เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 67 ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ประเมินนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มพื้นตัวต่อเนื่อง มีโอกาสแตะ 40 ล้านคน เท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 หนุนให้รายได้ภาคท่องเที่ยวไทยแตะ 3 ล้านล้านบาท ในปี 2568 เปิด 6 เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดึงดูดนักท่องเที่ยวศักยภาพ มีการใช้จ่ายสูง ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ต่ำกว่า 1.35 แสนล้านบาท แนะผู้ประกอบการปรับรูปแบบบริการ สร้างโอกาสการเติบโตจากเทรนด์ท่องเที่ยวยุคใหม่
นายพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ภาคการท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจน โดยคาดว่าในปี 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสขึ้นไปแตะระดับ 36.5 ล้านคน และในปี 2568 มีโอกาสเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิดที่ 40 ล้านคน แม้นักท่องเที่ยวจีนจะพื้นตัวได้ต่ำกว่าช่วงก่อนโควิดที่ระดับ 65%-90% โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการเติบโตของ นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักอย่างมาเลเซีย อินเดีย รัสเซีย และเกาหลีใต้ รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และตะวันออกกลาง ส่งผลให้รายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2567-2568 มีมูลค่าราว 2.65-3 ล้านล้านบาท
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 5 เดือนแรกฟื้นตัว 88% เทียบกับก่อนโควิด อยู่ในระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยภูมิภาค แต่ยังต่ำกว่าญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และเวียดนาม ส่วน Top5 นักท่องเที่ยวต่างชาติครึ่งปีแรก ได้แก่ จีน 3.44 ล้านคน ฟื้นตัว 61% เทียบกับปี 62, มาเลเซีย 2.44 ล้านคน ฟื้นตัว 126%, อินเดีย 1.04 ล้านคน ฟื้นตัว 106%, เกาหลี 930,000 คน ฟื้นตัว 103% และรัสเซีย 920,000 คน ฟื้นตัว 112%…..นายพชรพจน์กล่าว
ภาพรวมการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงครึ่งปีแรก 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 45,568 บาท/คน/ทริป ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 (ปี 2562) อยู่เล็กน้อยราว 4.9% แต่สูงกว่าปี 2566 ที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 43,743 บาท/คน/ทริป ซึ่งต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 8.7%
Top 10 จังหวัดที่ต่างชาตินิยมเดินทางไปท่องเที่ยวมากที่สุด คือ กรุงเทพ ชลบุรี ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี สงขลา เชียงใหม่ กระบี่ พังงา อยุธยา และหนองคาย
โดยนักท่องเที่ยวใช้จ่ายไปกับค่าที่พักเพิ่มขึ้น 15% และค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น 5.3% สวนทางกับค่าช้อปปิ้งที่ลดลง สะท้อนให้เห็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยไทยสูงกว่าช่วงก่อนโควิด แต่การใช้จ่ายยังไม่ฟื้นตัว เฉลี่ยอยู่ที่ 3,503-4,708 บาท/คน/ทริป สะท้อนกำลังซื้อในประเทศยังอ่อนแอ อย่างไรก็ตามการกระจายรายได้สู่จังหวัดเมืองรองเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 มีสัดส่วนราว 13.4% ของรายได้จากภาคการท่องเที่ยวโดยรวม ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ที่มีสัดส่วนเพียง 9.2%
โดยเมืองรองยอดฮิต 5 อันดับแรก คือ สุพรรณบุรี สมุทรสงคราม เชียงราย จันทบุรี และอุดรธานี้ มีจำนวนนักท่องเที่ยวฟื้นตัวได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ที่ระดับ 130%-343% สะท้อนให้เห็นว่านักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติมีความสนใจที่จะเดินทางท่องเที่ยวในจังหวัดเมืองรองมากขึ้น
นายธนา ตุลยกิจวัตร นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อนโควิด ที่เน้นท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ไปสู่การท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผนวกรวมกับนโยบายด้าน Soft Power ที่ภาครัฐพยายามผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านอาหารไทย และการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ เกิดเป็นเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ที่มีโอกาสสร้างมูลค่าเพิ่มให้ภาคการท่องเที่ยวไทยได้กว่า 1.35 แสนล้านบาท ประกอบด้วย
1.การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) โดยเฉพาะ Street Food ที่ได้รับความนิยมจาก นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นถึง 18.1% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด
2.การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เช่น เทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวเข้าร่วมงานกว่า 7.8 แสนคน สร้างรายได้มากถึง 2,880 ล้านบาท
3.การท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ ซีรีส์ หรือมิวสิกวิดีโอ (Film Tourism) ล่าสุดหลังจากที่มีการปล่อย MV เพลง “ROCKSTAR” ของ Lisa มีนักท่องเที่ยวตามไปถ่ายรูปเช็กอินที่ถนนเยาวราชจำนวนมาก รวมถึงละครเรื่องบุพเพสันนิวาส ที่ทำให้มีนักท่องเที่ยวสนใจเยี่ยมชมสถานที่ถ่ายทำต่าง ๆ เช่น วัดไชยวัฒนาราม เพิ่มขึ้น 3-4 เท่าตัว
4.การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน (Sustainable Tourism) ซึ่งจากผลสำรวจโดย Booking.com พบว่า 3 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ต้องการเดินทางท่องเที่ยวแบบอย่างยั่งยืนในอีก 12 เดือนข้างหน้า
5.กลุ่ม Digial Nomad Tourism เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพที่เติบโตขึ้นตามกระแส “Workcation” รูปแบบการทำงานในโลกยุคใหม่ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ และมีการค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนที่สูงกว่านักท่องเที่ยวทั่วไปเกือบเท่าตัว ซึ่งกรุงเทพติดอันดับจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digial Nomad Tourism อันดับที่ 3 ของโลก และอันดับ 1 ของเอเชีย
6.การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ที่มีโอกาสเติบโตไปพร้อมกับจำนวนผู้สูงอายุ และพฤติกรรมของคนทั่วโลกที่หันมาดูแลสุขภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมีโจทย์ท้าทายคือนักท่องเที่ยวจีนที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า จากภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงต้องจับตาประเด็นเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวในไทย เนื่องจากเป็นเรื่องที่ชาวจีนยังมีความกังวลค่อนข้างมาก โดยความเชื่อมั่นต่ำกว่าเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
ผลสำรวจความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยในการท่องเที่ยวต่างประเทศชองชาวจีน พบว่า 24% บอกว่าเที่ยวไทยปลอดภัย 39% บอกว่าไม่แน่ใจ และ 38% บอกว่าไม่ปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยท้าทายจากต้นทุนภาคธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง…..นายธนากล่าว
ด้านนางสาววีระยา ทองเสือ นักวิเคราะห์ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS เสริมว่า ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวเพื่อคว้าโอกาสจากเทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่ ดังนี้
1.ปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้ตอบโจทย์ความ ต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น ธุรกิจโรงแรมปรับปรุงที่พักให้สอดรับมาตรฐาน Green Hotel หรือเข้าร่วมโครงการ Sustainable Tourism Acceleration Rating (STAR) เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวสายรักษ์ธรรมชาติ
2.นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการดำเนินธุรกิจ เช่น ธุรกิจร้านอาหาร อาจนำหุ่นยนต์อัตโนมัติเข้ามาช่วยเสิร์ฟอาหาร เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากนี้เสนอให้ภาครัฐพิจารณาแนวนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่
- เจาะตลาดนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพสูง โดยอาจเพิ่มทางเลือกในส่วนของประกันสุขภาพให้กับกลุ่ม Digital Nomad ที่มาขอ Destination Thailand Visa Revealed (DTV)
- ผลักดันให้เกิดกระแสการเดินทางเที่ยวตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในเมืองรอง โดยเชื่อมโยงกับกลุ่ม Welness Tourism ที่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงวัยที่สามารถท่องเที่ยวในวันธรรมดาได้
- เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ รวมถึงสร้างระบบด้านความปลอดภัย ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวไทยมากขึ้น
ภาคธุรกิจที่จะได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว ได้แก่
1.ธุรกิจโรงแรม เป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรมที่ตั้งอยู่ในจังหวัดท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต โดยโรงแรมระดับ 4-5 ดาวมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าโรงแรมทั่วไป และมีอัตราการเข้าพักแรมเฉลี่ยกลับสู่ระดับเดียวกับช่วง Pre-Covid แล้ว
2.ธุรกิจสายการบิน โดย AOT ประเมินว่าในปี 2572 จะมีจำนวนผู้โดยสารสูงถึง 170 ล้านคน และในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2577 จำนวนผู้โดยสารอาจแตะระดับ 210 ล้านคน ส่งผลให้ธุรกิจสายการบินยังมี้แนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมาก
3.ธุรกิจร้านอาหาร อาหารกลุ่ม Street Food, Local Food, Fine Dining Thai Cuisine รวมถึงร้านอาหารประเภท Cafe ยังคงได้รับความนิยมุจากนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องตามคาดการณ์ของสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ที่ประเมินว่าตลาดบริการอาหารของไทยในปี 2566-2571 จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.72%
4.ธุรกิจค้าปลีก ได้รับอานิสงส์จากการใช้จ่ายในการซื้อสินค้าของนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัดส่วนกว่า 18.4% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดโดยสินค้ายอดนิยม 3 อันดับแรกที่นักท่องเที่ยวซื้อเป็นของฝากของที่ระลึก ได้แก่ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์อาหารไทย และของที่ระลึกตามลำดับ มีการใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึง 2,621-5,331 บาท/คน/ทริป
5.ธุรกิจ Healthcare เป็นหนึ่งในธุรกิจที่จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และแนวโน้มการเติบโตของ Wellness Tourism สะท้อนจากสัดส่วนรายได้จากผู้ป่วยชาวต่างชาติ และรายได้ในธุรกิจ Wellness ของผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น
ทั้งนี้ Krungthai COMPASS คาดการณ์ GDP ปีนี้จะเติบโตที่ 2.3% โดยยังไม่รวมผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีปัจจัยหลักการการบริโภคในประเทศ การลงทุน และการท่องเที่ยว ส่วนภาคการส่งออกยังท้าทาย จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ มาตรการกีดกันทางการค้าและกำแพงภาษี โดบคาดว่าส่งออกปีนี้จะเติบโตที่ 0.5-1%
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Krungthai COMPASS