 ที่ห้องประชุม 1 ตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย (ศูนย์ราชการ) ตำบลริมกก อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย พลตำรวจตรี มานพ เสนากูล ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย และผู้แทนสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดเชียงราย ร่วมรับฟังและรับมอบนโยบายจาก พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ผ่านระบบ Video Conference จากส่วนกลาง จากกรณีเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์สู้รบในหลายพื้นที่เขตชายแดนประเทศเมียนมา ทำให้มีประชาชนได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก โดยมีคนไทยที่เดินทางไปทำงานอยู่ในเมืองเล่าก์ก่าย ติดอยู่ในพื้นที่พิพาทเป็นจำนวนมาก และได้ร้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยในการให้ความช่วยเหลือนำกลับประเทศตามที่สื่อมวลชนและโซเชียลมีเดียได้นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น 


กรณีดังกล่าว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง (ศพดส.ตร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ในการประสานงานกับทางการเมียนมาในการให้ความช่วยเหลือคนไทยที่ติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อนำกลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย ปัจจุบันสามารถช่วยเหลือคนไทยนำกลับมายังประเทศไทยได้แล้ว 5 ครั้ง ประกอบด้วย 1. เมื่อวันที่ 18 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 41 คน 


โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 2. เมื่อวันที่ 19 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 266 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 3. เมื่อวันที่ 24 พ.ย.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 24 คน โดยรับตัวผ่านจุดผ่านแดนที่ อ.แม่สาย จ.เชียงราย 4. เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 83 คน โดยนำตัวข้ามชายแดนจากเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา ไปยังเมืองคุนหมิง ประเทศจีน แล้วเดินทางกลับไทยโดยสายการบินพาณิชย์ลงที่สนามบินดอนเมือง 5. เมื่อวันที่ 15 ธ.ค.66 ช่วยเหลือคนไทยได้ 111 ราย โดบรับตัวผ่านจุดผ่านแดน อ.แม่สาย จ.เชียงราย รวมสามารถช่วยเหลือคนไทยได้แล้ว 525 ราย โดยนำเข้าสู่กระบวนการกลไกส่งต่อระดับชาติ (NRM) ที่มณฑลทหารบกที่ 37, กองร้อยอาสารักษาดินแดน จ.เชียงราย และศูนย์บูรณาการคัดกรองหนองจอก กทม. 


โดยในจำนวนดังกล่าว มีผู้ต้องหาตามหมายจับ (คดีทั่วไปและคดีคอลเซ็นเตอร์) จำนวน 20 ราย จากนั้นนำเข้ากระบวนการคัดกรองพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 174 ราย ในส่วนของกระบวนการคัดแยกนั้น เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการซักถามและคัดกรองตามขั้นตอนกระบวนการคัดแยกเหยื่อจากการค้ามนุษย์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งขยายผลดำเนินคดีกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำผิด โดยเฉพาะการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ ในส่วนของคนไทยชุดแรกที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 41 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 20 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา (เมืองเล่าก์ก่าย) 


ในส่วนของคนไทยชุดล่าสุดที่ได้รับการช่วยเหลือจำนวน 111 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดำเนินการคัดแยกและพบเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวน 85 คน และดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับผู้ต้องหาซึ่งเป็นขบวนการหลอกคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศเมียนมา ( เมืองแผน ) โดยยังมีผู้ต้องหาหลบหนีอีก 2 ราย ซึ่งทั้งหมดจะถูกดำเนินคดีในความผิดฐาน สมคบกันค้ามนุษย์ด้วยการบังคับใช้แรงงานขบวนการค้ามนุษย์กลุ่มนี้มีการแบ่งหน้าที่กันทำ โดยมีคนทำหน้าที่ต่างๆ ในองค์กร เช่น หัวหน้าฝ่ายบริหาร ฝ่ายฝึกอบรมในการทำคอลเซ็นเตอร์ ฝ่ายชักชวนคนมาทำงาน ฝ่ายการเงิน ฝ่ายจัดหาล่าม ฝ่ายควบคุมการทำงานและทำโทษ รวมทั้งฝ่ายปฏิบัติการโทรหลอกลวง ซึ่งผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงจากขบวนการนี้ ถูกชักชวนว่าจะให้ไปทำงานเป็นแอดมินเว็บพนันออนไลน์ในเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมา แต่เมื่อไปถึงกลับถูกบังคับให้ทำงานคอลเซ็นเตอร์ และชักชวนลงทุน หากไม่ยอมทำงานจะถูกจับเรียกค่าไถ่จำนวนระหว่าง 2-7 แสนบาท หากไม่มีเงินค่าไถ่ก็จะถูกบังคับทำงานและทำร้ายร่างกายและกักขัง ก่อนที่ผู้เสียหายจะหาทางของความช่วยเหลือเพื่อกลับประเทศไทย

 

พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันในส่วนของการประสานงานเพื่อช่วยเหลือคนไทยในพื้นที่พิพาทเมืองเล่าก์ก่าย เมียนมานั้น ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการประสานงานกับทางการเมียนมาและทางการจีน ในการเร่งพาคนไทยที่ยังติดอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวกลับมาอย่างปลอดภัยโดยเร็วที่สุด โดยหลังจากที่มีการช่วยเหลือคนไทยเหล่านี้กลับมาแล้ว ก็จะนำตัวเข้ารับการดูแลและคัดแยกเหยื่อที่ทางรัฐจัดหาให้ในการดำเนินการตามกลไก NRM ซึ่งที่ผ่านมาได้คัดกรองผู้เสียหายออกมาได้แล้วจำนวนหนึ่ง รวมทั้งมีการจับกุมผู้ต้องหาตามหมายจับได้อีก 20 ราย

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังดำเนินการขยายผลดำเนินคดีกับขบวนการหลอกคนไทยไปบังคับทำงานคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งในกลุ่มแรกสามารถขยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 10 ราย จับกุมแล้ว 4 ราย กลุ่มอื่นสามารถขยยายผลออกหมายจับผู้ร่วมขบวนการแล้ว 19 ราย จับกุมและอายัดตัวดำเนินคดีแล้ว 17 ราย ในส่วนของคนไทยที่ได้รับการช่วยเหลือกลับมาทั้งหมด ก็จะมีการขยายผลเช่นนี้ทั้งหมด เพื่อดำเนินคดีกับคนที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิด รวมทั้งช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการหลอกลวงดังกล่าว
 
ทั้งนี้ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชน กรณีการจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ขอให้มีการพิจารณาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เน้นความปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย หากพบเบาะแสของขบวนการหลอกลวงคนไทยไปทำงานคอลเซ็นเตอร์ สามารถแจ้งเบาะแสได้ผ่านช่องทางสายด่วน 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว

 
แถลงการณ์ร่วม 7 องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่อง นักข่าวรับเงินจากแหล่งข่าว สืบเนื่องจากกรณีที่รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่ามีการจ่ายเงินให้สื่อมวลชนเพื่อเป็นค่าข่าว และช่วยเหลือด้านต่างๆ เนื่องจากเห็นว่านักข่าวเงินเดือนน้อย ตามที่ได้มีการเผยแพร่ข่าวต่อสาธารณะออกไปอย่างแพร่หลายนั้น 
 
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 7 องค์กร ประกอบด้วย สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และสมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ได้ร่วมประชุมกันและขอแสดงจุดยืนต่อสาธารณะว่า สื่อมวลชนที่รับเงินจากแหล่งข่าวเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการใดๆ ถือเป็นเรื่องที่ละเมิดจริยธรรมวิชาชีพอย่างร้ายแรง ไม่สามารถยอมรับได้ 
 
 
ดังนั้น ที่ประชุม 7 องค์กรวิชาชีพ จึงมีมติร่วมกันดังนี้ 
 
1. เห็นชอบให้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อสร้างความกระจ่างชัดในทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องต่อสาธารณชนโดยคณะกรรมการประกอบด้วย ผู้แทนจากสภาวิชาชีพสื่อมวลชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพกิจการการแพร่ภาพและการกระจายเสียง (ประเทศไทย) ซึ่งทำหน้าที่ดูแลเรื่องจริยธรรมวิชาชีพสื่อมวลชนขององค์กรสมาชิก องค์กรละ 2 คน (เป็นคนในวิชาชีพ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 1 คน) รวมเป็น 6 คน และให้สรรหาผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกมาเป็นประธานคณะกรรมการอีก 1 คน รวมเป็น 7 คน 
 
 
2. ขอให้องค์กรต้นสังกัดที่ถูกระบุว่ามีนักข่าวรับเงิน รวมทั้งองค์กรสื่อมวลชนอื่นๆ ดำเนินการตรวจสอบว่านักข่าวในสังกัดว่ามีพฤติกรรมตามที่ถูกระบุหรือไม่ และพร้อมแจ้งผลการดำเนินการแจ้งต่อสาธารณะให้ทราบ ส่วนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่ไม่มีต้นสังกัด และกระทำการเป็นนักข่าวเพื่อส่งข่าวต่อไปยังสำนักข่าวต่างๆ แต่มีพฤติกรรมละเมิดจริยธรรมวิชาชีพนั้น ขอให้ทุกองค์กรสื่อมวลชน พิจารณายุติการซื้อข่าวจากบุคคลหรือกลุ่มดังกล่าว 
 
 
3. กรณีที่มีนักข่าวมีส่วนพัวพันหรือไปเกี่ยวข้องกับการรับเงินในธุรกิจที่ผิดกฎหมาย คณะกรรมการที่จะตั้งขึ้นโดยสภาวิชาชีพข้างต้น จะดำเนินการตรวจสอบด้านจริยธรรมวิชาชีพเช่นกัน ส่วนความผิดตามกฎหมายนั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย 
 
4. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ขอเรียกร้องให้บุคคลกลุ่มบุคคลที่เป็นอดีตนักข่าว และทำหน้าที่ส่งข่าวให้สำนักข่าวต่างๆ แสดงตัวตนให้ชัดเจนว่าการรับเงินดังกล่าวเป็นค่าจ้าง หรือค่าตอบแทนในการทำข่าวและส่งประชาสัมพันธ์ โดยไม่แอบอ้างตนว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน แต่หลีกเลี่ยงการถูกกำกับดูแลด้านจริยธรรมจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จึงประกาศมาให้ทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ / สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย / สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย / สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย  / สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย  / สมาพันธ์สื่อมวลชนแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News