Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“กรมชลประทาน” ถอดบทเรียนน้ำท่วม ให้ทุกคนเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ

 

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากวิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีความรุนแรงมากขึ้น และยังส่งผลกระทบออกเป็นวงกว้าง เพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาอุทกภัยและหาแนวทางในการรับมือ กรมชลประทานได้ออกมาให้ความรู้กับพี่น้องประชาชน เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงภัยธรรมชาติ

ครั้งนี้ “นายเดช เล็กวิชัย” รองอธิบดีกรมชลประทาน แสดงความคิดเห็นถึงเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายและเสนอแนวทางแก้ปัญหา “เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงรายถือว่าหนักสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา การแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเหนือ คือต้องฟื้นฟูระบบคลองต่างๆ ที่ใช้เป็นเหมือนเส้นเลือดย่อยๆ ในการช่วยระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำต่างๆ จัดการให้หมด โดยเฉพาะน้ำท่วมในเขตเมืองเพราะผังเมืองบางทีไม่ได้รองรับฝนที่ตกเกินกว่ากำหนด น้ำควรจะมีทางไป หรือฟลัดเวย์สำหรับการจัดการมวลน้ำในภาคเหนือ มองว่าตอนนี้โครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะในเขตจังหวัดเชียงรายหรือจังหวัดเชียงใหม่เอง ตัวของอาคารบังคับน้ำ โครงสร้างพื้นฐานยังมีไม่มากนัก เรื่องอนาคตเป็นเรื่องของการศึกษาโดยเฉพาะจังหวัดเชียงราย ในการที่จะปรับปรุงลำน้ำ หรือทางผันน้ำจากแม่น้ำกกลงอ้อมเมืองลงสู่แม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด”
 
“เนื่องจากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่าจะหมดสิ้นฤดูฝนของภาคเหนือ ภาคกลาง หลังสิ้นเดือนตุลาคม เรามีระยะเวลาการดำเนินงานที่ต้องติดตามพื้นที่เสี่ยงอีกประมาณหนึ่งเดือน ฉะนั้นการจัดการจะมีภาคเหนือตอนล่าง ภาคอีสานตอนบน ตรงนี้ต้องจัดการในเรื่องของเขื่อน เพื่อให้กักเก็บน้ำได้มากที่สุด แล้วไม่ระบายน้ำมากระทบกับชาวบ้าน ในเรื่องของการระบายน้ำเรามีพร่องน้ำรอในระบบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคลอง ลำน้ำธรรมชาติ 
 
เพื่อรองรับฝนที่จะตกในพื้นที่ ส่วนการบริหารจัดการทุ่งต่างๆ กรมชลประทานดำเนินการในเรื่องของการจัดระบบการเพาะปลูก ซึ่งจะเก็บเกี่ยวภายในเดือนนี้แล้วเสร็จทั้งหมดในพื้นที่ประมาณหนึ่งล้านไร่ เพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ลุ่มต่ำไม่เกิดความเสียหาย”
 
นอกจากนี้สภาพดินฟ้าอากาศของเพื่อนบ้าน ก็เป็นสิ่งที่ต้องเฝ้าติดตาม “ต้องมีการแชร์ข้อมูลกันว่าสภาพอากาศในประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างไร มีการบริหารจัดการน้ำเขื่อนในประเทศอย่างไร ต้องรู้ว่าเค้าจัดการยังไง เพื่อที่เราเองจะได้รู้ว่าต้องจัดการบ้านเรายังไง”
 
ทั้งนี้ “รองฯ เดช” ยังกล่าวปิดท้ายอีกว่า ทุกๆ บทเรียนของอุทกภัยที่ผ่านมา กรมชลประทานได้ถอดบทเรียน เพื่อนำมาสู่ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการน้ำ “จากกระบวนการที่ผ่านมา เราเอาเคสวิกฤตมาถอดบทเรียน มองว่าประสิทธิภาพในการจัดการน้ำของกรมชลประทานดีขึ้นเรื่อยๆ เราต้องจัดการน้ำให้น้ำมีที่อยู่และมีที่ไป ถ้าน้ำไม่มีที่อยู่ไม่มีที่ไป มันก็อั้น พออั้นปุ๊บก็กลายเป็นไปไหนไม่ได้ ระเบิดเป็นโดมิโน่ เราต้องทยอยให้น้ำมีที่อยู่ มีที่ไปที่เหมาะสม ผลกระทบมันก็จะน้อย”
 
สุดท้ายนี้คนไทยทุกคนต้องปรับตัวและอยู่คู่กับน้ำให้ได้ “เราต้องให้คนเรียนรู้อยู่กับน้ำได้ เพราะเมืองไทยฝนเยอะ เราสามารถกักเก็บน้ำตอนฝนตกได้แค่หนึ่งในสามจากฝนที่ตกทั้งประเทศ ฉะนั้นส่วนที่เหลือ น้ำก็ต้องมีที่ไป แต่จะไปไหนได้สุดท้ายก็ไหลมาหาพวกเรา ฉะนั้นทุกประเทศเหมือนกัน ต้องปรับตัวให้อยู่กับน้ำ จะต้องมีการกำหนดพื้นที่ที่ระบุว่าเป็นพื้นที่เก็บน้ำ ทางน้ำผ่าน ต้องระบุชัดเจน ทุกประเทศเป็นเหมือนกัน 
 
ตอนสุดท้ายต้องมาดูเรื่องความเสียหาย มาตรการช่วยเหลือเยียวยามีความจำเป็น อย่างเรื่องน้ำท่วมเชียงราย คงต้องมีการศึกษาเรื่องการผันน้ำ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ส่วนเรื่องระบบชลประทาน จะบริหารจัดการ ระบาย และกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุดในฤดูฝน เรามีทีมควบคุมการระบายน้ำ การทดน้ำ ใช้สิ่งที่มีอยู่ให้เต็มศักยภาพ โดยใช้ผลคาดการณ์ที่มีการยืนยันในเรื่องของการจัดการภายใต้สภาวะของระบบที่มีอยู่”
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมชลประทาน

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI ECONOMY

หอการค้าฯ ชี้น้ำท่วม เสียหายกว่า 3 หมื่นล้านบาท “เชียงราย” หนักสุด

 

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2567 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในปัจจุบันขยายวงกว้างไปยัง 33 จังหวัดทั้งทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ไม่ว่าจะเป็น เชียงราย พะเยา สุโขทัย หนองคาย นครพนม พิจิตร สกลนคร พิษณุโลก และอุดรธานี เป็นต้น จากมวลน้ำที่ไหลผ่านเข้าสู่ภาคกลางประกอบกับแนวโน้มที่ฝนจะตกเพิ่มต่อเนื่องอีกระลอก ทำให้หลายจังหวัดยังมีความเสี่ยงที่อาจเกิดน้ำท่วม

โดยเฉพาะปริมาณฝนที่คาดว่าจะมีการตกหลังเขื่อนในช่วงเดือนต.ค.ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมได้ ดังนั้น ทุกภาคส่วนยังจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์น้ำต่อไปอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกัน รัฐบาลควรเร่งจัดทำแผนเชิงป้องกันไว้ล่วงหน้าที่ชัดเจนก็จะช่วยลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและเศรษฐกิจได้มาก

โดยหอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินมูลค่าความเสียหายแล้ว ประมาณ 29,845 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 0.17% ของ GDP (ข้อมูล ณ 28 ก.ย. 67) ซึ่งภาพรวมพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวมทั้งสิ้นประมาณ 3 ล้านไร่ โดยแบ่งเป็นพื้นที่การเกษตร 1,166,992 ไร่ และพื้นที่อื่นๆ 1,826,812 ไร่

ทั้งนี้ จากการประเมิน พบว่า ภาคการเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมถึง 24,553 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 82.3% ของความเสียหายทั้งหมด รองลงมาเป็นภาคบริการ เสียหาย 5,121 ล้านบาท

ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเสียหายราว 171 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับความเสียหายในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ เนื่องจากมีการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์น้ำได้ดี สำหรับจังหวัดที่ได้รับผลกระทบและมูลค่าความเสียหายมากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ เชียงราย มีมูลค่าความเสียหายรวม 6,412 ล้านบาท รองลงมาคือ พะเยา 3,292 ล้านบาท สุโขทัย 3,042 ล้านบาท

นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งที่เกิดขึ้นถี่และขยายวงกว้างมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างผลกระทบโดยตรงต่อผลผลิตของภาคการเกษตรที่เป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ขณะที่รัฐบาลต้องใช้งบประมาณในการบรรเทาความเสียหายและเยียวยาประชาชนในส่วนนี้กว่าปีละแสนล้านบาท

ดังนั้น หอการค้าฯ จึงเห็นว่าประเทศไทยควรมีการทบทวนและวางแผนการบริหารจัดการน้ำเป็นระบบ โดยได้จัดทำข้อเสนอทั้งเชิงนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการบริหารจัดการน้ำ (Infrastructure and Water Management) รวมถึงข้อเสนอเชิงสนับสนุน เช่น ศึกษา ปัญหาอุปสรรคด้านการบริหารจัดการน้ำในส่วนภูมิภาค เพื่อสะท้อนแนวทางแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่อย่างครอบคลุม

การจัดตั้ง War Room ของรัฐบาลเพื่อสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมถึงการเปิดโอกาสให้เอกชนร่วมลงทุนกับรัฐในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำ แนวทางการเติมน้ำใต้ดิน เพื่อเป็นการบริหารจัดการน้ำในช่วงขาดแคลน รวมทั้งแนวทางอนุรักษ์น้ำรองรับการอุปโภค บริโภค และการใช้เชิงพาณิชย์ อย่างยั่งยืน

นายอธิป พีชานนท์ รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาเครือข่ายสมาคมการค้า กล่าวว่า  ได้ระดมความช่วยเหลือ ทั้งเงินสนับสนุน สิ่งของอุปโภค-บริโภค ยา-เวชภัณฑ์ อาหารสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวมกว่า 5.7 ล้านบาท เพื่อนำความช่วยเหลือไปยังจังหวัดที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นการเร่งด่วน

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News