Categories
NEWS UPDATE

ขึ้นเงินเดือนเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเป็น 11,000 บาท พร้อมกันทั่วประเทศ

 

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2567 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับความเห็นชอบจากกรมบัญชีกลาง ในการขอปรับขึ้นค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ ตำแหน่งพิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จากอัตรา 9,000 บาท เป็น 11,000 บาทต่อเดือน ในช่วงปลายปี 2566 

ในปี 2567 สำนักงบประมาณได้จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนให้กับเจ้าหน้าที่แบบขั้นบันได และส่วนหนึ่งกรมอุทยานฯได้มีการปรับแผนงบประมาณเพื่อขึ้นค่าตอบแทนให้เจ้าหน้าที่แบบขั้นบันไดด้วย 

  • เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงานน้อยกว่า 5 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 9,500 บาทต่อเดือน
  • เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงาน 5-15 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 10,000 บาทต่อเดือน
  • เจ้าหน้าที่ซึ่งมีอายุงานมากกว่า 15 ปี ได้รับค่าตอบแทนจำนวน 11,000 บาทต่อเดือน ไปพลางก่อน
 

ล่าสุดสำนักงบประมาณ ได้จัดสรรงบประมาณในการปรับขึ้นเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานฯ

ตำแหน่งพิทักษ์ป่า จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ทุกอัตราพร้อมกันทั่วประเทศ

จึงเป็นเรื่องที่สร้างความปิติยินดีให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าทุกคน ถือเป็นการสร้างขวัญกำลังใจอย่างดียิ่ง ในการปกป้องทรัพยากรป่าไม้ของชาติ นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราเงินเดือนในครั้งนี้แล้ว ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้มีการเพิ่มสวัสดิภาพสวัสดิการให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า โดยการอนุมัติเงินอุทยานแห่งชาติ และเงินเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า

ในกรณีที่เจ้าหน้าที่บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้สามารถนำเงินในส่วนนี้มาใช้จ่ายให้กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งได้มีการช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ไปแล้วเป็นจำนวนมาก

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
MOST POPULAR
FOLLOW ME
Categories
FEATURED NEWS

พล.ต.อ.พัชรวาทฯ กำชับให้กรมอุทยานฯ ดูแลการสู้ไฟป่าต้องคำนึงความปลอดภัย

 

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 67 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่านายพินิจ คงประพันธ์ หัวหน้าอุทยานขุนน่าน ได้รายงานกรณีมีเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวนป่าและเฝ้าระวังไฟป่า เสียชีวิต 1 นาย โดยเจ้าหน้าที่ของหน่วยพิทักษ์ฯ ที่ ขน.1 (นาขวาง) จำนวน 4 นาย ได้ออกปฏิบัติงานลาดตระเวนป้องกันการกระทำผิด และเฝ้าระวังไฟป่า ลาดตระเวนในพื้นที่รับผิดชอบ กระทั่งเวลาประมาณ 16.00 น. ขณะลาดตระเวนถึงลำน้ำว้า บริเวณสบแปด ท้องที่บ้านผาสุก หมู่ที่ 3 ตำบลภูฟ้า อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน นายพันศักดิ์ ใจมงคล อายุ 31 ปี ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ชุดลาดตระเวน มีอาการช็อค หมดสติล้มลงกระทันหัน เจ้าหน้าที่ร่วมชุด ช่วยกันปั้มหัวใจ แต่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ จึงประสานงานพนักงานสอบสวน สภ.บ่อเกลือแพทย์ ร.พ.บ่อเกลือ เพื่อดำเนินการ ต่อไป

 

ในวันเดียวกัน ได้รับรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บจากการปฏิบัติงานดับไฟป่า จำนวน 2 ราย รายแรกได้รับรายงานจาก นายนุชิต จันทาพูน หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าจอมทอง ว่านายประกอบ ศรีติ๊บ เจ้าหน้าที่ดับไฟป่า ขณะปฎิบัติหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติออบหลวง เกิดอาการสำลักควัน มีความดันต่ำมาก หน้ามืด อาเจียนและเป็นตะคริว เจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานร่วมกัน จึงแจ้งหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าจอมทองให้ทราบ และแจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยอุทยานแห่งชาติออบหลวง มาช่วยเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากบนเขาที่ปฏิบัติงานดับไฟป่า ลงมายังรถพยาบาลของอุทยานฯ ระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร ล่าสุด อาการดีขึ้นตามลำดับจนปลอดภัยแล้ว จึงได้กลับไปพักฟื้นที่หน่วยดับไฟเคลื่อนที่บ้านห้วยม่วง
 
 
เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บจากการดับไฟป่ารายที่ 2 ได้รับรายงานจากนายบัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน โดยเจ้าหน้าที่ซึ่งเดินทางมาสนธิกำลังช่วยควบคุมไฟป่าในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน ได้แก่นายวัชรินทร์ คงธนาวินิจ เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าแม่จริม ขณะปฏิบัติงานเกิดอาการฮีทสโตรก หรือโรคลมแดด เจ้าหน้าที่จึงได้นำตัวนายวัชรินทร์ฯ ส่งโรงพยาบาลอำเภอนาน้อย จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นสถานพยาบาลใกล้จุดเกิดเหตุ แพทย์ตรวจวินิจฉัยแล้วเห็นว่ามีอาการขาดน้ำ มีตะคริว และค่าไตสูง สอบถามข้อมูลทราบว่านายวัชรินทร์ฯ ได้เข้าดับไฟป่าอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 2 -3 มีนาคม 2567 เนื่องจากสภาพพื้นที่เข้าดับไฟป่ามีลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน ประกอบกับการปฏิบัติงานที่เหนื่อยล้า จึงส่งผลให้นายวัชรินทร์ฯ เกิดอาการฮีทสโตรกหรือโรคลมแดด ตรวจสอบอาการล่าสุดทราบว่านายวัชรินทร์ฯ อาการดีขึ้นตามลำดับและปลอดภัยแล้ว
 
 
สำหรับสถานการณ์ไฟป่า ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีน่าน โดยเฉพาะบริเวณป่าห้วยป่าตึง ผายายบาด ห้วยมดส้ม เจ้าหน้าที่ได้จัดทำแนวกันไฟ และใช้แนวธรรมชาติ เช่น ลำห้วยขาม แม่น้ำน่าน เป็นแนว และตรึงกำลังเฝ้าระวังในพื้นที่ เพื่อป้องกันไฟป่าลุกลามไปจุดอื่น ซึ่งขณะนี้เสียหายไปแล้วกว่า 5 หมื่นไร่
 
 
นายอรรถพลฯ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวต่อว่า ได้รายงานให้พล ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมทราบแล้ว สำหรับกรณีที่เจ้าหน้าที่เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยพล.ต.อ.พัชรวาท ได้แสดงความห่วงใยต่อการปฏิบัติงานอันยากลำบากของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะต้องคำนึงถึงสุขภาพและความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และขอให้กรมอุทยานฯดูแลสวัสดิภาพสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตและบาดเจ็บโดยให้การช่วยเหลือขั้นสูงสุด
 
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
AROUND CHIANG RAI TRAVEL

Thailand Winter Festival 77 เปิดโถง 3 “ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน” ครั้งแรก

 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เดินทางไปยังถ้ำหลวง อุทยานแห่งชาติถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน (เตรียมการ) ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดงาน “ท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติรับลมหนาว” ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.2566 นี้เป็นต้นไป
 
 
นายอรรถพล กล่าวว่าการจัดกิจกรรมครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลในการจัดงาน Thailand Winter Festival โดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้สนับสนุนโครงการโดยจะนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ “ท่องเที่ยวอุทยานรับลมหนาว” ในวันที่ 15 ธ.ค.จะมีการจัดนำเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในฤดูหนาวทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือและทั้ง 77 จังหวัดทั่วไทย โดยจะมีการจัดนิทรรศการที่ถ้ำหลวงเเปิดตัวและรณรงค์พร้อมๆ กัน ทั้งนี้ในปัจจุบันนักท่องเที่ยวได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาแหล่งธรรมชาติต่างๆ มากขึ้น เช่น เส้นทางธรรมชาติ ท่องเที่ยวผจญภัย ฯลฯ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้พยายามพัฒนาเพื่อรองรับการเผจิญภัยดังกล่าวโดยไม่ให้กระทบกับธรรมชาติ โดยเฉพาะที่ถ้ำหลวงจะมีการเล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ในการช่วยเหลือทีมฟุตบอลเยาวชนหมูป่าเมื่อปี 2561 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์ขึ้นมารองรับด้วย
 
 
นายอรรถพล กล่าวอีกว่าได้มีการปรึกษาหารือกับหลายฝ่ายจะมีการเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปชมถ้ำหลวงได้จนโถงที่ 3 จึงจะมีการจัดมัคคุเทศน์เพื่อให้ความรู้เพราะปัจจุบันผู้ไปเยือนจะซึมซับเรื่องราวได้เพียงแค่ครึ่งเดียวเจ้าหน้าที่จึงพยายามผลักดันให้มีมัคคุเทศน์ที่เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ให้ได้มากต่อไป สำหรับการเปิดให้เข้าชมถ้ำหลวงนั้นจะมีการจำกัดคนเข้าไปเบื้องต้นครั้งละ 10 คน และมีมัคคุเทศน์พร้อมคนนำทางอีก 2 คน ซึ่งจะแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากในปฏิบัติการ คน อุปกรณ์ ความเสี่ยงภัย เวลาในการนำเด็กๆ ออกจากถ้ำได้อย่างรวดเร็ว ฯลฯ โดยจะมีการจัดระบบมีการลงทะเบียนให้ถูกต้อง คัดเลือกบุคคลที่มีความพร้อมของร่างกายและที่สำคัญคือการคัดเลือกผู้เข้าไปชมให้ยุติธรรมด้วย
 
 
ด้านนายจอร์ช มอริส ผู้ก่อตั้งทีม CMRCA ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหนือเยาวชนทั้ง 13 คนในถ้ำหลวง กล่าวว่าไม่เคยมีเหตุการณ์แบบถ้ำหลวงในโลกมาก่อนโดยมีคนนับหมื่นคนระดมกำลังช่วยเหลือน้องๆ ทีมหมูป่า มีการดำน้ำช่วงต้นระยะทาง 800 เมตร แต่หลังจากนั้นบุคคลภายนอกแทบไม่มีใครรู้เรื่องราวว่ายังมีระยะทางที่ต้องดำน้ำอีก 800 เมตร โดยจากโถงถ้ำที่ 2-3 จะต้องสร้างระบบเชือกที่ต้องใช้เทคนิคตากหลายฝ่าย เช่น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (หน่วยชีล) ทหารสหรัฐอเมริกา หน่วยกู้ภัยที่เป็นจิตอาสาของไทย ฯลฯ เพื่อให้เป็นสะพานเชือกในการลำเลียงเยาวชนทั้ง 13 คนมากับเปล ซึ่งต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจึงเป็เรื่องน่าสนใจว่าไม่ใช่เรื่องดำน้ำแต่มีภารกิจอื่นที่หนักเช่นกัน
 
 
“นักท่องเที่ยวสามารถไปดูเป็นจุดๆ ว่ามีการจัด Base กองอำนวยการข้างในถ้ำตรงไหน เมื่อเข้าไปก็จะเจอน้ำลึก มีการวัดปริมาณน้ำเพื่อดูว่าปั๊มน้ำจะทำงานได้อย่างไร จนถึงโถงที่ 2 ก็จะเห็นสลิง ถ้าเลยโถง 2 ถึงโถง 3 ก็จะเป็น Base กองอำนวยการที่มีหลายหน่วยงานอยู่ที่นั่น เพื่อให้ดูว่าการดำน้ำเริ่มต้นจากตรงไหนและจะได้เห็นว่าการดำน้ำนับจากตรงนั้นมีความยากลำบากขนาดไหน” นายจอร์ช มอริส กล่าว.
 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
SOCIETY & POLITICS

กรมอุทยานฯ จัดชุดกู้ภัยช่วยเหลือ นักท่องเที่ยวช่วงฤดูน้ำป่าไหลหลาก

 

วันที่ 18 กันยายน 2566 นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ได้รับข้อสั่งการจากพล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ให้หน่วยงานในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวประเภทน้ำตก และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทั่วประเทศ เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เมื่อเกิดสถานการณ์อุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ให้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

หากเห็นว่ามีความรุนแรงสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยว ให้ดำเนินการออกประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวในทันที แล้วรายงานสถานการณ์เหตุการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบตามลำดับชั้น เบื้องต้นให้มีการประกาศแจ้งเตือน จัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง เจ้าหน้าที่ชุดกู้ภัย เพื่อสามารถเข้าระงับยับยั้งเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

นายอรรถพลฯยังกล่าวอีกว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ ล่าสุดได้รับรายงานจากอุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน ว่ามีเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง เข้าท่วมอาคารสำนักงาน บ้านพัก กระแสน้ำป่าได้พัดเอารถยนต์ และทรัพย์สินต่างๆของเจ้าหน้าที่ จนได้รับความเสียหายหลายรายการ อุทยานแห่งชาติถ้ำปลาฯ

จึงได้มีการประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวไว้ก่อน จนกว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ อีกทั้งยังได้รับรายงานจากหน่วยงานภาคสนามอีกหลายแห่ง เกี่ยวกับเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่รับผิดชอบ ตลอดจนอาคารบ้านเรือนของราษฎรจนได้รับความเสียหาย ซึ่งกรมอุทยานแห่งชาติฯจะได้นำข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเข้าช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัย เพื่อเป็นการเยียวยาในเบื้องต้นร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ อย่างเต็มกำลังความสามารถ ต่อไป

อนึ่ง สำหรับอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำตกอันสวยงาม และอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ยกตัวอย่างเช่น น้ำตกเหวนรก อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี น้ำตกหมันแดง อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า จังหวัดพิษณุโลก น้ำตกตาดโตน อุทยานแห่งชาติตาดโตน จังหวัดชัยภูมิ น้ำตกทีลอซู เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก น้ำตกไพรวัลย์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จังหวัดพัทลุง น้ำตกโตนงาช้าง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าโตนงาช้าง จังหวัดสงขลา เป็นต้น

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News
Categories
TOP STORIES

ลุ้นสำนักงบประมาณสนับสนุนขึ้นเงินเดือนพิทักษ์ป่า

 
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยว่า ตามที่ได้ส่งหนังสือไปถึงอธิบดีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของบุคคลภายนอกที่ปฏิบัติงานให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ตำแหน่งผู้พิทักษ์ป่า จำนวน 13,419 อัตรา จาก 9,000 บาท เป็น 11,000 บาท ต่อเดือน 
 
 
หลังจากมีการปรับอัตราค่าตอบแทนครั้งสุดท้ายตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2555 นั้น เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 กรมบัญชีกลางมีหนังสือตอบกลับมาว่าอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เบิกจ่ายค่าตอบแทนให้กับบุคคลภายนอกซึ่งปฏิบัติหน้าที่ ให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จำนวน 13,419 อัตรา ให้ไม่เกิน 11,000 บาท ต่อเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เป็นต้นไป ซึ่งขณะนี้ กรมอุทยานฯ เตรียมประสานสำนักงบประมาณ เพื่อดำเนินการต่อไป
 
 
ทั้งนี้การขอปรับเพิ่มค่าตอบแทนหรือเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ผู้พิทักษ์ป่านั้น เนื่องจากสภาพของเศรษฐกิจในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้อัตราค่าครองชีพสูงขึ้น และค่าตอบแทนที่กรมบัญชีกลางอนุมัติให้กรมอุทยานแห่งชาติ ฯ ในอัตราไม่เกิน 9,000 บาท ตั้งแต่ปี 2555 นั้น ระยะเวลาได้ล่วงเลยมา 11 ปี แล้วจึงไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน และไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงภัยที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 
 
 
เพราะภารกิจของกรมอุทยานฯ นั้น ต้องออกไปลาดตระเวนและพักแรมในพื้นที่ป่าทุรกันดารตลอดทั้งกลางวันและกลางคืน มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจเกิดแก่สุขภาพจากสัตว์มีพิษ เชื้อโรค และภัยอันตรายต่างๆ ที่มีอยู่ในป่า รวมถึงอันตรายจากผู้กระทำผิดในป่าที่มุ่งร้ายต่อเจ้าหน้าที่อีกด้วย
 
 
การจ้างเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่เป็นราษฎรในท้องถิ่นผู้มีความรู้ความสามารถมีความชำนาญในสภาพภูมิประเทศ มีทักษะในการเดินป่าเพื่อร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จึงมีความจำเป็น เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติภารกิจของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการอนุรักษ์ คุ้มครอง ฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การป้องกันปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรของชาติในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ รวมกว่า 73 ล้านไร่.
 

 

เครดิตภาพและข้อมูลจาก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

 
NAKORN CHIANG RAI NEWS TEAM
กองบรรณาธิการ นครเชียงรายนิวส์ – Nakorn Chiang Rai News