Categories
EDITORIAL

ข้อคิดคำนึงเรื่องแจกเงิน 10,000 บาท โดย ผศ.ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย

 

ข้อคิดคำนึงเรื่องแจกเงิน 10,000 บาท ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2567” กำลังเริ่มจ่ายโอนเงิน 10,000 บาท เพื่อเข้าบัญชีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและบัตรผู้พิการ ตั้งแต่วันที่ 25-30 ก.ย. จำนวน 14.4 ล้านคน คิดเป็นเงิน 1.44 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลไม่มีข้อจำกัดด้านการใช้จ่าย

ในด้านอุปสงค์ของระบบเศรษฐกิจ ผู้รับเงิน คือ ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ เคยมีข่าวกรณีที่ สตง. ลองสุ่มตรวจผู้เสียชีวิตจำนวน 100 กว่าคน แล้วพบว่ามีจำนวนผู้เสียชีวิตที่ยังใช้สิทธิ์บัตรประชารัฐประมาณ 22 คน เมื่อช่วงปี 2564 (‘ก้าวไกล’ พบพิรุธ ‘กองทุนสวัสดิการแห่งรัฐ’ หากินกับคนตาย บนความทุกข์คนเป็น  ‘วรรณวิภา’  เผย ผลสุ่มตรวจ สตง. เจอชื่อคนตายยังได้รับเงินเกือบ 1 ใน 5 https://voicetv.co.th/read/X756rNYip)

ในด้านอุปทานของระบบเศรษฐกิจ ข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์ แสดงให้เห็นว่า ปีล่าสุด 2566 บริษัทค้าปลีก CPALL มีรายได้ 9.2 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 1.8 หมื่นล้านบาท, เซ็นทรัลรีเทล (CRC) มีรายได้ 2.5 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 8 พันล้านบาท, และ เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC) มีรายได้ 1.7 แสนล้านบาท กำไรสุทธิ 4.7 พันล้านบาท คิดเป็นรายได้ธุรกิจค้าปลีกของ 3 ตระกูล คือ 1.3 ล้านล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลประมาณการ GDP ปี 2566 (สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์) โดยสภาพัฒน์ อยู่ที่ 2.6 ล้านล้านบาท

ปัจจุบัน ร้าน 7-Eleven มีสาขาทั่วประเทศ 14,545 แห่ง มียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวัน ประมาณ 8 หมื่นบาท มีจำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ยเกือบ 1 พันคน ซึ่ง CPALL มีกำไรธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 1.5 หมื่นล้านบาท เติบโต 35% ในปี 2566 ซึ่งเป็นกำไรสูงสุดตั้งแต่หลังโควิด อีกทั้งคิดเป็นกำไรมากกว่า  80% ของ CPALL มาจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อ ยิ่งไปกว่านั้น ปี 2566 ที่ผ่านมา รายได้ธุรกิจร้าน 7-Eleven มีมูลค่า 3.99 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.5 หมื่นล้านบาท หรือเติบโต 13% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า

คำถามพื้นฐาน คือ เป้าหมายการกระตุ้นเศรษฐกิจ จะได้ผลจริงจังมีเงินจะหมุนเวียนตามทฤษฎี `ตัวทวีคูณทางการคลัง’ (fiscal multiplier) มากน้อยเพียงใด? แต่อย่างน้อยก็จะพอช่วยต่อชีวิตคนจนจริงที่ได้รับสิทธิ์ไปได้บ้าง และ อาจจะพอทำให้เศรษฐกิจฐานรากมีกำลังซื้อในชุมชนเพิ่มขึ้นตามกำลัง

ทั้งนี้ ในฐานะคนไทยผู้รักชาติ ผู้เขียนก็ยังคงหวังที่จะเห็นรัฐบาลสร้างความหวังให้มีอนาคตสำหรับประชาชนได้เหมือนนโยบายสมัยก่อนที่มีกองทุนหมู่บ้าน การจัดตั้งธนาคารประชาชน เป็นยุคที่ OTOP SMEs รุ่งเรือง และ ประชาชนจับจ่ายใช้สอยทำให้ธุรกิจคึกคัก เพียงแต่ในสมัยยุคปัญญาประดิษฐ์ผสมผสานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้ จะทำอย่างไรให้คนไทยส่วนใหญ่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นมาได้ทันก่อนแก่ หากสามารถนำแนวทางที่อดีตนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อ 26 ก.พ. 2544 คือ จะต้องมี “การลงทุนเพื่อสร้างรายได้ใหม่ให้กับประชาชนและให้กับรัฐในที่สุด” เพื่อมาปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ก็น่าจะเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวง และ ได้รับคะแนนเสียงท่วมท้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

อ่านเพิ่มเติม เศรษฐศาสตร์เรื่องการแจกเงินดิจิทัล… https://www.isranews.org/article/isranews-article/126307-digital-5.html

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ศบภ.มทบ.37 ลงพื้นที่ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ฟื้นฟูบ้านเรือนในชุมชนแม่สาย

 

เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2567 กองบัญชาการกองทัพบกที่ 37 (ศบภ.มทบ.37) โดย กองพันทหารราบที่ 17 กรมทหารราบที่ 3 ในพระองค์ฯ (ร.17 พัน.3 ในพระองค์ฯ) ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือฟื้นฟูบ้านเรือนของประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม โดยได้ปฏิบัติภารกิจในพื้นที่ชุมชนไม้ลุงขน, ชุมชนเกาะทราย และพื้นที่ใกล้เคียง ในเขตอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย การลงพื้นที่ในครั้งนี้ถือเป็นการช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนและสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ประสบภัยให้กลับมามีความหวังอีกครั้ง

ลงพื้นที่ฟื้นฟูบ้านเรือนและโรงเรียนในชุมชนไม้ลุงขน

การปฏิบัติภารกิจครั้งนี้ เริ่มจากการทำความสะอาดโรงเรียนบ้านไม้ลุงขน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ทางเจ้าหน้าที่จาก ศบภ.มทบ.37 ได้ช่วยกันล้างทำความสะอาดพื้น กำแพง รวมถึงจัดเก็บสิ่งของที่ถูกโคลนและเศษซากต่าง ๆ ที่ถูกน้ำพัดมากองทับถมกันหลังน้ำลด เพื่อเตรียมความพร้อมให้โรงเรียนสามารถกลับมาเปิดทำการเรียนการสอนได้ตามปกติเร็วที่สุด

นอกจากนี้ ศบภ.มทบ.37 ยังได้ลงพื้นที่เพิ่มเติมตามคำร้องขอของผู้ใหญ่บ้านในชุมชน เพื่อเข้าช่วยเหลือทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย ในพื้นที่บ้านไม้ลุงขน หมู่ที่ 10 ตำบลแม่สาย อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย หนึ่งในบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือคือ บ้านของนางภัณฑิลา มูลเมืองคำ ซึ่งเป็นบ้านในกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถซ่อมแซมได้เอง เนื่องจากสภาพโครงสร้างที่เสียหายหนักจากโคลนและน้ำท่วม ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ช่วยกันทำความสะอาด กำจัดดินโคลนที่ทับถมอยู่ภายในบ้าน และซ่อมแซมจุดที่เสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เจ้าของบ้านสามารถกลับเข้าไปอยู่อาศัยได้อย่างปลอดภัยอีกครั้ง

ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานทหารและชุมชน

การดำเนินการช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น แต่ยังได้รับความร่วมมือจากชุมชนและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ที่ช่วยประสานงานและนำเสนอข้อมูลการช่วยเหลือที่ต้องการเป็นลำดับแรก เพื่อให้การฟื้นฟูเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงกับความต้องการของประชาชน โดยการสนับสนุนจาก ร.17 พัน.3 ในพระองค์ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่มีความเชี่ยวชาญในการฟื้นฟูและบรรเทาสาธารณภัย เป็นการแสดงถึงความร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชนท้องถิ่น

สร้างขวัญกำลังใจและคืนความหวังให้ผู้ประสบภัย

หนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการช่วยเหลือครั้งนี้ ไม่เพียงแค่การทำความสะอาดและซ่อมแซมบ้านเรือน แต่ยังมุ่งเน้นการสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ผู้ประสบภัยที่อยู่ในกลุ่มเปราะบาง ซึ่งบางครอบครัวสูญเสียทั้งทรัพย์สินและบ้านเรือน การลงพื้นที่ของเจ้าหน้าที่จาก ศบภ.มทบ.37 นอกจากจะช่วยเหลือด้านแรงงานแล้ว ยังได้พูดคุยและให้คำแนะนำเกี่ยวกับการฟื้นฟูบ้านเรือนและการดูแลสุขอนามัยหลังน้ำลด เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคที่อาจมาจากสภาพแวดล้อมที่ไม่สะอาด

นางภัณฑิลา มูลเมืองคำ หนึ่งในผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือกล่าวว่า “รู้สึกซาบซึ้งและดีใจมากที่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ทหารและชุมชน ทุกคนเข้ามาช่วยกันทำความสะอาด ซ่อมแซมบ้าน และให้กำลังใจ ทำให้มีกำลังใจที่จะกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้ง ขอบคุณทุกคนมาก ๆ ค่ะ”

มุ่งมั่นฟื้นฟูและเตรียมพร้อมรับมือภัยพิบัติในอนาคต

นายสมจิตร เปี่ยมเปรมสุข อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ไม่ใช่เพียงแค่การซ่อมแซมและฟื้นฟู แต่ยังมีการวางแผนการป้องกันและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในอนาคต ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน ทาง วสท. จะทำการสำรวจและออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมเพิ่มเติมเพื่อให้ชุมชนสามารถป้องกันและลดผลกระทบจากน้ำท่วมในครั้งต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน

จากความช่วยเหลือครั้งนี้ ทำให้เห็นถึงความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการ ภาคประชาชน และชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นฟูบ้านเรือนและสภาพแวดล้อม นับเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความเข้มแข็งและความสามัคคีในชุมชน ทำให้การช่วยเหลือครั้งนี้ไม่เพียงแค่การซ่อมแซมบ้านเรือนเท่านั้น แต่ยังเป็นการฟื้นฟูจิตใจและสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกคนที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
ECONOMY

นายกฯ ห่วงกลุ่มเปราะบางปรับตัวไม่ทันเศรษฐกิจ แจ้งนโยบายหน่วยงานเน้นดูแล

 

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ขณะนี้ข้อมูลเศรษฐกิจไทยหลายด้านจะปรับตัวดีขึ้น อาทิ  การท่องเที่ยว การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ยังคงมีความห่วงใยประชาชนในกลุ่มเปราะบางที่รายได้ฟื้นตัวช้า มีภาระหนี้สูง ที่ต้องมีการดูความสามารถในการชำระหนี้ให้ดี เนื่องจากเวลานี้อยู่ในช่วงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้มีความเหมาะสม

นายกรัฐมนตรีได้ให้แนวนโยบายแก่หน่วยงานเกี่ยวข้อง ให้เน้นการดูแลประเด็นหนี้สินครัวเรือนพุ่งเป้าไปที่กลุ่มเปราะบางเฉพาะกลุ่ม รวมถึงกลุ่มผู้เป็นหนี้นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบเพื่อให้ทางการเห็นข้อมูลและมีมาตรการช่วยเหลือที่เหมาะสม ไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบหรือถูกกระทำการที่ผิดกฎหมาย

“นายกรัฐมนตรีได้รับทราบตามรายงานของหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ อาทิ กระทรวงการคลัง สภาพัฒน์ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ว่าในเรื่องของเสถียรภาพระบบการเงิน การชำระหนี้ในภาพรวมทั้งประเทศตอนนี้อยู่ในระดับที่ดี ไม่น่ากังวล ไม่จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่หรือมาตรการที่ใช้ในวงกว้างเหมือนช่วงมีการแพร่ระบาดของโควิด19 แต่ให้มีมาตรการพุ่งเป้าดูแลแบบเฉพาะกลุ่มครัวเรือนเปราะบางที่อาจยังปรับตัวไม่ได้ รวมถึงกลุ่มหนี้นอกระบบ”น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 กระทรวงการคลัง ธปท. ได้ร่วมกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารพาณิชย์ ผู้ประกอบการด้านการเงินแต่ไม่ใช่ธนาคาร(นอนแบงก์) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ออกมาตรการช่วยเหลือผู้เป็นหนี้ในระบบผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การปรับโครงสร้างนี้ การผ่านปรนเกณฑ์การชำระหนี้ ครอบคลุมลูกหนี้ทุกประเภท ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี และลูกหนี้รายย่อย และมีการปรับปรุงมาตรการให้สอดคล้องสถานการณ์มาโดยต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่1/66  มีผู้ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการของรัฐ แยกเป็นการช่วยเหลือผ่านธนารพาณิชย์และนอนแบงก์ 1.94 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.89 ล้านล้านบาท ผ่านธนาคารเฉพาะกิจ 3.32 ล้านบัญชี ยอดภาระหนี้ 1.48 ล้านล้านบาท รวมการได้รับความช่วยเหลือทั้งสิ้น 5.26 ล้านบัญชี วงเงินรวม 3.37 ล้านล้านบาท

ส่วนการให้ความช่วยเหลือผู้เป็นหนี้นอกระบบธนาคารเฉพาะกิจก็ได้มีโครงการออกมาให้ความช่วยเหลือต่อเนื่อง เช่นกรณีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)  ได้เปิดจุดให้คำปรึกษาเกี่ยวกับหนี้นอกระบบแก่ครอบครัวเกษตรกรที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และล่าสุดได้มีโครงการ “มีหนี้นอกบอก ธ.ก.ส.” เพิ่มความสะดวกให้ผู้ต้องการใช้บริการให้ดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ได้ โดยลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการผ่าน www.baac.or.th หรือ Line Official Account: BAAC Family กรอกข้อมูลส่วนบุคคลที่จำเป็น ภาระหนี้สิน และช่องทางติดต่อกลับในระบบ จากนั้นธนาคารจะติดต่อกลับเพื่อนัดหมายเข้าพบพูดคุยให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งตั้งแต่มีโครงการช่วยเหลือครอบครัวเกษตรกรที่เป็นหนี้นอกระบบ ธ.ก.ส. ได้ช่วยผู้อยู่นอกระบบให้เข้ามาอยู่ในระบบแล้ว 710,123 ราย เป็นเงิน 59,759.77 ล้านบาท ซึ่งผู้สนใจโครงการสามารถสอบถามที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศและ Call Center ธ.ก.ส. 02 555 0555

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News