Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ธนารักษ์เอื้อราษฎร์ เชียงใหม่-เชียงราย

 

เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์จัดพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ประจำปี พ.ศ. 2567 ภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิต” พร้อมขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ระหว่างวันที่ 3 – 4 สิงหาคม 2567 ณ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย โดยในวันที่ 3 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชม. 1927 (บางส่วน) ตำบลขี้เหล็ก อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีนายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี และวันที่ 4 สิงหาคม 2567 มีพิธีมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุ ในแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ชร. 1154 (บางส่วน) ตำบลเวียงพาคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยมีนายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานในพิธี โดยที่ผ่านมากรมธนารักษ์จัดให้เช่าที่ราชพัสดุไปแล้วกว่า 134,728 ราย ทั่วประเทศ

นายจำเริญ โพธิยอด อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการปกครองดูแลที่ราชพัสดุ และสนับสนุนที่ราชพัสดุเพื่อใช้ประโยชน์ในทางราชการตามภารกิจของหน่วยงาน รวมทั้งการดำเนินโครงการตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีเจตนารมณ์ขับเคลื่อนการบริหารจัดการที่ราชพัสดุให้ผลสัมฤทธิ์สูงสุด และตระหนักถึงนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งเน้น
การแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกิน ลดความเหลื่อมล้ำของสังคมและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชน โดยพิจารณาที่ราชพัสดุจากหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในราชการและปล่อยให้มีการบุกรุก มาสนับสนุนโครงการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน และจัดให้ประชาชนที่ถือครองที่ราชพัสดุอยู่ก่อนวันที่ 4 ตุลาคม 2546 เช่าที่ราชพัสดุในอัตราผ่อนปรน ผ่านกลไกการจัดให้เช่าของกรมธนารักษ์ ทำให้ประชาชนที่ยินยอมเช่าที่ราชพัสดุสามารถเข้าถึงสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ การบริการสาธารณะขั้นพื้นฐานของทางราชการ อีกทั้งเป็นการสร้างรายได้ สร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ

สำหรับการมอบสัญญาเช่าให้แก่ราษฎรที่ถือครองที่ราชพัสดุในพื้นที่ครั้งนี้ มีผู้ได้รับสัญญาเช่าที่ราชพัสดุรวม 600 ราย ประกอบด้วย อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 100 ราย เนื้อที่ 281 – 1 – 77 ไร่ และอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จำนวน 500 ราย เนื้อที่ 273 – 0 -76.90 ไร่ โดยในปี พ.ศ. 2567 ได้ดำเนินการจัดให้เช่าที่ราชพัสดุมาอย่างต่อเนื่อง 6 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครพนม จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย รวมจำนวน 1,750 ราย รวมเนื้อที่ 5,418 – 2 – 97.90 ไร่ แบ่งเป็นเพื่ออยู่อาศัย เนื้อที่ประมาณ 824-1-56.90 ไร่ และเพื่อการเกษตร เนื้อที่ประมาณ 4,553 – 1 – 93 ไร่ และจะมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในอีก 5 พื้นที่ ประกอบด้วย จังหวัดนครสวรรค์ กาฬสินธุ์ ปัตตานี สุราษฎร์ธานี และราชบุรี ซึ่งจะมีผู้ได้รับสิทธิเพิ่มเติมประมาณ 829 ราย

อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวโดยสรุปว่า ที่ผ่านมากรมธนารักษ์ได้ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน โดยในปี พ.ศ. 2568 รัฐบาลมีนโยบายดำเนินการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องภายใต้โครงการธนารักษ์เอื้อราษฎร์ “สัญญาเช่าที่ดิน พลิกชีวิตประชาชน” โดยตั้งเป้าหมายในการมอบสัญญาเช่าที่ราชพัสดุให้แก่ประชาชนไม่น้อยกว่า 2,000 ราย ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ศึกษาแนวทางแก้ไขระบบ ชลประทานขาดแคลนน้ำ อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทานและพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตเชียงรายย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีประชาชนชาวเชียงแสนให้การต้อนรับ

 

โดยนายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน และฟังการนำเสนอโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเชียงแสน จากนั้น ได้ร่วมรับฟังแผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย จากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

 

สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเชียงแสน  จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 2,100 ไร่ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้แก่ราษฎรบ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน และหมู่บ้านข้างเคียงรวม 5 หมู่บ้าน จำนวน 5,246 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 9,583 คน ให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศของคูเมืองโบราณ เพิ่มทัศนียภาพ และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของเมืองโบราณเชียงแสนอีกด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

พัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)

 

การประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (IMT-GT)  ระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย

นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรัฐมนตรีประจำแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย-ไทย (Indonesia-Malaysia-Thailand Growth Triangle: IMT-GT) แถลงว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันอังคารที่ 26 กันยายน 2566 มอบหมายให้ตนเป็นรัฐมนตรีประจำแผนงาน IMT-GT และเดินทางเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 แผนงาน IMT-GT ณ เมืองบาตัม จังหวัดหมู่เกาะเรียล สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ในระหว่างวันที่ 28 – 29 กันยายน 2566 เพื่อเข้าร่วมหารือกับรัฐมนตรีประสานงานกิจการเศรษฐกิจ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจ ประเทศมาเลเซียโดย IMT-GT เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่าง 3 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ที่มีความเชื่อมโยงของ 3 ประเทศ โดยได้มีการหารือในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่
1. แผนงานการก่อสร้างความเชื่อมโยงทางกายภาพ (Physical Connectivity Projects: PCPs) แผนงาน PCPs เป็นแผนงานที่มีมูลค่ารวมกว่า 2.10 ล้านล้านบาท โดยในปีที่ผ่านมาโครงการของไทยที่มีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมคือ โครงการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงระหว่างด่านศุลกากรสะเดา-บูกิตกะยูฮิตัม โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโก-ลก แห่งที่ 2 (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) นอกจากนี้ ไทยจะมีการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ในภาคใต้ อาทิ โครงการก่อสร้าง Motor Way หาดใหญ่-สะเดา โครงการก่อสร้าง Land Bridge ชุมพร-ระนอง
2. โครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง แผนงาน IMT-GT มีความก้าวหน้าที่ต่อยอดมาจากการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการเมืองยางพาราและความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมยาง ซึ่งได้ลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีเมื่อเดือนกันยายน 2565 MOU นี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการอำนวยความสะดวกการดำเนินธุรกิจ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของภาคใต้
3. ความร่วมมือด้านการเงินเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศไทยโดยกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยและอินโดนีเซีย ได้ร่วมกันผลักดันให้เกิดการชำระเงินระหว่างประเทศผ่านทาง QR Code เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถชำระเงินเพื่อการซื้อขายสินค้าและบริการได้โดยไม่ต้องแลกเปลี่ยนเงิน และได้แจ้งฝ่ายมาเลเซียเพื่อให้การสนับสนุนเพื่อสร้างความร่วมมือในลักษณะเดียวกันต่อไป

ในการนี้ ที่ประชุมได้ให้การรับรองแถลงการณ์ร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 29 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการร่วมมือกันของประเทศสมาชิก IMT-GT ในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงิน รวมถึงการผลักดันให้พื้นที่อนุภูมิภาค IMT-GT พัฒนาไปอย่างยั่งยืนบนฐานเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นการเน้นย้ำถึงบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของไทยในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนาที่สำคัญในอนุภูมิภาค IMT-GT ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจและสังคมกับประเทศเพื่อนบ้าน อันจะส่งผลให้ไทยมีบทบาทเชิงรุกอย่างสร้างสรรค์และมีความร่วมมือกับนานาชาติในลักษณะที่จะเกื้อหนุนต่อความก้าวหน้าในทุก ๆ ด้าน รวมไปถึงการสร้างผลประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ

อนึ่ง ในวันที่ 28 กันยายน 2566 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับ Mr. Winfried F. Wicklein ผู้อำนวยการสำนักเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ในประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาเครื่องมือทางการเงิน เช่น ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond: SLB) และการสร้างความร่วมมือทางการเงินเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอนาคตอันใกล้นี้ โดย ADB ได้ตอบรับประเด็นดังกล่าวและจะให้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3613

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงการคลัง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News