Categories
FEATURED NEWS

“กสว. ร่วมมือ ผู้ว่าฯเชียงใหม่” จัดงบ 150 ล้านบาท แก้ปัญหา PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) โดยกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือกองทุน ววน. ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้นำผู้ทรงคุณวุฒิและนักวิจัย ร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เดินหน้านำงานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของกองทุน ววน. มุ่งแก้ไขปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในจังหวัดเชียงใหม่อย่างเร่งด่วนตามโจทย์และความต้องการของจังหวัดเชียงใหม่ โดย สกสว.จัดสรรงบประมาณวิจัยภายใต้งบประมาณปี 2566 – 2567 รวม 2 ปี งบประมาณกว่า 150 ล้านบาท คิดเฉลี่ยปีละ  70 กว่าล้านบาท ใน 4 มิติเร่งด่วนสำหรับการลดฝุ่นจากต้นตอแหล่งกำเนิด ได้แก่ การลดไฟในพื้นที่ป่าไม้ การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ การลดไฟในพื้นที่เกษตร และการลดฝุ่นข้ามแดน โดยการจัดสรรงบประมาณผ่านสํานักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) โดยทุกภาคส่วนตั้งเป้าผลลัพธ์ทั้งการลดปัญหาที่เกิดซ้ำในแต่ละพื้นที่ การติดตามสถานการณ์ การวางแผนป้องกันและรับมือฝุ่นจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่เชื่อมโยงการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อต่อยอดไปสู่การออกนโยบาย กฎหมาย หรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาคเกษตรกรรม
 
 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) เปิดเผยว่า แต่ละปีประเทศไทยมีการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องด้วยการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรม สังคม และสิ่งแวดล้อมเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้กับประชาชนทั้งปัจจุบันและในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลก็ให้ความสำคัญกับการนำงานวิจัยมาใช้ประโยชน์เพื่อเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศ หลังการปฏิรูประบบ ววน. ในปี 2562 ได้มีการจัดตั้งกองทุน ววน. ขึ้น โดยมี กสว. ทำหน้าที่กำหนดและขับเคลื่อนนโยบาย รวมถึงจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณของประเทศให้เหมาะสม เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและแก้ปัญหาสำคัญของประเทศในด้านต่าง ๆ ตามนโยบายและทิศทางที่สภานโยบายได้กำหนดไว้

 
 

ศ.เกียรติคุณ ดร.นพ.สิริฤกษ์ กล่าวเสริมว่า กสว. ได้อนุมัติงบประมาณ แก้ไขปัญหาและตอบสนองภาวะวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ในประเด็น “งานวิจัยนวัตกรรมและการใช้ประโยชน์เพื่อแก้ปัญหาเร่งด่วน ฝุ่นละออง PM 2.5 แบบมุ่งเป้าและบูรณาการ” โดยใช้งบประมาณ 2 ปี รวมจำนวน 155,000,000 บาท แบ่งเป็นงบประมาณในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวน 77,700,000 บาทและปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 77,300,000 บาทรวมทั้งให้ทุนแก่หน่วยงาน/นักวิจัยตามโจทย์สำคัญเร่งด่วน โดยใช้กระบวนการอนุมัติแผนงานสำคัญเร่งด่วนและงบประมาณให้ทันต่อสถานการณ์มองทั้งระยะสั้น กลางและระยะยาว สำหรับการนำผลงานวิจัยไปใช้ในสนับสนุนยุทธศาสตร์การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนในระดับพื้นที่ในแต่ละจังหวัด มีเป้าหมายสำคัญ คือ การเร่งนำงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากกองทุน ววน. ไปช่วยแก้ปัญหาวิกฤติ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และส่งเสริมการกินดีอยู่ดีของประชาชน เพื่อสร้างผลลัพธ์และผลกระทบเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังได้ร่วมทำงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานระดับท้องถิ่น เพื่อให้ทราบถึงโจทย์สำคัญของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ และให้สามารถแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบท มีประสิทธิภาพภายในระยะเวลาที่เร่งด่วนหน่วยงานภาควิชาการ ได้เร่งระดมหาทางออกให้กับจังหวัดเชียงใหม่มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมส่งเสริมให้เป็นเมืองที่ใช้ประโยชน์จากกองทุน ววน. อย่างเข้มข้น เพื่อสนับสนุนการบริหารท้องถิ่นให้คล่องตัวและสามารถบูรณาการการทำงานบนระบบข้อมูลและงานวิจัยอย่างเข้มข้นมากขึ้น

“ความสำคัญของงานวิจัยจะช่วยให้ผู้ดำเนินงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบถึงความซับซ้อนของปัญหาที่สะสมมาอย่างยาวนาน นำมาสู่การแก้ไขที่เป็นระบบ รวมทั้งเป็นแนวทางเชิงรุกที่สามารถคลี่คลายปัญหาได้ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ทั้งการแจ้งเตือนสถานการณ์ความเสี่ยง การควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที การจำกัดจำนวนการเกิดเหตุไฟป่า การช่วยรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ การสร้างความร่วมมือกับชาวบ้านเพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสำคัญในการแก้ไขปัญหา อีกทั้งยังสามารถนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีแนวโน้มประสบปัญหาเดียวกันซึ่งจะทำให้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนมีความยั่งยืนและมีโอกาสนำไปใช้เป็นวงกว้าง”

 
 
ขณะที่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า ช่วงที่จังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญกับวิกฤติไฟป่า ฝุ่นควันต่างๆ งานวิจัยนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดข้อถกเถียงของวิธีแก้ไขที่มีความแตกต่างกัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความสับสนระหว่างปฏิบัติงาน อย่างเช่นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5 ที่ยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่เป็นรูปธรรม งานวิจัยได้ช่วยให้มีบทสรุปขององค์ความรู้ วิธีดำเนินการ และแนวทางแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง ตรงกับบริบทของพื้นที่ ชีวิตของคนในชุมชน และเป็นไปได้ในทางปฏิบัติแบบที่ทุกภาคส่วนต้องการ ดังนั้น เมื่อพื้นที่มีองค์ความรู้ที่หลากหลาย สิ่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดจะทำได้ คือ การเปิดพื้นที่ เชิญหลากผู้รู้จากภาคส่วนต่าง ๆ มาร่วมแลกเปลี่ยน ระดมความคิดเห็น และวิเคราะห์องค์ความรู้ที่มีร่วมกัน จนนำไปสู่การลงมือปฎิบัติจริง นอกจากนี้งานวิจัยยังช่วยให้หลากผู้รู้ยอมรับว่าการตกผลึกขององค์ความรู้ว่าทางออกที่แท้จริงของพื้นที่คืออะไร
 
 
 

ด้านนายทศพล เผื่อนอุดม รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า การปฏิบัติการแก้ปัญหาไฟป่าและหมอกควันกับสกสว. นับเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะทำให้วิกฤติคลี่คลายได้เร็วขึ้น โดยที่ผ่านมาทางเชียงใหม่ได้มีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้แล้วแต่อาจยังไม่ทั่วถึง และบางนวัตกรรมอาจยังไม่ครอบคลุมกับปัญหาทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตาม ทางจังหวัดมีความยินดีและมั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าทั้ง 16 โครงการวิจัยที่สกสว. และกองทุน ววน. ได้สนับสนุนมานั้นจะไม่ได้เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือเฉพาะในระยเวลาสั้น ๆ เท่านั้น แต่สามารถนำไปเชื่อมโยงกับพื้นที่ที่กำลังเผชิญกับปัญหา และพื้นที่ที่มีความเสี่ยง โดยการนำงานวิจัยมาใช้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจให้การปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นความสำคัญในการพัฒนาพื้นที่ที่สามารถใช้ควบคู่ไปกับการออกนโยบาย ยกระดับเมืองเชียงใหม่ให้เกิดการใช้งานวิจัยเพื่อสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ ที่เป็นบริบทสำคัญของจังวัดได้อย่างเข้มข้น”

 

นายทศพล กล่าวทิ้งท้ายว่า การถอดบทเรียนจากสภาวะวิกฤตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันหาแนวทางการบริหารจัดการอย่างเป็นรูปธรรม โดยคาดหวังว่าเมื่อ จ.เชียงใหม่ ได้ทดลองปรับโครงสร้างให้องค์กรส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมนำเทคโนโลยีและงานวิจัยมาใช้ติดตาม วางแผนการรับมือ และแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM 2.5 ภายใต้การสนับสนุบงบประมาณจากกองทุน ววน. จะช่วยให้ จ.เชียงใหม่ ได้รับประโยชน์จากงานวิจัย และเกิดผลกระทบเชิงบวกทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการจัดสรรการใช้ประโยชน์จากที่ดินอย่างเป็นระบบที่จะเป็นแรงจูงใจไม่ให้เผาและบุกรุกป่า การส่งเสริมความเข้าใจและค่านิยมของประชาชนจากความเข้าใจถึงผลกระทบและช่วยกันลดปัญหาต่าง ๆ ปรับโครงการสร้างการเพาะปลูกเพื่อเข้าสู่วิถีเกษตรไม่เผา และมีทางเลือกสำหรับการทำเกษตรกรรมที่จะมีพืชเศรษฐกิจใหม่ ๆ ในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการกระชับความสัมพันธ์และความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านองค์ความรู้ การร่วมบริหารจัดการและป้องกัน รวมถึงนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ

 
 
 

รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า สกสว. เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการจัดทำ และขับเคลื่อนนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศให้ไปสู่การปฏิบัติ รวมถึงดำเนินการจัดสรรงบประมาณของกองทุน ววน. ไปยังหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมให้มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สกสว. พร้อมนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาร่วมขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่วิกฤตเร่งด่วน ในส่วนการดำเนินงานที่ผ่านมา สกสว. โดยกองทุน ววน. ได้มีการสนับสนุนงบประมาณวิจัยในประเด็นปัญหาหมอกควัน ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือ PM 2.5 และปัญหาไฟป่าในพื้นที่ปฏิบัติการ จ. เชียงใหม่  ภายใต้งบประมาณปี 2566 -2567 เป็นงบประมาณวิจัยปีละกว่า 70 ล้านบาท รวม2ปี  150 ล้านบาท  โดยพิจารณาอนุมัติงบประมาณเป็นแบบรายปี จัดสรรงบประมาณให้แก่สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 43,050,000 บาท และสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.) จำนวน 34,650,000 บาท โดยมุ่งขับเคลื่อน 4 มิติเร่งด่วน ดังนี้

 

1.โครงการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่ป่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้ชุมชนมีแรงจูงใจในการรักษาผืนป่า มากกว่าเดิมด้วยกลไกการตอบแทนคุณนิเวศ หรือ Payment for Ecosystem Service (PES) ด้วยการศึกษาบริการทางนิเวศและมูลค่าของทรัพยากรเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชนและประชาชนไปใช้สนับสนุนชุมชนในการอนุรักษ์ป่าและป้องกันไฟป่า เช่น การขายคาร์บอนเครดิต การทำวิจัยชุมชนเพื่อพัฒนากิจกรรมการอนุรักษ์และกองทุนอนุรักษ์ระดับชุมชน เพื่อ สร้างรายได้ให้กับชุมชน และเพิ่มศักยภาพในการบริหารจัดการไฟป่าของชุมชนและหน่วยงานในพื้นที่ ตลอดจนการพัฒนาระบบติดตามและการวิเคราะห์โอกาสความเสี่ยงที่แม่นยำผ่านการใช้เทคโนโลยีเชิงลึกและงานวิจัย

 

2.การจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้า ที่จะช่วยให้ข้อมูลที่มีทั้งหมดสามารถแก้ไขปัญหาไฟป่า – ปัญหาฝุ่นควันที่แต่เดิมมีความซับซ้อน ลดการเกิดการเผาไหม้ซ้ำ ๆ และสามารถนำข้อมูลไปจัดทำแผนและมาตรการต่าง ๆ ได้เพิ่มเติม ได้แก่ ข้อมูลชุดที่ 1 สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 และมลพิษทางอากาศ ข้อมูลด้านจุดความร้อน (Hotspot) ที่เป็นต้นเหตุของปัญหาในปัจจุบัน ข้อมูลชุดที่ 2 ด้านอุตุนิยมวิทยา และสภาพของพื้นที่ ข้อมูลชุดที่ 3 ด้านการป้องกันผลกระทบและวิธีการเยียวยา ข้อมูลชุดที่ 4 ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ การลดสาเหตุ การรองรับการเผชิญเหตุ และรองรับการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ โดยทั้ง 4 ชุดข้อมูลนี้ยังมีโอกาสที่จะเชื่อมโยงไปสู่การกำกับและติดตามค่าฝุ่น PM 2.5 ในภาพรวมทั้งประเทศที่ดำเนินงานโดยกรมควบคุมมลพิษ และพ.ร.บ.อากาศสะอาดและมาตรการสร้างแรงจูงใจในการลดฝุ่น PM 2.5 ของกรรมการร่างพ.ร.บ.อากาศสะอาด

 

3.การแก้ปัญหาการลดไฟในพื้นที่เกษตร การทำให้ชุมชนปรับเปลี่ยนระบบเกษตรเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา และมีนวัตกรรม / วิธีทำเกษตรที่สร้างรายได้สูงกว่าเดิม โดยเฉพาะวิธีการจัดการแปลงก่อนเริ่มทำการเพาะปลูกและหลังกระบวนการเก็บเกี่ยว ตลอดจนการปรับเปลี่ยนจากพืชล้มลุกเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง เช่น กาแฟ แมคคาเดเมีย อะโวคาโด หรือ ไม้ยืนต้นและไม้โตเร็วที่มีศักยภาพในการกักเก็บคาร์บอน และโครงการวิจัยในกลุ่มนี้ยังมุ่งให้มีการนำเศษวัสดุทางการเกษตรไปทำพลังงานชีวมวลทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้ทั้งเกษตรกร ผลผลิต และไร่นาแต่ละพื้นที่มีความยั่งยืนขึ้น

 

4.การลดฝุ่นข้ามแดน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศเพื่อนบ้านนำแนวทางการลดฝุ่น (Best Practice) ไปขยายผลกับการผลิตการเกษตรภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงเกิดการถ่ายอดองค์ความรู้ที่สำคัญที่สามารถใช้ได้ร่วมกันระหว่างสามประเทศ คือ ไทย ลาว เมียนมา และถอดบทเรียนการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการลดมลพิษหมอกควันข้ามแดน

 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานกรรมการกำกับติดตามแผนงานการนำ ววน. ไปใช้แก้ปัญหาวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 กรรมาธิการวิสามัญร่างกฎหมายบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด กล่าวว่า ขณะนี้ (ร่าง) พ.ร.บ. อากาศสะอาด อยู่ในขั้นการพิจารณาของกรรมาธิการ จำนวน 7 ฉบับ ซึ่งเป็นกระบวนการนี้ต้องการข้อมูลงานวิจัยมาช่วยสนับสนุนการพิจารณาให้เนื้อหามีความสมบูรณ์ และครบถ้วนในทุกมิติ  

 

       การจะแก้ปัญหาสำคัญของประเทศให้เป็นรูปธรรมได้นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ต้องบูรณาการข้อมูลและส่งต่อผลงานอย่างเป็นระบบ รวมทั้งต้องมีเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับผู้ใช้ และผู้ได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำความคิดเห็นไปปรับกระบวนการขับเคลื่อนให้ตอบโจทย์และความต้องการมากที่สุด ดังนั้น การหารือในครั้งนี้จะทำให้ กสว. และหน่วยงานทุกภาคส่วนได้รับทราบภาพรวมความคืบหน้าการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. มาขับเคลื่อนแก้ไขปัญหา PM 2.5 ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ รศ.ดร. ปัทมาวดี กล่าวเสริม

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สกสว.

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อีก 26 วัน ผู้ว่าเชียงราย สั่งคุมเข้ม ตั้งเป้าให้เกิดจุดฮอตสปอต น้อยที่สุด

 

เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ครั้งที่ 9/2567 โดยมีนายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ซึ่งมีนายอำเภอ เจ้าหน้าที่จาก 18 อำเภอ เข้าร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์


ในที่ประชุมได้รายงานสถานการณ์หมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในห้วงที่ผ่านมา และการรายงานการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการดำเนินงานของทั้ง 18 อำเภอ โดยเฉพาะอำเภอที่เกิดจุดความร้อนสูง และอำเภอที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ทบทวนถึงปัจจัยการเกิดจุดความร้อน จุดความร้อนที่เกิดซ้ำซาก วางแผนการดำเนินการจัดการจุดความร้อนที่ยากต่อการควบคุม วางแผนการทำงานรับมือสถานการณ์ ห้วงเดือนเมษายนนี้
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำให้ทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะอำเภอให้ประสานไปยังกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมไฟป่า เพิ่มการลาดตระเวน เน้นมาตรการกดดันในพื้นที่เสี่ยง และเฝ้าระวังในเขตรอยต่อ เพื่อป้องกันไฟป่าข้ามแดน เพิ่มความเข้มข้นการปฏิบัติในห้วงเวลาที่เหลือจนถึง 30 เมษายนนี้ พร้อมทั้งจัดกำลังเสริมเข้าไปปฏิบัติงานสนับสนุนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยง หากได้รับความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้อำเภอรวบรวมข้อมูลรายงานมายังจังหวัด 
 
 
โดยด่วน และเน้นย้ำการติดตามประเมินสุขภาพของอาสาดับไฟป่า ให้ผู้ที่มีสภาพร่างกายที่พร้อมเท่านั้น ที่จะเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ อุปกรณ์ป้องกันผู้ปฏิบัติงานดับไฟป่าชองเจ้าหน้าที่ก็ต้องพร้อมเพื่อการปฏิบัติงานที่ปลอดภัย นอกจากยังเน้นย้ำให้ทุกอำเภอ ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนได้ทราบถึงช่องทางการรักษาหากได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM 2.5
 
 
ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้ให้แนวทางการปฏิบัติ โดยให้นำสถิติของปีที่ผ่านมา มาปรับใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน พร้อมได้เน้นย้ำให้ทุกภาคส่วนช่วยรักษาสถิติของจังหวัดเชียงราย ซึ่งทำได้ดีในห้วงที่ผ่านมา เน้นให้เกิดจุดฮอตสปอตน้อยที่สุด และให้ลดลงมากกว่า 50% จากปีที่ผ่านมา ซึ่งในปีนี้หากเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า จังหวัดเชียงรายมีจุดฮอตสปอต ลดลงกว่า 70% โดยขอความร่วมมือประชาชนชาวเชียงราย และทุกภาคส่วน ช่วยกันรักษาและภาคภูมิใจถึงความสมัครสมานสามัคคีในการป้องกันไฟป่าฯ นำไปสู่ความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงราย ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รพ.แม่สาย เร่งเพิ่มเครื่องฟอกอากาศ รับสถานการณ์ PM 2.5

 

เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 67 สภาพอากาศพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สาย จ.เชียงราย พบว่ามีฝุ่นละอองและหมอกควันหนาตากว่าที่ผ่านมา และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที 1 (เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน แม่ฮ่องสอน) รายงานว่ามีค่าฝุ่นละอองขนาด PM 2.5 เกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-5 มี.ค.ครอบคลุมทุกจังหวัดโดย จ.เชียงราย เกินมาตรฐานแล้ว 35 วัน ส่วนกรมควบคุมมลพิษรายงานเวลา 07.00 น.วันเดียวกันว่ามีค่า PM 2.5 สูงถึง 119.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศเมตร และมีค่าคุณภาพอากาศอยู่สูงถึง 245 AQI 

 

ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ แตกต่างจากเขต อ.เมืองเชียงราย ที่มีปริมาณ PM 2.5 เพียง 46.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรและค่าคุณภาพอากาศอยู่ที่ 125 AQI ทั้งๆๆ ที่ อ.แม่สาย ไม่พบจุดความร้อนจากการตรวจด้วยดาวเทียมเลยตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.-5 มี.ค.นี้ กระนั้นสำนักงานฯ รายงานว่าดาวเทียมระบุว่าจุดความร้อนพบว่าในพื้นที่รัฐฉาน ประเทศเมียนมา ติดกับ จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.เชียงใหม่ จนเกิดเป็นกลุ่มสีแดงอย่างชัดเจน

 

.
ด้านนายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย กล่าวว่าได้มอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุข จ.เชียงราย ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่อ.แม่สาย จัดทำห้องปลอดฝุ่นพร้อมเครื่องฟอกอากาศ โดยเฉพาะตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กทุกแห่งให้มีจำนวน 130 แห่ง และได้มอบหมายให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ออกเดินเคาะประตูบ้านให้คำแนะนำกลุ่มเสี่ยงคือเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด โรคระบบทางเดินหายใจ และผู้ป่วยติดเตียง ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง สำหรับประชาชนทั่วไปควรสวมหน้ากากอนามัยที่ป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางเดินหายใจ รวมไปถึงให้อยู่แต่ในพื้นที่ปลอดภัย เช่น ภายในบ้านหรืออาคาร ฯลฯ ที่เป็นพื้นที่ปิดหรือหากมีเครื่องฟอกอากาศควรจะเปิดเอาไว้ตลอดด้วย
 
.
ล่าสุดนางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปดูความพร้อมที่ อ.แม่สาย พบว่าได้มีการเตรียมห้องปลอดฝุ่นไว้แล้ว 130 ห้อง ทั้งในโรงพยาบาลแม่สาย 50 ห้อง มีระบบความดันอากาศ 14 ห้อง สำนักงานสาธารณสุข อ.แม่สาย 1 ห้อง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล 12 ห้อง ขณะที่โรงพยาบาลแม่สายได้เพิ่มเครื่องฟอกอากาศจากจำนวน 97 เครื่อง เป็น 205 เครื่องแล้ว โดยนำไปประจำทุกจุดบริการ ขณะที่มีกลุ่มเสี่ยงต่อฝุ่น PM 2.5 เช่น โรคทางเดินหายใจ หัวใจ ฯลฯ รวมจำนวนกว่า 21,825 คน.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงรายกำชับห้ามเผาเด็ดขาด ควบคู่ดูแลผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

 

เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 67 ที่ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันไฟป่าของจังหวัดเชียงราย และประเมินผลการดำเนินงานจากการใช้มาตรการต่างๆ โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมฯ

 

โดยในที่ประชุมฯ ได้หารือพร้อมทบทวนและเพิ่มมาตรการในการปฏิบัติงานเพื่อให้การป้องกันและแก้ไขหมอกควันไฟป่า ในห้วงห้ามเผาเด็ดขาด (15 ก.พ. – 30 เม.ย. 567) อาทิ การจัดชุดลาดตระเวน การจัดทำแนวกันไฟ พร้อมกำชับให้เข้มงวดด้านการบังคับใช้กฎหมาย ให้มีการจับผู้กระทำผิดที่ลักลอบเผา รวมถึงให้รางวัลแก่ผู้นำจับ ผู้แจ้งเบาะแส การใช้กฎระเบียบหมู่บ้าน จับแล้วปรับเงินเข้าหมู่บ้าน ใช้กฎหมายป่าไม้ กฎหมายป่าอนุรักษ์ ป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรการสูงสุด พร้อมกำชับตรวจสอบดูแลเกี่ยวกับข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ 
 
 
หากตรวจสอบพบให้สืบหาผู้กระทำผิดเพื่อนำมาลงโทษ รวมทั้งมาตรการทางสาธารณสุขให้มีการเตรียมความพร้อม สำรวจบ้านของกลุ่มเสี่ยง ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ การจัดทำเซฟตี้โซน รวมถึงแจ้งเตือนให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลตนเองหากเกิดสถานการณ์หมอกควันไฟป่า โดยให้ท้องถิ่น สำรวจศูนย์เด็กเล็กเพื่อจัดทำห้องปลอดฝุ่นให้ครบทุกแห่ง
 
 
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ยังได้เน้นย้ำให้มีการประสานข้อมูลระหว่างหน่วยงานให้ชัดเจน เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และใช้ข้อมูลสถิติในทุกด้านย้อนหลังของปีที่ผ่านมา นำมาเปรียบเทียบสถานการณ์ เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติล่วงหน้า ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย ระดมทุนถวายผ้าป่า ช่วยผู้ได้รับความเดือดร้อนไฟป่าและ PM 2.5

 

เมื่อวันที่ 22 ม.ค. 67 นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานพิธีถวายผ้าป่า “บวร.บรม.ครบ. เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่าให้ประเทศชาติและโลกใบนี้” และเป็นการระดมทุนสำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อน หรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ณ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบล้วียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย นายประเสริฐ จิตต์พลีชีพ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รอง ผอ.รมน.จังหวัดเชียงราย ปลัดจังหวัดเชียงราย นายอำเภอทุกอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานรํบวิสาหกิจ หอการค้าจังหวัดเชียงราย สภาอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงราย สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจังหวัดเชียงราย ชมรมธนาคารจังหวัดเชียงราย และหน่วนงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย เข้าร่วมพิธีถวายผ้าป่าในครั้งนี้ด้วย

 

นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า จังหวัดเชียงราย และคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จัดพิธีทอดผ้าป่าเพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ภายใต้ชื่อว่า “บวร. หมายถึง บ้าน วัด ราชการ โรงเรียน บรม. หมายถึง บ้าน ราชการ มัสยิด ครบ. หมายถึง คริสต์ ราชการ บ้าน และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 
 
 
โดยมีหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน ได้ร่วมสมทบทุนถอดผ้าป่าในครั้งนี้ ยอดรวม 772,428.50 บาท และยังได้รับความเมตตาจาก พระไพศาลประชาทร (วิ) (พบโชค ติสสวังโส) เจ้าอาวาสวัดห้วยปลากั้ง ร่วมสมทบผ้าป่าจำนวน 100,000 บาท และวัดเจ็ดยอด จำนวน 10,000 บาท รวมยอดทั้งสิ้น 882,428.50 บาท
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

ปฏิบัติการดับไฟป่าภาค 3 หารือป้องกัน แก้ไขหมอกควันไฟป่า 17 จังหวัดภาคเหนือ

 

เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2566 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย พ.อ.พักตร์พงษ์ เงสันเที๊ยะ หัวหน้ากลุ่มงานนโยบายแผนและการข่าวฯ กอ.รมน.จังหวัดเชียงราย นำเจ้าหน้าที่ผู้แทนจากหน่วยงานประจำศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ร่วมประชุมกับศูนย์ปฏิบัติการไฟป่าภาค 3 โดยมี พ.อ. ณรงค์ฤทธิ์ สนองคุณ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการดับไฟป่าภาค 3 เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบทางไกล (Zoom Meeting)

 

.
โดยศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ได้รายงานต่อที่ประชุมถึงการเกิดจุดความร้อน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคม ตั้งแต่วันที่ 2 – 8 มกราคม ที่ผ่านมา จังหวัดเชียงรายเกิดจุดความร้อนขึ้น 58 จุด ส่วนใหญ่พบว่าเกษตรกรมีการเผาในพื้นที่ทางการเกษตรเพื่อเตรียมการเพาะปลูกในฤดูต่อไป และได้วางมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหา โดยมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจ เน้นการสื่อสารเชิงรุก ให้ประชาชนงดเผาเศษวัสดุทางการเกษตร รวมถึงการสนับสนุนโครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร โดยสำนักงานเกษตรจังหวัดเชียงราย ได้ถ่ายทอดความรู้พื้นฐานด้านการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตรให้แก่เกษตรกรพื้นที่ 7 อำเภอ เป้าหมาย กว่า 270 ราย และดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เชิงปฏิบัติการ การใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อลดการเผา และเมื่อสถานการณ์มีแนวโน้มสูงขึ้นหรือเกินค่ามาตรฐาน ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ และศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมบูรณาการ ยกระดับปฏิบัติการตามมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย
 
.
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้รายงานการปฎิบัติงาน ในการแก้ปัญหาคุณภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งคุณภาพอากาศจังหวัดเชียงรายอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ยังคงต้องเน้นการประชาสัมพันธ์เชิงรุกให้ประชาชนงดเผาในที่โล่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเผาเพื่อการเกษตร ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยการจัดทำแผนโต้ตอบภาวะฉุกเฉิน การจัดทำห้องปลอดฝุ่นในพื้นที่โรงพยาบาล พื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จัดทำฐานข้อมูลเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง การจัดเตรียมคลินิกมลพิษ การใช้ อสม. ลงพื้นที่สื่อสารความเสี่ยงแก่ประชาชน การบริการตรวจสุขภาพให้แก่เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า การเตรียมความพร้อมหน้ากากอนามัย การจัดทำชุดสาธิตเครื่องฟอกอากาศ DIY เพื่อจัดทำห้องปลอดฝุ่น รวมถึงการติดตามดูแลผู้ป่วยสามกลุ่มโรค เพื่อประเมินและส่งข้อมูลให้ อปท.ในเขตรับผิดชอบดำเนินการช่วยเหลือจัดทำห้องปลอดฝุ่นแก่กลุ่มเสี่ยงต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่าและ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ผู้ว่าฯ เชียงราย จัดพิธีทอดผ้าป่า เพื่อระดมทุนปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5

 
เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ ศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 จังหวัดเชียงราย ชั้น 1 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมฯ เพื่อติดตามความคืบหน้า และผลการดำเนินงานป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ที่ผ่านมาซึ่งเป็นช่วงของการรณรงค์ก่อนเกิดสถานการณ์ ของแต่ละหน่วยงานในสังกัดศูนย์ปฏิบัติการฯ ทั้งด้านงบประมาณ การประสานกับประเทศเพื่อนบ้าน เรื่องหมอกควันข้ามแดน การดำเนินการทางด้านสาธารณสุข ด้านการบริหารจัดการเชื้อเพลิงของแต่ละอำเภอ แนวทางวิธีการกำจัดเศษวัชพืช หรือซากวัสดุจากการเกษตร ด้านปศุสัตว์ และการนำมาตรการด้านการอนุรักษ์พลังงานมาใช้ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า นอกจากนี้ยังได้ร่วมกันวางแนวทางการเตรียมการ ช่วงก่อน ระหว่าง และหลังเกิดสถานการณ์ ช่วงการประกาศห้ามเผา และด้านการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ การมีส่วนร่วมบริหารจัดการ และร่วมรับผิดชอบ ของทุกภาคส่วน ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย
 
 
ทั้งนี้ ในที่ประชุมฯ ได้หารือเรื่องที่จังหวัดเชียงราย และคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย จะจัดพิธีทอดผ้าป่า เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในการช่วยเหลือผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 อีกทั้งยังเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่า และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ภายใต้ชื่อ “บวร.บรม.ครบ. ผนึกกำลังกันเป็นสามัคคี เป็นพลังค้ำจุนแผ่นดินไทย เพื่อแก้ไขปัญหาหมอกควันไฟป่า ให้ประเทศชาติและโลกใบนี้” (บวร. หมายถึง บ้าน วัด ราชการ โรงเรียน / บรม. หมายถึง บ้าน ราชการ มัสยิส และ ครบ. หมายถึง คริสต์ ราชการ บ้าน)ร่วมคณะสงฆ์จังหวัดเชียงราย กำหนดจัดพิธีทอดผ้าป่า บวร. บรม. ครบ. แก้ปัญหาหมอกควันไฟป่า ของจังหวัดเชียงรายให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกำหนดจัดขึ้นในวันจันทร์ที่ 22 มกราคม 2567ณ วัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ตำบลเวียงอำเภอเมืองเชียงราย ตั้งแต่เวลา 13:00 น. เป็นต้นไป
 
 
ร่วมเป็นเจ้าภาพทอดผ้าป่าฯ ตามกำลังศรัทธา โดยโอนเงินผ่านธนาคารกรุงไทย สาขาเชียงราย
ชื่อบัญชี กองทุนช่วยเหลือผู้ประสบภัย ที่ทำการปกครองจังหวัดเชียงราย เลขที่บัญชี 504-3-14827-6
สอบถามรายละเอียดได้ที่ 06-1517-8591 หรือ 08-9969-6728
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

‘ปลัด จตุพร’ เผย 11 มาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 

 

วันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 15.30 น. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงข่าวมาตรการเร่งด่วนแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ณ ห้องแถลงข่าว 101 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อรับมือและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละอองได้ทันต่อสถานการณ์และเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและปกป้องสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยมาตรการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ปี 2567 ได้รวมถึงการจัดการไฟในป่า ไฟในพื้นที่เกษตรกรรม การควบคุมฝุ่นละอองในเมือง การสนับสนุนและการลงทุน รวม 11 มาตรการ คือ 

1) การเตรียมความพร้อมการควบคุมพื้นที่เสี่ยงต่อการเผาใน 11 ป่าอนุรักษ์ 10 ป่าสงวนแห่งชาติ โดยจัดทำแผนบริหารจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่ป่า จัดระเบียบควบคุมผู้เข้าใช้ประโยชน์พื้นที่ 

2) การเตรียมความพร้อมการกำหนดเงื่อนไขการอนุญาตการเผาและการบริหารจัดการการเผาในพื้นที่เกษตร โดยสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนในพื้นที่ 

3) การนำระบบการรับรองผลผลิตทางการเกษตรแบบไม่เผา (GAP PM2.5 Free) มาใช้กับการปลูกอ้อย ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 

4) จัดหาและสนับสนุนเครื่องจักรกลทางการเกษตรที่เหมาะสมในการจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตร และมาตรการไม่รับอ้อยไฟไหม้เข้าหีบ 

5) การบริหารจัดการเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร โดยนำมาแปรรูปเพื่อสร้างรายได้ และจัดตั้งศูนย์รับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร 

6) การพิจารณาเพิ่มเงื่อนไขเรื่องการเผาในพื้นที่ป่าและพื้นที่เกษตรในการนำเข้า-ส่งออกสินค้า เพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน 

7) การพิจารณาสิทธิประโยชน์หรือแรงจูงใจให้ภาคเอกชนที่ร่วมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 

8) การผลิตและจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร 5 

9) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากรถบรรทุก รถยนต์ รถจักรยานยนต์ โดยเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสภาพรถยนต์ประจำปีและการตรวจจับควันดำ การเข้มงวดวินัยจราจร การคืนพื้นผิวจราจรบริเวณการก่อสร้างรถไฟฟ้า การลดจำนวนรถยนต์ในท้องถนนโดยเฉพาะในพื้นที่เมือง สร้างจุดจอดแล้วจร และสนับสนุนการปรับเปลี่ยนใช้รถยนต์ไฟฟ้า 

10) การลดปริมาณฝุ่นละอองจากการประกอบกิจการโรงงานอุตสาหกรรม การก่อสร้างและอื่นใด 

11) การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน โดยได้เน้นย้ำการปรับแนวทางการสื่อสารจากระดับนโยบายสู่การปฏิบัติในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันมากขึ้น และสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้กับประชาชนได้อย่างทันท่วงที

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ขานรับนโยบายผู้ว่าฯ เชียงราย ทุกหน่วยงานพร้อมรับมือ PM 2.5

 
จากสถานการณ์ไฟป่าหมอกควัน และ PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องทุกปี นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้สั่งการให้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการหมอกควันไฟป่า และ PM 2.5 
 
เพื่อเป็นศูนย์บูรณาการการทำงานร่วมกับทั้งคน งบประมาณ การบริหารจัดการ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ซึ่งจังหวัดเชียงราย มีความห่วงใย 4 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็กเล็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งขณะนี้ทางจังหวัดเชียงราย โดยการนำของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำให้ทุก 18 อำเภอ ของจังหวัดเชียงราย 
 
 
เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์หมอกควัน ไฟป่า และPM 2.5 โดยให้ดำเนินการจัดเตรัยมห้องปลอดฝุ่นให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งหมด 460 แห่ง ดำเนินการแล้ว 206 แห่ง อยู่รัหว่างดำเนินการ 51 แห่ง ยังไม่ดำเนินการ 149 แห่ง และกำชับและเร่งรัดให้ทุกอำเภอบูรณาการร่วมกับ อปท.ในพื้นที่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อดำเนินการให้ครบทั้ง 18 อำเภอ 100% โดยเร็ว
 
 
โดยในวันนี้ 3 ธันวาคม 2566 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอแม่สรวย ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับมือภายใต้ชื่อว่า “ ไฟป่า ฝุ่นควัน การป้องกันสุขภาพ” ร่วมกับ โรงพยาบาลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย เตรียมความพร้อมในการป้องกัน PM 2.5 อันเนื่องมาจากปัญญาไฟป่า ฝุ่นควัน โดยการเตรียมห้องปลอดฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เติมอากาศ สำหรับเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่มารับบริการ การรับรักษาพยาบาล ค่อนข้างจะเกือบ 100 % ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

เชียงราย เตรียมบรูณาการบังคับใช้กฎหมาย บริหารหมอกควันข้ามแดน PM 2.5

 

วันที่ 20 ตุลาคม 2566 ที่ห้องประชุมจอมกิตติ ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานการประชุมคณะทำงานถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 โดยมีพระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ นายศรัณยู มีทองคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นำหัวหน้าส่วนราชการ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันพิจารณาผลการถอดบทเรียนพร้อมแสดงความคิดเห็นข้อเสนอแนะ และนำข้อมูลไปกำหนดทิศทางในการจัดทำแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย ประจำปี 2567 รองรับเป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายมีคุณภาพชีวิตที่ดี และอยู่ในช่วงของการจัดกิจกรรมระดับโลก Thailand Biennale Chiang Rai 2023 อีกด้วย

ในการนี้พระอาจารย์วิบูลย์ ธัมมเตโช ที่ปรึกษาเจ้าอาวาสวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ ได้กล่าวถึงประสบการณ์การดับไฟป่าที่ดอยอินทรีย์ ซึ่งดำเนินการโดยวัดพุทธอุทยานดอยอินทรีย์ และสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมแก้ปัญหาแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ในเรื่องที่ดินทำกิน ได้ร่วมมือกับกรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสถาบันการศึกษาจังหวัดเชียงรายในการป้องกันไฟป่าอย่างครบวงจร ด้วยการสร้างฝายชะลอน้ำ ธนาคารน้ำใต้ดิน และการเลี้ยงชีพแบบปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ตลอดระยะเวลา 17 ปี เพื่อให้เป็นแนวทางประยุกต์ใช้ โดยกล่าวว่า ถ้าเราปลุกประชาชนให้มารักป่า ทุกอย่างก็จะง่าย ทุกภาคส่วนต้องสามัคคีกัน งานจึงจะสำเร็จ และในวันนี้ถือเป็นมิติที่ดี ที่ทุกภาคส่วนร่วมช่วยกัน แก้ปัญหาซึ่งเป็นความทุกข์ของพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย
 
 
จากนั้นกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย ได้นำเสนอสรุปผลการถอดบทเรียนการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ของจังหวัดเชียงราย ในปี พ.ศ. 2566 ทั้งในด้านการบริหารจัดการ การบังคับใช้กฎหมาย ด้านการประชาสัมพันธ์ การบริหารจัดการเขตพื้นที่รอยต่อปัญหาหมอกควันข้ามแดนระหว่างอำเภอ จังหวัด และประเทศเพื่อนบ้าน การสร้างแรงจูงใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา รวมถึงหารือในเรื่องงบประมาณ เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ และข้อมูลจากการวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ในแต่ละด้านเพื่อนำไปปรับใช้ในการปฏิบัติงานในปีต่อไปให้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
 
 
นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ไฟป่าหมอกควันในปี 2566 ถือเป็นสถาการณ์รุนแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนทุกภาคส่วน ที่ทุกคนต่างคาดไม่ถึง และเครื่องมืออุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ดับไฟป่าของจังหวัด มีไม่เพียงพอ จึงส่งผลกระทบในวงกว้าง ทั้งด้านการท่องเที่ยว และสุขภาพของประชาชน พร้อมกล่าวต่อว่า จังหวัดเชียงราย ได้เริ่มขับเคลื่อนเชียงรายเป็นเมืองสุขภาพ จากความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในด้านการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ตามยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยมีเป้าหมายหลักให้จังหวัดเชียงราย เป็นเมืองแห่งสุขภาพ คนเชียงรายและผู้มาเยือนมีสุขภาพดี อยู่แล้วมีความสุข
 
 
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยให้ทุกหน่วยงานที่ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควัน ของจังหวัดเชียงราย นำการถอดบทเรียนในครั้งนี้ไปปรับใช้ในด้านต่างๆ ทั้งการเพิ่มมาตรการ การสร้างแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเผา การใช้มาตรการทางกฎหมาย การสื่อสารกับประชาชนเพื่อลดการเผาในพื้นที่ทางการเกษตร ส่งเสริมการปลูกป่าสร้างรายได้ สร้างพื้นที่สีเขียว การใช้แนวทางคาร์บอนเครดิตมาปรับใช้ การบริหารจัดการวัสดุที่เป็นเชื้อเพลิงในป่า การฟื้นฟูภายหลังจากเกิดการเผา รวมถึงให้มีการกำหนดจุดเป้าหมายในการดำเนินงานให้ชัดเจน ทั้งด้านของงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ กำลังพลเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการทำงาน อาทิ การใช้แอพพลิเคชั่นตรวจสอบไฟป่า การใช้อากาศยานไร้คนขับ (Drone)ในการตรวจสอบและวิเคราะห์ในการดับไฟ การขึ้นทะเบียนคนที่เข้าป่า พรานป่า อีกทั้ง เน้นย้ำให้มีการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มให้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี และจัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการร่วม ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิบัติการกู้ภัย แจ้งเตือนแก่พี่น้องประชาชน การบูรณาการข้อมูลข่าวสาร เพื่อให้เกิดความตระหนักรู้ เผยแพร่ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ เพื่อให้จังหวัดเชียงราย พร้อมเป็นเมืองแห่งสุขภาพ
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News