เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2566 เวลา 08.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มอบหมาย นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้โอวาทแก่คณะนักเรียน นักศึกษา จากโครงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย ในโอกาสเข้ามาศึกษาดูงานทำเนียบรัฐบาล จัดโดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา
โอกาสนี้ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองฯ กล่าวต้อนรับและแสดงความยินดีกับคณะนักเรียน นักศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ดีอย่างมาก ที่ทุกคนจะได้มาศึกษาเรียนรู้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมถึงการมาศึกษาดูงานในทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี โดยอาคาร ตึกและห้องต่าง ๆ ภายในทำเนียบรัฐบาล เช่น ตึกไทยคู่ฟ้า ตึกนารีสโมสร ตึกภักดีบดินทร์ ตึกสันติไมตรี ฯลฯ เป็นสถานที่สำคัญ ที่นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีใช้ในการประชุมและหารือกับคณะบุคคลต่าง ๆ ทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ รวมถึงการประชุมคณะรัฐมนตรีในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ
รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองฯ ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่และอำนาจของฝ่ายบริหารในประเด็นสำคัญต่าง ๆ ในการทำงานและขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งเรื่องของความจำเป็นและความสำคัญของการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 6 ด้าน คือ
1. ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง
2. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์
4. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม
5. ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
6. ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
เพื่อเป็นทิศทางและกรอบแนวทางในการพัฒนาประเทศไทยไปสู่อนาคตให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน โดยมีแผนการดำเนินการระดับต่าง ๆ รองรับนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรมตามเป้าหมาย ซึ่งมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ ทั้งแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนการปฏิรูประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับต่าง ๆ (ปัจจุบันเป็นแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13) ตลอดจนนโยบายและแผนพัฒนาระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงฯ
ทั้งนี้ สิ่งสำคัญของยุทธศาสตร์ชาตินั้น รัฐบาลให้ความสำคัญที่จะให้มีการปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ทั้งเรื่องอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ได้แก่
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
4) อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnology)
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future) รวมทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) คือ
- 1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
- 2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
- 3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Bio chemicals)
- 4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital) และ
- 5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
นอกจากนี้ รัฐบาลยังให้ความสำคัญที่จะให้ยุทธศาสตร์ฯ สามารถปรับให้สอดคล้องและทันกับการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของโลก โดยเฉพาะการพัฒนาและสร้างความเจริญเติบโตของประเทศไทยที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อร่วมกันลดโลกร้อน ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงต่อที่ประชุมระดับผู้นำ (World Leaders Summit) ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) (COP26)
โดยได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งขณะนี้รัฐบาลได้ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง ผ่านการขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ซึ่งเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) มุ่งสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรชีวภาพ เชื่อมโยงกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม
ซึ่งได้รับความชื่นชมและยอมรับจากต่างประเทศในเวทีการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ โดยเกิดการรับรอง “เป้าหมายกรุงเทพฯ” ว่าด้วยเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bangkok Goals on BCG Model) ในการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ค.ศ. 2022 ได้สำเร็จ ถือเป็นกรอบการดำเนินการกำหนดเป้าหมายร่วมกันเพื่อให้ภูมิภาคเอเซีย-แปซิฟิก เจริญเติบโตอย่างเข้มแข็ง สมดุล มั่นคง และยั่งยืน ดังนั้น จึงขอให้ทุกคนนำความรู้นี้ไปปรับใช้ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก และร่วมกันขับเคลื่อนนโยบาย BCG Model ไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ร่วมกัน
ในตอนท้าย รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมืองฯ ได้ฝากข้อคิดให้กับคณะนักเรียน นักศึกษาจากโครงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย กรณีเรื่องของความไม่เข้าใจกันและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า เหตุการณ์หรือเรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นขอให้ทุกคนได้มีการพิจารณาพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เพราะแม้อยู่หรือพบในเหตุการณ์เดียวกัน แต่ละคนจะมีมุมมองความคิดเห็นที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองและจุดที่แต่ละคนยืนอยู่ ดังนั้น ทุกคนต้องพูดคุยกันด้วยเหตุด้วยผล เอาใจเขามาใส่ใจเราโดยไม่แบ่งแยกกันว่าเป็นฝ่ายใด ทั้งนี้ ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็พยายามที่จะทำความเข้าใจสร้างความรัก ความสามัคคี สร้างความปรองดอง และไม่สร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมและประเทศไทย
โดยใช้หลักทฤษฎีว่าทุกคนมีมุมมองที่ต่างกันได้ แต่ทำอย่างไรที่เราจะพูดกันด้วยเหตุด้วยผล เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข มีความรักสามัคคีกัน และประเทศเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ด้านผู้แทนคณะนักเรียน นักศึกษาฯ ได้กล่าวขอบคุณรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ให้การต้อนรับคณะนักเรียน นักศึกษาจากโครงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย อย่างอบอุ่นและรับความรู้ในด้านต่าง ๆ เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และอำนาจของฝ่ายบริหาร
โดยเฉพาะบริหารงานของรัฐบาลผ่านการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ การปฏิรูปประเทศ และนโยบายสำคัญของรัฐบาลในการนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม เกิดประโยชน์ต่อประชาชนทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง พร้อมกันนี้ตัวแทนคณะนักเรียน นักศึกษาฯ ยังได้กล่าวถึงความประทับใจต่อคำถามของโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” ซึ่งหากตอบตอนนี้ขอตอบว่า “โตขึ้นอยากเป็นโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี” เพราะคนปัจจุบันท่านทำหน้าที่เป็นแบบอย่างไว้ดีที่สุดแล้ว
สำหรับโครงการพัฒนาเยาวชนคนรุ่นใหม่กับการเรียนรู้วิถีประชาธิปไตย กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 – 30 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรมริเวอร์ไซด์ และอาคารรัฐสภา กรุงเทพมหานคร มีกลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียน นักศึกษาจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจากจังหวัดต่าง ๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 150 คน
เพื่อส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของวัฒนธรรมการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเพื่อพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้สามารถนำความรู้ที่ได้รับ ไปเผยแพร่ให้กับสถาบันการศึกษาของตนเอง อีกทั้งเสริมสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่ดีต่อวุฒิสภาให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางต่อไป
เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักนายกรัฐมนตรี