Categories
FEATURED NEWS

ราชกิจจานุเบกษา โปรดเกล้าฯ เปิดสภาตั้งแต่วันที่ 3 ก.ค. นี้

 

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2566 ความว่า

 
“พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน
 
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า
 
โดยที่ได้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 แล้ว และตามความในมาตรา 121 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย กําหนดให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไป โดยให้ถือเป็นวันเริ่มสมัยประชุมสามัญประจําปีครั้งที่หนึ่ง
.
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 121 มาตรา 122 และมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมรัฐสภา ตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป
 
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
 
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี”

 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
TOP STORIES

ไอทีวี ชี้แจงแล้วคำพูดที่ประชุมผู้ถือหุ้น ระบุว่า “เอกสารที่ใช้ภายใน นำไปใช้อ้างอิงไม่ได้”

 
เมื่อวันที่ 15 มิถุยน 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น หลังจากที่ นางสาวฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้สื่อข่าว 3 มิติ เปิดเผยคลิปข่าวยาวประมาณ 3 นาที ที่ถูกนำมาใช้อ้างในการร้องเรียนนายพิธิ ลิ้มเจริญรัตน์ และเป็นส่วนสำคัญที่ข่าว 3 มิติ ได้รับการติดต่อจากผู้ถือหุ้นคนหนึ่งที่ไม่เปิดเผยตัว 

ทำให้ทางนักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ อย่าง สฤณี อาชวานันทกุล  ออกมาแสดงความเห็นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2566 ผ่านทางเฟสบุ๊ค https://www.facebook.com/SarineeA ว่าการสัมภาษณ์สื่อสองเจ้า คือ คุณฐปนีย์ The Reporters และ PPTV เกี่ยวกับ “พิรุธ” หรือจุดผิดปกติในเอกสารทางการเงินของไอทีวี สรุปสั้นๆ ตามนี้นะคะ

Sarinee Achavanuntakul – สฤณี อาชวานันทกุล
1. งบการเงิน (รวมหมายเหตุประกอบงบ) ของทั้ง อินทัช ไอทีวี ประจำปี 2565 รวมถึงการตอบคำถามในที่ประชุมผู้ถิอหุ้นไอทีวี 26 เม.ย. 2565 ทั้งหมดให้ข้อมูลสอดคล้องกันว่า ไอทีวีปัจจุบัน “ไม่ได้ทำสื่อ(หรือแม้แต่ธุรกิจอื่น)ใดๆ” ไม่มีสำนักงาน ไม่มีผู้บริหาร ไม่น่ามีแม้แต่พนักงานประจำด้วยซ้ำ รายได้ทั้งหมดมาจากผลตอบแทนจากการลงทุน รายจ่ายเกือบทั้งหมดคือการจ้างบริษัทแม่คืออินทัชบริหารจัดการงานต่างๆ ให้ รวมถึงใช้พื้นที่ (ระบุเป็นตำแหน่งที่ตั้งกิจการ) ด้วย
 
2. ดังนั้นการระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ในแบบ ส.บช. 3 หรือ “ใบปะหน้า” ที่นำส่งงบการเงินประจำปี 2565 ในวันที่ 10 พ.ค. 2566 จึงน่าสงสัย เพราะข้อมูลในเอกสารการเงิน 2565 ทั้งหมดไม่มีตรงไหนบ่งชี้เลยว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” (แถมประธานกรรมการไอทีวีในการตอบคำถามผู้ถือหุ้น วันที่ 26 เม.ย. ก็พูดชัดว่า “ยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ” ตอนนี้สถานะคือ รอคดีความสิ้นสุดแล้วค่อยคิดต่อ)
 
3. เอกสารชุดเดียวที่ดูเหมือนอธิบายว่าไอทีวีทำ “สื่อโฆษณา” ก็คือ ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 (ม.ค. – มี.ค. 66) ของไอทีวี (เผยแพร่บนเว็บไซต์อินทัช กูเกิลด้วยคำว่า “งบการเงิน ไตรมาส 1 2566 ไอทีวี) ซึ่งทุกหน้าเขียนว่า DRAFT FOR INTERNAL USE — แปลว่า ยังไม่ใช่งบการเงินทางการ ในหน้าสุดท้ายของร่างเอกสารชิ้นนี้ เขียนว่า
“10. เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
“เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 บริษัทมีการนำเสนอการลงสื่อให้กับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน และเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2566 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งที่ 2/2566 มีมติรับทราบรูปแบบการดำเนินธุรกิจของบริษัท โดยเป็นผู้ให้บริการลงสื่อโฆษณา
 
“จากการที่บริษัทได้มีการให้บริการแก่บริษัทในกลุ่มข้างต้น บริษัทจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2566”
4. น่าสงสัยว่า บริษัทที่ไม่ได้ทำธุรกิจอะไรแล้ว ไม่มีสำนักงาน พนักงาน อุปกรณ์ ฯลฯ ของตัวเอง จู่ๆ ทำไมจะลุกขั้นมา “นำเสนอการลงสื่อ” ให้กับบริษัทในเครือเดียวกัน จะเอาคนจากไหนมาให้บริการนี้? แล้วทำไมบริษัทในกลุ่มเดียวกัน (อินทัช) ซึ่งก็ลงสื่อซื้อสื่อต่างๆ เองได้มากมายอยู่แล้ว ถึงจะอยากมา “ใช้บริการ”(?) นี้ของไอทีวี ?
 
5. ธุรกรรมนี้กับบริษัทในกลุ่ม (สมมุติว่าทำจริง) แต่ไม่ได้เสนอขายให้กับคนทั่วไป ไม่มีลูกค้าจากข้างนอก จะถือว่าเป็นการทำ “ธุรกิจสื่อโฆษณา” ได้หรือไม่ ?
ฝากช่วยกันตั้งคำถามต่อนะคะ
ร่างงบการเงิน (DRAFT FOR INTERNAL USE) ไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี — https://www.intouchcompany.com/…/1Q66%20Draft%20ITV.pdf
 

และต่อมายังได้มีการโพสต์ข้อความว่าแถมอีกประเด็นนะคะ เรื่องความผิดปกติของเอกสาร ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 ของไอทีวี

1. ไอทีวีเป็นบริษัทมหาชนที่ถูกถอดออกจากตลาดหุ้นนานแล้ว ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาส
2. ปกติงบไตรมาสถ้านำส่งทางการ จะผ่านการสอบทานโดยผู้สอบบัญชี (ละเอียดน้อยกว่าการตรวจสอบหรือ audit งบประจำปี)
3. การจัดทำร่างงบไตรมาสที่ยังไม่ผ่านการสอบทานไม่ใช่เรื่องผิดปกติ การจัดทำร่างระดับ draft for internal use (ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น) ก็ไม่ผิดปกติ เพราะร่างงบไตรมาสมีประโยชน์ในการจัดการ — สิ่งที่ผิดปกติจริงๆ ในกรณีของไอทีวี คือ มีการนำร่างงบไตรมาส draft for internal use ใช้เพื่อการภายในเท่านั้น ขึ้นเผยแพร่บนเว็บบริษัทอินทัชที่คนทั่วไปสามารถกูเกิลและเข้าถึงได้ และเอกสารภายในนี้ถูกนำไปประกอบการร้องเรียนต่อ กกต.
4. หัวข้อ 10. ท้ายร่างงบไตรมาส 1 ปี 66 ชื่อหัวข้อก็บอกอยู่แล้วว่า “เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน” แปลว่า ไม่ต้องไปคาดหวังความสอดคล้องระหว่างรายการนี้กับข้อมูลด้านการเงินใดๆ ในงบตัวนี้ (หรือแม้แต่งบไตรมาสเดียวกันของบริษัทแม่คืออินทัช) — แต่สังเกตความเร่งรีบจากกั้นหลังที่ไม่ตรงกับข้ออื่นๆ
5. คนที่ทำบัญชีให้ไอทีวีตลอดมาหลายปีคืออินทัช ดังนั้นอินทัชคือผู้ที่ควรชี้แจงว่ารายการ “นำเสนอการลงสื่อใหักับกิจการที่เกี่ยวข้องกัน” ในข้อ 10. คือรายการอะไร ไอทีวีมีพนักงานทำหรือ? แล้วทำไมข้อความในแบบนำส่งงบปี 2565 (ส.บช3) ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ทั้งที่รายการที่เกี่ยวข้องนี้เพิ่งมาโผล่ใน “ร่าง” งบไตรมาส 1 ปี 2566 ซึ่งผู้ถือหุ้นรายย่อยในวันประชุม 26 เม.ย. ยังไม่รู้เรื่องนี้เลย ?
ประธานคิมห์งานเข้าอีกหลายเรื่องเลยค่ะ เอาใจช่วย
 
 
วันที่ 15 มิถุนายน 2566 ทาง ITV ออกหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น เผยบันทึกการประชุม ไม่ต้องการสื่อสารว่า “ยังประกอบกิจการสื่อ” ชี้แจ้งว่า
 

บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เผยแพร่หนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้นผ่านทางเว็บไซต์ของบริษัท โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในสื่อเกี่ยวกับการบันทึกรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2566 (“รายงานการประชุม”) แบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)  (“บริษัท”) ปี 2565 และงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัท บริษัทขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริง ดังนี้

1. ในการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 (“การประชุมฯ”) บริษัทได้จัดประชุม เมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่าน โดยในการประชุมดังกล่าวมีทั้งหมด 9 วาระ วาระที่ 1 ถึงวาระที่ 8 เป็นวาระรายงาน/อนุมัติและพิจารณาการดำเนินการทางธุรกิจตามการค้าปกติของบริษัท ส่วนวาระที่ 9 เป็นวาระอื่น ๆ ซึ่งไม่ได้มีผู้ถือหุ้นเสนอวาระเพื่อพิจารณาและอนุมัติเพิ่มเติม บริษัทจึงเปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นซักถามในเรื่องอื่น ๆ 

ในการประชุมดังกล่าว มีคำถามที่ซ้ำซ้อนจากผู้ถือหุ้นหรือเป็นคำถามที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัท ดังนั้น การจัดทำบันทึกคำถามและคำตอบในรายงานการประชุม เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการของบริษัทเท่านั้น เพื่อให้มีความกระชับ และชัดเจน โดยมิได้จดบันทึกการประชุมเป็นคำต่อคำ

ทั้งนี้ การบันทึกรายงานการประชุมที่เป็นประเด็นอยู่ในขณะนี้ เป็นการสรุปคำตอบจากคำถามหลายข้อที่ผู้ถือหุ้นส่งเข้ามา ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทเรื่องสิทธิตามสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์นั้น บริษัทได้บันทึกรายงานการประชุมไว้แล้วในวาระ 9 หน้า 14 ว่า

“ผลคดีเป็นจุดสำคัญที่สุด หากผลคดียังไม่ออก เป็นไปได้ยากมากที่บริษัทจะดำเนินการใด ๆ ในขณะนี้…”

สำหรับในส่วนที่มีการบันทึกรายงานการประชุมว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัทและมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ” นั้น

บริษัทไม่ได้ต้องการจะสื่อสารว่า บริษัทยังประกอบกิจการสื่ออยู่ แต่หมายถึงบริษัทยังคงดำเนินการอยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ที่บริษัทได้จดทะเบียนไว้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยมิได้มีการเลิกกิจการแต่อย่างใด

2.ในส่วนของแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของบริษัทประจำปี 2565 ที่บริษัทยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.นี้บริษัทขอเรียนว่า รายได้จากการประกอบธุรกิจของบริษัท ได้แสดงอยู่ในงบการเงินของบริษัท ประจำปี 2565 ซึ่งได้มีการตรวจสอบ และลงนามรับรองโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตและได้ยื่นต่อกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งในงบการเงินดังกล่าวได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ของบริษัทมาจากผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับเท่านั้น ซึ่งงบการเงินฉบับดังกล่าว บริษัทได้ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 21 มี.ค.นี้ 

3.ในส่วนของงบการเงินไตรมาส 1 ประจำปี 2566 ของบริษัทที่มีการโพสต์ในเว็บไซต์ www.itv.co.th ตามที่มีข่าวอยู่ในขณะนี้นั้น

 

 

บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า งบฯ ดังกล่าวเป็นเพียงร่างงบการเงินที่ใช้ภายในบริษัท และยังไม่ได้มีการสอบทานหรือตรวจสอบจากผู้ตรวจสอบบัญชี จึงยังไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานภายนอกบริษัทได้ และไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายใด ๆ

บริษัทขอเรียนย้ำว่า การดำเนินการประชุม การจัดทำรายงานการประชุม การนำส่งแบบนำส่งงบการเงิน งบการเงิน และการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัท เป็นการดำเนินการทางธุรกิจตามปกติและเป็นไปตามกฎหมายทุกประการ

หลังจากได้มีหนังสือชี้แจงผู้ถือหุ้น ทางสฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ ก็ได้แสดงความเห็นว่าจดหมายชี้แจงจากไอทีวีวันนี้ค่ะ (15 มิ.ย.)

สรุปสั้นๆ คือ เขาตอบว่า
1. รายงานการประชุมไม่ได้ตั้งใจจะบันทึกคำต่อคำ ใจความสำคัญของคลิปกับในรายงานไม่ต่างกัน บริษัท “ไม่ได้ต้องการสื่อสารว่าปัจจุบันบริษัทยังทำสื่ออยู่” แต่อย่างใด 
 
2. ยืนยันว่า รายได้ของบริษัทในปี 2565 มีเพียง “ผลตอบแทนจากการลงทุนและดอกเบี้ยรับ” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า แล้วทำไมแบบ ส.บช.3 (แบบนำส่งงบการเงินประจำปี) ที่แนบงบปี 2565 ถึงได้ระบุ “สื่อโฆษณา” ในช่อง “สินค้าและบริการ” ในเมื่อทั้งปี 2565 ไม่มีการทำธุรกิจนี้และไม่มีรายได้จากธุรกิจนี้เลย 
 
นั่นแสดงว่า แบบ ส.บช.3 ที่บริษัทนำส่งไม่ถูกต้องอย่างแรงในสาระสำคัญ บริษัทควรขอแก้ไขกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยเร็วค่ะ
 
3. ยืนยันว่า ร่างงบการเงินไตรมาส 1 ปี 2566 นั้นเป็นเอกสารภายในเท่านั้น “จึงไม่สามารถนำไปอ้างอิงหรือใช้งานนอกบริษัทได้” — แปลว่า เอกสารที่เรืองไกรนำไปยื่น กกต. นั้นน่าจะใช้ไม่ได้นะคะ ถ้าเป็นเอกสารชุดเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ไอทีวีไม่ได้อธิบายว่า ในเมื่อเป็นร่างเอกสารภายใน แล้วทำไมถึงเอาขึ้นเว็บบริษัทให้คนทั่วไปและนักร้องเข้าถึงได้ 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

กกต.สั่งนับใหม่ 47 หน่วยเลือกตั้ง หลังพบบัตรเขย่งเคาะนับใหม่ 11 มิ.ย.นี้

เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 มีรายงานข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติสั่งให้มีการนับคะแนน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ใหม่ จำนวน 31 หน่วยเลือกตั้ง และนับคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ จำนวน 16 หน่วยเลือกตั้ง รวม 47 หน่วย จากการลงคะแนนการเลือกตั้งทั้งหมด 95,000 หน่วย  แต่ไม่มีการเปิดเผยว่า จำนวน 47 หน่วยเลือกตั้งที่ให้มีการนับคะแนนใหม่นั้นคือหน่วยเลือกตั้งใด ในจังหวัดใดบ้าง 

โดยการนับคะแนนใหม่ครั้งนี้ เป็นไปตามที่สำนักงาน กกต. เสนอว่า เนื่องจากพบว่ามีปัญหาบัตรออกเสียงเลือกตั้ง และจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมีจำนวนตรงกัน แต่ผลคะแนนที่ออกมาไม่ตรงกับจำนวนดังกล่าว หรือคะแนนเขย่ง และกกต.เห็นว่าอาจมีผลต่อจำนวนคะแนนเสียงที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับ และมีผลต่อลำดับของผู้ได้รับเลือกตั้งส.ส.

โดยตามแผนของสำนักงาน กกต. ต้องการให้มีการนับคะแนนใหม่ในวันอาทิตย์ที่ 11 มิ.ย. 2566 เนื่องจากเมื่อได้ผลคะแนนแล้วจะต้องนำมาคิดคำนวนสัดส่วน ส.ส.ใหม่ เพื่อให้ทันกับแผนงานที่ กกต. ตั้งใจว่าจะมีการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายในเดือนนี้

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
NEWS TOP STORIES

‘พิธา’ พร้อมสู้ปมถือหุ้น ITV ร่ายยาวเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ

‘พิธา’ พร้อมสู้ปมถือหุ้น ITV ร่ายยาวเดินหน้าเปลี่ยนประเทศ

Facebook
Twitter
Email
Print

วันที่ 6 มิถุนายน 2566 หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ก “Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เรื่องว่า “ผมพร้อมสู้กับความพยายามคืนชีพ ITV เพื่อสกัดกั้นพวกเรา” โดยเนื้อหารายละเอียดระบุว่า 

ตามที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ส่งผลให้สัญญาร่วมงานฯ สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ ITV ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน โดยผลของการบอกเลิกสัญญาดังกล่าวส่งผลให้สิทธิในคลื่นความถี่กลับมาเป็นของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมอบหมายให้กรมประชาสัมพันธ์ดำเนินการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อไป และเมื่อพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 มีผลใช้บังคับ โดยผลของมาตรา 57 ส่งผลให้คลื่นความถี่ดังกล่าวตกเป็นของ TPBS กรณีดังกล่าวยังคงเป็นข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่าง ITV กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
 
เห็นได้ว่า นับแต่ ITV ถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ส่งผลให้ ITV ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม สถานะความเป็นสื่อมวลชนจึงสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 นับแต่นั้นมา มูลค่าหุ้น ITV ก็ต่ำลงจนแทบไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ ต่อมา วันที่ 16 มีนาคม 2550 ศาลแต่งตั้งให้ผมเป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อ และผมได้รับมอบหมายจากทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของคุณพ่อ ให้รับโอนหลักทรัพย์ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ หุ้น ITV อันเป็นกองมรดกถือครองไว้แทนทายาทเรื่อยมา โดยที่หุ้น ITV ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจอีกต่อไป และต่อมาปี 2557 หุ้น ITV ถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ อันเป็นผลให้ไม่สามารถซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ได้อีกต่อไป
 
สำหรับหุ้นตัวนี้ เป็นหนึ่งในหุ้นอันเป็นกองมรดกของคุณพ่อที่ผมถือครองแทนทายาทอื่น ซึ่งมีหุ้นหลายตัวที่ถูกเพิกถอนหุ้นสามัญออกจากตลาดหลักทรัพย์ และไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ เป็นเหตุให้ผมได้รับมอบหมายจากทายาทให้ถือครองหุ้นไว้แทนทายาทอื่น
 
จนเมื่อผมเข้ามาทำงานการเมืองในฐานะ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ ก็ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ในเรื่องนี้อย่างเปิดเผย ด้วยความบริสุทธิ์ใจทุกประการ
 
จนเมื่อมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ผมได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล ผมและเพื่อ ส.ส. พรรคก้าวไกล ทุกคนได้ปฏิบัติหน้าที่ในสภาผู้แทนราษฎรอย่างเต็มที่ และในการเลือกตั้งล่าสุดนี้ ผมได้ลงสมัครเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหนึ่งเดียวของพรรคก้าวไกล นำพาพรรคเข้าสู่การเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม จนได้ความไว้วางใจจากประชาชนสูงที่สุด กว่า 14 ล้านเสียง
 
ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับปัญหาของบทบัญญัติเกี่ยวกับแนวทางการใช้การตีความเรื่องการถือหุ้นสื่อของผู้สมัคร ส.ส. และผู้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ขณะเดียวกันในทางข้อเท็จจริง เป็นที่ประจักษ์ว่า ITV ไม่ได้เผยแพร่ออกอากาศตั้งแต่ผลของการบอกเลิกสัญญาวันที่ 7 มีนาคม 2550 มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ในช่วงเวลาปัจจุบันกลับมีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานผม
 
ผมจะยกข้อมูลตามแบบนำส่งงบการเงิน (ส.บช.3) ของ ITV เช่น ปีบัญชี 2561-2562 ระบุประเภทธุรกิจว่า “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” ปีบัญชี 2563-2564 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการเนื่องจากติดคดีความ” ส่วนในปีบัญชี 2565 ระบุประเภทธุรกิจว่า “สื่อโทรทัศน์” โดยในส่วนสินค้า/บริการ ระบุว่า “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งนี้ เนื้อหาในหมายเหตุงบการเงินไม่ปรากฏรายได้จากกิจการสื่อโทรทัศน์และสื่อโฆษณาตามที่ระบุประเภทธุรกิจไว้แต่อย่างใด โดยงบการเงินปีบัญชี 2565 มีการนำส่งงบการเงินต่อ DBD ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 (ก่อนวันเลือกตั้ง เพียง 4 วัน)
 
แสดงให้เห็นว่า การจัดทำแบบนำส่งงบการเงินและข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินมีความไม่สอดคล้องกัน และเป็นข้อพิรุธที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อความที่ระบุในแบบนำส่งงบการเงิน จากเดิม “กิจกรรมของบริษัทโฮลดิ้งที่ไม่ได้ลงทุนในธุรกิจการเงินเป็นหลัก” แก้เป็น “สื่อโทรทัศน์” ทั้งๆ ที่ประกอบกิจการไม่ได้ และปีล่าสุดแก้เป็น “สื่อโฆษณาและผลตอบแทนจากการลงทุน” ทั้งๆ ที่ในหมายเหตุประกอบงบการเงินระบุรายได้จากดอกเบี้ยและการลงทุนในตราสารหนี้
 
และในรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น ITV เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 มีการตั้งคำถามของผู้ถือหุ้นบางรายว่า “บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินการเกี่ยวกับสื่อหรือไม่” ซึ่งเป็นการตั้งคำถามที่ขอให้ทุกท่านที่มีใจเป็นธรรมพิจารณาว่า เป็นคำถามมีความมุ่งหมายทางการเมืองหรือไม่ และให้ท่านตอบตัวท่านเอง ว่านี่คือพฤติการณ์ความพยายามฟื้นคืนชีพ ITV ให้กลับมาเป็นสื่อมวลชน ใช่หรือไม่?
 
ด้วยข้อพิรุธหลายประการที่เกิดขึ้น เป็นเหตุให้ผมตัดสินใจหารือทายาทที่มอบหมายให้ผมถือครองหุ้น ITV ซึ่งเป็นมรดกของคุณพ่อไว้แทนทายาทอื่น จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ให้ผมจัดการแบ่งมรดกหุ้น ITV ให้แก่ทายาทอื่นไปโดยสิ้นเชิง เพื่อป้องกันปัญหาจากกระบวนการฟื้นคืนชีพความเป็นสื่อมวลชนให้กับบริษัท ITV ที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ดังข้อพิรุธดังกล่าวข้างต้น
 
ผมขอเรียนทุกท่านว่า การต่อสู้คดีนี้ เมื่อพิจารณาตามแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี การพิจารณาว่าบริษัทใดประกอบกิจการสื่อมวลชนหรือไม่ และบุคคลใดมีลักษณะต้องห้ามในการถือหุ้นสื่อหรือไม่ ศาลพิจารณาจากข้อเท็จจริงหลายองค์ประกอบด้วยกัน ในชั้นนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญเดินตามแนวคำวินิจฉัยที่ผ่านมา และรักษาความเป็นเอกภาพในการตีความบทบัญญัติแห่งกฎหมายเรื่องนี้ ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่า ผมไม่มีลักษณะต้องห้ามในการสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีลักษณะต้องห้ามในการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด
 
สำหรับข้อพิจารณาว่า บรรทัดฐานตามคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 (คดีชาญชัย อิสระเสนารักษ์) และคำสั่งศาลฎีกาล่าสุดหลายคดี อาจไม่ก่อผลผูกพันทางกฎหมายอย่างเคร่งครัดให้ศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยตามบรรทัดฐานเดียวกันก็ตาม แต่การรักษาความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายเป็นเครื่องค้ำจุนความยุติธรรมของนิติรัฐ เพื่อมิให้การใช้การตีความก่อให้เกิดผลประหลาดในระบบกฎหมาย กล่าวคือ หากปรากฏว่า ผู้ร้องในคดีตามคำสั่งศาลฎีกา คดีหมายเลขแดงที่ ลต สสข 24/2566 ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งให้เป็นบุคคลที่ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 42 (3) แล้ว ปรากฏว่า ต่อมา ผู้ร้องดังกล่าวได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและยังคงถือหุ้นในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) อยู่ และมีผู้ร้องเสนอเป็นคดีต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยลักษณะต้องห้ามในการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของบุคคลดังกล่าวตามมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แล้วปรากฏว่า ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า บุคคลดังกล่าวมีลักษณะต้องห้ามตามมาตราดังกล่าวแล้ว โดยไม่พิจารณาเจตนารมณ์ของกฎหมายดังบรรทัดฐานคำสั่งศาลฎีกาข้างต้น กรณีย่อมก่อให้เกิดผลประหลาดและกระทบกระเทือนต่อความเป็นเอกภาพของระบบกฎหมายเป็นอย่างยิ่ง อันก่อให้เกิดความสั่นคลอนในความเชื่อถือและความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่อยู่ภายใต้กฎหมายต่อระบบบรรทัดฐานทางกฎหมายของไทย ฉะนั้น เพื่อดำรงไว้ซึ่งความแน่นอนชัดเจนในระบบกฎหมายและรักษาครรลองการใช้การตีความกฎหมายให้สอดคล้องตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และมาตรา 101 (6) ศาลรัฐธรรมนูญพึงรักษาความเป็นเอกภาพในการใช้และตีความบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเดียวกันให้ก่อตั้งผลในทางกฎหมายที่เหมือนกัน อันเป็นมาตรฐานของระบบกฎหมายในอารยประเทศที่เป็นที่ยอมรับในสากล
 
และด้วยเหตุดังกล่าว ผมมีความมั่นใจว่า ก่อนที่ผมจะดำเนินการโอนหุ้น ITV นั้น บริษัท ITV ไม่ได้ประกอบกิจการสื่อมวลชนใดๆ ผมมั่นใจข้อเท็จจริงในอดีต แต่ข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อจากนี้ผมไม่อาจคาดหมายได้ว่า บริษัท ITV จะถูกทำให้ฟื้นคืนชีพเป็นสื่อมวลชนอีกครั้งหรือไม่ การโอนหุ้นให้แก่ทายาทอื่นจึงเกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นการโอนหุ้นเพราะหลีกหนีความผิดแต่อย่างใด
 
กระบวนการถัดจากนี้ ผมขอยืนยันทุกท่านว่า ผมมีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการชี้แจงต่อ กกต. ไม่มีความเป็นห่วงหรือกังวลใดๆ ต่อกรณีนี้ และจะไม่เสียสมาธิในการทำงานเด็ดขาด
 
หลังจากนี้ผมจะเดินหน้าทำงานเตรียมการเปลี่ยนผ่านอำนาจ จัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลที่มีพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีให้สำเร็จจงได้ในที่สุด
 
ไม่มีใครหรืออำนาจไหน มาสกัดกั้นฉันทานุมัติของพี่น้องประชาชน ที่ได้แสดงออกไปเมื่อการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม ถึงกว่า 14 ล้านเสียง ได้อีกแล้ว
 
ขอให้ทุกท่านสบายใจ และเดินหน้าเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ไปด้วยกันครับ

ซึ่งในกรณีนี้ได้มีนายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา ออกมาระบุว่าการถือหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อาจจะขัดรัฐธรรมนูญ 4 มาตรา ขาดคุณสมบัติทั้งการเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และส.ส. นั้น ตนเองยังมั่นใจเหมือนเดิม เชื่อว่าจะชี้แจง และต่อสู้ได้ แต่ตอนนี้ยังต้องรอ กกต. ประสานมายังนายพิธา และพรรคก้าวไกลเพื่อให้เข้าไปชี้แจงก่อน

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

Facebook
Twitter
Email
Print
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News