Categories
FEATURED NEWS

“Help You,Help Me” ปีที่ 5 มอบรางวัล “สื่อบุคคล” ช่วยภาคสังคม

 

โครงการ Help You,Help Me ภายใต้แนวคิด Influencer for Change โดย Tellscore หนึ่งในผู้นำด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์ เกิดขึ้นด้วยคุณค่าหลัก “คุณช่วยสังคม ให้เราช่วยคุณ” ด้วยความเชื่อว่า พลังของอินฟลูเอนเซอร์/ครีเอเตอร์ สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในประเด็นทางสังคมได้อย่างมีนัยยะสำคัญ วัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้พลังการสื่อสารของอินฟลูเอนเซอร์/ครีเอเตอร์ บรรเทาปัญหาสังคมที่หลากหลายผ่านคอนเทนต์ที่มีพลังและความคิดสร้างสรรค์ และเพื่อสร้างความตระหนักรู้ด้านการสื่อสารเพื่อภาคสังคมให้อินฟลูเอนเซอร์/ครีเอเตอร์ได้เติบโตไปกับสังคมไทยที่ดีขึ้นด้วย

 

ทั้งนี้ แคมเปญที่ได้รับรางวัลของปี 2567 จะเป็นโครงการที่ผ่านการเลือกสรรโดยคณะกรรมการจากเทลสกอร์ว่ามีความเหมาะสมที่จะใช้สื่อบุคคลสื่อสารระดมการมีส่วนร่วมจากประชาชน ในปีนี้มี 7 แคมเปญเพื่อสังคมที่ได้รับรางวัลมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย 1.โครงการ Hmong Cyber Season 5  (Hmong Cyber Social Enterprise )  2. โครงการ ต้องแฉ MustShare แคมเปญ สังคมยกมือ (แฮนด์วิสาหกิจเพื่อสังคม)3. โครงการ No Tree No Breath No life (มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่) 4. โครงการ Dao Ethical Gifts  (Dao Ethical Gifts) 5. โครงการ ทุนการศึกษา (มูลนิธิยุวพัฒน์) 6. โครงการ Saturday School  (มูลนิธิโรงเรียนวันเสาร์) 7. โครงการ Change Journey  (ณ สมดุลย์ฯ ศูนย์สร้างเสริมสุขภาว และพัฒนาสมดุลชีวิตองค์รวม) และรางวัลปีนี้พิเศษตรงที่จะเป็นสื่ออินฟลูเอนเซอร์/ครีเอเตอร์ที่มีจำนวนผู้ติดตามหลักแสนคน (Medium Influencer/Creator) รางวัลละ 3 สื่อบุคคล อีกทั้งยังเน้นช่องทาง Tiktok  เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงกลุ่มผู้ติดตามใหม่ๆ ให้กับภาคีภาคสังคมให้มากที่สุด

 
 คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย” กล่าวว่า การที่โครงการนี้มีความต่อเนื่องสู่ปีที่ 5 ก็เพราะเกิดการยื่นมือเข้ามาช่วยซึ่งกันและกัน  แน่นอนว่า มีองค์กร บุคคลที่ทำงานด้านสังคมอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าทุกคนมีศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยใช้ความรู้ ความเชี่ยวชาญที่มีให้เกิดประโยชน์ และประสานเชื่อมโยงกัน   

 

“ผมคิดว่า ทุกคนสามารถเป็นตัวคูณในการแก้ไขปัญหาสังคมได้ ดังที่เทลสกอร์ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการจับคู่สื่อบุคคลให้มาช่วยภาคสังคม ขอขอบคุณทุกองค์กรที่หยิบยื่นทรัพยากรที่มีมาช่วยกันพัฒนาและยกระดับสังคมให้เข้มแข็งขึ้น เป็นสังคมที่ดีแก่คนถ้วนหน้า” ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ“คนไทย” กล่าว

 คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า ปัญหาสังคมมีหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ผู้สูงวัย คนพิการ หนี้ครัวเรือน หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ขณะเดียวกันมีหน่วยงานภาคสังคมที่กำลังทำหน้าที่เป็นแนวหน้าในการชักชวนผู้คนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาเหล่านั้น แม้ไม่มีความพร้อมในทุนทรัพย์ หรือองค์ความรู้ที่จะช่วยสร้างการรับรู้และกระจายผลงานให้เกิดการมีส่วนร่วมในวงกว้าง เทลสกอร์จึงขอเติมเต็มช่องว่างที่หายไปด้วยการนำความชำนาญด้านอินฟลูเอนเซอร์ มาร์เกตติ้งเข้าไปเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนในการช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น

 

“สื่อบุคคลในระบบเทลสกอร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางสื่อสารแคมเปญเพื่อสังคมให้เข้าถึงประชาชนทั่วไป จนเกิดกระบวนการทำซ้ำด้านความดี และผลกระทบทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นหลังกระบวนการสื่อสาร ไม่ว่าจะสื่อสารเพื่อช่วยภาคสังคมระดมทุน หรือเชิญชวนประชาชนมาเป็นอาสาสมัคร หรือมาร่วมกิจกรรม” คุณสุวิตากล่าว

 

 คุณสุดาพร สิงหเทพธาดา ผู้จัดการ Dao Ethical Gifts ธุรกิจเพื่อสังคมที่มุ่งเน้นเสริมพลังผู้หญิงเปราะบาง หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลกล่าวว่ารู้สึกยินดีที่ได้ร่วมกิจกรรมนี้เพราะต้องการแรงสนับสุนจากสื่ออินฟลูอินเซอร์ที่มีใจมากช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกให้สังคมและขยายผลงานพัฒนาความยั่งยืนและเสริมพลังผู้หญิงกลุ่มเปราะบางด้วยการเชิญชวนสังคมมาอุดหนุนสินค้าฝีมือแม่ๆ เหล่านี้ โครงการ Help You,Help Me ไม่ใช่การแข่งขัน เพราะผู้นำเสนอโครงการทุกท่านต่างเป็นผู้ชนะตัวจริงด้วยคุณค่าที่ทุกคนได้สร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
 
 
คุณอรยา สูตะบุตร ผู้ร่วมก่อตั้ง Big Trees เปิดใจว่า รู้สึกยินดีที่ครั้งนี้ Big Trees ได้รางวัลเพราะคณะทำงานตั้งใจมาก มีการปรับแก้สไลด์นำเสนอและซ้อมกันหลายรอบถึงขนาดว่าถ่ายคลิปแล้วดูตัวเองด้วยว่าต้องปรับปรุงอย่างไร และเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มาจากการได้เข้าเวิร์คชอปหัวข้อการนำเสนอโครงการที่ดีจากงาน Good Society  Day ที่ผ่านมา

 

สำหรับอินฟลูเอนเซอร์ที่มาร่วมกิจกรรม Help You,Help Me ปีนี้ อาทิ คุณศศิภัทร์  อิทธิโสภณพิศาล (TikTok: ive_sasi), คุณปริญญาทิพย์  แก้วบัวดี (TikTok: sstangbah), คุณณัฐรดา สุขสุธรรมวงศ์ (TikTok: krutookta_natrada), คุณยุวดี   ปิ่นทองทิพย์  (Facebook: January Pinthongtip) และคุณอัญชิษฐา เรียบร้อย (Facebook: Anchittha Riabroi) รวมทั้งเครือข่ายภาคธุรกิจที่เข้ามาร่วมมือเป็นปีแรก ประกอบด้วย บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล, COBE by SC Asset, บมจ.ซีพี ออลล์, ศูนย์การค้าสยามพารากอน และ SCBX NEXT TECH

 

 ตลอดระยะเวลา 4 ปีของการจัดกิจกรรม Help You, Help Me มีหน่วยงานภาคสังคมเข้าร่วมเสนอโครงการมากกว่า 100 โครงการ และมีโครงการที่ได้รับสนับสนุนสื่ออินฟลูเอนเซอร์โดยไม่มีค่าใช้จ่ายไปแล้วกว่า 24 โครงการ มีอินฟลูเอนเซอร์ร่วมผลิตคอนเทนต์เพื่อช่วยสื่อสารขยายผลไปกว่า 1,200 คน สำหรับใน ปี 2567 นี้ ได้รับความสนใจจาก 25 ภาคีภาคสังคมร่วมส่งนำเสนองาน และมีองค์กรเข้าร่วมกิจกรรมนี้กว่า 30 องค์กร นอกจากนั้น ยังมีผู้นำทางความคิด เช่น ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอรัปชัน (ประเทศไทย) รวมทั้ง คุณกาวิน ควงปาริชาต ผู้ร่วมก่อตั้ง DOTS COFFEE ร้านกาแฟที่มีผู้พิการทางสายตาเป็นบาริสต้ามาแบ่งปันประสบการณ์ที่ได้รับสนับสนุนสื่อจากโครงการนี้ด้วย

 

สามารถติดตามรายละเอียดโครงการเพื่อสังคมที่ร่วมกิจกรรม Help You,Help Me เพื่อยื่นมือเข้ามาช่วยกันอีกแรง ได้ที่ https://helpyouhelpme.tellscore.com/  หรือรับชมวิดีโอ https://www.youtube.com/watch?v=ruhrQJnf91s

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

SONP จับมือ MarTech เสริมแกร่งทักษะสื่อยุคดิจิทัล One Day Training ครั้งที่ 2

 

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566  ณ ห้องแมนดาริน ซี ชั้น 1 โรงแรมแมนดาริน สามย่าน กรุงเทพฯ สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) ร่วมกับกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ในโครงการความร่วมมือองค์กรสื่อขับเคลื่อนพัฒนาวิชาชีพและส่งเสริมจริยธรรมสื่อเพื่อสร้างระบบนิเวศสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดให้มีการฝึกอบรม One Day Training แลกเปลี่ยน – เรียนรู้กับกูรูออนไลน์ ประจำปี 2566 ครั้งที่ 2  หัวข้อ “ความสำคัญของ MarTech กับอุตสาหกรรมสื่อดิจิทัล ในยุค Digital Era” โดยได้รับความร่วมมือจากสมาคมเทคโนโลยีเพื่อการตลาด (MerTech)  ในการจัดอบรมในครั้งนี้ วัตถุประสงค์ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาทักษะให้แก่บุคลากรด้านการผลิตข่าว การตลาด รวมทั้งการสร้างรายได้ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อในยุคดิจิทัล มีสมาชิกผู้เข้าอบรม จำนวน 58 ท่าน

การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณชุตินธรา วัฒนกุล ที่ปรึกษาสมาคมฯ และบรรณาธิการบริหารข่าวออนไลน์ องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวต้อนรับวิทยากร และผู้เข้ารับการอบรม

 

          คุณชุตินธรา กล่าวว่า “ในยุคที่เทคโนโลยีสื่อสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เรามีข้อมูลขนาดมหาศาลที่เรียกว่า Big Data เกิดขึ้น การตลาดดิจิทัลก็พัฒนาไปอย่างรวดเร็วแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มีเครื่องมือมากมายเลยสำหรับการทำการตลาด สามารถจะเอามาใช้ในการวิเคราะห์ในการวางกลยุทธ์ เราจะนำคอนเท้นท์ไปถึงกลุ่มผู้บริโภคได้อย่างไร จะหากลุ่มเป้าหมาย อย่างไร และจะนำเสนอผ่านแพลตฟอร์มอะไร เราจะปรับปรุงพัฒนาตัวคอนเท้นท์ของเราให้มีประสิทธิภาพอย่างไร เครื่องมือการตลาดสามารถช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ หวังว่าความรู้และทักษะที่ผู้อบรมจะได้รับจากผู้บรรยาย จะสามารถที่นำไปประยุกต์ พัฒนา ปรับปรุงเนื้อหาของเราให้มีคุณภาพ วางแผนกลยุทธ์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นพร้อมรับมือ AI ที่กำลังจะมา”

 

            ด้าน คุณนันทสิทธิ์ นิตย์เมธา นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่า “นับว่าเป็นโอกาสดีที่ผู้บริหารคนรุ่นใหม่กลุ่ม Start up ในสมาคมเทคโนโลยีเพื่อการตลาดได้มาแชร์ความรู้ ประสบการณ์ทำงาน ในด้าน MerTech เพื่อตอบคำถามของสื่อมวลชนว่า เป้าหมายการทำงานต่อจากนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน แกนหนึ่งที่สำคัญคือ  “เรื่องของข้อมูล” เป็นสิ่งสำคัญในยุคนี้อย่างยิ่ง สามารถไปต่อยอดในด้านกลยุทธ์หรือการขายก็ได้  เช่น  ข้อมูลของเพจ “ส่องสื่อ” ที่รวมรวม Engagementโดยจัดเรียงอันดับ ทำให้เราเห็น ความสัมพันธ์ของจำนวนการโพสต์ กับจำนวนผู้ติดตามในแต่ละเพจอย่างชัดเจน ” 

 

         การอบรมครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก คุณจิตติพงศ์ เลิศประดิษฐ์ นายกสมาคมเทคโนโลยีเพื่อการตลาด หรือ MarTech มาบรรยายถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการตลาดมาช่วยในการปรับปรุง หรือ สร้างวิธีการทำงานแบบใหม่ เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด  “MarTech คือ เครื่องมือที่ทำให้การทำการตลาดยุคใหม่ไม่ต้องใช้วิธี Manual เราสามารถทำแบบ Automation ได้ ซึ่ง MarTech มาจากการความก้าวหน้าของการใช้  Software ที่อยู่บนคลาวด์ SAAS (Software AS A Services)  ใช้ประโยชน์ได้มากมาย อาทิเช่น การเก็บข้อมูลจาก Social การช่วยตัดสินใจในธุรกิจ (Data Driven Business) ช่วยในการเก็บข้อมูลลูกค้า การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM) การทำการตลาดอัตโนมัติ (Marketing Automation)”

 

          คุณกล้า ตั้งสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Wisesight ให้มุมมองเรื่องการทำงานที่ท้าทายในปัจจุบัน Trend ของ Social media ไม่ได้หยุดแค่ Social Media  เพราะบริบทของ Social Media หมายถึง ผู้บริโภคทั้งหมด What Next 2024 มาดูกันว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง และคอนเท้นท์บน Social media มีการปรับเปลี่ยนไปอย่างไร บริบทของสังคมในภาพใหญ่ ปรับเปลี่ยนอย่างไร เพื่อให้เราสามารถวางแผนกลยุทธ์ หรือวาง Tactic ได้ว่าในปี 2024  เราควรจะปรับตัวเรื่องอะไรบ้าง การเปลี่ยนแปลงในเชิงปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI Disruption ถ้าใครปรับตัวใช้งานปัญญาประดิษฐ์ได้ก่อน ก็จะสามารถสร้างความได้เปรียบในปี 2024 ค่อนข้างมาก “ในอนาคต งานจะเหมือนเดิม แต่วิธีการทำงานจะเปลี่ยน ถ้าเราทำเหมือนเดิม เราจะตกยุค”

 

          คุณณัฐกรณ์ รัตนชัยสิทธิ์  ผู้บริหารและหนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัท พรีดิกทีฟ  (Predictive) ผู้ให้บริการด้าน Data Intelligent กล่าวถึง “การนำเครื่องมือ เทคโนโลยีการตลาดมาใช้ ทั้งในด้าน กระบวนการ วิธีคิด และกลยุทธ์ ในฐานะสื่อจะสามารถสร้างรายได้มากขึ้นจากการใช้ข้อมูล ไม่ว่าจากการวิเคราะห์ Segmentation ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาบนเว็บไซต์ ว่าเขาต้องการอะไรบ้าง ทั้งในแกนของ นักการตลาดและแกนของผู้ใช้งาน  พวกเขามีความคาดหวังอย่างไรบ้าง เราสามารถนำข้อมูล มาสร้างมูลค่าเพิ่มในการหารายได้อย่างไร ซึ่งกระบวนการคิดจะเริ่มจาก ต้องรู้ว่าปัจจุบันข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กร ที่จัดเก็บมาเป็นสิบๆ ปีมีตรงไหนบ้าง นำมาสร้างมูลค่าให้เราได้ การนำข้อมูลไปสร้างธุรกิจใหม่ๆ หรือสามารถ Monetized เพื่อเพิ่มรายได้ให้เกิดขึ้น เช่น การทำ CPM ถ้าเรานำข้อมูลมาวิเคราะห์แยกแยะประเภทของข้อมูลให้ละเอียดมากขึ้น เราก็จะอาจจะขายได้ในมูลค่าที่มากกว่าเดิม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่เราวางกลยุทธ์ไว้ สามารถนำไปสร้างรายได้อย่างไรบ้าง ข้อมูลไม่ได้มาฟรี ๆ คุณต้องลงทุนเพื่อให้สามารถเข้าถึงข้อมูลและพฤติกรรมของลูกค้า ”

 

          คุณภาวัต พุฒิดาวัฒน์  ผู้บริหาร บริษัท โกเซล  (Gosell) สตาร์ทอัพผู้ให้บริการด้าน ระบบจัดการคำสั่งซื้อและการจัดส่งสินค้าออนไลน์ กล่าวถึงการทำการตลาด  Ecommerce & Affiliated Marketing ว่า สื่อทุกค่ายมี Follower หรือผู้ติดตามจำนวนมากอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ การเพิ่มช่องทางการขาย เช่นการทำ Affiliate การเพิ่มรายได้จากฝั่ง E commerce นำไปปรับใช้กับธุรกิจสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตมากขึ้น และแพลตฟอร์มที่น่าสนใจที่สุดในเวลานี้คือ TikTok ที่ Disruption วิธีการขาย Affiliate แบบเก่า กลายมาเป็นรูปแบบของคลิปวีดีโอ ซึ่งสามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับกลุ่ม Influencer

 

          คุณชนกานต์ ชินชัชวาล ผู้บริหาร บริษัท Robolingo (ZWIZ.AI) ผู้ให้บริการระบบ AI Chat Bot และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก บรรยายในหัวข้อ “ Social Commerce” แนะการหารายได้ บนช่องทาง Social Media เช่น Facebook  Line, IG, TikTok และ การนำ Automation Tool  มาช่วยในการขาย เช่น ออกรายการทีวีแล้วปิดการขายผ่าน Line ผ่าน Chat Facebook มีตัวช่วยเยอะมาก ถ้าสื่อบวกกับ MarTech ในเชิงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ จะช่วย Brand และผู้ประกอบการ เรื่องยอดขายได้มากขึ้น เพิ่ม Reach การเข้าถึงได้มากขึ้น การออกแบบโครงสร้าง Chatbot ให้ดี ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และนำไปสู่การเพิ่มยอดขายได้

 

          คุณอัจฉริยะ ดาโรจน์ ผู้บริหารบริษัท AIYA บรรยายในหัวข้อ Proximity Marketing หรือการทำการตลาดแบบใกล้ชิด โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น  การทำ Location base Marketing ใน Line Application เป็นการตลาดที่น่าสนใจ มุ่งเน้นไปที่การเจาะกลุ่มลูกค้าตามโลเคชั่นเฉพาะจุดใดจุดหนึ่ง สามารถวัดสถิติได้ เป็นการสื่อสารที่ไม่มีค่าใช้จ่าย และสามารถสร้างผู้ติดตามใน Line

กล่าวโดยสรุป การใช้เทคโนโลยีในการทำการตลาดยุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับธุรกิจ มีความสำคัญต่อการปรับตัวขององค์กรสื่อ เพื่อมองหาโอกาสในการหารายได้เพิ่ม และเรียนรู้เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงเนื้อหา เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เล็งเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการพัฒนาบุคคลากรองค์กรสื่อให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น และโครงการ One Day Training เป็นหนึ่งในโครงการที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพดังกล่าวให้เกิดขึ้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
FEATURED NEWS

“300 อินฟลูเอนเซอร์อาสา” ร่วมเป็นกระบอกเสียงโครงการเพื่อสังคม

 

Tellscore จับมือ มูลนิธิเพื่อ“คนไทย” และ “ร้อยพลังสร้างสังคมดี”  จัดกิจกรรม Help You, Help Me หนึ่งในโครงการ  Influencer for Change นับเป็นปีที่ 4 สนับสนุนสื่ออินฟลูเอนเซอร์ 300 คน สำหรับโครงการเพื่อสังคม 6 โครงการที่ได้รับรางวัล

ดังที่ทราบกันว่า หนึ่งในตัวช่วยสำคัญและนับเป็นทรัพยากรที่ภาคประชาสังคมผู้ขับเคลื่อนงานพัฒนาความยั่งยืนมีความต้องการก็คือ “สื่อ” เพื่อเป็นเครื่องมือระดมความช่วยเหลือจากประชาชนจำนวนมาก  “สื่อบุคคล” หรือ “อินฟลูเอนเซอร์” นับเป็นอีกตัวอย่างช่องทางการสื่อสารที่ทรงพลัง  นี่คือที่มาของกิจกรรม Help You, Help Me :  Influencer for Change โครงการสรรค์สร้างสังคมที่บริษัท เทลสกอร์ จำกัด (Tellscore) หนึ่งในผู้นำ Influencer Marketing ของประเทศไทยได้ก่อตั้งขึ้นร่วมกับมูลนิธิเพื่อ“คนไทย” และ“โครงการร้อยพลังสร้างสังคมดี” เพื่อเชิญชวนและสนับสนุนให้สื่ออินฟลูเอนเซอร์ในระบบเทลสกอร์ มาเป็นอาสาสมัครสื่อสารโครงการเพื่อสังคมของภาคีเครือข่าย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ

กิจกรรม Help You, Help Me เริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2563 สู่ปีที่4 ในปีนี้ มีหน่วยงานภาคสังคมส่งโครงการมารับการพิจารณารางวัลสื่ออินฟลูเอนเซอร์มากกว่า 50 โครงการ และมีโครงการที่ได้รับรางวัลแล้วมากกว่า 20 โครงการ โดยแต่ละปีเทลสกอร์ได้เชื่อมต่อและสนับสนุนอาสาสมัครสื่ออินฟลูเอนเซอร์ในระบบให้โครงการที่ได้รับรางวัลๆ ละ 50 คน ปีละ 6 โครงการ หรือ 300 คนต่อปี  รวมจำนวนทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน ไม่รวมอีกกว่า 3,000 คนที่ได้อาสาเป็นกระบอกเสียงช่วงวิกฤติโควิด-19 นับเป็นความร่วมมือที่ขาดคนสำคัญอย่างอินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้ และยังเป็นการสร้างกระบวนการที่ภาคสังคมสามารถเรียนรู้หลักการสื่อสารโดยการใช้สื่อบุคคล และเรียนรู้การใช้ระบบเทลสกอร์ ไว้สานต่อด้วยตัวเอง

สำหรับโครงการ Help You, Help Me season 4 เพิ่งจัดไปเมื่อเร็วๆ นี้ นั้น ได้รับความสนใจจาก 21 องค์กรภาคสังคมร่วมนำเสนอโครงการ ทั้งนี้ โครงการที่ได้รับรางวัลสื่ออินฟลูเอนเซอร์ 6 โครงการ ได้แก่ 1) Dots Coffee ร้านกาแฟที่ให้บริการโดยคนพิการทางสายตาร้านแรกและร้านเดียวในโลก www.dotscoffee.com  2)  insKru Collection 2023 พื้นที่แบ่งปันไอเดียการสอนhttps://new.inskru.com/idea-library/ 3)โรงเรียนจิตศึกษาพัฒนาปัญญาภายใน หรือโรงเรียนนอกกะลา https://www.lamplaimat.ac.th/  4) Money Genius ปลดหนี้ 4 ภาค https://geniusschoolthailand.com/  5) หัวใจมีหู : สร้างพื้นที่ปลอดภัย สร้างพื้นที่รับฟังด้วยใจ https://www.satiapp.co/ 6) Local Heroes Funds ท่องเที่ยวชุมชน  https://localalike.com/

คุณวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการมูลนิธิเพื่อ “คนไทย”  กล่าวว่า งานครั้งนี้มีตัวแทนและหน่วยงานด้านสังคมที่ขับเคลื่อนงานหลากหลายประเด็นเข้าร่วม เช่น ประเด็นการศึกษา เด็กและเยาวชน โรงเรียน สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ธรรมาภิบาล แม้กระทั่งเรื่องสัตว์ ฯลฯ แต่ละประเด็นนับเป็นเรื่องสำคัญในสังคม ทั้งหมดเป็นเรื่องที่ใหญ่เกินกว่าที่ใครคนใดคนหนึ่งจะรับผิดชอบดูแลได้ ต้องอาศัยทุกคนช่วยกัน และต้องอาศัยคนอีกจำนวนมากมาช่วยกันดูแลสังคม สร้างสังคมของเราให้เข้มแข็ง เป็นสังคมที่ดี ที่น่าอยู่ ดังนั้น ในกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้ความตั้งใจดีๆ สิ่งดีๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้น ต้องอาศัยกลไกการสื่อสารบอกกล่าวเชิญชวนเพื่อนอีกจำนวนมาก เพื่อจะมาทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคมร่วมกัน

คุณสุวิตา จรัญวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท เทลสกอร์ จำกัด กล่าวว่า โครงการ Help You, Help Me จะได้เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งพลังสูงมากมาทำคอนเทนต์ และเทลสกอร์เป็นเอเจนซี่ที่มีความรู้ด้าน Digital Boosting Media สามารถช่วยใส่เขี้ยวเล็บให้กับแต่ละโพสต์ ช่วยสร้างเอ็นเกจเมนต์ และ เพอร์ฟอร์แมนซ์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น ถ้ามีการระดมทุน หรืออยากได้สมาชิกไปทำอาสาสมัครต่างๆ เราหวังว่ากิจกรรมเหล่านี้จะบรรลุผลมากขึ้นจากการกระจายข่าว

“ทั้ง 21 โครงการที่ร่วมงานนี้ทำให้เทลสกอร์มีความรู้เพิ่มขึ้น โดยความรู้เหล่านี้เราจะถ่ายทอดต่อให้น้องๆอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งหลังจากนี้จะเป็นกระบวนการทำซ้ำที่ไม่มีวันจบสิ้น กลุ่มอินฟลูเอนเซอร์ก็จะได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการของภาคสังคม เขาก็จะชักชวนเพื่อนๆ เข้ามาเป็นจิตอาสาเพิ่มเติมอีกเรื่อยๆ” คุณสุวิตากล่าว

ด้านคุณมาวิน ทวีผล  Foodie Influencer ชื่อดัง ที่มีผู้ติดตามมากกว่า 3 ล้านคนบนโซเชียลมีเดีย ในฐานะแขกรับเชิญพิเศษที่ได้มาแบ่งปันประสบการณ์การทำคอนเทนต์ช่วยเหลือสังคม และเป็นกำลังใจให้กับภาคีเครือข่ายเพื่อสังคมในกิจกรรมนี้  ได้แสดงความคิดเห็นว่า คนไทยต้องช่วยกัน คนเดียวเป็นไปไม่ได้ ต้องไปด้วยกันทุกคน ทุกคนไม่ได้เก่งเหมือนกันหมด

 “ทุกร้านที่ผมไปกิน จริงๆ มันแค่หนึ่งมื้อธรรมดาของผมแต่เป็นมื้อพิเศษของร้านเขา เพราะผมจะทำคอนเทนต์ให้เขา ไม่มากก็น้อย คนจะตามไปหาเขา ผมว่ามันก่อเกิดประโยชน์ให้เขามาก โครงการดี ผมเป็นกระบอกเสียง ต้องช่วยกันเพื่อนำสังคม ทั้งอินฟลูเอ็นเซอร์ ทุกคนต้องช่วยกันหมด ทางเทลสกอร์มีอินฟลูเอนเซอร์ที่พร้อมซัพพอร์ตเยอะมาก เราต้องไปด้วยกันได้ ขอให้ทุกคนทำโครงการดีๆต่อไปทางเทลสกอร์จะซัพพอร์ตแน่นอน แล้วเดี๋ยวประชาชนจะเห็นกว้างมากขึ้น เป็นคลื่นที่กระเพื่อมแรงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ผมเชื่อแบบนั้น”  

กิจกรรม Help You, Help Me นอกจากจะเป็นการช่วยเหลือหน่วยงานเครือข่ายเพื่อสังคมประชาสัมพันธ์โครงการ และแคมเปญดีๆ ด้วยสื่ออินฟลูเอนเซอร์แล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้เกิดกระบวนการเรียนรู้การสร้างกระบอกเสียงได้ด้วยตัวเอง ช่วยขยายผล และต่อยอดแคมเปญอันหลากหลายนี้สู่การรับรู้ของสาธารณะในช่องทางดิจิทัล ช่วยนำเสนอแนวคิดการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเฉพาะกับหน่วยงาน หรือองค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน ที่ต้องการทำโครงการเพื่อสังคม และยังเป็นการพัฒนาสังคมในทุกด้านอย่างยั่งยืน

สำหรับผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกระบอกเสียงเพื่อช่วยเหลือหน่วยงานภาคสังคม แค่เพียงมีช่องทางในโซเชียลมีเดีย ไม่จำเป็นต้องเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ก็สามารถร่วมเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงที่มีความหมาย และต่ออายุให้ภาคสังคมได้มากกว่าที่คิด สามารถเริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ ติดต่อ contact@tellscore ระบุ “โครงการ Help You, Help Me”

สำหรับหน่วยงาน หรือองค์ใดที่ต้องการต่อยอดแนวคิดการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://helpyouhelpme.tellscore.com/ หรือหากต้องการคำปรึกษาด้านการตลาดอินฟลูเอนเซอร์สำหรับโครงการต่างๆ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://tellscore.com

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : มูลนิธิเพื่อ “คนไทย”

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News