นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. (11 กรกฎาคม 2566) รับทราบการประกาศอันดับความน่าเชื่อถือ (Sovereign Credit Rating) โดยบริษัท Fitch Ratings (Fitch) ประเทศไทยอยู่ที่ BBB+ และมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พอใจผลการประเมินดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันถึงมาตรการภาครัฐที่ทำได้ดี และยังวางรากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจนะระยะต่อไป ดังเห็นจากการที่ Fitch คาดการณ์การเติบโตของ GDP ของไทยที่ ร้อยละ 3.7 ในปีพ.ศ. 2566 และร้อยละ 3.8 ในปีพ.ศ. 2567 โดยเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.6 ในปี พ.ศ. 2565 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ควบคู่ไปกับการบริโภคของภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง เช่น ตลาดแรงงานที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการและนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศจะเพิ่มขึ้นจาก 11.2 ล้านคนในปี พ.ศ. 2565 เป็นประมาณ 29 ล้านคนในปีนี้ ซึ่งเกือบ 3 ใน 4 ของระดับก่อนเกิดโรคระบาด
ทั้งนี้ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ยังคงแข็งแกร่งและยืดหยุ่น โดยถือเป็นจุดแข็งหลัก ที่เป็นเกราะป้องกันภาวะการเงินโลกที่ตึงตัว และความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่ง Fitch คาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ร้อยละ 2.0 ของ GDP ในปีนี้ (พ.ศ. 2566) และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3.9 ในปีพ.ศ. 2567 จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการคลี่คลายของสถานการณ์ราคาน้ำมัน นอกจากนี้ คาดว่าทั้งปี 2566 ประเทศไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูงมาก คือ 7.3 เดือน
โดยปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ Fitch ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทย คือ
1. เศรษฐกิจมหภาค ที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีขึ้นในระยะปานกลาง โดยไม่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของหนี้ภาคเอกชน และ
2. การคลังสาธารณะ ที่มีการลดลงของสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP)
สอดคล้องกับ BOI ที่เปิดเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน
– คำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน ปี 2566 มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริม รวม 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 และมีมูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
– คำขอรับการส่งเสริมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย มีจำนวน 464 โครงการ มูลค่ารวม 286,930 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79 ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูป อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน ตามลำดับ
– อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มีคำขอรับการส่งเสริมจำนวน 106 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนสูงที่สุด กว่า 1.6 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 7 เท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และยังมีแนวโน้มขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่อง
– ในแง่พื้นที่ การลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จำนวน 306 โครงการ เงินลงทุนรวม 171,470 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 47 ของการลงทุนทั้งหมด
– สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรก จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
– อันดับ 2 สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท
– อันดับ 3 ญี่ปุ่น 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท
“พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พัฒนา ฟื้นฟูเศรษฐกิจจนเห็นเป็นผลสำเร็จอย่างเด่นชัดจากตัวเลขการจัดอันดับ รัฐบาลดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างมีวุฒิภาวะ น่าเชื่อถือ มีเสถียรภาพ เห็นได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะที่ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ สอดคล้องกับตัวเลขการขอลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นเป็นผลมาจากโครงสร้างที่นายกรัฐมนตรีได้วางรากฐานไว้ ซึ่งการจัดอันดับในอนาคตก็ขึ้นอยู่กับการกำหนด และดำเนินนโยบายของรัฐบาลต่อไป” นางสาวรัชดาฯ กล่าว
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี