Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

‘อ.เชียงแสน’ เปิดสวนสาธารณะใหม่ ลานกิจกรรมธรรมชาติ-จุดพักผ่อน

 

การอัปเดตข่าวสารเกี่ยวกับสวนสาธารณะเมืองเชียงแสน ที่กำลังได้รับการพัฒนาให้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ออกกำลังกายของชาวเชียงแสน เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคที่สำคัญในจังหวัดเชียงราย ซึ่งความคืบหน้าล่าสุดบอกได้เลยว่าสวยงามมาก สวนสาธารณะแห่งนี้มีทั้งลานกิจกรรม ลานสเก็ต และพื้นที่สีเขียวสำหรับการออกกำลังกาย ทำให้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสำหรับคนทุกวัยที่จะมาพักผ่อนและทำกิจกรรมต่างๆ โดยสวนสาธารณะแห่งนี้ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองเชียงแสน ที่มีประวัติศาสตร์และวิวทิวทัศน์ธรรมชาติที่งดงาม

เชียงแสน อำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของจังหวัด ล้อมรอบด้วยแม่น้ำโขงและภูเขาสูงทั้งทางฝั่งไทยและลาว ซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อทางวัฒนธรรมและการค้าระหว่างไทย ลาว และพม่า โดยเฉพาะบริเวณ “สามเหลี่ยมทองคำ” ที่มีชื่อเสียงมากในการท่องเที่ยวและการขนส่งสินค้าในภาคเหนือของประเทศไทย

 

เชียงแสนยังเป็นแหล่งโบราณคดีสำคัญ มีซากโบราณสถานมากมายที่บอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองในอดีตของเมืองนี้ และเป็นจุดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่สนใจในประวัติศาสตร์และธรรมชาติ เนื่องจากเมืองนี้เป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์จากแม่น้ำโขงไหลผ่าน ทำให้มีการทำการเกษตรและการค้าขายที่เจริญเติบโตมาตั้งแต่สมัยโบราณ

สวนสาธารณะแห่งใหม่ที่กำลังพัฒนาในเชียงแสนไม่เพียงแค่เป็นพื้นที่สีเขียวสำหรับการออกกำลังกายและพักผ่อน แต่ยังเป็นการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับเชียงแสน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน โดยสถานที่ตั้งของสวนสาธารณะนี้อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งในเชียงแสน เช่น ซากเมืองโบราณและแม่น้ำโขง ทำให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาพักผ่อนและท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงได้ง่ายขึ้น

พื้นที่เชียงแสนมีอาณาเขตที่ติดต่อกับอำเภอแม่สาย รัฐฉานของประเทศพม่า และแขวงบ่อแก้วของประเทศลาว ซึ่งสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าข้ามชาติ ทำให้เชียงแสนกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคเหนือของประเทศไทย

 

 

สำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบธรรมชาติและประวัติศาสตร์ เชียงแสนถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ไม่ควรพลาด ด้วยวิวทิวทัศน์ที่งดงามและความเป็นมาอันยาวนาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาในปัจจุบันที่ทำให้เชียงแสนมีความทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงรักษาเสน่ห์ของเมืองโบราณไว้อย่างดี

สำหรับการเดินทางมาท่องเที่ยวในเชียงแสน นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาได้สะดวกทั้งทางรถยนต์ส่วนตัวและรถโดยสารจากตัวเมืองเชียงราย การท่องเที่ยวที่นี่ไม่เพียงแค่ได้สัมผัสกับธรรมชาติอันงดงาม แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่หลากหลายของพื้นที่นี้

สุดท้ายนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านที่สนใจมาเที่ยวชมสวนสาธารณะเมืองเชียงแสน และสำรวจเมืองประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่แห่งนี้ ที่ยังคงความเป็นธรรมชาติและเสน่ห์ทางวัฒนธรรมไว้อย่างดี

เครดิตข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

ภาพโดย : Kho RachaSit

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

นายกฯ ศึกษาแนวทางแก้ไขระบบ ชลประทานขาดแคลนน้ำ อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วย นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายจุลพันธ์  อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 และคณะ ลงพื้นที่ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาระบบชลประทานและพบปะประชาชน ณ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำน้ำโขง เขตเชียงรายย อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีประชาชนชาวเชียงแสนให้การต้อนรับ

 

โดยนายกรัฐมนตรี พบปะประชาชนเพื่อรับฟังปัญหาและรับเรื่องร้องทุกข์ของประชาชน และฟังการนำเสนอโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเชียงแสน จากนั้น ได้ร่วมรับฟังแผนพัฒนาจังหวัดเชียงราย จากหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่

 

สำหรับโครงการสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำเชียงแสน  จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับปรุงพื้นที่เกษตรกรรมจำนวน 2,100 ไร่ รวมทั้งช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ให้แก่ราษฎรบ้านห้วยเกี๋ยง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน และหมู่บ้านข้างเคียงรวม 5 หมู่บ้าน จำนวน 5,246 ครัวเรือน ประชากรจำนวน 9,583 คน ให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปี ทั้งยังเป็นการรักษาระบบนิเวศของคูเมืองโบราณ เพิ่มทัศนียภาพ และส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวของเมืองโบราณเชียงแสนอีกด้วย

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TOP STORIES

กลุ่มทุนรุกป่าดอยสะโง้นับ 1,000 ไร่ สร้างรีสอร์ท-ทดแหล่งน้ำไปใช้เอง

 

เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2567 ที่หมู่บ้านดอยสะโง้ หมู่ 7 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน จ.เชียงราย นายเศกสันต์ กองศรี กำนัน ต.ศรีดอนมูล พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 (เชียงราย) สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ และชาวบ้านดอยสะโง้ ร่วมตรวจแนวเขตแดนและพิกัดของพื้นที่ปาไม้และที่ดินที่มีผู้เข้าไปครอบครอง หลังจากชาวบ้านดอยสะโง้เคยร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงานว่ามีการบุกรุกป่า และนายเศกสันต์ได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อครั้นเสด็จพระราชดำเนินไปยัง อ.เชียงแสน เมื่อเดือน มี.ค.2567

 

โดยชาวบ้าน ระบุว่า เดิมดอยสะโง้ เคยมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยต้นไม้และแหล่งน้ำ รวมทั้งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง 709 เมตร เป็นจุดชมวิว 3 แผ่นดิน คือ สามเหลี่ยมทองคำ ไทย สปป.ลาว และเมียนมา และเป็นที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงสะโง๊ะ ที่เป็นแหล่งปลูกพืชต่างๆ สร้างงานสร้างรายได้ให้กับกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า แต่ปรากฎว่าตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมาได้มีกลุ่มทุนบุกรุกตัดต้นไม้และปรับถางที่ดิน มีการปลูกส้มหลายร้อยไร่และสร้างสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เช่น รีสอร์ท ที่พัก ฯลฯ เพื่อหาผลประโยชน์จากแหล่งท่องเที่ยว ทำให้เกิดปัญหาแหล่งน้ำบนดอยสะโง้แห้ง หรือถูกกลุ่มทุนผันน้ำนำไปใช้ส่วนตัว ส่งผลให้ชาวบ้านเดือดร้อนและยังมีปัญหาขยะเพิ่มขึ้นมาอีก
ดังนั้นในปี 2562 ชาวบ้านจึงได้ร้องเรียนไปยังหลายหน่วยงาน แต่ก็ไม่สามารถหยุดการบุกรุกป่าทั้งในเขตป่าสงวนแห่งชาติและสวนป่าแม่มะ-สบรวก ที่อยู่ในการดูแลของหน่วยงานป่าไม้ทั้ง 2 หน่วยงานดังกล่าว และมีแนวโน้มจะบุกรุกเพิ่มขึ้น
 
 
นายเศกสันต์ กล่าวว่า ในอดีตดอยสะโง้เป็นแหล่งน้ำโดยเฉพาะลำห้วยม่วงที่ชาว ต.ศรีดอนมูล ได้ใช้ประโยชน์ แต่ถูกกลุ่มนายทุนที่มีเงินและอิทธิพลเข้าไปบุกรุก กระทั่งปี 2567 ความแห้งแล้งรุนแรงมากเพราะป่าไม้ถูกทำลายไปนับ 1,000 ไร่ ส่วนลำห้วยก็ถูกนายทุนกั้นน้ำเอาไว้ใช้ส่วนตัว ตนจึงได้เป็นตัวแทนชาวบ้านทูลเกล้าถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ดังนั้นในครั้งนี้ตนหวังว่าหน่วยงานต่างๆ จะแก้ไขปัญหาให้สำเร็จเพราะ 4-5 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจสอบหลายครั้งแต่ก็ไม่มีการแก้ไขปัญหา
 
 
สำหรับครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้เริ่มสำรวจว่าจุดใดอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เขตป่าอุทยาน หรือพื้นที่การเกษตรแล้ว จากนั้นจะบูรณาการจำแนกพื้นที่หากพบมีการบุกรุกในเขตรับผิดชอบของหน่วยงานใดก็จะมีการดำเนินคดีจนครบทั้ง 1,000 ไร่ต่อไป.
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

วธ.เปิดตัวเที่ยวชุมชน ยลวิถี เชียงแสน ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)

 
เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2567 นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีเปิดตัว      สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) และลานวัฒนธรรมสร้างสุข โดยมี พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา นางอุบลรัตน์ พ่วงภิญโญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการตรวจสอบและประเมินผลประจำกระทรวงวัฒนธรรม (ค.ต.ป.วธ.) นายพิสันต์ จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย รวมถึงหัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายสภาวัฒนธรรม และชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) เข้าร่วม ณ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ในโอกาสนี้ ได้มีการแสดงศิลปวัฒนธรรม เพื่อต้อนรับ ชุด “ตีกลองหลวง” โดยกลุ่มตีกลองหลวงวัดพระธาตุผาเงา การแสดงในพิธีเปิด ชุด “ฮอมขวัญตราบนิรันดร์ สถิตมั่นแขกแก้วมาเยือน”  จากโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม รวมถึงการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน ชุดการเต้นบาสโลบ และการแสดงของกลุ่มแม่บ้านสบคำ ที่มีความสวยงาม สนุกสนาน สะท้อนอัตลักษณ์ วิถีชีวิตของชาวชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ได้เป็นอย่างดี
 
 
จากนั้น ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม และคณะได้เดินเยี่ยมชมตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา”ชมการแสดงขับทุ้มหลวงพระบาง โดยคณะขับทุ้มบ้านสบคำ ชมการสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ กลุ่มทอผ้าล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ชมฐานการเรียนรู้ของโรงเรียนคนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา เช่น การตัดตุง การทำตุงข้าวเปลือก การทำผางประทีป รวมถึงชมฐานแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของชุมชน อาทิ พิธีเรียกขวัญ (ซ้อนขวัญ) ตามความเชื่อชาวไท-ลาว ฐานการเรียนรู้ “การประดิษฐ์เรือไฟเล็ก (สะเปา)” ในงานประเพณีไหลเรือไฟ ซึ่งเป็นประเพณีสำคัญของชุมชนบ้านสบคำ หนึ่งเดียวในจังหวัดเชียงราย อีกด้วย นอกจากนี้ ภายในงานมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย CPOT และผลิตภัณฑ์ สินค้า ของดีชุมชนฯ ตลอดจนการจัดแสดงนิทรรศการและสาธิตโดยหน่วยงานในพื้นที่
 
 
นางยุพาฯ กล่าวว่า ขอแสดงความยินดีกับจังหวัดเชียงราย และชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) ที่ได้รับรางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปี พ.ศ. 2566 ที่คัดอย่างเข้มข้นจาก 76 ชุมชน ทั่วประเทศ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม จัดโครงการ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนถึงปัจจุบัน มีชุมชนได้รับการคัดเลือกมาแล้วกว่า 30 ชุมชน ตามนโยบายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อน Soft Power ของไทยสู่นานาชาติ ด้วยการนำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชน มาพัฒนาต่อยอด สร้างสรรค์สินค้าและบริการ ทั้งนี้ ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา หรือชุมชนบ้านสบคำ นับเป็นชุมชนคุณธรรมที่น้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้นำ “พลังบวร” และเครือข่ายที่เข้มแข็ง ประชาชนมีความสุข มีความรักสามัคคี มีการสืบสาน รักษา ต่อยอด ภูมิปัญญาของท้องถิ่น ซึ่งยืนยันได้ว่า ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนที่มีศักยภาพ มีคุณภาพ และมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมสร้างสรรค์ในทุกมิติ สามารถต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวคุณภาพสูงเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทุกประเภทอย่างยั่งยืนสืบไป โดยการต่อยอดต่อจากนี้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พร้อมร่วมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาเยือน และศึกษาเรียนรู้อัตลักษณ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณีของชุมชนมากยิ่งขึ้น
 
 
“ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ)” ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทางด้านทิศตะวันตก ชื่อของวัดนี้มาจาก พระธาตุที่ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่มีลักษณะคล้ายรูปทรงเจดีย์ คำว่า “ผาเงา” คือ เงาของก้อนหิน จึงตั้งชื่อว่า “พระธาตุผาเงา” ตั้งอยู่ในเขตประวัติศาสตร์เมืองเชียงแสนน้อย หรือเวียงปรึกษา มีการขุดค้นพบ “พระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา” เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2519 คาดว่ามีอายุเก่าแก่มากถึง 1,300 ปี ภายในวัดพระธาตุผาเงา มีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประชาชนสามารถมาสักการะและท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี เป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้  ด้านศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ อาทิ หอพระไตรปิฎกเฉลิมพระเกียรติฯ หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ หอวัฒนธรรมนิทัศน์ และพิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน
 
 
เชิญมาสัมผัสวิถีวัฒนธรรม  อันดีงามของชาวบ้านสบคำเป็นชาวไทยเชื้อสาย ไท-ลาว ไท-ยวน ไท-ลื้อ มีอัตลักษณ์เฉพาะตัว และยังมีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงจากวัดพระธาตุผาเงาอีกหลายแห่ง ได้แก่ สกายวอร์คผาเงาสามแผ่นดิน พิพิธภัณฑ์ผ้าทอล้านนาเชียงแสน จุดชมวิวสองฝั่งโขงบ้านสบคำ และวัดสบคำ เป็นต้น เมื่อเดินทางไปเที่ยวในชุมชนแห่งนี้ พลาดไม่ได้คืออาหาร คือ ปลาเนื้ออ่อนทอดกระเทียม และลาบปลาแม่น้ำโขง รวมถึงยังมีผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย ให้ซื้อกัน     เป็นที่ระลึก คือ ผ้าทอล้านนาลายเชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา ด้านเทศกาลประเพณีที่จะดึงดูด ให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวกันตลอดปี ไม่ว่าจะเป็นประเพณีสรงน้ำพระธาตุผาเงา ในช่วง 12-20 เมษายนของทุกปี ประเพณีบุญข้าวประดับดิน ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี และประเพณีไหลเรือไฟ 12 ราศี เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

สืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง และพระธาตุจอมกิตติ อ.เชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เวลา 09.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีสืบสานประเพณีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง ณ วัดพระธาตุเจดีย์หลวง ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน โดยได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณพระครูสุวรรณ วิสุทธิคุณ เจ้าคณะตำบลเวียง เขต 3 พระครูวิจารณ์ ธรรมสุนทร เจ้าอาวาสวัดพระธาตุเจดีย์หลวง นายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสน นายสุวิน เครื่องสีมา ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 1 นายอนุรักษ์ ทองเสรี ส.อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 2 พ.ต.อ. ถนัด ชุ่มมะโน ผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรเชียงแสน นางเกศสุด สังขกร นายกเทศมนตรีตำบลเวียงเชียงแสน หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ร่วมให้การต้อนรับและร่วมประกอบพิธีในครั้งนี้ด้วย.

 

วัดพระธาตุเจดีย์หลวง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย หรือวัดพระเจ้าตนหลวง เป็นวัดโบราณในอำเภอเชียงแสน สร้างโดยพระเจ้าแสนภู เป็นวัดที่สำคัญของหิรัญนครเงินยาง อาณาจักรล้านนาเจดีย์หลวงในชื่อของวัดนั้น เชื่อว่าได้ชื่อมาจาก “พระธาตุเจดีย์หลวง” พระเจดีย์องค์ใหญ่ที่สูง 88 เมตร มีฐานกว้าง 24 เมตร เป็นพระเจดีย์ทรงระฆังแบบล้านนาที่ใหญ่ที่สุดในเมืองเชียงแสน ภายในวัดนอกจากพระเจดีย์หลวงแล้วยังมีพระวิหารและองค์เจดีย์อีก 4 องค์ ซึ่งล้วนปรักหักพังอย่างมาก กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2478
 
 
การประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง ในครั้งนี้ได้อันเชิญน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำห้าสาย (เบญจวารี) และบ่อน้ำทิพย์ จำนวน 5 บ่อ มาใช้ในการประกอบพิธีสรงน้ำพระธาตุเจดีย์หลวง เพื่อการส่งเสริมศาสนา วัฒนธรรมประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่นอันดีงาม และความเป็นสิริมงคล กับผู้ที่เคารพนับถือในองค์พระธาตุเจดีย์หลวงและได้ทำพิธีกรรม ทางศาสนาอุทิศผลบุญกุศลไปถึงผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงแสน ได้อย่างยิ่งใหญ่ในอดีตกาล 
 
 
ส่งผลถึงปัจจุบันที่เรียกว่ามรดกทางวัฒนธรรม และโบราณสถาน ที่ปรากฏให้เห็นทั่วทุกสาระทิศในเมืองเชียงแสน ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางพุทธศาสนาที่เป็นประเพณีสืบทอดกันมาแต่อดีตกาล เป็นสิริมงคลกับชีวิต และเป็นแบบอย่างแก่เยาวชน คนรุ่นต่อไปและในเวลาต่อมาได้ร่วมสรงน้ำพระธาตุจอมกิตติ 1 ในพระธาตุ 9 จอม พระธาตุศักดิ์สิทธิ์ของจังหวัดเชียงราย เพื่อความเป็นสิริมงคล และสืบสานประเพณี วัฒนธรรมของ อ.เชียงแสน อีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

วัฒนธรรมเชียงราย โชว์เหนือ คว้าโล่รางวัลชุมชนต้นแบบ 3 ปีติด

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 22 เมษายน 2567 ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรมกระทรวงวัฒนธรรมจัดพิธีมอบโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ 10 สุดยอด ชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดย  นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานพิธีมอบโล่เชิดชูเกียรติ 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 โดยมีนางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำชุมชน 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรม เข้าร่วม ณ หอศิลป์แห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม

 ทั้งนี้ นายพุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มอบหมายให้ นางสุภาพรรณ  หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายพิสันต์  จันทร์ศิลป์ วัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย เข้ารับโล่รางวัลผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนชุมชนฯ

 

ในการนี้ พระพุทธิญาณมุนี เจ้าคณะจังหวัดเชียงราย เจ้าอาวาสวัดพระธาตุผาเงา และนายอานนท์  สมพันธ์ ผู้ใหญ่บ้านสบคำ เข้ารับโล่รางวัล 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

 

ในโอกาสนี้ ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) ได้นำทุนทางวัฒนธรรมของชุมชนมาพัฒนาต่อยอดสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ หรือ Soft Power ด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดคุณค่าและมูลค่าอย่างสร้างสรรค์ โดยร่วมจัดแสดงนิทรรศการ สาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม และนำผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผ้าทอล้านนาลายอัตลักษณ์เชียงแสน และสมุนไพรวัดพระธาตุผาเงา มาร่วมจัดแสดงในงานดังกล่าวด้วย

 

ทั้งนี้ จังหวัดเชียงรายโดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดเชียงราย กำหนดจัดพิธีเปิดสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี” ชุมชนคุณธรรมฯ วัดพระธาตุผาเงา (บ้านสบคำ) โดยได้รับเกียรติจาก นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะมาเป็นประธานในพิธีฯ ในวันเสาร์ที่ 27 เมษายน 2567 เวลา 9.00 น. เป็นต้นไป ณ บริเวณลานจอดรถ1 วัดพระธาตุผาเงา ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย กิจกรรมประกอบด้วย การแสดงศิลปะวัฒนธรรมพื้นบ้าน อาทิ การขับทุ้ม การตีกลองหลวง การเต้นบาสโลบ เป็นต้น การสาธิตภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม อาทิ วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว การบายศรีสู่ขวัญ อาหารพื้นบ้าน ภูมิปัญญาของโรงเรียนสามวัยวัดพระธาตุผาเงา ฯลฯนิทรรศการของส่วนราชการ ชุมชนต่างๆ ชมและช้อปสินค้าทางวัฒนธรรม CPOT และสินค้าชุมชนในตลาดวัฒนธรรม “อิ่มบุญ ยลวิถีผาเงา” และลานวัฒนธรรมสร้างสุข

          จังหวัดเชียงราย เป็นจังหวัดเดียวที่ได้รับการคัดเลือกสุดยอดชุมชนคุณธรรมต้นแบ “เที่ยวชุมชนยลวิถี” ติดต่อกัน 3 ปี คือ พ.ศ.2564 ชุมชนวัดท่าข้ามศรีดอนชัย อ.เชียงของ, พ.ศ.2565 ชุมชนบ้านเมืองรวง อ.เมืองเชียงราย และ พ.ศ.2566 ชุมชนวัดพระธาตุผาเงา(บ้านสบคำ) อ.เชียงแสน

ความศักดิ์สิทธิ์ของวัดพระธาตุผาเงาตามความเชื่อของชาวบ้านนั้น เชื่อกันว่าหากใครเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วมาสักการบูชาที่วัดนี้ อาการป่วยก็จะทุเลาลงและหายในที่สุดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ตั้งอยู่บ้านสบคำ ตำบลเวียง สันนิษฐานว่าเป็นวัดที่สำคัญในสมัยอาณาจักรโยนก เดิมชื่อว่า วัดสบคำ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ต่อมาถูกกระแสน้ำพัดพังทลายลงเกือบหมดวัดจึงได้สร้างวัดขึ้นมาใหม่ ปี พ.ศ. 2519 มีการปรับพื้นที่บริเวณวัดใหม่จึงมีการขุดพบพระพุทธรูป อายุระหว่าง 700-1,300 ปี จึงได้เรียกพระพุทธรูปว่า “หลวงพ่อผาเงา” คำว่า “ผาเงา” หมายถึง เงาของก้อนผาหรือก้อนหิน ซึ่งมีขนาดใหญ่ทรงคล้ายเจดีย์ เวลาพระอาทิตย์ส่องผ่านก้อนหินทำให้เกิดเงาขนาดใหญ่ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “พระธาตุผาเงา”

 

สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ – พระอุโบสถ เป็นอาคารไม้แกะสลักด้วยไม้สักทอง สถาปัตยกรรมแบบล้านช้างผสมผสานล้านนา ภายในประดิษฐาน พระเชียงแสนสิงห์ 1 เป็นพระประธาน มีพุทธลักษณะงดงาม มีจิตรกรรมฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพุทธประวัติ – หอพระบรมฉายามหาราชพุทธิรังสรรค์ ภายในมีอนุสาวรีย์พ่อขุนเม็งรายมหาราชและพระฉายาลักษณ์ของราชวงศ์ รวมทั้งบุคคลสำคัญที่มาเยือนวัดพระธาตุผาเงา – วิหารหลวงพ่อผาเงา ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหลวงพ่อผาเงา

 

ซึ่งถูกขุดพบเมื่อมีการปรับแต่งพื้นที่ของวัดมีพุทธลักษณะงดงาม จึงตั้งชื่อว่า “หลวงพ่อผาเงา” และเปลี่ยนชื่อวัดใหม่จากเดิมที่ชื่อวัดสบคำ มาเป็นวัดพระธาตุผาเงา – พระธาตุผาเงา ตั้งอยู่บนยอดหินก้อนใหญ่ คำว่าผาเงา ก็คือเงาของก้อนหิน มีลักษณะสูงใหญ่คล้ายรูปทรงเจดีย์และสร้างร่มเงาได้ดีมาก – พระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ตั้งอยู่บนยอดเขา เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สร้างครอบองค์พระธาตุเจ็ดยอดที่เหลือแต่ซากฐาน สูง 5 เมตร ภายในยังมีฐานของพระธาตุเจ็ดยอดองค์เดิมและมีภาพเขียนฝาผนังบอกเล่าเรื่องราวพระราชประวัติพระนางจามเทวี ด้านนอกสามารถเดินรอบได้ลักษณะคล้ายป้อมปราการ

 

สามารถมองเห็นทิวทัศน์สวยงามได้โดยรอบ – สกายวอร์กผาเงา 3 แผ่นดิน ตั้งอยู่ใกล้กับพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ ห่างจากแม่น้ำโขงประมาณ 400 เมตร เป็นสะพานกระจกรูปแปดเหลี่ยม มีความสูง 25 เมตร ทางเข้าและออกเชื่อมต่อกับถนนรอบพระบรมธาตุพุทธนิมิตเจดีย์ เป็นทางเดินพื้นกระจกนิรภัยลามิเนตและโลหะ สามารถเห็นวิวทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขงทั้งฝั่งไทย และบ้านดอนสะหวัน เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

 

มีบริการรถรับส่งบริเวณลานจอดรถหน้าพระอุโบสถ อัตราค่าเข้าชม สกายวอร์ก วัดพระธาตุผาเงา ผู้ใหญ่ 40 บาท เด็กสูงไม่เกิน 120 เซนติเมตร ไม่มีค่าใช้จ่าย จำกัดจำนวนผู้เข้าชมรอบละ 10

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สนง.วัฒนธรรม เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

ร่วมอนุรักษ์และสืบสานประเพณี กระตุ้นการท่องเที่ยวเชียงแสน

 

เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2567 เวลา 16.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย เป็นประธานในพิธีเปิดงานประเพณีสงกรานต์เมืองเชียงแสน ประจำปี 2567 ณ บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียงแสน โดยมีนายคฑาสิทธิ์ เนื่องหล้า นายอำเภอเชียงแสนนายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายนายสุวิน เครื่องสีมา สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย เขต 1 อำเภอเชียงแสนนายพลภพ มานะมนตรีกุล นายกเทศมนตรีตำบลเวียง เจ้าเมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว สปป.ลาว คณะเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ หัวหน้าส่วนราชการ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น ในพื้นที่อำเภอเชียงแสนร่วมด้วย

 
ประเพณีสงกรานต์ของชาวเชียงแสน เป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติ สืบทอดกันมาเป็นเวลานาน และถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทย ที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกถึง ความกตัญญูกตเวที ต่อบรรพบุรุษ และญาติผู้ใหญ่ ผู้ที่เคารพนับถือ และคงไว้ซึ่งขนบธรรมเนียมประเพณี วัฒนธรรมของไทย มีงานรื่นเริง มีการละเล่น และการแสดง ที่แสดงถึงความสามัคคี ความสนุกสนาน และความอบอุ่น ให้แก่ผู้มาร่วมงานและนักท่องเที่ยว ทั้งคนไทย สปป.ลาว จีน และเมียนมา
 
 
 ซึ่งในปีนี้อำเภอเชียงแสนได้จัดกิจกรรมที่สำคัญคือ การสรงน้ำพระศักดิ์สิทธิ์เมืองเชียงแสน การแข่งขันเรือพายชิงจ้าวลำน้ำโขงประเภท 22 ฝีพายการประกวดเทพีสงกรานต์ การประกวดเทพบุตรสงกรานต์ การประกวดขบวนแห่นางสงกรานต์ การจัดกิจกรรมงานกาชาดการละเล่นรำวงย้อนยุคการแสดงศิลปวัฒนธรรม และการจัดขบวนกลองหลวง 12 ราศี เป็นต้น อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอเชียงแสนให้กลับมาครึกครื้นอีกครั้ง และยังเป็นการส่งเสริมด้านการท่องเที่ยว ให้กับอำเภอเชียงแสนอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ปลุกพลังเยาวชน “เชียงแสน” สร้างเครือข่ายเยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 1 เมษายน 2567 เวลา 09.30 น.นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย พบปะเยาวชน อ.เชียงแสน ในโครงการส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย กิจกรรมที่ 3 อบรมเครือข่ายเยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย ณ ห้องประชุมโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย โดยมีนายธวัชชัย ยะถา รอง ผอ.โรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม กล่าวต้อนรับ นางวีร์สุดา กันทะชัย นักวิชาการศึกษา ผู้แทน อบต.ศรีดอนมูล นางอัญญลักษณ์ กายาไชย เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายชัยสิทธิ์ ชัยเนตร เลขานุการนายก อบจ.เชียงราย นายฐิติวัชร ไลศิริพันธ์ ผอ.ส่วนส่งเสริมการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม รักษาราชการแทน ผอ.สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย บุคลากรสำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.เชียงราย สมาชิกสภาเยาวชน อบจ.เชียงราย และเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ เข้าร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้ด้วย

 

การอบรมเครือข่ายเยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย ในครั้งนี้ อบจ.เชียงราย ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ พร้อมทั้งให้เป็นไปตามนโยบายที่ 5 สภาเยาวชนร่วมกำหนดอนาคตเชียงราย โดย อบจ.เชียงราย ได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์เยาวชน อบจ.เชียงราย เพื่อเป็นศูนย์กลางสำหรับให้บริการและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กและเยาวชนจังหวัดเชียงราย และจะจัดให้มีการสร้างเครือข่ายเยาวชนตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ระดับตำบล ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ภายใต้ชื่อ “เยาวชนอาสาพัฒนาเชียงราย (CRPAO Youth)” หมู่บ้านละ 2 คน (คัดเลือกตัวแทนระดับหมู่บ้าน และคัดเลือกตัวแทนระดับอำเภอ) 
 
 
ตามแนวคิด “เด็กและเยาวชน คือ อนาคตของชาติ” เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีบทบาทแสดงความคิดเห็น เสนอแนะ สะท้อนปัญหา ความต้องการในมุมมองของเยาวชน ก่อเกิดการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคตผ่านการจัดตั้งสภาเยาวชน เครือข่ายเยาวชนและกลุ่มเยาวชน ซึ่งเยาวชนเหล่านั้น ได้มีบทบาทในการเชื่อมประสานการทำงานด้านการพัฒนาอันเป็นประโยชน์ ต่อชุมชน สังคม โดยชักชวนเยาวชนในหมู่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วม ก่อให้เกิดพลังจิตอาสานำพาสู่การเติบโตเป็นพลเมืองสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ชุมชนเข้มแข็งต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

การค้นพบวัตถุริมแม่น้ำโขง ของลาว อาจเป็นพื้นที่ของล้านนา-ล้านช้าง

 
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมาทางเพจภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้โพสต์ข้อความว่าจากการค้นพบโบราณวัตถุที่ริมแม่น้ำโขง ดอนเผิ่งคำ เมืองต้นผึ้ง แขวงบ่อแก้ว ส.ป.ป.ลาวฝั่งตรงข้าม อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2567 โดยเป็นพระพุทธรูปสำริดทั้งขนาดใหญ่และเล็กจำนวนมาก รวมทั้งยังพบซากอาคารที่เป็นเสาก่ออิฐจมดินอยู่ด้วย ประชาชนทั้งชาวลาวและชาวไทยให้ความสนใจกันอย่างมากในโลกโซเชียลต่อเนื่องกันมาหลายวัน
 
รองศาสตราจารย์ ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร หัวหน้าภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นว่ารูปแบบศิลปกรรมที่พบประกอบด้วยพระพุทธรูปและชิ้นส่วนอาคารวิหาร โดยพระพุทธรูปอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก คือ
 
1.กลุ่มศิลปะล้านนาที่มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 มีรูปแบบพระพักตร์อวบอ้วน เม็ดพระศกใหญ่ ประทับนั่งบนฐานกลีบบัวปางมารวิชัย
2.คือกลุ่มพระพุทธรูปล้านนาสกุลช่างเชียงราย-เทิง มีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 21-22 ดังเช่นพระพุทธรูปสำริดองค์ใหญ่ ซึ่งมีเทคนิคพิเศษในการหล่อโลหะต่างสีมาประกอบเข้าด้วยกัน และมีพุทธลักษณะบางประการร่วมกับพระพุทธรูปศิลปะลาวล้านช้างเช่นการทำส่วนฐานยกสูงฉลุลาย พระพักตร์เสี้ยม เม็ดพระศกเล็กมีไรพระศก
3.พระพุทธรูปศิลปะล้านช้างขนาดเล็กอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22 รูปแบบเป็นพื้นถิ่นเช่นส่วนฐานเป็นบัวงอน รัศมีสูงเป็นแฉก
 
 
เสาอาคารเป็นเสากลมของวิหารประดับด้วยลวดลายปูนปั้นแบบล้านนาคือลายกรอบวงโค้งหยักและดอกโบตั๋นที่เป็นอิทธิพลจากศิลปะจีน กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 21 นอกจากนี้ข้อมูลในภาพยังมีพระพิมพ์อีกจำนวนหนึ่งซึ่งอาจเป็นศิลปะล้านนา
 
 
พื้นที่ที่พบมีความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำโขงในอดีตซึ่งยังมิได้แบ่งเป็นประเทศไทย-ลาว เหมือนปัจจุบัน แต่ขึ้นอยู่กับอำนาจจากสองอาณาจักรคือล้านนาที่เชียงใหม่กับล้านช้างที่หลวงพระบาง-เวียงจัน น่าสนใจที่มีการผสมผสานรูปแบบกันระหว่างสองศิลปะนั้นด้วยเพราะเป็นพื้นที่ชายขอบของล้านนา-ล้านช้าง
 
 
ส่วนตำแหน่งของพื้นที่ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมืองโบราณเชียงแสนหรือไม่นั้น อาจต้องใช้การวิเคราะห์ทางด้านธรณีวิทยาความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำโขงจากนักวิทยาศาสตร์มาประกอบด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

อบจ.สัญจร ลงพื้นที่ อ.เชียงแสนเยี่ยม รพ.สต.ในสังกัด รับข้อเสนอประชาชน

 
เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ นายก อบจ.เชียงราย พร้อมด้วย นายรามิล พัฒนมงคลเชฐ ปลัด อบจ.เชียงราย สิบเอกวิมล รู้ทำนอง ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และงบประมาณ นางนภาภัณฑ์ ต่วนชะเอม เลขานุการ อบจ.เชียงราย นายสุวิน เครื่องสีมา สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 1 นายอนุรักษ์ ทองเสรี สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย อ.เชียงแสน เขต 2 ลงพื้นที่ อ.เชียงแสน รับฟังปัญหาความต้องการและความเดือดร้อน รวมทั้งข้อเสนอการดำเนินการ ต่าง ๆ ของ อบจ.เชียงราย ในพื้นที่ อ.เชียงแสน ในโครงการมหกรรม อบจ.สัญจร ประจำปี 2567 ณ หอประชุมโรงเรียนเชียงแสนวิทยาคม โดยมีนายรังสรรค์ ไชยพุฒ นายก ทต.โยนก นางเกศสุดา สังขกร นายก ทต.เวียงเชียงแสน นายสุเทพ ล้อสีทอง ประธานสภาวัฒนธรรม อ.เชียงแสน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. และประชาชนในพื้นที่ ร่วมในการเสนอความต้องการและเสนอปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ครั้งนี้ด้วย
 
 
พร้อมกันนี้ได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่ อ.เชียงแสน โดยได้ประสานเจ้าหน้าที่กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพ จ.เชียงราย และรพ.สต. ในการช่วยเหลือการเข้าถึงสิทธิการดูแลด้านต่าง ๆ จากกองทุนฟื้นฟูฯ ต่อไป นอกจากนี้ยังได้ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยม การให้บริการของ รพ.สต.บ้านเวียงแก้ว และสอบถามปัญหาต่าง ๆ เพื่อเร่งดำเนินการในการแก้ไข พร้อมผลักดันการแจ้งปัญหาสุขภาพด้วยแอปพลิเคชัน LINE OA ของ รพ.สต.และของ อบจ.เชียงราย เพื่อลดปัญหาและภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของผู้รับบริการอีกด้วย
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News