นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางไปยังถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน “ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติรับลมหนาว” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 นี้เป็นต้นไป
นายอรรถพล กล่าวว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดงาน Thailand Winter Festival โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สนับสนุนโครงการโดยจะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ “ท่องเที่ยวอุทยานรับลมหนาว” ในวันที่ 15 ธ.ค.จะมีการจัดนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในฤดูหนาวทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือและทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย โดยจะมีการจัดนิทรรศการที่ถ้ำหลวงเเปิดตัวและรณรงค์พร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาแหล่งธรรมชาติต่างๆ มากขึ้น เช่น เส้นทางธรรมชาติ ท่องเที่ยวผจญภัย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามพัฒนาเพื่อรองรับการเผจิญภัยดังกล่าวโดยไม่ให้กระทบกับธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ถ้ำหลวงจะมีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าเมื่อปี 2561 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์ขึ้นมารองรับด้วย
นายอรรถพล กล่าวอีกว่าได้มีการปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายจะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมถ้ำหลวงได้จนโถงที่ 3 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์เพื่อให้ความรู้เพราะปัจจุบันผู้ไปเยือนจะซึมซับเรื่องราวได้เพียงแค่ครึ่งเดียวเจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันให้มีมัคคุเทศน์ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ได้มากต่อไป สำหรับการเปิดให้เข้าชมถ้ำหลวงนั้นจะมีการจำกัดคนเข้าไปเบื้องต้นครั้งละ 10 คน และมีมัคคุเทศน์พร้อมคนนำทางอีก 2 คน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในปฏิบัติการ คน อุปกรณ์ ความเสี่ยงภัย เวลาในการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ โดยจะมีการจัดระบบมีการลงทะเบียนให้ถูกต้อง คัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมของร่างกายและที่สำคัญคือการคัดเลือกผู้เข้าไปชมให้ยุติธรรมด้วย
ด้านนายจอร์ช มอริส ผู้ก่อตั้งทีม CMRCA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหนือเยาวชนทั้ง 13 คนในถ้ำหลวง กล่าวว่าไม่เคยมีเหตุการณ์แบบถ้ำหลวงในโลกมาก่อนโดยมีคนนับหมื่นคนระดมกำลังช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่า มีการดำน้ำช่วงต้นระยะทาง 800 เมตร แต่หลังจากนั้นบุคคลภายนอกแทบไม่มีใครรู้เรื่องราวว่ายังมีระยะทางที่ต้องดำน้ำอีก 800 เมตร โดยจากโถงถ้ำที่ 2-3 จะต้องสร้างระบบเชือกที่ต้องใช้เทคนิคตากหลายฝ่าย เช่น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยชีล) ทหารสหรัฐอเมริกา หน่วยกู้ภัยที่เป็นจิตอาสาของไทย ฯลฯ เพื่อให้เป็นสะพานเชือกในการลำเลียงเยาวชนทั้ง 13 คนมากับเปล ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจึงเป็เรื่องน่าสนใจว่าไม่ใช่เรื่องดำน้ำแต่มีภารกิจอื่นที่หนักเช่นกัน
“นักท่องเที่ยวสามารถไปดูเป็นจุดๆ ว่ามีการจัด Base กองอำนวยการข้างในถ้ำตรงไหน เมื่อเข้าไปก็จะเจอน้ำลึก มีการวัดปริมาณน้ำเพื่อดูว่าปั๊มน้ำจะทำงานได้อย่างไร จนถึงโถงที่ 2 ก็จะเห็นสลิง ถ้าเลยโถง 2 ถึงโถง 3 ก็จะเป็น Base กองอำนวยการที่มีหลายหน่วยงานอยู่ที่นั่น เพื่อให้ดูว่าการดำน้ำเริ่มต้นจากตรงไหนและจะได้เห็นว่าการดำน้ำนับจากตรงนั้นมีความยากลำบากขนาดไหน” นายจอร์ช มอริส กล่าว.
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย