Categories
NEWS UPDATE

ธนาคารแห่งประเทศไทย เตือนมีคน โอนเงินผิดมาหาเรา อย่าโอนคืนเองเด็ดขาด

 

เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2567 ธนาคารแห่งประเทศไทย เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ โอนเงินผิดบัญชี เกิดเรื่องต้องทำอย่างไร?เทคโนโลยีระบบการชำระเงินที่ทันสมัยทำให้การจ่ายหรือโอนเงินกลายเป็นเรื่องง่ายแค่ปลายนิ้วสัมผัส แต่ผู้ใช้บริการเองก็ต้องเพิ่มความระมัดระวังในการใช้งานเช่นกัน เราอาจจะเคยได้ยินเรื่องโอนเงินผิดบัญชี ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่เราโอนผิดเอง หรือมีคนโอนผิดมาที่เรา แล้วไม่รู้ว่าจะต้องแก้ไขอย่างไร Financial Wisdom ฉบับนี้จะมาเล่าถึงวิธีการที่ถูกต้องในการจัดการกับปัญหาเรื่องนี้กัน

 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า เมื่อมีการโอนเงินผิดขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการโอนที่สาขาของธนาคาร ทางตู้ ATM หรือ mobile banking ธนาคารจะไม่มีอำนาจในการดึงเงินกลับคืนเข้าบัญชีต้นทาง เว้นแต่ว่าจะได้รับความยินยอมจากผู้รับโอนผิดเท่านั้น ดังนั้น เราจึงต้องมีขั้นตอนการดำเนินการ โดยสามารถแบ่งการโอนเงินผิดได้เป็น 2 กรณีด้วยกัน

 

หากเราโอนเงินผิดบัญชีไปบัญชีคนอื่น ถ้าเป็นคนที่เรารู้จักกันก็สามารถพูดคุยเพื่อขอให้เขาโอนเงินคืนกลับมาให้เราได้เลย แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่รู้จักกันจะมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา อย่างแรก เมื่อเรารู้แล้วว่าเราโอนเงินไปผิดบัญชี ให้เราไปติดต่อธนาคารของเรา (ธนาคารต้นทาง) เพื่อสอบถามว่าธนาคารต้องการเอกสารอะไรบ้าง เนื่องจากแต่ละธนาคารอาจใช้เอกสารไม่เหมือนกัน สิ่งที่เราสามารถเตรียมได้ เช่น ข้อมูลวันเวลา จำนวนเงิน ช่องทางการโอนเงิน ถ้าทำรายการที่ตู้ ATM ก็อาจจะเก็บสลิปใบบันทึกรายการไว้ แต่หากทำผ่าน mobile banking ก็เก็บ e-slip โอนเงินไว้ รวมทั้งอาจจะเตรียมหลักฐานเอกสารอื่น ๆ ที่ธนาคารอาจจะขอ เช่น ใบคำร้องขอตรวจสอบการโอนเงินผิดบัญชี สำเนาบัตรประชาชน หรือหากเป็นการโอนเงินผิดไปต่างธนาคาร ธนาคารบางแห่งอาจร้องขอใบแจ้งความเป็นหลักฐานเพิ่มเติมด้วย

 

เมื่อธนาคารรับแจ้งปัญหาเรียบร้อยแล้วก็จะแจ้งระยะเวลาการดำเนินการให้เราทราบ และจะเป็นผู้ประสานงานติดต่อบัญชีปลายทางเพื่อให้ความยินยอมโอนเงินคืนกลับมาต่อไป ถ้าผู้รับโอนยินยอมคืนเงิน ธนาคารก็จะโอนเงินเข้าบัญชีให้กับเรา แต่ถ้าผู้รับโอนไม่ยินยอมคืนเงินหรือติดต่อไม่ได้ เราสามารถแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อออกคำสั่งทางกฎหมายให้ธนาคารของผู้รับโอนดำเนินการอายัดบัญชี หรือเปิดเผยข้อมูลบัญชีให้แก่เจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ถ้าเขาโอนผิด

กรณีที่มีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราซึ่งจะคล้ายกับกรณีที่แล้ว คือถ้าเป็นคนรู้จักกัน ได้พูดคุยกันแล้วพบว่าเขาโอนเงินผิดมาจริง เราก็สามารถที่จะโอนเงินคืนเจ้าของบัญชีได้เลย แต่ถ้าไม่รู้จักกัน ทางที่ดีเราควรจะไปติดต่อธนาคารของเราโดยตรง เพื่อตรวจสอบก่อน ถ้าพบว่าเงินที่โอนเข้ามาผิดบัญชีจริง ๆ ก็ให้ความยินยอมแก่ธนาคารในการโอนเงินกลับไปให้เจ้าของบัญชี

สิ่งที่พึงระวังคือ

เราไม่ควรโอนเงินกลับเอง เพราะอาจจะเป็นกลลวงของมิจฉาชีพที่จะใช้บัญชีเราเป็นทางผ่านในการโอนเงินผิดกฎหมาย หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟอกเงิน ที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อ “บัญชีม้า” ก็เป็นได้ โดยมิจฉาชีพจะขอให้โอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งซึ่งอาจจะเป็นคนละธนาคาร คนละชื่อบัญชี โดยอ้างเหตุผลว่าโอนผิดบัญชีไปแล้ว ไหน ๆ จะต้องโอนเงินใหม่ ก็ฝากให้เราช่วยโอนเลยแล้วกัน กลายเป็นว่าเราทำเรื่องผิดกฎหมายโดยไม่ได้ตั้งใจ

แต่ถ้าหากมีเงินโอนผิดเข้ามาในบัญชีของเราจริงโดยไม่ใช่กลโกงของมิจฉาชีพ แต่เราเลือกที่จะเพิกเฉย หรือนำเงินที่ได้มาไปใช้ เจ้าของเงินก็สามารถแจ้งความดำเนินคดีกับเราได้เช่นกัน

 

วิธีการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด

ก็คือการตรวจสอบข้อมูลการโอนเงินให้ถูกต้องก่อนยืนยันการโอนเงินทุกครั้ง สิ่งที่ทุกคนจะต้องดู คือ หมายเลขบัญชีหรือหมายเลขพร้อมเพย์ ชื่อบัญชี ชื่อธนาคาร และจำนวนเงินให้ถูกต้องก่อนที่จะกดยืนยันการโอนเงินไป หากเกิดกรณีโอนเงินผิดขึ้นมาจริงๆ ให้ตั้งสติ อย่าหลงเชื่อใครง่ายๆ จนยอมโอนเงินกลับเอง และควรรีบปรึกษาธนาคารเพื่อให้ธนาคารแนะนำว่าต้องดำเนินการอย่างไรจะดีที่สุด.

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ธนาคารแห่งประเทศไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

โอนเงินเกิน 50,000 บาท ทุกครั้ง บนแอปฯ ธนาคาร ต้องสแกนหน้า

 

สมาคมธนาคารไทย และ ศูนย์ประสานงานด้านความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร ได้ตรวจสอบระบบของภาคธนาคารแล้ว ยืนยันว่า โปรแกรมดังกล่าวไม่สามารถใช้กับบัญชีลูกค้าทั่วไปได้ เพราะจะต้องมีข้อมูลของเจ้าของบัญชีทั้งหมด รวมทั้ง ข้อมูลการยืนยันตัวตน รหัส PIN โมบายแบงกิ้ง รหัสผ่านใช้งานครั้งเดียว (OTP) และการสแกนใบหน้า

การโอนเงินตั้งแต่ 50,000 บาท ต่อครั้ง และ 200,000 บาท ต่อวัน ยืนยันว่าต้องยืนยันตัวตนโดยสแกนใบหน้า  รวมทั้งย้ำว่า ระบบโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารมีความปลอดภัย และมีเสถียรภาพขอให้มั่นใจว่า ระบบโมบายแบงกิ้งของทุกธนาคารมีความปลอดภัยสูง

อย่างไรก็ตาม ลูกค้าและประชาชน ต้องติดตามข้อมูลและปฏิบัติตามแนวทางการป้องกันภัยทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดความเสี่ยงการตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ ดังนี้

 

  • ไม่ดาวน์โหลดโปรแกรมจากแหล่งอื่น
  • ไม่เปิดเผยรหัสผ่านเข้าโมบายแบงก์กิ้ง รวมถึงรหัสOTP กับบุคคลอื่น
  • ไม่สแกนใบหน้า หรือยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชันที่ไม่รู้จัก
  • ไม่กดลิงก์จาก SMS แปลกปลอม เพราะธนาคารไม่มีนโยบายส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ทุกชนิด หรือมีข้อความให้แอด Line ID หลงเชื่อเด็ดขาด
  • ควรสังเกตโล่ ที่อยู่ด้านหน้า Line account เสมอ ซึ่งมีโล่สีเขียว หรือน้ำเงินเข้ม เท่านั้น
  • หากมีข้อสงสัยเรื่องการทำธุรกรรมใด ๆ ติดต่อแบงก์ เพื่อตรวจสอบข้อมูลเสมอ หรือ แจ้งไปยังสายด่วน 1441

 

พร้อมขอเตือนว่าประชาชนอย่าไปรับจ้างเปิดบัญชีม้า หรือ เบอร์ม้า เพราะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามพ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมธนาคารไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News