Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

ชาวบ้านเชียงรายค้านเขื่อนปากแบง หวั่นน้ำเท้อกระทบชีวิตและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มชาวบ้าน 3 อำเภอเชียงรายรวมพลังคัดค้านเขื่อนปากแบง หวั่นกระทบวิถีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2567 ณ โฮงเฮียนแม่น้ำของ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ชาวบ้านจาก 3 อำเภอริมแม่น้ำโขง ได้แก่ อำเภอเชียงแสน อำเภอเชียงของ และอำเภอเวียงแก่น รวมตัวประมาณ 150 คน ประกอบด้วยตัวแทนชุมชน ผู้นำสตรี ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน กำนัน และนายกเทศมนตรี เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อโครงการสร้างเขื่อนปากแบง (Pak Beng Dam) ในประเทศลาว ที่ห่างจากพรมแดนไทยด้านอำเภอเวียงแก่นเพียง 96 กิโลเมตร โดยโครงการดังกล่าวมีการลงนามซื้อไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับบริษัทเอกชนผู้พัฒนาโครงการแล้ว แต่การศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนยังไม่มีความชัดเจน

ความกังวลของชุมชนริมโขง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ “ครูตี๋” ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนปากแบงจะซ้ำเติมปัญหาน้ำโขงเท้อเข้าสู่แม่น้ำสาขา เช่น แม่น้ำอิงและแม่น้ำกก ซึ่งเกิดอุทกภัยใหญ่ในปีนี้จนสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรและชุมชน เขาย้ำว่าหากโครงการดำเนินต่อไปจะก่อให้เกิดความเสียหายที่แก้ไขได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น แก่งผาได ในอำเภอเวียงแก่น ซึ่งเป็นสถานที่จัดกิจกรรมและแหล่งพักผ่อนของประชาชน รวมถึงหาดบ้านดอนมหาวัน ในอำเภอเชียงของ ที่จะจมหายไปหากมีการสร้างเขื่อน

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่เกษตรริมโขงที่ชาวบ้านพึ่งพาในช่วงฤดูแล้ง เช่น สวนส้มโอในอำเภอเวียงแก่น ที่ถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ หากเกิดน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อน ชาวบ้านจะสูญเสียรายได้และต้องเริ่มต้นใหม่จากศูนย์

เสียงสะท้อนจากผู้นำชุมชนและท้องถิ่น

นายอภิธาร ทิตตา นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลม่วงยาย กล่าวว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเสมอไป โดยเสนอทางเลือกอื่น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมแสดงความกังวลว่าข้อมูลผลกระทบยังไม่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถวางแผนการเกษตรได้

นายประยุทธ โพธิ กำนันตำบลเวียง กล่าวว่า รายได้จากการท่องเที่ยวในพื้นที่จะหายไป เช่น รายได้จากหาดบ้านดอนมหาวัน ที่เคยสร้างรายได้นับแสนบาทต่อปี พร้อมวิพากษ์ว่าการเยียวยาที่เสนอมักไม่ครอบคลุมหรือเพียงพอ

นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อบูรณาการน้ำ เสนอให้หยุดโครงการและศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างจริงจังก่อน เพราะเขื่อนปากแบงจะมีผลกระทบต่อพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำเท้อจากแม่น้ำโขงที่อาจทำลายพื้นที่เกษตรกรรมและชุมชนริมแม่น้ำ

ข้อเสนอแนะจากชุมชน

ชาวบ้านเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลอย่างโปร่งใส รวมถึงผลักดันทางเลือกพลังงานที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกหรือเลื่อนโครงการจนกว่าจะมีข้อมูลที่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าสำรองเพียงพอ และการสร้างเขื่อนจะสร้างผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต

นางประกายรัตน์ ตันดี ผู้ใหญ่บ้านทุ่งงิ้ว อำเภอเชียงของ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนปากแบงจะกระทบกลุ่มผู้หญิงริมโขงที่พึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น การเก็บไกและปลูกถั่วงอกเพื่อเลี้ยงชีพ เธอเรียกร้องให้ทุกคนร่วมกันเป็นพลังต่อต้านโครงการนี้

ข้อสรุป

ชาวบ้านและผู้นำชุมชนจาก 3 อำเภอริมแม่น้ำโขงในจังหวัดเชียงรายแสดงจุดยืนชัดเจนต่อการคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนปากแบง โดยมุ่งเน้นการปกป้องสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติ พร้อมเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ข้อมูลที่โปร่งใสและพัฒนาทางเลือกที่ยั่งยืนแทนการสร้างเขื่อน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : โฮงเฮียนแม่น้ำของ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
FOLLOW ME
MOST POPULAR
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เรือชาวประมงล่มอีกแล้ว! แม่น้ำโขงเชียงของ รอด 3 สูญหาย 2 คน

 

เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ ได้รับแจ้งจากกำนัน ต.เวียง ว่ามีชาวบ้านจำนวน 5 คน ออกเรือหาปลาในแม่น้ำโขง ในเวลา 05.00 น. จากพื้นที่บ้านดอนมหาวัน ตำบลเวียง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย จากนั้นเรือได้ล่มบริเวณกลางแม่น้ำโขง บริเวณท่าดูดทรายฝั่ง สปป.ลาว ตรงข้ามกับศาลพญานาค พื้นที่เชื่อมต่อระหว่าง บ้านปากอิง ตำบลศรีดอนชัย อำเภอเชียงของ กับบ้านแจ่มป๋อง ตำบลหล่ายงาว อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย

โดยพบว่ามีผู้รอดชีวิตจำนวน 3 ราย คือนายธนวัตร อายุ 29 ปี นาสบุญรัตน์ อายุ 36 ปี โดย นายสัมฤทธิ์ อายุ 42 ปี ได้นำตัวส่งโรงพยาบาลเชียงของ เพื่อตรวจร่ายกาย ทั้ง 3 คนเป็นชาวต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย
ทั้งนี้ยังมีผู้สูญหาย 2 คน คือ นายนัฐวัฒน์ อายุ 29 ปี ชาว ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย และ นายอัสนัย 42 ปี ชาว ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย
 
หลังจากเกิดเหตุ นายอำเภอเชียงของ ได้ประสานงานกับทางหน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง (นรข.) เชียงของ พร้อมกับหน่วยกู้ภัย ลงพื้นที่บริเวณจุดเกิดเหตุ เพื่อค้นหาผู้สูญหาย โดยพื้นที่ดังกล่าวเป็นจุดที่มีน้ำเชี่ยวและน้ำวน หลายแห่ง รวมไปถึงมีความลึกมาก ซึ่งยากแก่การค้นหา
 
นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ กล่าวว่า หลังลงพื้นที่ตรวจสอบในช่วงเช้าที่ผ่านมา ในเบื้องต้นได้รายงานให้กับทางผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ทราบแล้ว พร้อมทั้งประสานไปยัง หน่วยเรือรักษาความสงบตามลำน้ำโขง หรือ นรข. และตำรวจน้ำ ที่ประจำการในพื้นที่ อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย เพื่อค้นหาผู้สูญหาย และประสานไปยังมูลนิธิสยามร่วมใจ เพื่อขอสนับสนุนชุดกู้ภัยทางน้ำ เพื่อนำเรือจากอำเภอเมืองเชียงราย มาสแตนบายในพื้นที่ เพื่อค้นหาผู้สูญหายหลังจากนี้จะได้สอบปากคำผู้ที่รอดชีวิตอีกครั้ง ถึงสาเหตุของเหตุการณ์เรือล่มดังกล่าว
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ท้องถิ่นนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

สทนช. ทำหนังสือด่วนประสานจีน ชะลอระบายน้ำเขื่อนลงแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567 เวลา 16.30 น. นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ระบายน้ำอิงสู่น้ำโขง ณ สะพานบ้านเต๋น ต.สถาน อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นสถานที่ติดตั้งเครื่องดันน้ำของโครงการชลประทานเชียงราย เพื่อดันน้ำจากแม่น้ำอิง ลงแม่น้ำโขง บริเวณปากอิง ต.ศรีดอนชัย ที่อยู่ห่างจากสะพานนี้ประมาณ 1 กม. โดยมีนายทวีชัย โค้วตระกูล ผู้อำนวยการโครงการชลประทานเชียงราย และนายอุดม ปกป้องวรกุล นายอำเภอเชียงของ และผู้นำชุมชน ต.ศรีดอนชัย และต.สถานให้การต้อนรับ

นายพุฒิพงศ์ กล่าวว่า ทางจังหวัดไม่ได้อยู่เฉย ๆ ปล่อยให้น้ำเอ่อ แต่พยายามทำให้ลงแม่น้ำโขงเร็วที่สุดระยะทางจากพะเยากว่า 100 กม.เพื่อไม่ให้ประชาชนระหว่างทางเดือดร้อน ทั้งที่อำเภอเทิง อำเภอขุนตาล ที่เป็นทางผ่านของแม่น้ำอิง ซึ่งได้รับความเสียหายกันมาก ผสมกับเราเจอน้ำป่า ร่องกดอากาศต่ำพาดผ่าน สังเกตว่าทำไมตกอยู่แต่ที่เชียงราย เป็นเวลาเดือนกว่า ยังไม่ผ่านไปเลย แต่ยังอยู่ที่เชียงรายอยู่

“วันนี้ฝนยังตกเรื่อย ๆ น้ำจากจังหวัดอื่นก็มาสะสม ไหลมารวมกันที่บ้าน พื้นที่เกษตร ปศุสัตว์ประสบกันทั่วหน้า ภาพรวมที่ติดริมน้ำอิง ตั้งแต่เทิง ลงมาพญาเม็งราย และขุนตาล เชียงของ เป็นปลายทางน้ำอิงลงน้ำโขง ที่สังเกตว่าเป็นลานีญา เห็นว่าตกสะสมจึงวันที่ 23 ส.ค. รวม 600 กว่ามิลลิเมตรแล้ว เทียบกับเดือนสิงหาคมปี 2566 รวม 200 กว่ามิลลิเมตรเอง 3 เท่าของปีที่แล้ว ทั้งที่ไม่ครบเดือน อยากเตือนพี่น้องประชาชน เป็นประเด็นปัญหาที่ป้องกันแก้ไขด้วย”ผวจ.เชียงราย กล่าว

ผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่มีการเตรียมสร้างเขื่อนปากแบงกั้นแม่น้ำโขงซึ่งห่างจากชายแดนไทยเพียง 96 กม.ทำให้อนาคตยิ่งกลายเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์อีกหรือไม่ นายพุฒิพงศ์กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องให้รัฐบาลดูแล ทราบว่ารัฐบกาลกำลังเจรจาอันนี้เป็นเรื่องเหนือขอบเขตอำนาจหน้าที่ และรัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจโดยได้เร่งเจรจากำลังทำอยู่ ส่วนตนมีหน้าที่รักษาพื้นที่ภาย ทำอย่างไรให้เราเดือดร้อนน้อยที่สุด และเร่งน้ำออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด “เรื่องนี้ผมไม่สามารถตอบได้ ต้องเป็นรัฐบาลและกระทรวงต่างประเทศ”

ผู้สื่อข่าวรายงาน สถานการณ์ระดับน้ำล่าสุดในแม่น้ำโขงวัดที่อำเภอเชียงของ พบว่าปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งโดยวัดล่าสุดในช่วง 18.00 น.อยู่ที่ 10.30 เมตร

เย็นวันเดียวกัน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงที่มีการเปลี่ยนแปลงสูงขึ้นอย่างใกล้ชิด

โดยขณะนี้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำริมน้ำโขงในหลายพื้นที่ของภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย

สทนช. จึงได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ศึกษา วิเคราะห์ เพิ่มเติม โดยเฉพาะการวิเคราะห์แนวโน้ม คาดการณ์ วัน เวลา และปริมาณน้ำสูงสุด (Peak) และการสิ้นสุดของสถานการณ์ ณ สถานีต่าง ๆ ตามแนวแม่น้ำโขง 8 จังหวัดของประเทศไทย

โดยให้รายงานผลการดำเนินงานและมีการประสานงานอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งเสนอแนวทางและมาตรการให้ประเทศสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ได้แก่ ไทย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ได้ทราบและช่วยกันดำเนินการร่วมกันทุกฝ่าย

นอกจากนี้ยังขอให้ MRCS ประสานงานกับ สปป.ลาว เพื่อช่วยในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนในแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง เพื่อบรรเทาผลกระทบและให้ระดับน้ำลดลงจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง พร้อมทั้งให้ประสานงานกับจีน เพื่อแจ้งสถานการณ์ในปัจจุบันของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เพื่อให้จีนชะลอการปล่อยน้ำและบริหารจัดการน้ำในเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบน ตลอดจนติดตามสถานการณ์การให้ข้อมูลเพื่อประกอบการแจ้งเตือนและบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด โดย สทนช. จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำและประสานงานร่วมกับ MRCS อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันความเสียหายแก่ประชาชนในพื้นที่จังหวัดริมแม่น้ำโขงให้ได้มากที่สุด

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักข่าวชายขอบ

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” แหล่งหากินของปลากระเบนแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการลดลงของปลากระเบนในแม่น้ำโขง และติดตามการเปลี่ยนแปลง ปริมาณของปลากระเบนที่ลดลง โดยที่บ้านดอนที่เป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงจับได้บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ว่าเหตุใดจึงพบได้เพียงเฉพาะที่บ้านดอนที่เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาปลาสายพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ด้วย

 

อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง พบว่า จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” โดยมีพื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลน ทราย ปนกัน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน มีหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณหลงแก่ง ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ที่เป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้มีการจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน
 
 
“อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว
 
 
นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง กล่าวว่าเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดกว่า 1.2 กิโลกรัมได้ในแม่น้ำโขง ในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนนั้นถือว่าเป็นปลาที่หากพบได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากระบบนิเวศ ในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป การเพิ่มและลดบริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปลาบางชนิดได้น้อยลง ในฐานะผู้นำหมู่บ้านดอนที่ ก็ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่เข้ามาช่วยทำวิจัย เพื่อเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง โดยใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านดอนที่ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนและพันธุ์ปลาน้ำจืดแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
ด้านนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมง ในพื้นที่บ้านดอนที่ เล่าว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงในปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาส่วนใหญ่ก็จะผันตัวไปทำไร่ทำสวน ในส่วนของที่ทางสมาคม แม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน และจะใช้พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง ตนเองในฐานะชาวประมงในพื้นที่ก็เห็นด้วย ถ้าสามารถจับปลากระเบนในพื้นที่ได้อีก ก็จะส่งให้ทางประมงเพื่อไปทำการวิจัยและเพาะพันธ์ขยายพันธุ์ และนำกลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณจำนวนปลากระเบนในแม่น้ำโขง และให้บ้านดอนที่ เป็นศูนย์เรียนรู้ และเขตอนุรักษ์ เรื่องปลากระเบนแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบภัยคุกคามคือ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่คก วัง และริมฝั่งซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การก่อสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ บนแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เช่น โขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งหากินของปลากระเบน มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง มลพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปลากระเบน 
 
 
โดยเฉพาะลูกปลาและปลาอ่อน การล่าปลากระเบนถูกจับโดยชาวประมงเพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน
 
 
ผลกระทบจากภัยคุกคามทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง 8 จังหวัด หารือฟื้นฟูแม่น้ำโขงให้สมบูรณ์

 
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 67 ที่โรงแรมทีคการ์เดน อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายวีรวิชญ์ เธียรชัยนันท์อำนวยการโครงการแม่โขงเพื่ออนาคต Mekong for the future องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และนายธนวัจน์ คีรีภาส รองผู้อำนวยการโครงการแม่โขงเซฟการ์ด มูลนิธิเอเชีย  Asia Foundation เป็นประธานการประชุมรายงานผลการดำเนินงาน โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุ่มชนลุ่มน้ำโขงในภาคเหนือ และการประชุมสัญจรเครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง (Hug Mekong Network) ครั้งที่ 3 โดยมี นายธีระพงศ์ โพธิ์มั่น  ผู้อำนวยการสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง นายสมเกียติ เขื่อนเชียงสา นายกสมคมแม่น้ำเพื่อชีวิต เจ้าหน้าที่จาก  Asia Foundation WWF นางอ้อมบุญ ทิพย์สุนา เครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน  เครือข่ายชาวบ้านริมแม่น้ำโขงจาก 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง และเครือข่ายสมาคมชุมชนสีเขียว สปป.ลาว เข้าร่วมการประชุม
 

        โดยการประชุมครั้งนี้เป็นการรายงานผลการวิจัย เรื่องผลกระทบจากการพัฒนาเกินความพอดีที่ส่งผลต่อวิถีชีวิต ผู้คนและวัฒนธรรมของชุมชนในลุ่มแม่น้ำโขง และกดำเนินโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนลุ่มน้ำโขง โดย นายธีระพงษ์ โพธิ์มั่น ผศ.ดร.สหัทยา วิเศษ  
 

        นายธีรพงษ์ กล่าวว่า โครงการได้มีการเปิดโครงการครบรอบแล้ว 1 ปี โดยหวังว่าผลลัพของโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สิ่งที่เราร่วมมือกันมากว่า 1 ปี เราได้ทำงานในพื้นที่ อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย โดยได้รับความสนับสนุนจาก แม่โขงเซฟการ์ด และแม่โขงฟอร์เดอะฟิวเจอร์ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นกกับแม่น้ำโขง ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ลุ่มแม่น้ำโขง
 

        การดำเนินการของโครงการที่ผ่านมาเป็นการร่วมมือของชุมชุนลุ่มแม่น้ำโขง ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งความเป็นมาของโครงการ คือ การเกิดปัญหาจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง ในทั้งภาคเหนือและภาคอีสานของไทย ซึ่งเกิดปัญหามาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขโดยคนลุ่มน้ำโขงเอง และยังไม่มีภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เกิดการหาข้อมูลเพื่อให้ภาครัฐ และองค์กรต่างๆ ได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องการขึ้นลงที่ผิดปกติ ระบบนิเวศ และการหาอยู่หากินกับแม่น้ำโขงลำบากมากขึ้น ซึ่งโครงการนี้เป็นการเริ่มต้นเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหากับแม่น้ำโขงอย่างแท้จริง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภและฟื้นฟูแม่น้ำโขงให้กลับมาเป็นแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ โดยเริ่มจากเรื่องปากท้องของคนลุ่มแม่น้ำโขง นอกเหนือจากการเก็บข้อมูลงานวิจัย  ในระยะยาวจะทำให้เกิดเครือข่ายคนลุ่มแม่น้ำโขง ในการเคลื่อนไหวด้านข้อมูล โดยมีแผนงานคือ 1  เก็บข้อมูลคนลุ่มแม่น้ำโขง ว่ามีความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง มีกี่หมู่บ้าน สาขาอาชีพ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับแต่ละชุมชน 2 การเก็บข้อมูลผลกระทบ การทำวิจัย เรื่องพืช การหาปลา การหาอยู่หากินของแมญิงลุ่มแม่น้ำโขง 3 การแก้ไขปัญหาระยะสั้น ในการทำวิจัย เพื่อให้หน่วยงานและองค์การที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือและแก้ปัญหาให้กับคนลุ่มแม่นน้ำโขง 
 

       ผศ.ดร.สหัทยา กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต และสถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง โดยได้รับฟังข้อมูลจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง โดยลงพื้นที่สำรวจ โดยเก็บข้อมูลจาก 305 คน จาก 38 ชุมชน ริมแม่น้ำโขง อ.เชียงแสน อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มที่ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงโดยตรงและทางอ้อม เช่นชาวประมง ผู้อาศัยริมแม่น้ำโขง  และกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำโขง ภาครัฐ เอกชน องค์กรอิสระ
 

       จากนั้นได้มีการจัดเวทีเสวนาในหัวข้อ ข้อค้นพบจากงานวิจัยไทบ้าน และแนวทางแก้ไขปัญหาของภาคประชาชนต่อกรเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงจากการโครงการพัฒนาโดย เครือข่ายฮักแม่น้ำโขง 
 

        นางสาวจรรยา จันทร์ทิพย์ กล่าวว่า พืชริมน้ำหายไปหลังจากการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขง ที่เกิดจากการสร้างเขือ่นในแม่น้ำโขงพื้นที่ที่ผักเคยงอกขึ้นได้ ก็ไม่สามารถขึ้นได้เพราะน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ พี่น้องเราริมแม่น้ำโขงก็ต้องปรับตัวโดยการปลูกพืชริมแม่น้ำ โดยการปลูกพืชอายุสั้นที่เก็บเกี่ยวได้เร็ว เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ ปัจจุบัน วิถีชีวิตเปลี่ยนไปจากเดิมเพราะแม่น้ำไม่สามารถเลี้ยงชีพได้ก็ต้องหาทางออกอย่างอื่นเช่นการเลี้ยงปลา และปลูกผัก ที่ต้องปรับตัว 
 

       นายมานพ มณีรัตน์ ผู้ใหญ่บ้านปากอิง  กล่าวว่า ชุมชนปากอิงได้ได้รับผกระทบจากที่ดิน ริมแม่น้ำที่หายจากการสร้างเขื่อนป้องกันริมตลิ่ง ทำให้พื้นที่ทำการเกษตรหายไป ที่ดินทำการเกษตรไม่มีแล้ว ปัจจุบัน รณรงค์ให้ชาวบ้านปลูกผักไว้เพื่อบริโภค ในครัวเรือน แต่ก็เป็นไปได้ยากเพราะพื้นที่มีไม่เพียงพอ ซึ่งก็เป็นเรื่องยากของชุมชน อาชีพกรประมงของชาวบ้านในพื้นที่ปากอิงก็ได้รับผลกระทบเพราะการหาปลาก็หาไม่ได้ ปัจจุบันเราไม่สามารถพึ่งพาและคาดเดาได้กับแม่น้ำโขง คนรุ่นใหม่เริ่มออกไปทำงานนอกหมู่บ้าน เหลือเพียงผู้สูงอายุอยู่ ซึ่งกังวลว่าในอนาคตวัฒนธรรมท้องถิ่นก็จะหายไปด้วย ซึ่งจะเป็นผลกระทบจากแม่น้ำโขงที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถดำรงค์ชีพได้ในชุมชน 
 

       นายอภิเชษ คำมะวงซ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงให้การประมงในพื้นที่ริมแม่น้ำโขงเริ่มหายไป คนที่หากินกับแม่น้ำโขงต้องเพาะพันธุ์ปลาเพื่อเลี้ยงชีพ แทนการหาปลาในแม่น้ำโขงเพราะปลาตามธรรมชาติน้อยลง ซึ่งคนริมแม่น้ำโขงต้องหาทางออกโดยการปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ โดยการสร้างอาชีพจากการเลี้ยงปลากดคัง ปลาน้ำโขง เพื่อให้สามรถนำมาจำหน่ายเพื่อเลี้ยงครอบครัว 
 

        นางสมจิตร ทิศา กล่าวว่า แม่น้ำโขงเปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนสามารถปลูกผัก ทำเกษตรริมแม่น้ำโขง จนสามารถส่งลูกเรียนหนังสือได้จนจบปริญญาตรี แต่ปัจจุบัน แม่น้ำโขงน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ทำให้การทำเกษตรคาดเดาไม่ได้ ไร่ข้าวโพดริมแม่น้ำโขงที่เคยปลูกได้จำนวนมาก ก็เหลือพื้นที่น้อยลง เพราะระดับน้ำขึ้นมาสูงกินพื้นที่เพาะปลูก พืชสวนที่ปลูกไว้เพื่อขายก็ไม่สามารถทำได้ เพราะคาดเดาไม่ได้ว่าน้ำจะมาเมื่อไหร่ ลงทุนปลูกไปก็กลัวว่าน้ำจะพัดเสียหาย การหาปลาในแม่น้ำโขงเมื่อก่อนถึงเวลามื้ออาหาร ลงน้ำโขงหาปลา สามารถทานได้ทั้งครอบครัว ปัจจุบันลงน้ำหาปลาทั้งวันไม่ได้สักตัวเลยก็มี 
 

        ในช่วงบ่ายเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลของเครือข่ายคนฮักแม่น้ำโขง ครั้งที่  3  โดยมีการสรุปแนวทางความร่วมมือในการัดการแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน การแลกเปลี่ยนสถานการณ์ และแนวทางการแก้ไขจากชุมชน รวมไปถึงการทำงานภายใต้เครือข่ายฮักแม่น้ำโขง  เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกันกับเครือข่ายแม่น้ำโขงภาคเหนือและภาคอีสาน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
WORLD PULSE

สปป.ลาว ส่งคนตรวจคุณภาพน้ำโขงปกติ แม้พึ่งเกิด”กรดซัลฟิวริก” ที่พลิกคว่ำ

 
เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2567 สื่อจาก สปป. ลาว ໂທລະໂຄ່ງ THOLAKHONG ราย3านการตรวจสอบออก! แม่น้ำยังคงไม่ได้รับผลกระทบจาก #ChemicalCase พลิกคว่ำและทำให้สารไหลลงสู่หุบเขาและแม่น้ำ
 
จากกรณีขนส่งสารเคมีในหมู่บ้านภูสังขาม จังหวัดหลวงพระบาง เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 มีสารเคมีบางชนิดไหลลงสู่ลำธารและไหลลงสู่ลำธารน้ำ และมีการแจ้งเตือนจากสำนักงานหลวงพระบางว่า ห้ามใช้น้ำดังกล่าว 
 
 
ล่าสุด วันนี้ 8 เมษายน 2567 คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงออกแถลงการณ์ว่า หลังจากตรวจสอบตั้งแต่วันที่เกิดเหตุและสำรวจอย่างละเอียดเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2567 น้ำบริเวณลำห้วยยังคงปกติไม่ได้รับผลกระทบ มีเพียงน้ำในลำธารในที่เกิดเหตุเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ แสดงให้เห็นว่าแม่น้ำโขงและแม่น้ำโขงที่ลำธารไหลผ่านยังปกติ (ปลอดภัย)
นอกจากนี้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจะยังคงติดตามและประเมินคุณภาพน้ำอย่างใกล้ชิดเพื่อความปลอดภัย
 
 

ทางด้านนายชัยพจน์ จรูญพงศ์ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า อุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อ 5 วันก่อน สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านโดยเฉพาะ อ.เชียงคาน ที่จะเป็นจุดรับน้ำจากประเทศลาวจุดแรก และคาดว่าน้ำจะมาถึงอำเภอเชียงคานในวันที่ 8 เม.ย.นี้

จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ด้านสาธาณสุข และเจ้าหน้าที่ประมง เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณแก่งคุดคู้ ไปตรวจคุณภาพความเป็นกรดด่างทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 5 -12 เม.ย.นี้ ซึ่งผลการตรวจคุณภาพน้ำ ที่ผ่านมาเป็นปกติ

ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า ขณะนี้คุณภาพแม่น้ำโขงในอ.เชียงคานอยู่ในเกณฑ์ปกติ สัตว์น้ำและคนสามารถใช้น้ำได้โดยปลอดภัย เนื่องจากกรดซัลฟิวริก 1 ลิตร ต่อน้ำ 100,000 ลิตรจะเจือจางไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำและคน

 

แม้ขณะนี้สถานการณ์น้ำยังเป็นปกติแต่เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยว ได้ประสานไปยังสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 9 เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำไปตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อให้ผลแม่นยำและสร้างความมั่นใจ

 

ขณะที่วันนี้ บริเวณแก่งคุดคู้ ยังมีนักท่องเที่ยวยังพาครอบครัวมาเล่นน้ำคลายร้อน ส่วนใหญ่บอกว่าไม่กังวลว่าน้ำโขงบริเวณแก่งคุดคู้ จะมีสารเคมีปนเปื้อน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างน้ำโขงไปตรวจสอบคุณภาพทุกวัน คือช่วงเช้าและช่วงเย็น และจากการติดตามข่าวก็พบว่าน้ำโขงที่ไหลผ่านอ.เชียงคาน ยังปกติและยังไม่พบสารเคมีปนเปื้อนแต่อย่างใด

 

ซึ่งทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เคยได้ออกประกาศเรื่อง เฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง ฉบับที่ 1 โดยระบุว่า ตามที่ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชน เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 จังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ໂທລະໂຄ່ງ THOLAKHONG

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

เฝ้าระวัง น้ำในแม่น้ำโขงจังหวัดในอีสานหลังกรดกำมะถัน รั่วไหลที่หลวงพระบาง

 

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 รายงานข่าวจากสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติประกาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง หลังได้รับแจ้งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ได้มีหนังสือแจ้งเตือนประชาชนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2567 แจ้งการเกิดอุบัติเหตุรถบรรทุกสารเคมีพลิกคว่ำ ทำให้กรดซัลฟิวริกไหลลงสู่แม่น้ำคาน บริเวณแขวงหลวงพระบาง สปป.ลาว เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2567 ซึ่งระยะทางจุดเกิดเหตุห่างจากอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ประมาณ 293 กิโลเมตร

 

สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ติดตามสถานการณ์แม่น้ำโขง พบว่าสารเคมีจะเคลื่อนตัวผ่านเขื่อนไชยะบุรี วันที่ 5 เมษายน 2567 ซึ่งจะทำให้สารเคมีเจือจางลง จากนั้นจะเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย (จังหวัดเลย) ช่วงวันที่ 8 – 10 เมษายน 2567และจากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำแม่น้ำโขงในประเทศไทยสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทยได้ติดตามสถานการณ์และประสานสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ให้พิจารณาประสานสปป.ลาว ในการบริหารจัดการน้ำเขื่อนไชยะบุรี

 

เพื่อเจือจางสารเคมี พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยดำเนินการตรวจวัดคุณภาพน้ำพร้อมรายงานสถานการณ์ให้จังหวัดทราบอย่างต่อเนื่อง เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์ดังกล่าว และขอให้ 7 จังหวัด

  1. เลย
  2. หนองคาย
  3. บึงกาฬ
  4. นครพนม
  5. มุกดาหาร
  6. อำนาจเจริญ
  7. อุบลราชธานี

โปรดประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง และแจ้งเตือนให้ประชาชนที่สัญจรและประกอบกิจกรรมในบริเวณแม่น้ำโขง การประมงสัตว์น้ำ รวมทั้งผู้ที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมการเฝ้าระวังผลกระทบจากคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ

 

ซึ่งทางทางการนครหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ก็มีออกแถลงการณ์ด่วน 1 ฉบับ เพื่อแจ้งและสั่งการให้พี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ริมฝั่งแม่น้ำของ (โขง) ตั้งแต่ช่วงหมู่บ้านพุสร้างคำ ลงมาจนถึงปากคาน และแม่น้ำของตั้งแต่ปากคานลงมา ห้ามลงอาบน้ำ และห้ามนำปลาที่ตายอยู่ในน้ำมาประกอบอาหาร หรือนำไปขายโดยเด็ดขาด คาดการณ์ว่าสารเคมี กรดกำมะถัน หรือกรดซัลฟิวริค H2SO4 ประมาณ 30 ตันเหล่านี้ไหลลงสู่แม่น้ำของจะกระจายไปตามแม่น้ำของลงไปทางตอนใต้อย่างแน่น ประกอบกับช่วงนี้ปริมาณน้ำในแม่น้ำของมีปริมาณค่อนข้างน้อย การปนเปื้อนจึงรุนแรง ส่งผลกระทบกับคน สัตว์น้ำอย่างปู ปลา กุ้ง ชนิดต่างๆ ซึ่งต้องจับตามองต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีมาตรการอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนี้  แต่มีการคาดการณ์ว่า จะไม่กระทบถึงแม่น้ำโขงในช่วง อ.เชียงคาน จ.เลย มากนักเนื่องจากน้ำที่ไหลลงมาจากนครหลวงพระบางจะถูกกักเก็บไว้ที่เขื่อนไซยะบูลี (ไซยะบุรี) สปป.ลาว ก่อน

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ร่วมมือแก้วิกฤติเขื่อนแม่น้ำโขง ศึกษา ‘กระเบน’ 1 ในปลาหายาก

 

เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกับชุมชนชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 10 ชุมชน ร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้จัดประชุมวางแผนการศึกษาปลากระเบนแม่น้ำโขง ณ หอประชุมหมู่บ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 35 คน

 

จากการทำงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงที่ส่งผลกระทบต่อพันธุ์ปลา ได้พบว่ามีพันธุ์ปลา 96 ชนิด ปลากระเบนเป็น 1 ในปลาหายาก ที่เคยหายไปจากแม่น้ำโขงในหลายชุมชน แต่ยังคงมีการจับได้ของชาวประมงเพียงแห่งเดียวที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย

 

การประชุมครั้งนี้เป็นการต่อยอดงานวิจัยชาวบ้านที่ได้ทำร่วมกันมากับชุมชน เพื่อวางแผนการทำงานวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบน ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่น แหล่งที่อยู่ระบบนิเวศน์ สถานการณ์ของปลากระเบน และหาแนวทางการอนุรักษ์ปลากระเบนโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนริมแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย โดยร่วมมือทางนักวิชาการ การศึกษา eNDA จากระบบนิเวศน์ในแม่น้ำโขงระบบนิเวศที่มีการจับได้ปลากระเบนของชุมชนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2547-2567) พบจุดที่ชาวบ้านจับปลากระเบนถึง 23 จุด ตลอดลำน้ำโขงจังหวัดเชียงรายระยะทาง 96 กิโลเมตร

 

นายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้กล่าวถึงการศึกษาปลากระเบนในครั้งนี้ว่า “จากการศึกษาวิจัยชาวบ้านพบว่าระบบนิเวศแม่น้ำโขงได้เปลี่ยนไปหมดแล้ว จากเขื่อนในแม่น้ำโขง ตอนนี้ทางชุมชนอยากจะศึกษาสถานการณ์ความหลากหลายของปลาในแม่น้ำโขงที่หายไปหลายชนิด โดยเฉพาะครั้งนี้ปลากระเบนถือว่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงเลยก็ว่าได้ การศึกษาครั้งนี้จะนำองค์ความรู้ท้องถิ่นและความรู้ทางวิทยาศาสตร์มายืนยันว่าสาเหตุการเปลี่ยนแปลงจากเขื่อนแม่น้ำโขงได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณของปลา โดยใช้ปลากระเบนเป็นตัวแทนกรณีศึกษา และต้องการสร้างความร่วมมือกับชุมชนในการดูแล ฟื้นฟูระบบนิเวศแหล่งที่อยู่อาศัยโดยองค์ความรู้ท้องถิ่นเพื่อให้ปลาสามารถกลับคืนมาได้ ในท่ามกลางที่แม่น้ำโขงมันเปลี่ยนแปลงไป”

 

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Mekong stingray, Mekong freshwater stingray มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dasyatis laosensis เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae)มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป แต่ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม หากินตามพื้นท้องน้ำ อาหาร

 

ได้แก่ สัตว์หน้าดิน, ปลาขนาดเล็ก และสัตว์มีเปลือกต่าง ๆ จะว่ายขึ้นมาหากินบริเวณผิวน้ำบ้างเป็นบางครั้งพบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่างปลากระเบนแม่น้ำโขง ถูกจัดอยู่ในสภาพภาพ ใกล้สูญพันธุ์ IUCN Red List Status (Ref. 126983)Endangered (EN) ชาวบ้านแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงรายเรียกชื่อว่า “ปลาผาไม”

 

นายสมศักดิ์ นันทะรักษ์ ตัวแทนนักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่กล่าวถึงปลากระเบนว่า “ปลาฝาไมกิโลกรัมละ 400 บาท ที่บ้านดอนที่ จับได้บริเวณดอนมะเต้า มันเป็น คก มีน้ำนิ่ง จับได้ช่วงน้ำลดใหม่ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนตุลาคม ส่วนมากจะใส่เบ็ดระแวง คือคล้ายเบ็ดค่าว ใส่ไว้พื้นท้องน้ำสายเบ็ดห่างกันประมาณ 1 คืบ ไม่ใช้เหยื่อ ให้ขอเบ็ดอยู่บนพื้นท้องน้ำ มีบางคนก็ไหลมอง หรือใส่ไซลั่นได้ จุดที่ปลากระเบนอยู่ส่วนใหญ่เป็นพื้นน้ำจะเป็นดินโคลน ปลามันจะมาหากินใส้เดือนตามพื้นน้ำ แต่ก่อนจับได้กันตลอด มา 20 ปีมานี่เริ่มหาปลาได้ยาก เพราะน้ำมันขึ้นๆ ลงๆ หน้าแล้งไม่แล้ง หน้าน้ำหลากน้ำไม่เยอะ ระบบนิเวศน์มันเปลี่ยนทำให้หาปลายาก อยากศึกษาเรื่องปลากระเบน เพื่อจะหาแนวทางการอนุรักษ์ให้มันไม่สูญพันธุ์”

 

การศึกษาวิจัยชาวบ้านเรื่องปลากระเบนใช้กระบวนการศึกษาแบบงานวิจัยชาวบ้าน ที่ให้ชาวประมงมาเป็นนักวิจัยทำการศึกษาข้อมูลจากองค์ความรู้ท้องถิ่นของตัวเอง โดยมีทางทีมสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และในการศึกษาครั้งนี้ใช้กระบวนการศึกษาทางวิทยาศาสตร์เข้ามาเสริมองค์ความรู้ท้องถิ่น ร่วมกับทาง รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา โดยใช้วิธีการศึกษาeDNA หรือการศึกษาสารพันธุกรรมจากสิ่งแวดล้อมของปลากระเบน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำในระบบนิเวศที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบที่ทางชุมชนเคยพบปลากระเบนในรอบ 20 ปีที่ผ่านมาของชุมชน ในพื้นที่ทั้ง 23 จุด ว่ายังคงมีปลากระเบนอาศัยอยู่ในระบบนิเวศนั้นๆอยู่หรือไม่ มีมากน้อยแค่ไหน โดยการเก็บตัวอย่างน้ำมาตรวจหาสารพันธุกรรมปลากระเบน

 

ทางด้าน รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้กล่าวถึงกระบวนการศึกษา eDNA ว่า “กระบวนการศึกษา eDNA มีขั้นตอนหลักๆ สามขั้นตอน คือ ขั้นที่หนึ่งเก็บตัวอย่างจากน้ำหรือดิน ขั้นที่สองสกัด eDNA ออกมาจากตัวอย่าง ขั้นตอนที่สามวิเคราะห์ eDNA ที่พบ ว่าเป็นของสิ่งมีชีวิตชนิดใด มีมากหรือมีน้อยแค่ไหน การศึกษาeDNA เป็นวิธีการที่มีความละเอียดสูง และไม่ทำร้ายสิ่งมีชีวิตที่ทำการศึกษาหรือแหล่งที่อยู่อาศัย ลดข้อจำกัดวิธีการสำรวจแบบที่ต้องจับตัวสัตว์ การศึกษา eDNAจึงเหมาะกับการใช้ในงานอนุรักษ์เป็นอย่างมาก”

 

 

การศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นร่วมกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขงโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง การเรียกร้องแก้ไขปัญหาผลกระทบการเปลี่ยนแปลงพันธุ์ปลาที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตชาวประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป

 

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI WORLD PULSE

สปป.ลาว พบ พระพุทธรูป 4 องค์ โผล่ลำน้ำโขง แขวงบ่อแก้ว ตรงข้าม อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสื่อท้องถิ่นใน สปป.ลาว หลายราย เช่น ລວມຂ່າວລາວ-Lao News update,ແຂວງບໍ່ແກ້ວ Bokeo Province,ໜັງສືພິມລາວພັດທະນາ Laophattana News ได้รายงานข้อมูลและภาพจากพระอาจารย์ ຂັດຕິຍະບາຣະມີ ว่าได้มีการพบพระพุทธรูปและวัตถุโบราณหลายชิ้น ภายในหาดทรายกลางแม่น้ำโขงฝั่งเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ตรงกันข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย คาดว่าเป็นบริเวณวัดเก่าแก่และเมืองเก่าสมัยอาณาจักรสุวรรณโคมคำในยุคนับพันปีก่อน โดยการค้นพบมีขึ้นเมื่อวันที่ 16 มี.ค.หลังจากระดับน้ำในแม่น้ำโขงได้ลดลงจนกลายเป็นหาดทรายกว้าง และชาวบ้านได้พบเห็นส่วนบนของพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมาจึงพากันไปขุนค้นต่อ

ปรากฎว่าเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่องค์ใหญ่จำนวน 2 องค์ คาดว่ามีหน้าตักกว้างกว่า 29 นิ้ว โดยองค์แรกมีสภาพสมบูรณ์ไม่เสียหายมากนักแต่องค์ที่ 2 พระเศียรหักออกไปแต่ยังคงพบในบริเวณเดียวกัน นอกจากนี้ พบพระพุทธรูปขนาดเล็กอีก 2 องค์ คาดว่ามหน้าตักกว้างประมาณ 9 นิ้ว โดยมีสภาพเช่นเดียวกับองค์ใหญ่คือมีองค์สมบูรณ์ 1 องค์และพระเศียรหักออกไปอีก 1 องค์และพบส่วนที่ขาดไปด้วยคาดว่าทั้งหมดสร้างด้วยสัมฤทธิ์ที่มีความคงทน รวมทั้งยังพบวัตถุทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวลักษณะคล้ายอิฐทังขนาดเล็กและใหญ่อีกไม่ต่ำกว่า 10-15 อัน คาดว่าสร้างด้วยปูน

หลังการค้นพบทางเจ้าหน้าที่ สปป.ลาว ทั้งระดับหมู่บ้าน เมืองและแขวง ได้มีการจัดสถานที่เก็บรักษาบริเวณที่ค้นพบแล้วโดยมีการวางกำลังดูแลรักษาตลอด 24 ชั่วโมงด้วย ขณะที่มีประชาชนชาวลาวรวมไปถึงพระภิกษุและสามเณรต่างพากันไปกราบนมัสการและชมพระพุทธเจ้าและวัตถุโบราณต่างๆ ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ລວມຂ່າວລາວ-Lao News update, ແຂວງບໍ່ແກ້ວ Bokeo Province, ໜັງສືພິມລາວພັດທະນາ Laophattana News

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI FEATURED NEWS

ชาวประมงเชียงของ จับกระเบนแม่น้ำโขง 1 ใน 96 ชนิด พันธุ์ปลาหายาก ที่ยังคงมีในเชียงราย

 
เช้าวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากนักวิจัยชาวบ้าน ชาวประมงแม่น้ำโขงดอนที่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 1.7 กิโลกรัมปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
 
 
ปลาฝาไม จากงานวิจัยชาวบ้านองค์ความรู้พันธุ์ปลาแม่น้ำโขงในปีพ.ศ. 2547 เป็น 1 ในพันธุ์ปลาหายากในจำนวนพันธุ์ปลาจาก 96 ชนิด ในปีพ.ศ. 2565 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตร่วมกับกลุ่มรักษ์เชียงของ สถาบันชุมชนลุ่มน้ำโขง ได้ทำงานวิจัยร่วมกับชุมชนในงานวิจัยชาวบ้านแม่น้ำโขงสายน้ำที่เปลี่ยนแปลง พื้นที่จังหวัดเชียงรายพบพันธุ์ปลา 100 ชนิดเป็นพันธุ์ปลาท้องถิ่น 90 ชนิด จากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
 
 
สถานการณ์พันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง โดยเฉพาะปลาฝาไม หรือกระเบนแม่น้ำโขง สถานภาพใกล้สูญพันธุ์ จากสถิติการจับได้น้อยมาก หลายชุมชนไม่เคยจับได้อีกเลย แต่ในการทำวิจัยชาวบ้านที่ผ่านมาได้สร้างความแปลกใจให้กับทีมงานผู้ช่วยนักวิจัยเป็นอย่างมาก เนื่องจากชุมชนบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ยังคงมีการจับได้ปลากระเบนปีละไม่ต่ำกว่า 30 ตัว จับได้ทั้งลูกปลาและปลาขนาดใหญ่น้ำหนักมากถึง 31 กิโลกรัม ทางตัวแทนชุมชนบ้านดอนที่ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยชาวบ้าน เป็นคณะทำงานนักวิจัยชาวบ้านในการศึกษาเรื่องสถานการณ์ของพันธุ์ปลา ทำให้มีการบันทึกสถิติปลาฝาไมหรือปลากระเบนยังคงมีการจับได้ที่แม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย
นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่ชุมชนจับได้ว่า
“ปลาฝาไม ในแม่น้ำโขง ตัวนี้จับได้บริเวณตอนมะเต้า เป็นระบบนิเวศน์คกมีน้ำวน ประธานกลุ่มประมงดอนที่พ่อวันดีจับได้เมื่อเช้านี้ ตัวประมาณ 1.7 กิโลกรัม โดยการใส่มองยังหรือตาข่ายที่ดักไว้ ปลาฝาไมได้เอาเงี่ยงของมันมาพันติดกับตาข่ายมอง ช่วงนี้เริ่มจับปลาฝาไมได้เพราะน้ำเริ่มลดใหม่ๆ ประมาณเดือนกันยายน ถึงเดือนธันวาคม ปีนี้ชุมชนเราจับได้ 4 ตัวแล้วได้บริเวณโซนใกล้ๆกัน ตัวแรก 0.5 กิโลกรัม ตัวที่สอง 14 กิโลกรัม และตัวที่สาม 16 กิโลกรัม ปลาฝาไม มีราคาแพงกิโลกรัมละ 400 บาท การจับปลาฝาไมมันจับได้น้อยมาก นอกจากเนื้อเป็นที่นิยมแล้ว หางปลาผาไมชุมชนเชื่อว่าสามารถนำไปใช้ไล่ผีกะได้ หางปลาขายหางละ 200 บาท ส่วนใหญ่ใครได้ก็จะเก็บไว้”
 
 
ระบบนิเวศน์พื้นที่หาปลาของบ้านดอนที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่แก่งคอนผีหลง เป็นระบบนิเวศน์เฉพาะ มีลักษณะเป็นหมู่แก่งหินขนาดเล็ก ใหญ่ และดอนทรายเป็นจำนวนมาก ช่วงความยาวประมาณ 1.6 กิโลเมตร เริ่มตั้งแต่บ้านดอนที่ ไปยังบ้านเมืองกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย มีระบบนิเวศย่อยตามความรู้ท้องถิ่นแบ่งเป็น 11 ระบบนิเวศน์ คือ ผา คก ดอน หาด ร้อง หลง หนอง แจ๋ม น้ำห้วย ริมฝั่ง และกว๊าน ชุมชนเชื่อว่าในพื้นที่คอนผีหลงเป็นที่อยู่อาศัยสำคัญของปลาในแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย ทำให้บ้านดอนที่กลายเป็นแหล่งหาปลาแม่น้ำโขงที่สำคัญ องค์ความรู้การจับปลากระเบนจะใช้เครื่องมืออยู่ 3 ชนิด ได้แก่ เบ็ดระแวง 
 
 
โดยการแขวนเบ็ดขอเปล่าไว้ใต้ผิวน้ำนิ่งที่เป็นดินโคลน การไหลมองหรือตาข่าย ปลากระเบิดจะติดมองโดยเงี่ยงปลากระเบนจะพันกับตาข่ายมอง และวิธีที่สาม การใส่เบ็ดค่าว เชือกยาวไว้ใต้น้ำมีเหยื่อล่อเป็นปลา ไส้เดือน หอย เป็นต้น ชุมชนจับปลากระเบนได้ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม ช่วงน้ำลด
 
 
ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมาทางสมาคมได้ประสานงานกับทางนักวิชาการ รศ.ดร.มัสลิน โอสถานันต์กุล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และ รศ.ดร.ฉัตรมงคล สุวรรณภูมิ คณะเกษตรศาสตร์มหาวิทยาลัยพะเยา ได้ทำการเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรม (DNA) จากซากปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป
รูปภาพจากกลุ่มประมงพื้นบ้านดอนที่
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News