Categories
FEATURED NEWS

ม.มหิดล สร้างสรรค์‘โดรน 6 ใบพัดสมอง AI’เพื่องานเกษตรอัจฉริยะ

 
ยุคแห่ง “เกษตรอัจฉริยะ” (Smart Farmer) เช่นปัจจุบันที่แข่งขันกันด้วยเทคโนโลยี ทำให้อากาศยานไร้คนขับ หรือ “โดรน” (Drone) กลายเป็นหัวใจสำคัญของเกษตรอัจฉริยะ

ที่ผ่านมา ได้มีการใช้ “โดรน” เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง ปัจจุบันได้พัฒนาสู่ “โดรน 6 ใบพัด” ที่ช่วยให้สามารถพยุงตัว และรับน้ำหนักบรรทุกได้มากขึ้น

โดยนับเป็นความท้าทายของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ได้สร้างสรรค์พัฒนา “โดรน 6 ใบพัด“ ต้นแบบให้มีความเป็นอัจฉริยะมากขึ้น ด้วยระบบการบินที่ควบคุมโดยปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทำให้สามารถกะระยะได้แม่นยำมากขึ้นในระยะไกล ผ่านระบบดาวเทียมของ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA

อาจารย์ ดร.รัตนะ บุญประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำให้ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ตอบโจทย์การทำเกษตรอัจฉริยะแนวใหม่ ให้เป็นไปในทิศทางที่ตรงจุด แบบ “เกษตรแม่นยำ“ (Precision Agriculture) ที่ทำให้โลกประหยัดทรัพยากรได้มากขึ้น

จากการประดิษฐ์และทดลองจนเห็นผล โดยใช้ประโยชน์จาก “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการพ่นปุ๋ยน้ำแบบแยกกระบอกปุ๋ยอินทรีย์ที่ช่วยในการเจริญเติบโตของพืชเกษตรโดยองค์รวม และปุ๋ยเคมีที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตเฉพาะส่วน ทั้งราก-ผล-ดอก-ใบของพืชเกษตรได้ในคราวเดียว โดยไม่เปลืองแรงงานมนุษย์ ต้นทุน และเวลาเช่นในอดีตที่ผ่านมาต้องพ่นถึง 2 รอบ โดยได้ออกแบบให้ใช้ปริมาณเท่าที่จำเป็น เพื่อลดการสิ้นเปลืองและตกค้างในสิ่งแวดล้อม

จากคุณสมบัติพิเศษของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ที่สามารถบินแบบกะระยะได้อย่างแม่นยำ พร้อมควบคุมผ่านดาวเทียมแม้จากข้ามทวีป ทำให้การดูแลพืชเกษตรเป็นไปโดยตรงจุด และทั่วถึงมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ยังสามารถใช้ช่วยในการผสมเกสรพืชเกษตร อาทิ ข้าวโพด และยังสามารถใช้ลมใต้ปีกของ “โดรน 6 ใบพัดสมอง AI“ ในการปัดเป่าความชื้นที่ก่อให้เกิดเชื้อราบนใบพืช ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ชาวสวนยางพาราต้องเผชิญได้ต่อไป ปรับเปลี่ยนได้ตามมุมมองของโจทย์ปัญหา ตามความมุ่งหมายของผู้วิจัยได้ต่อไปอีกด้วย

โดยนับเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของ “มหาวิทยาลัยมหิดล” ในฐานะ “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานฯ ที่จะทำให้โลกได้มีนวัตกรรมใหม่เพื่อเกษตรอัจฉริยะใช้กันต่อไปอย่างแพร่หลาย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจจากมหาวิทยาลัยมหิดลได้ที่ www.mahidol.ac.th
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
NEWS UPDATE

ไฟป่า 2 จังหวัด แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ สร้างเสียหายแล้วกว่า 450,000 ไร่

 
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2567 รายงานข่าวจาก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ระบุว่า จากสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีก 2 พื้นที่ ไฟป่า แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เสียหายแล้วกว่า 450,000 ไร่
 
 
จากสถานการณ์ไฟป่าที่มีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นอีก 2 พื้นที่ที่พบว่ามีจุดความร้อนติดอันดับต้นๆ ของประเทศในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ล่าสุดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA เผยข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat-8 ของวันที่ 31 มีนาคม 2567 เวลา 10.48 น. แสดงพื้นที่เผาไหม้ที่เกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ของอำเภอ แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งพบพื้นที่ความเสียหายทั้งสิ้น 251,037 ไร่ และ ในพื้นที่ของอำเภอ แม่แจ่ม จอมทอง ฮอด อมก๋อย ดอยเต่า ของจังหวัดเชียงใหม่ที่มีความเสียหายทั้งสิ้น 203,573 ไร่ โดยรวมพื้นที่ความเสียหายทั้งหมด 454,610 ไร่ สำหรับสาเหตุการเกิดไฟป่ายังคงมาจากการจุดไฟเผาเพื่อหาของป่า ล่าสัตว์ รวมถึงการเผาพื้นที่เกษตรก่อนเตรียมการเพาะปลูก และการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เป็นต้น
 
 
ข้อมูลดังกล่าวจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าตรวจสอบในพื้นที่จริงร่วมกับจังหวัด เพื่อนำไปสู่การวางแผนฟื้นฟู ป้องกัน และสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ในการสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน อันจะส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นด้านการท่องเที่ยว และการรักษาทรัพยากรธรรมชาติให้ยั่งยืน
 
 
ดาวเทียม Landsat 8 เป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือ ระหว่างองค์การ NASA และ USGS (U.S. Geological Survey) มีการโคจรซ้ำตำแหน่งเดิมทุก ๆ 16 วัน ความกว้างของแนวถ่ายภาพ 185 กิโลเมตร ประกอบด้วยระบบบันทึกภาพ 2 ชนิด คือ Operation land Image (OIL) และ The Thermal Infrared Sensor (TIRS) จำนวน 11 ช่วงคลื่น ให้รายละเอียดจุดภาพช่วงคลื่น visible, NIR, SWIR  30 เมตร ช่วงคลื่น thermal 100 เมตร และ panchromatic 15 เมตร

ประโยชน์ของภาพที่จะนำไปใช้ : 

  • การจัดทำแผนที่ scale ใหญ่
  • การจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • การวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงพื้นที่
  • การวิเคราะห์ดินและพืชพรรณ – Soil/vegetative analysis
  • การศึกษาด้านธรณีวิทยา อาทิ น้ำมัน ก๊าซ เหมืองแร่ เป็นต้น
  • การติดตามพื้นที่ด้านสิ่งแวดล้อม
  • การวัดปริมาณน้ำ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ชายฝั่ง
  • การวิเคราะห์มลภาวะ และหมอกควัน 
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News