Categories
TOP STORIES

ไอทีวี ชี้แจงแล้วคำพูดที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระบุว่า “เอกสารที่ใช้ภายใน นำไปใช้อ้างอิงไม่ได้”

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปข่าวยาวประมาณ 3 นาที ที่ถูกนำมาใช้อ้างในการร้องเรียนนายพิธิ ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นส่วนสำคัญที่ข่าว 3 มิติ ได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัว 

ทำให้ทางนักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล  ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/SarineeA ว่าการสัมภาษณ์สื่อสองเจ้า คือ คุณฐปนีย์ The Reporters และ PPTV เกี่ยวกับ “พิรุธ” หรือจุดผิดปกติในเอกสารทางการเงินของไอทีวี สรุปสั้นๆ ตามนี้นะคะ

Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
1. งบการเงิน (รวมหมายเหตุประกอบงบ) ของทั้ง อินทัช ไอทีวี ประจำปี 2565 รวมถึงการตอบคำถามในที่ประชุมผู้ถิอหุ้นไอทีวี 26 เม.ย. 2565 ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีปัจจุบัน “ไม่ได้ทำสื่อ(หรือแม้แต่ธุรกิจอื่น)ใดๆ” ไม่มีสำนักงาน ไม่มีผู้บริหาร ไม่น่ามีแม้แต่พนักงานประจำด้วยซ้ำ รายได้ทั้งหมดมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน รายจ่ายเกือบทั้งหมดคือการจ้างบริษัทแม่คืออินทัชบริหารจัดการงานต่างๆ ให้ รวมถึงใช้พื้นที่ (ระบุเป็นตำแหน่งที่ตั้งกิจการ) ด้วย
 
2. ดังนั้นการระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ในแบบ ส.บช. 3 หรือ “ใบปะหน้า” ที่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จึงน่าสงสัย เพราะข้อมูลในเอกสารการเงิน 2565 ทั้งหมดไม่มีตรงไหนบ่งชี้เลยว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” (แถมประธานกรรมการไอทีวีในการตอบคำถามผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. ก็พูดชัดว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” ตอนนี้สถานะคือ รอคดีความสิ้นสุดแล้วค่อยคิดต่อ)
 
3. เอกสารชุดเดียวที่ดูเหมือนอธิบายว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” ก็คือ ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค. – มี.ค. 66) ของไอทีวี (เผยแพร่บนเว็บไซต์อินทัช กูเกิลด้วยคำว่า “งบการเงิน ไตรมาส 1 2566 ไอทีวี) ซึ่งทุกหน้าเขียนว่า DRAFT FOR INTERNAL USE — แปลว่า ยังไม่ใช่งบการเงินทางการ ในหน้าสุดท้ายของร่างเอกสารชิ้นนี้ เขียนว่า
“10. เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
 
“จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566”
4. น่าสงสัยว่า บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรแล้ว ไม่มีสำนักงาน พนักงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ของตัวเอง จู่ๆ ทำไมจะลุกขั้นมา “นำเสนอการลงสื่อ” ให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน จะเอาคนจากไหนมาให้บริการนี้? แล้วทำไมบริษัทในกลุ่มเดียวกัน (อินทัช) ซึ่งก็ลงสื่อซื้อสื่อต่างๆ เองได้มากมายอยู่แล้ว ถึงจะอยากมา “ใช้บริการ”(?) นี้ของไอทีวี ?
 
5. ธุรกรรมนี้กับบริษัทในกลุ่ม (สมมุติว่าทำจริง) แต่ไม่ได้เสนอขายให้กับคนทั่วไป ไม่มีลูกค้าจากข้างนอก จะถือว่าเป็นการทำ “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ได้หรือไม่ ?
ฝากช่วยกันตั้งคำถามต่อนะคะ
ร่างงบการเงิน (DRAFT FOR INTERNAL USE) ไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี — https://www.intouchcompany.com/…/1Q66%20Draft%20ITV.pdf
 

และต่อมายังได้มีการโพสต์ข้อความว่าแถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1. ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส
2. ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)
3. การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ — สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
4. หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน” แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช) — แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ
5. คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?
ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย
 
 
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ทาง ITV ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น เผยบันทึกการประชุม ไม่ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่อ” ชี้แจ้งว่า
 

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่าน โดยในการประชุมดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ 

ในการประชุมดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับ และชัดเจน โดยมิได้จดบันทึกการประชุมเป็นคำต่อคำ

ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า

“ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้…”

สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น

บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่า บริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

2.ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นี้บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบ และลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ 

3.ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

 

 

บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า งบฯ ดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท และยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ

บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท เป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หลังจากได้มีหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ทางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นว่าจดหมายชี้แจงจากไอทีวีวันนี้ค่ะ (15 มิ.ย.)

สรุปสั้นๆ คือ เขาตอบว่า
1. รายงานการประชุมไม่ได้ตั้งใจจะบันทึกคำต่อคำ ใจความสำคัญของคลิปกับในรายงานไม่ต่างกัน บริษัท “ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าปัจจุบันบริษัทยังทำสื่ออยู่” แต่อย่างใด 
 
2. ยืนยันว่า รายได้ของบริษัทในปี 2565 มีเพียง “ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำไมแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินประจำปี) ที่แนบงบปี 2565 ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ในเมื่อทั้งปี 2565 ไม่มีการทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลย 
 
นั่นแสดงว่า แบบ ส.บช.3 ที่บริษัทนำส่งไม่ถูกต้องอย่างแรงในสาระสำคัญ บริษัทควรขอแก้ไขกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็วค่ะ
 
3. ยืนยันว่า ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 นั้นเป็นเอกสารภายในเท่านั้น “จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานนอกบริษัทได้” — แปลว่า เอกสารที่เรืองไกรนำไปยื่น กกต. นั้นน่าจะใช้ไม่ได้นะคะ ถ้าเป็นเอกสารชุดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า ในเมื่อเป็นร่างเอกสารภายใน แล้วทำไมถึงเอาขึ้นเว็บบริษัทให้คนทั่วไปและนักร้องเข้าถึงได้ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME