เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยินดีกับความร่วมมือทางการค้าของไทย – จีนที่เติบโตต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกันจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน (ซานตง) – ไทย (China (Shandong) – Thailand Business Co-operation and Matchmaking Conference) สะท้อนพัฒนาการทางการค้าระหว่างสองประเทศ พร้อมขยายโอกาสทางธุรกิจและอุตสาหกรรมทุกมิติ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า มณฑลซานตง ถือเป็นมณฑลที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดมณฑลหนึ่งของจีน มีศักยภาพทางเศรษฐกิจและข้อได้เปรียบทางยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เช่น มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจีน มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ครบทั้ง 41 ประเภทของจีน มีช่องทางโลจิสติกส์ที่เชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศ โดยเป็นจุดตัดของเส้นทางสายไหมทางบกและทางทะเล ซึ่งเอื้อต่อการพัฒนาเศรษฐกิจการท่าเรือและการขนส่ง รวมทั้งมีความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) สามารถรองรับการขยายความร่วมมือกับประเทศสมาชิก RCEP ในด้านต่าง ๆ ได้อย่างครอบคลุม โดยล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา หน่วยงานทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ สภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำมณฑลซานตง (CCPIT) คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) หอการค้าไทย-จีน และสภาส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแห่งประเทศจีนประจำประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดงานประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าจีน (ซานตง) – ไทย โดยมีบริษัทจากมณฑลซานตงและไทยจำนวนกว่า 400 บริษัท เข้าร่วม เกิดการเจรจาธุรกิจแบบทวิภาคีในที่จัดงานกว่า 300 คู่ และมีการลงนามความร่วมมือมากกว่า 10 ฉบับ ระหว่างหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานส่งเสริมการค้า และวิสาหกิจ
โดยข้อมูลจากหอการค้าไทย – จีน ระบุว่า คณะผู้แทนด้านเศรษฐกิจและการค้าของซานตงที่เข้าร่วมการประชุมฯ ดังกล่าว ประกอบด้วยวิสาหกิจในมณฑลซานตง จำนวนกว่า 100 บริษัท โดยมี 22 บริษัทในกลุ่มจัดซื้อผลิตภัณฑ์และความร่วมมือด้านการลงทุนที่มีศักยภาพสูงในการเปิดตลาดและมีเทคโนโลยีขั้นสูง ซึ่งมีความตั้งใจชัดเจนในการร่วมลงทุนกับบริษัทของไทย แบ่งตามประเภทได้ 8 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มอุปกรณ์เครื่องกลและไฟฟ้าและอุปกรณ์เสริม กลุ่มวัสดุก่อสร้าง กลุ่มยางล้อและชิ้นส่วนรถยนต์ กลุ่มสินค้าเกษตร กลุ่มอาหารและเครื่องจักรแปรรูป กลุ่มอุตสาหกรรมเบาและสิ่งทอ กลุ่มสุขภาพและการแพทย์ และกลุ่มเคมีภัณฑ์และ e-Commerce ซึ่งล้วนมีศักยภาพทางการค้าและสามารถต่อยอดไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ในอาเซียนได้
“นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าความร่วมมือและเวทีทางการค้าระหว่างกันจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือทางธุรกิจได้อย่างรอบด้าน โดยเป็นการเปิดพื้นที่ให้พบปะหารือ หรือจับคู่ทางธุรกิจได้ตรงตามความต้องการของผู้ลงทุนหรือผู้ประกอบการในแต่ละภาคส่วนอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันไทยมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับจีน ทั้งด้านอุตสาหกรรม พาณิชย์ เกษตร เทคโนโลยี พลังงาน และการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนความร่วมมือของภาคธุรกิจเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ยกระดับอุตสาหกรรม ยกระดับผู้ประกอบการของไทย” นายอนุชาฯ กล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี