Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

12 สิงหาคม ชาวเชียงรายร่วมใจ บริจาคโลหิต อวัยวะ และดวงตา

 

เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ที่มูลนิธิสาธารณะกุศลสงเคราะห์เชียงราย (หน้าโรงเรียนสามัคคีวิทยาคม) อ.เมืองเชียงราย เหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย ร่วมกับ สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และมูลนิธิสาธารณกุศลสงเคราะห์เชียงราย จัดกิจกรรมรับบริจาคโลหิต ดวงตา และอวัยวะ เพื่อเฉลิมพระเกียรติและถวายเป็นพระราชกุศล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 92 พรรษา 12 สิงหาคม 2567 เพื่อถวายความจงรักภักดี ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ 

ที่ทรงมีต่อประชาชนและพสกนิกรทุกหมู่เหล่า ซึ่งเปิดรับบริจาคตั้งแต่เวลา 9.00 – 14.00 น. โดยภายในกิจกรรมวันนี้ ชาวเชียงรายต่างรวมใจสวมเสื้อสีฟ้า สีสัญลักษณ์ของวันแม่ มีทั้งประชาชนจิตอาสา นักเรียน นักศึกษา เข้าร่วมบริจาคโลหิต ดวงตา และอวัยวะเป็นจำนวนมาก อีกทั้งผู้ที่มาบริจาคโลหิตจะได้รับของที่ระลึก ใบประกาศเกียรติคุณ และได้ลุ้นรับรางวัลพิเศษ จากสำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย รวมถึงลุ้นรับแก้วน้ำเก็บอุณหภูมิ แก้วน้ำมินิมอล ร่ม และอื่นๆอีกมาย จาก การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจังหวัดเชียงราย และไทย ฮอนด้า เชียงราย เพื่อเป็นการตอบแทนที่มีจิตอาสา ช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ ซึ่งการบริจาคโลหิตถือเป็นการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ และยังเป็นการต่อชีวิตให้กับผู้อื่น โดยการบริจาคเลือดปกติ 1 ครั้งสามารถช่วยต่อชีวิตให้กับผู้ป่วยได้ 3 คน ทำให้มีเลือดเพียงพอในการรักษาชีวิตของผู้ป่วยตลอดไป

ทั้งนี้ “โลหิต” หรือ “เลือด” เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญในการใช้รักษาผู้ป่วย ในปัจจุบันยังไม่มีผู้ที่สามารถคิดค้นสิ่งใดมาใช้ทดแทนโลหิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการรับบริจาคโลหิต เพื่อให้ได้มาซึ่งโลหิตสำหรับใช้ในการช่วยชีวิตผู้ป่วย โดยการบริจาคโลหิตแต่ละครั้ง สามารถปั่นแยกเป็นส่วนประกอบโลหิตได้มากกว่า 3 ส่วน ช่วยชีวิตได้มากกว่า 3 ชีวิต และผลิตเป็นผลิตภัณฑ์โลหิตได้อีกมากมาย เพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยด้วยโรคต่าง ๆ อาทิ เกล็ดเลือด นำไปรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ โรคไข้เลือดออก มะเร็งเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง นำไปรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ไขกระดูกฝ่อ ผู้ป่วยที่สูญเสียเลือดจากการ ผ่าตัดหัวใจ อุบัติเหตุ ตกเลือดจากการคลอดบุตร พลาสมา นำไปรักษาผู้ที่มีอาการช็อกจากการขาดน้ำ ผลิตเซรุ่มป้องกันไวรัสตับอักเสบ บี และเซรุ่มป้องกันโรคพิษสุนัข 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย Kick Off 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว

 

เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธานเปิดกิจกรรม Kick Off โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จังหวัดเชียงราย โดยมี นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พญ.อัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ คณะผู้บริหาร และบุคลากรสาธารณสุขเชียงราย ร่วมพิธีฯ เปิดกิจกรรม

นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย กล่าวว่าผลการดำเนินงานของจังหวัดเชียงราย โครงการยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัลได้มากกว่า 22,155 ครั้ง ให้บริการการแพทย์และเภสัชกรรมทางไกลผ่านระบบออนไลน์ทุกช่องทาง 20,528 ครั้ง ประชาชนลงทะเบียน Health ID กว่า 477,949 คน ให้บริการประชาชนนัดหมายผ่านระบบออนไลน์ 255 ครั้ง ทั้งนี้หน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประชาชนใช้บริการโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย มีประชาชนเข้ารับบริการคลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น จำนวนกว่า 223,033 ครั้ง การเยี่ยมบ้านจำนวนกว่า 40,991 ครั้ง รับบริการร้านยาคุณภาพของฉัน จำนวนกว่า 48,885 ครั้ง บริการกายภาพบำบัดชุมชนอบอุ่น จำนวน 3,211 ครั้ง บริการคลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น จำนวน 13 ครั้ง บริการคลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 1,726 ครั้ง และบริการคลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น จำนวน 911 ครั้ง โดยพบว่าประชาชนที่ใช้บริการแล้ว ส่วนใหญ่จะกลับเข้ามาใช้บริการซ้ำอีก
 
นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า กิจกรรม Kick Off ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียวในครั้งนี้ เพื่อยกระดับการให้บริการประชาชน จาก 30 บาท รักษาทุกโรค สู่การเป็น 30 บาท รักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ ให้ประชาชนชาวเชียงราย สามารถเข้ารับบริการด้านสุขภาพได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว ซึ่งเข้ารับบริการได้ทั้งโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ (LAB) และร้านขายยาใกล้บ้าน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ และให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และคุณภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ของตนเองและครอบครัวได้
 
ทั้งนี้ภายในงานยังมีการจัดบูธนิทรรศการ และการให้บริการประชาชน จำนวน 6 บูธ ประกอบด้วย 1. บูธนิทรรศการ ได้แก่ Provider ID (การยืนยันตัวตันผู้ให้บริการ) และ Health ID (การยืนยันตัวตนภาคประชาชน) 2. บูธนิทรรศการ Health Rider (บริการส่งยาถึงบ้าน) 3. บูธนิทรรศการ Telemedicine (การแพทย์ทางไกล) 4. บูธนิทรรศการ หน่วยบริการนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ (คลินิก, ร้านยาชุมชนอบอุ่น) 5. บูธนิทรรศการ Lab Anywhere (เจาะเลือด ตรวจแล็บ ที่คลินิกแล็บใกล้บ้าน) และ 6. บูธนิทรรศการ การตรวจวัดสมรรถภาพหลอดเลือดแดง จากภาคเอกชน โดยได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมงาน และประชาชนมาใช้บริการเป็นจำนวนมาก
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ยอดผ้าป่า 55,767,756.51 บาท มอบให้โรงพยาบาลเชียงรายฯ

 

เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 67 ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ GMS เชียงราย อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีถวายผ้าป่ากองทุนจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล และอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลน เพื่อมอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมียอดผ้าป่ารวมทั้งสิ้น 55,767,756.51 บาท โดยมี พระไพศาลประชาทร วิ. (พระอาจารย์พบโชค ติสฺสวํโส) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงราย นายกเหล่ากาชาดจังหวัดเชียงราย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนชาวเชียงราย พร้อมใจใส่เสื้อเหลืองร่วมพิธีโดยพร้อมเพรียงกัน

ในพิธีถวายกองผ้าป่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย จุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย เปิดกรวยกระทงดอกไม้ เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล ประธานสงฆ์ให้ศีล เจ้าหน้าที่ปฏิบัติพิธีสงฆ์อาราธนาพระปริตร พระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ ประธานในพิธีนำกล่าวคำถวายกองผ้าป่า และถวายเงินกองทุนแด่ประธานสงฆ์ โดยมี พระสิริวัฒโนดม วิ. เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย (ธรรมยุต) ประธานสงฆ์รับมอบเงินให้แก่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จากนั้น ประธานในพิธีและผู้มีเกียรติร่วมถวายจตุปัจจัยไทยธรรม แด่พระสงฆ์ 10 รูป พระสงฆ์อนุโมทนา ประธานในพิธี กรวดน้ำ รับพร และกราบลาพระรัตนตรัย กราบลาประธานสงฆ์ เป็นอันเสร็จพิธี


ทั้งนี้ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จะนำเงินดังกล่าวไปจัดซื้อเครื่องเอกชเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล และอุปกรณ์การแพทย์ที่ขาดแคลนให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นการเพิ่มโอกาสในการค้นพบโรค และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที ลดความพิการและอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยลงได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

มอบเครื่องวัดความดันโลหิต ให้โรงพยาบาลเชียงรายฯ

 

เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2567 ที่ห้องประชุม เสม พริ้งพวงแก้ว ชั้น 4 อาคารโภชนาการ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์ “โครงการจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567” โดยมีนางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย  แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์  หัวหน้าส่วนราชการ  สมาชิกชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย  เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดเชียงรายเข้าร่วม

 

           นางสุภาเพ็ญ ศิริมาตย์ ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า สมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดทุกจังหวัด พร้อมด้วย สมาชิกแม่บ้านมหาดไทยทั่วประเทศ ดำเนินการมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์แก่โรงพยาบาลต่าง ๆ ที่ขาดแคลน อุปกรณ์ทางการแพทย์ จำนวน 133 รายการ 76 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย เครื่องควบคุมการให้สารละลายทางหลอดเลือดดำ เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล เครื่องติดตามการทำงานของหัวใจและสัญญาณชีพ 

 

          นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวขอขอบคุณทางสมาคมแม่บ้านมหาดไทย และชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ที่ได้มอบอุปกรณ์เครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล เห็นความสำคัญในการช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการสาธารณสุข รวมถึงการช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ซึ่งโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก หากได้รับเครื่องอุปกรณ์ดังกล่าวจะเป็นการช่วยลดขั้นตอน เพิ่มความสะดวกในการทำงาน ลดความแออัดจุดคัดกรองได้เป็นอย่างดี

 


ในการนี้ชมรมแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดเชียงราย ได้รับเครื่องวัดความดันโลหิตแบบสอดแขนพร้อมระบบเชื่อมต่อฐานข้อมูล จำนวน 1 เครื่อง จึงได้มอบให้แก่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลในการให้การรักษาผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังประโยชน์ในการเพิ่มความสามารถด้านการช่วยเหลือประชาชนได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการสืบสานพระราชกรณียกิจ ด้านการสาธารณสุข และเป็นการช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์แก่ประชาชนผู้ยากไร้ในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ ตลอดจนเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อย่างหาที่สุดมิได้

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ เปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร

 

เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อำเภอเมืองเชียงราย นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง และ คณะสมาชิกวุฒิสภาในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร (Center Of Therapeutic Radiology and Oncology) โดยมีพระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา ได้สวดอนุโมทนา พร้อมเจิมป้าย และประพรมน้ำพุทธมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล โดยมีดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวรายงาน ทั้งนี้แพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นำผู้บริหาร เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และผู้บริจาคสมทบทุนสร้างศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร เข้าร่วมพิธี

 

ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 758 เตียง รับผิดชอบประชากรผู้ป่วยโรคมะเร็งจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงประเทศที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย จากฐานข้อมูลทะเบียนมะเร็งของโรงพยาบาลเชียงรายฯ พบว่ามะเร็งที่พบบ่อยในประชากรเพศชาย สามอันดับแรก ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง และมะเร็งปอด ซึ่งในเพศหญิงสามอันดับแรก ได้แก่มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง ส่วนมะเร็ง ที่เป็นสาเหตุการตายสูงสุดของจังหวัดเชียงราย อันดับ 1 ได้แก่ มะเร็งปอด รองลงมาคือ มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ และมะเร็งเต้านม ตามลำดับ โดยจากข้อมูล 3 ปีที่ผ่านมา ผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา จะมีประมาณ 2,400ราย/ปี โดยมีผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับการรักษาด้วยการฉายรังสีประมาณ 1,200 ราย/ปี และกล่าวต่อไปว่า 

 

โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สามารถให้การรักษาโรคมะเร็งด้วยการผ่าตัด และการให้ยาเคมีบำบัด แต่ยังขาดการรักษาด้วยรังสีรักษา ซึ่งเป็นการรักษาที่สามารถลดการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็ง และบรรเทาอาการของโรคในระยะแพร่กระจายได้ โดยผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาด้วยรังสีรักษา จำเป็นต้องเดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง จังหวัดลำปาง เป็นส่วนใหญ่ผู้ป่วยเข้ารับการฉายแสงโรงพยาบาลมะเร็งลำป่าง มีประมาณ 900 ราย/ปี ผู้ป่วยหายจากระบบประมาณ 300 ราย ที่ไม่เดินทางไปรับการรักษา เพราะผู้ป่วยจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปจังหวัดลำปาง เพื่อเข้ารับการรักษาเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ประมาณ 15,000 บาทต่อราย 

 

ซึ่งการจัดตั้งศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ณ อาคารรังสีรักษาแห่งนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นได้อย่างครบถ้วนและสะดวก ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สามารถรับการรักษาได้ตามแผนการรักษา ส่งผลให้มีโอกาสหายจากโรคมะเร็งได้มากขึ้น สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งด้านรังสีรักษา พัฒนาบุคลากรรองรับบริการด้านรังสีรักษา และพัฒนาระบบสารสนเทศรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างสถานบริการในเครือข่าย เพื่อความต่อเนื่องในการดูแลผู้ป่วยและการใช้ข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อคุณภาพบริการแบบครบวงจร และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนชาวเชียงราย

 

พลเอกสิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง กล่าวว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่จังหวัดเชียงรายมีศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร ขอชื่นชมโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ที่ได้มีความมุ่งมั่นพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้สามารถบริการผู้ป่วยมะเร็งได้อย่างครอบคลุมทั้งการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด การรักษา และบริการรังสีรักษาตลอดจนมุ่งมั่นพัฒนาเครือข่ายจังหวัดเชียงราย-พะเยา ให้เข้มแข็ง เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพ มุ่งเน้นให้เกิดปรโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องประชาชน พร้อมกล่าวต่อไปว่าโรคมะเร็งเป็นโรคที่ต้องความสำคัญ 

 

ทั้งในด้านการป้องกัน และดูแล รักษา การเปิดศูนย์รังสีรักษาและมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ในวันนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะผู้ป่วยมะเร็งของจังหวัดเชียงราย-พะเยา รวมถึงพื้นที่ใกล้เคียง จะสามารถเข้าถึงการรักษา ลดระยะเวลารอคอย ลดค่าใช้จ่าย ในการเดินทางเพื่อไปรักษา อีกทั้งยังได้รับการรักษาโดยทีมสหสาขาวิชาชีพ เครื่องมือที่มีมาตรฐานเป็นการดูแลแบบครบวงจรอีกด้วย

 

ทั้งนี้สมาชิกวุฒิสภา และมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระราชูปถัมภ์ ได้มอบเครื่องอุปโภค ของใช้จำเป็นให้กับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อมอบต่อผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษากับโรงพยาบาล เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจในการรับการรักษาต่อไป

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

วช. ผนึกกำลัง ทีม EARTH รับมือ 1 ทศวรรษ แผ่นดินไหวแม่ลาว

 

 เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับ ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ (EARTH: Earthquake Research Center of Thailand) มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จ.เชียงราย โดยมี ผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาวิชา ผู้ทรงคุณวุฒิ และนักวิจัยในพื้นที่ เป็นผู้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาข้อมูลผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งหมด 5 จุด ณ พื้นที่ จ.เชียงราย 

 

           จุดแรกคณะได้ลงพื้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” นำโดย รศ.ดร.ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ จาก มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายแพทย์ศุภโชค มาศปกรณ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ 2 และทีมผู้บริหารโรงพยาบาลให้การต้อนรับ 

 

          รศ.ดร.ธีรพันธ์ฯ กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้รับความเสียหายตรงบริเวณช่วงจุดเชื่อมต่อระหว่างอาคารเก่าและใหม่ โดยความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น อาคารแตกเป็นรอยแนวตั้งยาวสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนจากภายนอก และในวันที่เกิดแผ่นดินไหวนั้น ภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก โดยได้ทำการซ่อมแซมเพื่อความมั่นใจของประชาชนที่เข้ารับบริการ และเพิ่มเติมระบบป้องกันเพื่อเตรียมรับแรงสั่นสะเทือนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

 

          จากนั้นคณะได้เดินทางไปยัง โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ นำโดย ศ.ดร.อมร พิมานมาศ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายพัฒน์พงษ์ เต็มเสาร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ กล่าวต้อนรับ และ ศ.ดร.อมรฯ ได้อธิบายว่า โรงเรียนชุมชนบ้านป่าก่อดำ อาคารเรียนได้รับความเสียหายอย่างหนัก 1 หลัง ต่อมาได้มีการสำรวจความเสียหายของสถานศึกษา ผู้เชี่ยวชาญทำการประเมินแล้วว่าต้องทุบทิ้งทั้งหมดอาคารเรียนไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป และไม่สามารถรองรับแรงสั่นสะเทือนที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต จึงได้ทำการทุบอาคารเรียนทิ้งและสร้างอาคารใหม่ทดแทน และเนื่องจากโรงเรียนตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง จึงได้มีการหารือกับวิศวกร เพื่อเสริมกำลังอาคารเรียนด้วยโครงสร้างใหม่ที่รองรับการเกิดแผ่นดินไหวในอนาคต

 

            ต่อด้วยการเดินทางไปยังวัดดงมะเฟือง  นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มูลนิธิมดชนะภัย ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายสุทัศน์ กิจพิทักษ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลจอมหมอกแก้ว นายเหลี่ยม ปัญญาไว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 9 บ้านดงมะเฟือง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลว่า ในขณะนั้น วิหารของวัดที่เสียหายบางส่วนจากเหตุแผ่นดินไหวก็ได้พังเสียหายทั้งหลัง และเกิดรอยร้าวที่เสากลางเพิ่มขึ้น ผนังหลังพระประธานพังทลายลง หลังคาหลุดร่อน ต้องรื้อทิ้งสร้างใหม่ทั้งหมด โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานจากหลายภาคส่วนระดมเข้ามาช่วยเหลือในการสร้างและปรับปรุงอาคารใหม่ ที่ออกแบบให้เหมาะสมกับพื้นที่ และมีโครงสร้างที่ยืดหยุ่น รองรับแรงสั่นสะเทือนได้ดี และลดความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากแผ่นดินไหว อีกทั้งได้รับความร่วมมือกับชุมชนในการเตรียมรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

          และคณะได้เดินทางไปยัง  “เขื่อนแม่สรวย” นำโดย รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ จาก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายศุภชัย พินิจสุวรรณ ผู้อำนวยการส่วนวิศวกรรม กรมชลประทาน และคณะให้การต้อนรับ และนายทรงพล พงษ์มุกดา หัวหน้าฝ่ายจัดสรรน้ำและปรับปรุงระบบชลประทาน กล่าวว่า เหตุการณ์แผ่นดินไหวในอดีตนั้นจากการตรวจวัดค่าความเร่งสูงสุดที่ตรวจวัดได้มีค่าเท่ากับ 0.0000877g ซึ่งต่ำกว่าค่าความเร่งของพื้นดินจากแผ่นดินไหวที่ใช้ในการออกแบบอย่างมาก ดังนั้นเหตุการณ์แผ่นดินไหวดังกล่าว จึงไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลางที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ และบริเวณพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งนี้กรมชลประทานยังร่วมมือกับคณะวิจัยในการปรับปรุงโครงสร้างของเขื่อนให้มีความแข็งแรง ทนทาน และรองรับต่อการเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้ดียิ่งขึ้น

 

          และจุดสุดท้ายคณะได้เดินทางไปยัง  โรงเรียนศรีถ้อยสุนทรราษฎร์วิทยา  นำโดย รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งได้รับเกียรติจาก นายรักษ์ชัย ฉัตรเงิน ผู้อำนวยการโรงเรียน กล่าวต้อนรับ และรศ.ดร.สุทัศน์ฯ กล่าวว่า แม้ว่าในวันเกิดเหตุแผ่นดินไหวโรงเรียนจะได้รับความเสียหายไม่มากนัก แต่จากการดำเนินการสำรวจของทีมวิจัย พบว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง และอาคารของโรงเรียนมีรูปแบบที่เหมาะสมที่จะดำเนินการปรับปรุงให้มีความแข็งแรงมากขึ้น ด้วยวิธีเสริมความแข็งแรงของเสาอาคารเรียน หรือ concrete jacketing ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ทำให้อาคารเดิมที่มีอยู่แล้วสามารถรองรับแรงแผ่นดินไหวได้มากขึ้นและป้องกันความเสียแก่อาคารเรียนได้ดียิ่งขึ้น

 

          สำหรับผลกระทบจากการเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ที่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย นั้น นำไปสู่การสร้าง Research Ecosystem Facilities ที่จะเป็นกลไกหลักในการนำเสนอนโยบายและเพื่อการสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีเทคโนโลยีสำหรับตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ทันสมัย แต่ยังคงมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อมูลหรือข้อแนะนำในการปฏิบัติตัวหากเกิดแผ่นดินไหวได้จาก “ศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ วช. (EARTH)”

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

รพ.เชียงรายฯ เตรียมหาทุนซื้อเครื่องเอกซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 ที่ห้องประชุมพวงแสด ชั้น3 ศาลากลางจังหวัดเชียงราย คณะทำงานกองทุนจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยมีนายชำนาญ สรรพลิขิต จ่าจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการกลุ่มอำนวยการสำนักงานจังหวัดเชียงราย เจ้าหน้าที่สำนักงานจังหวัดเชียงราย ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย ผู้แทนโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ผู้แทนประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมหารือในการจัดตั้งกองทุนเพื่อจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 

 

โดยจังหวัดเชียงรายได้แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานกองทุนในการจัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอลเพื่อมอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการคณะทำงาน และมอบอำนาจหน้าที่เพื่อให้การจัดงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

 

เนื่องด้วยจังหวัดเชียงรายร่วมกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์มีความประสงค์จัดซื้อเครื่องเอ็กซเรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ตลอดจนเพื่อเป็นการช่วยรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันระยะเฉียบพลันให้แก่ประชาชนชาวเชียงรายและจังหวัดใกล้เคียง 

 

โดยในที่ประชุมได้หารือในการจัดตั้งบัญชีเพื่อสมทบทุน ในนามบัญชี “กองทุนจัดซื้อเครื่องเอ็กซ์เรย์หลอดเลือดระบบดิจิตอล มอบให้โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 “
ตลอดจนหารือด้านการจัดแถลงข่าวประชาสัมพันธ์และการจัดหาทุน เพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ ตลอดจนประชาชนชาวจังหวัดเชียงราย และจังหวัดใกล้เคียงได้มีส่วนร่วมในการสมทบกองทุนฯในครั้งนี

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เคาะสันโค้ง 12-16 เม.ย.67 ถนนคนเล่นน้ำ เริ่มเล่นน้ำตั้งแต่ เที่ยงวัน – 4 ทุ่ม

 

เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ที่ประชุมจัดงานสงกรานต์ สันโค้งถนนคนเล่นน้ำ สภ.เมืองเชียงรายประชุมเตรียมการจัดงานสันโค้งถนนคนเล่นน้ำเทศบาลนครเชียงราย กับทาง เทศบาลนครเชียงราย เจ้าของพื้นที่ชุมชนสันโค้งและชุมชนใกล้เคียง การดูแลความปลอดภัยตำรวจกองเมืองเชียงรายสถาบันการศึกษาโรงเรียนสันโค้ง บริเวณถนนโรงเรียนเทศบาลเด่นห้า ถนนด้านหน้าของวิทยาลัยเทคนิคเชียงราย และผลกระทบที่จะเกิดกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

โดยที่ประชุมได้สรุปและขอประชาสัมพันธ์ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบดังนี้

1.จัดงานตั้งแต่วันที่ 12-16 เมย.67 กำหนดเวลาเล่นน้ำตั้งแต่ 12.00-22.00 น.ในแต่ละวัน การใช้เสียงหรือเครื่องเสียง การเปิดใช้เสียงขอให้ดังเหมาะสมไม่สร้างความรำคาญให้แก่ชุมชน ปิดเครื่องเสียงหลัง 22.00 น. ให้เจ้าบ้านคอยกำกับดูแลกันก่อนที่ตำรวจจะมาจัดการ

2.มีขบวนแห่วันที่ 14 เมย.67 แห่พระและขบวนแห่สงกรานต์สันโค้งถนนคนเล่นน้ำฯ เวลา 14.00น.-15.30 น.

3.เส้นทางเดินรถสันโค้งน้อยเป็น One way จากแยกโรงบาลมาทางแยกเด่นห้า จะเริ่มปิดเส้นทางเดินรถทางเดียวตั้งแต่เวลา 15.00-20.00น.

4.เปิดให้ใช้ห้องน้ำที่วัดเชตุพน และเปิดให้ชาวบ้านเก็บเงินอำนวยสะดวกค่าเข้าห้องน้ำ

5.การขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ดำเนินให้ถูกต้องตามกฎหมาย

6.รณรงค์การแต่งกายพื้นเมือง เหมาะสมและการดื่มของมึนเมาให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย

 

ขอประชาสัมพันธ์แก่นักท่องเที่ยวและคนมาเล่นน้ำ ร่วมไปถึงความร่วมมือให้ชาวบ้านที่อยู่เส้นทางสันโค้งน้อย ได้ยึดถือปฏิบัติโดยความสามัคคีพร้อมเพรียงกัน ช่วยตกแต่งหน้าบ้านตลอดสายให้สวยงาม เพื่อรักษาภาพลักษณ์ที่ดีงามวัฒนธรรมของเชียงราย งานสงกรานต์สันโค้งถนนคนเล่นน้ำ เทศบาลนครเชียงราย การจัดการที่ดีทำให้งานประสบความสำเร็จเป็นที่ประทับใจแก่นักท่องเที่ยวและทุกๆ ฝ่าย ในการเป็นเจ้าบ้านที่ดี เน้นย้ำประเพณีเล่นน้ำสงกรานต์ที่ดีงาม ขับขี่ปลอดภัย เมาไม่ขับ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สภ.เมืองเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

รพ.เชียงรายฯจัดหน่วยตรวจสุขภาพทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา

 
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 67 เวลา 10.00 น. ณ อาคารโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ (โฮงยาไทย2) ศาลากลางจังหวัดเชียงราย (หลังเก่า) นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายบัลลังก์ ไวทย์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายครรชิต ชมภูแดง หัวหน้าป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงรายนางสาวนันทวรรณ กันคำ ประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา โดยมีแพทย์หญิงอัจฉรา ละอองนวลพานิช ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นำทีมคณะผู้บริหาร คุณหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ เข้าปฏิบัติหน้าที่ และให้การต้อนรับ

 

โดยในวันนี้ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้จัดหน่วยให้บริการตรวจสุขภาพกับทีมอาสาดับไฟป่า มูลนิธิกระจกเงา จำนวน 51 คน ซึ่งจะได้ไปช่วยปฏิบัติภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่สูงชัน เข้าถึงลำบาก ซึ่งจำเป็นมีการตรวจสุขภาพ ทั้งการวัดความดัน การตรวจสมรรถภาพปอด (เป่าปอด) และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน ตามนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้ ได้มอบรองเท้าเซฟตี้สำหรับดับไฟป่าและแกลลอนเปล่าสำหรับใช้บรรจุน้ำดื่ม สำหรับทีมที่ขึ้นไปช่วยดับไฟป่า เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานดับไฟป่าของมูลนิธิกระจกเงา

 

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า ต้องขอบคุณชาวเชียงรายทุกคนที่ร่วมมือกันงดเผาในพื้นที่โล่งทุกชนิดจนทำให้จังหวัดเชียงรายตั้งแต่ในช่วงที่มีประกาศห้ามเผา (ตั้งแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ จนถึงวัน) พบจุดความร้อนน้อยที่สุดในจังหวัดภาคเหนือตอนบน และขอขอบคุณทีมอาสาดับไฟป่าทุกทีมที่เข้าพื้นที่เพื่อเสริมศักยภาพภารกิจดับไฟป่าทุกคน พร้อมย้ำให้ผู้ปฏิบัติงานทุกคนต้องใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติงาน ชีวิตและความปลอดภัยสุขภาพร่างกายของผู้ปฏิบัติงานต้องมาก่อน ต้องมีการตรวจสุขภาพร่างกายทุกครั้งทั้งก่อนและหลังปฏิบัติงาน เพื่อเป็นการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานหากร่างกายไม่พร้อมก็ต้องงดลงพื้นที่ดับไฟป่าเพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานเอง 

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ไม่กระทบโครงสร้าง ผู้ว่าฯ ลงตรวจอาคาร รพ.เชียงราย หลังพบรอยร้าว

วันศุกร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2566 จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวเมื่อเวลา 08.37 น.ในรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีความแรงตามมาตรการวัดริกเตอร์ได้ถึง 6.4 แม็กนิจูด ทำให้รับรู้แรงสั่นไหวได้ทั่วภาคเหนือนั้น นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ได้เดินทางไปตรวจสอบอาคารเด็กภายในโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย ซึ่งมีอาคารส่วนต่อขยายตรงจุดเชื่อมระหว่างอาคารเก่าและใหม่สูง 5 ชั้น ได้รับความเสียหายแตกเป็นรอยแนวตั้งยาว ซึ่งสามารถเห็นได้อย่างขัดเจนจากภายนอก ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้สั่งการให้ฝ่ายโยธาธิการให้เร่งเข้าไปตรวจสอบโดยด่วน เนื่องจากภายในอาคารมีผู้ป่วย แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่ต้องใช้อาคารอยู่เป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีสถานที่อื่นๆ เช่น โรงพยาบาลแม่สาย ฯลฯ ที่ด้านหน้าอาคารได้รับความเสียหายเล็กน้อย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายในหลายพื้นที่อยู่ระหว่างสำรวจเพื่อซ่อมแซมต่อไป

 
นายณรงค์ น้ำผึ้ง โยธาธิการและผังเมือง จ.เชียงรายกล่าวว่ากรณีโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบเป็นการกระเทาะออกมาของปูนฉาบที่เชื่อมระหว่างอาคารใหม่ และเก่ารวม 2 หลัง และอาคารสร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวได้ตามมาตราวัดริกเตอร์ได้ถึงระดับ 6-8 เพราะฉะนั้นโครงสร้างจึงไม่ได้รับกระทบ และสามารถใช้งานได้ตามปกติ กระนั้นตนห่วงเรื่องบ้านเรือนของประชาชนที่ไม่สร้างเพื่อรองรับแผ่นดินไหวจึงได้ให้เจ้าหน้าที่ออกสำรวจแล้ว
 
สำหรับ อ.แม่สาย ซึ่งสั่นไหวมากเพราะอยู่ใกล้กับรัฐฉานมากที่สุดพบว่าช่วงเกิดเหตุได้มีคนงานก่อสร้างหลายคน เข้าไปทำงานเพื่อสร้างอาคารศูนย์บริการแบบที่เดียวเสร็จหรือ OSS ภายในที่ว่าการ อ.แม่สาย ตามปกติ แต่ขณะเกิดแผ่นดินไหวได้แรงงานคนหนึ่ง ทราบชื่อต่อมาว่านายยะหุ้ย อายุ 31 ปี ชาวสัญชาติเมียนมา กำลังอยู่บนนั่งร้านชั้น 3 ใกล้เคียงกับริเวณชั้น 2 ของอาคาร เมื่อเกิดแรงสันไหวทำให้นายยะหุ้ยพลัดตกลงมากระทบพื้นจนแขนซ้ายหักและได้รับบาดเจ็บสาหัส หลังเกิดเหตุหน่วยกู้ภัยและเจ้าหน้าที่ อ.แม่สาย ได้รีบนำตัวส่งโรงพยาบาลแม่สายอย่างเร่งด่วนเบื้องต้นพบว่าอาคารอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย
 
 
หลังจากสำหรับแผ่นดินไหวขนาด 6.4 ในวันที่ 17 พ.ย.นี้แล้ว ยังมีการสั่นไหวตามมาหรืออาฟเตอร์ช็อคอย่างน้อย 3-4 ครั้ง คือในเวลา 08.42 น.ความแรงระดับ 4.1 เวลา 08.46 น.ความแรง 3.5 เวลา 08.48 น.ความแรง 3.4 และเวลา 09.06 น.ความแรง 3.4 ตามลำดับ

 

แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

 

 

ต่อมาเวลา 18.00 น. นายแพทย์วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วย นายแพทย์ศุภเลิศ เนตรสุวรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ ทีมผู้บริหาร และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมต้อนรับ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล รักษาการในตำแหน่ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 พร้อมคณะ ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหว โดยได้เข้าเยี่ยมให้กำลังใจเจ้าหน้าที่และผู้ป่วย หอผู้ป่วยพิเศษสูติกรรม ชั้น 5 อาคาร 68 ปีอนุสรณ์ พร้อมร่วมรับฟังสรุปรายงานเหตุการณ์ของโรงพยาบาลเชียงรายฯ  และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รัฐพล  เกติยศ รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการบริหารวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สาขาภาคเหนือ 1 ได้ชี้แจงในส่วนของโครงสร้างอาคาร 68 ปีอนุสรณ์ เป็นอาคารที่ได้รับการออกแบบให้ต้านทานแผ่นดินไหว จากวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งลักษณะด้านวิศวกรรมโครงสร้าง มีการแยกเป็น 2 อาคาร เป็นผลให้การสั่นไหวของอาคารต่างกัน และจากการสำรวจความเสียหายจากทีมวิศวกร ไม่พบความเสียหายกับโครงสร้างหลักของอาคาร พบเพียงแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อ ในส่วนของกำแพงอิฐก่อที่ร่อน ซึ่งไม่ใช่ส่วนโครงสร้างอาคาร และความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่มีผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพของอาคาร ซึ่งที่ผ่านมา ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เชียงราย ร่วมกับ กลุ่มงานโครงสร้างและวิศวกรรมทางการแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายฯ ได้มีการนำนวัตกรรมวัดแรงสั่นสะเทือนอาคารสูง ติดตั้ง ณ อาคารอุบัติเหตุและฉุกเฉิน เพื่อเตือนให้ผู้ใช้อาคารสูงมั่นใจว่ามี การวัด Potential Damage Scale เท่าไรในขณะแผ่นดินไหว เช่นครั้งนี้ พบแรงสั่นสะเทือนที่ Sensor วัดได้อยู่ในช่วง 2.5-8 G ประเมินได้ว่า ไม่มีผลกระทบต่ออาคารแต่อย่างใด 

 

พร้อมกันนี้ แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 ได้เน้นย้ำให้สร้างความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมถึงสภาพจิตใจที่ตามมาหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยให้ปฏิบัติตามแนวทาง “แผ่นดินไหว ใจไม่สั่นไหว” คือ ประเมินความเสี่ยงของพื้นที่และเตรียมความพร้อมในการรับมือ ประเมินปฏิกิริยาที่อาจจะเกิดขึ้น การเตรียมความพร้อมยอมรับอารมณ์ที่หวั่นไหว และหากมีผลกระทบต่ออารมณ์และการทำงาน มากกว่า 1 เดือน ให้ปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ สถานพยาบาลใกล้บ้าน และได้สั่งการให้มีการประชุม ถอดบทเรียน ซ้อมแผนเผชิญเหตุ เพื่อรับสถานการณ์ในอนาคต 

 

ทั้งนี้ นายนฤดล อ่วมสุข ผู้อำนวยการศูนย์สนับสนุนบริการสุขภาพที่ 1 พร้อมสถาปนิก จะทำการสำรวจเพิ่มเติมในส่วนของโครงสร้างอาคารอื่น ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบุคลากรของโรงพยาบาล และประชาชนผู้เข้ารับบริการต่อไป

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : THE STANDARD

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News