Categories
ECONOMY

‘เมียนมา’ ชอปคอนโดไทยพุ่ง 333% คนไทยซื้อบ้านหลังแรกกู้แบงก์ไม่ผ่าน

 

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2567กำลังซื้อคนไทยกลาง-ล่างฟื้นยาก กำลังซื้อบ้านหลังแรกหด ติดกู้แบงก์ไม่ผ่าน อสังหาฯหันพึ่งต่างชาติ ดันยอดขายคอนโดหนุน ‘เมียนมา’ ชอปพุ่ง 333%

 

นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต นายกสมาคมอาคารชุดไทยและประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอนันดามีลูกค้ากู้แบงก์ไม่ผ่านเพียง 10% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มราคาต่ำ 3 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาได้ปรับพอร์ตฟาลิโอไปเจาะตลาดต่างชาติที่จะซื้อสด ไม่กู้แบงก์ ทำให้มีการยกเลิกเพียง 2-3% โดยไตรมาสแรกมียอดขายตางชาติ 2,000 ล้านบาท เติบโต 10% กำลังซื้อหลักยังเป็นจีน พม่า ไต้หวัน
 
 
นายประเสริฐกล่าวว่า ตอนนี้กำลังซื้อคนไทยกลาง-ล่างฟื้นยาก ขณะที่กำลังซื้อบ้านหลังแรกก็ไม่มีแล้ว ติดกู้แบงก์ไม่ผ่าน ต้องพึ่งกำลังซื้อต่างชาติ ซึ่งตลาดคอนโดมิเนียมในกรุงเทพและปริมณฑลในไตรมาสแรกติดลบ 14% แต่พบว่าตลาดต่างชาติมียอดโอน 11,363 ล้านบาท เติบโต 10% จีนลดลง 8% เมียนมาเพิ่มขึ้น 333% ไต้หวันเพิ่มขึ้น 58% อินเดียเพิ่มขึ้น 34% ขณะที่ตลาดคนไทยมียอดโอน 34,943 ล้านบาท ติดลบ 19%
 
 
“อยากขอให้รัฐขยายโควตาต่างชาติซื้อคอนโดฯจาก 49% เป็น 60% ของพื้นที่โครงการ และในบางพื้นที่ เช่น เมืองท่องเที่ยว กรุงเทพ ภูเก็ต ชลบุรี ซึ่งมาตรการนี้เคยนำมาใช้ปี 2542 ขณะนั้นให้ซื้อได้ 100% และยกเลิกเมื่อปี 2547” นายประเสริฐกล่าว
 

เช่นเดียวกับ พีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย มองว่า กำลังซื้อของต่างชาติที่เข้ามาทำงานหรือต้องการซื้อบ้านหลังที่สองในประเทศไทย จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะธุรกิจอสังหาฯเป็นธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถือเป็นเครื่องยนต์หนึ่งกระตุ้นจีดีพีของประเทศได้ ดังนั้น อยากให้รัฐขยายโควต้าซื้อคอนโดได้มากกว่า 49% จะเพิ่มดีมานด์ได้อีกมาก รวมถึงขอให้ ธปท.ผ่อนคลาย LTV ให้ในปี 2567-2568 เพื่อกระตุ้นการซื้อบ้านหลังที่ 2 และหลังที่ 3 เพื่อลดซัพพลายที่คงค้างในตลาด

“พีระพงศ์” กล่าวว่า ปัจจุบันคนซื้อบ้านหลังแรกมีน้อยลงเพราะติดกู้แบงก์ไม่ผ่าน ขณะที่ดีมานด์การซื้อบ้านหลังที่ 2 ยังมีอยู่คิดเป็น 50% ของตลาด แต่แบงก์ให้กู้แค่ 70-80% และการซื้อเก็งกำไรที่ ธปท.กังวล ตอนนี้ไม่มีแล้ว ส่วนใหญ่ซื้อเพราะครอบครัวขยาย ต้องการบ้านใกล้ที่ทำงาน โรงเรียนลูกนอกจากนี้ ขอให้ ธปท.ทบทวนการปรับลดดอกเบี้ยในส่วนของภาคครัวเรือนลงอีก เช่น ดอกเบี้ยบ้าน จะทำให้คนมีภาระผ่อนบ้านน้อยลงและเข้าถึงสินเชื่อได้ และจากสถานการณ์ต่างๆ ทำให้ปี 2567 บริษัทรีวิวแผนลงทุนใหม่ จากเดิมจะเปิดพรีเซล 48,000 ล้านบาท เหลือ 40,000 ล้านบาท เป็นแนวราบ 10 โครงการและคอนโด 12 โครงการ

 

ในส่วนของธุรกิจรับสร้างบ้าน วรวุฒิ กาญจนกูล ประธานบริหาร บริษัท ดับบลิวเฮ้าส์ จำกัด ยอมรับว่า ไตรมาสแรก ภาพรวมตลาดรับสร้างบ้านราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท หดตัวประมาณ 30% ผลจากแบงก์ยังเข้มงวดการปล่อยกู้ เช่น ยื่นกู้100 คน ผ่านแค่ 50% ขณะที่ภาวะเศรฐกิจโดยรวมยังไม่ดี ทำให้ลูกค้าไม่มั่นใจ ชะลอการตัดสินใจที่จะสร้างบ้าน แต่มีตลาดระดับ 10-20 ล้านบาท มาชดเชยกำลังซื้อกลุ่มต่ำ 5 ล้านบาท ที่หายไป จึงทำให้ภาพรวมของตลาดทรงตัว เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกปีก่อน ไม่ถึงกับแย่กว่าปีที่แล้ว

“แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันมองว่ามันน่าจะดีกว่านี้ ดูจากภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่เริ่มจะดีขึ้นจากการที่ภาครัฐหาแนวทางกระตุ้น ไม่ใช่แค่มาตรการอสังหาริมทรัพย์ที่ออกมา ยังมีภาคการท่องเที่ยว เพื่อดันให้จีดีพีของประเทศโตมากกว่านี้ทั้งนี้ อยากให้รัฐมีมาตรการกระตุ้นก๊อกสองออกมาสำหรับภาคอสังหาฯรวมถึงรับสร้างบ้านเพิ่มด้วย” วรวุฒิกล่าว

ท่ามกลางกำลังซื้อที่เริ่มเหือดแห้ง และความคาดหวังจากมาตรการรัฐจะมาช่วยบูสต์ตลาดได้มากน้อยขนาดไหนนั้น วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) คาดการณ์ตลาดจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังกำลังซื้อชะลอตัวต่อเนื่องมาจากไตรมาส 3 ปี 2566 ซึ่งผู้ประกอบการควรจะมีการเตรียมการเพื่อรองรับการฟื้นตัวของตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยลบทั้งมาตรการ LTV และหนี้ครัวเรือน ทำให้แบงก์ยังปล่อยสินเชื่อด้วยความระมัดระวังมาก จะกลายเป็นปัจจัยรั้งการขยายตัวของตลาดในปี 2567 ได้ แม้จะมีมาตรการกระตุ้นออกมา แต่สุดท้ายถ้าแบงก์ไม่ปล่อยกู้ก็ไม่เกิดผล

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : ทีมข่าวนครเชียงรายนิวส์

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME