Categories
ECONOMY

ภาคเหนือปีนี้ผลผลิต ‘ลำไย’ เพิ่ม แต่หนาวไม่พอทำ ‘ลิ้นจี่’ ไม่ติดดอก

 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคมคม 2567 นางธัญธิตา บุญญมณีกุล รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สศก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร สำนักงานพาณิชย์จังหวัด และผู้แทนเกษตรกรดำเนินการจัดทำข้อมูลพยากรณ์ปริมาณการผลิตไม้ผลภาคเหนือ ลำไยและลิ้นจี่ ปี2567 พบว่า ลำไยใน8จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ตาก แพร่ และน่าน) มีเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมลดลงเล็กน้อย โดยมีจำนวน1.243 ล้านไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 1.244 ล้านไร่ (ลดลงร้อยละ0.10)เนื่องจากเกษตรกรโค่นลำไยเพื่อเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ทุเรียน ยางพารา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และบางส่วนโค่นเพื่อสร้างที่อยู่อาศัย
 
 

โดยจะให้มีปริมาณผลผลิต1.047ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.949 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.24)แบ่งเป็นผลผลิตรวมในฤดู0.702 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.627 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ12.04)และผลผลิตรวมนอกฤดู0.344 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 0.323 ล้านตัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ6.73)

 

ด้านผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลในภาพรวมอยู่ที่842กิโลกรัมต่อไร่ เพิ่มขึ้นจากปี2566ที่มีจำนวน 763 กิโลกรัมต่อไร่ (เพิ่มขึ้นร้อยละ10.35)เนื่องจากราคาลำไยในปีที่แล้วอยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรดูแลรักษาต้นลำไย จัดหาแหล่งน้ำให้เพียงพอเพื่อรับมือกับสภาพอากาศร้อนและราดสารโพแทสเซียมคลอเรตเพื่อชักนำการออกดอก ประกอบกับภาครัฐส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตลำไยคุณภาพและเกษตรกรปรับเปลี่ยนพื้นที่มาทำลำไยนอกฤดูมากขึ้น โดยผลผลิตลำไยในฤดูจะเริ่มออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน และออกสู่ตลาดมากในเดือนสิงหาคม ประมาณร้อยละ38.72หรือ4.05แสนตัน

 

สำหรับลิ้นจี่4จังหวัดภาคเหนือ (เชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และน่าน)เนื้อที่ให้ผลมีจำนวน 7.30 หมื่นไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 7.52 หมื่นไร่ (ลดลงร้อยละ2.86)เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่น เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ทุเรียน เงาะ ยางพารา โดยให้ผลผลิตรวม2.72 หมื่นตัน ลดลงจากปี 2566 ที่มีปริมาณผลผลิต 3.32 หมื่นตัน (ลดลงร้อยละ18.14)โดยผลผลิตต่อเนื้อที่ให้ผลอยู่ที่372กิโลกรัมต่อไร่ ลดลงจากปี2566ที่มีจำนวน 442 กิโลกรัมต่อไร่ (ลดลงร้อยละ15.84)

เนื่องจากในปีนี้สภาพอากาศร้อนสลับหนาว และอากาศหนาวเย็นไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการออกดอกติดผล เพราะลิ้นจี่เป็นพืชที่อาศัยความหนาวเย็นในการชักนำการออกดอก และจากสภาพอากาศไม่เหมาะสม ทำให้ลิ้นจี่บางส่วนแตกใบอ่อนแทนการออกดอก

 

ประกอบกับหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไม่ดูแลรักษา เนื่องจากลิ้นจี่เป็นพืชที่ดูแลยาก ทำให้ต้นไม่สมบูรณ์ ช่อดอกไม่สามารถพัฒนาเป็นผลได้ โดยในปีที่แล้วลิ้นจี่ออกสู่ตลาดกระจุกตัวอยู่ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งปีนี้ลิ้นจี่แทงช่อดอกช้าคาดว่าปี2567จะมีผลผลิตลิ้นจี่ออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนเมษายน – กรกฎาคม และจะออกสุดมากในเดือนพฤษภาคมและเดือนมิถุนายน รวมประมาณร้อยละ93.03หรือ2.53หมื่นตัน

 

ทั้งนี้ ข้อมูลนี้จะนำไปใช้ในการบริหารจัดการไม้ผลในที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) และนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ ทั้งนี้ สศก. จะได้ติดตามสถานการณ์การผลิตอย่างต่อเนื่องต่อไปและจะรายงานผลพยากรณ์รอบต่อไปให้ทราบเป็นระยะ เนื่องจากผลไม้มีความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับกระทรวง กรม และจังหวัดได้นำไปใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดการผลไม้ต่อไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME