Categories
ECONOMY

เชียงรายพร้อมเป็นเมืองหลักหรือยัง หลังผ่านเกณฑ์นักท่องเที่ยวเกิน 6 ล้านคนต่อปี

เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2567 นักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากต่างพากันใส่เสื้อผ้าลายดอก เล่นสาดน้ำสงกรานต์ บนถนนสันโค้งน้อย อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นแลนด์มาร์คสำหรับการเล่นน้ำสงกรานต์ของจังหวัดเชียงราย  ตลอดเส้นทาง มีการสาดน้ำทั้งใช้ขัน และปืนฉีดน้ำ ดินสอพอง รวมไปถึงนำถังน้ำขึ้นหลังรถกระบะสร้างความสนุกสนานให้กับนักท่องเที่ยวอย่างมาก 
 
 
โดย ททท. คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวน 2,908,600 คน ที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนเมษายน จะมีโอกาสได้เข้าร่วมงานสงกรานต์ที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย สร้างรายได้ 131,992 ล้านบาท ด้านตลาดในประเทศ คาดว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 ประมาณ 15.03 ล้านคน-ครั้ง และสร้างรายได้ 52,500 ล้านบาท ซึ่งงาน Maha Songkran World Water Festival 2024 “เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” 2567 เมื่อวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา โดยจังงหวัดเชียงราย ได้รองชนะเลิศอันดับ 1 รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ จังหวัดลำปาง ได้รับถ้วยรางวัล พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ทั้งเชียงรายและลำปางถือถูกจัดเป็นเมืองรองที่เข้ามามีบทบาทและแสดงให้เห็นถึงศักยภาพที่พร้อมก้าวเข้ามาเป็นเมืองหลักเป็นอย่างมาก
 
 
เมืองรองคืออะไร? สำคัญยังไง? มีจังหวัดอะไรบ้าง? 
เมืองรอง (Less visited area) คือเมืองที่ไม่ได้เป็นเมืองท่องเที่ยวหลัก เข้าใจง่าย ๆ คือ เป็นเมืองที่ยังมีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในจำนวนไม่มากนัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงวันปกติหรือแม้แต่ช่วงเทศกาล (เมื่อเทียบกับจังหวัดที่เป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญ ๆ)  โดยใช้เกณฑ์พิจารณาจากสถิติของจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวนไม่เกิน 6 ล้านคนต่อปี ซึ่งเมืองรองในประเทศไทย ประกอบไปด้วย 55 จังหวัด แยกตามภาคต่าง ๆ ได้ดังนี้
 
  • ภาคเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก ตาก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สุโขทัย ลำพูน อุตรดิตถ์ ลำปาง แม่ฮ่องสอน พิจิตร แพร่ น่าน กำแพงเพชร อุทัยธานี พะเยา 
  • ภาคอีสาน 18 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อุบลราชธานี หนองคาย เลย มุกดาหาร บุรีรัมย์ ชัยภูมิ ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร นครพนม ร้อยเอ็ด มหาสารคาม บึงกาฬ ยโสธร หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ กาฬสินธุ์ 
  • ภาคกลาง 7 จังหวัด ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม ชัยนาท อ่างทอง สิงห์บุรี 
  • ภาคตะวันออก 5 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว ตราด จันทบุรี ปราจีนบุรี นครนายก 
  • ภาคใต้ 9 จังหวัด ได้แก่ นครศรีธรรมราช พัทลุง  ตรัง สตูล ชุมพร ระนอง นราธิวาส ยะลา ปัตตานี

โดยเป็นผลจากการท่องเที่ยวในเมืองรองที่ขยายตัว 15.95% จากปัจจัยสนับสนุนเรื่องการดำเนินมาตรการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศของกระทรวงการท่องเที่ยวฯ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) รวมถึงกระแสความนิยมในสังคมออนไลน์ (Social Media) และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดที่กระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี 

 

สำหรับเมืองรองที่มีการขยายตัวสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เชียงราย เพิ่มขึ้น 64.86% น่าน เพิ่มขึ้น 64.61% และ พะเยา เพิ่มขึ้น 53.59% ตามลำดับ

นางสาวสุดาวรรณ กล่าวว่า ปี 2566 จ.เชียงราย มีนักท่องเที่ยวไปเยือน 6,147,860 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 5,391,039 คน ชาวต่างชาติ 756,821 คน สร้างรายได้รวม 46,774 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดหรือเมื่อปี 2562 พบว่าในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเชียงรายสูงขึ้นหลายเท่าตัว โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,023,502 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 881,178 คน และชาวต่างชาติ 142,324 คน สร้างรายได้รวม 7,959 ล้านบาท

ขณะที่การท่องเที่ยวในเมืองหลักอย่าง จ.เชียงใหม่ พบว่าลดลงเล็กน้อย 4.36% เป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่กระจายการเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดอื่นๆ มากขึ้น

 

นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า กระทรวงฯ คาดแนวโน้มปี 2567 การท่องเที่ยวในภาคเหนือจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีจำนวนนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 45 ล้านคน สูงกว่าปี 2566 ที่มีนักท่องเที่ยว 39.48 ล้านคน

ด้านสถานการณ์ท่องเที่ยวของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ประกอบด้วยเชียงราย พะเยา น่าน และแพร่ พบว่าในปี 2566 ทั้ง 4 จังหวัดมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นสูงมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เมื่อเทียบกับช่วงปี 2556 ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 เนื่องจากการเติบโตของการท่องเที่ยวในเมืองรอง ส่งผลให้การท่องเที่ยวภาคเหนือในปี 2566 ขยายตัวสูงกว่าปี 2562 มากกว่า 9%

“ในปี 2566 ภาคเหนือมีนักท่องเที่ยวไปเยือนกว่า 39.48 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 34.87 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 4.61 ล้านคนเมื่อเทียบกับสถานการณ์ท่องเที่ยวในปี 2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวทั้งหมดเพิ่มขึ้น 9.65%”

จ.พะเยา ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 1,099,648 คน แบ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย 966,706 คน ชาวต่างชาติ 42,942 คน สร้างรายได้รวม 2,292 ล้านบาท สูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิดเช่นกัน โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 320,618 คน แบ่งเป็นชาวไทย 317,755 คน ชาวต่างชาติ 2,863 คน สร้างรายได้ 1,403 ล้านบาท

จ.น่าน ในปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,570,213 คน แบ่งเป็นชาวไทย 1,554,216 คน ชาวต่างชาติ 15,997 คน สร้างรายได้รวม 4,415 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 953,895 คนแบ่งเป็นชาวไทย 931,822 คนชาวต่างชาติ 22,073 คน สร้างรายได้ 411 ล้านบาท 

และ จ.แพร่ ปี 2566 มีจำนวนนักท่องเที่ยวรวม 1,279,316 คน แบ่งเป็นชาวไทย 1,262,389 คนชาวต่างชาติ 16,927 คน สร้างรายได้รวม 2,962 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยว 865,464 คน แบ่งเป็นชาวไทย 797,280 คน ชาวต่างชาติ 68,366 คน สร้างรายได้รวม 1,760 ล้านบาท

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME