Categories
AROUND CHIANG RAI SPORT

เผยเบื้องหลังความสำเร็จ “น้องออย” ทุ่มเทเสียสละสู่ฝันที่เป็นจริง

 

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี น.ส.สุรจนา คำเบ้า อายุ 24 ปี ชาวบ้านดอนที่ หมู่ 3 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สามารถคว้าเหรียญทองแดงในการแข่งขันกีฬายกน้ำหนักที่โอลิมปิค ปารีสเกมส์ รุ่นน้ำหนัก 49 กิโลกรัมนั้น พบว่าเบื้องหลังขอความสำเร็จคือคุณครูสมศิลป์ ขันธิกุล อดีตครูโรงเรียนริมโขงวิทยา ต.ริมโขง อ.เชียงของ ซึ่งพึ่งเกษียณอายุราชการไปได้เพียง 2 ปี โดยครูสมศิลป์เป็นส่วนหนึ่งที่นอกจากจะทำให้น้องออยคว้าเหรียญในโอลิมปิคแล้วยังเคยคว้า 1 เหรียญทองแดง ในการแข่งขันเอเชียนเกมส์ และคว้า 3 เหรียญทอง ในการแข่งกันกีฬาซีเกมส์ รวมทั้ง 3 เหรียญทองจากการแข่งขันเยาวชนโลก

         ประวัติโดยรวมของครูสมศิลป์ จบการศึกษาจากวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ รุ่นที่ 9 และเมื่อครั้นที่น้องออยยังเป็นเด็กได้เรียนระดับประถมศึกษาอยู่ที่โรงเรียนริมโขงวิทยาซึ่งเป็นโรงเรียนที่ครูสมศิลป์สอนวิชาพละอยู่นั่นเอง ย้อนกลับไปเมื่อ 18 ปีก่อน ด.ญ.สุรจนา ในขณะนั้นได้เข้าเรียนเหมือนเด็กชนบทชายแดน ไทย-ลาว ที่ติดกับแม่น้ำโขงทั่วไป แต่เด็กหญิงคนนี้สามารถฝึกฝนพื้นฐานของกีฬาชนิดต่างๆ ได้อย่างถูกต้องจนเริ่มเป็นที่จับตาของคุณครูสมศิลป์ กระทั่งขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ก็สามารถเล่นกีฬาต่างๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล วิ่ง ฯลฯ จนได้รับเลือกเป็นนักกีฬาของโรงเรียน ชีวิตของน้องออยเริ่มพลิกผันเพราะครูสมศิลป์ เมื่อคุณครูได้ไปร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์อดีตศิษย์เก่าวิทยาลัยพลศึกษาเชียงใหม่ รุ่นที่ 9 และได้พบเจอกับเพื่อนร่วมรุ่นที่ทำงานอยู่โรงเรียนกีฬา จ.ชลบุรี ซึ่งกำลังเสาะหานักกีฬายกน้ำหนักให้เข้าไปฝึกฝนที่โรงเรียน ขณะนั้นน้องออยยังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่เมื่อครูสมศิลป์และเพื่อนเห็นพ้องตรงกันว่าเด็กคนนี้มีพรสวรรค์และฝีมือด้านการกีฬาจึงได้ตกลงจะรับตัวไป ครูสมศิลป์จึงรับภาระเป็นเสมือนผู้ปกครองรองจากพ่อแม่ตั้งแต่นั้น โดยได้ไปขออนุญาตปู่และย่าซึ่งเลี้ยงดูน้องออยมาตั้งแต่เด็ก และบิดาและมารดาที่แยกทางกันซึ่งทั้งหมดก็เห็นชอบที่จะส่งไปเรียนเพื่ออนาคตที่ดี


        ครูสมศิลป์ กล่าวว่า นับตั้งแต่นั้นผมต้องทำหน้าที่เป็นคนขับรถพาลูกศืษย์คนนี้ไปส่งที่ จ.ชลบุรี โดยเราเดินทางไปด้วยกัน 2 คน เพราะไม่คุ้นเคยเส้นทางจึงพากันหลงไปไกลกว่าจะไปถึงโรงเรียนก็ค่ำมืด หลังจากส่งน้องออยให้โรงเรียนและบอกเพื่อนที่เป็นโค้ชให้ช่วยดูแลแล้วก็ขับรถกลับเชียงรายตามลำพัง ปรากฎว่าไม่ถึงวันน้องออยก็โทรศัพท์มาขอให้พากลับบ้านเพราะน้องเป็นเด็กจากชายแดนเชียงรายไม่เคยออกบ้านไปไหน ที่สำคัญไม่เคยรู้จักใครเมื่อต้องไปอยู่กับคนแปลกหน้าในโรงยิมที่ฝึกซ้อมจึงร้องไห้ฟูมฟาย แต่ตนก็บ่ายเบี่ยงถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ ระหว่างขับรถกลับถึง จ.นครสวรรค์ น้องก็โทรศัพท์มาหาอีกหลายครั้งขอกลับบ้าน แม้ผ่านไปหลายวันอาการปรับตัวไม่ได้ก็ยังมีอยู่แม้แต่เพื่อนของตนที่เป็นโค้ชยังแนะนำให้ตนกลับไปรับน้องออยกลับ จ.เชียงราย ด้วยแต่ตนก็อดทนเพื่อให้อดีตลูกศิษย์คนนี้ได้มีอนาคตที่ดี


       เมื่อย้อนกลับไปที่บ้านเลข 41/4 หมู่บ้านดอนที่ หมู 3 ต.ริมโขง อ.เชียงของ จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นภูมิลำเนาเดิมของน้องออย พบว่าบิดาและมารดาได้แยกทางชีวิตกัน ที่บ้านจึงคงมีแต่นายสุทัศน์ คำเบ้า อายุ 77 ปี นางสี คำเบ้า อายุ 70 ปี ปู่และย่าของน้องออย ส่วนนายขวัญชัย คำเบ้า อายุ 47 ปี แยกไปสร้างบ้านหลังใหม่ ซึ่งทุกคนต่างตั้งความหวังเอาไว้กลับเด็กน้อยจากเชียงของคนนี้โดยมีครูสมศิลป์เป็นคนคอยประสานงาน บอกเล่าเรื่องราวความเป็นอยู่ หลายครั้งก็ควักเงินตัวเองช่วยเหลือความเป็นอยู่ของน้อยออย กระทั่งเวลาผ่านไปหลายปีน้องออยก็สามารถปรับตัวได้และแสดงฝีมือการยกน้ำหนักโดยเฉพาะรุ่น 49 กิโลกรัม แต่การดูแลก็ยังไม่พ้นครูสมศิลป์เพราะเมื่อติดทีมชาติหรือต้องเดินทางไปต่างประเทศครูสมศิลป์ก็ต้องดั้นด้นขับรถจากชายแดนเชียงของพาไปทำหนังสือเดินทางระหว่างประเทศหรือพาสปอร์ต รวมทั้งช่วยเหลือด้านอื่นๆ จนอดีตลูกศิษย์ค่อยๆ สร้างผลงานคว้าเหรียญรางวัลต่างๆ จนมาถึงเหรียญทองโอลิมปิคดังกล่าว ซึ่งสร้างความภาคภูมิใจให้กับครูสมศิลป์เป็นอย่างมาก


       ครูสมศิลป์ กล่าวอีกว่า หลังจากไปอยู่ที่ จ.ชลบุรี น้องออยก็กลับบ้านนานๆ ครั้ง บางครั้งเดินทางมาแข่งขันใกล้บ้านเกิดตนก็จะทำหน้าที่ไปขอตัวและรับส่งมายังบ้าน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาน้องออยไม่สามารถเป็นตัวแทนนักกีฬาของ จ.เชียงราย หรือส่งผลต่อการต้อนรับหรือจัดกิจกรรมต่างๆ เพราะมีข้อตกลงเดิมว่าถ้าจะเข้าเรียนที่โรงเรีบนกีฬา จ.ชลบุรี ต้องโอนย้ายที่อยู่ไปอยู่ จ.ชลบุรี ดังกล่าวดังนั้นตนจึงคาดหวังว่าในอนาคตจะมีการโอนย้ายที่อยู่กลับมายัง จ.เชียงราย เพื่อให้น้องออยได้มีโอกาสกลับภูมิลำเนาหรือได้รับการสนับสนุนในฐานะชาวเชียงราย เพราะที่ผ่านมาการต้อนรับหรือสนับสนุนในฐานะชาวเชียงรายไม่สามารถทำได้มากนัก แม้จะคว้าเหรียญในรายการนานาชาติมาแล้วมากมายแต่เรื่องก็เงียบหายไป

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” แหล่งหากินของปลากระเบนแม่น้ำโขง

 

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต พร้อมเจ้าหน้าที่สมาคม ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านริมแม่น้ำโขง ใน อ.เชียงแสน อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย ถึงภัยคุกคามที่ส่งผลต่อการลดลงของปลากระเบนในแม่น้ำโขง และติดตามการเปลี่ยนแปลง ปริมาณของปลากระเบนที่ลดลง โดยที่บ้านดอนที่เป็นพื้นที่เดียวในแม่น้ำโขง จ.เชียงราย ที่ชาวประมงจับได้บ่อยครั้ง ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ว่าเหตุใดจึงพบได้เพียงเฉพาะที่บ้านดอนที่เท่านั้น รวมไปถึงการศึกษาปลาสายพันธุ์อื่นๆในพื้นที่ด้วย

 

อาจารย์สุทธิ มะลิทอง สถาบันถ่ายทอดเทคโนโลยีนวัตกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย กล่าวว่า สถานการณ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง พบว่า จุดที่ชาวบ้านพบปลากระเบนในพื้นที่บ้านดอนที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย เป็นจุดที่มีลักษณะที่ชาวบ้านเรียกว่า “ครก” หรือ “วัง” โดยมีพื้นผิวใต้น้ำเป็นตะกอนดินโคลน ทราย ปนกัน ซึ่งเป็นแหล่งหากินของปลากระเบน มีหนอนแดง ใส้เดือนน้ำ อยู่จำนวนมาก และบริเวณหลงแก่ง ที่มีลักษณะเป็นที่อยู่อาศัยของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว และตัวอ่อนแมลงชีปะขาว ที่เป็นอาหารของปลากระเบน ทำให้ในพื้นที่นี้มีการจับปลากระเบนแม่น้ำโขงได้บ่อยครั้ง สำหรับความเสี่ยงของปลากระเบนก็คือพื้นที่อยู่อาศัย ถ้าหากพื้นที่อาศัยและแหล่งอาหารหายไป ก็จะทำให้ปลากระเบนลดลง นอกจากนี้พบว่าพืชริมน้ำก็จะเป็นแหล่งดักตะกอนที่ให้เกิดพื้นที่ดินโคลน และทราย จึงเป็นแหล่งที่อยู่ของอาหารของปลากระเบน
 
 
“อีกปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาต่อปลากระเบนก็คือ เรื่องระดับน้ำที่มีการเปลี่ยนแปลง น้ำขึ้น น้ำลง ที่ไม่เป็นธรรมชาติ ก็จะส่งผลให้แหล่งที่อยู่และอาหารของปลากระเบนลดลง กระทบกับปลากระเบนโดยตรงหากไม่มีอาหารก็จะทำให้ย้ายถิ่นฐาน หรือสูญหายไป” อาจารย์สุทธิ กล่าว
 
 
นายถวิล ศิริเทพ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 3 ตำบลริมโขง กล่าวว่าเมื่อเดือน พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีชาวประมงพื้นบ้าน สามารถจับปลากระเบนแม่น้ำโขง ขนาดกว่า 1.2 กิโลกรัมได้ในแม่น้ำโขง ในพื้นที่บ้านดอนที่ ซึ่งปลากระเบนนั้นถือว่าเป็นปลาที่หากพบได้ยาก และใกล้สูญพันธุ์ในแม่น้ำโขงปัจจุบัน ก็เนื่องมาจากระบบนิเวศ ในแม่น้ำโขงที่เปลี่ยนไป การเพิ่มและลดบริมาณน้ำในแม่น้ำโขงที่ผิดปกติ ทำให้ชาวประมงในพื้นที่สามารถจับปลาบางชนิดได้น้อยลง ในฐานะผู้นำหมู่บ้านดอนที่ ก็ขอขอบคุณทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ที่เข้ามาช่วยทำวิจัย เพื่อเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนในแม่น้ำโขง โดยใช้พื้นที่บริเวณหมู่บ้านดอนที่ ให้เป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้ เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ เพื่ออนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนและพันธุ์ปลาน้ำจืดแม่น้ำโขงอื่นๆ ที่ใกล้สูญพันธุ์ให้คงอยู่คู่กับแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
ด้านนายสมศักดิ์ นันทลักษณ์ ชาวประมง ในพื้นที่บ้านดอนที่ เล่าว่า การหาปลาในแม่น้ำโขงในปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายาก โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงที่น้ำขึ้น ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพหาปลาส่วนใหญ่ก็จะผันตัวไปทำไร่ทำสวน ในส่วนของที่ทางสมาคม แม่น้ำเพื่อชีวิตได้เข้ามาทำวิจัยเรื่องการเพาะพันธ์และอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบน และจะใช้พื้นที่หมู่บ้านดอนที่ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย เป็นแหล่งอนุรักษ์พันธุ์ปลากระเบนแม่น้ำโขง ตนเองในฐานะชาวประมงในพื้นที่ก็เห็นด้วย ถ้าสามารถจับปลากระเบนในพื้นที่ได้อีก ก็จะส่งให้ทางประมงเพื่อไปทำการวิจัยและเพาะพันธ์ขยายพันธุ์ และนำกลับมาปล่อยคืนสู่ธรรมชาติเพื่อเพิ่มปริมาณจำนวนปลากระเบนในแม่น้ำโขง และให้บ้านดอนที่ เป็นศูนย์เรียนรู้ และเขตอนุรักษ์ เรื่องปลากระเบนแม่น้ำโขงต่อไป
 
 
สำหรับปลากระเบนในแม่น้ำโขงเผชิญกับภัยคุกคามร้ายแรงหลายประการที่ส่งผลต่อจำนวนประชากรและถิ่นที่อยู่อาศัย โดยพบภัยคุกคามคือ การเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำ การควบคุมระดับน้ำของเขื่อนในแม่น้ำโขงใประเทศจีน ส่งผลต่อกระแสน้ำและรูปแบบการไหลของแม่น้ำโขง สิ่งนี้รบกวนวงจรชีวิตของปลา รวมถึงปลากระเบน ที่พึ่งพาการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตามธรรมชาติสำหรับการอพยพ การวางไข่ และการหาอาหาร การกัดเซาะตลิ่งที่เกิดจากน้ำขึ้นลง ส่งผลต่อที่อยู่อาศัยของปลากระเบน ตลิ่งที่พังทลายทำลายพื้นที่คก วัง และริมฝั่งซึ่งเป็นแหล่งหากินและวางไข่ที่สำคัญ การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัย การก่อสร้างเขื่อนและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ บนแม่น้ำโขง ทำลายแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของปลากระเบน เช่น โขดหิน แอ่งน้ำ และพื้นทราย การทำประมงที่ทำลายล้าง เช่น การใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์และแหล่งหากินของปลากระเบน มลพิษทางน้ำจากการเกษตร โรงงาน และชุมชน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำในแม่น้ำโขง มลพิษเหล่านี้เป็นอันตรายต่อปลากระเบน 
 
 
โดยเฉพาะลูกปลาและปลาอ่อน การล่าปลากระเบนถูกจับโดยชาวประมงเพื่อการค้าและบริโภค แม้ว่าจะมีกฎหมายห้ามจับปลากระเบน แต่การบังคับใช้กฎหมายยังคงมีประสิทธิภาพต่ำ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่ออุณหภูมิและรูปแบบการตกตะกอนในแม่น้ำโขง การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อแหล่งที่อยู่อาศัย อาหาร และวงจรชีวิตของปลากระเบน
 
 
ผลกระทบจากภัยคุกคามทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนประชากรปลากระเบนในแม่น้ำโขง ทำให้จำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็ว ปลากระเบนเป็นสัตว์กินซาก มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง การลดลงของประชากรปลากระเบน ส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร และความสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI

หม่อมหลวงสราลี ประธานพิธีเจริญพระพุทธมนต์สืบชาตาหลวงถวายฯ พระเจ้าวรศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 พระราชปัญญาภรณ์ รองเจ้าคณะภาค6 วัดนางชี พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วย พระพุทธิวงศ์วิวัฒน์ (บุญมา มานิโต) เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยตุง อ.แม่สาย ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 6 พระอุดมบัณฑิต รองเจ้าคณะภาค 6 (เชียงราย พะเยา แพร่ น่าน) พระปลัดเซ็งกิม กตสิทโธ เจ้าอาวาสวัดกิ่วกาญจน์ อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย และพระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัดเชียงราย ประกอบพิธีพระพุทธมนต์สืบชาตาหลวง ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 67 พรรษา ณ วัดกิ่วกาญจน์ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 

      ทั้งนี้ ดร.หม่อมหลวงสราลี กิติยากร เป็นประธานฝ่ายฆราวาส เปิดกรวยกระทงดอกไม้ธูปเทียนแพถวายสักการะเบื้องหน้าพระรูป พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ

 

     ว่าที่ร้อยตรี ศราวุธ จันทวงศ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายโสไกร ใจมั่น ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงราย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำชาวอำเภอเชียงของ ร่วมประกอบพิธีจำนวนมาก

 

      พระสงฆ์ 68 รูป เจริญพุทธมนต์ พระสงฆ์กล่าวสัมโมทนียกถา จากนั้นประกอบพิธีในรูปแบบทางล้านนา ในการสืบชาตาหลวง

 

     ดร.หม่อมหลวงสราลี กิติยากร กล่าวนมัสการขอบพระคุณพระสงฆ์ และขอบคุณผู้จัดพิธีฯ ในฐานะเป็นพระขนิษฐา พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ ซึ่งเป็นสายโลหิตโดยกำเนิด ต้องขอขอบพระคุณพระคุณเจ้าทุก ๆ รูป ขอขอบพระคุณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย รวมทั้งท่านผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ที่ได้เปิดโอกาสให้ผู้จัดพิธีฯ ได้จัดพิธีดังกล่าว ทั้งนี้ปลื้มปิติอย่างมาก ที่ทุก ๆ คนได้ร่วมกันทำบุญใหญ่ครั้งนี้ เพื่อร่วมถวายเป็นพระราชกุศล และส่งพลังใจให้พระองค์ท่าน พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี กรมหมื่นสุทธนารีนาถ เนื่องในวันคล้ายวันประสูติครบรอบ 67 พรรษา ที่ใกล้จะถึงนี้ 23 กรกฎาคม ให้ทรงแข็งแรง และหายจากอาการประชวรตามลำดับ

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ช่วยภัยแล้งในพื้นที่อำเภอเชียงของ

 

เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 67 เวลา 09.30 น. ที่หอประชุมเทศบาลตําบลห้วยซ้อ อําเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์ประธานกรรมการมูลนิธิชัยพัฒนา พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ของมูลนิธิชัยพัฒนา แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่ โดยมีนายดนุชา สินธวานนท์ กรรมการและรองเลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธานในพิธี โดยมี นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ สภาเกษตรกรจังหวัดเชียงราย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนประชาชนในพื้นที่ 3 ตำบล ร่วมให้การต้อนรับ

 

สำหรับ ฤดูการผลิตที่ผ่านมาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในพื้นที่ 29 หมู่บ้าน ของตําบลครึ่ง ตําบลห้วยซ้อ และตําบลสถาน อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ประสบกับวิกฤติภัยแล้งจนทำให้มีพื้นที่ปลูกข้าวได้รับความเสียหายจำนวน 8,869 ไร่ ในวันนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงได้พระราชทานเมล็ดพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 จํานวน 133,035 กิโลกรัม แก่เกษตรกรและกลุ่มเกษตรนาแปลงใหญ่ ที่ประสบความเดือดร้อนจํานวน 549 ราย โดยกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ต่างรู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เพราะเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานที่ได้รับ ทำให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี นําไปเพาะปลูกไว้บริโภคและจําหน่ายสร้างรายได้ในครัวเรือน อันจะเป็นการพื้นฟูคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้สามารถก้าวเดินต่อไปในฤดูกาลใหม่ที่กําลังจะมาถึง ด้วยเมล็ดพันธุ์อันเป็นมงคลยิ่ง
 
 
ทั้้งนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีรับสั่งให้มูลนิธิชัยพัฒนาดําเนินการผลิตพันธุ์ข้าว เพื่อสํารองไว้เป็นพันธุ์ข้าวพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยพิบัติ มูลนิธิชัยพัฒนาจึงมอบหมายให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ จังหวัดเชียงราย เป็นผู้ด้าเนินงานผลิตพันธุ์ข้าวปทุมธานี 1 ในพื้นที่ภาคเหนือ โดยมีเกษตรกรในตําบลเกาะช้าง อําเกอแม่สาย จังหวัดเชียงราย เข้าร่วมในโครงการผลิตพันธุ์ข้าวพระราชทาน
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

เชียงราย พบปลากระเบนแม่น้ำโขงหนัก 1.2 กิโล ริมฝั่งแม่น้ำโขง เชียงของ

 

เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2567 ทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต (LRA) ได้รับแจ้งจากเครือข่ายชาวประมงแม่น้ำโขง จากบ้านดอนที่ หมู่ที่ 3 บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ว่าได้จับปลากระเบนแม่น้ำโขงหรือกระเบนลาว ขนาด 1.2 กิโลกรัม จากการไหลมองหหรือไหลตาข่ายดักปลาในแม่น้ำโขง

 

นายสมศักดิ์ นันทรักษ์ นักวิจัยชาวบ้าน บ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้เล่าถึงปลากระเบนที่จับได้ว่า“ปลาฝาไมตัวนี้จับได้ที่ลั้งหาปลาบ้านดอนที่ เช้านี้ ตัวประมาณ 1.2 กิโลกรัม โดยการไหลมองหรือตาข่ายที่ไหลดักปลา เป็นปลาตัวเมีย มีเงี่ยงหนึ่งอัน ช่วงนี้ส่วนใหญ่จะจับได้จากการไหลมอง ส่วนเบ็ดระแวงไม่ค่อยได้ใส่เนื่องจากไกกำลังหลุด มันชอบไปหวันสายเบ็ด”ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง ชาวบ้านเรียกว่าปลาฝาไม มีชื่ออังกฤษเรียกว่า Mekong stingray, Mekongและ freshwater stingray เป็นปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง ปลาฝาไมที่ชาวบ้านจับได้มีรูปร่างส่วนหัวออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 2 ชิ้น ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน น้ำหนักมากที่สุดชาวบ้านดอนที่เคยจับได้ประมาณเกือบ 30 กิโลกรัม
 
 
ปัจจุบันปลากระเบนเป็นปลาหายาก ที่ยังมีการจับได้เฉพาะพื้นที่ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ส่วนพื้นที่อื่นๆมีการจับนานๆ ได้ที การลดลงของปลากระเบน เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขงทั้งจากการสร้างเขื่อน การระเบิดเกาะแก่ง การเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่ได้ส่งผลให้ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติ ระบบนิเวศน์น้ำโขงเปลี่ยนรูป ส่งผลทำให้ปลาหลายชนิดลดจำนวนลงทั้งชนิดพันธุ์และปริมาณ จากการจับได้ของชาวประมง ปลาลดลงส่งผลโดยตรงต่อวิถีชีวิตชุมชนริมฝั่งแม่น้ำโขง
 
 
ชาวประมงบ้านดอนที่ ตำบลริมโขง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกับทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต ร่วมกันศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นเกี่ยวกับปลากระเบน และเก็บตัวอย่างน้ำ เมือกปลา เพื่อเก็บตัวอย่างสารพันธุกรรมจากน้ำ (EDNA) ไว้เป็นต้นแบบสำหรับการศึกษาสำรวจแหล่งที่อยู่อาศัยของปลากระเบนในระบบนิเวศน์แม่น้ำโขง และทางสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิตได้ดำเนินโครงการเสริมศักยภาพชุมด้วยองค์ความรู้ท้องถิ่นและวิทยาศาสตร์ในการคุ้มครองถิ่นที่อยู่ปลากระเบนน้ำโขง พื้นที่คอนผีหลงและแม่น้ำโขงจังหวัดเชียงราย 
 
 
เพื่อ ศึกษาองค์ความรู้ปลากระเบน เสริมศักยภาพการตั้งรับปรับตัวของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยการสร้างมูลค่าจากปลาในแม่น้ำโขง เพื่อเพาะขยายพันธุ์เพื่อสร้างรายได้ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกกับทางผู้เชี่ยวชาญด้านประมงในจังหวัดเชียงรายต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI NEWS UPDATE

เจ้าหน้าที่ จ.เชียงราย ส่งทีมยึดรถจับผู้ต้องหาก่อนลอบส่งข้ามโขงไปลาว

 
เมื่อวันที่ 19 พ.ค.2567 นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย มอบหมายให้สมาชิกกองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) อ.เชียงของ ที่ 7 ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ทหารสถานีเรือเชียงของ หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง (นรข.) เขตเชียงราย สภ.เชียงของ ด่านศุลกากรเชียงของ และทหารพรานกองกำลังผาเมือง ทำการตรวจยึดของกลางรถจักรยานยนต์ ยี่ห้อฮอนด้า สีน้ำเงิน ไม่มีแผ่นป้ายทะเบียน จำนวน 1 คัน เรือกาบซึ่งเป็นเรือยนต์ในแม่น้ำโขงยาว 15 เมตร จำนวน 1 ลำ 
 
 
หลังจากช่วงกลางดึกที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งจากพลเมืองดีว่าจะมีการลักลอบนำสินค้าออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร บริเวณริมฝั่งแม่น้ำโขง ชายแดนไทย – ลาว พื้นที่หมู่บ้านดอนมหาวัน ต.เวียง อ.เชียงของ จึงได้ร่วมกันไปตรวจสอบพบกลุ่มคนต้องสงสัยจำนวน 3 คน โดย 2 คนแรกขับเรือกาบมาเทียบฝั่งส่วนอีก 1 คน ขับขี่รถจักรยานยนต์ของกลางจะไปยังเรือกาบ เจ้าหน้าที่จึงแสดงตัวเข้าไปตรวจสอบแต่คนทั้งหมดพากันตกใจและวิ่งขึ้นเรือกาบลำหนึ่งแล้วแล่นออกจากเขตประเทศไทยไป และทิ้งของกลางเอาไว้ดังกล่าว
 
 
ในเวลาใกล้เคียงกันเจ้าหน้าที่ทหารสถานีเรือเชียงของ นรข.เขตเชียงราย ได้รับแจ้งว่าขณะที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดรถจักรยนยนต์ ได้มีรถยนต์กระบะ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นวีโก้แชมป์ ติดป้ายทะเบียนว่า 2 กณ 917 กรุงเทพฯ พยายามจะขับไปตามเส้นทางธรรมชาติสู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงพื้นที่หมู่บ้านห้วยเม็ง ต.เวียง อ.เชียงของ จ.เชียงราย  เจ้าหน้าที่จึงแยกกำลังไปตรวจสอบปรากฎว่าคนขับรถบนต์ได้วิ่งหลบหนีไปกับความมืดและทิ้งรถเอาไว้ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงได้ร่วมกันนำของกลางทั้ง 2 คดี ส่งด่านศุลกากรเชียงของเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : หน่วยเรือรักษาความสงบเรียบร้อยตามลำแม่น้ำโขง

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI CULTURE

นบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ คนเชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา

 

เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๖๗ ที่ พิพิธภัณฑ์ มรดกวัฒนธรรม ผ้าทอไทลื้อ  ลื้อลายคำ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ได้มีพิธีไหว้ครูลื้อลายคำ ซึ่งทางเพจ Chiang Khong TV รายงานว่าเป็นการนบไหว้สาบูชาครู ลื้อลายคำ ความรู้ ศิลปะ วิชา ทุกแขนงสาขา ล้วนแล้วแต่มีครูบาอาจารย์ผู้ประสาทประสิทธิ์วิชา เมื่อศึกษาจนสำเร็จลุล่วงก็ต่างแยกย้ายไปตามทิศทางที่หมาย จะยากดีมีจน เป็นคนดีคนเลว ก็ล้วนแล้วแต่มีวิชาความรู้ติดตนติดตัว ถือว่าเป็นคนมีครู เป็นผู้ที่ได้รับการศึกษา  และหากผู้ใด รำลึกได้ถึงคุณของครูบาอาจารย์ ผู้นั้นย่อมจักมีความเจริญในชีวิต

 

ซึ่งกลุ่ม ลื้อลายคำ ครั้งหนึ่งเคยสร้างชื่อกระฉ่อนไปทั่วประเทศ โดยการรวมตัวกันของ เยาวชน อ.เชียงของที่มีใจรักในศิลปะล้านนา ศิลปะไทลื้อ ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ถึงแม้ในปัจจุบัน กลุ่มลื้อลายคำ จะไม่ได้รวมตัวกันเช่นแต่ก่อน แต่ทุกคนเมื่อได้ชื่อว่าลื้อลายคำ ก็จะเป็นลื้อลายคำตลอดไป เมื่อใด ที่มีโอกาสได้แสดงวิชา ก็จะมารวมตัวกันไม่ห่างหาย และเมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับมาไหว้ครูอาจารย์ ทุกคนก็พร้อมกลับมารวมตัวกันอย่างสมัครสมานเช่นเคย

 

คุณสุริยา วงค์ชัย ลูกหลานไทลื้อรุ่นปัจจุบัน ที่อยากให้มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทลื้อ สืบทอด สานต่อ ไปยังรุ่นต่อไป โดยใช้บ้านไม้ 2 ชั้น ทรงเก่าๆจัดสร้างที่วัฒนธรรมของไทลื้อถูกเก็บรวบรวมไว้ในพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ  ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงได้เก็บประวัติเรื่องราว การกล่าวขาน การต่อสู้การ อพยพต่างๆ ของชาวไทลื้อในอดีต เมื่อเดินขึ้นไปชั้นบน มีหุ่นจัดแสดงเครื่องแต่งกายไทลื้อแบบต่างๆ ผ้าทออันมีคุณค่า ที่ต้องใช้เวลาในการเก็บรวมรวม มาให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้ เครื่องประดับของมีค่า จำลองวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทลื้อ ดูแล้วมีมนต์ขลังเหมือนพาตัวเองเข้าไปอยู่ในบ้านหลังนั้นจริงๆ

 

จากข้อมูลของสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ เล่าว่ากลุ่มชาติพันธ์  “ลื้อ/ยอง/ขึน (เขิน)”

“ลื้อ”   ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่แคว้นสิบสองปันนา  ทางตอนใต้ของประเทศจีน มีประวัติการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานไปยังรัฐฉาน ประเทศพม่า

“ยอง”  ชาวไทลื้อที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองยอง  อำเภอหนึ่งของเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

“ขึน/เขิน”  ชาวไทลื้อ (+ไทใหญ่?) ที่อาศัยอยู่ในประเทศพม่า จีน ไทย และประเทศลาว ตั้งชุมชนหนาแน่นที่บริเวณลุ่มแม่น้ำขึนเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า

.

ไทลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยภาคตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน ภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน และภาคเหนือของลาว ชาวไทลื้อในสิบสองพันนามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับไทยวนล้านนาในยุค “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ชาวไทลื้อจากสิบสองพันนาได้ถูกกวาดต้อนลงมาอยู่ในล้านนาจำนวนมาก  ชาวไทลื้อนับถือศาสนาพุทธและปฏิบัติตามจารีตประเพณีทางพุทธศาสนา

 

การขยายตัวของชาวไทลื้อสมัยเจ้าอินเมืองได้เข้าตีเมืองแถน เชียงตุง เชียงแสน และล้านช้าง กอบกู้บ้านเมืองให้เป็นปึกแผ่น พร้อมทั้งหัวเมืองไทลื้อเป็นสิบสองเขต เรียกว่า สิบสองปันนา และในยุคนี้ได้มีการอพยพชาวไทลื้อบางส่วนเพื่อไปตั้งบ้านเรือนปกครองหัวเมืองประเทศราชเหล่านั้น  จึงทำให้เกิดการกระจายตัวของชาวไทลื้อ ในลุ่มน้ำโขงตอนกลาง (รัฐฉานปัจจุบัน) อันประกอบด้วย เมืองยู้ เมืองยอง เมืองหลวง เมืองเชียงแขง เมืองเชียงลาบ เมืองเลน เมืองพะยาก เมืองไฮ เมืองโก และเมืองเชียงทอง (ล้านช้าง) เมืองแถน (เดียนเบียนฟู)  ซึ่งบางเมืองในแถบนี้เป็นถิ่นที่อยู่ของชาวไทลื้ออยู่แล้ว เช่น อาณาจักรเชียงแขง ซึ่งประกอบด้วย เมืองเชียงแขง เมืองยู้ เมืองหลวย เมืองเชียงกก เมืองเชียงลาบ เมืองกลาง เมืองลอง เมืองอาน เมืองพูเลา เมืองเชียงดาว เมืองสิง เป็นต้น

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สุริยา วงค์ชัย พิพิธภัณฑ์ ลื้อลายคำ / Chiang Khong TV / Anirut Ti

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

“พาหมอไปหาประชาชน” คนเชียงของ เฉลิมพระเกียรติ 6 รอบ “ในหลวง”

 
เมื่อวันที่ 8เม.ย.2567 ที่โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิด “โครงการพาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 จังหวัดเชียงราย” โดยมี ดร.นพ.สราวุฒิ บุญสุข ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 กล่าวรายงาน นางสุภาพรรณ หมั่นเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย กล่าวต้อนรับ และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2 เป็นตัวแทนชาวจังหวัดเชียงรายกล่าวขอบคุณ พร้อมกันนี้นพ.วัชรพงษ์ คำหล้า นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงราย ได้นำผู้บริหารสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงราย บุคลากรในสังกัด และประชาชนเข้าร่วมพิธีเปิดอย่างคับคั่ง
 
 
นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 และเป็นการมอบของขวัญปีใหม่ไทยให้แก่ประชาชน เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคที่เป็นปัญหาความเจ็บป่วยปัญหาสุขภาพที่สำคัญของประชาชน
 
 
ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า กระทรวงสาธารณสุขตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการคัดกรองโรคของประชาชนในพื้นที่ ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข ให้สามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม ได้รับการค้นหาและรักษาโรคในระยะเริ่มต้นได้อย่างทันท่วงทีลดอัตราการป่วย และเสียชีวิตจากโรคสำคัญ ช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล
 
 
“สำหรับโครงการพาหมอไปหาประชาชน เฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดเชียงราย ณ โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชเชียงของ จัดบริการ 10 คลินิก 1 กิจกรรม ประกอบด้วย คลินิกคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดี คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ คลินิกตรวจตาในเด็กและผู้สูงอายุ คลินิกทันตกรรม คลินิกโรคหัวใจ คลินิกสุขภาพจิต คลินิกตรวจสุขภาพพระสงฆ์ คลินิกเฉพาะทางหู และกิจกรรมลงทะเบียนบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ รวมมีผู้มารับบริการทั้งสิ้น 4,661 ราย”นายวัชรพลกล่าว
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

ตรวจตลิ่งริมแม่น้ำอิง จ.เชียงรายเตรียมสร้างเขื่อนป้องกันบรรเทาความเดือดร้อน

 

เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 เวลา 10:08 น.นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.2) พร้อมด้วย นางสาวพรพิมล ธรรมสาร ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายสมเกียรติ กิจเจริญ คณะทำงานรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเอกภพ เพียรพิเศษ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมในการดำเนินโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำอิง หมู่ที่ 4 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยมี นายอรัญ กิติเรืองแสง ผู้ตรวจราชการกรมโยธาธิการและผังเมือง นายบัลลังก์ ไวท์ศิริ ปลัดจังหวัดเชียงราย นายอุดม ปกป้องบวรกุล นายอำเภอเชียงของ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน และประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับ พร้อมร่วมพูดคุยกับผู้นำชุมชนและประชาชนในพื้นที่ เพื่อรับฟังปัญหาและร่วมหาแนวทางแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ณ บริเวณตลิ่งริมแม่น้ำอิงชุมชนห้วยขี้เหล็ก บ้านหลวง หมู่ที่ 4 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย

 

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่พบว่า ตลิ่งริมแม่น้ำอิง มีลักษณะเป็นทางโค้ง ทำให้กระแสน้ำกัดเซาะดินริมตลิ่งได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่องซึ่งจุดที่เสียหายอยู่ใกล้กับถนนสายบ้านหลวงเชื่อมบ้านหลวงใหม่พัฒนา หากไม่ได้รับการป้องกันจะสร้างผลกระทบต่อเส้นทางสัญจรที่อยู่ติดริมตลิ่งแม่น้ำอิงในเขตเทศบาลตำบลครึ่งได้ จึงได้มีข้อสั่งการให้เทศบาลตำบลครึ่ง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องตลิ่งริมแม่น้ำถูกกัดเซาะ ประสานกับสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย ในการขอรับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง เพื่อแก้ปัญหาให้ประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน พร้อมทั้งกำชับให้กรมโยธาธิการและผังเมือง พิจารณาจัดทำแผนงานขอรับสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโครงการ เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ต่อไป

 

นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยว่า เทศบาลตำบลครึ่ง มีหนังสือถึงสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดเชียงราย เพื่อขอรับการสนับสนุนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมแม่น้ำอิง หมู่ที่ 4 ตำบลครึ่ง อำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย ความยาว 400 เมตร พร้อมทั้งได้ดำเนินการตรวจสอบกรรมสิทธิ์ที่ดินทุกแปลงของพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการฯ เรียบร้อยแล้ว พบว่าเป็นพื้นที่สาธารณะ และไม่มีส่วนราชการอื่นดำเนินการในพื้นที่ กรมโยธาธิการและผังเมือง ในฐานะหน่วยงานหลักที่มีภารกิจสำคัญในด้านการพัฒนาเมือง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ ได้ขานรับข้อสั่งการนายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในการพิจารณาจัดทำแผนงานขอรับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณและดำเนินการในขั้นตอนต่อไป

 

ทั้งนี้ หากโครงการฯ ได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการ จะมีประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าวกว่า 50 ครัวเรือน และเป็นจุดเริ่มต้นการพัฒนาพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถรักษาพื้นที่เกษตรกรรม สภาพแวดล้อม และใช้ประโยชน์พื้นที่สาธารณะได้อย่างคุ้มค่าสูงสุด

 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กระทรวงมหาดไทย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI SOCIETY & POLITICS

มหกรรม อบจ.สัญจรอ.เชียงของรับฟังความคิดเห็นประชาชน

 

เมื่อวันจันทร์ที่ 18 มีนาคม 2567 เวลา 09.00 น. นายก นก อทิตาธร วันไชยธนวงศ์นายก อบจ.เชียงราย พร้อมด้วยนายกฤศ โพธสุธน รองนายก อบจ.เชียงรายนายญาณาฤทธิ์ หนสมสุข รองปลัด อบจ.เชียงราย สิบเอกวิมล รู้ทำนอง ผอ.กองยุทธศาสตร์และงบประมาณ นายอนันต์ นัยติ๊บ ผอ.ส่วนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สำนักช่าง นายวสุพล จตุรคเชทร์เดชา สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย เขต 1 อ.เชียงของ นายวราวุฒิ ไชยวงศ์ สมาชิกสภา อบจ.เชียงราย เขต 2 อ.เชียงของ ลงพื้นที่อำเภอเชียงของ เพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชน ณ หอประชุมโรงเรียนอนุบาลเชียงของ

 

ทั้งนี้ได้รับเมตตาจากพระครูวิมกิตติยาภรณ์ รองเจ้าคณะอำเภอเชียงของ และได้รับเกียรติจากนายฤทธิเดช จันยาพงษ์ ปลัดอาวุโส อำเภอเชียงของ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ อ.เชียงของ ร่วมในการเสนอความต้องการและเสนอปัญหาความเดือดร้อนในพื้นที่ครั้งนี้ด้วย
 
 
การจัดโครงการมหกรรม อบจ.สัญจร ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อรับทราบปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของประชาชนในพื้นที่ โดยเห็นสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของประชาชนเพื่อการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด และสร้างสัมพันธไมตรีและทัศนคติที่ดีระหว่างประชาชนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของ อบจ.เชียงราย โดยการประชาสัมพันธ์ข่าวสาร กิจกรรม ผลงาน และบทบาทอำนาจหน้าที่ของ อบจ.เชียงราย และที่สำคัญเป็นการนำบริการสาธารณะของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมาให้บริการกับประชาชนร่วมกับ อบจ.เชียงราย เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่นให้เป็นท้องถิ่นมีเครือข่ายที่เข้มแข็งและเกิดความสมานฉันท์ อำเภอเชียงของ ต่อไป
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : อบจ.เชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News