Categories
SOCIETY & POLITICS

พบโลโก้นี้ “30 รักษาทุกที่” ยื่นบัตรประชาชนใบเดียว ไม่ต้องมีใบส่งตัว

 

เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า ในการดำเนินการ “30 บาทรักษาทุกที่” ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดความสับสนและเข้ารับบริการได้อย่างถูกต้องตามนโยบายที่จะเริ่มให้บริการในวันที่ 26 สิงหาคมนี้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้มอบให้ สปสช.จัดทำแนวทางการเข้ารับบริการ และยังเป็นแนวทางการให้บริการสำหรับหน่วยบริการที่เข้าร่วมให้บริการด้วย เพื่อความชัดเจนในการดูแล 

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับโลโก้ 30 บาทรักษาทุกที่ เพื่อใช้ในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ได้มอบให้ สปสช. ดำเนินการจัดทำโลโก้ใหม่ ที่มีความโดดเด่น ชัดเจน และสังเกตได้ง่าย ทำให้ประชาชนเข้ารับบริการได้โดยสะดวก

การออกแบบนั้นในโลโก้นี้นอกจากจะประกอบด้วยข้อความ “30 บาทรักษาทุกที่” แล้ว ยังมีเครื่องหมาย “ถูก” ที่สะท้อนว่า ที่นี่ให้บริการอย่างมีคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข บนสัญลักษณ์เครื่องหมายกากบาทสีแดง “กาชาด” และได้ใช้สีแดงที่สื่อถึงการรักษาพยาบาล ที่บ่งบอกถึงความอุ่นใจในบริการดูแล   

ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นวันคิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะเห็นสัญลักษณ์ “30 บาทรักษาทุกที่” ติดที่หน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ท่านสามารถเดินเข้ารับบริการได้เลย ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว ใช้แค่บัตรประชาชนใบเดียว โดยใช้สิทธิบัตรทอง 30 บาทแต่ถ้าอาการเกินจากศักยภาพที่หน่วยบริการปฐมภูมิและหน่วยบริการนวัตกรรมจะให้การดูแลได้ก็จะได้รับการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลที่รับส่งต่อ

เรียกว่า เป็นการเพิ่มการเข้าถึงบริการ เพิ่มความสะดวก ลดความแออัดการเข้ารับบริการให้กับประชาชน โดยการมีส่วนร่วมจากหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน

สำหรับตราสัญลักษณ์ใหม่นั้นจะเริ่มติดที่หน่วยบริการที่เข้าร่วมในพื้นที่กรุงเทพมหานครก่อน หลังจากนั้นจะทยอยติดที่หน่วยบริการในจังหวัดนำร่องที่ผ่านมาให้ครบถ้วน เพื่อให้ประชาชนใช้บริการได้สะดวกและง่ายขึ้น นายสมศักดิ์ กล่าว

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การที่มีตราสัญลักษณ์ 30 บาทรักษาทุกที่ติดที่หน่วยบริการนั้น หมายความว่า หน่วยบริการนั้นคือหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิที่เข้าร่วมให้บริการประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ซึ่งจะต้องผ่านหลักเกณฑ์ 3 ข้อ ดังนี้

1.มีระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการยืนยันตัวตนผู้ใช้บริการทั้งก่อนการใช้บริการและหลังการใช้บริการ หรือที่เรียกว่าการเปิดและปิดสิทธิในการให้บริการผู้ใช้สิทธิบัตรทองได้

2.ได้ทำการเชื่อมข้อมูลสุขภาพกับ สปสช. แล้ว

3. มีระบบส่งต่ออิเล็กทรอนิกส์ (e-Referral) เพื่อเชื่อมข้อมูลกับโรงพยาบาลรับส่งต่อในเครือข่ายในกรณีที่อาการผู้ป่วยเกินศักยภาพให้บริการได้ 

สำหรับการเข้ารับบริการนั้น ประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท นอกจากจะเข้ารักษาตามขั้นตอนปกติที่หน่วยบริการประจำของท่านแล้ว ยังมีทางเลือกใหม่สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการที่มีตราสัญลักษณ์ (โลโก้) “30 บาทรักษาทุกที่” ปรากฏอยู่ด้านหน้า ซึ่งจะเป็นหน่วยบริการในระดับปฐมภูมิ ได้แก่ รพ.สต., สถานีอนามัย, ศูนย์สุขภาพชุมชน, โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ประจำอำเภอ, และ โรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.)/โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ประจำจังหวัด

ขณะที่ในกรุงเทพมหานคร หน่วยบริการระดับปฐมภูมิจะเป็น คลินิกชุมชนอบอุ่น และศูนย์บริการสาธารณสุข นอกจากนั้นยังมีหน่วยปฐมภูมิของโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมด้วย สำหรับโรงพยาบาลรัฐสังกัดอื่น ๆ นั้น เป็นหน่วยบริการในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ถือเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อที่จะต้องใช้ใบส่งตัวในการเข้ารักษา

นอกจากนั้น ยังมีหน่วยบริการนวัตกรรมที่เป็นทางเลือกใหม่ ได้แก่ ร้านยาคุณภาพและคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมกับ สปสช. เช่น คลินิกเวชกรรม คลินิกทันตกรรม คลินิกพยาบาล คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น

ในกรณีที่อาการป่วยเกินศักยภาพที่หน่วยบริการที่จะให้การรักษาได้ ก็จะได้รับการส่งต่อไปรับบริการที่โรงพยาบาลในเครือข่าย ซึ่งระบบการส่งต่อจะมีทั้งในรูปแบบใบส่งตัวกระดาษและใบส่งตัวอิเล็กทรอนิกส์หรือแบบออนไลน์ขึ้นอยู่กับความพร้อมของหน่วยบริการในการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพ ในส่วนของหน่วยบริการที่เข้าร่วมและจะเข้าร่วมกับ สปสช.ทุกแห่งนั้น

ขอให้มั่นใจในการเรื่องการเบิกจ่ายชดเชยค่าบริการ ซึ่ง สปสช. ได้มีการปรับการจ่ายบริการในรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการเบิกจ่ายเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่เข้ากับระบบสุขภาพในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่ง สปสช. จะมีการจัดแถลงข่าวชี้แจงทำความเข้าใจขั้นตอนการใช้สิทธิของประชาชน การเชื่อมข้อมูล การส่งต่อผู้ป่วย และการเบิกจ่ายต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและหน่วยบริการ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2567 นี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย Kick Off 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จังหวัดเชียงราย โดยมี นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คณะผู้บริหาร และบุคลากรสาธารณสุขเชียงราย ร่วมพิธีฯ เปิดกิจกรรม

นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าผลการดำเนินงานของจังหวัดเชียงราย โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้มากกว่า 22,155 ครั้ง ให้บริการการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ทุกช่องทาง 20,528 ครั้ง ประชาชนลงทะเบียน Health ID กว่า 477,949 คน ให้บริการประชาชนนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ 255 ครั้ง ทั้งนี้หน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีประชาชนเข้ารับบริการคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น จำนวนกว่า 223,033 ครั้ง การเยี่ยมบ้านจำนวนกว่า 40,991 ครั้ง รับบริการร้านยาคุณภาพของฉัน จำนวนกว่า 48,885 ครั้ง บริการกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น จำนวน 3,211 ครั้ง บริการคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น จำนวน 13 ครั้ง บริการคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 1,726 ครั้ง และบริการคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 911 ครั้ง โดยพบว่าประชาชนที่ใช้บริการแล้ว ส่วนใหญ่จะกลับเข้ามาใช้บริการซ้ำอีก
 
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กิจกรรม Kick Off ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่การเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ให้ประชาชนชาวเชียงราย สามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (LAB) และร้านขายยาใกล้บ้าน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ของตนเองและครอบครัวได้
 
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดบูธนิทรรศการ และการให้บริการประชาชน จำนวน 6 บูธ ประกอบด้วย 1. บูธนิทรรศการ ได้แก่ Provider ID (การยืนยันตัวตันผู้ให้บริการ) และ Health ID (การยืนยันตัวตนภาคประชาชน) 2. บูธนิทรรศการ Health Rider (บริการส่งยาถึงบ้าน) 3. บูธนิทรรศการ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) 4. บูธนิทรรศการ หน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ (คลินิก, ร้านยาชุมชนอบอุ่น) 5. บูธนิทรรศการ Lab Anywhere (เจาะเลือด ตรวจแล็บ ที่คลินิกแล็บใกล้บ้าน) และ 6. บูธนิทรรศการ การตรวจวัดสมรรถภาพหลอดเลือดแดง จากภาคเอกชน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน และประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News